fbpx
6 เรื่อง 6 ตุลาฯ กับอาจารย์ป๋วย

6 เรื่อง 6 ตุลาฯ กับอาจารย์ป๋วย

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นับได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในสังคมไทย มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตถึง 40 คน[1] ซึ่งถูกทารุณโดยวิธีการต่างๆ  หลายคนถูกจับกุมคุมขังปราศจากอิสรภาพ หลายคนต้องหลบหนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐ และหลายคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัยของเขา

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุรุษผู้ได้รับยกย่องจากสังคมไทยในปัจจุบัน และได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 100 ปีชาตกาล (พ.ศ. 2559) ก็เป็นหนึ่งใน ‘เหยื่อ’ ของเหตุการณ์คราวนี้ เขาถูกป้ายสีโจมตีอย่างหนัก จนเกือบแทบเอาชีวิตไม่รอด และ 1 ปีต่อมา หลังจากทำงานอย่างหนักเพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทยให้โลกได้รับรู้ ป๋วยก็ล้มป่วยลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปและผู้กุมอำนาจในบ้านเมืองเลิกมองป๋วยเป็น ‘ปีศาจทางการเมือง’ ชื่อเสียงเกียรติคุณของเขาก็ค่อยๆ ได้รับการยอมรับจากผู้คนในทุกวงการดังเดิมอีกครั้ง จนแทบจะนึกไม่ออกว่าในสมัยหนึ่งเคยมีการปลุกระดมให้ฆ่าป๋วยเพราะเป็นคอมมิวนิสต์มาแล้ว!

ในวาระ 42 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จึงขอทบทวน 6 เรื่องของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่เกี่ยวกับป๋วย เพื่อเป็นอนุสติสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันต่อไป

ป๋วยคือศิษย์เก่าคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กลับมาเป็นอธิการบดี

1

อธิการบดีในห้วงเวลาที่ยากลำบาก

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เผด็จการทหาร ‘ถนอม-ประภาส-ณรงค์’ ถูกโค่นล้มไปโดยพลังของนิสิตนักศึกษาและประชาชน  ป๋วยจึงได้รับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในต้นปี 2518 เพราะที่ผ่านมาทหารไม่ไว้ใจให้ป๋วยมาบริหารสถานศึกษาแห่งนี้ เนื่องจากแนวคิดทางประชาธิปไตยของเขา และความใกล้ชิดกับปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นปีศาจทางการเมืองของไทยในเวลานั้น

ห้วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ระบอบประชาธิปไตยเบ่งบาน นิสิตนักศึกษาใช้เสรีภาพอย่างเต็มที่ในการกล่าวถึงปัญหาของบ้านเมือง มีการชุมนุมประท้วงกันอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายอำนาจเก่าและผู้เสียประโยชน์จากการที่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยย่อมไม่อาจทนได้ มีการจัดตั้งขบวนการฝ่ายขวาขึ้นมาเป็นศัตรูกับขบวนการนักศึกษา อธิการบดีป๋วยถึงกับต้องออกประกาศเตือนนักศึกษา “พยายามอย่าประมาท พยายามตั้งมั่นอยู่ในศีลและธรรม เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นซึ่งรวมทั้งอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพของนักศึกษาเอง เมื่อเราปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็คงจะขจัดปัดเป่าความก้าวร้าวของผู้อื่นไปได้ โดยยึดมั่นอยู่เสมอในหลักการสันติประชาธรรม

แต่แล้วสถานการณ์ก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ ป๋วยพยายามมั่นคงอยู่ในหลักการของสันติประชาธรรม เป็นทางเลือกที่ 3 ของสังคมไทย ที่ไม่ใช่เผด็จการฝ่ายขวา หรือคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย นั่นเองจึงทำให้ป๋วยถูกโจมตีจากทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายซ้ายหาว่าเขารับใช้โครงสร้างอำนาจเก่า ไม่ก้าวหน้า  ฝ่ายขวาก็หาว่าเขาให้ท้ายนักศึกษา เป็นสมุนของปรีดี ที่จะเปิดทางให้รัฐบุรุษอาวุโสกลับมามีอำนาจในบ้านเมืองอีก รวมถึงนำประเด็นที่ป๋วยผลักดันให้มีการบูรณะชนบทผ่านโครงการต่างๆ มาโจมตีว่าเขาปลุกระดมชาวบ้านให้กระด้างกระเดื่องต่ออำนาจรัฐอีกด้วย

[box]

