fbpx
7 เรื่องเล่าความยุติธรรมต่างมุมมอง

7 เรื่องเล่าความยุติธรรมต่างมุมมอง

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

“หลักนิติธรรม (Rule of Law) ไม่ใช่หลักของนักกฎหมาย (Rule of Lawyer) เพราะหลักนี้มีความสำคัญ มีคุณค่า และกระทบกับชีวิตของคน เราจึงเชื่อว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าเราเอาคนที่หลากหลายมามองเรื่องเดิมในมุมมองใหม่ และวางหัวใจของกระบวนการยุติธรรมไว้ที่ประชาชน ก็อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ บ้าง”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวเปิด เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 8 หัวข้อ “สานพลังมนุษยธรรม…สร้างสรรค์ความยุติธรรม” ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการเน้นถึงความสำคัญของหลักนิติธรรม และการมีส่วนร่วมของคนจากภาคส่วนที่หลากหลาย ที่จะช่วยทำให้หลักนิติธรรมเกิดขึ้นจริง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

กิตติพงษ์เท้าความไปถึงความร่วมมือระหว่าง TIJ และ Institute for Global Law and Policy (IGLP) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในการจัดหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร (TIJ Executive Programme on the Rule of Law and Development: RoLD) ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมในปีนี้จะเป็น RoLD รุ่นที่ 3 โดยเวทีสาธารณะนี้เป็นเหมือนพื้นที่เปิดให้คนจากหลายภาคส่วนมารับฟังการเสวนาและเรื่องราวความยุติธรรมจากมุมมองต่างๆ และร่วมอภิปรายเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงเป็นเวทีเสวนาที่เกิดจากการเสนอประเด็นของผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตร RoLD ด้วย

“หัวข้อที่เราเลือกวันนี้ฟังดูเป็นเรื่องสวยหรู เป็นนามธรรม แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถทำได้ด้วยการรวมพลังจากทุกภาคส่วน และเอาค่าความเป็นมนุษย์เป็นตัวตั้ง เพื่อให้ระบบยุติธรรมเกิดขึ้นจริง”

กิตติพงษ์กล่าวถึงโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่แก้ปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขาโดยไม่ต้องบังคับใช้กฎหมาย และโครงการกำลังใจ ที่ริเริ่มโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ว่าเป็นตัวอย่างของการสานพลังโดยมีมนุษยธรรมเป็นแนวทาง จนสามารถนำไปสู่ความยุติธรรมได้ในที่สุด

“หลายคนคิดว่า ยิ่งให้อำนาจภาครัฐกับตำรวจในการจับกุมและการสอบสวนมาก จะช่วยลดอาชญากรรม แต่คำถามคือ มันจริงหรือไม่” กิตติพงษ์ตั้งคำถาม “ไทยเราให้อำนาจในเรื่องนี้สูง แต่เชื่อไหมว่ากระบวนการต่างๆ ที่ไม่ได้ผ่านการดูแลสิทธิผู้ต้องขังจะนำมาสู่ข้อเท็จจริง ถ้าเราไม่เชื่อ ทำไมเราถึงไม่เชื่อ แล้วความเชื่อนี้ก็นำมาสู่ความรู้สึกว่า ต้องพัฒนาและปฏิรูป”

กิตติพงษ์เสริมว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นฐานเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อให้ความยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือและค้นหาความจริงได้ เพราะถ้าสังคมเกิดความสงสัยเคลือบแคลงในกระบวนการ ก็จะทำให้พวกเขาไม่ศรัทธาในกระบวนการอีกต่อไป

หนึ่งทางเลือกเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่กิตติพงษ์กล่าวถึงคือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ซึ่งเน้นการเยียวยา สร้างความปรองดอง ทำให้คนกระทำความผิดสำนึกผิด และมีโอกาสได้เจอผู้เสียหาย เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้พูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยหากนำกระบวนการนี้มาใช้ ผู้กระทำความผิดก็อาจจะเริ่มสำนึกในการกระทำ เริ่มทำสิ่งใหม่ทดแทนสิ่งที่ทำผิดไป

