ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรืออาเซียน (ASEAN) ถูกสถาปนาขึ้นโดยความร่วมมือของ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยความริเริ่มของฝ่ายไทย ในวันที่ 8 สิงหาคม 1967 ซึ่งในปี 2020 นี้ อาเซียนจะมีอายุครบ 53 ปี และกำลังย่างก้าวสู่ปีที่ 54
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ อาเซียนพัฒนาตนเองจากความร่วมมือแบบหลวมๆ ของ 5 ประเทศสมาชิก กลายเป็นความร่วมมือในทุกมิติและทุกระดับของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปัจจุบัน อาเซียนคือเขตเศรษฐกิจที่มีจำนวนประชากรกว่า 650 ล้านคน เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
ขณะที่ในมิติมูลค่าทางเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ประมาณการณ์ว่า ในปี 2020 ประชาคมอาเซียนจะมีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่ปรับภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (GDP PPP, คือทำให้ค่าเงินของแต่ละประเทศมีอำนาจซื้อเท่าเทียมกันเสียก่อน เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบ) อยู่อันดับที่ 5 ของโลก คิดเป็น 9,326,707 International $
[box]
มูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่ปรับภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ
อันดับที่ 1 จีน 27,804,953 International $
อันดับที่ 2 สหรัฐอเมริกา 20,289,987 International $
อันดับที่ 3 สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) 18,377,114 International $
อันดับที่ 4 อินเดีย 11,321,280 International $
อันดับที่ 5 ประชาคมอาเซียน (10 ประเทศ) 9,326,707 International $
อันดับที่ 6 ญี่ปุ่น 5,451,452 International $
[/box]
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเท่ากับว่า อาเซียนทั้ง 10 ประเทศกลายเป็นหนึ่งในกลจักรสำคัญของห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) และเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญสำหรับเงินลงทุนที่ไหลเวียนอยู่ทั่วโลก
ย้อนกลับไปเมื่อ 53 ปีที่แล้วท่ามกลางสถานการณ์สงครามเย็น ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ยึดหลักการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กับประเทศที่ต่อต้านอุดมการณ์ดังกล่าวกำลังพุ่งทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความขัดแย้ง หากแต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนนำในการต่อต้านระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายไปสู่การลดการทุ่มเทงบประมาณความร่วมมือทางการทหาร ขณะที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ที่มีสหรัฐฯ และพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และนิวซีแลนด์ ซึ่งเริ่มต้นสร้างความร่วมมือในปี 1954-1955 ก็กำลังถูกลดทอนบทบาท ทั้งในมิติเงินงบประมาณและบทบาทในการแทรกแซงประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค (ก่อนที่จะยุติบทบาทถาวรในปี 1977)
ขณะเดียวกัน การขยายอิทธิพลของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและความมั่นคงขึ้นในภูมิภาค ดังนั้น เพื่อเติมเต็มภาวะสุญญากาศ ควบคู่ไปกับเจตจำนงหลักที่ไม่ต้องการให้มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการดำเนินนโยบายเช่นก่อนหน้า ทั้ง 5 ประเทศก่อตั้งอาเซียนจึงมาร่วมมือกัน โดยเน้นช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพราะทั้ง 5 ประเทศต่างรู้ดีว่า หากนำเรื่องการเมืองและความมั่นคงมาเป็นแกนกลางของความร่วมมือ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นก็จะไม่ยั่งยืน หรืออาจถึงขั้นล้มเหลวเหมือนกับความร่วมมือก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) องค์การมาฟิลอินโด (Maphilindo) สมาพันธ์รวมชนชาติมลายู (Greater Malayan Confederation) และสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South-East Asia: ASA)
ดังนั้น ความร่วมมือที่เกิดขึ้นเมื่อ 53 ปีที่แล้วท่ามกลางสงครามเย็น จึงเน้นไปที่ความร่วมมือในการช่วยเหลือกันและกันในการทำมาค้าขาย แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และร่วมกันพัฒนาสังคม โดยมีมิติการเมืองความมั่นคงเป็นฉากหลัง พร้อมกับเจตจำนงที่ชัดเจน 2 ข้อ คือ (1) อาเซียนไม่ต้องการให้มหาอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงกิจการของภูมิภาค และ (2) ภายในภูมิภาค อาเซียนก็แสดงเจตจำนงว่า เราจะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาเซียนเดินหน้า สร้างความร่วมมือที่ก้าวหน้าและเข้มแข็งร่วมกันมาได้เกินกว่าครึ่งศตวรรษ
เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงในปี 1989 พร้อมกับการล่มสลายของอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แนวคิดทุนนิยม กลไกตลาด และสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนจะขึ้นมาเป็นขั้วมหาอำนาจเชิงเดี่ยว (Uni-Polarity) ในช่วงทศวรรษ 1990-2010 แต่แล้วภาวะสงครามเย็น 2.0 กลับเกิดขึ้น ควบคู่กับการถดถอยเชิงอำนาจของสหรัฐฯ และการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน ดังที่เห็นผ่านสงครามการค้าที่พัฒนาสู่สงครามเทคโนโลยี และการช่วงชิงความเป็นผู้จัดระเบียบโลก
สงครามเย็น 2.0 ที่มีการประกาศแบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้ว ระหว่างสหรัฐฯ และสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามการค้า การแตกขั้วการผลิตในระดับโลก (Decoupling) ผ่านนโยบายดึงเงินลงทุนกลับของสหรัฐฯ (Reshoring) และนโยบายสหรัฐฯ ต้องมาก่อน ขณะที่จีนก็ขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการสื่อสารโทรคมนาคม พร้อมขยายอิทธิพลผ่านอภิมหาโครงการเชื่อมโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ความริเริ่มแถบและเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative: BRI) จึงอาจกล่าวได้ว่า กฎ กติกา ระเบียบการค้าโลก (โดยเฉพาะหลัง COVID-19) และระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังปี 2020
สถานการณ์ความขัดแย้งดูเหมือนจะยิ่งรุนแรงขึ้น ตลอดเดือนกรกฎาคม 2020 เราเห็นภาพเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาใน 8 ประเทศอาเซียน เขียนจดหมายเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ของประเทศที่ตนเองประจำอยู่ โดยในประเทศไทย George DeSombre เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เขียนบทความเผยแพร่เช่นกัน โดยมีใจความสำคัญคือ การประณามการดำเนินการของจีนในทะเลจีนใต้ ต่อด้วยความพยายามในการเทียบเคียงข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ (ซึ่งไทยไม่ได้มีข้อพิพาทกับจีน) กับกรณีการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง (ซึ่งไทยมีส่วนได้ส่วนเสีย) ก่อนที่จะพยายามเชื่อมโยงเพื่อยกระดับให้ความขัดแย้งเหล่านี้เป็นเรื่องของอาเซียนโดยรวม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้งในประเด็นอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้เป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับบางประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น และตอนจบของบทความยังได้กล่าวถึงวาทกรรมในรูปแบบของสงครามเย็น คือ การวางตำแหน่งของสหรัฐฯ และพันธมิตรให้เป็นประเทศที่อยู่กลุ่มโลกเสรี (Free and Open Rules-Based Order) ทำให้หลายคนอาจมีคำถามตามมาว่า “การดำเนินนโยบายแบบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำสงครามการค้า ตรงข้ามกับที่ท่านทูตกล่าวถึงหรือไม่?“
ไม่เพียงแต่สหรัฐอเมริกา แต่ตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรายังเห็นพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ออกมากล่าวถึงความขัดแย้งกับจีนในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาเดินหน้าแถลงนโยบายในเรื่องระบบโทรคมนาคม 5G ที่ไม่ต้องการใช้โครงข่ายและบริการของประเทศจีน การเดินหน้าหาข้อเท็จจริงกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และในหลายๆ คำแถลง ก็มักจะผสมผสานกับประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมของจีน เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกรู้ว่า จีนคือภัยคุกคามที่ทุกประเทศต้องจับตา
การประกาศสงครามที่ชัดเจนมากที่สุดเริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อสหรัฐฯ สั่งปิดสถานกงสุลของจีนในเมือง Houston โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอและไม่เป็นไปตามธรรมเนียมพิธีการทูต พร้อมกับการปาฐกถาของ Michael Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Secretary of state) ของสหรัฐฯ ในหัวข้อ ‘Communist China and the Free World’s Future’ ที่เป็นการประกาศท่าทีที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ ต่อจีน โดยในปาฐกถาดังกล่าว Pompeo พยายามสร้างตำแหน่งของสหรัฐฯ และพันธมิตรให้เป็นฝ่าย ‘โลกเสรี’ (Free Nations) ขณะที่กล่าวถึงผู้นำจีนด้วยคำว่า ‘New Tyranny’
นอกจากนี้ Pompeo ยังกล่าวอีกว่า “วันนี้ประเทศจีนมีอำนาจเผด็จการที่บ้านมากขึ้น และก้าวร้าวมากขึ้นในการเป็นปรปักษ์กับเสรีภาพในทุกที่อื่นๆ (Today China is increasingly authoritarian at home, and more aggressive in its hostility to freedom everywhere else)” อีกทั้ง “จีนยังพยายามจะขยายลัทธิเช่นนี้ไปทั่วโลก หากฝ่ายโลกเสรีไม่เปลี่ยนแปลงจีนให้ได้ (If the free world doesn’t change Communist China, Communist China will change us)” รวมทั้งยังมีการให้เหตุผลถึงการปิดสถานกงสุลจีนในรัฐเทกซัสโดยไม่ได้มีหลักฐานมารองรับว่า “This week we closed down China’s consulate in Houston because it was a hub of spying and IP theft.”
