ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
- RCEP คือข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นเราก็ไม่ต้องการ FTA ฉบับอื่นๆ แล้ว
แน่นอนว่า RCEP คือข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะครอบคลุมประเทศสมาชิกถึง 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กับอีก 5 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ RCEP ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งโลก และครอบคลุมประชากรมากกว่า 2,200 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก และนั่นทำให้ RCEP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงทุกประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าในระดับภูมิภาค (Regional Value Chains: RVCs) โดย RCEP ทำให้ผู้ประกอบการไทยและผู้บริโภคไทยได้ประโยชน์จากการเข้าถึงสินค้า บริการ วัตถุดิบ ราคาถูก คุณภาพดี ได้จาก 15 ประเทศในเอเชีย (รวมโอเชียเนีย (Oceania)) แน่นอนว่าเราจะมีแต้มต่อมากยิ่งขึ้นในการทำการค้าและการลงทุนกับประเทศในเอเชีย แต่เอเชียก็ไม่ใช่ทั้งหมดของห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) ยังมีตลาดสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร ห่วงโซ่มูลค่าในทวีปอเมริกา อินเดียและเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา ซึ่งเป็นทั้งตลาดและแหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่อยู่อีกทั่วโลก
ดังนั้น การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ RCEP ที่เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุด ไทยยังต้องเดินหน้า ศึกษา รับฟังความคิดเห็น กำหนดยุทธศาสตร์ และเจรจาการค้ากับอีกหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้คนไทย ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ได้สิทธิพิเศษและแต้มต่อในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ GVCs ซึ่งจะส่งผลดีให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ข้อดีอีกประการของ RCEP คือ เป็นข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ที่ครอบคลุมมากกว่าแค่การลด ละ เลิก ภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้า หากแต่เริ่มมีการสร้างความร่วมมือในมิติอื่นๆ อาทิ SMEs การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา e-Commerce และความร่วมมือในอีกหลากหลายมิติ ซึ่งข้อตกลงทางการค้าในรูปแบบนี้คือทิศทางที่ทั้งโลกกำลังเดินหน้าต่อไป RCEP จึงเปรียบเสมือนสระเด็กที่ให้ไทยและอาเซียนได้ทดลองว่ายน้ำ ก่อนที่จะพัฒนาตนเองต่อไปเพื่อว่ายน้ำในสระโอลิมปิก ที่หมายถึงการเข้าเจรจาข้อตกลงทางการค้าที่ครอบคลุมและมีมาตรฐานสูงในกรอบอื่นๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น CPTPP ข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร (UK) และสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) หรือในอนาคตหากสหรัฐอเมริการิเริ่มข้อตกลงการค้าใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific)
- RCEP ลงนามไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020 เราก็สามารถใช้งาน RCEP และส่งสินค้าไปขายใน 15 ประเทศโดยไม่มีภาษีได้แล้วทันที
กระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรี เริ่มต้นจากการศึกษาวิจัยผลกระทบหากมี FTA ฉบับนั้นๆ จากนั้นจึงเดินสายทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด จากนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงจัดทำกรอบและยุทธศาสตร์การเจรจาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ การเริ่มต้นเจรจาการค้ากับประเทศคู่เจรจาจึงจะเริ่มขึ้น ในกรณีของ RCEP กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และในปี 2019 ที่ไทยเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ตลอดทั้งปี 2019 ไทยเราก็ผลักดันอย่างยิ่งจนในที่สุด RCEP สามารถหาข้อสรุปการเจรจาได้ทั้ง 20 ข้อบท ซึ่งมีการประกาศความสำเร็จไปแล้วเมื่อพฤศจิกายน 2019 ในประเทศไทย จากนั้นตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา ข้อตกลงที่สรุปผลการเจรจาไปแล้วโดย 15 ประเทศก็เข้าสู่กระบวนการขัดเกลาข้อความทางกฎหมาย จนนำไปสู่การลงนามโดยรัฐมนตรี RCEP ของทั้ง 15 ประเทศเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลงนามผ่านการประชุมทางไกล โดยมีเวียดนามเป็นประธาน แต่นั่นไม่ได้หมายถึงการบังคับใช้