ทั้งนี้ ความพยายามในการนำคุณค่าความเป็นมนุษย์เข้ามาทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนไป สถาบันทางกฎหมายก็ต้องพยายามเปลี่ยนแปลง และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

“เราเชื่อในเรื่องเครือข่าย เพราะนอกจากคนในวงการกฎหมายแล้ว การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกคนล้วนได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่นักกฎหมาย” กิตติพงษ์กล่าว พร้อมทั้งปิดท้ายว่า หลักสูตร RoLD ก็เป็นหนึ่งในความหวังสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันเรื่องหลักนิติธรรม และก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมสืบไป

สร้างความยุติธรรม ด้วยพลังมนุษยธรรม

หากมีใครสักคนฆ่าพ่อของคุณ คุณจะทำอย่างไร?

ขุ่นเคือง โกรธแค้น อยากแก้แค้น หรืออยากเอาเรื่องให้ที่สุดตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

สำหรับ ใหญ่ ผู้ที่ต้องสูญเสียบิดาของตนเองไปจากการกระทำของ เล็ก คำตอบที่เขาค้นพบในท้ายที่สุดคือ เขาต้องการให้อภัยคนที่ฆ่าพ่อของตนเอง

แม้จะฟังดูแทบไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ที่ซึ่งความแค้นชั่วชีวิต แปรเปลี่ยนเป็นมิตรภาพชั่วนิรันดร์

ป้ามล - ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก

ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก

“เล็กเคยเป็นวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่ง เรียนอยู่ชั้น ม.3 ในกรุงเทพฯ วันหนึ่งเล็กได้ทำร้ายผู้ใหญ่สองคนจนเสียชีวิต ถูกพิพากษาให้อยู่ในสถานควบคุมจนถึงอายุ 24 ปี และถูกส่งตัวมาที่บ้านกาญจนาภิเษก” ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ระหว่างที่เล็กอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษก ได้มีเยาวชนอีก 51 คนเข้ามาใหม่ ซึ่งป้ามลไม่รู้มาก่อนว่ามีใครบ้าง จนกระทั่งในคืนหนึ่ง เล็กได้ขึ้นมาหาและบอกกับป้ามลว่า 1 ใน 51 คนนั้นคือใหญ่ ลูกชายของคนที่เล็กได้ฆ่าไปเมื่อหลายปีก่อน

“เล็กบอกว่า ใหญ่รู้ว่าเล็กเป็นคนทำ และถ้าถามว่าเล็กกลัวไหม เขากลัว นาทีนั้นป้าคิดว่า โจทย์นี้ยากมาก และที่สำคัญคือ ใหญ่เข้ามาที่นี่เพราะตั้งใจจะมาฆ่าเล็กโดยเฉพาะ”

ป้ามลเล่าว่า เธอลองปรึกษากับคนหลายคน และได้รับคำตอบว่า ต้องให้ใหญ่ไปจากบ้านกาญจนาฯ เพราะใหญ่มาทีหลัง แต่ป้ามลคิดว่านี่ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง และหากเราสามารถทำให้สองคนนี้ไม่ฆ่ากันได้ ก็จะเป็นการดีกว่าแน่นอน

“เราคิดว่า ต้องทำอะไรที่มากกว่าการประคับประคองสถานการณ์นี้ต่อไปเรื่อยๆ เราจึงพยายามหาวันที่เหมาะสม จนได้วันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสันติภาพ เราจึงเลือกใช้วันนั้นเพื่อจัดงานคารวะผู้เสียหายที่พ่อโดนฆ่า”

“นอกจากใหญ่ที่ยอมมาเข้าร่วม แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะรับเรื่องนี้ได้สนิทใจไหม เรายังเชิญแม่ของผู้ตาย (ย่าของใหญ่) มาด้วย ซึ่งเมื่อย่าออกมายืนต่อหน้าทุกคน ย่าบอกว่า หากวันนี้หลานชายของตน (ใหญ่) มาเพื่อเจอเล็ก และต้องการจะฆ่าเล็ก ย่าคิดว่าย่ารับไม่ได้ และย่าก็มาที่นี่เพื่อให้อภัยเขาโดยเฉพาะ ซึ่งท่าทีของใหญ่ดูรับฟัง รับรู้ว่าย่าต้องการสื่อสารอะไร และเล็กก็ได้ขอขมาย่าของใหญ่ด้วย”

