fbpx
การ์ตูนไทย 5 บาทยังไม่ตาย งานที่จะทำจนวันสุดท้ายของ 'ชาย ชาตรี'

การ์ตูนไทย 5 บาทยังไม่ตาย งานที่จะทำจนวันสุดท้ายของ ‘ชาย ชาตรี’

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ยศธร ไตรยศ ภาพ

ในวันที่คนคิดว่า ‘การ์ตูนเล่มละบาท’ ตายแล้ว ชายวัย 71 ยังนั่งอยู่กลางหนังสือการ์ตูนกองพะเนิน เขียนหน้าปกการ์ตูนตั้งแต่เช้ายันเย็น เพื่อให้หนังสือการ์ตูนฝีมือคนไทยจากสำนักพิมพ์ของเขายังทำหน้าที่รับใช้ผู้อ่านอย่างเงียบๆ ด้วยราคาย่อมเยาที่ใครก็เข้าถึงได้

5 บาท เป็นจำนวนเงินที่แทบจะซื้ออะไรไม่ได้ในยุคนี้ แต่นี่คือราคาเริ่มต้นของการ์ตูน สำนักพิมพ์พันธ์ดีสาส์น ที่ยังมีหนังสือราคา 15, 20, 25 บาท วางจำหน่ายที่ เซเว่น อีเลฟเว่น และแผงหนังสือต่างจังหวัด

แม้จะไม่ใช่การ์ตูนราคาเล่มละ 1 บาท เช่นในยุคที่การ์ตูนไทยแพร่หลาย แต่การ์ตูนของสำนักพิมพ์พันธ์ดีสาส์นยังคงรักษาหัวใจ ‘การ์ตูนเล่มละบาท’ ด้วยราคาถูกที่ทำให้คนรายได้น้อยเข้าถึงง่าย ลายเส้นที่คุ้นเคย เนื้อเรื่องสะท้อนวิถีชีวิต รวมถึงการ์ตูนผีซึ่งทำให้การ์ตูนเล่มละบาทเป็นที่จดจำ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ สมศักดิ์ เจสกุล เจ้าของนามปากกา ‘ชาย ชาตรี’ รักษาไว้ในผลงานที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์พันธ์ดีสาส์นของเขา นอกจากการ์ตูนแล้วยังมีนิยายรักเล่มละ 20 บาทที่วางจำหน่ายในนามสำนักพิมพ์เดียวกัน

สมศักดิ์โตมากับการ์ตูนไทยยุคหลังปี 2500 ไล่เรียงมาตั้งแต่ที่ ‘ราช เลอสรวง’ โด่งดังจากเรื่อง สิงห์ดำ อันเป็นยุคเฟื่องฟูของการ์ตูนไทยเล่มใหญ่ ก่อนจะมาสู่ยุคการ์ตูนเล่มละบาทอันเป็นความบันเทิงที่คนทั่วไปเข้าถึงง่าย มาจนถึงช่วงที่นักอ่านไทยได้รู้จักกับการ์ตูนญี่ปุ่น สมศักดิ์ก็เป็นผู้วาดภาพปกการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่องดัง จนสามารถวาดลายเส้นได้หลากหลายแบบ และนำมาสร้างสรรค์งานของตนเอง

ปัจจุบันสมศักดิ์ไม่ได้เขียนเนื้อเรื่องการ์ตูนเองแล้ว แต่ยังวาดภาพปกหนังสือการ์ตูนอยู่ทุกวัน และยืนยันจะพิมพ์การ์ตูนแนวนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันเกษียณ

ชาย ชาตรี

ชาย ชาตรี

คุณภาพของราคา 5 บาท

 

สมศักดิ์เปิดบ้านย่านบางขุนเทียนที่ดัดแปลงเป็นออฟฟิศสำนักพิมพ์พันธ์ดีสาส์นต้อนรับผู้มาเยือน ที่ชั้นล่างภรรยาของเขาและพนักงานใช้เป็นพื้นที่แพ็กหนังสือและจัดการงานบริหารของสำนักพิมพ์ ส่วนด้านบนเป็นห้องทำงานของสมศักดิ์ที่เขานั่งประจำการวาดภาพตลอดทั้งวัน

กองหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นตั้งสูงท่วมหัว หลายเรื่องเป็นเล่มที่เขาเคยเขียนภาพปกในยุคที่ยังไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์

เบื้องหน้าเขาเป็นกองกระดาษที่วาดภาพปกเสร็จแล้ว ลายเส้นของสมศักดิ์มีหลากหลายจนคล้ายว่าเป็นงานของหลายคนเขียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวเขามาสมัยวาดปกการ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งผลงานของ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ, อากิระ โทริยามะ, มิซึรุ อาดาจิ, ฮาระ เท็ตสึโอะ, ซึกาสะ โฮโจ, ทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ

นักเขียนการ์ตูนไทยยุคเล่มละบาทจำนวนมากหลีกเลี่ยงการเขียนลายเส้นแบบการ์ตูนญี่ปุ่น แต่สำหรับสมศักดิ์นี่คือส่วนหนึ่งในชีวิตเขาอย่างแยกไม่ออก ทุกวันนี้นอกจากภาพปกหนังสือการ์ตูนของสำนักพิมพ์ตัวเองแล้ว เขาพยายามเขียนรูปการ์ตูนทุกแนวเพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ดู

ด้านหลังโต๊ะวาดภาพเป็นชั้นวางสีหลายประเภท นอกจากสีพีลีแกนและสีโปสเตอร์แล้ว สีผสมอาหารเป็นสิ่งที่ถูกหยิบมาใช้ในภาพของเขามากที่สุด สมศักดิ์บอกว่าเป็นเทคนิคสำหรับงานพิมพ์เมื่อต้องการสีสันสดใส การใช้สีผสมอาหารจะให้เนื้อค่อนข้างใส ไม่แน่นเหมือนเนื้อสีประเภทอื่นที่พิมพ์ออกมาแล้วภาพจะดูมืด อีกทั้งราคาที่แตกต่างกันมากทำให้ลดต้นทุนได้มาก

ทุกวันนี้สมศักดิ์นั่งวาดรูปตั้งแต่เช้าถึง 5 โมงเย็น บางวันลากยาวถึง 2 ทุ่ม เพื่อจัดการต้นฉบับที่รับมาจากนักเขียนและวาดภาพปกหนังสือการ์ตูน โดยหนังสือเล่มละ 5 บาท จะมีการ์ตูน 2 เรื่อง รวม 32 หน้า หากเล่มไหนขายไม่ดีจะถูกส่งคืน นำมารวมเล่มใหม่ราวสิบเรื่องในราคา 15 บาท เป็นการบริหารจัดการต้นฉบับเพื่อไม่ให้ขาดทุน

แม้การ์ตูนของพันธ์ดีสาส์นจะขายราคาถูก แต่สิ่งที่สมศักดิ์ยืนยันคือการรักษาคุณภาพของผลงาน ไม่เอาเปรียบคนอ่าน

“หนังสือต้องมีคุณภาพ การทำงานต้องตรงเวลาและเขียนดี ถ้าคุณทำไม่ดี อย่างมากมันก็ขายได้แค่ในหมู่เพื่อน คนอื่นที่เขาเลิกทำเพราะว่าเขารับแบบไม่มีคุณภาพมา แล้วเจ้าของเขาดูการ์ตูนไม่เป็น ผมเขียนการ์ตูนมาตั้งแต่อายุ 13-14 ใครจะมาหลอกไม่ได้ เพราะนักเขียนผมมีเยอะ แล้วเราจะเลือกคนดีๆ เก่งๆ

“ส่วนใหญ่เราเลือกการ์ตูนโดยมีความคิดว่า แม้เราจะแก่แล้วแต่อย่าทำตัวแก่ตาม เราก็ต้องดูนู่นฟังนี่ เพื่อบอกคนเขียนว่าควรเขียนแบบนี้นะ เราไม่รับมั่ว เขียนเรื่องไร้สาระนี่ไม่เอา เป็นเพื่อนกันก็ไม่เอา ไม่ใช่ว่าเป็นเพื่อนแล้วส่งมาง่ายๆ ผมก็ดุ บางคนโกรธก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าทำงานตามใจเขามันขายไม่ได้”

