fbpx

7 องค์ประกอบฝ่าวิกฤตโควิด-19 ผ่านสายตาธนาคารโลก

เป็นที่ทราบกันดีว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก่อให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะปัญหาความเปราะบางและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แต่โรคระบาดกลับยิ่งเปิดให้เห็นความเปราะบางและถ่างให้ช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันในสังคมกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังตอกย้ำให้ปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นทั้งภายในและระหว่างประเทศรุนแรงมากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายคนจึงเสนอว่า โลกหลังโควิด-19 จะต้องไม่ใช่แค่การฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ต้องเป็นการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม ครอบคลุมกว่าเดิม และเน้นไปที่การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leaving no one behind) อีกต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี กลุ่ม LGBTQ คนพิการ และแรงงานข้ามชาติ และหนึ่งในกุญแจสำคัญที่หลายคนมองว่า จะช่วยให้เราข้ามผ่านวิกฤตโควิดไปได้ก็คือ ความสามารถในการฟื้นตัว (resilience)

เพื่อเป็นการย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะความสามารถในการฟื้นตัว จากการบรรยายพิเศษหัวข้อ ‘ความท้าทายทางกฎหมายและประสบการณ์ของธนาคารโลกในการตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาในเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 9 (The International Virtual Forum – Resilient Leadership in Practice) จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) โดยจูลี รีเกอร์ (Julie Rieger) ประธานที่ปรึกษาภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ของธนาคารโลก (World Bank) ให้ความเห็นว่า ความสามารถในการฟื้นตัวจะช่วยให้เราทุกคนก้าวไปข้างหน้าเพื่อปรับตัวได้ในช่วงเวลาอันยากลำบากในการทำความเข้าใจผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของผู้คนทั่วโลก

ความสามารถในการฟื้นตัว : ทักษะสำคัญในห้วงวิกฤตโควิด-19 

สำหรับรีเกอร์ ความสามารถในการฟื้นตัวมีความสำคัญอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบัน และถือเป็นแนวคิดหลักที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกคนในทุกระดับของชีวิต ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล ผู้นำ และองค์กร และถ้ามองอีกแง่หนึ่ง การระบาดใหญ่ของโรคระบาดรอบนี้ถือเป็นบททดสอบความสามารถในการฟื้นตัวของทุกคน เพราะโควิด-19 เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งวิธีการศึกษา การทำงาน รวมทั้งเปลี่ยนบทบาทของคนในสังคมไปด้วย

“ที่น่าเศร้าคือ วิธีการรักษาผู้ป่วยก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน” รีเกอร์กล่าว พร้อมทั้งขยายความว่า “ผู้คนต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดโดยการแยกกักตัวที่โรงพยาบาลอย่างโดดเดี่ยว บางคนก็ต้องบอกลาคนในครอบครัวผ่านทางหน้าจอมือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ”

นอกจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง สำหรับหลายๆ คน โควิด-19 ได้ทำให้เกิดการคิดแบบวิเคราะห์ความเสี่ยง รวมถึงมีการใช้แนวทางในการประเมินประโยชน์และความเสี่ยงมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เราเห็นรัฐบาลในหลายประเทศกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีการตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้น แต่นั่นก็ทำให้ปัจเจกบุคคลต้องตัดสินใจยากลำบากมากขึ้นในหลายกรณี เพราะกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น รีเกอร์ฉายภาพให้เห็นการใช้การประเมินประโยชน์และความเสี่ยงในการตัดสินใจเรื่องส่วนตัวไว้ โดยยกตัวอย่างเรื่องการเปิดโรงเรียนขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ที่ผู้ปกครองต้องประเมินประโยชน์และความเสี่ยง เพื่อจะนำมาชั่งน้ำหนักต่อว่า ควรส่งลูกกลับไปโรงเรียนหรือไม่ ซึ่งนอกจากจะต้องคำนึงถึงยอดผู้ติดเชื้อแล้ว ผู้ปกครองยังต้องคิดต่ออีกว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ของเด็กเล็ก