นอกจากย่าของใหญ่ที่เป็นผู้เสียหายแล้ว ป้ามลยังได้เชิญพ่อของเล็กมาด้วย ซึ่งพ่อของเล็กบอกว่า ตนเองอยากขอโทษและอยากเจอผู้เสียหายมาตลอด แต่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักกลับไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ทำเช่นนี้ จนต้องย้ายบ้านหนีเพื่อเยียวยาตนเอง การมาร่วมงานขอขมาในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดี

หลังจากที่งานในวันนั้นจบลง ใหญ่เขียนบันทึกก่อนนอนว่า วันนั้นเป็นวันที่เขามีความสุขที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และเขาน่าจะให้อภัยได้ตั้งนานแล้ว แต่นี่ไม่ใช่แค่ใหญ่เท่านั้น เด็กๆ ในบ้านกาญจนาฯ ที่เข้าร่วมในงานวันนั้นล้วนอยากให้มีการจัดงานแบบนี้ขึ้นอีก เพื่อจะได้ขอขมาเหยื่อของตน และทำให้รู้สึกว่าตนเองได้รับการเยียวยาและการให้อภัย ซึ่งป้ามลชี้ให้เห็นว่า เมื่อความขัดแย้งของคนๆ หนึ่งถูกระงับได้ด้วยสันติวิธี ความขัดแย้งของคู่อื่นก็จะได้รับการจัดการและเยียวยาอย่างง่ายดาย

ส่วนใหญ่กับเล็ก หลังจากที่พวกเขาได้ผ่านการให้อภัยและการขอขมากันในวันนั้นแล้ว ความสัมพันธ์ของสองคนนี้ก็แปรเปลี่ยนจากการเป็นศัตรูคู่อาฆาต กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในที่สุด

“การแก้ที่ผลมันยาก แต่ทำให้เราเห็นเหตุได้ชัดเจน และเห็นว่าเราต้องใช้ศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์ และศาสตร์อื่นๆ นอกเหนือจากการใช้กฎหมายด้วยเหมือนกัน และแม้เรื่องพวกนี้จะไม่ง่าย แต่ในความหลากหลายของคนก็ยังมีความหวัง มีความเข้าใจของคนที่เข้าไปช่วยกัน ไม่กระหน่ำซ้ำเติมกลุ่มปัจเจกที่เปราะบางเช่นนี้”

“สุดท้ายแล้ว ป้าเชื่อว่า กระบวนการยุติธรรมที่ใช้กฎหมายเป็นหลัก ก็จะยังคงเป็นกระแสหลักต่อไปอีกนาน แต่ป้าอยากให้ทุกคนในกระบวนการลองใช้ความหลากหลายสร้างความเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นกระบวนการยุติธรรมที่อ่อนโยน โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางของประเทศ และป้ายังเชื่ออีกว่า กลุ่มคนที่มีความศรัทธา มุ่งมั่น และมีความเชื่อร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะสามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้” ป้ามลกล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเล่าความยุติธรรม จากสายตาประชาชน

“ความยุติธรรมถือเป็นหนึ่งในความทุกข์ของประชาชน เพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือความยุติธรรม เมื่อมีปัญหา ก็จะเข้ามาร้องทุกข์ร้องเรียนกับสื่อ เพราะพวกเขามีปัญหาในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหลัก รู้สึกว่ากฎหมายบังคับใช้ไม่เท่าเทียมกัน และไม่มีพลังในการดูแลชีวิตตัวเอง”

กิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

กิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

กิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และหนึ่งในผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD รุ่นที่ 3 เกริ่นนำในช่วงต่อมาของเวทีสาธารณะ ซึ่งเป็นช่วงที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD ได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวในกระบวนการยุติธรรมผ่านมุมมองต่างๆ

