fbpx

ประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และ 6 ตุลาฯ ที่อยากจำแต่กลับลืม

6 ตุลา 2519

“…และความอาลัยทั้งหลายเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นม่านที่บดบังข้อเท็จจริง เรากลัวที่จะลืม
พอ ๆ กับเรากลัวที่จะจำ…. ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้เราลืมได้ดีเท่ากับการรำลึกอีกแล้ว…”

บทละคร The History Boys โดย Alan Bennett[1]


(1)

อยากลืมแต่กลับจำ


เมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่อง ‘การเดินทัพทางไกล: ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของตำนานสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน’ (The Long March: The True History of Communist China’s Founding Myth) โดย ‘ซุน ชูอวิ๋น’ (Sun Shuyun) ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้พาเราย้อนรอย ‘การเดินทัพทางไกล’ อันเลื่องชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยคำถามง่ายๆ ว่าความทรงจำเกี่ยวกับ ‘การเดินทัพทางไกล’ ที่กลายมาเป็นประวัติศาสตร์ฉบับทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นแตกต่างหรือเหมือนกับความทรงจำในแบบฉบับของคนท้องถิ่นที่มีชีวิตร่วมสมัยกับเหตุการณ์นี้อย่างไร

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ เราจะพบว่ายิ่งผู้เขียนเดินทางมากขึ้นเท่าไหร่ เธอก็ยิ่งพบช่องว่างระหว่างประวัติศาสตร์ฉบับทางการและประวัติศาสตร์ของคนในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ในหลายกรณีเรื่องราวต่างๆ ถูกทำให้ยิ่งใหญ่เกินจริง และในบางกรณี ‘ข้อเท็จจริง’ บางส่วนเท่านั้นที่ถูกนำมาเล่าซ้ำ

จากสมรภูมิสมัยสงครามปฏิวัติสู่อนุสรณ์สถานที่อุทิศให้กับ ‘วีรชน’ ผู้เสียสละชีวิต โดยทุกๆ ปี จะมีการจัดงานรำลึกวีรชนเหล่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ฉบับที่ถูกบอกเล่าอย่างเป็นทางการช่างแตกต่างจากความทรงจำของชาวบ้านในท้องถิ่นหรือแม้แต่อดีตทหารกองทัพแดงวัยเหยียบร้อยที่มาร่วมงาน – งานรำลึกทำให้คนที่เคยผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหล่านั้นมาชักไม่แน่ใจว่าความทรงจำของตนเอง ‘ถูกต้อง’ หรือไม่

ซุน ชูอวิ๋นบอกว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เธอนึกถึงโควตจากละครเวทีเรื่อง ‘The History Boys’ ที่เธอชื่นชอบ เธอเขียนสรุปข้อความนั้นว่า ‘วิธีที่ดีที่สุดในการลืมเหตุการณ์หนึ่งๆ ก็คือการรำลึก’ (The best way to forget an event is to commemorate it)[2]

ข้อความข้างต้นของซุน ชูอวิ๋นดูช่างขัดแย้งกันเอง เหตุใดการรำลึกซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจดจำเหตุการณ์หนึ่งๆ จึงกลายเป็นการลืมที่ดีที่สุดไปได้?

อันที่จริงแล้ว การรำลึกก็เป็นการจัดการกับความทรงจำอย่างหนึ่ง และไม่ต่างจากสมองของเราเองที่อาจเลือกจำแค่บางสิ่งบางอย่างหรือบางด้านของเหตุการณ์ในอดีต – ในหลายๆ ครั้งเราก็ต้องลืมเพื่อที่จะจำ แต่ ‘ความทรงจำร่วม’ (collective memory) ของสมาชิกในชุมชนหนึ่งๆ (ซึ่งอาจจะหมายถึงชุมชนของคนที่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมา ชุมชนของคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันกับคนในเหตุการณ์นั้น หรือชุมชนขนาดใหญ่อย่างชาติ) มันไม่ได้ถูกจัดการอย่างตรงมาอย่างเช่นสมองของเราเอง อย่างมากที่สุด สมองของเราอาจจะจงใจลืมความเจ็บปวดทางอารมณ์หรือทางกายจากเหตุการณ์ในอดีต แต่การจัดการความทรงจำร่วมของชุมชนหนึ่งๆ นั้นมีมิติของการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วย – การรำลึกสาธารณะจึงเป็นเรื่องที่การเมืองมีอำนาจจัดการว่าความทรงจำใดควรจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำร่วม และความทรงจำใดควรค่าแก่การรำลึก

ในวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปีที่พลเมืองฝรั่งเศสพากันออกมาเฉลิมฉลองวันชาติ มีสักกี่คนกันที่ออกมาเฉลิมฉลองการสังหารฌุคดัง เดอ โลเน (Jourdan de Launay) ผู้บัญชาการคุกบาสตีย์ในวันทลายคุกบาสตีย์? มีกี่คนกันที่ออกมาเฉลิมฉลองความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้น? หรือแม้แต่ทศวรรษของความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น? ท้ายที่สุดแล้ว วันชาติฝรั่งเศสก็เป็นวันที่คนฝรั่งเศสพากันลืมเพื่อที่จะจำ

ไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงฝรั่งเศส เพราะดูเหมือนว่าอำนาจในสังคมไทยก็ถนัดอย่างยิ่งในการ ‘ลืมเพื่อจะจำ’ ก็ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ หรือนายผีจะกลับมามีพื้นที่ในสังคมไทยอีกครั้ง ไม่ใช่ในฐานะปัญญาชนฝ่ายซ้ายของขบวนการปฏิวัติที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ แต่ในฐานะกวีผู้อยู่เบื้องหลังผลงานอย่าง ‘เปิบข้าว’ ที่ถูกเอ่ยถึงในงานพระราชนิพนธ์ของ ‘พระเทพ’ หรือเพลง ‘เดือนเพ็ญ’ ที่ ‘ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์’ บรรเลงกู่เจิงออกทางโทรทัศน์[3] จิตร ภูมิศักดิ์และนายผี และอีกหลายๆ ชีวิต ‘ได้รับอนุญาต’ ให้กลับเข้ามาในความทรงจำร่วมของสังคมไทยอีกครั้งเมื่อเรายอมลืมมิติอื่นๆ ของคนเหล่านี้ไป

แน่นอนว่าไม่ใช่ความทรงจำทุกอย่างที่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาในความทรงจำร่วม เนื่องจากความทรงจำบางอย่างก็ยากที่จะจำ ทางออกเดียวสำหรับความทรงจำที่โหดร้ายเหล่านี้ก็อาจจะเป็นการลืม เหมือนที่ในทางการแพทย์เรียกว่า ‘abuse amnesia’ ซึ่งหมายถึงการสูญเสียความทรงจำของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง – เหตุการณ์สังหารหมู่วันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 ก็ดูจะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่อำนาจในสังคมไทยไม่อยากจำ ก็ใครกันเล่าอยากจะจำว่าครั้งหนึ่ง สมาชิกพระราชวงศ์เคยมีบทบาททางการเมืองที่นำไปสู่หรือให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ [4]?

ด้วยเหตุนี้เอง เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จึงไม่เคยกลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำร่วมของสังคมไทย แม้คงจะเป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ได้อยู่ในหนังสือเรียน หรือไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ไม่เคยถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในระดับเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 ที่สามารถเข้ากันได้ดีกับธีมหลักของประวัติศาสตร์ฉบับทางการของไทยที่ ‘พระมหากษัตริย์เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรง เพื่อให้สังคมไทยที่วุ่นวายได้กลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้ง’

เมื่อไม่มีที่ทางในความทรงจำร่วมของสังคมไทย เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จึงกลายเป็นสิ่งที่อำนาจไทย ‘อยากลืม’ แต่ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา 6 ตุลาฯ ถูกกลับมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เรื่องที่อยากลืม จึงกลายเป็นเรื่องที่ ‘อยากลืมแต่กลับจำ’ ไปเสีย


(2)

อยากจำแต่กลับลืม


ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จะค่อยๆ กลับเข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะและ ‘ความทรงจำร่วม’ ของสังคมไทย อย่างน้อยก็ในชุมชนที่กว้างขวางออกไปกว่านักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ และคนที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาด้วยตนเอง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจุดเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แต่ในขณะที่ผู้เขียนยังเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาในช่วง พ.ศ. 2553-2554 หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ผู้เขียนได้มีส่วนจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ชื่อว่า ‘ใครฆ่าพี่ เราไม่ลืม’ งานรำลึกครั้งนั้นก็ดูจะคึกคักอย่างมากเมื่อเทียบกับความทรงจำก่อนปี 2549 – อย่างน้อยที่สุด ผู้เขียนเมื่อ 15 ปีที่แล้วย่อมนึกไม่ถึงว่าในปี 2565 จะมีวันที่งานรำลึก 6 ตุลาฯ กลายเป็นงานคอนเสิร์ตเพลงที่ ‘ไม่เพื่อชีวิต’ ไปได้ และก็นึกไม่ถึงด้วยว่า วันหนึ่ง งานรำลึก 6 ตุลาฯ จะกลายเป็นพื้นที่ถกเถียงกันว่าการชูป้ายยกเลิก ม.112 เป็นเรื่องถูกกาลเทศะหรือไม่

