fbpx

เปิด 4 บทเรียน ‘ออกแบบชีวิต’ ในโลกแห่งความไม่แน่นอน

ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน หลักการออกแบบชีวิต หรือ ‘designing your life’ กลายเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย – เพราะอย่างที่เราทราบกันดี การใช้ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยุคที่โลกผันผวนและเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ทุกมิติอย่างมหาศาล หลักการออกแบบชีวิตจึงกลายเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ช่วยให้หลายคนหาวิธีการ ‘ออกแบบ’ ชีวิตที่แม้อาจจะไม่ได้มีความสุขที่สุด แต่ ‘ลงตัว’ ในแบบฉบับของตนเองได้

แต่อย่างที่ใครหลายคนทราบดี ‘ชีวิตคือความไม่แน่นอน’ เพราะคงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าโลกจะถูกคลื่น ‘โรคระบาด’ สาดซัดอย่างรุนแรง การเว้นระยะห่างทางสังคมกลายเป็นกฎเกณฑ์ใหม่ หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือกลายเป็นของจำเป็นที่ทุกคนต้องมี และถ้ามองไปในระดับภาพใหญ่ สภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล โดยมีโควิด-19 เข้ามาเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยา

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด โลกกำลังเผชิญกับ ‘ความไม่แน่นอน’ ครั้งใหม่ ที่เร่งเร้าและกระตุ้นให้ทุกคนต้องทั้งหาทาง ‘เอาตัวรอด’ และ ‘ปรับตัว’ ให้เข้ากับโลกใหม่ใบนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายคนจึงเริ่มพูดถึงหลักการออกแบบชีวิตอีกครั้ง กล่าวคือในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะยังมองหาหรือออกแบบ ‘ความสุข’ ของตนเองได้อย่างไร เจ้าของธุรกิจจะปรับกลยุทธ์อย่างไรให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์วิกฤต และชีวิตการงานรวมถึงการมองโลกของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้

101 ชวนอ่าน 4 บทเรียนออกแบบชีวิต จากมุมมองของวิทยากรจากหลากหลายสาขา และร่วมหาวิธีออกแบบชีวิต (และเอาตัวรอด) ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนได้ นับจากบรรทัดด้านล่างนี้

– บทเรียนที่ 1 –

ออกแบบ ‘ความสุข’ ในสถานการณ์โรคระบาด

สำหรับมุมมองของเจ้าพ่อการออกแบบชีวิต บิล เบอร์เนตต์ (Bill Bernett) หนึ่งในผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง Designing Your Life: คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking และหนังสือที่อาจช่วยให้ชีวิตคนทำงานพอกระชุ่มกระชวยขึ้นมาได้บ้างอย่าง Designing Your Work Life: คู่มือออกแบบชีวิตที่ใช่-งานที่ชอบ ด้วย Design Thinking การระบาดของโควิด-19 เป็นเหมือนความไม่แน่นอนครั้งยิ่งใหญ่ (big disruption) ที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้เกิดขึ้นด้วย 

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น คนส่วนใหญ่มักจะถามตัวเองว่า ‘แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในโลกใบใหม่ล่ะ?’” เบอร์เนตต์ยกตัวอย่าง อย่างไรก็ดี เขามองว่าคำถามดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้ในบริบทของโควิด-19 ที่ระบาดเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ใครหลายคนรู้สึกเหมือนต้องติดอยู่ในห้องนั่งรอ (waiting room) จนเริ่มหงุดหงิดและหัวเสียขึ้นมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ เบอร์เนตต์จึงแนะนำว่า อย่างแรก เราต้องยอมรับก่อนว่าเราจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอนเช่นนี้ไปอีกสักพัก จากนั้นให้เริ่มคิดแบบ ‘นักออกแบบ’ (designer) ที่คอยมองหาวิธีการใหม่ๆ โดยการวางกรอบความคิดใหม่ (reframe) ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากขึ้น