เขาชี้ให้เห็นว่า เมื่อประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ว่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมได้ แปลว่ามีช่องว่างในสังคมค่อนข้างเยอะ และการที่คนธรรมดาเหล่านี้เลือกเข้าหาสื่อมากกว่ากระบวนการหลัก เพราะพวกเขาเห็นว่า สื่อน่าจะมีอำนาจ หรือสามารถเป็นพลังเชื่อมต่อไปยังผู้ที่อยู่สูงกว่าได้

จากบทบาทของสื่อ กิตติส่งไม้ต่อให้กับอีกหนึ่งคนในวงการบันเทิงอย่าง ซินดี้ – สิรินยา บิชอพ นักแสดง นางแบบ และผู้ก่อตั้งแคมเปญ #DontTellMeHowToDress ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำถามที่น่าสนใจว่า เราพร้อมที่จะยอมรับสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในไทยอย่างจริงจังหรือยัง หรือเรายังมองว่า นี่เป็นเรื่องไกลตัว เกิดขึ้นกับคนบางกลุ่มและบางชนชั้นเท่านั้น

สิรินยาอ้างผลจากงานวิจัยเรื่อง Towards Gender-responsive Criminal Justice: Good Practices from Southeast Asia in Responding to Violence against Women ของสถาบัน TIJ ที่พบว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคม และยังเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งผู้กระทำผิดมักรอดพ้นจากการถูกลงโทษด้วย

“ทำไมเวลาสามีทำร้ายภรรยา คนมักจะบอกว่าให้เธอทนไป ให้คิดถึงลูก เพราะลูกต้องมีพ่อ บอกว่าสามีภรรยามีเรื่องกันเป็นสิ่งที่ปกติ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยที่มองว่าการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่รับได้ เป็นเรื่องธรรมดา รู้ไหมคะว่า ผู้ชายไทยอยู่อันดับ 7 ของโลกในเรื่องการทำร้ายผู้หญิง”

“ทำไมเด็กผู้หญิงจำนวนมากถึงถูกล่วงละเมิดทางเพศ และไม่กล้าไปบอกใครเพราะโดนผู้ใหญ่ขู่ สถิติบอกเราว่า จำนวนเด็กไทยที่ถูกทำร้าย ลวนลามทางเพศ หรือทอดทิ้งในแต่ละวันคือ 52 คน หรือประมาณ 2 คนต่อชั่วโมง เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข และเราก็ไม่กล้าจะคุยเรื่องเพศกับเด็ก เพื่อให้พวกเขาเข้าใจสิทธิในร่างกายตนเอง”

“ทำไมเวลาผู้หญิงที่ถูกกระทำชำเราไปแจ้งความ เธอมักจะพบกับคำถามว่า แต่งตัวแบบไหน เป็นสาวแล้วไปเที่ยวกับผู้ชายได้อย่างไร เมาใช่ไหม ไปอ่อยเขาหรือเปล่า รู้ไหมคะว่า 91% ของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือคุกคามทางเพศ รู้จักกับคนที่กระทำเธอ เป็นคนสนิท คนรู้จัก ไม่ใช่ผู้ชายแปลกหน้าที่ไหนที่ควบคุมตนเองไม่ได้เพราะเธอแต่งกายเซ็กซี่ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยคะ ทำไมคำถามแรกที่เราถามผู้หญิงคือ คุณแต่งตัวแบบไหนเมื่อถูกคุกคามทางเพศ”

สิรินยาปิดท้ายว่า ถ้าเราอยากจะมอบความเป็นธรรมให้กับกลุ่มเปราะบาง คือเด็กและสตรี เราอาจจะเริ่มย้อนกลับมาดูว่า เราเคยพูดประโยคเหล่านี้ออกไปไหม ถ้าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน บางทีเราจะต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน เพราะเราทุกคนล้วนมีอำนาจในการเขียนเรื่องราวใหม่กับเหยื่อที่เปราะบางเหล่านี้

