6 เรื่องของคณะราษฎร ผ่านทัศนะของปรีดี พนมยงค์

คณะราษฎร

ในวาระ 90 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475-2565 ขอนำเสนอ 6 เรื่อง 6 ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคณะราษฎร จากทัศนะของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘มันสมอง’ ของคณะราษฎร ตั้งแต่ที่มาของชื่อคณะราษฎร วัตถุประสงค์ ผลงาน และสิ่งที่ไม่สมควรกล่าวหาว่าเป็นความผิดของคณะราษฎร


นายปรีดี พนมยงค์
(11 พฤษภาคม 2443 – 2 พฤษภาคม 2526)
ภาพนี้ถ่ายก่อนถึงแก่อสัญกรรมประมาณ 1 สัปดาห์
(ที่มา : มิตรกำสรวล, 2526)


1. ชื่อ “คณะราษฎร”

นายปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่าชื่อกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ตนเองเป็นผู้เสนอชื่อว่า ‘คณะราษฎร’ ตั้งแต่การประชุมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2469 (ปฏิทินเก่า / ค.ศ. 1927)

เหตุที่ใช้คำว่า ‘คณะ’ เพราะในสมัยก่อน พ.ศ. 2475 ยังไม่มีคำว่า ‘พรรค’ เพื่อเรียกองค์การหรือพรรคการเมือง โดยใช้คำว่า ‘คณะ’ แปลคำว่า Party อันย่อมาจาก Political Party เช่น การแปลคำว่า Chinese Nationalist Party ว่า ‘จีนคณะชาติ’ หรือ ‘คณะชาติจีน’ โดยมิใช่คำว่า ‘พรรค’

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2480 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเสนอคำว่า ‘คณะพรรค’ แปล Political Party ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติคำว่า ‘คณะพรรคการเมือง’ ในมาตรา 14 จนต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2492 ตัดย่อเหลือเพียง ‘พรรคการเมือง’

สำหรับคำว่า ‘ราษฎร’ นั้น “เพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลายยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่นักประชาธิปไตยส่วนมากย่อมทราบว่า ประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไว้อย่างเหมาะสมว่า ‘รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร’”


2. วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร

นายปรีดีอธิบายไว้ในทศวรรษ 2520 ว่า คณะราษฎรมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ

(1) เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การ “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย”

คณะราษฎรได้ดำเนินการเป็นขั้นๆ ตามลำดับ จากขั้นแรก (รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2475) ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เนื่องจากเป็น “ระยะหัวต่อระหว่างระบอบสมบูรณาฯ ที่ปกครองสยามเป็นเวลาหลายพันปี กับระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มขึ้น” ขั้นต่อมา (รัฐธรรมนูญ 2475) เป็นสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบด้วยสมาชิกจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง จนขั้นที่สุด (รัฐธรรมนูญ 2489) สมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยสมาชิกสภาผู้แทนมาจากการเลือกตั้งทางตรง ส่วนสมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม

(2) พัฒนาชาติไทยตามหลัก 6 ประการ ดังนี้

“(1) รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง (2) รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก (3) บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก (4) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (5) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวแล้ว (6) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

โดยใน พ.ศ. 2523 นายปรีดีอธิบายกำกับไว้ด้วยว่า “ความมุ่งหมายหรือปณิธานของคณะราษฎรนั้นตรงกับหลักการแห่งสิทธิมนุษยชน (Human Rights)


นายปรีดี พนมยงค์ (นั่งเก้าอี้ที่ 6 จากขวา)
บุคคลที่ปรากฏส่วนมากในภาพนี้เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน
(ที่มา : อนุสรณ์งานศพ นายเล้ง ศรีสมวงศ์, 2524)


3. อภิวัฒน์ ไม่ใช่ รัฐประหาร

นายปรีดีอธิบายว่า ในเวลาที่ลงมือ ‘พลิกแผ่นดิน’ นั้น ศัพท์ภาษาอังกฤษ Revolution ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทย ดังนั้น คณะราษฎรจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย”

จนภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว 1-2 เดือน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติศัพท์ Revolution ว่า ‘ปฏิวัติ’ ดังที่ในเวลาต่อมาราชบัณฑิตยสถานบรรจุความหมายของคำนี้ไว้ในพจนานุกรมว่า “การหมุนกลับ การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล” ซึ่งนายปรีดีไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากมีนัยในทางที่เป็นการเปลี่ยนแปลงถอยหลัง