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การตั้งเป้าหมายของตนเองให้ ‘ต่ำ’ เข้าไว้ และพยายามทำสิ่งเล็กน้อยให้สำเร็จก่อน โดยเบอร์เนตต์แนะนำให้ทุกคนลองสร้างต้นแบบ (prototype) เล็กๆ ให้ตนเอง และลงมือทำมันเสีย เช่น การสนทนา การเขียนบล็อกในอินเทอร์เน็ต แต่ที่สำคัญคือคุณจะต้องสนใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย

“การสร้างต้นแบบจะช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้หรือช่วยให้คุณเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ และสิ่งนั้นอาจจะกลายเป็นงานเสริมของคุณในที่สุด” 

อีกสิ่งหนึ่งที่เขาชี้ให้เห็นคือ ในช่วงโรคระบาดเช่นนี้ หลายคนอาจจะเลือกเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านและไม่ออกไปพบปะผู้คน ประกอบกับมาตรการทางสังคมหลายๆ อย่างที่อาจไม่เอื้อให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกันเท่าใดนัก แต่สำหรับเบอร์เนตต์ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ลืมที่จะเชื่อมต่อ (connect) กับคนอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน หรือคนรอบตัว เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเยียวยาสุขภาพใจ และช่วยให้เราก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้

“มีงานศึกษาระบุว่า ความสุขส่วนหนึ่งของคุณขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่คุณมีกับคนรอบตัว –ใครที่รักคุณ ใครที่คุณรัก และคุณแสดงความรู้สึกออกไปอย่างไร” เบอร์เนตต์กล่าว “เพราะฉะนั้น ลองยื่นมือออกไปหาคนรอบตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน และอาจจะขยับขยายออกไปถึงคนที่ทำธุรกิจด้วยก็ได้”

แม้โควิดจะพรากเอาความใกล้ชิดและแทนที่ด้วยการเรียกร้องให้ผู้คนในสังคมเว้นระยะห่างจากกันและกัน แต่สำหรับเบอร์เนตต์ ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงที่เราสามารถเข้าหาผู้คนทั่วโลกง่ายขึ้นผ่านทางโลกเสมือนจริง (virtual) เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นกับความสงสัยใคร่รู้ (curiosity) ของแต่ละบุคคล – คุณอยากรู้เรื่องอะไร และสนใจเรื่องอะไร – แต่ถ้ามองในภาพรวม เบอร์เนตต์มองว่าโควิดยิ่งทำให้การเชื่อมต่อกันของผู้คนทรงพลังยิ่งขึ้นเสียด้วยซ้ำ

“อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องของความสุข” เบอร์เนตต์กล่าวในตอนท้าย “หลายคนอาจจะมีคำถามว่า เราจะมีความสุขได้อย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ แต่คุณรู้ไหมว่าการมีความสุขไม่ได้หมายความถึงแค่มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับตัวคุณ แต่หมายถึงการที่คุณมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และออกแบบให้มันมีความสุขขึ้นมาได้ต่างหาก”

“เพราะความสุขไม่ใช่การได้สิ่งที่คุณต้องการ แต่เป็นการยอมรับและต้องการสิ่งที่คุณมีอยู่มากกว่า” 

– บทเรียนที่ 2 –

ออกแบบ ‘กลยุทธ์’ ในสถานการณ์วิกฤต 

“ตามสถิติแล้ว สถานการณ์ตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่ร้อยปีอาจจะเกิดสักครั้งหนึ่ง” ดร.ธนัย ชรินทร์สาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ (strategic management) กล่าวนำ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า โควิดเป็นวิกฤตที่ทำให้การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ที่หลายๆ องค์กรวางไว้ต้องเจอกับภาวะหยุดชะงักครั้งใหญ่

อย่างไรก็ดี ธนัยชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ดี’ แต่เราอาจจะต้องลองถอยกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่า เราทำแผนเชิงยุทธศาสตร์ไปเพื่ออะไรกันแน่

“เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น เราจะเห็นการตอบสนองอยู่ 2 แบบ แบบแรก คือการตอบสนองเหมือนหมีจำศีลในฤดูหนาว นั่งรอเวลาให้ผ่านไป แต่อย่าลืมว่าฤดูหนาวอาจจะยาวนานกว่าที่คิด และหมีอาจจะไม่รอดก็ได้ หรือถึงรอดก็จะอ่อนแอลง”

แบบที่สอง และสอดคล้องกับที่ (บิล) เบอร์เนตต์กล่าวถึงคือ การเปลี่ยนมุมมองหรือการวางกรอบความคิดใหม่ เพราะสำหรับนักกลยุทธ์แล้ว เราต้องการสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นในทุกสถานการณ์ เราไม่เคยมองว่าสถานการณ์จะดีหรือไม่ดีเลย แม้กระทั่งช่วงที่จำศีล เราก็อาจจะต้องคอยถามตัวเองว่า เราลุกขึ้นมาทำอะไรกับสถานการณ์นี้บ้างได้ไหม ในทางกลับกัน นักกลยุทธ์อาจจะมีมุมมองว่าความไม่แน่นอนอาจจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะอย่าลืมว่าถ้าทุกอย่างแน่นอนไปเสียหมด เราก็ไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้ เหมือนหวยล็อกที่คุณจะถูกหวยต่อเมื่อคุณซื้อเลขตามนั้นเป๊ะๆ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าทุกอย่างแน่นอน คุณจะไม่มีวันทำได้ดีกว่าที่คุณคิดเอาไว้”

ธนัยชี้ให้เห็นว่า นวัตกรรมหรือบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากๆ ล้วนเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง เช่น เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ที่ก่อตั้งแอมะซอน (Amazon) ขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งทิศทางการสื่อสารของโลกเริ่มเปลี่ยนไป ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้โลกของการสื่อสารและการซื้อสินค้าพลอยเปลี่ยนแปลงไปด้วย

“ความไม่แน่นอนทำให้เราสามารถกำหนด (shape) อนาคตได้” ธนัยกล่าวสรุป “การกระทำของเราคือตัวกำหนดอนาคต อย่างที่เราเห็นเทรนด์หลายอย่างกำลังเกิดขึ้นบนโลก ถ้าลองไปศึกษาเรื่องเทรนด์ลึกๆ แล้ว เราอาจจะใช้เทรนด์เพื่อผลักดันสร้างสิ่งที่เราอยากจะเป็นเลยก็ได้ เพราะนวัตกรรมหลายอย่างในโลกไม่ได้เกิดจากเทรนด์ แต่เกิดจากคนที่มองเห็นเทรนด์ และนำสิ่งนั้นมาเป็นพลังสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา”

นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์แล้ว หมวกอีกใบของธนัยยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์องค์กรด้วย อีกหนึ่งคำถามสำคัญจึงเป็นเรื่องการนำกลยุทธ์การออกแบบชีวิตมาปรับใช้กับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) หรือในระดับของบุคคล

“ธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ได้ดีเสมอไป” ธนัยชี้ให้เห็น พร้อมทั้งอธิบายเสริมว่า “ธุรกิจขนาดใหญ่ย่อมมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายและจำนวนพนักงานที่มากขึ้นตาม จะคุยหรือเจรจาอะไรก็อาจจะลำบาก เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดเล็กที่ภาระน้อยกว่า พนักงานน้อยกว่า และอาจสามารถพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้”

“อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ แต่อยู่ที่วิธีการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจมากกว่า”

