fbpx

หลังฟ้าสางคือ “ฟ้าใหม่ ใกล้มา”


หลังจากบรรจงแกะเชือกผูกกระดาษห่อของสีน้ำตาลบางเบาออกเพื่อกรีดเปิดกล่องฟ้าสาง[i]  คำปราศรัยและเสียงอ่านบทกวีในเสียงฟ้าสาง ที่เปิดฟังพร้อมกันก็กลายเป็นเสียงหริ่งหรีดเรไรและนกร้อง จากเสียงมนุษย์สู่เสียงของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ไม่มีเสียงของถ้อยคำและเรื่องเล่าให้ได้ยิน แต่เราต่างเข้าใจว่านั่นเป็นเสียงของยามค่ำคืน เสียงของช่วงเวลาก่อนฟ้าจะสาง ก่อน ‘เหตุการณ์นั้น’ ในวันที่ 6 ตุลาคมจะมาถึง

กล่องฟ้าสาง อัดแน่นไปด้วยความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเคยกระจัดกระจาย แตกกระสานซ่านเซ็นไปตามภาวะหลังการล่มสลายของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา ในกล่องใบเล็ก ความทรงจำเหล่านั้นได้ร่างทรงใหม่ในรูปของวัตถุและสิ่งพิมพ์ที่ถูกจัดทำขึ้นโดยคนยุคหลัง จัดเรียงเป็นชั้นอย่างเป็นระเบียบ การเปิดกล่องเพื่อหยิบจับข้าวของขึ้นมาทีละชิ้นเปรียบประหนึ่งการขุดค้นทางโบราณคดีที่หลักฐานบอกเล่าเรื่องราวเผยตัวขึ้นผ่านการเปิดชั้นดิน แต่ละชั้นมีซองและหีบห่อให้ค่อยๆ คลี่ออก ข้อความและภาพในนั้นคุ้ยกวนตะกอนความทรงจำของคนรุ่นหนึ่ง และบอกเล่าเรื่องราวให้คนอีกรุ่นหนึ่งได้รับรู้และจินตนาการถึง เรื่องราวที่พรั่งพรูออกจากกล่องจึงทำงานกับคนสองรุ่นแตกต่างกัน (ในกรณีคนรุ่นก่อนยังแยกย่อยออกเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์ 6 ตุลา กับกลุ่มที่ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงแต่อยู่ร่วมสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วย)

กล่องผูกปมความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความทรงจำ’ กับ ‘ประวัติศาสตร์’ เป็นไปได้ไหมที่เราจะมีความทรงจำในเรื่องราวที่เราไม่เคยประสบ? การได้รู้จักเพื่อที่จะ ‘ไม่ลืม’ อดีตที่มาก่อนหน้าเรา อดีตที่ไม่ใช่ความทรงจำของเราแต่ต้นคืออะไรกันแน่? ใช่ความทรงจำไหม? หรือความทรงจำมีหลายประเภทและนี่คือความทรงจำประเภทหนึ่ง? เป็นอะไรบางอย่างที่เรียกกันว่า “Postmemory”? การจดจำของผู้ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์นั้นโดยตรง แต่รับรู้ผ่านสื่ออื่น ก่อเกิดเป็นสายใยบางอย่างที่เชื่อมร้อยกันข้ามรุ่น ความทรงจำของ “generation after” ผู้ทวนอดีตกลับมาเพื่อร่วม ‘เขียน’ ความทรงจำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่กำลังถูกสร้าง[ii]


 


ในการสร้างชิ้นส่วนเพื่อปะติดปะต่อความทรงจำเรื่องการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กล่องฟ้าสาง อาศัยภาพถ่ายเก่ามากเป็นพิเศษ ภาพถ่ายเก่าถูกนำมาอัดใหม่ให้ดูเหมือนเก่า ก่อนจะแยกประเภทเพื่อจัดกลุ่มตามฝ่ายต่างๆ อย่างฝ่ายวางแผน, ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์, ฝ่ายอาหาร, ฝ่ายการ์ด และฝ่ายพยาบาล ในที่นี้ ภาพถ่ายเป็นสื่อของการส่งต่อ (media of transmission) และด้วยเหตุที่ว่า กล่องฟ้าสาง ย้อนเวลากลับไปสู่การรวมกันอย่างยิ่งใหญ่ เปี่ยมไปด้วยพลังที่มุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา กรรมกร และชาวนาในช่วงก่อนวันที่ 6 ตุลาคม นิทรรศการในรูปแบบกล่องบรรจุความทรงจำนี้จึงไม่มีภาพถ่ายของความตายในเช้าวันที่ 6 ตุลาคมอันเป็นทั้ง iconic images และ ‘ภาพจำ’ ของเหตุการณ์ 6 ตุลาเลย ไม่มีภาพศพ ภาพแขวนคอ หรือภาพฟาดเก้าอี้[iii] แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในฐานะนิทรรศการที่จัดทำขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา กลิ่นอายของโศกนาฏกรรมที่ฝังแน่นอยู่ใน “ความเป็น 6 ตุลา” ก็ยังฟุ้งกระจายอยู่ในบรรยากาศ อยู่ใน เสียงฟ้าสาง ที่เราต่างรู้ว่าอะไรกำลังจะมาถึง อยู่ในภาพถ่ายซึ่งบ่งบอกความตายล่วงหน้า… เรารู้ แต่คนในภาพไม่รู้