ไม่ใช่แค่เรื่องวิถีชีวิตและความเสี่ยง-ประโยชน์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่การใช้ชีวิตในช่วงโรคระบาดยังชวนให้ผู้คนหันกลับมาตั้งคำถามกับเรื่องหลักนิติธรรมและสิทธิ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของบุคคลและสังคมในสถานการณ์โรคระบาด เช่น เสรีภาพในการเคลื่อนไหว การล็อกดาวน์หรือข้อจำกัดในการเดินทาง และความเป็นส่วนตัวกับการเปิดเผยไทม์ไลน์ เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ รีเกอร์พาเราย้อนกลับไปสู่ข้อสรุปเดิมว่า ‘ความสามารถในการฟื้นตัว’ คือคำตอบและองค์ประกอบสำคัญของวิกฤตครั้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

7 องค์ประกอบสำคัญของความสามารถในการฟื้นตัว

ขณะที่ในระดับภาพใหญ่ ธนาคารโลกได้นำองค์ประกอบสำคัญของความสามารถในการฟื้นตัวมาใช้ในการตอบสนองต่อวิกฤตโควิด ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวมีทั้งหมด 7 อย่าง ดังนี้:

องค์ประกอบแรก คือ ความคล่องแคล่วหรือความสามารถในการคิดและตอบสนองอย่างรวดเร็ว เพราะเวลาคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดเมื่อพูดถึงปัญหาโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก

ในฐานะตัวแทนจากธนาคารโลก รีเกอร์ฉายภาพว่า ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ธนาคารโลกได้อนุมัติ ‘โครงการเงินกู้พิเศษสำหรับรับมือโรคโควิด-19’ (Fast Track COVID-19 Facility) ทำให้มีการระดมทรัพยากรเพิ่มเติมอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปใช้ในการจัดสร้าง ‘โครงการเตรียมความพร้อมและรับมือเชิงกลยุทธ์สำหรับโควิด-19 ในระยะสั้น’ (COVID-19 Strategic Preparedness and Response Program 1 (SPRP1)) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 2020 และในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 ธนาคารยังได้อนุมัติการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับโครงการ SPRP2 เพื่ออนุญาตให้มีการจัดหาเงินทุนสำหรับวัคซีน และเพื่อขยายขอบเขตดั้งเดิมของ Multiphase Programmatic Approach (MPA) 

“การที่ธนาคารโลกจัดตั้งโครงการเหล่านี้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการใช้ความคล่องแคล่วในการตอบสนองต่อวิกฤตได้อย่างเร่งด่วน” รีเกอร์กล่าวสรุป

องค์ประกอบที่สอง คือ การจัดลำดับความสำคัญ หรือการรู้ว่าควรจัดลำดับความสำคัญให้กับอะไรและเมื่อไร ส่วนการตอบสนองของธนาคารโลกต่อวิกฤตโควิด-19 ขึ้นอยู่กับ 4 เสาหลักและ 3 ขั้นตอนของทางธนาคาร โดยเสาหลักทั้ง 4 คือ เสาหลักในการช่วยชีวิต เสาหลักการปกป้องคนจนและกลุ่มเปราะบาง เสาหลักในการสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน และเสาหลักในการฟื้นฟูให้ดีขึ้นโดยการเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถาบัน นโยบาย และการลงทุน ส่วนขั้นตอนทั้ง 3 ได้แก่ การบรรเทาทุกข์ การปรับโครงสร้างใหม่ และการฟื้นตัว

ทั้งนี้ แต่ละเสาหลักจะถูกนำไปใช้ในแต่ละขั้นตอน ยกตัวอย่างเช่น การใช้เสาหลักที่ 1 คือการช่วยชีวิต ในการจัดการกับเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จัดอยู่ในขั้นตอนที่ 1 คือการบรรเทาทุกข์ ซึ่งรีเกอร์มองว่า แนวทางแบบองค์รวมดังกล่าว ทำให้ธนาคารโลกมั่นใจว่าสามารถแก้ไขแง่มุมที่จำเป็นโดยมีการจัดลำดับความสำคัญที่ถูกต้อง รวมทั้งอยู่ในขอบเขตของความต้องการของประเทศสมาชิก ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญถือเป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังช่วยสร้างความสามารถในการฟื้นตัวในอนาคตได้อีกด้วย

