fbpx

5 คำถามเกี่ยวกับคณะราษฎรและปฏิวัติ 2475

1. ทำไมอยู่ๆ ก็เกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475

คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และมักเป็นคำถามของผู้ที่ไม่ค่อยแฮปปี้ที่มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองครั้งนี้

แนวทางคำตอบมี 3 ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนี้

1) การเคลื่อนไหวเพื่อล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ท่านคิดว่าสามารถเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยในยุคสมัย ร.6-ร.7 ได้หรือไม่

คำตอบที่ชัดเจนคือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเปิดเผยได้ ดังนั้นจึงต้องเคลื่อนแบบปิดลับ ซึ่งย่อมสัมพันธ์กับข่าวหรือบทความในหน้าหนังสือพิมพ์หรือวารสาร ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักช่องทางเดียวที่มีอยู่ในขณะนั้น

ถ้าท่านอยู่ในยุคนั้น ท่านคงไม่เห็นร่องรอยความคิดการนำเสนอการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองครั้งใหญ่จากข่าวสารตัวอักษรในสื่อสิ่งพิมพ์ของยุคสมัยดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการเคลื่อนไหวแบบพรรคการเมืองด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อันถือว่าเป็นกบฏ

ข่าวหนังสือพิมพ์ยุคนั้น ก็คงเป็นข่าวเศรษฐกิจฝืดเคือง การปลดข้าราชการออกจากงานนับหมื่นคนในช่วง 6 ปีในสมัยรัชกาลที่ 7 การที่ชาวบ้านถูกเรียกเก็บภาษีต่างๆ อย่างรุนแรง ซึ่งคงเป็นเสียงแห่งความทุกข์ไปทุกหย่อมย่าน ส่วนความโกรธความรู้สึกต่างๆ ก็คงคุยกันแบบกระซิบกระซาบ แบบลือกันให้แซดในแบบบ้านเมืองเป็นการปกครองแบบอำนาจรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ

2) ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดปฏิวัติ แต่คณะราษฎรจัดประชุมก่อตั้งคณะก่อนการปฏิวัติมาแล้ว 5 ปี คือประชุมกันที่ปารีสเดือนกุมภาพันธ์ 2469 (1927) โดยคนหนุ่ม 7 คน ได้แก่ ปรีดี แปลก ประยูร ตั้ว จำรูญ แนบ ทัศนัย ทีมคนหนุ่มทั้ง 7 นี้เคลื่อนไหวอย่างมุ่งมั่นที่จะปฏิวัติอย่างไม่ลดละ จนบรรลุความสำเร็จตามเจตจำนงเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 [1] ดังนั้น ท่านลองคิดดูว่า 5 ปีที่ดำเนินงานปิดลับใต้ดินจะรู้สึกตึงเครียดเพียงใด ทั้ง 7 จะรู้สึกต่อกันและสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งเพียงใด

3) นอกจากนี้ เมื่อ 20 ปีก่อนหน้าปฏิวัติ 2475 มีความพยายามของกลุ่มทหารหนุ่ม ส่วนใหญ่อายุราว 18-25 ปี ยศร้อยตรีและร้อยโทเป็นส่วนใหญ่ ที่มีหมอเหล็ง หรือร้อยเอกเหล็ง ศรีจันทร์ หรือร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ เป็นหัวหน้าคณะ ต้องการล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของ ร.6 เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแทน

แต่ความลับแตก สมาชิกคนหนึ่งที่เพิ่งสมัครเข้ามานำความลับของกลุ่มไปแจ้งฝ่ายเจ้า ฝ่ายทหารหนุ่มที่คิดปฏิวัติจึงถูกกวาดจับปลายกุมภาพันธ์ 2454 ราวร้อยคน ถูกตัดสินทั้งประหารชีวิต ทั้งจำคุกตลอดชีวิต และจำคุกจำนวนปีลดหลั่นกันไป

เราถูกทำให้จำว่านี้คือเหตุการณ์ ‘กบฏ ร.ศ.130’ แต่คณะทหารหนุ่มที่เตรียมปฏิบัติการสร้างชาติเรียกคณะตนเองว่าคณะ ‘ปฏิวัติ ร.ศ.130’ ไม่ใช่คณะที่มีความคิดยึดอำนาจจากกษัตริย์แบบรัฐประหารเปลี่ยนอำนาจรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศในทุกๆ ด้านอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนระบอบการเมืองการปกครองของประเทศ [2] เป็นแนวคิดแบบเดียวกันของคณะราษฎร ปฏิวัติ 2475 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือกุญแจที่ไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของไทย

นี่คืออีกหนึ่งหลักฐานว่า ความต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยในหมู่คนไทยนั้นมีมาแล้วก่อนปี 2475 โดยมีมาก่อนนี้อย่างน้อยๆ ก็ 20 ปีมาแล้ว ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เกิดปรากฏการเปลี่ยนแปลงที่ตกลงมาจากฟ้าแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

ความคิดและคำถามว่า อยู่ดีๆ ก็เกิดปฏิวัติ 2475 ขึ้นนี้ ที่ผ่านมาเป็นคำถามที่ได้ซ่อนนัยเบื้องหลังว่า ปฏิวัติ 2475 เป็นการกระทำของคนกลุ่มเดียว ที่ต้องการสถาปนาอำนาจของคนกลุ่มนี้เท่านั้น และเป็นเพียงการชิงสุกก่อนห่าม เพื่อมาสรุปว่าที่ไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงในวันนี้นั้นเป็นเพราะการแย่งชิงอำนาจของคณะราษฎรเมื่อ 9 ทศวรรษก่อน โดยแสร้งแกล้งลืมว่าการรัฐประหาร 13 ครั้งของฝ่ายทหาร ฝ่ายกษัตริย์นิยมและอนุรักษนิยมที่มีมาตลอด 90 ปีนั้น คือสาเหตุสำคัญของการทำลายประชาธิปไตยเพื่อพิทักษ์รักษาอำนาจและผลประโยชน์ของฝ่ายเหล่านั้นต่างหาก

