fbpx
บทบาทมหาวิทยาลัยในโลกที่อาจไม่ต้องมีมหาวิทยาลัย

บทบาทมหาวิทยาลัยในโลกที่อาจไม่ต้องมีมหาวิทยาลัย

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

บิล เกตส์ เคยกล่าวไว้ว่า “Banking is necessary, banks are not”

บริการธนาคารนั้นเป็นสิ่งจำเป็นแต่ธนาคารอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น ความหมายก็คือบริการธนาคารที่เรารู้จักกันต่อไปอาจไม่ต้องมาจากธนาคารก็ได้

แต่คำพูดของ บิล เกตส์ อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่โลกของการเงินเท่านั้น โลกการศึกษาก็เช่นกัน

ในตอนที่แล้วผมเขียนไว้ว่าในยุค 2020 ทุกองค์กรอาจจะต้องมีความเป็น ‘มหาวิทยาลัย’ เพราะคนทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning) และเทคโนโลยีการศึกษาก็สร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับบริษัทและองค์กรที่เห็นความสำคัญ พูดง่ายๆ คือ “การเรียนรู้ต้องเกิดมากกว่าแค่ในมหาวิทยาลัย และไม่ต้องเกิดในรั้วมหาวิทยาลัยก็ได้”

แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น เราอาจต้องถามต่อว่ามหาวิทยาลัยแบบที่เรารู้จักกันวันนี้ยังจำเป็นอยู่แค่ไหน?

ผมว่ายังจำเป็น แต่จะต้องเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัย5.0″ ที่สามารถก้าวข้ามเทคโนโลยี 4.0 ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ

โดยการไปสู่จุดนั้นต้องเริ่มจากการถามตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่มหาวิทยาลัยทำได้แต่องค์กรอื่นๆ ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่า

ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 5 ข้อ

 

ข้อหนึ่ง การเรียนรู้จากความแตกต่าง (Accepting Diversity)

 

แม้บริษัทต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการจ้างคนเพื่อสร้างทีมที่มีความหลากหลายมากกว่าแต่ก่อน สุดท้ายก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการคัดตัวคนที่มีความคล้ายคลึงกัน สามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อประสิทธิภาพของการทำงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายองค์กร

วงการการเงินมักจะชอบคนที่มีมีพื้นฐานธุรกิจ บัญชี การเงิน วงการเทคโนโลยีอาจจ้างคนที่อายุน้อย วงการวิชาการอยากได้คนมีปริญญาเอก และองค์กรส่วนใหญ่มักจ้างคนที่พูดภาษาเดียวกัน มาจากประเทศเดียวกัน

แต่มหาวิทยาลัยแห่งอนาคตไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดเหล่านั้นในการคัดเลือกนักเรียน การทลายกำแพงระหว่างคณะ สาขาวิชา อายุ เชื้อชาติ นอกจากจะช่วยให้เราอยู่กับความแตกต่างเป็นแล้ว ยังช่วยสร้างสังคมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย ทำให้เกิดการมองของเดิมๆ จากมุมมองใหม่ อันเป็นบ่อเกิดของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นทักษะสำคัญที่สุดของยุคใหม่

ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นหลายมหาวิทยาลัยเริ่มขยับในทิศทางนี้ เช่น มีการเปิดปริญญาใหม่ที่ให้นักเรียนแพทย์มาเรียนวิชาวิศวะและสถาปัตย์ นักเรียนดีไซน์เรียนบิ๊กดาต้า ผสมสายศิลป์เข้ากับสายวิทย์ จนบางมหาวิทยาลัยไม่มีคณะเลยด้วยซ้ำ (ดูบทความที่แล้วเรื่อง “มหาวิทยาลัย 2020 – เรียนรู้ไร้พรมแดน”)

 

ข้อสอง เรียนรู้จากความล้มเหลว (Failure)

 

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว การปรับตัวในสิ่งที่เราไม่คุ้น ทดลองสิ่งใหม่นอกกรอบเดิมๆ เรียนรู้จากความล้มเหลว จะกลายเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ (อ่านต่อบทความเรื่อง ‘ความล้มเหลว’ วิชาภาคบังคับยุค 4.0)

มหาวิทยาลัยสามารถเป็นพื้นที่แห่งการทดลอง เสมือน ‘กล่องทราย’ ที่นักเรียนสามารถทดลองได้ ล้มได้ ลุกได้ โดยไม่เจ็บตัวเกินไป สามารถสร้างทัศนคติแบบ growth mindset ที่รู้ตัวว่าความล้มเหลวในวันนี้สามารถเป็น ‘ครู’ ที่ทำให้เราเป็นคนที่ดีกว่าเดิมในวันหน้า

แต่ในวันนี้โลกมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเช่นนั้น นักเรียนจำนวนมากพบกับความกดดันอย่างมหาศาลที่จะต้องสอบได้คะแนนดี ให้ประวัติบนกระดาษไม่ด่างพร้อย ต้องไม่เดินออกนอกกรอบ เพราะเข้าใจว่าลองผิดทีเดียวอาจชีวิตเปลี่ยน

ซึ่งนอกจากจะทำลายสุขภาพจิตของนักเรียนจนเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าใจบ่อยครั้งแล้ว ยังผลิตคนที่กลัวความผิดพลาดจนไม่กล้าสร้างสรรค์ ปรับตัวไม่เก่ง และไม่ตรงกับที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตต้องการ