กระบวนการที่ทุกประเทศต้องกลับมาดำเนินการในประเทศของตนคือ การให้สัตยาบัน สำหรับประเทศไทยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ข้อตกลงที่ลงนามแล้วต้องถูกนำมาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จากนั้นจึงนำข้อตกลงที่ลงนามไปเสนออีกครั้งต่อรัฐสภา ถ้าไม่มีข้อขัดข้อง ประเทศไทยถึงจะให้สัตยาบัน
ดังนั้น RCEP จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อ 6 จาก 10 ประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียนให้สัตยาบัน และ 3 จาก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนให้สัตยาบัน โดยคาดการณ์กันว่า RCEP จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ในราวกลางปี 2021 ซึ่งจะเป็นวาระที่บรูไนเป็นประธานอาเซียน
แน่นอนว่าหลังจาก RCEP ที่ผลบังคับใช้ สินค้าและบริการจำนวนมากจะมีการเปิดตลาด ภาษีจะลดลงเป็น 0% และมาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี (NTMs) จะลดลง แต่นั่นไม่ใช่กับทุกรายการสินค้า ยังมีรายการสินค้าบางรายการที่ประเทศสมาชิกพิจารณาว่าเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหว หากเลิกการจัดเก็บภาษี หรือไม่มี NTMs จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ หรืออาจส่งผลต่อความมั่นคงในมิติต่างๆ ดังนั้นสินค้าเหล่านี้บางรายการจะไม่มีการเปิดเสรี และบางรายการจะทยอยลด ละ เลิก มาตรการทางการค้าต่างๆ โดยมาตรการเหล่านี้จะหมดไปในอีก 20 ปีข้างหน้า (ดูตารางการเปิดตลาดได้ที่ www.rcepsec.org)
- มีข้อตกลง RCEP แล้ว เราก็ไม่ต้องการข้อตกลงเดิมๆ เช่น ASEAN-China FTA, ASEAN-Australia-New Zealand FTA, Japan-Thailand Economic Partnership Agreement ฯลฯ แล้ว
แม้เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้ RCEP ก็ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรีที่จะเข้ามาทดแทน หรือแทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีเดิมที่มีอยู่ระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้เนื่องจาก RCEP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ มีสมาชิกจำนวนมากถึง 15 ประเทศ และบางคู่ประเทศสมาชิกก็ไม่เคยมีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น จีน-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่น-เกาหลี ญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์ ดังนั้น การที่จะให้ประเทศเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งมีปมประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งระหว่างกันมาตลอดประวัติศาสตร์ และมีแนวคิดแบบชาตินิยมสูง มาเปิดเสรีให้สิทธิพิเศษ ให้แต้มต่อทางการค้าระหว่างกัน จึงเป็นเรื่องยาก แต่เพื่อทำให้ RCEP เกิดขึ้น การประนีประนอม การแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน โดยสงวนความแตกต่างขัดแย้งจึงเกิดขึ้น และนั่นทำให้ในรายการสินค้าที่บางคู่ประเทศเปิดเสรีให้ระหว่างกันจึงยังไม่ได้เปิดตลาดที่กว้างขวางครอบคลุมในทุกรายการสินค้าและภาคบริการ
ดังนั้น หากเปรียบเทียบระหว่างข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี อาทิ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ฯลฯ หรือข้อตกลงอาเซียน +1 อาทิ ASEAN-China FTA, ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership ฯลฯ ข้อตกลงเหล่านี้จะมีการเปิดตลาดที่กว้างขวางกว่า การลด ละ เลิก ภาษีและมาตรการทางการค้าอื่นๆ ก็จะเปิดเสรีมากกว่า และที่สำคัญ ข้อตกลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีการเปิดเสรี มีผลบังคับใช้ไปแล้วด้วยกันทั้งสิ้น
คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วในเมื่อ RCEP เปิดเสรีน้อยกว่า แล้วเราจะมี RCEP ไปทำไม