สมศักดิ์บอกว่าทุกวันนี้น่าจะเหลือสำนักพิมพ์ที่พิมพ์การ์ตูนแนวนี้แค่ 2 แห่ง หลายที่ปิดตัวไปเพราะรักษาคุณภาพไม่ได้ เขาหยิบต้นฉบับภาพลายเส้นปากกาขึ้นมาแผ่นหนึ่ง แล้วบอกว่าเป็นภาพที่เขาจ้างลูกน้องวาดแผ่นละ 100 บาท แล้วเอามาลงสีเอง แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้เพราะไม่ถูกใจ จึงเขียนใหม่เอง ถ้างานไม่ได้ดั่งใจเขาก็จะไม่ปล่อยออกไป

“เราต้องใส่ใจ จะมานั่งทำเล่นๆ ไม่ได้ ถึงมันจะตกต่ำอยู่ตอนนี้แต่ก็ทำเล่นๆ ไม่ได้ ต้องทำให้มันดี” ชายวัย 71 กล่าวหนักแน่นท่ามกลางกองกระดาษต้นฉบับภาพวาดจำนวนมากในห้องแสนเงียบงัน อันเป็นสถานที่ผลิตหนังสือการ์ตูนราคาย่อมเยาที่มีผู้อ่านน้อยลงทุกวัน

ชาย ชาตรี

จาก สิงห์ดำถึง โดราเอมอน

สมศักดิ์เป็นคนกรุงเทพฯ วิ่งเล่นอยู่แถวตลาดดินแดงตั้งแต่เด็กเพราะแม่เป็นแม่ค้าขายของอยู่ที่นั่น ตอนเด็กเขาต้องช่วยแม่ขายของในช่วงเช้าก่อนไปโรงเรียน และพยายามหาของมาขายเองบ้างเป็นค่าขนม สมศักดิ์รับหนังสือการ์ตูนมาขายในราคาเล่มละ 70 สตางค์ เขาบอกว่าเล่มหนึ่งที่โด่งดังในยุคนั้นคือ สิงห์ดำ ของ ราช เลอสรวง ซึ่งต่อมาเป็นรุ่นพี่ในวงการที่เคารพนับถือ และส่งผลให้งานการ์ตูนยุคเริ่มแรกของสมศักดิ์เป็นการ์ตูนแนวกำลังภายใน

เขาให้กำลังใจผมเยอะเลย งานพี่ราชคนทั่วประเทศรู้จักหมด แม้กระทั่งรถขนส่ง ผมเคยเห็นหนังสือสิงห์ดำ ส่งทางรถขนส่งไม่รู้กี่เที่ยว ขายดีมาก มันสนุก แล้วไม่ค่อยมีการ์ตูนพวกนี้ขาย”

สมศักดิ์หยิบภาพวาดจากเรื่องสิงห์ดำมาให้ดู เป็นภาพที่เขาเขียนขึ้นเองเพื่อรำลึกถึงรุ่นพี่ที่นับถือ โดยเขียนตามลายเส้นของ ราช เลอสรวง แล้วนำมาจัดท่าทางใหม่

“ผมเขียนเก็บไว้เพื่อระลึกถึงเขา เพราะผมเกิดมาจากเขา เกิดมาจากสิงห์ดำ ผมคิดอะไรไม่ออกก็นั่งเขียน เวลาเหนื่อยหรือเบื่ออะไรมาก็นั่งเขียนภาพ พอเขียนเสร็จก็รู้สึกว่าสบายดี”

ชาย ชาตรี

หลังเรียนจบจากโรงเรียนสามเสน แม่ฝากสมศักดิ์เข้าเรียนช่างเครื่องที่พิบูลประชาสรรค์ เพราะอยากให้มาช่วยพี่ทำอู่รถ แต่เขาไม่ชอบ เพราะหัดเขียนการ์ตูนเองมาตั้งแต่อายุ 13-14 ช่วงวันเสาร์อาทิตย์จึงไปเรียนวาดภาพที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป ของอาจารย์โภคัย ว่องกสิกร ค่าเรียนเดือนละ 300 บาท หนึ่งในอาจารย์ที่มาสอนคือ เหม เวชกร ช่วงนั้นสมศักดิ์เริ่มเขียนการ์ตูนส่งสำนักพิมพ์ จนเรียนไม่จบช่าง และเขียนการ์ตูนหาเงินเรื่อยมา