แต่อย่างหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจน คือการกลับคืนสู่พื้นที่สาธารณะของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ดูจะสัมพันธ์อย่างยิ่งกับเหตุการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ถ้างานรำลึก ‘6 ตุลาฯ’ หลังปี 2553 คือตัวแทนของการสังหารหมู่ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกับการสังหารหมู่ของคนเสื้อแดง งานรำลึก ‘6 ตุลาฯ’ ในปี 2565 ก็อาจจะเป็นตัวแทนของขบวนการนักศึกษาที่ถูกปราบปรามจากอำนาจรัฐไม่ต่างจากขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคนรุ่นใหม่ในเวลา 2 ปีที่ผ่านมา

การกลับคืนสู่พื้นที่สาธารณะของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จึงกลายเป็นการกลับมาอีกครั้งของ ‘ความทรงจำ 6 ตุลาฯ’ แต่ในฐานะของตัวแทนของเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นหรือในฐานะเครื่องมือของการต่อสู้ทางการเมืองในบริบทอื่น ไม่ใช่ในฐานะของเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม ปี 2519 แต่อย่างใด[5] หากเป็นเช่นนี้แล้วเรายังจะเรียกว่านี่เป็นการรำลึกถึง ‘เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ ได้อยู่หรือไม่?

แน่นอนว่าการรำลึก ‘เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ ช่วยให้เราจดจำการสังหารหมู่ในเช้าวันนั้น แต่ในขณะเดียวกันเราได้พยายาม ‘จดจำ’ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตามบริบททางประวัติศาสตร์ หรือพยายาม ‘จดจำ’ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่เราฉายภาพบริบททางการเมืองของตัวเองในปัจจุบันไปยังอดีต?

 ‘6 ตุลาฯ’ ที่กลายเป็น ‘การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาว’ แต่ไม่มีการพูดถึงบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์อยู่ในนั้น จะเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้จริงหรือ?

ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กเรียกร้องให้มีการอภิปรายถึงบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หลายครั้ง- แต่ผลตอบรับก็คือความเงียบงัน[6] ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในพรรคการเมืองอาจจะเห็นความสำคัญของการเอาเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มารับใช้การต่อสู้ในปัจจุบันของพวกเขายิ่งกว่าการตามหาข้อเท็จจริง แต่สำหรับสมศักดิ์ นี่เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทางการเมืองตลอดเวลาหลายปีของเขา[7] นั่นคือ (1) การทำให้สังคมไทย ‘ยอมรับและจัดการอย่างถูกต้องทำความเข้าใจ (come to terms) กับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ (คำของสมศักดิ์ – ผู้เขียน)  และ (2) การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

การ ‘ยอมรับและจัดการอย่างถูกต้องทำความเข้าใจ (come to terms) กับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ ในความหมายของสมศักดิ์คืออะไร? ก็คือการยอมพูดถึงทั้งบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยมองความรุนแรงภาพกว้างว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สงครามกลางเมือง’ ระหว่างขบวนการฝ่ายซ้ายและฝ่ายอำนาจรัฐ – แม้ข้อเรียกร้องของสมศักดิ์สมควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในทางประวัติศาสตร์ว่าข้อเสนอของเขาถูกต้องหรือไม่ บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์มีมากเพียงใด และสถาบันกษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หรือไม่ แต่โดยพื้นฐานที่สุด ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่สมศักดิ์กำลังเรียกร้องก็คือการจดจำเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างมีจริยธรรม (ethical remembrance)

การจดจำเกี่ยวข้องกับจริยธรรมได้อย่างไร?

ในหนังสือเรื่อง ‘จริยธรรมของความทรงจำ’ (The Ethics of Memory) ของ Margalit Avishai ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับนายทหารผู้บังคับบัญชาที่ลืมชื่อทหารผู้เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดของเขา สิ่งนี้เกิดขึ้นขณะที่นายทหารให้สัมภาษณ์สื่อทางโทรทัศน์ ผลก็คือมีคนจำนวนมากส่งข้อความมาโจมตีนายทหารผู้นี้ – เป็นไปได้อย่างไรกันที่เขาจะลืมชื่อทหารในสังกัดของเขา?

