fbpx
ผ่านมาแล้วสี่สิบปี... London Review of Books: An Incomplete History

ผ่านมาแล้วสี่สิบปี… London Review of Books: An Incomplete History

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

วันที่ 25 ตุลาคมที่เพิ่งผ่านพ้นไปเป็นวันครบรอบ 40 ปีของนิตยสารชื่อ London Review of Books (LRB) ซึ่งเป็นนิตยสารที่เคยถูก The Guardian เขียนคอลัมน์ตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ว่าเป็นนิตยสารที่ดีที่สุดในโลกหรือไม่เมื่อปี 2014 ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม The New York Times Magazine ก็เพิ่งมีบทความเชิงสำรวจไปว่า Mary Kay Wilmers แห่ง LRB เป็นบรรณาธิการที่มีอิทธิพลสูงสุดในอังกฤษได้อย่างไร

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงนิตยสารเล่มย่อยแยกที่แทรกสอดอยู่ในนิตยสาร New York Review of Books เมื่อปี 1979  LRB ซึ่งแยกตัวออกมาในไม่กี่เดิอนต่อมาได้กำหนดทิศทางของว่าตัวเองจะเติบโตขึ้นแบบไหน ก็เริ่มสั่งสมประสบการณ์และเสริมสร้างชื่อเสียงขึ้นมา จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางความคิดในภูมิทัศน์ของการอ่าน และบ่อยครั้งก็เป็นสนามสำคัญแห่งการปะทะกันที่ดุเดือดของอุดมการณ์หลายเฉดสี

ในวาระครบรอบ 40 ปีนี้ LRB ได้เหลียวหลังกลับไปมองบนเส้นทางที่เดินผ่านมาและประมวลเรื่องราวที่เกิดขึ้นออกมาเป็นหนังสือ coffee table book ชื่อ London Review of Books: An Incomplete History ที่ทำหน้าที่ประหนึ่งแหล่งพบปะของเหตุการณ์สำคัญเมื่อความทรงจำนัดหมายให้มารวมตัว

ปกหนังสือ 'The London Review of Books: An Incomplete History' / ที่มาภาพ allenandunwin.com

บทสนทนาของหนังสือเริ่มต้นด้วยการทักทายของ Mary Kay Wilmers หนึ่งในผู้ดูแลหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อนจะเป็นบรรณาธิการใหญ่เมื่อ Karl Miller ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการคนแรกลงจากตำแหน่งในปี 1992 เรื่องราวตั้งแต่แรกเริ่มของนิตยสารถูกบอกเล่าสั้นๆ เชื่อมโยงมาจนถึงปัจจุบันที่อนาคตของประเทศอังกฤษแขวนอยู่บนความแตกแยกของผู้คนในเหตุการณ์ Brexit คล้ายจะบอกใบ้อยู่ในทีว่าเมื่อเราพลิกหน้าต่อๆ ไปจะมีอะไรบ้างรอเราอยู่ ซึ่งเราเองก็คงจะพอรู้อยู่บ้างว่าในวาระแบบนี้เราจะพบเจอกับอะไร แต่อย่าหวังว่าจะรู้ทันไปเสียหมดล่ะ ถ้า LRB ถูกคาดเดาได้ง่ายอย่างที่คิดก็คงไม่ยืนระยะมาได้จนทุกวันนี้

ใบหน้าเมื่อแรกเกิดของ LRB รับช่วงนำทางต่อจากถ้อยคำของบรรณาธิการ โดยการพาเราย้อนกลับไปสู่รายละเอียดของเหตุการณ์การเกิดขึ้นของนิตยสารจากสมุดบันทึกของ Karl Miller ภาพของสมุดทำให้เห็นว่ารูปลักษณ์ที่วาดไว้ถูกสร้างขึ้นมาจากความคิดแบบไหน ก่อนจะส่งต่อเราสู่สวนสนุกทางประวัติศาสตร์

เครื่องเล่นที่ถูกจัดตำแหน่งไว้สร้างความเพลิดเพลินประกอบไปด้วยจดหมายตอบโต้ระหว่างนักเขียนกับ บรรณาธิการ ภาพปกหนังสือในยุคต่างๆ และการออกแบบที่อยู่เบื้องหลัง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม การขัดแย้งทางความคิดของนักเขียน กระบวนการทำงานของกองบรรณาธิการ รวมไปถึงถ้อยประณามของผู้อ่านที่มีต่อเรื่องราวที่ตีพิมพ์