2. ทำไม 2475 ถึงเปลี่ยนแปลงระบอบแค่แบบ constitutional monarchy ทำไมไม่เอาถึง republic เคยฟังบรรยายวิชาการว่า คณะ ร.ศ.130 ช่วงต้น ๆ แกนนำเอนไปทางแบบ republic ด้วย

คำถามข้อนี้ ขอตอบเฉพาะคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 เป็นเบื้องต้น

ร.ศ.130 คือ ปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งแรกของไทยสมัยต้น ร.6 แต่ล้มเหลว แผนแตก โดนกวาดจับฝ่ายปฏิวัติเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2454 หรือเป็นปีที่ 2 ของสมัย ร.6 ที่เพิ่งผ่านมาได้เพียง 4 เดือน

แผนปฏิวัติจะลงมือในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในโบสถ์วัดพระแก้ว ต้นเมษายนที่กำลังจะมาถึง (1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนปีศักราชเป็น ร.ศ.131 โดย พ.ศ. จะเริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2456)

ในบันทึก ปฏิวัติ ร.ศ.130 ของ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ระบุเกี่ยวกับการประชุมและแนวทางระบอบการเมืองไว้ว่า [3]

ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1 วันที่ 13 มกราคม 2454 บ้านหมอเหล็ง ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ (ขุนทวยหาญพิทักษ์) หัวหน้าคณะ ที่ถนนสาธร

สรุปคือ เลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันหมายถึงระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมาย มาเป็น ‘ประชาธิปไตยในรูปใดรูปหนึ่ง’

แบบหนึ่งคือระบอบสาธารณรัฐ (republic) อีกแบบคือระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)

แต่ถกเถียงกันยังไม่ยุติว่าจะเอาระบอบใด

ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 วันที่ 20 มกราคม ที่บ้านหมอเหล็ง เรื่องระบอบการปกครองว่าจะเอาระบอบใด ให้ไปประชุมครั้งต่อไป

ครั้งนี้สมาชิกในที่ประชุมได้ดูสมุดภาพการเปลี่ยนระบอบการเมืองของจีนที่ล้มการปกครองของราชวงศ์ชิงหรือล้มระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมายที่มีมาเป็นพันปี สถาปนาระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบสาธารณรัฐ (republic) ตามแบบสหรัฐอเมริกา นำโดย ดร.ซุนยัตเซ็น ประธานาธิบดีสามัญชนคนแรกของจีน

การปฏิวัติจีนเมื่อ 1 ตุลาคม 2454 ที่เรียกว่า ปฏิวัติซินไฮ่ (ก่อนการประชุมครั้งนี้เพียง 3 เดือนกว่า) ซุนยัตเซ็นเดินทางกลับจากอเมริกาช่วงคริสต์มาส ขึ้นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวของสาธารณรัฐจีน (จงฮวาหมินกั๋ว : ประเทศจีน ประเทศของประชาชน) เมื่อ 1 มกราคม 1911 หรือก่อนการประชุมครั้งนี้เพียง 20 วัน

ตัวอย่างความสำเร็จของการสถาปนาสาธารณรัฐจีนสร้างความฮึกเหิมและกระตุ้นจิตใจสมาชิกคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 อย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังบอกเล่าถึงการปฏิวัติที่นานาประเทศเคยทำกันมา ผู้บอกเล่าและเจ้าของแฟ้มภาพคือ หมออัทย์ นายพันตรี หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช)

ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 วันอาทิตย์ 27 มกราคม ที่บ้านหมอเหล็ง ครั้งนี้ 1) กำหนดวันและแผนปฏิวัติ 2) ฝ่ายกฎหมายกำลังศึกษาและจัดทำรัฐธรรมนูญ “เพื่อให้เหมาะแก่สถานการณ์ของประเทศไทย” ไม่มีระบุในบันทึกนี้ว่าได้เลือกระบอบใด

ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4 อาทิตย์ 3 กุมภาพันธ์ ที่โบสถ์ร้าง วัดช่องลม ช่องนนทรี พระนคร ที่ประชุมยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะเลือกระบอบใด ระหว่าง ‘ลิมิเต็ดมอนากี้หรือรีปับลิค’

limited monarchy คือกษัตริย์มีอำนาจจำกัดอย่างมาก ถ้าเรียกแบบอังกฤษคือ constitutional monarchy หรือระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

ข้อถกเถียงกันตอนนี้คือจะยังให้มีกษัตริย์ต่อไปอีกหรือไม่

ที่ประชุมตกลงรอคอยให้สมาชิกใหม่ๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อเลือกอนาคตของประเทศร่วมกันในครั้งต่อไป

ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 กลางกุมภาพันธ์ ที่สวนของนายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ศาลาแดง พระนคร ครั้งนี้ “โต้เถียงกันนักหนา” โดย “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกำลังนำหน้าฝ่ายระบอบสาธารณรัฐด้วยคะแนนไม่สู้สูงกว่ากันมากนัก”