คำถามนี้เกี่ยวพันอย่างยิ่งกับ ‘จริยธรรมของการจดจำ’ – ทำไมนายทหารจึงควรจะจำชื่อของทหารที่เสียชีวิต เป็นไปได้ไหมที่นายทหารจะจดจำทุกอย่างเกี่ยวกับทหารที่เสียชีวิต เขามีใบหน้าอย่างไร เขาชอบกินอะไร เขามีนิสัยอย่างไร แต่เขาเพียงจำชื่อไม่ได้ และเป็นไปได้หรือไม่ว่านายทหารจดจำชื่อทหารที่เสียชีวิตได้ แต่จำไม่ได้ว่าเขามีตัวตนเป็นอย่างไร – การจดจำแบบไหน ‘เหมาะสม’ หรือ ‘ถูกต้อง’ กว่ากัน? นี่เป็นคำถามทางจริยธรรม

และก็เช่นเดียวกันกับการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่มีคนจำนวนมากมายมหาศาลเข้าร่วม หรือวันหนึ่งอาจจะกลายเป็นรัฐพิธีที่นายกรัฐมนตรีมาวางพวงมาลาเปิดงาน แต่ผู้เข้าร่วมไม่รู้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คืออะไร หรือเลือกจะจดจำเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพียงบางด้านที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการต่อสู้ทางการเมืองของตนเอง การจดจำเช่นนี้เป็นสิ่ง ‘เหมาะสม’ หรือ ‘ถูกต้อง’ หรือไม่?

บางทีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อาจเป็นโศกนาฏกรรมสองชั้น หนึ่ง มันเป็นเรื่องที่ ‘อยากลืมแต่กลับจำ’ ของอำนาจในสังคมไทย และสอง มันเป็นเรื่องที่ ‘อยากจำแต่กลับลืม’ ของฝ่ายที่กำลังต่อสู้กับอำนาจในสังคมไทย ท้ายที่สุดเหยื่อของโศกนาฏกรรมนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้วก็คงเป็นสังคมไทยนั่นเอง


(3)

เราควรจะจดจำ 6 ตุลาฯ อย่างไร?


‘เราควรจะจดจำ 6 ตุลาฯ อย่างไร?’ เป็นคำถามที่ผู้เขียนไม่ได้มีเฉพาะต่อฝ่ายที่กำลังต่อสู้กับอำนาจ แต่ยังรวมถึงฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ในสังคมไทยด้วย ผู้เขียนไม่ได้คิดอย่างไร้เดียงสาว่าการคืนความจริงให้กับ 6 ตุลาฯ จะปลดปล่อยพวกเราให้เป็นอิสระ แต่ผู้เขียนก็ไม่คิดว่าการจงใจลืม หรือเลือกจำนั้นจะปลดปล่อยให้พวกเราเป็นอิสระแต่อย่างใด ผู้เขียนเห็นว่ากระบวนการในการรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ อย่างมีจริยธรรมนั่นต่างหากที่จะช่วยเยียวยาสังคมไทย

ในการจดจำอย่างมีจริยธรรม เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นพวกนิยมเจ้าหรือคอมมิวนิสต์เพื่อที่จะเข้าใจบริบทของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราไม่จำเป็นต้องเลือกสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งของอดีต เพราะเราไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกัน เราต้องสามารถเลือกฝักฝ่ายหรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของฝักฝ่ายทางการเมืองในความขัดแย้งนั้นโดยไม่จำเป็นต้องให้การเลือกฝักฝ่ายของเราเป็นปัจจัยตัดสินว่าอะไรสาเหตุของความรุนแรงในอดีต และอะไรควรเป็นทางออกสำหรับอนาคต การจดจำอย่างมีจริยธรรมไม่ใช่การตัดทิ้งบริบททางการเมืองและเลือกพิจารณาตัดสินเหตุการณ์ในอดีตเพียงบางด้าน แต่คือการรำลึกเหตุการณ์ในอดีตอย่างรอบด้าน

เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จึงเป็นหนึ่งในเครื่องทดสอบการบรรลุนิติภาวะของสังคมไทย เมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยสามารถตกลงใจยอมรับการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ตกลงใจยอมรับกับความรุนแรงที่รัฐและฝ่ายที่ครองอำนาจก่อขึ้น และตกลงใจยอมรับความรุนแรงของฝ่ายที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วยเช่นกัน เมื่อนั้นสังคมไทยก็จะก้าวไปข้างหน้าได้

ยังมีสังคมอื่นๆ อีกหลายแห่งที่เคยเผชิญหน้ากับความรุนแรงของสงครามกลางเมืองยิ่งกว่าประเทศไทย ซึ่งแต่ละสังคมก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่มีสังคมไหนที่สามารถก้าวพ้นความขัดแย้งได้โดยไม่จัดการกับความรุนแรงในอดีตที่ยังเป็นเชื้อไฟให้กับความรุนแรงในปัจจุบัน

