fbpx
7 ความเป็นไปได้ที่ทำให้รถติด

7 ความเป็นไปได้ที่ทำให้รถติด

“โอ๊ย! ติดอีกแล้ว ทำไมมันไม่ขยับเลย จะถึงอยู่แล้ว ตรงหน้านี่เอง” หลายคนคงเคยมีความรู้สึกอย่างนี้เวลาที่ต้องใช้ถนน โดยเฉพาะถนนในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘รถติด’ เป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้มนุษย์เมืองเกิด ‘ความทุกข์’

แต่คุณรู้ไหม-ว่าจริงๆ แล้ว ‘รถติด’ เกิดมาจากอะไรบ้าง ไปดู ‘สาเหตุ’ ที่ทำให้รถติดกัน

 

สองปีก่อน บริษัท Xerox ได้วิจัยและออกหนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Make Your City Flow (2015) เพื่อค้นหาว่าที่รถติดตามเมืองต่างๆ ทั่วโลกนั้นเกิดจากอะไรบ้าง และหากจะแก้ไขปัญหารถติด เราจะมีวิธีจัดการอย่างไรบ้าง

เขาบอกว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ในเมืองมีรถติดมีอยู่ 7 ประการด้วยกัน

 

สาเหตุแรก: รถเยอะ แต่ถนนน้อย

แหม! สาเหตุนี้ไม่เห็นต้องบอกเลย ใครๆก็รู้ว่าพอปริมาณของรถยนต์บนท้องถนนมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดขีดความสามารถของถนนจะรองรับได้ รถก็ต้องติดแน่นวลลล

แต่ที่เป็นอย่างนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชากรในเมืองมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ถนนนั้นไม่สามารถสร้างขึ้นได้ทัน ทำให้รถมีมาก แต่ถนนมีน้อย รถจึงล้นถนน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2525 ในยุคที่กรุงเทพฯ มีการขยายเมืองและเริ่มมีขอบเขตชัดเจน ขณะนั้นมีประชากรราว 5 ล้านคน ปัจจุบันปี 2560 กรุงเทพฯ มีประชากรเกือบ 10 ล้าน เพียงเวลา ไม่ถึง 40 ปี ประชากรของกรุงเทพได้ขยายตัวไปมากกว่าเท่าตัว ขณะที่พื้นที่เมืองมีอยู่เกือบจะเท่าเดิม จึงไม่แปลกใจที่กรุงเทพฯ จะมีสภาพดังที่เห็นทุกวันนี้

เพื่อแก้ปัญหารถติด หลายเมืองทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพจึงได้สร้างและขยายถนนมากขึ้นเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า วิธีแก้ไขปัญหาด้วยวิธีคิดพื้นๆ ดังกล่าว ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพ  เพราะแทนที่ถนนที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะไปช่วยรองรับปริมาณรถยนต์ มันกลับจะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการใช้รถยนต์มากขึ้น แล้วที่สุด รถก็จะล้นถนนเหมือนเดิมนั่นแหละ

สำหรับทางแก้จากสาเหตุนี้ เขาบอกว่าให้สร้างระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ หรือรถไฟฟ้าให้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรดำเนินนโยบายที่ไปลดแรงจูงใจที่ทำให้คนอยากเป็นเจ้าของรถควบคู่ไปด้วย (บางคนเรียกว่าเป็นการ ‘รังแกรถยนต์’) เช่น อย่างในสิงคโปร์ มีมาตรการเก็บภาษีรถยนต์สูงๆ เพื่อไม่ให้คนซื้อรถยนต์ส่วนตัวได้ง่าย หรือในลอนดอน มีการเก็บ Congestion Toll หรือค่าผ่านเข้าพื้นที่ชั้นในของเมือง ทำให้ลดการจราจรได้

สาเหตุที่สอง: ไม่มีทางเลือกให้เดินทางอย่างอื่นเลย

เขาบอกว่าที่คนมาใช้รถยนต์กันเยอะ เพราะว่าช่องทางการเดินทางประเภทขนส่งสาธารณะมีน้อย แต่ต่อให้มีเพียงพอ ถ้าบริการจัดการห่วย  เช่น รถไฟฟ้าออกช้า หรือสถานีรถไฟฟ้าแต่ละแห่งไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน คนก็ไม่อยากใช้อยู่ดี เพราะมันไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องความเร็วในการเดินทาง