ป๋วยรับเป็นอธิการบดี ม.ธ. แต่มีเงื่อนไข 3 ประการ

… สำหรับศาสตราจารย์ ดร.ป๋วยนั้น ได้ตั้งเงื่อนไขที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี ม.ธ. ไว้ 3 ข้อ คือประการที่หนึ่ง ตนไม่พร้อมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีก่อนกลางเดือนมกราคม 2518  ประการที่สอง ตนขอสงวนสิทธิเสรีภาพในการคิด การพูด การเขียน และเสรีภาพอื่นๆ ในเรื่องใดๆ รวมทั้งเรื่องการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และประชาคม ทั้งในด้านภายในประเทศ และในด้านระหว่างประเทศ  จุดมุ่งหมายคือการสนับสนุนระบบประชาธิปไตยให้มั่นคงถาวร และในการใช้สิทธิดังกล่าวจะกระทำในฐานะส่วนตัวที่เคยกระทำมา ไม่ใช่ในฐานะอธิการบดี  และประการสุดท้าย จะขอทดลองปฏิบัติงานในหน้าที่อธิการบดีชั่วระยะเวลาหนึ่งปี จากนั้นจะขอประเมินฐานะและการปฏิบัติงาน และขอสงวนสิทธิที่จะออกจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดแต่งตั้ง

(มหาวิทยาลัย ปีที่ 17 ฉบับที่ 17 วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2517)

[/box]

[box]

ดร.ป๋วย ชี้บทบาท น.ศ. ให้เน้นศิลปคู่การเมือง

ความเข้าใจผิดของมนุษย์ทั่วๆ ไปในประเทศไทยที่มีต่อนักศึกษาธรรมศาสตร์นั้นเป็นข้อที่ไม่ให้ความยุติธรรมแก่นักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง” ทั้งนี้เป็นข้อความตอนหนึ่งของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในรายการ ‘เมืองไทยวันนี้’ ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในโอกาสเปิดภาคการศึกษาที่สองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้กล่าวถึงผลงานและโครงการของมหาวิทยาลัยในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา วิชาการ ธุรการ การวางแผนและพัฒนา ทั้งในส่วนที่ผ่านมาและในอนาคต

ดร.ป๋วย พูดถึงบทบาทของนักศึกษาว่า “นักศึกษาไม่ควรทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองเท่านั้น ควรทำกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศิลปะ ดนตรีบ้าง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของสังคม

ดร.ป๋วย กล่าวเน้นต่อไปว่า “ถ้ากิจกรรมบางเรื่องขัดต่อความสงบของมหาวิทยาลัยและขัดต่อเสรีภาพทางการศึกษาของนักศึกษาส่วนใหญ่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะต้องหาทางป้องกันและแก้ไขทันที” …

(มหาวิทยาลัย ปีที่ 18 ฉบับที่ 16 วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2518)

[/box]

[box]

ดร.ป๋วย ประกาศย้ำจุดยืน ต้านเผด็จการทุกแบบ

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ชี้แจงในวารสารสมาคมธรรมศาสตร์ประจำปี 2518 เนื่องในวันธรรมศาสตร์ที่ 10 ธันวาคมนี้ว่า

ขอเอาเกียรติเป็นประกัน ยังคงยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย และจะต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากที่มีบุคคลภายนอกบางคนเข้าใจมหาวิทยาลัยไปในทางที่ผิดว่าเป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในธรรมศาสตร์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏเลยแม้แต่ครั้งเดียวที่นักศึกษาหรืออาจารย์ธรรมศาสตร์ใช้อาวุธหรือวัตถุระเบิดเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วน ดร.ป๋วยเองนั้นก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยุยงนักศึกษา ซึ่งในข้อนี้ก็เป็นการไม่สมควรที่จะกล่าวว่าเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง เพราะถ้าใครเชื่อก็จะเชื่อตลอดไป หากใครไม่เชื่อก็คงไม่เชื่อตลอดไป สำหรับเขานั้นรับราชการมา 30 ปี เป็นผู้ว่าการธนาคารชาติมา 12 ปี ซึ่งคงจะเป็นเครื่องประกอบการวินิจฉัยของบุคคลทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม ดร.ป๋วย ได้กล่าวย้ำว่า ตัวเองมีอุดมคติเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และจะต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวาก็ตาม

(มหาวิทยาลัย ปีที่ 18 ฉบับที่ 20 วันพุธที่ 17 ธันวาคม 2518)

[/box]

2

‘ห้ามทัพ’ ไม่ได้ ‘รำวง’

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เล่าว่า ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 วันสอบไล่วันแรกของนักศึกษาปี 1 ของธรรมศาสตร์ในภาคแรกของปีการศึกษานั้น ระหว่างที่เขา ‘ไฮด์ปาร์ค’ ที่ลานโพธิ์ ชักชวนให้มีการงดสอบ และนักศึกษาจากชุมนุมการละครเริ่มแสดงละครสั้นในเหตุการณ์แขวนคอผู้ปฏิบัติงานกรรมกร 2 คน  ป๋วยก็ปรากฏตัวขึ้นที่นั่นเพื่อขอให้นักศึกษาเลิกชุมนุม จนเกิดเป็นภาพที่ดูเหมือนป๋วยกำลัง ‘รำวง’ ทั้งที่แท้จริงเขากำลัง ‘ห้ามทัพ’ อยู่ หลังจากที่เขาใช้เวลา 10-15 นาทีก็ไม่อาจโน้มน้าวนักศึกษาได้สำเร็จ ป๋วยจึงเดินจากไป  และ 24 ชั่วโมงถัดมา ภาพถ่ายละครสั้นที่ลานโพธิ์ ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ว่ามีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์รัชทายาทในเวลานั้น และเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำมาสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ของประเทศไทย