เพื่อที่จะหาคำตอบนี้ เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) คือการที่ประเทศคู่เจรจาตกลงที่จะ ลด ละ เลิก มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกัน ทั้งมาตรการภาษีและมาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ไทยจะสามารถส่งอะไรก็ได้ออกไปขายกับคู่เจรจาของเราแล้วได้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากร 0% และไม่มี NTMs ทันทีโดยอัตโนมัติ เราจะใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ได้ หรือเราจะสามารถค้าขายด้วยภาษี 0% และไม่มี NTMs ได้ก็ต่อเมื่อสินค้าที่เราจะขายต้องมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และ/หรือ ประเทศที่เรามี FTA ด้วยเท่านั้น เช่น ไทยจะส่งสินค้าออกไปขายที่ญี่ปุ่นและจะไม่ต้องถูกเก็บภาษีศุลกากรเมื่อนำเข้าไปในญี่ปุ่นได้ก็ต่อเมื่อสินค้านั้น ๆ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและ/หรือในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะนี่คือข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่จะลด ละ เลิกสิ่งกีดกันทางการค้าระหว่างกัน ดังนั้น ไทยจะลักไก่ไปซื้อของจากจีนเข้ามาแล้วส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่น แล้วขอให้ญี่ปุ่นไม่เก็บภาษีไม่ได้
นั่นหมายความว่า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด (Rules of Origin: ROO) ซึ่งเป็นหลักการในการชี้บ่งว่าสินค้าใดมีถิ่นกำเนิดที่ไหนจึงมีความสำคัญมาก และในการเจรจา FTA ส่วนใหญ่ เรื่องที่เจรจายากและใช้เวลาในการเจรจายาวนานก็คือเรื่อง ROO ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก แน่นอนว่าสำหรับสินค้าเกษตร กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดคงไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนมากมายนัก เพราะส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดใช้กฎการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtained: WO) เช่น ทุเรียน มังคุด มันสำปะหลัง การชี้บ่งว่าสินค้านี้เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อให้เราขอใช้สิทธิประโยชน์ไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเมื่อเราส่งออกไปขายยังประเทศที่มี FTA ด้วยก็เป็นเรื่องไม่ซับซ้อน เพราะเราอยู่แล้วว่าทุเรียนผลนั้นเริ่มต้นจากต้นทุเรียนที่อยู่ในสวนในประเทศไทย จากดอก กลายเป็นผลอ่อน กลายเป็นผลโตเต็มไว เราก็สามารถส่งทุเรียนไปขายด้วยภาษี 0% กับประเทศที่เรามี FTA ได้ง่าย ไม่ต้องพิสูจน์ถิ่นกำเนิดให้ยุ่งยากซับซ้อน
แต่กับสินค้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การชี้บ่งว่าสินค้านี้มีถิ่นกำเนิดที่ไหนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนมากๆ เช่น รถยนต์กระบะ Toyota ที่มีโรงงานประกอบอยู่ในประเทศไทย เราจะสามารถบ่งชี้ได้หรือไม่ว่ารถกระบะคันนี้เป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทย (อย่าลืมนะครับว่าชื่อ Toyota ก็บอกแล้วว่าเป็นรถยนต์สัญชาติญี่ป่น) ในความเป็นจริง รถกระบะคันนี้อาจจะประกอบในไทย แต่ใช้ชิ้นส่วนจากทั่วโลก ในชิ้นส่วนนับพันๆ ชิ้นที่ประกอบขึ้นเป็นรถกระบะ 1 คันมีทั้งชิ้นส่วนที่ผลิตในไทย ในจีน ในอาเซียน ในญี่ปุ่น และในที่ต่างๆ จากทั่วโลก แล้วแบบนี้เราจะบ่งชี้ถิ่นกำเนิดของรถยนต์คันนี้อย่างไร คำตอบคือ เราใช้หลักการที่เรียกว่า หลักการคำนวณมูลค่าเพิ่ม (Value Added Rule: VA หรือ Ad Valorem Rule)
ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (ชื่อทางการคือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) อาจจะกำหนดไว้ว่า หากรถกระบะคันนี้มีมูลค่าของชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นรถคันนี้ที่ผลิตในไทย และ/หรือในญี่ปุ่น รวมกันสูงกว่า 40% (ตัวเลขสมมติ) ให้ถือว่ารถยนต์คันนี้มีถิ่นกำเนิดในไทยและญี่ปุ่น ที่เพียงพอที่จะขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปขายแล้วคิดภาษีศุลกากรที่ 0% และไม่มีข้อกีดกันทางการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้ โดยการขอใช้สิทธิประโยชน์นี้ ผู้ประกอบการต้องพิสูจน์กับกรมการค้าต่างประเทศ