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ธนัยอธิบายว่า กลยุทธ์ในช่วงวิกฤตต้องออกแบบเป็น 3 ช่วงให้สอดรับกับความซับซ้อนที่เกิดขึ้น ช่วงแรกคือการทำตัวแบบหมีจำศีล เป็นการรับมือระยะสั้นเพื่อให้อยู่รอดไปก่อน สะสมเงินสดเอาไว้มากเท่าที่จะทำได้ และบริหารจัดการตามขนาดขององค์กร 

ช่วงที่สองคือการออกแบบเพื่อให้เกิดความมั่นคง เปรียบเหมือนการเบรกรถยนต์ที่กำลังดิ่งลงเขาไปเรื่อยๆ ให้หยุดก่อน กล่าวคือธุรกิจต้องสร้างความมั่นคง บริหารจัดการให้เงินเข้า-ออกไปด้วยกัน และถ้าทำเช่นนี้ได้ ไม่ว่าสถานการณ์วิกฤตจะเป็นอย่างไร ธุรกิจก็พอจะอยู่รอดไปได้ ซึ่งธนัยยกตัวอย่างการปรับโครงสร้างและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ดังเช่นที่บางบริษัทใช้วิธีจ้างพนักงานเข้าใหม่ในรูปแบบพาร์ตไทม์ (part-time) แทน หรืออย่างในเมืองไทย ร้านอาหารหลายแห่ง โดยเฉพาะร้านอาหารแบบปิ้งย่าง ใช้วิธีส่งกระทะหรืออุปกรณ์ต่างๆ มาให้ลูกค้าถึงบ้าน ซึ่งเขามองว่าเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจ

และ ช่วงที่สาม คือการออกแบบเพื่อการเติบโต กล่าวคือ ธุรกิจต้องสามารถมองไปยังอนาคตเพื่อหามุมของตนเองที่จะเติบโตต่อไปได้ ดังที่โรงแรมหลายแห่งอาศัยช่วงนี้ปิดปรับปรุงชั่วคราว (renovate) เพื่อพร้อมรับกับการเปิดเมืองที่จะมาถึงเมื่อวิกฤตสิ้นสุดลง

ในตอนท้าย เบอร์เนตต์เสริมประเด็นที่น่าสนใจต่อจากธนัยว่า ในสหรัฐฯ มีเหตุการณ์การลาออกครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้น กล่าวคือคนประมาณ 4 ล้านคนออกจากงาน เพราะมองว่าถ้าจะทำงานก็ขอทำงานที่มีความหมายจริงๆ ส่วนคนจำนวนมากก็เริ่มไม่ได้ใส่ใจในงานของตนเอง พูดง่ายๆ คือไปทำงาน แต่ไม่รักงานที่ตัวเองทำ (เอามากๆ)

“หลายบริษัทเลิกจ้างพนักงานในช่วงโควิด ซึ่งอาจจะทำลายความไว้วางใจของพวกเขาไปด้วย แต่หลายที่ก็พยายามปรับตัว เช่น ปรับมาใช้รูปแบบพาร์ตไทม์ พยายามรักษาความรู้สึกของความเป็นทีมและความร่วมมือกันเอาไว้ ซึ่งผมเชื่อว่าบริษัทแบบนี้จะสามารถฟื้นฟูจากวิกฤตได้อย่างแข็งแรงขึ้นและมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทที่เลือกจะปลดคนออกก็อาจจะเจอปัญหาไม่มีคนอยากทำงานด้วยเช่นกัน”

“เพราะฉะนั้น การลาออกครั้งยิ่งใหญ่นี้เป็นสัญญาณเตือนว่า คุณไม่สามารถคิดถึงแต่โมเดลด้านธุรกิจได้ แต่คุณต้องคิดถึงมนุษย์ด้วย”

– บทเรียนที่ 3 –

ออกแบบ ‘ความคิด’ ตามสไตล์คนญี่ปุ่น 

หากพูดถึงประเทศที่เจอกับ ‘ความไม่แน่นอน’ บ่อยที่สุดในโลก หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า เส้นทางของดินแดนอาทิตย์อุทัยลัดเลี้ยวผกผันประหนึ่งนั่งรถไฟเหาะ ไม่ว่าจะเป็นการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 การเผชิญกับภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เอง – ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ประเทศที่เป็นแม่แบบของความไม่แน่นอนเช่นนี้มีมุมมองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

