fbpx

ภาพ “หลอน”

นิทรรศการ 6 ตุลา


“นิทรรศการภาพชุดนี้เริ่มจากโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาได้รับฟิล์มขาวดำจำนวน 14 ม้วนจากช่างภาพไทยกลุ่มหนึ่ง และสืบค้นภาพเพิ่มเติมจากศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจำนวน 750 ภาพ ส่วนใหญ่แล้ว ภาพเหล่านี้ยังไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่สู่สาธารณะมาก่อน

แม้ภาพที่เพิ่งค้นพบไม่ได้บ่งชี้ถึงหลักฐานใหม่ แต่ภาพให้รายละเอียดและข้อมูลใหม่ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐและผู้คนที่เกี่ยวข้อง จุดที่มีนักศึกษาประชาชนถูกยิงหรือทำร้ายเสียชีวิต ใบหน้าและอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เหตุการณ์และบรรยากาศช่วงก่อนและหลังการล้อมปราบ จึงเป็นที่มาของนิทรรศการภาพถ่าย ‘6 ตุลา เผชิญหน้ากับปีศาจ’ ภายใต้ธีม ‘ปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด’ (The devil is in the details)”

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทเปิด ‘การเดินทางของภาพถ่าย’ สำหรับนิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้ากับปีศาจ ที่จัดขึ้นที่คินใจ คอนเทมโพรารี เนื่องในวาระครบรอบ 46 ปี 6 ตุลา[i] ข้อความนี้ประมวลประเด็นใจกลางของนิทรรศการคือ ภาพถ่ายในฐานะพยานหลักฐานที่ให้ข้อมูลเชิงประจักษ์ อันเกี่ยวพันไปถึงเรื่องบทบาทของภาพถ่ายในงานสื่อสารมวลชน ซึ่งถูกปิดกั้นทันทีหลังจากที่มีการประกาศปิดหนังสือพิมพ์เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองเข้ายึดอำนาจในช่วงเย็นวันที่ 6 ตุลาคม

ความสำคัญของสำนักข่าวซึ่งเป็นแหล่งที่มาของภาพถ่ายในนิทรรศการนี้ถูกนำเสนอตั้งแต่ผนังด้านนอกอาคารที่ถูกปิดทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์จนเต็มพื้นที่ ส่วนวัตถุจัดแสดงแรกที่ต้อนรับผู้ชมนั้นคือ ราวแขวนหนังสือพิมพ์กับเก้าอี้พับสองตัว ‘เก้าอี้พับ’ อันเป็นวัตถุชิ้นสำคัญที่เรามักนึกถึงเมื่อมีบทสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา (ผลพวงจากภาพ ‘ฟาดเก้าอี้’ อันเป็นภาพไอคอนของเหตุการณ์) ได้เปลี่ยนสถานะจากการเป็นสัญญะแห่งความรุนแรงเพื่อกลับสู่บทบาทดั้งเดิมคือ ‘ที่สำหรับนั่ง’ (อ่านหนังสือพิมพ์)

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ช่างภาพหนังสือพิมพ์คือ ‘พยานบุคคล’ เป็นผู้ประจักษ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นต่อสายตา และในฐานะ ‘สื่อ’ พวกเขาได้สร้าง ‘วัตถุพยาน’ คือภาพถ่ายไว้จำนวนมาก  

ความเข้าใจพื้นฐานที่สุดเกี่ยวกับภาพถ่ายคือภาพที่เป็นการ ‘บันทึก’ เหตุการณ์หรือผู้คนในชั่วขณะหนึ่ง ภาพถ่ายเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพนั้นเคยเกิดขึ้นและเคยมีตัวตนอยู่จริง เพราะภาพถ่ายเป็นตัวอ้างอิงของสิ่งที่อยู่ในภาพถ่าย ภาพถ่ายจึงสามารถให้ข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ และมีคุณค่าเชิงจดหมายเหตุในฐานะหลักฐานชั้นต้น (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ วัตถุพยาน) ความเข้าใจดังกล่าวไม่ใช่ความเข้าใจที่ผิด เพียงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ภาพถ่ายถูกบิดเบือนและนำไปสู่การสร้างความเข้าใจที่บิดเบือนได้ ภาพถ่ายจึงไม่ได้ให้สารอันเที่ยงตรงกับผู้ชมเสมอ นิทรรศการได้เตือนเราในเรื่องนี้ตั้งแต่ยังไม่เปิดประตูก้าวเท้าเข้าไปข้างในด้วยหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม (ฉบับจำลอง) บนราวแขวนด้านหน้า มันคือ ดาวสยาม ฉบับที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายละครแขวนคอประกบกับข้อความพาดหัวข่าว ‘แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ’ อันเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การล้อมปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลา  

ขอละการอภิปรายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ภาพ’ กับ ‘คำ’ อันเชื่อมโยงกับ ‘ความเหมือน’ ที่เป็นข้อกล่าวหาของ ดาวสยาม โดยทิ้งไว้เพียงข้อความจากหนังสือ Regarding the Pain of Others (2004) ของซูซาน ซอนแทก (Susan Sontag) ที่ว่า

“และภาพถ่ายทั้งหมดนั้นรอคอยที่จะถูกอธิบาย หรือถูกบิดเบือนไปด้วยคำบรรยายภาพ เมื่อไม่นานมานี้ ตอนที่พวกเซิร์บกับพวกโครแอตรบกันในช่วงต้นของสงครามบอลข่าน มีการเผยแพร่ภาพถ่ายของเด็กๆ ที่ถูกฆ่าตายในการยิงถล่มหมู่บ้านในรายงานโฆษณาชวนเชื่อของทั้งฝั่งเซิร์บและฝั่งโครแอต ปรับเปลี่ยนคำบรรยายภาพดูสิ แล้วความตายของเด็กก็จะถูกใช้และนำมาใช้ใหม่ได้”[ii]



เมื่อเปิดประตูเข้าไปด้านใน เราจะพบกับห้องแรกของนิทรรศการที่ภาพถ่ายถูกอัดขยายจนมีขนาดเท่าคนจริงติดตั้งอยู่เต็มพื้นที่ จากพื้นจรดเพดาน สร้างบรรยากาศราวกับว่าเราได้ย้อนเวลาเข้าไปอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ในวันนั้น ขนาดเท่าจริงของผู้คน ต้นไม้ และวัตถุต่างๆ ในภาพให้ความสมจริงในแง่ของสัดส่วน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกระจกที่ติดอยู่บนผนังบางส่วนที่สะท้อนเงาของเรากลับเข้าไปข้างในภาพด้วย[iii]

พื้นที่ใน-นอกกระจกสะท้อนกันและกัน เราจึงมองเห็นตัวเองซ้อนอยู่ในภาพถ่าย การติดตั้งเช่นนี้สร้างภาวะจำลองที่โอบรัดให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ ชวนให้ตั้งคำถามเชิงสมมติว่าเราจะเป็นใครหากได้อยู่ในสถานการณ์อันเป็นอดีตนั้น? เราจะเป็นไทยมุง? มวลชนฝ่ายขวา? เจ้าหน้าที่ทางการ? หรือเหยื่อของการรุมประชาทัณฑ์? ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เราเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากตัวเราเอง ผู้เฝ้ามองจากปัจจุบันอันเป็นอนาคตของอดีตในภาพ ผู้พินิจพิเคราะห์ ‘ปีศาจที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียด’

หรือเราทุกคนเองก็มี ‘ปีศาจ’ อยู่ในตัว? ปีศาจที่จะเผยตนออกมาในภาวะอปกติ?



บททดสอบต่อมาอยู่ถัดขึ้นไปบนชั้นลอย หลังจากก้าวขึ้นบันไดที่มีข้อความเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สั้นๆ ไปตามลำดับเวลาอย่าง ‘มิถุนายน 2475 คณะราษฎรล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์’  ‘ตุลาคม 2476 การโต้กลับของฝ่ายเจ้าแต่พ่ายแพ้’ ฯลฯ ภาพที่ปะทะกับสายตาคือภาพของร่างที่นอนอยู่บนพื้น ด้านข้างของร่างหนึ่งนั้นเป็นต้นไม้ที่ลำต้นพาดยาวขึ้นไปจากพื้นสู่ผนัง สร้างความต่อเนื่องของสายตาให้ลากขึ้นไปยังคำบรรยายนิทรรศการ ‘เผชิญหน้าปีศาจ’ บนผนัง หากทว่า เพื่อที่จะอ่านคำบรรยายนั้น เราอาจต้องกลายร่างเป็นปีศาจเสียเอง เพราะเราจำต้องเดินเหยียบภาพร่างบนพื้นเพื่อก้าวเท้าเข้าไปข้างใน เพื่อที่จะได้เผชิญหน้ากับปีศาจ เราต้องยืนอยู่บน (ภาพ) คนตายให้ได้เสียก่อน

ต่อจากชั้นลอยขึ้นไปยังมีนิทรรศการอีกสามชั้น แต่ผู้เขียนจะไม่พาไปไกลกว่านี้ เพียงชั้นแรกกับชั้นลอยก็ชวนให้ตระหนักได้แล้วว่า ภาพถ่ายจากสำนักข่าวเป็นได้มากกว่าการ ‘ให้ข้อมูล’ (แม้จุดตั้งต้นของการถ่ายภาพดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อการให้และส่งต่อข้อมูลในฐานะองค์ประกอบของงานสื่อมวลชนก็ตาม) ภาพถ่ายชวนให้รู้สึก ภาพถ่ายทำให้เจ็บ ตั้งคำถาม ฉงนสงสัย ตระหนกตกตื่น หรือหดหู่เศร้าเสียใจ เป็นพื้นที่ของบาดแผลและแผลฝังจำ (trauma) โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) เคยเขียนว่า