นายปรีดีเสนอให้เรียกการเปลี่ยนระบอบการปกครองของคณะราษฎรว่า ‘อภิวัฒน์’ เนื่องจากให้ความหมายว่า “ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษ” เพราะ “การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต้องเป็นไปเช่นนั้น เพราะกายาพยพของสังคมเปลี่ยนแปลงล่าช้าเกินสมควรกว่าการเปลี่ยนแปลงทางชีวปัจจัยของสังคม (เศรษฐกิจ)” ดังที่วางหลักไว้ในหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม ว่า “คือ การเปลี่ยนแปลงที่สภาวะใหม่ของสังคมได้ประสานกันเข้าเปลี่ยนระบบเก่าที่ล้าหลังกว่าความพัฒนาในสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมอันเป็นการเปลี่ยนทางคุณภาพ โดยการกระทำฉับพลันหรือการกระทำชุดเดียวซึ่งต่างกับการเปลี่ยนโดยวิถีวิวัฒน์ที่ทำมาทีละน้อยๆ”

ส่วนคำว่า ‘รัฐประหาร’ นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติศัพท์มาจากศัพท์ Coup d’état  

นายปรีดีอธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรว่า “วิธีการเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี Coup d’état ซึ่งเราเรียกกันด้วยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า ‘รัฐประหาร’…ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแทรกแซงของ(ประเทศ)มหาอำนาจ เพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็ต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Fait Accompli คือ พฤติการณ์ที่สำเร็จรูปแล้ว

หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ คณะราษฎรทำการ ‘อภิวัฒน์’ (Revolution) ด้วยวิธีการ ‘รัฐประหาร’ (Coup d’état) นั่นเอง


ภาพนายปรีดี พนมยงค์ จากบัตรผ่านเข้าออกวังปารุสกวัน
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
(ที่มา : หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


4. ผลงานของคณะราษฎร

นายปรีดีระบุช่วงเวลาการทำงานของสิ่งที่เรียกว่า ‘คณะราษฎร’ ไว้ว่า เริ่มเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และสลายตัวไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันดังกล่าว (เพราะสมาชิกผู้ก่อการฯ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้ง พ้นจากหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว หลังจากนั้นเป็นการรับผิดชอบส่วนบุคคลของแต่ละคนไป) และกล่าวถึงผลงานตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ไว้ดังนี้

(1) เอกราช ได้แก่ การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับนานาประเทศ ทำให้มีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งในทางศาล ที่ศาลไทยมีอำนาจเต็มที่ในการชำระคดีความต่างๆ และทางเศรษฐกิจ ที่จากเดิมยังมีข้อจำกัดภาษีศุลกากรและจักรวรรดินิยมหลายประเทศมีสิทธิพิเศษโดยได้สัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ การเดินเรือ ฯลฯ รวมถึงการรักษาเอกราชของไทยไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านขบวนการเสรีไทย ทำให้ไม่ตกเป็นประเทศฝ่ายแพ้สงคราม

(2) ความปลอดภัย นายปรีดีอธิบายว่า ภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 จำนวนการประทุษร้ายลดลงกว่าก่อนหน้านั้น และตั้งข้อสังเกตว่า ให้เทียบสถิติการประทุษร้ายภายหลังวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่มีการรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ 2489

(3) เศรษฐกิจ แม้เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติที่นายปรีดีเสนอจะ “เกิดอุปสรรคขัดขวางไม่อาจวางโครงการตามเค้าโครงการที่ผมเสนอได้” แต่ “คณะราษฎรก็พยายามที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยหางานให้ราษฎรจำนวนมากได้ทำ จึงไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” นอกจากนี้ นายปรีดีตั้งข้อสังเกตว่า สามารถพิจารณาดูได้จากสถิติการโจรกรรมอันเนื่องมาจากความอดอยาก ก่อนและหลังสมัยของคณะราษฎร

(4) เสมอภาค เมื่อคณะราษฎรสถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยขึ้น ได้สร้างความเสมอภาคทางกฎหมาย ยกเลิกสิทธิพิเศษของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปหลายประการ อาทิ ในทางการศาล เดิมท่านเหล่านี้เมื่อต้องหาเป็นจำเลยในคดีอาญา ก็ไม่ต้องขึ้นศาลอาญา แต่ขึ้นศาลกระทรวงวัง เป็นต้น