ขณะที่ป๋วยเขียนบันทึกถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

รุ่งขึ้น (5 ต.ค. – ผู้เรียบเรียง) หนังสือพิมพ์ต่างๆ หลายฉบับได้ลงรูปถ่ายการชุมนุมและการแสดงแขวนคอนั้น จากรูปหนังสือต่างๆ เห็นว่านายอภินันท์นั้นหน้าตาละม้ายมกุฎราชกุมารมากแต่ไม่เหมือนทีเดียว แต่ในภาพของหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม (ซึ่งเป็นปรปักษ์กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาตลอดมา) รูปเหมือนมาก จนกระทั่งมีผู้สงสัยว่า ดาวสยาม จะได้จงใจแต่งรูปให้เหมือน

เรื่องนี้สถานีวิทยุยานเกราะ (ซึ่งก็เป็นปรปักษ์กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา และเคยเป็นผู้บอกบทให้หน่วยกระทิงแดงโจมตีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธและลูกระเบิด เมื่อสิงหาคม 2518) ก็เลยนำเอามาเป็นเรื่องสำคัญ กล่าวหาว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ เจตนาจะทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้พยายามแต่งหน้านักศึกษาให้เหมือนมกุฎราชกุมารแล้วนำไปแขวนคอ ในการกระจายเสียงของยานเกราะนั้น ได้มีการยั่วยุให้ฆ่านักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ในธรรมศาสตร์นั้นเสีย ยานเกราะได้เริ่มโจมตีเรื่องนี้เวลาประมาณ 18.00 น. ในวันอังคารที่ 5 ตุลาคม และได้กระจายเสียงติดต่อกันมาทั้งคืนวันอังคารต่อเนื่องถึงเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม

จนในที่สุดเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและรัฐประหารขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยทหาร ตำรวจ และกองกำลังที่ได้รับการจัดตั้งมาแล้ว เข้าล้อมฆ่าและปราบปรามนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมประท้วงการกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจำนวนไม่น้อย และจำนวนมากถูกจับกุมดำเนินคดี

ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ป๋วยลาออกเป็นการแสดงความรับผิดชอบ และจำใจต้องเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากวิทยุยานเกราะออกอากาศโจมตีป๋วยว่าเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ตลอด ทำให้เขาถูกตามราวีแม้จนถึงสนามบินดอนเมืองแล้วก็ยังประสบอุปสรรคอยู่ไม่น้อย กว่าจะออกนอกประเทศได้

ป๋วยก็พอจะคาดเดาชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขาได้ ดังมีจดหมายที่เขียนถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 1 กันยายน 2519 ไว้ตอนหนึ่งว่า “ผมกับคณะจะได้อยู่ในตำแหน่งอีกนานเท่าใดก็ไม่ทราบ ไม่ใช่เพราะฝ่ายขวาโจมตีหนัก หรือฝ่ายซ้ายวุ่นวายและแทรกซึม แต่เป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งรู้สึกว่าจะไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตของผมเองและคณะ ถ้ามีรัฐประหารขึ้นเมื่อใด เขาต้องจับพวกเราฆ่าหมด ฉะนั้น ผมจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และรู้สึกว่าการรับใช้ประเทศชาติและธรรมศาสตร์อาจจะไม่มีผลเลย อย่างไรก็ตามผมจะพยายามอย่างดีที่สุด

แม้จะรู้ว่าอันตรายมาใกล้ตัวถึงเพียงนี้ แต่ป๋วยก็เลือกที่จะเผชิญหน้ากับมันอย่างถึงที่สุด  นุกูล ประจวบเหมาะ เล่าว่าก่อนจะถึง 6 ตุลาฯ ราว 2-3 เดือน เสนาะ อูนากูล  บัณฑิต บุณยะปานะ และเขา ได้ไปดักพบป๋วยที่โรงแรมดุสิตธานี เพื่อร้องขอให้ป๋วยเดินทางไปรับตำแหน่งกรรมการบริหารของธนาคารโลก เนื่องจากสถานการณ์ในเมืองไทยไม่ค่อยดีแก่เขา ถ้าป๋วยออกไปทำงานต่างประเทศสักปีหนึ่ง เมื่อสภาพการณ์ดีขึ้นก็สามารถกลับมาได้ แต่เขาปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “ผมจะทิ้งลูกศิษย์ลูกหาและคณาจารย์เอาตัวรอดไปคนเดียวได้อย่างไร

จดหมายลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีของป๋วย ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมรองอธิการบดีอีก 4 คน คือ เสน่ห์ จามริก, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นงเยาว์ ชัยเสรี และบรรลือ คงจันทร์

3

วันที่ 6 ตุลาฯ กับชะตากรรมป๋วย

ป๋วยกล่าวถึงช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยในบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เอาไว้ว่า “ในตอนบ่ายมีเพื่อนฝูง อาจารย์หลายคนแนะให้ผู้เขียนเดินทางออกไปจากประเทศไทยเสีย ยานเกราะก็ดี ใบปลิวก็ดี ได้ยุยงให้มีการลงประชาทัณฑ์อธิการบดีธรรมศาสตร์ ในฐานที่เป็นผู้ยุยงส่งเสริมนักศึกษาให้ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้เขียนเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่เป็นประโยชน์ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ระวังกระสุน จึงตัดสินใจว่าจะไปอยู่กัวลาลัมเปอร์ ดูเหตุการณ์สักพักหนึ่งเพราะขณะนั้นยังไม่มีการรัฐประหาร

และมีข่าวการเดินทางออกนอกประเทศของป๋วยลงใน สยามรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2519 ไว้อย่างละเอียด ดังนี้

[box]

ดร.ป๋วย เผยเบื้องหลังนองเลือดที่ธรรมศาสตร์

ดร.ป๋วยให้สัมภาษณ์ที่กรุงลอนดอนว่า นักศึกษายิงต่อสู้เพราะตำรวจและกลุ่มเยาวชนฝ่ายขวาได้ยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข่าวจาก เอ.พี. จากลอนดอน เมื่อเช้านี้รายงานว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า คณะปฏิรูปการปกครองได้ช่วยชีวิตของตนไว้ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ป๋วย ได้กล่าวว่า “ผู้นำทางทหารของไทยจะต้องมีความเห็นว่า การให้ข้าพเจ้าไปอยู่นอกประเทศคงจะทำให้ยุ่งยากน้อยกว่าการปล่อยให้ข้าพเจ้าอยู่ในเมืองไทย”

ดร.ป๋วย กล่าวว่า “นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ยิงตอบโต้ตอนเช้ามืดวันพุธ เมื่อตำรวจและพวกวัยรุ่นฝ่ายขวาได้ยิงเข้าไปในบริเวณมหาวิทยาลัย  ข้าพเจ้าเสียใจมาก ข้าพเจ้าพยายามที่จะชักนำให้นักศึกษาประท้วงด้วยความสันติและถูกต้องตามกฎหมาย”

ดร.ป๋วย กล่าวว่า ขณะที่ตำรวจเข้ากวาดล้างในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกกลุ่มฝ่ายขวาจำนวนหลายพันคนที่ประท้วงอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ดร.ป๋วย ทราบว่าได้มีการแจกใบปลิวที่นั่น ใบปลิวนั้นได้เรียกร้องให้จับ ดร.ป๋วย มาประหารชีวิตเสีย ในฐานะที่เป็นคอมมิวนิสต์

“สภามหาวิทยาลัยได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับใบลาของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าได้วางแผนลาไว้ก่อนแล้วที่จะเกิดความวุ่นวาย”

ดร.ป๋วย กล่าวว่า ตนได้จองตั๋วสายการบินไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ไปกัวลาลัมเปอร์ โดยกำหนดเดินทางออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง 18.15 น. และตนเองได้ไปถึงอากาศยานเวลา 16.00 น.

ผมได้รับอนุญาตให้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ หลังจากที่ได้มีการ ‘เช็ค’ กับกรุงเทพแล้ว แต่กำหนดการเดินทางก็ต้องเลื่อนออกไป

ระหว่างที่รออยู่นั้นรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ถูกโค่นล้มแล้ว ฝ่ายทหารเข้ายึดอำนาจ

“จากนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองซึ่งข้าพเจ้ารู้จัก ได้บอกกับข้าพเจ้าว่า สายการบินไทยอินเตอร์ถูกขู่ หากสายการบินพาข้าพเจ้าออกเดินทาง  ข้าพเจ้าได้รับคำบอกว่า มีลูกเสือชาวบ้านราว 200 คน มาที่อากาศยานเพื่อจับตัวข้าพเจ้า”

ตามบทความนั้นรายงานว่า ดร.ป๋วย ถูกตำรวจควบคุมตัวเมื่อเวลา 18.45 น. ตำรวจบอกกับ ดร.ป๋วยว่า นักศึกษาสามคนได้ระบุว่า ดร.ป๋วย เป็นคอมมิวนิสต์และมีความตั้งใจที่จะทำลายสถาบันกษัตริย์  หลังจากนั้น ดร.ป๋วย ก็ถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจ  ดร.ป๋วย ได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อกับทนาย ขณะเดียวกันก็ได้มีการค้นกระเป๋าเดินทางของเขา และตำรวจได้ยึดเอาสมุดบันทึกของเขาไปด้วย