“ในฐานะผู้ชม ผมสนใจภาพถ่ายเพียงเพื่อเหตุผล ‘เชิงอารมณ์’ ผมอยากสำรวจมันโดยไม่ใช่ในฐานะของปริศนา (สาร) แต่ในฐานะบาดแผล ผมเห็น ผมรู้สึก ดังนั้น ผมจึงสังเกตเห็น ผมจับตามอง และผมคิด”[iv]

จำต้องคิดอย่างละเอียดและคิดในรายละเอียดเพื่อที่จะเห็นถึง ‘ปีศาจ’ ในบทแปลภาษาอังกฤษของนิทรรศการ คำว่า ‘ปีศาจ’ ปรากฏเป็นศัพท์สองคำคือ ‘demon’ (ชื่อนิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้ากับปีศาจ คือ 6 October: Facing Demons) กับ ‘devil’ (ธีม ‘ปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด’ แปลว่า The devil is in the details) แต่ ‘ผีคอมมิวนิสต์’ ที่หลอกหลอนจนนำไปสู่การล้อมปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลาก็เป็น ‘ปีศาจ’ เหมือนกัน ปีศาจตนนั้นมีที่มาจากคำว่า ‘spectre’ ซึ่งอ้างอิงไปยังประโยคที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ  ‘A spectre is haunting Europe – the spectre of communism’ (ปีศาจตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป ปีศาจแห่งคอมมิวนิสต์)[v] ใน ‘แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์’

ด้วยเหตุนี้ คำถามชวนหลอนจากนิทรรศการจึงไม่ใช่ ‘ใครคือปีศาจ?’ แต่เป็น ‘ใครบ้างที่เป็นปีศาจ?’ ‘อะไรบ้างที่เป็นปีศาจ?’​ และ ‘ปีศาจแบบไหนในสายตาของใคร?’

จากด้านนอกอาคารถึงส่วนบนสุดคือเพดานของพื้นที่จัดแสดงมีปีศาจที่เราต้องเผชิญหน้าอยู่เต็มไปหมด เพราะปีศาจนั้นเป็นนามนับไม่ถ้วน



 

[i] นิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้ากับปีศาจ เนื่องในวาระครบรอบ 46 ปี 6 ตุลา โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ร่วมกับมูลนิธิก้าวหน้า คณะก้าวหน้า จัดแสดงที่คินใจ คอนเทมโพรารี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-13 พฤศจิกายน 2565 ติดตามรายละเอียดของกิจกรรมที่จัดขึ้นระหว่างนิทรรศการได้ที่เฟซบุ๊กโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และเฟซบุ๊ก KINJAI CONTEMPORARY

[ii] “And all photographs wait to be explained or falsified by their captions. During the fighting between Serbs and Croats at the beginning of the recent Balkan wars, the same photographs of children killed in the shelling of a village were passed around at both Serb and Croat propaganda briefings. Alter the caption, and the children’s deaths could be used and reused.” Susan Sontag, Regarding the Pain of Others (New York: Picador, 2004), 10.

[iii] การใช้ภาพถ่ายขนาดเท่าจริงกับกระจกที่ทำให้ผู้ชมได้เห็นตนเองในกระจกราวกับว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของฉากอันน่าสยดสยองในวันที่ 6 ตุลาคมเป็นเทคนิคที่เคยมีการทำมาก่อนในนิทรรศการงานครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาเมื่อปี 2539 หากแต่มีรายละเอียดของการติดตั้งที่ต่างออกไปจากนิทรรศการนี้ ผู้ออกแบบนิทรรศการในครั้งนั้นคือประชา สุวีรานนท์ ดูเพิ่มเติมในบท “ “เราไม่ลืม 6 ตุลา” การจัดงานรำลึกการสังหารหมู่ 6 ตุลาในปี 2539” ในธงชัย วินิจจะกูล, 6 ตุลา จำไม่ได้ ลืมไม่ลง: รวมบทความว่าด้วย 6 ตุลา 2519 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2558), 57-82.

[iv] “As Spector I was interested in Photography only for “sentimental” reasons; I wanted to explore it not as a question (a theme) but as a wound: I see, I feel, hence I notice, I observe, and I think.” Roland Barthes, Camera Lucida: Reflections on Photography, trans. Richard Howard (New York: Hill and Wang, 1981), 21.

[v] Karl Marx and Friedrich Engels, Manifesto of the Communist Party (Internet edition, 2000), Marxists Internet Archives (marxists.org)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save