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ แผนแตก ฝ่ายปฏิวัติถูกจับ

หากดูตามบันทึกของสองแกนนำสำคัญในหนังสือ ‘ปฏิวัติ ร.ศ.130’ นี้ แนวโน้มที่น่าจะเป็นไปได้มากว่าคือ น่าจะเลือกระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarch หรือ limited monarchy) หลักสำคัญที่ฝ่ายปฏิวัติต้องพิจารณาคือ “เพื่อให้เหมาะแก่สถานการณ์ของประเทศไทย”

งานศึกษาของวรางคณา จรัณยานนท์ เรื่อง ‘คณะ ร.ศ.130 : ชีวิต อุดมการณ์และการจัดตั้ง’ ได้ศึกษาว่าสมาชิกคณะ ร.ศ.130 มีความคิดหรือนิยมต่อระบอบการเมืองใหม่แบบใดมีจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ศึกษาจากเอกสารคำให้การของทหารฝ่ายปฏิวัติที่ถูกจับ เอกสารนี้อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ผู้ศึกษาพบว่าสมาชิกคณะ ร.ศ.130 เลือกนิยมในระบอบ republic จำนวน 10 คน นิยมในระบอบ limited monarchy จำนวน 12 คน โดยอีก 96 คนที่ถูกจับไม่แสดงความคิดเห็นว่านิยมระบอบใด แต่จะแสดงว่าตนวิจารณ์อะไรมากกว่า ทั้งนี้มีถึง 28 คนที่เขียนเล่าเกี่ยวกับหัวหน้าคณะ คือ ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ ว่าเป็นผู้นิยมในระบอบ republic อย่างเข้มแข็ง [4]

ผมขอสรุปดังนี้ว่า ในบริบทยุคทศวรรษ 2440-2450 นั้น แม้ประเทศที่ใหญ่ๆ จะเปลี่ยนแปลงเพื่อล้มเลิกกษัตริย์ สถาปนาระบอบสาธารณรัฐ เช่น จีน อีกไม่กี่ปีก็เป็นประเทศเยอรมนีและโซเวียต (สาธารณรัฐคอมมิวนิสต์) แต่สำหรับสยามที่เพิ่งเข้าสู่สมัยใหม่เมื่อปฏิรูปการปกครองปี 2435 หรือเพิ่งเข้าสู่สมัยใหม่ได้เพียง 20 ปี สังคมไทยจึงยังไม่ได้มีข้อถกเถียงเกี่ยวระบอบการปกครองต่างๆ อย่างเข้มข้นมากนัก

อย่างไรก็ตาม บันทึก ปฏิวัติ ร.ศ.130 นี้ระบุไว้ว่า หากจำเป็นต้องเปลี่ยนประมุขแห่งรัฐจากกษัตริย์เป็นประธานาธิบดี ฝ่ายทหารบกจะให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นประธานาธิบดี ฝ่ายทหารเรือจะให้เจ้าฟ้าบริพัตรเป็นประธานาธิบดี ฝ่ายพลเรือนจะให้กรมหลวงราชบุรีเป็นประธานาธิบดี

ถ้าจากข้อมูลนี้ ฝ่ายทหารบกชนะแน่ๆ เพราะคณะปฏิวัตินี้ส่วนใหญ่คือทหารบกหนุ่ม

สรุป ดูจะเป็นไปได้ว่า คณะ ร.ศ.130 มีสองแผน แผน 1 แนวโน้มคือเปลี่ยนประเทศเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แผน 2 คือ เปลี่ยนประเทศเป็นระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐและประมุขฝ่ายบริหาร

3. ทำไมคณะราษฎรเลือกระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่เลือกระบอบสาธารณรัฐ

การประชุมก่อตั้งคณะราษฎรของสมาชิก 7 คนที่ปารีส ฝรั่งเศส รวม 5 วัน เมื่อกุมภาพันธ์ 2469 นั้น กล่าวได้ว่าสมาชิกได้สนทนาปรึกษากันทุกด้าน ทั้งปัญหาและแนวทางแก้ไข ทั้งด้านระบอบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมว่าต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรกันบ้างและสร้างอะไรกันใหม่บ้าง ของเดิมจะเอาไว้แค่ไหนอย่างไร ซึ่งปรากฏแนวทางสรุปเป็นนโยบายสร้างชาติไทย 6 ข้อหรือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แต่น่าเสียดายที่ไม่มีบันทึกในรายละเอียดของการประชุมนี้

ปรีดี พนมยงค์ บันทึกไว้ว่า [5] ที่ประชุมตกลง “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” หรือที่เรียกชื่อให้ดูดีสวยงามขึ้นคือระบอบ ‘ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ’

ประยูร ภมรมนตรี บันทึกไว้ว่า [6] คณะราษฎรมีวัตถุประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเป็น “ประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ” แต่มีข้อความต่อมาอีกว่า “โดยงดเว้นการมีสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด”

ถ้าตั้งคำถามว่า ในการประชุมผู้ก่อตั้งคณะราษฎรของคนหนุ่ม 7 คนที่อายุระหว่าง 26-29 ปี ในดินแดนฝรั่งเศสที่มีระบอบการปกครองสาธารณรัฐ ทั้งยังมีประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 1789 อันลือลั่นนั้น จะมีการปรึกษากันถึงแนวทางสาธารณรัฐที่ไม่มีกษัตริย์หรือไม่ เมื่อพิจารณาเทียบกับการประชุมของทหารหนุ่ม ร.ศ.130 เมื่อ 20 ปีก่อน เสียงของทหารหนุ่มยังมีความคิดระบอบสาธารณรัฐ โดยเฉพาะในตัวหมอเหล็งหัวหน้าคณะ ดังนั้น การประชุมของคณะราษฎรย่อมคาดได้ว่าต้องมีการพูดถึงระบอบสาธารณรัฐที่ไม่มีกษัตริย์อย่างแน่นอน เพราะการพูดคุยทำความเข้าใจว่าระบอบการปกครองมีแบบใดบ้างเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน เหมือนกับความรู้พื้นฐานในวิชากฎหมายมหาชนหรือกฎหมายปกครองของนิติศาสตร์