ในที่สุดทนายของ ดร.ป๋วย ได้ทำเรื่องผ่านองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีผู้นั้นตกลงกับ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ จากนั้นจึงได้มีคำสั่งให้ ดร.ป๋วย เดินทางออกจากประเทศไทยได้

อนึ่ง พล.ต.ต.วิเชียร แสงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ชี้แจงกับหนังสือพิมพ์ สยามมิศร์ ฉบับวันที่ 11 ตุลาคมว่า “ดร.ป๋วย ได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว ทางตำรวจไม่ได้ให้เขาออกไป แต่เขาออกไปเอง สำหรับข้อหาของ ดร.ป๋วย ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ที่เห็นชัดๆ ที่เราจะเรียกตัวเขามาสอบสวนได้ก็คือเรียกมาในฐานะที่เกี่ยวข้องเป็นพยาน เนื่องจากเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ และจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง”

[/box]

4

มูลนิธิมิตรไทย (Mitr Thai Trust)

พฤศจิกายน 2519 – กันยายน 2520 หลังจาก ‘ลี้ภัยการเมือง’ มาอยู่ในอังกฤษแล้ว ป๋วยยังใช้เวลาส่วนใหญ่สนับสนุนให้เกิดเสรีภาพและประชาธิปไตยในเมืองไทยอย่างสันติวิธี  ป๋วยเดินทางไปพบปะกับคนไทยในต่างแดนและบุคคลในหลายวงการในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เดนมาร์ก สวีเดน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ป๋วยร่วมกับเพื่อนฝูงที่ใฝ่หา ‘สันติประชาธรรม’ จดทะเบียนมูลนิธิมิตรไทยขึ้นในอังกฤษ ป๋วยกล่าวถึงวัตถุประสงค์และนโยบายไว้ดังนี้

‘มิตรไทย’ มีวัตถุประสงค์ที่จะเชิดชูหลักเสรีภาพ สันติสุขของคนไทย วัตถุประสงค์คือให้เสรีภาพในด้านการศึกษา อนามัย มีการศึกษาถึงเหตุการณ์ข้อเท็จจริงต่างๆ  ‘มิตรไทย’ ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ ทางกลุ่มศาสนาทั่วโลกได้เห็นความสำคัญและช่วยในการเงินเป็นส่วนใหญ่ ถ้าวัตถุประสงค์เป็นอันที่กลุ่มศาสนาไม่เห็นด้วย เขาก็คงไม่ช่วยเหลือ ‘มิตรไทย’ ดำเนินงาน ดังนี้

  1. ข้อเท็จจริงในโลกเดี๋ยวนี้บิดเบือน โดยเฉพาะในไทยเราจึงจำเป็นต้องหาข้อเท็จจริงเช่น ข่าวจากในไทยเอง ในป่า จากเสียงประชาชนคนไทย จากผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ทั่วโลก เราก็นำมากลั่นกรองก่อน แล้วออกหนังสือ มิตรไทย ขึ้นมาเพื่อที่จะเสนอข่าวซึ่งเชื่อถือได้ หากเป็นข่าวที่ไม่แน่ก็จะบอกแหล่งข่าวมาจากไหน และให้ผู้อ่านพิจารณาเอง
  2. เนื่องจากเรามีข่าวน่าเชื่อถือได้ เราจึงวางรากฐานว่าประเทศไทยควรดำเนินการไปอย่างไร นี่เป็นการปรึกษาหารือระหว่างพวกเรา ไม่ใช่เฉพาะในอังกฤษ ทั่วโลกเขารับ มิตรไทย ไปก็เอาไปเป็นหลักในการพิจารณาดูว่า ประชาชนไทยจะมีสันติสุข เสรีภาพ มีประชาธิปไตย ควรทำอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเราก็ได้พยายามที่จะช่วยคนที่เดือดร้อน เพราะประเทศไทยเป็นเผด็จการ อันนี้คุณจะไปบอกคุณสมัคร สุนทรเวช (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น – ผู้เรียบเรียง) ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อ แม้แต่อเมริกายังเรียกว่า ‘not free’ คนที่เดือดร้อนจากเผด็จการต้องมีมาก ทั้งคนที่ถูกจับกุมคุมขังนาน หรือคนที่พยายามหนีออกมาเพราะทนไม่ได้กับเผด็จการ

สามสี่อย่างที่ทำนี้คือ

– การเสนอข่าวที่แท้จริงหรือข่าวที่ให้ผู้อ่านพิจารณา

– การปรึกษาหารือ เพื่อให้เกิดเสรีภาพ ประชาธิปไตยในไทย

– ช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก

‘มิตรไทย’ ไม่เคยช่วยเรื่องการเงินให้ในป่าซื้ออาวุธ เพราะเป็นเรื่องทำไม่ได้ ถ้าทำเมื่อไรเขาเลิกอุดหนุนเงินเราเมื่อนั้น ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะช่วยไม่ได้ และ ‘มิตรไทย’ ไม่เคยส่งเงินให้คนต่อสู้ฆ่ากัน