ทางแก้คือ แต่ละเมืองควรสร้างช่องทางการเดินทางที่หลากหลาย อย่างในเมือง Portland นอกจากจะมีบริการรถเมล์ให้แล้ว ยังมีการสร้างเลนสำหรับจักรยานเป็นการเฉพาะอีกด้วย โดยเลนสำหรับจักรยานที่ว่านี้ ทางองค์การบริหารเมืองเขากำหนดเลยว่า ห้ามมีการใช้ทับซ้อนกับเลนอื่นๆ จักรยานก็ต้องจักรยาน ดังนั้น เราจะไม่มีทางเห็นกรณีที่รถยนต์ส่วนตัวหรือรถเมล์จะขับมาทับเลนจักรยานคล้ายๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

 

สาเหตุที่สาม: ติดแหงกเพราะด่านเก็บเงิน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถติดคือ ‘ด่านเก็บเงิน’ โดยเฉพาะด่านเก็บเงินเวอร์ชันเก่าๆ ที่ยังให้มีพนักงานประจำอยู่ข้างใน และรอเก็บเงินจากรถที่จะผ่านด่านมา ขั้นตอนตั้งแต่กว่ารถจะจอดที่ด่าน กว่าคนขับจะเปิดหน้าต่างได้สำเร็จและยื่นเงินออกไป กว่าพนักงานจะคิดเงินเสร็จ กว่าจะทอนตังค์ และให้ใบเสร็จ ทั้งหมดนี้กินเวลามากๆ เป็นไปได้ว่ารถคันหนึ่งน่าจะใช้เวลาราวๆ 2-3 นาที กว่าจะสามารถผ่านด่านเก็บเงินแบบนี้ได้

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ในบ้านเรา เราจะเห็นรถชอบติดอยู่ตรงทางเข้าทางด่วนอยู่ร่ำไป

และยิ่งเป็นทางด่วนใกล้ๆ สี่แยกที่รถเยอะๆ อย่างเช่น ห้าแยกลาดพร้าว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถ้าเต่าออมสินยังไม่ตาย อาจเดินเร็วกว่ารถด้วยซ้ำ

เขาบอกว่าทางแก้อย่างหนึ่งก็คือ ก็ต้องปฏิรูปด่านเก็บเงินนี้ให้ ‘ฉลาด’ มากขึ้น จากแต่เดิมที่ใช้คน ก็เอาออกไปเสีย และนำอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาติดตั้งแทน นั่นคือ ในด่านเก็บเงินควรมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถอนุญาตให้คนขับสามารถผ่านด่านไปได้เลย โดยด่านจะหักเงินออกจากบัญชีอิเล็กทรอนิกส์สำหรับจ่ายค่าทางด่วนที่จ่ายมาก่อนหน้าของคนขับรถทันทีเมื่อขับรถผ่านด่าน อย่างไรก็ดี ในรถยนต์ที่จะผ่านด่านแบบนี้ได้ ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ชนิดหนึ่งเอาไว้เพื่อสื่อสารและหักเงินกับด่านได้ด้วย

ถ้านึกตัวอย่างไม่ออก ก็ลองนึกถึง ทางด่วน Easy Pass ของทางด่วนเรา ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่น่าเสียดายที่ทางด่วนแบบนี้ยังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไหร่

 

สาเหตุที่สี่: นิสัยของคนขับนี่แหละ

สาเหตุรถติดคงหลีกลี้หนีปัจจัยนี้ไปไม่พ้น นั่นคือ ‘นิสัยของมนุษย์’ ที่สุดยากแท้จะหยั่งถึง ไม่ว่าจะเป็นการขับรถไม่เป็นระเบียบ ไม่มีแบบแผน บ้างก็ขับช้า บ้างก็ขับเร็ว บ้างก็ขับแบบก้าวร้าวเกรี้ยวกราด ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ทั้งสิ้น ซึ่งอุบัติเหตุบนถนนในเมืองนั้นก็มักจะนำมาสู่สภาวะอัมพาตบนท้องถนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทางแก้สำหรับปัญหานี้ เขาบอกว่า ในเมืองต้องมีมาตรการควบคุมความเร็ว ทั้งการควบคุมความเร็วของรถขั้นต่ำและขั้นสูง คือแล่นช้าเกินไปก็ไม่ไหว แล่นเร็วเกินไปก็ไม่ดี แต่การควบคุมเฉยๆ อาจไม่พอ ต้องสร้าง ‘วัฒนธรรม’ การขับขี่ที่มีสำนึกขึ้นมาด้วย ซึ่งอันหลังนี่น่าจะทำยากที่สุด