“ญี่ปุ่นค่อนข้างยอมรับในความไม่แน่นอนของตัวเอง” คือคำตอบของ เกตุวดี Marumura หรือ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีที่เราคงคุ้นเคยกันดีอย่างแผ่นดินไหวขึ้นมา 

“ญี่ปุ่นต้องเจอกับแผ่นดินไหวบ่อย และจะเกิดเมื่อไรบ้างก็ไม่รู้ เขาเลยจัดการปัญหาเชิงรุกด้วยการจดสถิติทุกเดือน ทุกปี พยายามวัดหรือทำนายตลอดว่าแผ่นดินไหวใหญ่จะเกิดเมื่อไหร่ และถ้าเกิดแล้วจะเตรียมการอย่างไร”

การเตรียมการของญี่ปุ่นยังไปไกลถึงขั้นว่า หากพอทราบคร่าวๆ ได้แล้วว่าอีกประมาณสิบปีข้างหน้าจะเกิดแผ่นดินไหวที่ฝั่งใด บริษัทญี่ปุ่นก็จะพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ ส่วนบริษัทรถไฟก็จำลองหรือเตรียมการเพื่อพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยเมืองจะได้ไม่พัง

เกตุวดียกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงโตเกียวเมื่อราวสองทศวรรษที่แล้ว ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว รัฐบาลโตเกียวแก้ปัญหาด้วยการขุดอุโมงค์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 20 เมตร เพื่อที่หากฝนตกใหญ่คราวหน้า น้ำจะได้ไหลลงอุโมงค์และไม่ต้องมาท่วมถนนอีก ซึ่งแม้อุโมงค์ดังกล่าวจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างเสร็จ แต่พอเกิดฝนตกน้ำท่วมใหญ่อีกรอบ ผลคือโตเกียวไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมอีกเลย

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่คนญี่ปุ่นมักหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิที่พื้นที่แถบโทโฮคุ (Tohoku) ซึ่งในโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่เพิ่งจบไปก็มีการสื่อสัญลักษณ์ต่างๆ ถึงพื้นที่โทโฮคุ ไม่ว่าจะเป็นการนำเด็กจากภูมิภาคดังกล่าวมาร่วมเชิญคบเพลิง หรือนำช่อดอกไม้ที่ปลูกจากภูมิภาคโทโฮคุมาใช้ในโอลิมปิกด้วย เกตุวดีชี้ว่า นี่คือความพยายามของคนญี่ปุ่นในการย้ำเตือนว่า พวกเขาจะจดจำเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดใหญ่แบบเดิมอีก และจะกลับมาทบทวนข้อผิดพลาดเพื่อลดโอกาสที่ความผิดพลาดจะเกิดขึ้นซ้ำให้ได้มากที่สุด

นอกจากเรื่องการเป็นแม่แบบของความไม่แน่นอนแล้ว ญี่ปุ่นยังมีแนวความคิด ‘อิคิไก’ (Ikigai) ที่หลายคนรู้จักกันดีอีกด้วย ซึ่งเกตุวดีอธิบายว่า อิคิไกคือเป้าประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ (purpose of living) ชวนให้หันกลับมาถามตัวเองว่า เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร

“ในสถานการณ์แบบนี้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ฉันจะเจอความสุขหรอ ฉันกำลังเครียดนะ แต่ถ้ามองให้ง่ายกว่านั้น เราลองถามตัวเองดูว่า เรามีความสุขในการทำให้คนอื่นมีความสุขได้ยังไงบ้าง คือพยายามดูว่า เราสัมผัสได้ถึงความสุขจากการสร้างความสุขให้คนอื่นหรือเปล่า”