แต่การตกลงใจเลือกระบอบ ‘กษัตริย์ใต้กฎหมาย’ น่าจะอยู่ในแนวทางเดียวกันกับคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 คือ ‘เพื่อให้เหมาะแก่สถานการณ์ของประเทศไทย’ เพราะหากเลือกระบอบที่ล้ำยุคไปกว่าที่คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการคนชั้นกลางและคนไทยทั่วไปจะสามารถเข้าใจและยอมรับได้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ย่อมจะล้มเหลวและถูกต่อต้านอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน เมื่อเลือกแนวทางระบอบ ‘กษัตริย์ใต้กฎหมาย’ นี้ ภาพการกลับเข้าช่วงชิงอำนาจจากฝ่ายกษัตริย์ก็ย่อมจะสามารถนึกเห็นได้จากประวัติศาสตร์หลังการปฏิวัติของฝรั่งเศสที่ต่อสู้กันยาวมาอีกศตวรรษ เหมือนดังที่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้กล่าวไว้ในสภาผู้แทนราษฎรว่าการต่อสู้ระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่จะยังต่อสู้กันถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมก่อตั้งคณะราษฎรน่าจะได้ปรึกษากันถึงวิธีการรักษาระบอบใหม่ที่จะไม่ให้ฝ่ายกษัตริย์หวนคืนอำนาจ หรือคิดว่าจะเอาอยู่หรือจัดการได้ ปรีดีเรียกว่า “พลังตกค้างแห่งระบบเก่า” และ “พวกปฏิกิริยา” ซึ่ง “ต้องการเหนี่ยวรั้งระบบสังคมเก่าให้คงอยู่กับที่หรือให้ถอยหลังยิ่งขึ้นไปอีก”[7]

ในประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 คำขู่ในประกาศนี้ ระบุว่า ถ้าพระปกเกล้า รัชกาลที่ 7 “กษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด” คณะราษฎรก็เห็นว่า “เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา” ซึ่งในรูปนี้ ระบอบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยก็คือระบอบสาธารณรัฐ [8]

แต่หนังสือที่คณะราษฎรมีไปถึงพระปกเกล้าขณะประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน ในเช้าวันต่อมา โดยการนำไปถวายของนายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย ระบุไว้ว่า ระบอบที่คณะราษฎรจะสถาปนาขึ้นคือระบอบรัฐธรรมนูญหรือกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าพระปกเกล้าตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนด ฝ่ายคณะราษฎรจะเดินหน้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญ “โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์” [9]

กล่าวสรุป คณะราษฎรเลือกระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่การประชุมก่อตั้ง แต่ความคิดระบอบสาธารณรัฐหรือรีปับลิก (republic) มีอยู่ในหมู่สมาชิกอย่างแน่นอนและอาจเป็นไปได้เหมือนกับกลุ่มทหารหนุ่ม คือระบอบรีปับลิกอาจเป็นทางเลือกท้ายสุด เพราะทางออกเบื้องต้นหากพระปกเกล้าปฏิเสธที่จะเป็นกษัตริย์ในระบอบใหม่ คือหาเจ้านายพระองค์ใหม่มาเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแทน

4. มีเจ้านายที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ความเป็น ‘เจ้า’ ถูกกำหนดโดยสายเลือดที่สัมพันธ์กับสถานภาพของบิดาที่เป็นราชวงศ์และมารดาทั้งที่เป็นราชวงศ์และสามัญชน โดยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 กำหนดว่านับความเป็นเจ้า 3 ลำดับชั้น จากสูงลงล่าง ได้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า

ทั้งนี้ความเป็นเจ้านั้นสามารถสถาปนาแบบเลื่อนชั้นขึ้นได้ หรือลงโทษเลิกสถานะความเป็นเจ้าก็ได้ ทั้งนี้โดยตามพระราชอัธยาศัยของกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปลี่ยนรัชสมัย หรือในอดีตเช่นยุคอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ก็คือเมื่อมีการรัฐประหารหรือกบฏ

แต่ในยุครัชกาลที่ 4 ได้สถาปนาเพื่อให้เห็นสถานภาพที่เป็นเชื้อสายแห่งราชวงศ์อีก 2 ชั้น ได้แก่ ม.ร.ว. และ ม.ล. แต่รัชกาลที่ 4 ทรงไม่ให้นับชั้นความเป็นเจ้า แต่ทว่าในทางวัฒนธรรมที่พัฒนามาถึงทุกวันนี้ก็นับถือว่าเป็น ‘ชั้นเจ้าใหม่’ ในยุคปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญฉบับแรกหลังปฏิวัติ 2475 คือฉบับ 27 มิถุนายน กำหนดให้ มาตรา 7 ระบุว่า “การประทำใดๆ ของกษัตริย์ ต้องมีคณะกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” ซึ่งตีความรวมถึงอำนาจสถาปนาเลื่อนชั้นเจ้านายด้วย แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (10 ธันวาคม) ตัดมาตรานี้ทิ้ง ดังนั้น เราจึงได้เห็นการสถาปนาเลื่อนชั้นเจ้าเพิ่มขึ้นจากสมัยรัชกาลที่ 8 เป็นต้นมา