ทั้งนี้ ไม่ใช่ความผิดของระบบมหาวิทยาลัยทั้งหมด แต่เป็นทัศนคติของพ่อแม่และผู้ใหญ่ด้วยเช่นกันที่จำกัดการเป็นพื้นที่ทดลองของมหาวิทยาลัย

 

ข้อสาม เรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

 

ในอนาคต empathy อาจจะเป็นทักษะที่สำคัญต่อการอยู่รอดของคน

ประการแรก empathy เป็น ‘ทักษะแห่งมนุษย์’ ที่ ‘หุ่นยนต์’ เลียนแบบได้ยาก งานที่ใช้ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นสูงเช่น พยาบาล ครู จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ได้ยาก

ประการที่สอง empathy ทำให้คนกลายเป็น ‘ผู้ฟัง’ ที่ดี สามารถลดอีโก้ตนเอง และเปิดใจให้เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว เรียนรู้ได้จากทุกคน ตลอดชีวิต (life long learning)

ประการที่สาม ผู้นำที่มี empathy จะสามารถนำทีมฟันฝ่าการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วได้เพราะทุกคนในทีมรู้สึกได้รับการเติมพลัง (empower) และมีส่วนร่วม

แม้ empathy จะเป็นทักษะที่ควรได้รับการฝึกฝนแต่เด็ก แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามความสำคัญของมันในระดับมหาวิทยาลัย โดยอาจเริ่มที่ตัวครูแสดงให้นักเรียนเห็น

ครูที่มี empathy จะไม่เป็นแค่ผู้เลกเชอร์ แต่สามารถเป็นได้ทั้งโค้ชที่รู้จักจุดแข็ง-อ่อนของนักเรียนคนนั้นๆ เป็นพี่เลี้ยง-ที่ปรึกษา (mentor) ที่เข้าใจนักเรียน และสามารถแนะแนวทางชีวิตให้ได้ (อย่างน้อยบางด้าน) และที่สำคัญอาจเป็นผู้นำสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมี empathy เหมือนกันได้

 

ข้อสี่ เรียนรู้ที่จะค้นพบตัวเอง (Soul)

 

นายสัตยา นาเดลลา CEO ผู้ปั้นบริษัทไมโครซอฟท์ให้กลับมาเกรียงไกรเป็นบริษัทมูลค่าสูงสุดในโลกบอกว่า ‘สูตรลับ’ ของเขาคือ การทำให้องค์กรกลับมาค้นพบ soul (จิตวิญญาณ) ของตนเอง ซึ่งในที่นี้หมายถึงการกลับมาดูตัวเองว่า จุดมุ่งหมายในชีวิตของเราคืออะไร บทบาทที่เราอยากจะมีในสังคมคืออะไร และการค้นหาหรือค้นพบตัวเองนี้ไม่ได้สำคัญเฉพาะกับองค์กร แต่สำคัญสำหรับปัจเจกบุคคลเช่นกัน

ในความเป็นจริง น้อยบริษัทนักจะสามารถเปิดพื้นที่และให้เวลาคนในการค้นหาตนเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา คอยแนะแนวช่วยเหลือคนที่สับสนหลงทาง จึงทำให้เกิดสภาวะ ‘หมดไฟ’ หรือ burn out ได้บ่อยๆ

นี่คือช่องว่างที่มหาวิทยาลัยสามารถเติมเต็มได้ โดยการเป็นพื้นที่ให้คนค้นหาตัวเอง หลงทาง และค้นพบตัวเองใหม่ (Discover and rediscover yourself) ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนั้นจะต้องมีสังคมที่หลากหลาย ช่วยให้พบคนที่เราไม่เคยเจอเพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ มีพื้นที่ให้ทดลองสิ่งที่ตนเองอาจไม่เคยทำ เปิดโอกาสใหม่ และมีครูที่ ‘เข้าใจ’ คอยช่วยสนับสนุนอย่างที่เขียนข้างบน

 

ข้อห้า พื้นที่ปลอดภัย (Safe)

 

หากเอาตัวอักษรแรกของ 4 คำ Soul, Accept, Failure และ Empathy รวมกัน จะได้ข้อ 5 คือคำว่า SAFE หรือ “พื้นที่ปลอดภัย”

มหาวิทยาลัย 5.0 ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่นักเรียนสามารถเรียนรู้จากสังคมที่หลากหลาย เรียนรู้จากการทดลองและความล้มเหลว เรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น และเรียนรู้จากการค้นหาตนเอง โดยไม่ต้องกลัวตราบาปใดๆ หรือผมขอเรียกว่า “learning sanctuary”

ทั้งนี้ ต้องขอย้ำว่าพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้แปลว่า “พื้นที่อยู่สบาย” หรือ comfort zone ในทางตรงข้ามเมื่อเราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเราจะกล้าที่จะออกนอก comfort zone ของตนเอง กล้าเปิดรับความอ่อนไหว (vulnerability) เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่

สรุปคือ แม้แต่ในอนาคต โลกนี้ก็น่าจะยังต้องการมหาวิทยาลัย หากมหาวิทยาลัยสามารถปรับเปลี่ยนกลายเป็นมหาวิทยาลัย 5.0 แบบที่เราต้องการ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save