องค์ประกอบที่สาม คือ ความยืดหยุ่น เป็นการตอบสนองในลักษณะที่ยืดหยุ่นเพื่อปรับตัวได้ ฝั่งธนาคารโลกได้จัดตั้ง ‘สิ่งอำนวยความสะดวกทางการเงินสำหรับกรณีฉุกเฉินระบาด’ (Pandemic Emergency Financing Facility) ซึ่งเป็นกองทุนที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยในการจัดการการระบาดของโรคระบาดใหญ่ รวมถึงการใช้ Contingent Emergency Response Components (CERC) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ในการจัดสรรเงินทุนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยได้ใช้เครื่องมือนี้ในหลายประเทศเพื่อช่วยจัดการกับวิกฤตการณ์ และจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางการเงินให้แต่ละกิจกรรมยังคงได้รับเงินทุน

นอกจากนี้ ธนาคารยังให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ลูกค้าในประเทศสมาชิกในกองทุนจัดซื้อจัดจ้างโดยธนาคาร (Bank-Facilitated Procurement (BFP)) ซึ่งสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment (PPE)) ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ และได้ให้การสนับสนุนด้านการผลิตวัคซีนแก่ลูกค้าในประเทศสมาชิกด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารและสถาบันต่างๆ ยังใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น ผู้จัดทำโครงการทางกฎหมายที่จะต้องดำเนินการโดยการประชุมทางวิดีโอและใช้ระบบ DocuSign เพื่อลงนามในเอกสารทางกฎหมายในรูปแบบที่เสมือนจริงและปลอดภัย ซึ่งประเทศสมาชิกต่างยอมรับเครื่องมือเหล่านี้ และมีแนวโน้มที่จะใช้ระบบดังกล่าวต่อไปในอนาคตอีกด้วย 

“กล่าวโดยสรุปแล้ว ความยืดหยุ่นเป็นกุญแจสำคัญในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ และเพื่อใช้ค้นหาวิธีการตอบสนองที่แตกต่างกัน โดยทางธนาคารโลกได้ใช้ความยืดหยุ่นเป็นเครื่องมือช่วยในการทำงานหลายอย่างพร้อมกันด้วย” รีเกอร์กล่าว

องค์ประกอบที่สี่ คือ การจัดการความเสี่ยงและการวิเคราะห์ความเสี่ยง คือความสามารถในการสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะโครงการของธนาคารโลกที่เกี่ยวเนื่องกับการตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19 ถูกจัดตั้งขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและนโยบายที่ซับซ้อนมาก อีกทั้งประเด็นทางกฎหมายหลายประเด็นก็ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ แต่มีมิติและขอบเขตที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ เราจะเห็นว่าการจัดการกับการระบาดใหญ่ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทำให้ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อจัดการกับวิกฤต เช่น การติดตามการแพร่กระจายของโรค การเฝ้าระวัง การติดตามการแจกจ่ายวัคซีน และข้อมูลการทดลองล่าสุดของวัคซีนต่าง ๆ ในรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลก ‘World Development Report: Data for Better Lives’ ได้ทำการวิเคราะห์ศักยภาพของข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อปรับปรุงชีวิตคนยากจน และเพื่อจัดการกับปัญหาระหว่างศักยภาพของข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเป็นอันตราย รวมถึงส่งเสริมความไว้วางใจว่าข้อมูลจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

อย่างไรก็ดี ระบบการปกป้องข้อมูลของแต่ละประเทศสมาชิกล้วนมีความแตกต่างกัน บางประเทศไม่มีกฎหมายในการปกป้องข้อมูลเลยด้วยซ้ำ ธนาคารจึงรวบรวมเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยในการประเมินความแข็งแกร่งของกรอบการทำงานระดับประเทศ เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และมีการเพิ่มข้อกำหนดที่จำเป็นลงในโครงการเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด เช่น กำหนดว่าต้องใช้ข้อมูลตามสัดส่วนเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนี้ ข้อมูลจะถูกเก็บรักษาไว้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และสิ่งสำคัญคือต้องแจ้งให้บุคคลนั้นทราบว่ากำลังทำการรวบรวมข้อมูล ตลอดจนให้สิทธิในการตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดใดๆ แก่บุคคลดังกล่าว