สำหรับนิตยสาร มิตรไทย นั้น กระจายไปกว้างขวางแทบจะทั่วโลกก็ว่าได้ นอกจากที่อังกฤษแล้ว ยังมีให้ติดต่อได้ที่เดนมาร์ก สวีเดน ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไทย

5

ประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ

การเดินทางไปชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งที่เป็นที่จดจำมากที่สุดของป๋วย คือให้การในการสืบพยานเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่คณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2520 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งในคราวนี้เอง เขาได้แสดงอมตะวาจาที่สะท้อนถึงความคิดและจุดยืนทางการเมืองของตนไว้อย่างน่าสนใจว่า

ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นในระบอบประชาธิปไตยและในศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน … ผมเชื่อในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนตามที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ  ผมเชื่อในสิทธิของชายหญิงทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ การปฏิเสธไม่ให้สิทธิเหล่านั้นแก่เขา เพราะเขายากจนหรือเพราะเขาขาดการศึกษา ผมถือว่าเป็นความร้ายกาจอย่างหนึ่ง  ผมเกลียดชังเผด็จการไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างใดก็ตาม ผมมีความเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยควรจะได้มาอย่างสันติวิธี เพราะผมต้องการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธในการรักษาอำนาจของรัฐบาล …

เสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งแปลก ถ้าตัวเราเองไม่ได้ถูกลิดรอนเสรีภาพดังกล่าว ก็จะไม่รู้สึกอะไร และจะพูดได้เสมอว่าคนอื่นยังสามารถอยู่ได้เลยภายใต้การกดขี่ปราบปราม  ถ้าคุณเป็นชาวนา และบุตรของคุณถูกตำรวจนำตัวไปโดยที่เขามิได้ก่อกวนแต่อย่างใด มิได้ทำอะไรทั้งนั้น ถูกนำตัวไปโดยปราศจากข้อหา เมื่อนั้นแหละคุณจะรู้สึกขมขื่นมาก

“ฉะนั้น ผมจึงไม่คิดว่า จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของปัญญาชนที่จะวิตกกังวลเท่านั้น คนตัวเล็กๆ ซึ่งได้รับความเดือดร้อน เพราะการไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ ถูกข่มขู่จากพวกเผด็จการ จะได้รับความทุกข์กันทุกคน  มีพวกปัญญาชนเท่านั้นที่สามารถจะบอกเล่าอะไร ชาวนาไม่ทราบจะพูดออกมาอย่างไร แต่พวกเขารู้สึกขมขื่นอย่างรุนแรง

“ผมอยากจะเตือนคุณว่า คำว่า ‘ไทย’ หมายความว่ามีเสรีภาพ และพวกเราคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยต้องมีเสรีภาพ ไม่ว่าเราจะจน ไม่ว่าเราจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้  ผมเห็นว่าการเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมชาติของผมนั้น ไม่มีทางอื่นนอกจากอยู่อย่างเป็นไท อย่างมีเสรีภาพพอสมควร

“ผมเห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า สภาพต่างๆ อาจไม่พร้อมพอที่จะทำให้ได้ประโยชน์จากประชาธิปไตย จากเสรีภาพอย่างเต็มที่ ทว่าบทสรุปของผมต่างจากพวกที่คุณอ้างมามากทีเดียว

“ผมอยากจะพูดว่า ขอให้เราพยายามให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย มากกว่าจะบอกว่ามีเผด็จการกันเถอะ  ประชาธิปไตยต้องใช้เวลาแน่นอน และเราต้องมุ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยก่อตั้งขึ้นมาให้ได้

“ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสอนในชั้นเรียนได้เลย ผมไม่แคร์นักกับรูปแบบของประชาธิปไตยที่จะมีขึ้นในประเทศของผม มันจะต้องเหมาะกับสภาพความเป็นมาทางวัฒนธรรมของประเทศของผม ประชาธิปไตยวิถีทางรัฐสภาแบบในตะวันตกอาจจะไม่เหมาะกับเรา ผมเห็นด้วยอย่างนั้น

“ขอให้เราได้มีเสรีภาพที่จะค้นคว้าแสวงหาสิ่งนั้น  และในที่สุดแล้วผมต้องการ 2 สิ่ง สิ่งหนึ่งคือ เสรีภาพ เสรีภาพแบบธรรมดาๆ อีกสิ่งหนึ่งคือ สิทธิที่จะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของสังคม

2 สิ่งนี้จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นแนวคิดของตะวันตกแต่ผู้เดียว ในคำสอนทางพุทธศาสนามีแนวคิดเกี่ยวกับสังฆะ เกี่ยวกับความเป็นปึกแผ่นและการมีตัวแทน  แต่เราละเลยแนวคิดนี้ แล้วไปคิดว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึง เราจึงมักคิดว่า เราต้องใฝ่หาเสถียรภาพโดยการมีระบบเผด็จการ