อ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงจะเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่าง การเจรจาเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี คือ 2 ประเทศ กับการเจรจาการค้าเสรีในระดับภูมิภาค ที่มีประเทศร่วมกันเจรจาหลายๆ ประเทศมีความแตกต่างกัน เพราะการเจรจาการค้าแบบภูมิภาคที่มีหลายๆ ประเทศจะทำให้เราสามารถสะสมถิ่นกำเนิดได้ (cumulative value added) โดยเฉพาะในโลกยุคที่การผลิตอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs)
ลองนึกดูนะครับว่า ถ้าโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องมีชิ้นส่วนมากกว่า 300 ชิ้น ซึ่งแน่นอนว่ามาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก มีทั้งชิ้นส่วนที่มาจาก ไทย จากญี่ปุ่น จากจีน จากเกาหลี จากทั่วโลก ดังนั้น การนับมูลค่าเพิ่มแบบทวิภาคีแค่ 2 ประเทศ เราก็จะสะสมถิ่นกำเนิดได้แค่ 2 ประเทศ ซึ่งอาจจะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ได้ (เกณฑ์ VA ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 35-40%) เพราะโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นอาจจะมีมูลค่าชิ้นส่วนจากไทย 15% จากญี่ปุ่น 10% รวมกันแค่ 25% ซึ่งไม่พอ
แต่ในกรอบ RCEP เราอาจะรวมถิ่นกำเนิดจากไทย 15% ของญี่ปุ่น 10% เข้ากับของจีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ ใน RCEP จนครบ VA 40% ตามข้อตกลง และทำให้เราส่งออกไปขายในประเทศเหล่านี้ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ได้ด้วยภาษี 0% นี่คือความแตกต่างระหว่างกรอบทวิภาคีกับกรอบภูมิภาค ซึ่งสำหรับกรอบภูมิภาค แน่นอนว่าอาจจะเจรจาได้ยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า ใช้เวลานานกว่า แต่เมื่อเวลาที่บังคับใช้ข้อตกลง กรอบระดับภูมิภาคก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์และเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการ สิ่งที่ต้องทำ ณ เวลานี้ คือ เปรียบเทียบข้อตกลงการค้าเดิมที่ท่านเคยใช้สิทธิประโยชน์อยู่ว่า เมื่อเทียบกับ RCEP แล้ว ข้อตกลงใดให้สิทธิประโยชน์กับท่านมากกว่า และในขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าต้นทุนในการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ข้อตกลงใดต้นทุนต่ำที่สุด แล้วจึงเลือกใช้ข้อตกลงการค้าเสรีนั้นๆ
ดังนั้น RCEP จึงไม่ได้มาแทนที่ FTA ฉบับเดิมๆ หากแต่มาเติมเต็ม ทำให้การค้าสินค้าเดิมๆ ที่อาจจะไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้นภายใต้ RCEP
นั่นหมายความว่า RCEP และ FTA ฉบับต่างๆ คือสิ่งที่เกื้อกูลหนุนนำซึ่งกันและกัน เปรียบเสมือนกับผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่สนามรบ ที่คราวนี้มีอาวุธให้เลือกใช้ได้ตามรูปแบบการรบที่แตกต่างกัน
- การลงนาม RCEP คือความสำเร็จของเวียดนาม
แน่นอนว่าการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง RCEP คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แต่นั่นก็เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสร้างข้อตกลงทางการค้าดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น
ในความเป็นจริง RCEP คือ ความสำเร็จของทั้ง 16 ประเทศ ผมขอย้ำว่า 16 ประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่ 15 ประเทศที่ร่วมลงนาม อินเดียเองก็มีส่วนในความสำเร็จครั้งนี้ด้วย เพราะต้องอย่าลืมว่า เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้การเจรจาชะงักงันและลากยาวกว่า 8 ปี ก็เนื่องมาจาก 2 เหตุผล นั่นคือ:
1) เนื่องจากประเทศสมาชิกมีความแตกต่างกันอย่างยิ่งในหลากหลายมิติ อาทิ RCEP มีประเทศสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจระดับพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ควบคู่ไปกับประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาทิ สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา RCEP มีประเทศที่มีขนาดประชากรระดับเกินพันล้านคนอาทิ จีน และอินเดีย และในขณะเดียวกันก็มีประเทศอย่างบรูไนที่มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคน ดังนั้น หลายๆ เรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วเสนอ บางครั้งก็มีมาตรฐานสูงจนประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดไม่สามารถยอมรับได้ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งอินเดียและจีนต่างก็มีบทบาทในการเจรจาในหลายๆ ครั้งที่เกิดการรวมพลังกัน จนทำให้หลายๆ เรื่อง หลายๆ มิติที่อาจจะยากต่อการบังคับใช้สามารถหาข้อยุติและเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นทุกประเทศ รวมทั้งอินเดียต่างก็มีส่วนสำคัญในการเจรจา
2) ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ASEAN-China FTA, ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership, ASEAN-ROK FTA, ASEAN-Australia-New Zealand FTA และASEAN-India FTA แต่ระหว่างประเทศคู่เจรจา นี่คือการเปิดเจรจาการค้าเสรีครั้งแรกระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และจีนกับอินเดีย ที่ไม่เคยมีข้อตกลงการค้าระหว่างกัน ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นกับนิวซีแลนด์ ซึ่งไม่เคยมี FTA ระหว่างกัน เช่นเดียวกับที่อินเดียก็ไม่เคยมีการเจรจาการค้าเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มาก่อน ดังนั้น นี่จึงเป็นการเปิดเสรีของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีความต้องการและมีมาตรฐานการเจรจาการค้าที่หลากหลาย รวมทั้งหลายๆ คู่ยังเคยมีปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์มาก่อนหน้าระหว่างกันด้วย การที่ทุกประเทศช่วยกันผลักดัน จนถึงแม้ในที่สุดจะสามารถลงนามได้ 15 ประเทศ แต่เราก็ถือว่านี่คือความสำเร็จของทั้ง 16 ประเทศ
- อินเดียออกจาก RCEP ไปแล้ว
แน่นอนว่าอินเดียไม่ได้ร่วมอยู่ใน 15 ประเทศสมาชิก RCEP ที่ลงนาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า อินเดียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ RCEP เพราะอย่างที่กล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้ หลายๆ เรื่องที่อยู่ในข้อบททั้ง 20 ข้อบทที่ลงนามไปก็เกิดขึ้นได้จากการที่อินเดียมีส่วนร่วมในการเจรจา มีส่วนร่วมในการผลักดัน ดังนั้น อินเดียจึงยังถือเป็นผู้เล่นที่มีส่วนสำคัญ และที่ลงนามไม่ได้ก็เป็นเพราะปัจจัยการเมืองภายในประเทศอินเดียเอง สมาชิก RCEP จึงยังให้ความสำคัญกับอินเดีย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่ออินเดียมีความพร้อม อินเดียก็จะสามารถกลับเข้ามาลงนามกับ RCEP ได้ตลอดเวลา
ในข้อบทที่ 20 บทบัญญัติสุดท้าย (Final Provision) ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างความตกลง RCEP กับความตกลงระหว่างประเทศอื่น กลไกการทบทวนทั่วไป กระบวนการแก้ไขความตกลง และการภาคยานุวัติ ความตกลง RCEP เปิดให้มีการภาคยานุวัติ (การรับสมาชิกใหม่ เพิ่มเติมจาก 15 ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง) โดยรัฐหรือเขตศุลกากรอิสระ 18 เดือนหลังจากวันที่ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และเปิดให้อินเดียในฐานะสมาชิกดั้งเดิมสามารถภาคยานุวัติได้โดยไม่ต้องรอ 18 เดือน
จะเห็นได้ว่า แม้ RCEP จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับทุกภาคส่วน แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดอยู่อีกหลายประการ ดังนั้นเพื่อให้คนไทย ทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงโอกาสจาก RCEP ได้อย่างมากที่สุด ผู้เขียนขอแนะนำให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อหาข้อมูล โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้นำสรุปสาระสำคัญความตกลง RCEP ความตกลง RCEP และข้อมูลเบื้องต้นของ RCEP ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขึ้นไว้ให้แล้วบนเว็บไซต์
สำหรับข้อตกลงที่มาพร้อมกับภาคผนวกและตารางภาษี ตารางการเปิดตลาดสามารถหาข้อมูลได้ที่ www.rcepsec.org และสำหรับองค์ความรู้เพิ่มเติมผ่าน VDO clip ที่ครอบคลุมในทุกมิติของ RCEP สามารถเข้าไปดูได้ที่ Facebook ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในหัวข้อ RCEP the Series