แต่หลังรัฐประหาร 2490 เพื่อกำจัดอำนาจของคณะราษฎร และฟื้นฟูพระราชอำนาจของกษัตริย์ รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ระบุไว้ในมาตรา 12 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์” ซึ่งพระราชอำนาจนี้ถูกดำเนินในแบบตามพระราชอัธยาศัย ดังนั้น กระบวนการสร้างเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเติบโตและขยายตัวในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ปี 2490 ที่ยังคงใช้มาถึงปัจจุบันและยังไม่มีการแก้ไขแม้แต่ตัวอักษรเดียว (ขณะที่ไทยฉีกและสร้างรัฐธรรมนูญใหม่จากปี 2490 ถึงวันนี้มีรวม 17 ฉบับ) ระบุไว้ว่าทุกภารกิจที่จักรพรรดิดำเนินงานที่เกี่ยวกับกิจการของรัฐ ซึ่งมี 10 ภารกิจ (มาตรา 7) จักรพรรดิไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการตามอัธยาศัย แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ‘เพื่อประชาชน’ ภารกิจด้าน ‘การสถาปนาเกียรติยศและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์’ จักรพรรดิไม่สามารถกระทำตามพระราชอัธยาศัยได้

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ [10] ได้ศึกษาเครือข่ายเจ้านายในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง ระบุว่า พระจอมเกล้าฯ มีโอรส 39 ธิดา 43 รวม 82 องค์ พระจุลจอมเกล้าฯ มีโอรส 32 ธิดา 44 รวม 76 องค์ เมื่อรวมสองรัชสมัยในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษ (2394-2453) ก็มีเครือข่ายเจ้านายเพิ่มขึ้นถึง 158 องค์ ในปี 2472 พระปกเกล้าฯ ให้มีการจัดทำทะเบียน ‘ราชสกุลวงศ์’ และให้มีการสำรวจว่าเจ้าตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้ารับราชการอยู่จำนวนเท่าใด พบว่ามีเจ้ารับราชการถึง 144 องค์ โดยเป็นทหารมากที่สุด 44 องค์

ไม่มีข้อมูลว่ายังมีเจ้าที่ไม่ได้รับราชการอยู่อีกสักเท่าไหร่ แต่คาดได้ว่าเกือบทั้งหมดน่าจะเป็นเจ้าผู้หญิง และเจ้าจำนวนมากที่สุดนั้นคือชั้นหม่อมเจ้า ซึ่งจะมีการสถาปนาเลื่อนขั้นเจ้ากลุ่มนี้ที่รับใช้สอยใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชสมัยให้เป็นพระองค์เจ้าแต่งตั้งหลายองค์ด้วยกัน

ดังนั้น ปัญหาสำคัญของราชการกรมกระทรวงต่างๆ ที่เจ้าเป็นผู้บริหารในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ข้าราชการต้องทำตามพระอัธยาศัยของเจ้ากรมเจ้ากระทรวง และเกิดระบบอุปถัมภ์ในแบบ ‘เลือกที่รักมักที่ชัง’ อยู่โดยทั่วไป

ด้วยปัจจัยดังกล่าว เจ้าโดยทั่วไปย่อมนิยมชมชอบที่จะรักษาระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมายนี้ไว้ให้นานที่สุด แต่เจ้ารุ่นใหม่หลายคนก็ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยตามตะวันตก แต่ก็ไม่อาจละทิ้งบริบททางสังคมเศรษฐกิจของตนเองได้ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายผัวเดียวเมียเดียวนั้นไม่อาจประกาศใช้ได้ในยุคนี้ เพราะทั้งเจ้านายและข้าราชการขั้นสูงต่างมีเมียจำนวนมากและอยู่ในเขตรั้วบ้านใหญ่เดียวกัน ทว่าเมื่อเป็นยุคคณะราษฎร กฎหมายผัวเดียวเมียเดียวถูกประกาศใช้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะชนชั้นนำเป็นคนละบริบททางวัฒนธรรม และปลดปล่อยให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพเพิ่มสูงมากตลอดมา [11]

หลังปฏิวัติ 2475 มีเจ้า 2 องค์ที่ได้ชื่อว่าช่วยเหลืองานของรัฐบาลคณะราษฎรมีตำแหน่งและมีชื่อเสียง หนึ่งคือ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ อีกหนึ่งคือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

พระองค์วรรณ (2434-2519) หรือ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ หรือศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ [12] เป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (เป็นโอรสพระจอมเกล้าฯ ลำดับที่ 56) เสด็จพ่อมีหม่อมหรือภริยา 13 คน มีโอรสธิดา 35 องค์

พระองค์วรรณได้ทุนหลวง (King’s scholarship) ไปเรียนที่อังกฤษ จบปริญญาตรีและโทที่คณะบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) สาขาวิชาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ที่สถาบันตะวันออก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ท่านจึงมีความสามารถในการบัญญัติศัพท์ ศัพท์การเมืองสมัยใหม่จำนวนมากของไทยมาจากท่านบัญญัติ

พระองค์วรรณเรียนจบก็เข้ารับราชการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงต่างประเทศในช่วงสองปีท้ายสมัยรัชกาลที่ 6 พอเปลี่ยนเป็นสมัยรัชกาลที่ 7 ก็เปลี่ยนตัวปลัดกระทรวงเป็นพระยาศรีวิสารวาจา พระองค์วรรณจึงได้ไปเป็นอัครราชทูตไทยประจำอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ปี 2473 กลับมาสอนหนังสือที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แสดงว่าย้ายออกจากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ว่าเผชิญหน้ากับปัญหา ‘เลือกที่รักมักที่ชัง’ ในหมู่เจ้า

