fbpx
ไขปริศนา 5 ข้อ โลกร้อนแล้วไง ?

ไขปริศนา 5 ข้อ โลกร้อนแล้วไง ?

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

แม้อากาศยามนี้จะร้อนระอุจนปรอทแทบแตก แต่การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ดูจะยังเป็นเรื่องไกลตัวของคนส่วนใหญ่ และการอธิบายให้คนรอบๆ ตัวเข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องไม่ง่าย เวลานั่งกินข้าวกับเพื่อน หรือไปงานรวมญาติแล้วต้องเจอกับคนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนยิ่งทำให้อ่อนใจเข้าไปใหญ่ อย่าเพิ่งยอมแพ้ มาไขปริศนา 5 ข้อที่คนมักจะสงสัยไปด้วยกัน

 

1. วิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

 

“สภาพอากาศก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว ถ้าโลกร้อนจริงทำไมยังเกิดพายุหิมะถล่มตลอดเวลาล่ะ” ข้อสงสัยนี้ถูกใช้กล่าวอ้างเป็นประจำ โดยเฉพาะสายอนุรักษนิยมเวลาเกิดเหตุพายุหิมะถล่ม หรืออุณหภูมิหนาวจัดผิดปกติดังที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอเมริกาเหนือและยุโรปในระยะหลัง คำตอบคือเราต้องเข้าใจและรู้จักแยกแยะความแตกต่างของ ‘สภาพอากาศ’ (weather) กับ ‘สภาพภูมิอากาศ’ (climate) เสียก่อน

สภาพอากาศ คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงรายวัน ฝนตก แดดออก ร้อนจัด เย็นจัด แต่สภาพภูมิอากาศ คือแนวโน้มสภาพอากาศในระยะยาวในพื้นที่หนึ่งๆ โดยพิจารณาจากอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน กระแสลม แสงแดด ฯลฯ สิ่งสำคัญที่แตกต่างกันคือช่วงเวลา

ระยะเวลา 5 วันสำหรับนักพยากรณ์อากาศถือว่านาน แต่ระยะเวลา 30 ปีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสภาพภูมิอากาศถือว่าสั้น เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นรายวันมาโต้แย้งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้

วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกร้อนได้ข้อสรุปมานานแล้วจากการตรวจวัดระดับคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในชั้นบรรยากาศ แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงขึ้นทุกปี และปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากมาย เมื่อก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิก็สูงตาม และส่งผลกระทบต่อเนื่องตามมามากมาย โดยเฉพาะการเกิดปรากฏการณ์อากาศสุดขั้ว ร้อนจัด หนาวจัด แล้งจัด น้ำท่วมถล่ม

เป็นที่คาดหมายว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รายงานล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) บอกว่าเราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายใน ค.ศ.2030 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า ไม่เช่นนั้นมีความเป็นไปอย่างมากที่โลกจะเปลี่ยนไปอย่างกู่ไม่กลับ จนส่งผลต่อความอยู่รอดของมนุษย์เอง

 

2. การพยากรณ์อากาศยังผิดได้ แน่ใจหรือว่าการคำนวณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ผิด

 

เป็นเรื่องปกติที่การคาดการณ์ทุกอย่างมีความไม่แน่นอน แต่นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาโมเดลหรือแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมานานแล้ว และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทำให้โมเดลต่างๆ มีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องอย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการคำนวณแนวโน้มในระยะยาว ซึ่งแตกต่างจากการพยากรณ์อากาศรายวัน ซึ่งอาจเกิดปัจจัยแปรผันได้มากมาย ดังนั้นโอกาสที่จะผิดพลาดได้ค่อนข้างน้อย

ข้อมูลจากองค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกา ศูนย์พยากรณ์อากาศฮัดเลย์ของอังกฤษ กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ที่มีการบันทึกข้อมูลอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมาตั้งแต่ ค.ศ.1880 พบว่า 5 ปีหลังสุดคือปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยอุณหภูมิเฉลี่ยปี 2018 เพิ่มสูงขึ้นจากอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปี 1951-1980 ถึง 1.5 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 0.83 องศาเซลเซียส สัมพันธ์โดยตรงกับการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

 

ค่าความผิดปกติของอุณหภูมิ (temperature anomalies) รายปีเมื่อเทียบกับค่าอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปี 1951-1980 จากสถาบันวิจัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น

 

สิ่งที่น่ากลัวของแบบจำลองสภาพภูมิอากาศใหม่ๆ ไม่ใช่ว่าโลกร้อนขึ้นแน่ๆ แต่โลกกำลังร้อนขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้มาก เมื่อก่อนแบบจำลองส่วนใหญ่คาดว่าเราจะเห็นผลกระทบชัดเจนมากๆ หลัง ค.ศ.2100 ไปแล้ว แต่ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในหลายภูมิภาคทั่วโลกในเชิงประจักษ์เช่นการหายไปของธารน้ำแข็งเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่โมเดลเคยคาดไว้อย่างน่าตกใจ

 

3. โลกร้อนขึ้นแล้วไง ไม่ดีเหรอ

 

เป็นไปได้ว่าพื้นที่บางแห่งอาจได้ประโยชน์จากการที่โลกร้อนขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็นจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ในภูมิภาคเขตร้อนอย่างบ้านเราแน่นอน เพราะแค่นี้ก็ร้อนกันจนสุกทั่วหน้าแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบด้านลบที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ภัยพิบัติและหายนะที่จะตามมานั้นน่ากลัวกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็น