6

สันติประชาธรรม

ก่อนล้มป่วยลงด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกในเดือนกันยายน 2520 นั้น ป๋วยเขียนบันทึกถึงทางออกจากปัญหาของความขัดแย้งของสังคมไทยไว้ในต้นเดือนนั้น ซึ่งแม้จะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังคล้ายคลึงกันอย่างเหลือเชื่อ โดยกล่าวถึงทางเลือกของสังคมไทย และทางออกที่ควรเลือก

ทางเลือกของคนไทยมีอยู่ 2 ทาง คือปล่อยให้เขาสู้รบกันเป็นศึกกลางเมือง จะยืดเยื้อกันสักปานใดก็แล้วแต่ยถากรรม จะเดือดร้อนแก่ใครสักหมื่นสักแสนก็ช่วยไม่ได้ เขาจะปกครองกันอย่างไร ใครจะโกงกินกันอย่างไร ไม่ใช่ธุระของเรา ใครจะถูกจับถูกทรมาน ก็เป็นกรรมของสัตว์รบกัน แล้วใครจะเสียหายอย่างใด เท่าใด ใครจะมีอำนาจทีหลัง ก็แล้วแต่บุญกรรม เรารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี นี่เป็นทางหนึ่ง

อีกทางหนึ่งคือ พยายามป้องกันมิให้เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า หรือถ้าป้องกันไม่ไหวก็พยายามบรรเทาทุกข์ให้น้อยที่สุด คนไทยไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ พลเรือน ข้าราชการ ราษฎร คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม เสรีนิยม หรืออนุรักษนิยม ก็เป็นคนที่จะต้องอยู่ในประเทศไทย และมีลูกหลานเป็นคนไทยทั้งนั้น

ทางถูกต้องชอบธรรมคือหาทางปรองดองกัน ในเวลานี้มองหาทางปรองดองไม่ได้ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างข้อแข็งด้วยกัน ใครอยู่ตรงกลางก็จะถูกฟัน ทิฐิมานะกล้าแข็งเหลือประมาณ แต่ต้องหาวิธีและเวลาปรองดองให้ได้  การปรองดองคือการโอนอ่อนเข้าหากัน ยอมรับและเคารพสิทธิเสรีภาพด้วยกัน เทิดทูนสัจจะ ไม่ปั้นน้ำเป็นตัวใส่ร้ายกัน หรือพลิกแพลงตลบตะแลงเพื่อประโยชน์ชั่วขณะ อีกนัยหนึ่งคือเป็นทางสนับสนุนหลักธรรมะของประชาชน และพยายามให้ประชาธรรมด้วยสันติวิธี

ถ้าคนไทยเป็นจำนวนมากพอเลือกทางที่ 2 ก็ต้องแสดงตัวให้ปรากฏ มิฉะนั้นแล้วสังคมไทยจะไปสู่ทางที่ลื่นกว่า ง่ายกว่า คือทางเลือกที่ 1

 

ป๋วยในปี 2518 – 2519

 

แม้ในยามที่จำต้องลี้ภัย ถูกใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา ป๋วยยังมั่นคงในอุดมการณ์อยู่เสมอว่าหลักประชาธรรมจะต้องมาด้วยสันติวิธี ไม่ใช่ความรุนแรง และยอมรับสภาพว่าแม้สิ่งนี้จะไม่สำเร็จในชีวิตของป๋วย แต่ก็ต้องทำอย่างดีที่สุด เพื่อให้คนรุ่นหลังมาทำต่อ  ดังมีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาถึง ‘เพื่อนรัก’ โดยลงชื่อเป็นนามแฝงของตนว่า ‘สัจจะ ธรรมรักษา’ ความตอนหนึ่งว่า

ชีวิตยังมีอยู่ตราบใด ก็มีความหวังตราบนั้น  ถึงแม้ความหวังนั้นจะไม่สำเร็จในชั่วชีวิตของเรา แต่เราก็ต้องทิ้งความคิดไว้ ให้คนรุ่นหลังทำต่อ  ฉะนั้น จึงต้องตั้งเข็มให้ถูกต้อง เอาเป็นเข็มไปสู่เป้าหมายที่ดีที่สุด สวยที่สุด และไม่ว็อกแว็ก  วิธีการที่ดีที่สุด

เป้าหมายที่ดีที่สุด คือ (1) เสรีภาพ (2) สิทธิที่จะร่วมกำหนดโชคชะตาของสังคม — จะเรียกอะไรก็ตาม

วิธีการที่ดีที่สุด คือ สันติวิธี วิธีที่รุนแรงนำไปสู่ความรุนแรง ถึงแม้ว่าจะมีชัยชนะ ก็ต้องใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องชัยชนะนั้น