หลังปฏิวัติ พระองค์วรรณเป็นนายทุนเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ (เปิด 1 ตุลาคม 2475) หนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ระดมนักหนังสือพิมพ์มาที่นี่ เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์  มาลัย ชูพินิจ สนิท เจริญรัฐ เฉวียง เศวตะทัต อบ ไชยวสุ โชติ แพร่พันธุ์ หรือยาขอบ ส่วนพระองค์วรรณก็แปลคำทางการเมืองหรือบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ เช่น ปฏิวัติ ประชาชาติ รัฐธรรมนูญ ทั้งเขียนและพูดเพื่อความรู้เกี่ยวกับระบอบการเมืองประชาธิปไตย [13]

หลังปฏิวัติ 2475 ฝ่ายคณะราษฎร ตั้งแต่สมัยพระยาพหลเป็นนายกรัฐมนตรี พระองค์วรรณเป็นที่ปรึกษาที่สำคัญโดยเฉพาะด้านการต่างประเทศ แต่ด้วยข้อห้ามเจ้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ พระองค์วรรณจึงไม่มีตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการ

หลังรัฐประหาร 2490 ยุคฟื้นฟูพระราชอำนาจ พระองค์วรรณก็ยังเป็นผู้มีบทบาทที่โดดเด่นในฐานะเจ้าผู้ทรงภูมิความรู้และน่าเคารพยกย่องด้วยเช่นกัน สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร พระองค์วรรณเป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรีและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ยุติบทบาททางการเมืองและการบริหารตั้งแต่ปี 2514

ด้านหม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (2447-2489) [14] เป็นโอรสองค์แรกของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เนื่องจากมารดาสังหารตัวตายด้วยน้อยพระทัยสามี รัชกาลที่ 5 จึงทรงนำมาเลี้ยงดูด้วยความสงสาร และสถาปนาให้เป็น พระองค์เจ้า เคยเรียนชั้นมัธยมที่อเมริกา ต่อมาย้ายมาเรียนที่อังกฤษ จบมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งปริญญาตรีและโทด้านการปกครอง

ปี 2470 กลับมาไทย พระองค์เจ้าอาทิตย์รับราชการมหาดไทย ปี 2473 จนถึงวันปฏิวัติ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ขณะอายุ 28 ปี ตอนแรกคณะราษฎรหาว่าพูดจาต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่ต่อมาพระองค์เจ้าอาทิตย์แสดงตนโดยระดมข้าราชการประชุมและประกาศสนับสนุนคณะราษฎร

ในช่วงแห่งความผันแปรนี้ได้แสดงตนสนับสนุนระบอบใหม่อย่างเต็มที่ ถึงกับเขียนหนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปารฺต ภาค 1 พิมพ์ปี 2477 เพื่อชี้ให้เห็นว่าการปฏิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นพลังชัยชนะของประชาชนที่มีสาเหตุมาจากความเหลวแหลกด้านการบริหารและความไม่ยุติธรรมของชนชั้นสูง ซึ่งโดยนัยคือการเปรียบการปฏิวัติของไทยผ่านประวัติศาสตร์การปฏิวัติของฝรั่งเศสนั่นเอง หนังสือพิมพ์ครั้งแรกมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี) เขียนคำนำให้

ต่อมา พระองค์เจ้าอาทิตย์ได้รับการยอมรับจากคณะราษฎรให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 ตั้งแต่มีนาคม 2478 เป็นยุคที่มีความสนิทสนมกับจอมพล ป. พิบูลสงครามอย่างยิ่ง และได้ลาออกจากตำแหน่งไปพร้อมๆ กับการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. เมื่อสิ้นกรกฎาคม 2487 ในปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2

จากตัวอย่างของสองเจ้า ที่มีกำเนิดในฐานะ หม่อมเจ้า ที่ได้รับสถาปนาเป็น พระองค์เจ้า น่าจะกล่าวได้ว่า เป็นเพียงเจ้าจำนวนน้อยนิดมากที่หันมาสนับสนุนระบอบใหม่ ดังนั้น เจ้านายทุกระดับจึงยังคงอยู่กับความฝันในการฟื้นฟูปรับปรุงระบอบเก่าให้ดูมีภาพลักษณ์ทันสมัยมากกว่าที่จะสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยหรือระบอบใหม่โดยคณะราษฎร

5. คณะราษฎรสิ้นสุดเมื่อไหร่กันแน่ ระหว่างสิ้นสุดปีรัฐประหาร 2490 หรือสิ้นสุดปีรัฐประหาร 2500

แนวคำอธิบายถึงระยะเวลายุคสมัยของคณะราษฎรที่น่าจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากที่สุด เป็นข้อเสนอของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จากงานเรื่อง ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500 (พิมพ์เอกสารโรเนียวครั้งแรกปี 2533) และการนำเสนอผ่านการอภิปรายและข้อเขียนของอาจารย์ ซึ่งผมได้สรุปไว้ใน ‘คำนำ’ ที่ผมได้เขียนให้กับหนังสือเล่มนี้เมื่อพิมพ์เป็นเล่มปี 2544