“ตัวอย่างของอิคิไก เช่น ร้านขายราเม็งญี่ปุ่นที่ตั้งใจทำราเม็งมากๆ ต้มน้ำซุปเองหลายชั่วโมง เส้นก็ทำเอง คือถ้ามองในแง่ผลประโยชน์ด้านการเงิน มันไม่คุ้มค่าแรงอยู่แล้ว แต่เจ้าของร้านบอกว่า วินาทีที่ลูกค้าซดน้ำซุปจนหมดถ้วย หรือซดแล้วยิ้มได้ เขามีความสุขมากๆ เลย นี่แหละคือเป้าประสงค์ของเขาว่าอยากทำก๋วยเตี๋ยวให้คนทานแล้วมีความสุข นี่คืออิคิไกของเขา และถ้าเราคิดแบบนี้ได้ เราจะมีพลังมากในการทำงาน”

ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ เกตุวดีชี้ว่า อิคิไกของเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไป แต่ในทางกลับกัน เราอาจจะลองถามตัวเองว่า อิคิไกของเราสามารถถูกนำไปใช้เพื่อคนกลุ่มไหนได้บ้าง และถ้าเรามีความสุขในการทำเพื่อคนอื่นแล้ว โอกาสทางธุรกิจหรือรายได้ก็อาจจะตามมาทีหลัง

“ถ้าถามว่าเราจะเจอความสุขได้อย่างไร จริงๆ คนเราก็ย่อมมีความเครียดและความกังวลอยู่แล้ว แต่ความคิดแบบนี้มาจากการที่เราคิดถึงตัวเองเสียเยอะ ลองโยกความสนใจที่เรามีให้ตัวเองไปให้คนอื่นบ้าง คิดว่างานที่เราทำจะทำให้ใครมีความสุขได้ไหม หรือทำให้ใครรู้สึกขอบคุณได้บ้างหรือเปล่า”

นี่จึงนำมาสู่เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ สองข้อ ข้อแรกคือ คิดเสมอว่าเราจะทำอะไรเพื่อให้คนอื่นมีความสุขได้บ้าง และ ข้อสอง ลองมองรอบตัวว่าวันนี้มีอะไรที่น่ากล่าวคำขอบคุณบ้าง

“การกระทำเช่นนี้จะทำให้เรามองเห็นความงดงามของผู้อื่นที่ทำดีให้เรา และจะเป็นพลังที่ทำให้เราอยากทำดีกับผู้อื่นต่อไปเช่นกัน” เกตุวดีทิ้งท้าย

– บทเรียนที่ 4 –

ออกแบบ ‘การงาน’ ในโลกใหม่หลังโควิด-19

“จุดเริ่มต้นคือผมอยากนำ designing your life เข้ามาในเมืองไทยเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง ‘งาน’ ซึ่งเป็นปัญหาสากลของคนทั้งโลก”

ข้างต้นคือคำเกริ่นนำจาก ดร.เพิ่มสิทธิ์ นำประสิทธิผล ผู้ก่อตั้งบริษัท Modular Consultingโดยเพิ่มสิทธิ์พาเราย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ที่เทคโนโลยีต่างๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำงาน ในตอนนั้นมีค่านิยมว่ายิ่งทำงานหนักจะยิ่งได้ผลตอบแทนดี ให้มีความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ แต่เช่นเดียวกับเหรียญที่ย่อมมีสองด้านเสมอ วัฒนธรรมแบบนี้ทำให้อัตราการเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือแพนิค เพิ่มขึ้นพรวดพราดในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่นับอัตราการหมดไฟในหมู่คนวัยทำงานที่มีให้ได้ยินเป็นระยะๆ