กล่าวได้ว่า ถึงแม้ความหวังถึงสังคมที่มี ‘สันติประชาธรรม’ นั้นจะไม่สำเร็จในชั่วชีวิตของป๋วย แต่เขาก็ได้ทิ้งความคิดไว้ให้คนรุ่นหลังทำต่อ  น่าสนใจว่าสันติประชาธรรมที่ป๋วยวางรากฐานเอาไว้ จะมีผู้ขานรับมากพอที่จะทำให้เกิดประชาธรรมโดยสันติวิธีได้หรือไม่ นี่ยังคงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบอยู่เสมอ

 

 

“คุณพ่อดีใจมากเมื่อได้รับจดหมายคุณธงชัย อ่านแล้วคุณพ่อก็ร้องไห้ และคุณพ่อได้ใช้ความพยายามเต็มที่เขียนจดหมายตอบคุณธงชัยตามที่แนบมาด้วย จดหมายนี้คุณพ่อคิดและเขียนเองหมดโดยใช้มือซ้ายเขียน (เพราะมือขวายังชาอยู่) เนื่องจากคุณพ่อยังมีปัญหาในด้านการแสดงออก โดยเฉพาะปัญหาในการคิดใช้คำเอง  คุณพ่อจึงได้ลอกข้อความจากจดหมายคุณธงชัยซึ่งตรงกับความรู้สึกของคุณพ่อ (เฉพาะข้อความตอนท้าย “เป็นสิ่งที่ผมปรารถนา” ผมช่วยคุณพ่อเขียนให้ถูกต้อง) การเขียนจดหมายฉบับนี้ นับว่าเป็นฉบับแรกที่คุณพ่อเขียนเอง และเป็นก้าวกระโดดในการฟื้นตัวของคุณพ่อ” (จอน อึ๊งภากรณ์, จดหมายถึงธงชัย วินิจจะกูล ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2521)

 

บรรณานุกรม

ข้อเขียนของป๋วย

จดหมายจากอธิการบดีถึงนักศึกษา, 2518

ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519, 2519

แนวทางสันติวิธี, 2520

ข้อเขียนของคนอื่น

นุกูล ประจวบเหมาะ. ชีวิตที่คุ้มค่า ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์, 2555.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544.

หมายเหตุ

บทความนี้ขยายความจาก นิทรรศการ ‘6 ตุลาฯ กับป๋วย’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำขึ้นในวาระ 42 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อประกอบการเสวนาในหัวข้อเดียวกันนี้ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2561 เวลา 10.00-12.00 น. โดยมีวิทยากร ได้แก่ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน, อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์  ซึ่งมีคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ

ขอขอบคุณ คุณกาญจนาภรณ์ จิตต์สง่า และหอสมุดปรีดี พนมยงค์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย  ขอขอบคุณเว็บไซต์ doct6.com ที่รวบรวมหนังสือพิมพ์ในช่วงเหตุการณ์ไว้ได้อย่างมากมาย  ขอขอบคุณอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล สำหรับจดหมายจากอาจารย์ป๋วยและอาจารย์จอน  อีกทั้งคุณพิศาล มาณวพัฒน์ ที่เอื้อเฟื้อ มิตรไทย ทุกเล่มมาให้ได้อ่าน

เชิงอรรถ

[1] โครงการบันทึก 6 ตุลา กรุณาให้รายชื่อผู้ชีวิตในวันนั้นจำนวน 40 คน เท่าที่ทราบมาดังนี้ 1. กมล แก้วไกรไทย  2. จารุพงษ์ ทองสินธุ์  3. ชัยพร อมรโรจนาวงศ์  4. ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง  5. เนาวรัตน์ ศิริรังษี  6. บุนนาค สมัครสมาน  7. ปรีชา แซ่เฮีย (เอีย)  8. พงษ์พันธ์ เพรามธุรส  9. ไพบูลย์ เลาหจิรพันธ์  10. ภรณี จุลละครินทร์  11. ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย  12. มนัส เศียรสิงห์  13. มนู วิทยาภรณ์  14. ยุทธนา บูรศิริรักษ์  15. วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์  16. วสันต์ บุญรักษ์  17. วัชรี เพชรสุ่น  18. วิชิตชัย อมรกุล  19. วิสุทธิ์ พงษ์พานิช  20. วีระพล โอภาสวิไล  21. ศิริพงษ์ มัณตะเสถียร  22. สงวนพันธุ์ ซุ่นเซ้ง  23.สมชาย ปิยะสกุลศักดิ์  24. สัมพันธ์ เจริญสุข  25. สุพจน์ พันธุ์กาฬสินธุ์  26. สุพล พาน (บุญทะพาน)  27. สุวิทย์ ทองประหลาด  28. สุรสิทธิ์ สุภาภา  29. อนุวัตร อ่างแก้ว  30. อภิสิทธิ์ ไทยนิยม  31. อรุณี ขำบุญเกิด  32. อัจฉริยะ ศรีสวาท  33. อับดุลรอเฮง สาตา  34.-36. ชายไทยไม่ทราบชื่อ  37.-40. ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save