ในคำนำของผมกล่าวว่า “อาจารย์ชาญวิทย์คือผู้ที่ทำให้การเมืองไทยถูกจัดแบ่งออกเป็น 4 ยุคสมัยใหญ่ๆ คือ ยุคสมัยคณะราษฎร (2475-2490) ยุคสมัยคณะรัฐประหาร (2490-2500) ยุคสมัยคณะปฏิวัติ (2500-2516) และยุคสมัยปัจจุบัน นับแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา” [15]

ชื่อสามยุคแรกรวมระยะเวลา 41 ปีนั้น เห็นได้ว่าอาจารย์ชาญวิทย์ตั้งชื่อตามชื่อของคณะที่เข้ามามีอำนาจทางการเมือง ได้แก่ คณะราษฎร คณะรัฐประหาร และคณะปฏิวัติ แต่สำหรับยุคสมัยปัจจุบันที่มาถึงวันนี้มีระยะเวลานานถึงครึ่งศตวรรษนั้น อาจต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อยุคกันอีกครั้งหนึ่ง

หากพิจารณายุคสมัยคณะราษฎร 15 ปีนี้พบว่า นายกรัฐมนตรีนั้นเป็นสมาชิกคณะราษฎร ได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายทวี บุณยเกตุ นายควง อภัยวงศ์ นายปรีดี พนมยงค์ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

แต่ที่ไม่ใช่สมาชิกคณะราษฎรมี 2 คน ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยพระยามโนฯ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกโดยการสนับสนุนของคณะราษฎรเพื่อประนีประนอมกับระบอบเก่าในยุคเปลี่ยนผ่านระบอบการเมือง ส่วน ม.ร.ว.เสนีย์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการสนับสนุนของคณะราษฎรและเสรีไทยเพื่อประสานกับมหาอำนาจโลกใหม่คือสหรัฐอเมริกาที่ช่วยให้ไทยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามและประนีประนอมกับฝ่ายกษัตริย์นิยม

ทว่าเมื่อนายควง อภัยวงศ์ที่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นขึ้นมาในฐานะผู้นำกลุ่มการเมือง ส.ส. ไม่ใช่ในฐานะสมาชิกคณะราษฎรอีกต่อไป (นี่คือจุดเริ่มของพรรคประชาธิปัตย์)

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พลังอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรได้ถูกเบียดขับจากกลุ่มการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว

นอกจากนี้ หากพิจารณาการเสนอนโยบายรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลพระยามโนฯ รัฐบาลพระยาพหลฯ รัฐบาลหลวงพิบูลฯ และรัฐบาลนายควง จาก 2475-2487 ต่างมีคำว่า ‘หลัก 6 ประการ’ ซึ่งเป็นนโยบายสร้างชาติ 6 ข้อของคณะราษฎรระบุกำกับไว้ด้วย ได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัยหรือหลักความสงบภายใน หลักการศึกษา หลักสิทธิเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา

แต่เมื่อสิ้นสุดสงคราม การแถลงนโยบายรัฐบาลของนายทวี ม.ร.ว.เสนีย์ นายควง นายปรีดี และพลเรือตรีถวัลย์ ระหว่างปี 2488-2490 ไม่มีคำว่า ‘หลัก 6 ประการ’ อยู่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลอีกเลย [16] ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สมาชิกคณะราษฎรได้แปรรูปตนเองไปสังกัดกลุ่มหรือพรรคการเมืองต่างๆ ที่แข่งขันกันเป็นรัฐบาลด้วยการเลือกตั้ง หรือนัยหนึ่ง ความเป็นคณะราษฎรได้อ่อนพลังลงหรือสลายตัวลงไปในทางนิตินัยแล้ว

ที่สงสัยกันคือหลังรัฐประหารปลายปี 2490 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ต้นเมษายน 2491 อยู่ยาวนานสิบปีถึงกลางปี 2500 จึงถูกรัฐประหาร จอมพล ป. คือผู้นำคณะราษฎร ดังนั้น ย่อมเท่ากับคณะราษฎรก็ยังมีชีวิตสืบต่อมา ยังไม่หมดสิ้นอำนาจทางการเมืองใช่หรือไม่

ถ้าเราเริ่มต้นเข้าใจว่า การรัฐประหาร 2490 คือการกำจัดคณะราษฎรที่มีนายปรีดีเป็นผู้นำ กำจัดกลุ่มเสรีไทยในประเทศ เราก็จะเห็นว่า การกลับคืนสู่อำนาจของจอมพล ป. ในครั้งนี้ไม่ได้อ้างความเชื่อโยงกับคณะราษฎรอีกเลย แต่จะอ้างความเชื่อมโยงในฐานะผู้นำกองทัพไทยเป็นสำคัญ ดังนั้น การแถลงนโยบายและการกล่าวใดๆ ของจอมพล ป. จึงไม่เอ่ยว่าตนคือคณะราษฎรอีกต่อไป อีกทั้งยังลดทอนวันสำคัญของชาติที่คณะราษฎรสร้างขึ้น นั่นคือวันชาติ 24 มิถุนายนและวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ที่เคยมีวันหยุด 3 วันนั้นให้เหลือวันหยุดเพียงวันเดียว

ข้อที่น่าสงสัยต่อคือ รัฐประหารเงียบปลายเดือนพฤศจิกายน 2494 ได้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญฉบับของคณะราษฎร สิ่งนี้ยิ่งไม่ตอกย้ำหรือว่าคณะราษฎรยังอยู่และอยู่ยาวจนถึงปี 2500