เราจะได้รู้ว่าทำไม David Cornwell เจ้าของนามปากกา John le Carré ผู้โด่งดังจากนวนิยายจารกรรมอย่าง The Spy Who Came in from the Cold, Tinker Tailor Soldier Spy ถึงไม่ยอมเขียนรีวิวหนังสือให้ LRB  ได้อ่านการเขียนจดหมายประท้วงบทความเกี่ยวกับโรคเอดส์ของ John Ryle ในช่วงที่ความเข้าใจเรื่องโรคยังไม่ชัดเจน และการเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดจาก Bruce Chatwin  และได้เห็นความขัดแย้งทางความคิดใน LRB เองเมื่อ Al Alvarez ตีพิมพ์หนังสือว่าด้วยการหย่าร้างชื่อ Life after Marriage: Scenes from Divorce แล้วทาง LRB ติดต่อให้ Ursular Creagh ซึ่งเป็นอดีตภรรยาของ Al Alvarez รีวิวหนังสือเล่มนี้ (คงพอเดากันได้ว่าบทรีวิวจะมีรสชาติร้อนแรงแค่ไหน) แรงกระเพื่อมของการที่ผู้หญิงมีโอกาสได้ตอบกลับต่อความเห็นของผู้ชายได้สร้างความชื่นชอบในหมู่ผู้อ่าน

แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น เมื่อ Frank Kermode หนึ่งในบอร์ดของกองบรรณาธิการเขียนจดหมายถึง Karl Miller ในประเด็นของ ‘การรีวิวที่ปราศจากอคติ’ ซึ่งการตอบโต้กันของทั้งสองจะเปิดเผยให้เห็นแง่มุมที่เป็นรากฐานทางความคิดของการออกความเห็นและการวิจารณ์

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของความบันเทิงช่วงเริ่มต้นในทศวรรษแรกเท่านั้น และนี่คือเรื่องราวบางส่วนที่เกิดขึ้นในช่วงสามสิบปีหลัง

LRB ได้รับทุนสนับสนุนจาก Arts Council ครั้งแรกในปี 1981 และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วกันว่าทุนสำหรับงานด้านวรรณกรรมนั้นมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับศิลปะสาขาอื่น แง่หนึ่งนั้นเกิดจากความเห็นว่างานนิตยสารและหนังสือนั้นสามารถหารายได้จากการผลิต แต่เงินทุนที่ได้รับก็มีการพยายามขัดขวางโดยนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งไม่ชอบใจกับการนำภาษีของประชาชนไปสนับสนุนนิตยสารที่ถูกตีตราว่าเป็นฝ่ายซ้ายและเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาชนอีลิทฝ่ายเสรีนิยม LRB ได้นำจดหมายจากผู้อำนวยการที่ดูแลด้านวรรณกรรมในปี 1990 มาเปิดเผยให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในกระบวนการพิจารณามอบทุน (เชื่อว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมนอกกระแสหลักคงมองบนกันเป็นแถวเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้)

ในปี 1999 มีการปะทะกันทางทฤษฎีเมื่อ Terry Eagleton รีวิว Critique of Post-Colonial Reason ของ Gayatri Chakravorty Spivak อย่างเจ็บแสบ ทำให้ Judith Butler ออกโรงมาตอบโต้อย่างดุดัน และนี่ก็เป็นอีกครั้งในยืนยันว่าการวิวาททางความคิดของปัญญาชนไม่เคยห่างหายไปจาก LRB

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 9/11 ทาง LRB ต้องการจะตีพิมพ์ความเห็นสั้นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากนักเขียนที่เคยเขียนงานตีพิมพ์ให้กับ LRB มีประโยคหนึ่งในความเห็นของนักเขียนที่อ้างถึงในทำนองว่า “มีผู้คนคิดอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผยว่าอเมริการนหาที่เอง” หลังจากเผยแพร่ความเห็นนี้ออกไป ในฉบับต่อมาทาง LRB ก็ได้ตีพิมพ์ผลตอบรับจากผู้อ่านว่าจะ “กดใบหน้าซ้ายงี่เง่าของพวกเอ็งลงไปในกองขี้หมาสักกอง” แม้ว่าต่อมาเจ้าของประโยคข่มขู่จะเอ่ยคำขอโทษ แต่นี่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสำหรับผู้อ่านแล้ว LRB ไม่น่ารักเสมอไป

