fbpx
วัคซีน

3 ‘V’ แห่งความท้าทายเศรษฐกิจไทย


แนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตั้งแต่ปลายปีก่อนเรารู้อยู่แล้วว่า

  • ธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะฟื้นตัวเป็นลำดับท้ายๆ เพราะการเดินทางข้ามประเทศคือประเด็นละเอียดอ่อนในโลกโควิด ต้องทั้งคุมโรคอยู่ ตกลงกับประเทศต่างๆ ให้ได้ว่าจะลดจำนวนวันกักตัวให้กันและกัน มีระบบพาสปอร์ตสุขภาพที่ระบุข้อมูลการฉีดวัคซีนและประวัติการติดเชื้อโควิด ฯลฯ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ เป็นต้น
  • การส่งออกจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ามาก เพราะวัคซีนจะกระจายไปยังสหรัฐฯ และยุโรปก่อน ในขณะที่จีนก็ฟื้นตัวได้ดีอยู่แล้ว ทั้งหมดล้วนเป็นตลาดใหญ่ที่นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก 
  • เศรษฐกิจไทยอาจได้อานิสงส์จากการส่งออกจริง แต่ก็มีข้อเสียเปรียบตรงที่เราพึ่งพาการท่องเที่ยวต่างประเทศสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียมาก 

แต่ในไม่กี่เดือนมานี้ มีปัจจัยความท้าทาย ‘3V’ เข้ามาทำให้ต้องปวดหัวมากกว่าที่เคยคิดไว้ 

V แรก ‘Variants’ 

ไวรัสเริ่มกลายพันธุ์ อย่างสายพันธุ์ที่พบในสหราชอาณาจักร (B.1.1.7) จนตอนหลังกลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) สายพันธุ์บราซิล (P.1) และล่าสุดคือสายพันธุ์ที่พบที่อินเดีย (B.1.617, B.1.618) 

แม้ไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่การกลายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงคือการกลายพันธุ์แบบ E484K หรือที่มีชื่อเล่นว่า Eek (Eek Mutation) 

แม้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังมีไม่มาก แต่หลักฐานเท่าที่พอมีชี้ให้เห็นว่าการกลายพันธุ์เช่นนี้จะสร้างความยุ่งยากเพราะ 

  • ทำให้ไวรัสแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น 
  • มีความรุนแรงขึ้น (อัตราการป่วยรุนแรงสูงขึ้น)
  • วัคซีนได้ผลน้อยลง 

อย่างกรณีในบราซิล การศึกษาพบว่าเชื้อสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมประมาณ 2 เท่า โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเดิม 40-50% และที่แปลกคือ มีอาการรุนแรงในคนอายุน้อยมากกว่าคนสูงอายุ แตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม 

ในด้านการ ‘ดื้อ’ วัคซีน มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้อาจลดประสิทธิภาพวัคซีน AstraZeneca ลงเหลือแค่ 10% เป็นต้น (แต่ขอย้ำนะครับว่าอย่าเพิ่งเชื่อผลนี้ 100% ทั้งหมดนี้คงต้องรอข้อมูลและการศึกษาเพิ่มก่อนจึงจะมั่นใจได้)

V ตัวนี้ทำให้โจทย์ทางเศรษฐกิจยากขึ้นเพราะ

  1. โจทย์การเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยวซับซ้อนขึ้น เพราะเราอาจต้องรู้ว่านักท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้ามามีความเสี่ยงจะนำเชื้อสายพันธุ์ที่อันตรายกว่าปกติและวัคซีนเอาไม่อยู่หรือไม่ 
  2. ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดได้ยากขึ้น ที่เราได้ยินว่าต้องฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 70% ของประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า วัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน 100% แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้แต่วัคซีนกลุ่ม mRNA ที่ว่ามีประสิทธิภาพสูงก็ใช่ว่าฉีดแล้วจะไม่ติดเชื้อเลย ยิ่งหากมีการกลายพันธุ์ที่ลดประสิทธิภาพของวัคซีน ยิ่งแปลว่าเราอาจต้องฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากกว่าเดิมเพื่อจะให้ 70% ของประชากรมีภูมิคุ้มกัน 
  3. เลือกวัคซีนผิดชีวิตเปลี่ยน เพราะวัคซีนแต่ละประเภทอาจมีประสิทธิภาพในการรับมือเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ต่างกัน อย่างที่ยกตัวอย่างข้างต้นว่า งานศึกษาบางชิ้นชี้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนบางตัวอาจร่วงมากกว่าตัวอื่น 
  4. การกลายพันธุ์ยังไม่จบ ยิ่งสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในคนหมู่มาก อย่างเช่นในอินเดียที่ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 4 แสนคนต่อวัน ก็อาจยิ่งทำให้เกิดการกลายพันธุ์ต่อจนคาดเดาได้ยาก 