ต่อคำถามนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่า การที่คณะทหารนำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้ เป้าหมายของการรัฐประหารนี้คือเพื่อกำจัดพลังอำนาจของฝ่ายกษัตริย์นิยมที่กำลังขยายตัวและมีบทบาทตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 นั่นคือฝ่ายทหารต้องฉีกรัฐธรรมนูญนี้ทิ้งเพื่อยับยั้งอำนาจของฝ่ายกษัตริย์นิยม ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคมจึงตอบโจทย์ต่อการที่จะให้ฝ่ายทหารรัฐประหารที่ยังเป็นข้าราชการประจำสามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมืองและจำกัดบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่กำลังเสด็จกลับมาประทับในประเทศที่จะถึงไทยในอีกไม่กี่วัน

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจนหน้าตาเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนั้น โดยฝ่ายทหารต้องประนีประนอมกับฝ่ายกษัตริย์นิยม มีการนำมาตราต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 กลับคืนมาทั้งสิ้น ก็ยิ่งเน้นย้ำว่าคณะราษฎรได้สูญเสียบทบาทและอำนาจไปนานแล้ว

ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ดีและถูกต้อง เราควรเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2494 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 แทนการเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 อันทำให้เราเข้าใจผิดพลาดไปได้ว่า คณะราษฎรยังมีบทบาทต่อมาในทศวรรษ 2490 โดยผ่านกลุ่มจอมพล ป.

นอกจากนี้ รัฐบาลจอมพล ป. ที่จัดตั้งขึ้นปี 2491, 2494, 2495, 2500 ในการแถลงนโยบายรัฐบาลนั้นไม่มีคำว่า ‘หลัก 6 ประการ’ แม้แต่คำเดียว [17]

ยุคทศวรรษ 2490 จึงเป็นทศวรรษของคณะรัฐประหารที่มีการแข่งขันชิงอำนาจและผลประโยชน์ในกลุ่มทหารบก 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่กลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลุ่มซอยราชครูของจอมพลผิน ชุณหะวัณและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมีฝ่ายกษัตริย์นิยมมุ่งชิงพื้นที่สร้างเสริมพลังอำนาจและผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมาอีกกลุ่มด้วย [18]

สรุป คณะราษฎรสิ้นสุดบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีการรัฐประหาร 2490

หมายเหตุ: ทั้ง 5 คำถามนี้ ต้องขอบคุณคำถามจากสมาชิกในไลน์กลุ่มปิดของธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

References
1 ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543), หน้า 13-14.
2 เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ.130 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2556). ณัฐพล ใจจริง บรรณาธิการ. หนังสือเล่มนี้ฉบับพิมพ์ครั้งแรกปี 2484 ใช้ชื่อว่า ‘ปฏิวัติ ร.ศ. 130’ ต่อมาปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อพิมพ์แจกในงานศพหมอเหล็ง หัวหน้าคณะเมื่อปี 2503 ใช้ชื่อว่า ‘หมอเหล็งรำลึก : ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130’
3 เพิ่งอ้าง, หน้า 49-63, 71.
4 วรางคณา จรัณยานนท์, “คณะ ร.ศ.130 : ชีวิต อุดมการณ์และการจัดตั้ง,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2549), หน้า 128-129.
5 ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553), หน้า 60.
6 ประยูร  ภมรมนตรี, ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า (กรุงเทพฯ: บพิตรการพิมพ์, 2525), หน้า 51.
7 ปรีดี พนมยงค์, อ้างแล้ว, หน้า 64, 67-68.
8 “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1,” ใน สถาบันปรีดี พนมยงค์ (เข้าถึงเมื่อ 11 มิถุนายน 2565).
9 ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, อ้างแล้ว, หน้า 84-85.
10 นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับ โครงการ 60 ปีประชาธิปไตย, 2535), หน้า 23, 35-36.
11 “เปิดจุดเสื่อมระบบ ‘ผัวหลายเมีย’ ไทยผ่านอะไรบ้างกว่าจะมีกฎหมาย ‘ผัวเดียวเมียเดียว’,” ใน ศิลปวัฒนธรรม (เข้าถึงเมื่อ 12 มิถุนายน 2565); ดูรายละเอียดใน สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียว เมีย…เดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561). ดูบทที่ 2 และบทที่ 3.
12 “130 ปี พระองค์วรรณ ภารกิจ “ประชาชาติ” บนความเปลี่ยนแปลง,”  ใน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (25 สิงหาคม 2564). (เข้าถึง 11 มิถุนายน 2565)
13 “กรมหมื่นนราธิปฯ กับการบัญญัติศัพท์ในภาษาไทย และการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’,” ใน ศิลปวัฒนธรรม (25 สิงหาคม พ.ศ.2564). (เข้าถึง 11 มิถุนายน 2565); ณัฐพล ใจจริง, “คู่มือระบอบใหม่: หนังสือพิมพ์ประชาชาติกับการเสริมพลังให้ประชาชน,” ใน มติชนสุดสัปดาห์ (27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2564). (เข้าถึง 11 มิถุนายน 2565)
14 กษิดิศ อนันทนาธร, “พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ‘เจ้าที่รักชาติ…เป็นเยี่ยงอย่างแก่เจ้าอื่นๆ ได้’,” ใน the101.world (5 เมษายน 2565). (เข้าถึง 11 มิถุนายน 2565)
15 ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), หน้า (9).
16 ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ: กลุ่มรัฐกิจเสรี, 2517), หน้า 46-51, 78, 113, 148-149, 250-256, 281, 440, 471, 476, 500, 506, 537, 552-557, 571-575.
17 เพิ่งอ้าง, หน้า 614-617, 649-656, 716-718, 730-733, 870-873.
18 ณัฐพล  ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2563), หน้า 265-270.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save