“ช่วงอายุ 17-18 ผมเขียนการ์ตูนกำลังภายในได้แผ่นละ 5 บาท สมัยนั้นการ์ตูนเล่มละ 2 บาท 50 สตางค์ ส่งแผ่นนึงก็ไปเที่ยวได้แล้ว ไม่ต้องขอตังค์แม่ ตอนนั้นไม่ได้จริงจังอะไรมากมาย แต่ว่าชอบแล้วมันขายได้”

เขาเล่าความทรงจำสมัยนั้นว่า ถ้าจะซื้อหนังสือต้องนั่งรถเมล์ไปวังบูรพา ถ้าส่งต้นฉบับต้องมาย่านผ่านฟ้า ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์ชื่อดังหลายแห่ง ถ้ามีเวลาหลังส่งต้นฉบับก็จะนั่งเฝ้าอยู่แถวนั้นเผื่อเจอคนอื่น เขายังจำภาพ ‘พนมเทียน’ ขับรถฝรั่งโบราณมาส่งต้นฉบับได้

ราวอายุ 20 การ์ตูนเล่มละบาทแพร่หลายขึ้นมาในวงการการ์ตูนไทย สมศักดิ์ทำงานประจำอยู่ที่สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น เขียนการ์ตูนเล่มละบาทอาทิตย์ละหนึ่งเล่ม

“ตอนแรกเข้าไปเราก็ต้องทำตามเขา ถามเขาว่าจะเอาแนวไหน แล้วพออยู่ไปจนเขาไล่เราออกไม่ได้แล้ว ก็เขียนตามใจตัวเองได้ แต่ต้องเขียนให้ดี พอเน้นดีก็อย่าเขียนเกินอาทิตย์ละเล่ม ไม่งั้นจะออกมาไม่ถูกใจ ผมไม่เคยเขียนอาทิตย์ละ 2 เล่มเลยนะ คล้ายว่างานออกมาไม่ดีแล้วเราทำใจไม่ได้ ตอนนั้นมีนักเขียน 5-6 คนที่เขาคัดเลือกไว้ ก็จะวัดกันอยู่ ต้องเขียนให้ขายได้ ถ้าขายไม่ได้ต้องออก

“พอต้องเขียนทุกอาทิตย์ก็ต้องอ่านเพื่อคิดโครงเรื่อง อย่างหนังสือครูเหม ผมซื้อไว้เยอะเพราะเป็นอะไรที่เราต้องศึกษา ถ้าไม่รู้ความเป็นมาเราเขียนไม่ได้ ตัวหนังสือก็ผิดก็ไม่ได้ ต้องมีพจนานุกรมไว้ดู ไว้แก้ไข”

เขาบอกว่าแม้จะตั้งใจรักษาคุณภาพของงาน แต่ด้วยธรรมชาติของการ์ตูนเล่มละบาทที่เป็นการ์ตูนราคาถูก อ่านง่าย เนื้อเรื่องไม่ยาว มีเวลาทำงานจำกัด ทำให้คุณภาพงานแต่ละคนไม่ต่างกันนัก เขามองว่าไม่มีงานที่โดดเด่นขึ้นมา หากมัวแต่พิถีพิถันจะอดตาย เพราะเงินเดือนนักเขียนการ์ตูนปกติก็จะไม่พอกินอยู่แล้ว

ยุคการ์ตูนเล่มละบาทมีการ์ตูนหลากหลายแนว แต่เหตุที่การ์ตูนผีกลายเป็นที่จดจำของคนไทย สมศักดิ์มองว่าเพราะคนไทยชอบเรื่องผี

“คนไทยกลัวผีแต่ชอบเรื่องผี ใครตายก็ไปดู แต่กลัวนะ ประเพณีคนไทยมันมาอย่างนี้ การ์ตูนเรื่องผัวเมียตีกันก็มี เป็นแบบบ้านๆ แต่ต้องมีสาระหน่อย จะเขียนไปเรื่อยเปื่อยไม่ได้ มีหลายคนที่เขียนเรื่อยเปื่อย ตอนนี้ก็ไม่มีที่เขียนแล้ว ผมเองก็ไม่รับงานแบบนี้”