เมื่อปี 2013 Jonathan Coe รีวิวหนังสือชื่่อ The Wit and Wisdom of Boris Johnson เขาได้เสนอไว้ว่าการเย้ยหยันทางการเมืองโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในรูปแบบของการหัวเราะเยาะพวกที่อยู่ในอำนาจ อาจไม่ใช่แค่เพียงไม่มีประสิทธิผลหากแต่ส่งผลในทางตรงกันข้าม (ลองนึกถึงการใช้คำว่า “ลุง” แบบขบขันในการเมืองไทย) คงไม่ต้องบอกว่าตอนนี้ Boris Johnson อยู่ในตำแหน่งไหนและกำลังก่อการอะไรอยู่

สิ่งที่เกิดขึ้นในบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยังไม่จบสิ้นของ LRB นั้นทำให้การอ่านประสบกับความตื่นตาตื่นใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างภาระให้ผู้อ่านไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับผู้คนและสถานที่มากมาย ชื่อบางชื่อและสถานที่บางแห่งเราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยตลอดชีวิต นั่นหมายถึงการบ้านที่ต้องค้นคว้าเพิ่มถ้าอยากเข้าใจบริบท แต่ภาระข้อนี้ก็แบ่งเบาลงไปมากเมื่อเรามี google อยู่แค่มือเอื้อม ถ้าไม่เชื่อก็ลองจินตนาการถึงโลกที่ต้องไปค้นหนังสือเป็นตั้งๆ เพื่อหาข้อมูลดูสิ

โดยทั่วไปแล้ว สิ่งตีพิมพ์ที่ออกมาในวาระครบรอบของอะไรก็ตามแต่ที่มีค่าควรกับการเฉลิมฉลอง มักจะเปี่ยมไปด้วยถ้อยคำชมเชยอวยพรยินดี ซึ่งถ้า LRB จะเลือกเดินไปบนเส้นทางนั้นด้วยก็ไม่น่าจะมีอะไรให้ขัดเขิน แต่ LRB เลือกที่จะเปิดเผยให้เห็นว่าภายใต้สิ่งที่ตาเห็นจากการอ่านนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้างก่อนจะมีการพิมพ์เผยแพร่ และดูเหมือนว่า LRB เองก็รื่นเริงไปกับการแสดงให้เห็นถึงหลักฐานที่วางเรียงรายรองรับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวของการบอกเล่าที่แสดงให้เห็นถึงตำหนิของผู้คนที่เกิดจากอารมณ์และสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

แต่ถึงจะเลือกแสดงออกมาแบบนี้ ก็เชื่อแน่ว่าจะต้องมีคำวิจารณ์ในเชิงจิกกัดว่า LRB นั้นเลือกใช้วิธี “ถ่อมตัวเพื่อยกตน” ตามแบบฉบับที่เป็นวิธีการอันคุ้นเคยของปัญญาชนอีลิทฝ่ายซ้าย ซึ่งต่อให้มองโลกแบบนั้นจริงๆ หนึ่งในคำถามตามมาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องเตรียมหาคำตอบให้เหมาะสมคือ “แล้วมันดีกว่าการอ่านแต่บทอาเศียรวาทไหมล่ะ?”

สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับ LRB มาก่อนแล้ว การอ่านหนังสือเล่มนี้คงสร้างความอิ่มเอมให้กับความรู้สึกที่ได้รับมาก่อนหน้า เพราะสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “เบื้องหลังการถ่ายทำ” ที่อยู่ในหนังสือนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการเฉลยให้เห็นถึงแรงขับและแรงจูงใจว่าตลอดมาทำไม LRB จึงแสดงพฤติกรรมแบบนั้น ซึ่งก็อาจตีความได้ว่าสถานภาพในสมรสของผู้เขียนและผู้อ่านคงจะแน่นแฟ้นขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย

แต่สำหรับผู้อ่านหน้าใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก LRB มาก่อน หรือเคยได้ยินชื่อเพียงผ่าน หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนการแนะนำตัวอย่างจริงใจของใครคนหนึ่ง การแนะนำตัวที่เปิดเผยให้เห็นข้อดีข้อเสียที่สุดเท่าที่ใจพร้อมจะเปิดเผยได้ (เราต่างมีเรื่องปกปิดทั้งนั้นแหละน่า) และเมื่อรับฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว  LRB จะสบตากับเหมือนจะถามโดยไม่เอ่ยคำว่า…

“เราก็เป็นของเราแบบนี้แหละ เธอจะลองมาคบกับเราดูไหม?”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save