“มีผลสำรวจว่าพนักงานเงินเดือนทั่วโลกเฉลี่ย 67% เกลียดงานตัวเอง และถ้าเราไปดูพวกกิจกรรมการซื้อของออนไลน์หรือการหางานใหม่ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นในเวลางานหมดเลย เท่ากับว่าคนจำนวนมากไม่สนุกกับงานแล้ว ผมจึงคิดว่า designing your life น่าจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราออกแบบชีวิตที่ ‘ลงตัว’ ในบริบทของตัวเอง และช่วยให้เราจัดการกับเรื่องไม่พอใจหรือเกลียดงานได้”

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยสภาวะปัจจุบัน การออกแบบชีวิตที่แค่จะ ‘ลงตัว’ ยังดูเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน เพิ่มสิทธิ์จึงให้คำแนะนำที่ค่อนข้างสอดคล้องกับวิทยากรท่านอื่น กล่าวคือการเริ่มออกแบบชีวิตช่วงนี้จะต้องเริ่มจากการมองโจทย์ตามความจริง พินิจพิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ และยอมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“แต่การยอมรับก็มีหลายแบบ” เพิ่มสิทธิ์อธิบาย “ทั้งการยอมรับแบบโทษโชคชะตาว่าทำไมถึงโชคร้าย ซึ่งอาจจะเป็นการยอมรับแบบแรกที่ง่ายที่สุด แต่พอเวลาผ่านไป เราก็จะรู้สึกว่าเราไม่สามารถลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรกับการยอมรับแบบนี้เพราะเรามองว่ามันเกิดจากปัจจัยภายนอก อีกแบบหนึ่งคือการยอมรับแบบหมีจำศีลอย่างที่คุณธนัย (ชรินทร์สาร) พูดไปแล้ว หรือการยอมรับแบบกลั้นใจ ทนไปก่อนจนกว่าเรื่องราวจะจบ และแบบสุดท้ายคือ การยอมรับแบบ generative ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างดีกว่าสองแบบแรก คือเราต้องหันมาดูก่อนว่าถ้ามีข้อจำกัดแบบนี้ เราจะก้าวข้ามอย่างไร เพราะอย่างไรเสีย เราต้องยอมรับว่าเราจะต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ไปอีกสักพัก เมื่อยอมรับข้อจำกัดได้ก็ก้าวต่อไป หาวิธีอยู่กับข้อจำกัดที่ตัวเองมี เพราะบางทีกลยุทธ์ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเล่นเพื่อจะชนะอย่างเดียว แต่เป็นการเล่นไม่ให้แพ้มากกว่า”

นอกจากการรองรับและปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นที่เริ่มถูกพูดถึงกันยังขยับไปถึงเรื่องโลกในยุคที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจากโควิด ซึ่งเพิ่มสิทธิ์มองในทิศทางที่คล้ายกับเบอร์เนตต์ว่า โลกหลังโควิดกำลังเริ่มเกิดภาวะการโยกย้ายครั้งยิ่งใหญ่ (great migration) ดังเช่นที่สหรัฐฯ กำลังประสบภาวะขาดแคลนแรงงาน หรือทั่วโลกเจอภาวะคนลาออกมากที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เพราะการทำงานที่บ้านอย่างยาวนานทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าการกลับไปทำงานที่สำนักงานอาจจะไม่ใช่คำตอบของชีวิตอีกต่อไป

แต่ถ้าเป็นเมืองไทย เพิ่มสิทธิ์มองว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นการลาออกแบบขนานใหญ่ชัดเจนนัก แต่คนไทยน่าจะกลับมาจัดลำดับความสำคัญใหม่ หรือเกิดการบูรณาการระหว่างงานกับชีวิต (work-life integration) มากขึ้น หลายคนเริ่มมองหาแนวทางการทำงานแบบผสมผสาน (hybrid) ระหว่างการทำงานที่สำนักงานสลับกับการทำงานที่บ้าน หรือบางคนอาจจะเริ่มหันไปหาการทำงานมากกว่าหนึ่งบริษัท (fractional role) ก็เป็นได้