คุณนุสรา บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด มหาชน

คุณนุสรา บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด มหาชน

แม้เรื่องความรุนแรงในครอบครัว หรือเรื่องชู้สาว มักจะถูกคนจำนวนหนึ่งมองว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ คุณนุสรา บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด มหาชน ได้ชี้ให้เห็นบทบาทขององค์กรที่สามารถแสดงท่าทีต่อเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัวได้ โดยเธอยกตัวอย่างว่า องค์กรมีการจ่ายค่าชดเชยเพื่อให้พนักงานที่มีปัญหาเรื่องชู้สาวออกจากงาน เพื่อเป็นการช่วยเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสังคมในอีกทางหนึ่ง

“เราต้องเชื่อว่า เราคือคนในสังคมที่สามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมได้ และบริษัทสามารถเริ่มสื่อสารค่านิยมที่ถูกต้องได้ เริ่มตั้งแต่สังคมเล็กๆ ในบริษัท ให้พนักงานเห็นว่า ค่านิยมที่ควรจะเป็นของสังคมไทยคืออะไร จะยอมรับความรุนแรงในครอบครัว หรือจะมองว่าเราต้องเยียวยาช่วยเหลือ แสดงให้พนักงานเห็นว่า บริษัทสามารถเป็นที่พักพิงและช่วยแก้ปัญหาของพนักงานได้”

“ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว เราต้องปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าใจค่านิยมที่ถูกต้อง ให้เด็กหญิงรู้ว่าพวกเธอมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่ที่จะกระทำความรุนแรงได้ และไม่ใช่สมบัติของสามีที่จะทำอะไรก็ได้เมื่อแต่งงานแล้ว และช่วยให้เด็กๆ ตระหนักถึงความถูกต้อง อะไรถูก ผิด ชั่ว ดี ให้มีความตระหนักว่า ไม่ว่าจะมีคนเห็นเราทำผิดหรือไม่ เราก็จะไม่ทำผิด ซึ่งถ้าเราไม่ช่วยกัน สังคมเราก็จะไม่มีวันดีขึ้นได้” นุสราปิดท้าย

เรื่องเล่าขยับมาสู่ปัญหาในวงการแพทย์ โดย ศาสตราจารย์ นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เล่ากรณีศึกษาทางการแพทย์ที่น่าสนใจ ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักคือทางออกที่เหมาะสมทางออกเดียวหรือไม่

ศาสตราจารย์ นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ศาสตราจารย์ นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“มีคนไข้หญิงคนหนึ่งเข้ามาที่โรงพยาบาลชุมชนด้วยอาการไส้ติ่งอักเสบ โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั้นเป็นผู้ผ่าตัด และมีแพทย์หญิงจบใหม่ที่กำลังใช้ทุนเป็นคนฉีดยาชาบล็อคหลัง ปรากฏว่าเกิดข้อผิดพลาด คนไข้หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในอีกราวสองสัปดาห์ให้หลัง”

“ลูกสาวของผู้เสียชีวิตพยายามสอบถามสาเหตุการเสียชีวิตของแม่ แต่เมื่อไม่ได้รับความชัดเจน เธอจึงไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วก็ได้รับคำตอบว่าแจ้งความไม่ได้ ถ้าอยากเอาเรื่อง จะต้องฟ้องศาล ผู้เสียหายจึงตัดสินใจฟ้องศาล ก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีอาญาให้แพทย์ผู้ฉีดยาชาจำคุกสามปี ไม่รอลงอาญา ฐานประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และผลที่ตามมาหลังจากเรื่องนี้คือ สิบปีให้หลัง โรงพยาบาลชุมชนแทบจะไม่รับผ่าตัดอาการไส้ติ่งอักเสบอีกเลย”

อนันต์สรุปว่า กรณีนี้ทำให้เราต้องหวนกลับมาพิจารณาว่า กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักยังเหมาะสมทุกกรณีหรือไม่ เพราะเหตุใดตำรวจจึงไม่รับแจ้งความจากลูกสาวของผู้ตาย แล้วเราควรจะนำบริบทอื่นๆ เช่น ความยุติธรรมเชิงสังคม (Social Justice) เข้ามาช่วยพิจารณาด้วยไหม หรือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะเป็นอีกทางออกที่น่าสนใจได้