  • ภัยแล้งที่จะรุนแรงและยาวนานขึ้น
  • พายุไต้ฝุ่นที่จะรุนแรงขึ้นในแต่ละครั้ง เพราะได้พลังงานจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น
  • อุณหภูมิที่สูงผิดปกติจะทำให้มีคนเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากขึ้น
  • ภูมิภาคที่อากาศร้อนอยู่แล้วเช่นตะวันออกกลาง อาจกลายเป็นดินแดนที่ไม่เหมาะต่อการอยู่อาศัยของมุนษย์อีกต่อไป
  • การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจะรุนแรงมาก ไม่เฉพาะแต่หมีขั้วโลกหรือแนวปะการัง แต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยขนานใหญ่ ซึ่งสัตว์และพืชที่มีความต้องการเฉพาะจะมีโอกาสสูญพันธุ์ก่อนเพื่อน
  • มหาสมุทรกลายสภาพเป็นกรด ความอุดมสมบูรณ์ลดลงอย่างมาก
  • ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทำให้เมืองชายฝั่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนเกิดการย้ายถิ่นฐาน
  • ทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ไม่นับว่าจะเกิดผู้อพยพจำนวนมากเนื่องจากถิ่นฐานเดิมไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอีกต่อไป โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก

 

เรื่องโลกร้อนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และจะมีผลกระทบต่อทุกคนอย่างถ้วนหน้า มันจึงเป็นวิกฤตที่ทุกรัฐบาลต้องตื่นตัวกว่านี้มากๆ

 

4. ถึงโลกจะร้อนขึ้นจริงๆ ประเทศเราไม่ใช่ต้นเหตุสักหน่อย

 

บางคนว่าจีนคือผู้สร้างปัญหาหลัก บางคนก็ว่าสหรัฐอเมริกา ถ้าเรียงลำดับจริงๆ ท็อป 5 ของประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์สูงสุดคือ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น แต่ถ้าสหภาพยุโรปจัดเป็นหนึ่งประเทศ ก็จะกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับสามแทน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นอัตราการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์ต่อคน ท็อป 5 จะกลายเป็น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอารเบีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

ความจริงก็คือทุกประเทศล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหานี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งได้ใช้ต้นทุนคาร์บอนในการพัฒนาประเทศตัวเองไปแล้วมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาก็จริง แต่การแก้ปัญหาโลกร้อนให้สำเร็จไม่สามารถทำได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่ง ทุกประเทศจึงต้องเคารพข้อตกลงปารีสว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Paris Agreement) และพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนของตัวเอง ตามแผนก็คืออัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมจะต้องลดลงหลัง ค.ศ.2020 ซึ่งกำหนดให้เป็นปีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด (Peak year) หลังจากนั้นจะต้องลดลง และต้องลดลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน ค.ศ.2030 เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส (ตอนนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 1 องศาเซลเซียสแล้ว)

 

 

การปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์ของประเทศต่างๆ เทียบกับอัตราการปล่อยต่อคน จากข้อมูลปี 2013 ของ EU Edgar database (ที่มา Wikipedia)

 

แม้ที่ผ่านมาจีนมักถูกตราหน้าว่าพัฒนาแบบล้างผลาญและไม่สนใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ระยะหลังคุณภาพอากาศที่เลวร้ายจนคุกคามสุขภาพของคนในประเทศทำให้รัฐบาลจีนลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนอย่างมหาศาล และกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาแหล่งพลังงานสำรองของประเทศ

พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะกลายเป็นอดีต ตอนนี้เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนเช่นแผงโซลาร์เซลล์พัฒนาไปมากและราคาถูกลงเรื่อยๆ ในอนาคตต้นทุนของพลังงานทางเลือกจะถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลแน่นอน ถึงตอนนั้นแม้จะยังใช้ไม่หมดแต่เชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องถูกเก็บไว้ใต้ดินดังเดิมเพื่อความปลอดภัยด้านสภาพภูมิอากาศ  ประเทศไหนไม่ขยับเรื่องการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่สะอาดก็จะกลายเป็นประเทศที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน

 

5. ปัญหาโลกร้อนใหญ่เกินไป และคงสายเกินไปที่จะทำอะไรแล้ว

 

ไม่มีใครปฏิเสธว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อนมาก ซึ่งต้องอาศัยการลงมือแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน และต้องมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากๆ จนอาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือตัวอย่าง ข้อเสนอ Green New Deal ในสหรัฐอเมริกา ที่เสนอให้ปฏิรูประบบพลังงานใหม่ทั้งระบบและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายใน 10 ปี

ข้อเสนอเหล่านี้อาจขัดแย้งกับแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ รายงานล่าสุดของ IPCC เมื่อปีที่แล้วระบุอย่างชัดเจนว่า เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่โลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส และอาจทะลุขึ้นไปถึง 4-5 องศาเซลเซียสด้วยซ้ำ แม้ประเทศต่างๆ จะให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสก็ตาม

อย่างที่สาวน้อยเกรต้า ธันเบิร์ก นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศบอกว่า “วิกฤตที่เรากำลังเจอใหญ่หลวงมาก มันไม่พออีกแล้วที่จะบอกแค่ว่า เราทำดีที่สุดแล้ว เราต้องทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ เพราะเดิมพันคืออนาคตของมนุษยชาติ”

เราช้าไปมากแต่ยังไม่สายเกินไป และเมื่อพิจารณาให้ดีทางออกในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ นอกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว เรายังต้องอาศัยการฟื้นฟูระบบนิเวศ ปกป้องรักษาธรรมชาติที่เหลืออยู่ พร้อมกับพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน และลดการสร้างของเสียที่เป็นภาระกับโลกมากๆ อย่างพลาสติก

จะว่าไปทางออกในการแก้ปัญหาโลกร้อนก็คือการแก้ปัญหาการพัฒนาที่ผิดพลาดที่ผ่านมาของมนุษย์ และเป็นหนทางเดียวกับการสร้างสังคมแบบใหม่ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save