V ที่ 2 ‘Vaccine’

วัคซีนอาจไม่ใช่ยาวิเศษที่ทำให้โควิดหายไป แต่วัคซีนยังคงสำคัญมากเพราะสามารถช่วยลด trade-off หรือความยากในการหาจุดสมดุลระหว่างขีดจำกัดด้านสาธารณสุขและการรักษาระบบเศรษฐกิจได้

โจทย์นโยบายที่ท้าทายที่สุดข้อหนึ่งในยุคโควิดคือ หากไม่เปิดประเทศรับการท่องเที่ยว เศรษฐกิจก็ไม่มีทางฟื้นเต็มที่

ธุรกิจไม่น้อยต้องล้มตาย คนจำนวนมากตกงาน แต่หากเปิดประเทศเร็วไป (หรือกลับมาปิดประเทศใหม่ช้าไป) จนเกิดการระบาดรุนแรงถึงขั้นล้นกำลังของระบบสาธารณสุข ยอดคนเสียชีวิตพุ่งจนสุดท้ายต้องปิดประเทศด้วยมาตรการที่รัดกุมกว่าเดิมจนอาจถึงขั้นล็อกดาวน์ ก็ทำให้ต้องทั้งสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจพัง การตัดสินใจทั้งหมดนี้มักต้องเกิดภายใต้สภาวะที่ข้อมูลไม่สมบูรณ์และผิดพลาด ตัดสินใจห่างกันไม่กี่วันก็ทำให้ได้ผลต่างกันราวฟ้ากับเหว

วัคซีนช่วยลดปัญหานี้ได้ด้วยการลดความเสียหาย (Downside) จากการที่ผู้วางนโยบายตัดสินใจพลาด ทำให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารเศรษฐกิจ-ระบบสาธารณสุขมากขึ้น 

  • วัคซีนทุกประเภทที่เรารู้จักกันตอนนี้ช่วยลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิผล หมายความว่าแม้อาจตัดสินใจพลาดเปิดเมืองเร็วไปบ้าง (หรือปิดใหม่ช้าไปบ้าง) ยอดคนที่จะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลและ ICU ก็จะลดลงกว่าเดิมมาก ซึ่งลดความเสี่ยงที่ระบบสาธารณสุขรองรับจำนวนผู้ป่วยไม่ไหว
  • แม้วัคซีนปัจจุบันอาจป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้น้อยลง แต่เท่าที่ทราบรายละเอียด วัคซีนยังสามารถลดความเสี่ยงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิผลอยู่ (อย่างน้อยจากกรณีศึกษาที่ใช้ Novavax และ Johnson & Johnson)
  • แน่นอนว่าหากฉีดวัคซีนได้มากเพียงพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ก็ย่อมยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อเป็นวงกว้างต่ำลงจนสามารถทดลองการเปิดประเทศในรูปแบบใหม่ๆ และหากยิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เร็ว เศรษฐกิจก็ยิ่งฟื้นตัวเร็วเช่นกัน

ยิ่งเศรษฐกิจของประเทศพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเท่าไหร่ ประเทศนั้นก็ยิ่งต้องการวัคซีนมากขึ้นเท่านั้น