อีกหนึ่งเรื่องเล่าที่น่าสนใจมาจากภาคประชาสังคม โดย คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้ชวนให้ผู้ฟังฉุกคิดถึงเรื่องการเก็บภาษีน้ำตาล ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับปัจเจกมากกว่าบริษัท

คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด

คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด

ในฐานะคนทำธุรกิจน้ำผลไม้ พิพัฒพงศ์เล่าให้ฟังว่า บริษัทของเขาทำน้ำลิ้นจี่ ซึ่งใช้ลิ้นจี่ราวปีละร้อยตัน แต่เมื่อมีการเก็บภาษีน้ำตาล ก็ลดเหลือปีละห้าสิบตัน เพราะลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่หวานอยู่แล้ว ซึ่งผลกระทบอาจไม่ได้ตกกับบริษัทขนาดใหญ่ขนาดนั้น แต่จะกระทบกับเกษตรกรที่ขายลิ้นจี่ไม่ได้ หรือขายได้น้อยลง ซึ่งเขาเสนอว่า เราอาจจะเปลี่ยนเป็นการให้ความรู้ เช่น ความรู้ในการบริโภค แทนที่จะออกกฎหมายซึ่งครอบคลุมทั้งหมด และมีปัญหาตามมาทีหลังแทน

เรื่องเล่าเรื่องสุดท้ายเป็นของ ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการยุติธรรมอาญา ที่มาร่วมอภิปรายว่า หลักนิติธรรมจะเกิดขึ้นในสังคมได้อย่างไร

“การทำงานในกระบวนการยุติธรรม ทำบนความขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับคน เราตัดสินใจมนุษย์ในฐานะวัตถุ ไม่สนใจว่าใครเป็นใคร มาจากไหน” สุรศักดิ์กล่าวนำ พร้อมทั้งอธิบายว่า เวลาที่คนในกระบวนการยุติธรรมทำงาน พวกเขาแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับผู้กระทำผิดเลย ยกเว้นเรื่องที่ว่าเขาทำผิดอะไรมาตามคำฟ้อง ซึ่งบางที ถ้าเรารู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเขา ก็อาจทำให้พบทางเลือกที่แตกต่างออกไปได้

“สิ่งที่ผมเห็นอย่างหนึ่งคือ พลังคนไทยทั้งในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก และนอกกระบวนการมีเยอะมาก ซึ่งผมอยากให้สิ่งนี้เป็นตัวกระตุ้นไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้เหมือนเรายึดติดกับฎีกา ท่องตัวบทเหมือนพระสวดมนต์ แต่เราไม่วิเคราะห์เลย เพราะฉะนั้นถ้าภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาช่วยกันทำงาน ผมเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนแปลงได้”

“หนึ่งคำถามที่อยากให้ช่วยกันคิดคือ ถ้ากระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันดีจริง ทำไมเราต้องสร้างเรือนจำเพิ่มขึ้น ทำไมสถิติอาชญากรรมสูงขึ้น เราเคยใช้เงินจำนวนมหาศาลไปกับเรื่องยาเสพติด แต่สิ่งที่ได้คือคดียาเสพติดกลับเพิ่มขึ้น”

“ผมคิดว่า ถ้าคนทำผิดคือเพื่อนมนุษย์ของเรา แล้วทำอย่างไรเขาถึงจะกลับมาเป็นคนดีได้ ตอนสอนหนังสือเราไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ ไม่เคยสนใจสาเหตุที่เขาทำผิดเลย เสมือนหนึ่งว่าเราผลิตกระบวนการยุติธรรมเป็นอุตสาหกรรม ผมเชื่อว่าเราต้องช่วยกันทำ ถ้าเราไม่ทำวันนี้ สักวันหนึ่ง ครอบครัวหรือเพื่อนของเรา อาจตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมได้เหมือนกัน” สุรศักดิ์ปิดท้าย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save