ผู้เขียนยังคงนึกถึงคำกล่าวปาฐากถาของไมเคิล ดี ฮิกกินส์ (Michael D. Higgins) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ในงานสัมมนาวิชาการ ‘Machnamh 100’ เนื่องในวาระครบรอบการลุกขึ้นสู้วันอีสเตอร์ ปี 1916 (Easter Rising) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งยาวนานระหว่างฝ่ายสนับสนุนเอกราชไอริชและฝ่ายสหราชอาณาจักรที่ว่า

“…สังคมทั้งหลายที่อุบัติออกมาจากความขัดแย้งจะต้องต่อสู้กับมรดกของอดีตและคำถามที่ว่าเราจะพูดถึงอดีตนั้นอย่างไร สังคมทั้งหลายเหล่านั้นต้องพิจารณาไม่ใช่เพียงเฉพาะต่อความทรงจำที่เราระลึกรู้ แต่ยังรวมถึงความทรงจำที่ถูกส่งต่อโดยไม่ได้ตั้งใจซึ่งหลายต่อหลายครั้งก็คือดีตในแบบฉบับที่ไม่ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ (uncritically accepted versions of the past) หรือถูกครอบงำโดยสถานะทางวัฒนธรรมอยู่ การจดจำสิ่งใดและการจะจดจำอย่างไร (what to remember, and how to remember it) มีนัยยะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ถึงแง่มุมของจริยธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่วิธีการใดก็ตามที่เราจะใช้กับอดีตนั้นต้องคำนึงว่ามันมีความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างความทรงจำ จริยธรรม และการให้อภัย…”[8]



[1] “…And all this mourning has veiled the truth. It is not so much lest we forget, as lest we remember…. there’s no better way of forgetting something than by commemorating it…”

[2] หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบใหม่ๆ ผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และเล่าถึงข้อความท่อนนี้ให้เขาฟัง สมศักดิ์ให้ความสนใจเป็นพิเศษและขอจดเอาไว้ ในขณะนั้นผู้เขียนยังไม่เข้าใจเต็มที่ว่าทำไมสมศักดิ์จึงให้ความสนใจกับข้อความท่อนนี้มากนัก แต่ขณะที่เดินทางกลับบ้านนั่นเองที่ผู้เขียนก็นึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้วความคิดของผู้เขียนก็กระจ่างขึ้นทันที

[3] ผู้เขียนไม่สามารถนึกภาพเชื้อพระวงศ์อังกฤษร้องเพลงการเมืองไอริชอย่าง ‘The Fields of Athenry’ ในที่สาธารณะ

[4] อ่านบทความ ‘เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519’ และ ‘“เราสู้” หลัง 6 ตุลาฯ’ โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

[5] ก็คงจะเช่นเดียวกับความพยายามรื้อฟื้นประวัติศาสตร์คณะราษฎรในฐานะผู้บุกเบิกการต่อสู้กับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ คณะราษฎรในปี 2475 กลายเป็น ‘รุ่นพี่’ ที่แม้แต่ชื่อของขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันก็ตั้งชื่อตาม ปัญหาก็คือความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรที่ถูกรื้อฟื้นกันนั้นได้มาพร้อมกับบริบทในอดีตของมัน หรือว่าในฐานะเครื่องมือทางการเมืองในบริบทปัจจุบัน?

[6] อาจจะยกเว้นก็แต่ในสื่อฝ่ายนิยมเจ้าตกขอบที่หยิบเอาข้อความของสมศักดิ์มาสนับสนุนความชอบธรรมในการกวาดล้างสังหารหมู่นักศึกษาอย่างอ้อมๆ หรืออ้างถึงการแสวงหาความจริง (คือการเปิดโปงว่าพวกนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์?) โดยที่พวกตนก็ไม่ยอมพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

[7] อ่านบทความเรื่อง ‘ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ในความทรงจำของข้าพเจ้า’ วารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ 19/2 : สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์

[8] “All societies emerging out of conflict wrestle with the legacy of the past and how to address it. They must consider, not only what is consciously recalled by an individual act of memory, but what is unconsciously transmitted, often through uncritically accepted versions of the past and for which the status of culture is often claimed. What to remember, and how to remember it, carries the inescapable implication of ethics. It is important that any approach to dealing with the past recognises the complex relationship that exists between memory, ethics and forgiveness.” – President Higgins, 27 June 2015

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save