ในสารคดี ก่อนฟ้าสาง ที่จัดทำขึ้นเนื่องในวาระเดียวกัน ผู้เล่าคนหนึ่งย้อนความทรงจำของตนในคืนวันที่ 5

“หลักการชัดเจนคือเราจะไม่สลายม็อบกลางคืน สุดท้ายเช้าวันที่ 6 เนี่ยอาจจะต้องประกาศยุติม็อบ แล้วก็ไปตั้งหลักกันใหม่ ไม่รู้จริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” (นาทีที่ 14.59-15.02)

          


แต่เข็มนาฬิกาใน กล่องฟ้าสาง เดินมาไม่ถึงวันที่ 6 จริงหรือ?

ภาพถ่ายขาวดำขนาดเล็กภาพหนึ่งอยู่ตรงมุมในแผ่นภาพชุด “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” (วรรณกรรม สิ่งพิมพ์)” แสดงภาพเหตุการณ์วันนั้น ผู้คนนอนคว่ำเรียงบนพื้น ยกมือประสานที่ท้ายทอย เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบตำรวจนครบาลสองคนคล้องแขนกันชูหนังสือ ด้วยเลือดและชีวิต รวมเรื่องสั้นเวียดนาม กับ คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง มืออีกข้างหนึ่งถือปืน จ้องมองมาที่กล้องอย่างคนที่ตั้งใจโพสต์ท่าให้ถ่ายรูป ในภาพไม่มีศพ แต่เรารู้ว่ามีศพมากมายในเช้าวันนั้น คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง ในมือของตำรวจบอกโทษทัณฑ์ของข้อหา “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ว่ากันว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

แม้ปราศจากภาพศพ แต่เราผู้เปิดกล่องในปัจจุบันก็รู้ว่าในวันนั้นมีคนตาย เพราะในพื้นที่ของการจดจำประวัติศาสตร์บาดแผล สิ่งที่ไม่ปรากฏ สิ่งที่ขาดหาย ช่องว่างและหลุมดำนั้นดำรงอยู่และมักเป็นใจความสำคัญเสมอ การที่ กล่องฟ้าสาง ไม่บรรจุ ‘ภาพ’ อันเป็นประจักษ์พยานความรุนแรงของฝ่ายรัฐไม่เพียงขับเน้นความต้องการนำเสนอช่วงเวลาก่อนการสังหารหมู่เท่านั้น หากยังสื่อถึงความรุนแรงโดยรัฐที่ลบล้างชีวิตของประชาชนให้หายไปจากโลกผ่านลางบอกใบ้ต่างๆ สื่อถึงความรุนแรงของการลบทำลายชีวิต และยังซ้ำสองด้วยวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ทำให้ความตายโดยน้ำมือรัฐนั้นไม่ได้รับการบรรจุให้อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ทางการด้วย การไม่เสนอภาพคนตายในวันที่ 6 ตุลาคมของ กล่องฟ้าสาง จึงไม่ใช่การลบซ้ำ หรือกลบเกลื่อนว่าไม่มีคนตาย แต่คือการสร้าง “ช้างในห้อง” (หรือในกล่อง) ขึ้นมาเพื่อให้เราจ้องมอง เพราะเราไม่สามารถมองเห็นช้างในห้องได้ด้วยตาเนื้อ ความตายจึงนำเสนอได้โดยไม่ต้องแสดงภาพคนตาย ไม่ใช่ไม่รู้ไม่เห็น แต่ ‘รู้’ ได้โดยไม่ต้อง ‘เห็น’

ด้วยเหตุที่ว่าภาพถ่ายบ่งบอกความตายล่วงหน้า ภาพถ่ายจึงหลอนเรา ภาพถ่ายไม่เพียงทำให้เราเข้าใจเรื่องราว แต่ยังหลอนเรา ทำให้เรา ‘รู้สึก’ ว่าภาพถ่ายบาดตา เปิดแผลเก่าของคนรุ่นก่อน สร้างแผลใหม่ให้คนรุ่นหลัง (หาไม่เราก็คงไม่เจ็บปวดกับเรื่องราวในอดีตที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา) หากทว่านี่ไม่ใช่การเปิด/สร้างแผลอันสูญเปล่า เพราะการตระหนักรู้ถึงบาดแผลและการจดจำก็มีอำนาจในการเยียวยาด้วยเช่นกัน