สมศักดิ์เล่าว่ายุคนั้นการ์ตูนผีเป็นที่นิยมจนบางสำนักพิมพ์บอกนักเขียนว่าต้องมีคำว่า ‘ผี’ อยู่ในชื่อเรื่อง เป็นยุคที่นักเขียนการ์ตูนต้องวาดเรื่องผีกันถ้วนหน้า รวมถึงตัวเขาเองที่แม้ไม่ใช่แนวงานที่ถนัด แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องวาด เช่นเรื่อง แม่นาคพระโขนง ที่เขาเขียนในปี 2522 จนถึงปัจจุบันก็ยังขายได้อยู่และพิมพ์ซ้ำมาหลายครั้งแล้ว

“สมัยนั้นบูมมาก ไปแผงหนังสือจะมีการ์ตูนเล่มละบาทเรียงเป็นแถวเยอะมาก แต่ผมมีหน้าที่เขียนอย่างเดียว เรื่องเงินเป็นหน้าที่เถ้าแก่ เราจะไม่รู้ว่าเขาขายเยอะหรือน้อย เขาไม่บอกหรอก ถ้าเราถามว่าเฮียช่วงนี้ขายดีไหม เฮียจะตอบว่าไม่ดี เราก็เลยไม่รู้ว่ามันดีหรือเปล่า (หัวเราะ)”

ราวปี 2536 สมศักดิ์ไปทำงานที่สำนักพิมพ์มิตรไมตรี ซึ่งเป็นยุคที่ยังไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่น เจ้าของสำนักพิมพ์ไปซื้อการ์ตูนจากญี่ปุ่นมาเต็มกระเป๋า แล้วสมศักดิ์รับหน้าที่เขียนปกการ์ตูนญี่ปุ่นโดยต้องวาดให้ลายเส้นเหมือนต้นฉบับ มีเรื่องที่ดังที่สุดในยุคนั้นคือ โดราเอมอน ที่ขายเล่มละ 10 บาท ตีพิมพ์ทุกอาทิตย์ นอกจากนั้นยังมีเรื่องดังอย่าง ดราก้อนบอล และ หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ

“การเขียนให้เหมือนต้นฉบับมันแล้วแต่เทคนิค เพราะบางคนใช้พู่กัน บางคนใช้ปากกา ผมเปิดดูรูปอันไหนสวยก็เอามาแค่นั้น ไม่อ่านเลย แล้วต้องมีคนเขียนฟิล์มต่างหาก เพราะหนังสือญี่ปุ่นเปิดกลับด้านกับของไทย ก็ต้องเอาฟิล์มใสมาทาบเขียนตามแล้วกลับฟิล์มเอา ได้ค่าเขียนแผ่นละ 2 บาท

“พอเฮียเขาไปซื้อบ่อย ญี่ปุ่นก็สงสัยว่า เฮ้ย คนไทยทำไงถึงกลับข้างกัน เขาก็เลยมาดู มีนักข่าวมาถ่ายรูป ตอนนั้นเขาบอกเป็นการเผยแพร่ ญี่ปุ่นก็ไม่เอาตังค์ ในไทยก็มีสำนักพิมพ์อื่นทำด้วย แต่เขาเน้นมาที่มิตรไมตรีเพราะซื้อเยอะ พอเริ่มขายดี ตอนหลังก็ไปซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น โดราเอมอนนี่ขายดีมาก ผมเขียนเยอะเลย ดราก้อนบอลก็เป็นอมตะ”

สมศักดิ์หยิบภาพโดราเอมอนและดราก้อนบอลที่เขียนเก็บไว้จำนวนมากให้ดู แม้จะเลิกเขียนปกการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วแต่เขายังวาดภาพเหล่านี้เก็บไว้เรื่อยๆ ด้วยความคุ้นมือ