อีกประเด็นน่าสนใจที่รีเกอร์ชี้ให้เห็นคือ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 มักจะมีผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยหรือบุคคลที่มีส่วนร่วมอื่นในโครงการของธนาคาร เช่น ตำรวจและกองทัพ ที่มีส่วนร่วมทั้งในการจัดซื้อและแจกจ่ายเวชภัณฑ์และยารวมถึงวัคซีน การก่อสร้างหรือการดำเนินการรักษาในสถานกักกัน รวมถึงการจัดการกับการแพร่กระจายของโรค เมื่อเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัย ทางธนาคารจึงมีการกำหนดแนวทางเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เพื่อประเมินผลกระทบใด ๆ ต่อความมั่นคงจากการมีส่วนร่วมของบุคคลดังกล่าวด้วย

องค์ประกอบที่ห้า คือ การตระหนักรู้ เป็นการมีสติรับรู้ถึงความต้องการที่แตกต่างกันและความต้องการที่เหมือนกันของแต่ละคน แน่นอนว่าประเด็นปัญหาด้านสังคมหลายประเด็นมีความโดดเด่นขึ้นในช่วงวิกฤตนี้มากกว่าที่เคยเป็นมาก่อน เช่น ปัญหาการรวมกลุ่มคนที่เปราะบางเข้าสู่สังคม การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ การปกป้องอาชีพ สุขภาพ และความปลอดภัยของชุมชน การประเมินและจัดการความเสี่ยง และการล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข โดยทีมกฎหมายที่รับผิดชอบและแผนกสิ่งแวดล้อมและสังคมของธนาคารได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนอื่นๆ ของธนาคารเพื่อปรับปรุงเครื่องมือสำหรับโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับวิกฤตโควิด-19 และได้กำกับดูแลข้อตกลงทางกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขอย่างดี

“การดำเนินงานด้านวัคซีนของธนาคารโลกมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในวงกว้างและรวดเร็วสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ทางธนาคารจึงเริ่มดำเนินการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับวัคซีน ทั้งประเด็นทางกฎหมาย ด้านกฎระเบียบ และนโยบาย ความพร้อม การเข้าถึง ความมีประสิทธิผลของวัคซีน รวมถึงการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีน” รีเกอร์กล่าว พร้อมทั้งอธิบายว่า ธนาคารโลกได้สนับสนุนการซื้อและจัดจำหน่ายวัคซีนป้องกันโควิดของประเทศสมาชิก เพื่อเสริมสร้างระบบการฉีดวัคซีน และสร้างนโยบายสำหรับการจัดสรรวัคซีนระหว่างประเทศ โดยมีมาตรฐานการกำกับดูแลในระดับสากล และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการบังคับฉีดวัคซีนเกิดขึ้น

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศคือ ความลังเลใจที่จะฉีดวัคซีน ซึ่งรีเกอร์ชี้ว่า การจะแก้ปัญหานี้ได้ต้องขึ้นกับบริบทที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละประเทศ เช่น การใช้ลอตเตอรี่สร้างแรงจูงใจให้คนสหรัฐฯ โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จะมีสิทธิได้รับเงินรางวัลจากลอตเตอรี่ 

อีกประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในแง่ของวัคซีน คือประเด็นการชดใช้ค่าเสียหายและความรับผิดทางกฎหมาย เนื่องจากมีการพัฒนาวัคซีนขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อนำมาประกาศใช้ภายใต้สภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้บางประเทศเกิดการแก้ไขกฏหมายเพื่อใช้กับผู้ผลิตวัคซีน ในบางกรณี ผู้ผลิตจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อแสดงหลักฐานว่ามีเงินทุนเพียงพอสำหรับการผลิตวัคซีน และในหลายประเทศก็กำลังพิจารณาการจัดตั้งระบบการจ่ายเงินเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เช่น การแพ้วัคซีน เป็นต้น

องค์ประกอบที่หก คือ ความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งสำหรับรีเกอร์แล้ว “ความร่วมมือพหุภาคีมีความสำคัญในการเอาชนะความท้าทายระดับโลก เนื่องจากโรคระบาดนี้ไม่มีขอบเขตพรมแดน ดังนั้นเราจึงต้องตอบสนองโดยการก้าวข้ามพรมแดนเหล่านี้”