3 ด้านของยุทธศาสตร์วัคซีน : Supply – Distribution – Demand

ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์วัคซีน โดยมี 3 มิติสำคัญ

หนึ่ง ซัพพลาย (Supply) – วัคซีนควรมีจำนวนมากพอและหลากหลายยี่ห้อ จริงๆ แล้วหากมองในมุมการบริหารความเสี่ยง การมีจำนวนวัคซีนเหลือดีกว่าขาด เพราะอาจต้องมีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อให้ภูมิคุ้มกันอยู่ต่อเนื่องและไม่เสื่อมหายตามเวลา ความหลากหลายของประเภทวัคซีนเองก็สำคัญ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าวัคซีนชนิดไหนจะรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ได้อยู่หมัด จึงต้องมีการกระจายความเสี่ยงบ้าง 

สอง การกระจายวัคซีน (Distribution) – รัฐบาลต้องกำหนดลำดับขั้นตอนการฉีดวัคซีนว่าใครจะมีสิทธิได้รับวัคซีนก่อนหรือหลัง อย่างเช่น วิธีของสหราชอาณาจักรที่เน้นฉีดเข็มแรกเป็นวงกว้างก่อนในยามที่ปริมาณวัคซีนมีจำกัดก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะการศึกษาชี้ให้เห็นว่าลดอัตราการป่วยหนักได้ดี 

นอกจากนี้ ยังต้องรักษาสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายวัคซีนกับการช่วยให้คนเข้าถึงระบบดิจิทัลได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้ระบบ เพราะคนกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการฉีดวัคซีน อย่างในสิงคโปร์ นอกจากจะเปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนทางเว็บไซต์แล้ว ยังมีการแต่งตั้งคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจคนรุ่นใหญ่ให้ทำหน้าที่ ‘ยุวทูตสีเงิน’ (Silver Generation Ambassador) ไปช่วยผู้ใหญ่ลงทะเบียนตามที่พักและสโมสรต่างๆ

สาม ดีมานด์ (Demand) ซึ่งเป็นด้านที่ยังไม่มีการพูดถึงกันมาก ปัญหาที่หลายประเทศพบคือ เมื่อเริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนล็อตแรกๆ แล้ว ความต้องการในการฉีดวัคซีนอาจลดลง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากหรือไม่กล้าฉีดวัคซีน ส่วนหนึ่งเพราะกลัวความเสี่ยงจากผลข้างเคียง (แต่ข่าวปลอมก็สะพัดมากเช่นกัน) บางส่วนเพราะไม่เข้าใจความสำคัญ หรือบางส่วนเพราะความเชื่อ

ดังนั้นการสื่อสาร ‘ทำแคมเปญ’ ให้คนเข้าใจประโยชน์พร้อมกับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในการฉีดวัคซีน รวมทั้งแยกแยะข่าวจริง-ปลอมจึงสำคัญมาก โดยในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ประชาชนไปฉีด มักมีการใช้ Influencers หรือคนที่สามารถสื่อได้กับคนรุ่นนั้นๆ เป็นผู้ช่วยกระจายข้อความ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาชื่อดัง (สหรัฐฯ) ผู้นำด้านศาสนา (อิสราเอล) ฯลฯ ทั้งยังมีการให้แรงจูงใจเสริม อย่างล่าสุดในสิงคโปร์ เริ่มมีการพูดคุยกันว่าจะอนุญาตให้คนที่ฉีดวัคซีนแล้วไปเที่ยวต่างประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำไม่ต้องกักตัวตอนกลับเข้าประเทศ

V ที่ 3 ‘Vulnerable’

V ตัวที่ 1+2 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความเปราะบาง (vulnerable) เพราะอาจต้องหันกลับมาต่อสู้กับการระบาดเป็นระยะๆ ได้เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น สำคัญปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้กลุ่มเปราะบางที่ชอกช้ำอยู่แล้วถูกซ้ำเติมจนบาดแผลลึกขึ้นและหายช้าลง เพราะเปิดประเทศได้ช้าลง และเงินเก็บยิ่งหมดลง