ชาย ชาตรี

ชาย ชาตรี

พันธ์ดีสาส์นต้นฉบับตามสั่ง จะอยู่ได้ต้องขายดี

หลังเขียนปกการ์ตูนญี่ปุ่นนับสิบปีที่มิตรไมตรี สมศักดิ์ลาออกมาและปรึกษาภรรยาว่าอยากทำหนังสือเอง ประกอบกับที่ช่วงนั้นเพื่อนในวงการหลายคนเริ่มขยับมาพิมพ์หนังสือการ์ตูนเอง

“ผมไม่มีเงินหรอก แต่แฟนผมเก็บเงินเก่ง ผมปรึกษาเขาว่าอยากจะมีหนังสือสักเล่ม เขาก็เอาเงินออกมา 4-5 หมื่นบาท เขาเก็บเงินโดยที่ผมไม่รู้ เก็บเงินเก่งจนไม่ให้ผมใช้เลย จะเอาก็ต้องขอ (หัวเราะ)”

พันธ์ดี เจสกุล ภรรยาของสมศักดิ์ ผู้ดูแลกิจการสำนักพิมพ์พันธ์ดีสาส์น เล่าว่า การเริ่มทำหนังสือเองช่วงแรกยังอาศัยสายส่งสำนักพิมพ์อื่น จนมาจดทะเบียนสำนักพิมพ์ในปี 2548 และส่งหนังสือวางขายในเซเว่นฯ นับแต่นั้น โดยจัดพิมพ์ทั้งหนังสือการ์ตูนและนิยาย พันธ์ดีจะเป็นคนดูแลต้นฉบับนิยายเอง เพราะเมื่อก่อนเธอเป็นนักเขียนนิยายรัก และเลิกเขียนเมื่อมาทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง

เธอเล่าว่านอกจากส่งเซเว่นฯ แล้ว สำนักพิมพ์พันธ์ดีสาส์นยังกระจายส่งเอเย่นต์หนังสือในจังหวัดต่างๆ โดยภาคใต้จะขายดีที่สุด ตามมาด้วยภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ ด้วยความที่ค่าขนส่งแพง หากส่งหนังสือการ์ตูนอย่างเดียวจะไม่คุ้ม จึงพิมพ์หนังสือนิยายรักเพื่อส่งไปพร้อมกันด้วย แต่หนังสือการ์ตูนจะขายดีกว่านิยาย โดยเฉพาะการ์ตูนผี

“เราซื้อต้นฉบับทั้งนิยายและการ์ตูน จะสั่งนักเขียนเลยว่าเอาแนวไหน อย่างนิยายฉันจะสั่งเอง เพราะฉันเป็นนักเขียนนิยาย ที่ไม่เอาคือแนวผี แนวเจ้า ขายไม่ได้ ต้องแนวรักๆ โหดๆ สไตล์ จำเลยรัก จะขายดี ภาษานิยายเขาเรียกแนวตบจูบ แต่ต้องไม่โป๊นะ โป๊ก็โดนจับอีก ส่วนต้นฉบับการ์ตูนคุณสมศักดิ์เป็นคนควบคุม จัดรูปเล่มเข้าชุด วาดหน้าปก”

พันธ์ดี เจสกุล
พันธ์ดี เจสกุล

สถานการณ์วงการหนังสือที่กำลังตกลง ส่งผลถึงพันธ์ดีเช่นกัน จากเดิมที่ต้องไปเคลียร์บัญชีกับเอเย่นต์ต่างจังหวัดทุก 4 เดือน ปัจจุบันขยายเวลาเป็น 7-8 เดือน เพราะยอดน้อย เดินทางไปแล้วไม่คุ้มค่า เมื่อยอดขายไม่ดีก็กระทบถึงนักเขียนเช่นกัน ปัจจุบันทางสำนักพิมพ์พันธ์ดีงดรับต้นฉบับการ์ตูนและนิยาย เพราะยังมีต้นฉบับที่ซื้อเก็บไว้และยังไม่ได้ใช้จำนวนมาก

“ตอนแรกเรามีนักเขียนการ์ตูน 20-30 คน แต่เดือนหนึ่งใช้แค่ 16 เล่มเอง ตอนนั้นใครมาส่งเท่าไหร่ก็เอาหมด ช่วงเศรษฐกิจดีเราซื้อต้นฉบับมาเยอะมาก ตอนนี้ก็ยังเอามาพิมพ์ไม่หมด ไม่กล้ารับเพิ่ม ต้องใช้ต้นฉบับเก่าให้หมดก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะทำได้อีกนานแค่ไหน