(5) เสรีภาพ นายปรีดีเปรียบเทียบว่า ภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 ราษฎรมีเสรีภาพสมบูรณ์ขึ้นกว่าก่อนหน้านั้น และมีเสรีภาพมากกว่าภายหลังการรัฐประหาร 2490 แม้ว่าจะมีการเขียนรับรองเสรีภาพต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญมากกว่ายุคคณะราษฎรก็จริง แต่ในทางปฏิบัติได้เลี่ยงโดยการประกาศภาวะฉุกเฉิน และประกาศกฎอัยการศึก

(6) การศึกษา นายปรีดีอธิบายว่า ภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 ราษฎรได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ ไม่ได้ถูกจำกัดอย่างไร แม้นายปรีดีไม่ได้ยกตัวอย่างไว้ แต่จะเห็นได้ว่านอกจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่มีนายปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การแล้ว ยังมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ และขยายโรงเรียนจำนวนไม่น้อย


5. ความผิดพลาดของคณะราษฎร

นายปรีดีกล่าวถึงความผิดพลาดของคณะราษฎรไว้ใน 2 ลักษณะ คือ

(1) ความผิดพลาดที่เหมือนกันกับทุกขบวนการเมือง คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการ ภายในพรรคต่างๆ ซึ่งมาจากการที่ขบวนการอภิวัฒน์เกิดขึ้นมาในสังคมเก่า ทำให้สมาชิกบางส่วนยังมีซากทัศนะและความเคยชินของสังคมเก่าติดตัวอยู่ จนบางคนถึงกับโต้การอภิวัฒน์ที่ตนได้มีส่วนร่วมมา

(2) เหตุแห่งความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ นายปรีดีได้กล่าวไว้ 4 ประการ คือ

“ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมืองและตัวอย่างในประวัติศาสตร์…จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นซากทรรศนะเผด็จการทาส-ศักดินาซึ่งเป็น ‘การโต้อภิวัฒน์’ ต่อการอภิวัฒน์ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีพร่วมกับคณะ

ประการที่ 2 คิดแต่เพียงเอาชนะทาง ‘ยุทธวิธี’ ในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยมิได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะนั้น ไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูก ‘การโต้อภิวัฒน์’ (Counter-Revolution) ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง

ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคน แม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดความชำนาญในการปฏิบัติ และขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง

ประการที่ 4 การเชิญท่านข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในขบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475”


YouTube video
ฟังเสียงนายปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงความผิดพลาดของคณะราษฎร
ในการให้สัมภาษณ์ ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร พนักงานนอกเวลาของวิทยุบีบีซีไทย เมื่อ พ.ศ. 2525
ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกับในบทความของนายปรีดีที่ออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน


6. สิ่งที่ไม่ใช่ความผิดของคณะราษฎร

นายปรีดีชี้ว่าเหตุที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยหยุดชะงักลงนั้นมาจากบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยขึ้น ซึ่งไม่ใช่ความรับผิดชอบของคณะราษฎร แต่เป็นความรับผิดชอบของบุคคลเหล่านั้น รวมถึงผู้ที่นิยมชมชอบและส่งเสริมระบอบนั้นอีกด้วย

นับถึงทศวรรษ 2520 นายปรีดีกล่าวถึงบุคคลและคณะบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดินต่างหากจากคณะราษฎรไว้ดังนี้

          (1) คณะรัฐประหาร (8 พ.ย. 2490)

          (2) คณะบริหารประเทศชั่วคราว (29 พ.ย. 2494)

          (3) คณะทหาร (16 ก.ย. 2500)

          (4) คณะปฏิวัติ (20 ต.ค. 2501)

          (5) คณะปฏิวัติ (17 พ.ย. 2514)

          (6) สมัชชาแห่งชาติ (10 ธ.ค. 2516)

          (7) คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (6 ต.ค. 2519)

          (8) คณะปฏิวัติ (20 ต.ค. 2520)

          (9) รัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามระบอบต่างๆ ซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย


ในวาระ 90 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง น่าคิดว่าสิ่งที่คณะราษฎรได้ลงมือก่อการ “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และ “พัฒนาชาติไทยตามหลัก 6 ประการ” นั้น ยังคงส่งผลถึงปัจจุบันเพียงใด?


บรรณานุกรม

  • ปรีดี พนมยงค์. ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์” [http://www.openbase.in.th/files/puey030.pdf]. กรุงเทพฯ : สถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม, 2519.
  • ________. ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2565 : บางเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร 2475 [https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:192013] . กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565.


MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save