ดังนั้นนอกจากยุทธศาสตร์วัคซีนแล้ว นโยบายเศรษฐกิจมหภาคยังมีหน้าที่สำคัญในการ ‘ซื้อเวลา’ ต่อชีวิตให้กลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น แรงงานนอกประกันสังคมที่ไม่มีตาข่ายทางสังคมรองรับ ครัวเรือนที่ต้องแบกรับภาระหนี้สูง ธุรกิจ SMEs ที่สายป่านหมดจนอาจต้องปิดกิจการถาวร หรือเด็กนักเรียนจำนวนมากที่จำต้องออกจากระบบการศึกษา ฯลฯ 

นโยบายการคลัง ‘ยุคสงคราม

นโยบายการคลังควรเป็นทัพหน้าและมีนโยบายการเงินคอยสนับสนุน

อาจต้องยอมรับความจริงที่ว่า พรก. เงินกู้ 1 ล้านล้านที่เหลืออยู่กว่า 2-3 แสนล้านนั้นอาจไม่เพียงพอกับการต่อสู้สงครามเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อครั้งนี้ ฉะนั้นการกู้เพิ่มอาจเป็นสิ่งจำเป็น

ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีช่องทางในการกู้เพิ่มได้แม้หนี้สาธารณะอาจต้องสูงขึ้นจนแตะ 60% ของ GDP ที่เป็นกรอบวินัยการคลังก็ตาม เพราะ เรากำลังอยู่ในภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำลงมากซึ่งช่วยลดภาระการชำระหนี้ และที่สำคัญคือ หากยิ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็ว การจัดเก็บภาษีก็จะฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น

เพียงแต่การใช้กระสุนการคลังชุดใหญ่ หรือ ‘บาซูก้า‘ นั้นต้องยึดหลักการ ‘5T‘ อย่างที่ผมเคยได้เขียนไว้ตั้งแต่ปีก่อนคือ ใหญ่พอ (Titanic) รวดเร็ว (Timely) ตรงเป้า (Targeted) โปร่งใส (Transparent) และชั่วคราว (Temporary)

พูดถึงนโยบายที่ตรงเป้า ผมอยากหยิบยกสิ่งที่เคยเสนอไปมาใช้อีกครั้ง เช่น นโยบายรัฐสนับสนุนค่าจ้างหรือรายได้แรงงานเพื่อให้ธุรกิจที่ไม่มีรายได้ไม่ต้องไล่คนออก ซึ่งใช้กันทั้งในเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา และสิงคโปร์อย่างได้ผลมาแล้วตลอดหนึ่งปีที่สู้กับโควิดมา

ภายใต้โครงการเช่นนี้ แทนที่ธุรกิจที่ขาดกระแสเงินสดจะต้องลดคนงานไปแล้วรีบจ้างแรงงานใหม่เมื่อเศรษฐกิจฟื้น สิ่งที่ธุรกิจเหล่านี้สามารถทำได้คือ ลดจำนวนชั่วโมงทำงานลงและใช้ค่าจ้างที่อุดหนุนโดยรัฐบาลช่วยจ่ายชดเชยบางส่วนเพื่อให้คนทำงานที่รายได้ลดลงพออยู่ได้ เมื่อ ‘เปิดเมือง’ คนทำงานก็ไม่ต้องหางานใหม่ สามารถทำงานเดิมต่อได้เลยเพราะไม่ได้ถูกปลด โดยส่วนตัวผม มองว่ารัฐบาลควรพิจารณานโยบายนี้อย่างน้อยกับภาคการท่องเที่ยวที่ต้องเผชิญศึกโควิดยืดเยื้อกว่าใคร

สุดท้าย จุดร่วมที่ 3V มีเหมือนกันคือ มันเตือนเราว่าโลกกำลังเผชิญ ‘ภาวะความไม่แน่นอน’ ที่สูงมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดในสภาวะเช่นนี้คือ ‘การบริหารความเสี่ยง’ (Risk management) ทั้งในแง่คนและองค์กร ประเทศที่เข้าใจและให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง รู้จักเผื่อเหลือเผื่อขาด วางแผน วางฉากทัศน์เป็น ใช้ข้อมูลประเมินผลตลอดเวลา ยอมรับผิดปรับตัวได้เร็ว จะเป็นผู้ที่ได้ ‘V’ ตัวสุดท้าย คือ Victory หรือชัยชนะในสงครามโควิดก่อนใคร

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save