“อีกเทรนด์หนึ่งที่ผมคิดว่ามีแนวโน้มเกิดขึ้นคือ จำนวนฟรีแลนซ์จะเพิ่มขึ้นเยอะมาก เพราะฟรีแลนซ์เป็นงานที่ยืดหยุ่นมากกว่า เลือกทำในสิ่งที่อยากทำได้มากกว่า อีกอย่างคือนิยามของความมั่นคงในยุคนี้อาจจะเปลี่ยนไปจากสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่เราแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ได้นิยามว่าความมั่นคงจะต้องเท่ากับการมีงานประจำเสมอไป”

เมื่อโลกหลังโควิดมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาลเช่นนี้ ‘ทักษะ’ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และนอกจากทักษะแบบ ‘ล้มแล้ว ลุกเร็ว’ (resilience) ที่หลายคนพูดถึงแล้ว เพิ่มสิทธิ์ยังมองว่าอีกหนึ่งทักษะสำคัญในโลกแห่งความไม่แน่นอนนี้คือ ความช่างสงสัย (curiosity)

“ผมกำลังพูดถึงความช่างสงสัยเหมือนเด็กที่ช่างสงสัย มีความสนุกปนอยู่ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เพราะในโลกแห่งความไม่แน่นอน บริบท (context) ต่างๆ จะเปลี่ยนไปเร็วมาก ดังนั้นถ้าคุณมีความช่างสงสัย คุณจะสามารถจับเทรนด์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และยิ่งถ้าจับเทรนด์ได้ไวก็อาจจะช่วยให้คุณติดลมบน เป็น early adopter และทำให้ความรู้พัฒนาได้ไวกว่าคนอื่นด้วย”

นอกจากความช่างสงสัยแล้ว เพิ่มสิทธิ์ยังให้นิยามว่า โลกในอนาคตจะเป็นโลกแห่งการเชื่อมต่อจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง (connect the dot) ซึ่งต้องอาศัยความสร้างสรรค์ (creativity) และเป็นโลกที่เรียกร้องคนที่สามารถ ‘เก็บเล็กผสมน้อย’ มากขึ้น หรือถ้าพูดให้ชัดเจน โลกในอนาคตจะไม่ได้มีแค่ผู้เชี่ยวชาญที่เก่งแบบหนึ่งในล้าน แต่จะเรียกร้องคนที่อาจจะไม่ได้เก่งแบบหนึ่งในล้าน แต่เก่งในหลายๆ ด้านแล้วมาผสมกัน

“อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญมากๆ คือความฉลาดทางสังคม (social intelligence) หรือการออกไปเชื่อมต่อกับคนรอบนอกในสังคม เพราะผมคิดว่าในอนาคต โลกเราจะเล็กลงเรื่อยๆ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าคุณจะใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน อนาคตทุกคนอาจจะเป็นพลเมืองโลก (global citizen) ที่เชื่อมต่อกับคนทั่วโลกได้หลากหลาย เวลาคุณจะเรียนรู้อะไรก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนจากคนไทยที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้น แต่สามารถเชิญคนจากทุกมุมโลกมาให้ความรู้กับคุณได้ แต่นั่นก็หมายความว่าเวลาคุณจะทำอะไร คุณจะไม่ได้แข่งกับแค่คนไทย แต่แข่งกับคนทั่วโลกด้วยเช่นกัน ผมเลยมองว่าการเก็บเล็กผสมน้อยเป็นเรื่องสำคัญ และจะช่วยให้เราอยู่รอดในโลกที่ผันผวนใบนี้ได้” เพิ่มสิทธิ์ปิดท้าย


หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจาก “DYL Panel: Surviving the World of Uncertainty ออกแบบชีวิตในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน” ในวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2564 และหากท่านใดสนใจอยากรู้เรื่องราว ‘การออกแบบชีวิต’ เพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่เพจ Modular Consulting – Human Center Approach for Better Results

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save