ทั้งนี้ กลุ่มธนาคารโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพิเศษ เมื่อหลายประเทศหรือหลายทวีปต้องตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากกลุ่มธนาคารโลกมีอำนาจในการติดต่อสื่อสารซึ่งอยู่เหนือพรมแดนของประเทศ และสามารถบังคับให้มีความร่วมมือกับรัฐ ตลอดจนองค์กรทางสังคม ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนในทุกระดับของการตอบสนองต่อวิกฤตโควิด

รีเกอร์อธิบายว่า ธนาคารโลกมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรและประเทศต่างๆ รวมถึงหน่วยงานของสหประชาชาติ ภาคประชาสังคม องค์กร ภาคเอกชน โครงการ COVAX องค์การอนามัยโลก (WHO) ยูนิเซฟ (UNICEF) และพันธมิตรระดับโลกอื่นๆ

หนึ่งในตัวอย่างของการทำงานร่วมกันทั่วโลกคือ การริเริ่มโครงการ Debt Service Suspension Initiative (DSSI)  เพื่อแก้ประเด็นปัญหาเรื่องหนี้ กล่าวคือ DSSI เกิดขึ้นเพื่อระงับการชำระหนี้ จัดตั้งขึ้นโดย 20 ประเทศตามคำแนะนำของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อให้ประเทศที่มีสิทธิระงับการชำระหนี้ชั่วคราวแก่เจ้าหนี้ทวิภาคีอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ กลุ่ม G20 ยังได้เรียกร้องให้เจ้าหนี้เอกชนเข้าร่วมในโครงการนี้อีกด้วย

และองค์ประกอบสุดท้าย คือ การเรียนรู้และการแบ่งปันความรู้ เพื่อยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้และมีความสามารถในการฟื้นตัวมากขึ้นในอนาคต รีเกอร์อธิบายว่า ธนาคารโลกได้จัดกิจกรรมเพื่อแบ่งปันความรู้และบทเรียนที่ได้รับจากวิกฤตโควิด-19 และทางฝ่ายกฎหมายของธนาคารเองก็ได้จัดกิจกรรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการจำนวนมาก เพื่อวิเคราะห์มิติทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของการระบาดใหญ่ รวมถึงงาน ‘สัปดาห์กฎหมาย ความยุติธรรม และการพัฒนา’ (Law, Justice and Development Week) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบออนไลน์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เป็นเวลา 4 วัน โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่การแบ่งปันความรู้ในการตอบสนองทางกฎหมายต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังมีความร่วมมือกับสถาบันประมาณ 180 แห่งทั่วโลกในการพัฒนากฎหมาย ทั้งในด้านเทคโนโลยี เพศ สิทธิมนุษยชน เพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่และวิกฤตอื่นๆ ด้วย

ความสามารถในการฟื้นตัว : ทักษะใหม่ที่ทุกคนนำไปใช้ได้

ในตอนท้าย รีเกอร์สรุปว่า องค์ประกอบทั้งหมดของความสามารถในการฟื้นตัวที่ธนาคารโลกใช้ในการตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19 สามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะในฐานะใด รวมไปถึงในฐานะผู้นำที่พร้อมรับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยการตอบสนองของธนาคารเปรียบเสมือนเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการฟื้นตัวที่สามารถใช้ได้ในทุกบริบท

ทั้งนี้ รีเกอร์ยังกล่าวเสริมว่า ในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินขึ้น องค์ประกอบทั้งหมดยังมีความสำคัญ และแต่ละองค์ประกอบจะต้องดำเนินการในบริบทร่วมกันกับองค์ประกอบอื่นๆ แต่องค์ประกอบหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเรียนรู้และการแบ่งปันความรู้ เพราะความคิดที่เติบโตคือสิ่งที่ช่วยให้มีความสามารถในการเริ่มฟื้นตัวได้ รวมถึงการตระหนักรู้ในความแตกต่างก็มีความจำเป็นเพื่อใช้ในการปรับสมดุลด้วย


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save