“เชื่อไหมกำไรเล่มนึงไม่ถึงบาท การ์ตูนเล่มละ 5 บาท ได้ 30 สตางค์ต่อเล่ม อยากขยับราคาขึ้น แต่เห็นโรงพิมพ์อื่นขยับขึ้นมาแล้วขายไม่ได้ เราเลยใช้วิธีตัดเรื่อง จากเมื่อก่อน 3 เรื่อง 5 บาท ตอนนี้ก็เหลือ 2 เรื่อง 5 บาท กลัวขยับราคาขึ้นแล้วจะไปไม่รอด จริงๆ ถ้าเป็นฉันเอง ฉันเปลี่ยนแล้วค่ะ จะไปเปิดร้านขนมจีน (หัวเราะ) แต่มานั่งนึกว่าคุณสมศักดิ์เขาเขียนการ์ตูนมาตลอดชีวิต เขาอายุมาก เราอยู่ด้วยกันมา แล้วคนเราก็อยู่ได้ไม่ถึงร้อยปี เราคิดว่าเอาแค่พออยู่ได้ ให้คุณสมศักดิ์ได้ทำงานที่เขาชอบ ให้พอมีจ่ายลูกน้อง มีค่ากระดาษค่าพิมพ์ ไม่ขาดทุนก็โอเคแล้ว”

มีคนเคยแนะนำเรื่องการทำอีบุ๊ค แต่พันธ์ดีบอกว่าสมศักดิ์ตัดสินใจไม่ทำ เพราะรู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบ และคิดว่ายังมีคนซื้อหนังสือที่เป็นรูปเล่มเพื่อเก็บสะสมอยู่ ขณะที่การ์ตูนจากสำนักพิมพ์พันธ์ดีสาส์นส่งเซเว่นฯ 5,000 เล่มต่อเรื่อง ยังไม่มีส่งคืน เพราะหากขายเหลือจากพื้นที่หนึ่งแล้ว ยังวนเอาไปส่งพื้นที่อื่นที่ยังไม่เคยส่งได้ จึงถือว่าสถานการณ์ของสำนักพิมพ์ยังพอดำเนินต่อไปได้

แม้ตัวเลขยอดขายจะตกลง แต่พันธ์ดียังหวังว่าอาจมีกระแสที่คนหวนกลับมาอ่านหนังสือเหมือนในต่างประเทศ หลังผ่านจุดวิกฤติแล้วคนกลับมานิยมอ่านหนังสืออีกครั้งหนึ่ง เป็นความหวังลึกๆ ของคนทำหนังสือว่าอยากให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในไทยบ้าง

อีบุ๊คไม่ใช่คำตอบ

แม้สภาพที่เป็นอยู่ของวงการหนังสือจะดูไม่ค่อยมีความหวัง และพื้นที่ของหนังสือแนวการ์ตูนเล่มละบาทจะมีน้อยลงเต็มที แต่สมศักดิ์ยืนยันจะดำเนินธุรกิจเช่นเดิม เพราะเขาคิดว่าเป็นการช่วยรักษาการ์ตูนแนวนี้ให้ยังคงอยู่ได้

“เผื่อฟลุ๊ค” ชายวัย 71 ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา เขาหวังว่าอาจมีวันที่คนเบื่อสมาร์ทโฟนแล้วหนังสือกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ใจจริงเขาอยากให้มีสำนักพิมพ์ที่พิมพ์การ์ตูนแนวนี้อีกหลายๆ แห่ง เพื่อช่วยกันรักษาวงการ แต่เข้าใจว่าไม่มีใครอยากเสี่ยงเจ็บตัวขาดทุน ส่วนที่เขายังอยู่ได้ เป็นเพราะวางจำหน่ายทางเซเว่นฯ ที่เข้าถึงคนได้มาก

เมื่อมองไปที่สถานการณ์ของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ก็บอบช้ำไม่ต่างกัน แม้หลายสำนักพิมพ์จะขยับไปสู่อีบุ๊ค แต่สมศักดิ์ปฏิเสธหนักแน่นว่าเป็นทางที่เขาไม่เลือกเดิน แม้จะมีหลายคนแนะนำว่าอาจเป็นทางรอด