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับจีนแล้วอย่างแน่นอน อีกทั้งศัพท์แสงที่ใช้ก็ไม่ต่างจากสมัยสงครามเย็นสักเท่าไร ที่สำคัญคือ อาเซียนเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคในทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ต้องการอย่างยิ่งที่จะสร้างพันธมิตร เพื่อปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน
ขณะที่จีนก็รู้ดีว่า อาเซียนคือทำเลทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ที่จีนจะต้องใช้เป็นสะพานในการเชื่อมโยงโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) และจุดเปราะบางที่สุดก็อยู่ที่ทะเลจีนใต้ ดังนั้น เราจะเห็นจีนพยายามผลักดันความร่วมมือในมิติเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ผ่านยุทธศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Blue Sea 2020’ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่เราเห็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำอาเซียน จับมือกับเอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรฟิลิปปินส์ประจำอาเซียน จัดงานประชุมวิชาการในหัวข้อ ASEAN-China Partnership on Blue Economy โดยการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีเสวนาเพื่อระดมความคิดในรูปแบบ Track 1.5 คือ ระดมความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาควิชาการ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทาง หารูปแบบความร่วมมือที่เหมาะสมระหว่างจีนและอาเซียนในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือเศรษฐกิจแห่งท้องทะเลร่วมกัน แน่นอนว่าในกรณีนี้ ท้องทะเลก็คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะหมายถึงทะเลจีนใต้
ตัวผู้เขียนได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งใน Lead Speaker ในการประชุมดังกล่าว หนึ่งในข้อสรุปที่ผู้เขียนกล่าวถึงในเวทีระหว่างจีนและอาเซียนคือ เพื่อที่จะให้อาเซียนและจีนสามารถแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในทะเลจีนใต้ได้อย่างยั่งยืน ผู้นำและผู้กำหนดนโยบายของทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีความจริงใจต่อกัน (Sincerely Political Will) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกัน (Confidence-Building and Preventive Diplomacy) ผ่านกระบวนการปรึกษาหารืออย่างสร้างสรรค์ (Constructive Dialogue and Consultation) การแลกเปลี่ยนและบริหารจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและทรัพยากรร่วมกัน (Information Exchange/ Sharing/ Management) รวมทั้งการเชื่อมโยงประชาชนของทั้งจีนและอาเซียนเข้าด้วยกันผ่านการศึกษาและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (People-to-People Connectivity: Education and Cultural Exchanges) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุด เพื่อให้อาเซียนและจีนสามารถแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในทะเลจีนใต้ได้อย่างยั่งยืน โดยปราศจากการแทรกแซงของมหาอำนาจภายนอก (Without the Interference from External Powers) และทั้งจีนกับอาเซียนต้องมีความเคารพซึ่งกันและกัน
ผู้เขียนคิดว่า สิ่งที่นำเสนอไปในเวทีประชุมวิชาการวันนั้น ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับนักวิชาการจากอาเซียนอีกหลายประเทศ น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับอาเซียน ท่ามกลางสงครามเย็น 2.0 ที่ทั้งจีน สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศต้องการดึงให้อาเซียนเข้าไปเป็นสมัครพรรคพวก อาเซียนต้องจำให้ได้ว่า ในสงครามเย็น 1.0 ความแตกแยกทางอุดมการณ์การเมือง และรอยร้าวระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในหลายๆ มิติสำหรับบางกลุ่มยังฝังรากมาจนถึงทุกวันนี้ อาเซียนในฐานะประชาคมที่มีอายุกว่าครึ่งศตวรรษต้องเดินต่อไป ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม และต้องเป็นปึกแผ่น ร่วมมือกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของอาเซียนด้วย
อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือ จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ขับรถไปเพียง 247 กิโลเมตรก็จะถึงชายแดนจีน การอยู่ใกล้มหาอำนาจเปรียบเสมือนการอยู่ใกล้กองไฟ เข้าใกล้เกินไปก็ถูกแผดเผา อยู่ห่างเกินไปก็เหน็บหนาว ปะทะกับจีนก็เสียหาย (โดยที่สหรัฐฯ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของโลกไม่ได้มาเสียหายอะไรด้วย) แต่ถ้าจะใกล้ชิดกับจีนจนเกินงามก็ขัดแย้งกับมหาอำนาจระดับโลกอย่างสหรัฐฯ เช่นกัน ดังนั้น การดำเนินนโยบายของไทยผ่านอาเซียน ซึ่งไทยมีบทบาทนำมาโดยตลอด เพื่อเป็นมหาอำนาจระดับกลางที่มีอำนาจการต่อรอง ควบคู่กับการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศ จึงเป็นหัวใจของการอยู่รอดในภาวะสงครามเย็น 2.0 ซึ่งคงหลีกเลี่ยงยาก