 “แผลหลายรอยเราไม่ได้อยากเก็บมันไว้หรอก บางครั้งอยากจะลืม แต่เรารู้ว่าความทรงจำเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ฝากไว้กับพวกเรา (ช่างไม่แฟร์เลย!) บางคนพอรับไว้แล้วเดินหน้าต่อไปไหว บางคนแบกมันเรื่อยมาอย่างทุลักทุเล ตรงนี้แหละที่ผมต้องขอบคุณกล่องฟ้าสางที่เตือนสติว่าเราไม่ได้มีแต่บาดแผล ชวนให้เรารำลึกถึงความกล้าคิดไปข้างหน้า มุมานะหรือออกจะบ้าบิ่นทุ่มเทสร้างอนาคตตามที่ปรารถนา” (ธงชัย วินิจจะกูล)

เช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิดขึ้นแล้วและไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนั้นได้ แต่พิธีกรรมรำลึกทำให้ความตายไม่ใช่การดับสูญโดยสิ้นเชิง คนตายยังมีตัวตนในความทรงจำที่ถูกส่งต่อ อุดมการณ์หวนกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ กล่องฟ้าสาง สร้างความรู้สึกเชื่อมต่อและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันข้ามรุ่นและยุคสมัย คนรุ่นก่อนเห็นตัวเองในคนรุ่นหลัง ดังข้อความท่อนหนึ่งในจดหมายที่เขียนขึ้นโดยสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีที่ก้นกล่อง

“ฉันเห็นแววตาของเธอบนใบหน้าเปื้อนเหงื่อซึ่งสะท้อนแสงแดดอุ่นยามบ่ายกลางที่ชุมนุมประท้วง ด้วยความสุขใจระคนห่วงใย แววตาแบบเดียวกันนี้ ฉันเคยเห็นซ้ำๆ ตั้งแต่เมื่อ 45 ปีก่อน เมื่อฉันส่องกระจกเงาแล้วเพ่งมองใบหน้าผอมบางของเด็กหนุ่มวัย 19 ปีในนั้น”

ในทำนองเดียวกัน คนรุ่นหลังก็ผูกโยงความเคลื่อนไหวของตนเข้ากับขบวนการที่มาก่อนหน้า รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เขียนถึงความรู้สึกหลังจากเปิดกล่องว่า

” “หดหู่ แต่ยังมีความหวัง” คือความรู้สึกของเราที่มีจากการมองดูสิ่งของมากมายในกล่องฟ้าสาง พร้อมนึกถึงวันที่ตัวเองตัดสินใจจะลุกขึ้นมาต่อสู้”

กล่องฟ้าสาง จึงเป็นมากกว่านิทรรศการให้ข้อมูล แต่ก่อรูปสำนึกที่ผูกร้อยผู้คนเข้าด้วยกันผ่านความมุ่งมั่นทางการเมือง นำพาเรื่องราวจากสองยุคสมัยให้หลอมรวมกันเป็นเนื้อเดียว ทั้งยังเร้าความรู้สึกในผัสสะต่างๆ จากการมอง การฟัง การสัมผัส และการสูดกลิ่น ทั้งภาพและวัตถุ ทั้งเสียงของมนุษย์ สรรพสัตว์ รถราและเสียงปืน การเปิดกล่องพร้อมกับฟังเสียงก่อให้เกิดภาวะการเข้าสู่ภวังค์ ในภวังค์นั้น เราผู้เป็น generation after ถูกปลุกให้ขานรับทางอุดมการณ์ที่สืบทอดมาจากคนรุ่นก่อนหน้า[iv] ให้รับช่วงสานต่อเพื่อเรียกหากระบวนการยุติธรรม ให้บาดแผลที่เรื้อรังมานานได้รับการรักษา ให้หวังและฝันเพื่อลงมือถางทางไปสู่ “ฟ้าใหม่”[v]

เหตุผลที่เราพยายามจดจำนั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความทรงจำ 



[i] คณะทำงานโครงการครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา ซึ่งเป็นผู้จัดทำ กล่องฟ้าสาง ประกอบด้วย Eyedropper Fill, Mob Fest, Deadline Always Exists, Rackscene Collective, We Wide Wave, Studio Dialogue, บันทึก 6 ตุลา และคณะกรรมการจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา กล่องฟ้าสาง จัดทำขึ้นเพียง 150 กล่องเพื่อส่งไปตามบ้านของผู้จับจองในฐานะนิทรรศการบรรจุกล่องเคลื่อนที่ ทั้งนี้ ได้มีการทำคลิปเปิดกล่องเพื่อจัดแสดงผ่านโลกออนไลน์ด้วย ข้อจำกัดช่วงโควิดเรื่องการจัดนิทรรศการในพื้นที่จริงจึงเป็นโจทย์การสร้างสรรค์ที่ท้าทาย เราสามารถใช้ กล่องฟ้าสาง เป็นตัวอย่างในการพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการจัดนิทรรศการ,  รูปแบบการนำเสนอและเผยแพร่ข้อมูล (น่าสนใจว่า กล่องฟ้าสาง มีการเดินทางของตัวเองที่อยู่นอกเหนือไปจากเส้นทางที่คณะทำงานได้วางไว้ กล่าวคือ มีการส่งกล่องเวียนไปให้คนที่จองไม่ทันในหมู่ผู้ที่ได้รับ) ตลอดจนความแตกต่างระหว่างของจริงกับของที่ถูกทำขึ้นใหม่ ปฏิกิริยาเชิงอารมณ์ที่เกิดจาก กล่องฟ้าสาง ที่พบเห็นได้ในโซเชียลมีเดียบ่งชี้ว่าความแท้ (authenticity) ทั้งในเชิงพื้นที่ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และในเชิงวัตถุ (นิทรรศการปีก่อนๆ มีการจัดแสดงวัตถุพยานอย่างประตูแดง, กางเกงยีนส์ของดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง และลำโพงที่มีรอยกระสุน) ที่ขาดหายไปในนิทรรศการปีนี้ไม่ได้เป็นข้อด้อยแต่อย่างใด

[ii] นอกจาก กล่องฟ้าสาง งานครบรอบ 45 ปี 6 ตุลายังมีโครงการที่สร้างขึ้นโดยคนรุ่นหลังอีกหลายโครงการ เช่น สารคดี ก่อนฟ้าสาง, สมมติว่า 5 ตุลาฯ, เพลงเพื่อชีวิต เพลงเพื่อประชาชน และ ประติมานุสรณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๗ ประวัติศาสตร์มีชีวิต เป็นต้น โครงการเหล่านี้ชวนให้คิดเกี่ยวกับบทบาทของคนรุ่นหลังในพิธีกรรมรำลึก

[iii] การนำเสนอช่วงเวลาก่อนวันที่ 6 ตุลาคมของ กล่องฟ้าสาง มีภาพศพอื่นที่มาก่อนการสังหารหมู่ครั้งนั้น ได้แก่ ภาพวาดศพแขวนคอของชุมพร ทุมไมยกับวิชัย เกศศรีพงษ์ศาบนคัตเอาท์ในภาพถ่ายเวทีปราศรัยในซอง “ฝ่ายวางแผน”, ภาพศพผู้นำชาวนาในโปสเตอร์ “ด่วน! ผู้นำชาวนาถูกสังหารอีกแล้ว” ในห่อ “ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์” และภาพการสวมบทบาทเป็นศพในละครแขวนคอในซอง “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” (ละครเวที)” ภาพศพเหล่านี้อ้างอิงไปยังความตายที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นเสมือนลางบอกเหตุว่ามีจะศพต่อไป การผนวกภาพศพก่อน 6 ตุลาเข้ามายังนำไปสู่ความเข้าใจว่า 6 ตุลาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่เหตุการณ์ความรุนแรงถึงตายที่ดำเนินมาก่อนหน้านั้น อนึ่ง การตีพิมพ์ภาพศพผู้นำชาวนาอย่างจะแจ้งในโปสเตอร์ได้ชี้ให้เห็นถึงมุมมองและการปฏิบัติต่อภาพความรุนแรงในแบบที่แตกต่างออกไปจากปัจจุบัน

[iv] คณะทำงานได้สร้างเว็บไซต์ Dawn of Victory ให้ผู้ชมเข้าไปจารึกชื่อเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง และเข้าชม “อนุสรณ์ดวงดาว” ซึ่งเป็นภาพกลุ่มดาวเรียงต่อกันเป็นภาพเก้าอี้

[v] กล่องฟ้าสาง บรรจุจดหมายสองฉบับโดยมีการขึ้นต้นด้วยข้อความ “ถึงน้องๆ ที่รัก” (สุรชาติ บำรุงสุข) และ “เยาวมิตรที่รัก” (สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ทั้งสองฉบับกล่าวถึงเพลง ฟ้าใหม่ ของจิตร ภูมิศักดิ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save