ผมว่ามันก็ดี แต่มันไม่ได้จับเป็นรูปเล่มที่ใครจะมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ มีคนติดต่อให้ผมเอาไปลงอีบุ๊ค แต่ผมไม่เอา เดี๋ยวนี้คนอ่านแบบนั้นเยอะ แต่เสียเงินแล้วอ่านเสร็จก็หายไป ถ้าเป็นหนังสือเล่มเราอยากอ่านเมื่อไหร่ก็หยิบขึ้นมาดู ผมถึงซื้อหนังสือไว้เต็มบ้านไง”

สมศักดิ์ยืนยันเสียงแข็งว่าการ์ตูนสำหรับเขา ยังไงก็ต้องอ่านจากกระดาษ

“ถ้าไม่เป็นรูปเล่มก็เลิกไปเลย จบไปเลย เจ๊งไปเลย มีมาติดต่อผมหลายที่แล้วแต่ผมไม่เอา แล้วกว่าจะได้ตังค์ สมมติอ่านทีละ 8 บาท เขาให้เรา 2-3 บาท กี่เดือนกี่ชาติถึงจะได้สักร้อยนึง อีกอย่างคือในนั้นเขาไม่อ่านการ์ตูนไทยกัน ส่วนใหญ่เขาอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เด็กมีความรู้หน่อยถึงเปิดเข้าไปอ่านได้”

ถามว่านี่อาจเป็นยุคสุดท้ายของการ์ตูนแนวนี้หรือไม่ สมศักดิ์ยอมรับว่าเขาเองก็บอกไม่ถูก ใจจริงอยากให้มีคนเข้ามาสนับสนุนบ้าง แต่ไม่มีใครสนใจ เคยมีบางองค์กรได้ทุนจากรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน เอารางวัลมาให้ แต่เขามองว่าเป็นการทำแบบไม่จริงใจ ไม่ทำให้งานเผยแพร่ไปทั่วได้จริง และมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก

สำหรับคนทั่วไปจะคิดว่าหนังสือแนวการ์ตูนเล่มละบาทตายไปแล้ว สมศักดิ์บอกว่าไม่ได้ผิดจากความเป็นจริงนัก สถานการณ์ปัจจุบันอาจจะถือว่าเริ่มพิการ เขาพยายามทุกอย่างเพื่อประคับประคองเอาไว้ หาวิธีที่จะทำให้ดีขึ้น โดยจุดสำคัญอยู่ที่การรักษาราคา

“ผมว่ามันเริ่มพิการ ผมพยายามทุกอย่าง บางทีก็เครียดแต่ต้องหาวิธีทำไปเรื่อยๆ ให้มันดีขึ้น คนไทยไม่ชอบแพงอยู่แล้ว ไปขึ้นราคาก็ไม่ได้”

สมศักดิ์บอกว่าแม้การ์ตูนที่เขาทำจะมีที่ทางน้อยลงเต็มที แต่เขาจะทำพันธ์ดีสาส์นไปเรื่อยๆ ไม่มีวันเกษียณ แม้จะเริ่มมีปัญหาสุขภาพ

“ตานี่สำคัญนะ ส่วนมือเราเขียนมานานแล้วก็สามารถประคองมันได้ ฝืนมันได้ หมอบอกว่าผมหายใจน้อยมาก พูดเหมือนคนเหนื่อย เพราะต้องหายใจค่อยๆ เวลาเขียนให้เส้นไม่สั่น อั้นแล้วเส้นมันจะดี ทำให้ปอดไม่มีแรง

“จนตายนู่นแหละ ถ้าตายแล้วคงต้องเลิก หรือไม่ก็ต้องเรียกเพื่อนผมมาเขียนแทน”

ชายสูงวัยพูดพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะส่งผู้มาเยือนกลับแล้วไปนั่งประจำที่โต๊ะทำงานดังเดิม หยิบปากกาคว้าพู่กันมาทำงานของตัวเองเงียบๆ เช่นที่ทำมาเกินครึ่งศตวรรษ

ชาย ชาตรี' ผู้รังสรรค์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save