 

สาเหตุที่ห้า: ไม่เคยให้ความสำคัญกับขนส่งสาธารณะเลย

หลายเมืองมักให้รถยนต์ส่วนตัวมีอภิสิทธิ์เหนือช่องทางการขนส่งประเภทอื่นๆ เกิดกลายเป็น ‘Car Culture’ ที่เอะอะอะไรก็จะให้รถยนต์ส่วนตัวมีอภิสิทธิ์ก่อนเสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ช่องทางขนส่งสาธารณะ อย่างเช่น รถเมล์หรือรถจักรยานก็เลยไม่มีที่ทางในเมือง เวลารถพวกนี้จะวิ่งไปไหนก็จะไปติดแหงกรวมกันกับรถยนต์ส่วนตัวอื่นๆ ทำให้บริการขนส่งสาธารณะเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ แล้วใครจะไปอยากใช้กันล่ะนี่ เมื่อคนไม่สนใจใช้ขนส่งสาธารณะ ก็กลับไปพึ่งรถยนต์ส่วนตัว ส่งผลให้รถมีมากขึ้นและติดมากกว่าเดิม

ทางแก้ก็คือ แต่ละเมืองควรมีมาตรการออกมาเพื่อให้ความสำคัญกับบริการขนส่งสาธารณะ

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รถจะติดอย่างไร ยานพาหนะประเภทขนส่งสาธารณะควรมีสิทธิที่จะได้วิ่งไปตลอดรอดฝั่ง โดยไม่ติดขัดอะไร คล้ายๆ กับเวลารถพยาบาลเปิดหวอ แล้วรถแต่ละคันก็พร้อมจะหลีกทางให้

ในปี 1974 เมือง Curitiba ประเทศบราซิล ได้คิดโครงการหนึ่งขึ้นมาเพื่อสะท้อนถึงหลักการ ‘ขนส่งสาธารณะต้องมาก่อน’ ซึ่งมีชื่อว่า ‘Bus Rapid Transit’ หรือรถเมล์ด่วน BRT โดยจัดเลนแยกต่างหากสำหรับรถเมล์ด่วน BRT โดยห้ามให้รถประเภทอื่นๆ เข้ามาใช้ ใครขืนเข้ามาจะโดนปรับเงิน เครือข่าย BRT นี้มีกระจายอยู่ทั่วเมือง หลังจากมีการดำเนินโครงการนี้ได้ไม่นาน ชาวเมืองกว่า 85% แห่กันมาใช้รถเมล์ด่วน BRT เพราะเห็นว่าสามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ติดขัด และปลอดภัย ของกรุงเทพก็มีการทำรถเมล์ด่วน BRT เหมือนกัน แต่ทว่ามีการวางเครือข่ายไม่ครอบคลุมทั้งเมือง ประกอบกับไม่สามารถกันเลนรถได้จริงๆ จึงทำให้ไม่ได้รับความนิยม และต้องปิดโครงการไปในที่สุด ช่างน่าเสียดายจริงๆ

 

สาเหตุที่หก: สัญญาณจราจรไร้ประสิทธิภาพ

การจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนนั้นแตกต่างกว่าช่วงเวลาอื่นอย่างมาก เพราะต้องการการจัดการที่ฉับไวและเท่าทันต่อสถานการณ์ สัญญาณจราจรจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี มีการศึกษาพบว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนสัญญาณจราจรเพื่อกำกับทิศทางการไหลของรถ รถมักต้องหยุดหลายครั้งติดๆ กันเกินความจำเป็น ทำให้รถติดมากขึ้น

ทางแก้ก็คือ ควรมีการติดตั้งสัญญาณจราจรที่สามารถปรับเองได้ (adjusting signals) ซึ่งจะสามารถตอบสนองสถานการณ์การจราจรแบบ real-time ซึ่งสัญญาณจราจรลักษณะนี้จะต้องทำงานควบคู่ไปกับระบบปฏิบัติการที่รวบรวมข้อมูล Big Data เกี่ยวกับการจราจรภายในเมือง เพื่อประมวลผลว่าจะปล่อยสัญญาณจราจรอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย

เมือง Los Angeles เคยมีการใช้ระบบสัญญาณจราจรแบบนี้ และพบว่าสามารถลดเวลาการเดินทางได้ถึง 13% ลดเวลาหยุดรถถึง 31% และลดความล่าช้าได้ 21% เข้าใจว่าในประเทศไทย ก็มีการใช้ระบบสัญญาณจราจรแบบนี้มาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่ได้มีการเชื่อมต่อและใช้ Big Data ด้านการจราจรได้ดีพอ จึงทำให้เวลาใช้งานจริงยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

 

สาเหตุที่เจ็ด: ติดเพราะมัวหาที่จอดรถ

ในเมืองที่เปิดโอกาสให้สามารถจอดรถได้ตามข้างถนน จะประสบกับสถานการณ์รถติดได้ง่ายกว่าใครเพื่อน สาเหตุง่ายๆ เพราะว่ารถหลายคันที่ต้องการจอดตามข้างถนน เสียเวลากับการวนหาที่จอดรถไปเรื่อยๆ ในบริเวณที่ต้องการจอด (ลองนึกภาพถึงตอนที่เราไปจอดรถในห้าง และคันข้างหน้าก็กำลังจอดรถ หรือวนไปไม่เลิก วนไปวนมาก็ไปติดแหงกกับคันอื่นๆ ที่กำลังวนหาที่จอดรถเหมือนกัน) ที่สำคัญเมื่อยังหาที่จอดไม่ได้ ก็จะวนไปเรื่อยๆ ในบริเวณนั้นๆ ทำให้รถเหล่านี้ไม่ได้วิ่งไปไหน วนเวียนอยู่ตรงนั้น รถคันอื่นๆ ที่จะใช้เส้นทางนี้เพื่อไปที่อื่นก็ต้องติดไปด้วย

เขาเลยเสนอทางแก้ว่า เราต้องมีระบบจอดรถข้างทางอัจฉริยะ (Intelligent Parking System) ที่ทำงานอยู่บนหลัก ‘Dynamic Pricing’ หรือ ‘การคิดราคาค่าจอดแบบตามสถานการณ์’ นั่นคือ เมื่อมีรถมาจอดมากขึ้น ราคาค่าจอดรถก็จะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากรถมาจอดน้อย ราคาก็จะลดลง ฉะนั้น เมื่อค่าจอดรถสูงมากๆ คนก็ไม่ค่อยเอารถเข้ามาจอด เป้าหมายคือ รักษาที่จอดรถให้เหลือประมาณ 30% ของที่จอดรถทั้งหมด และเมื่อมีที่จอดรถว่างอยู่ตลอดเวลา รถคันอื่นก็จะสามารถหาที่จอดรถได้ แต่เพื่อไม่ให้เจ้าของรถมาเสียเวลาวิ่งดูว่าราคาที่จอดรถแต่ละที่อยู่ที่ระดับเท่าไร เมืองจะต้องมีแอปพลิเคชันให้คนขับใช้ตรวจสอบราคาและตัดสินใจล่วงหน้าเอาไว้

ตัวอย่างเมืองที่เคยใช้ระบบจอดรถข้างทางอัจฉริยะ คือเมือง Los Angeles หลังจากใช้ระบบดังกล่าว เมืองสามารถลดเวลารถติดที่เกิดจากการจอดรถไปได้ถึง 10% ด้วยกัน

 

หลังจากดูสาเหตุต่างๆ แล้ว เราก็คงสรุปได้ไม่ยากว่า รถติดบ้านเราคงเกิดขึ้นมาจากสาเหตุทั้ง 7 นี้แหละ และถ้าแก้ก็ต้องแก้ทั้ง 7 ปัญหานี้พร้อมๆ กัน

เฮ้อ! หวังว่าคงมีสักวันที่บ้านเมืองของเราจะไม่มีรถติด

(ฝันกลางวัน!)

 

อ่านเพิ่มเติม

-งานวิจัย Make your city flow Seven causes of congestion and how cities are tackling them จาก Xerox

-ข่าว แปลงร่าง BRT เป็นรถรางไฟฟ้า อวสานโปรเจ็กต์หาเสียงนักการเมือง จาก ประชาชาติธุรกิจ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save