fbpx
บทเรียน 30 ประการ : วินาทีที่เกิดเหตุกราดยิง เราจะตื่นจากฝันร้ายได้อย่างไร

บทเรียน 30 ประการ : วินาทีที่เกิดเหตุกราดยิง เราจะตื่นจากฝันร้ายได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เหตุกราดยิงที่ห้าง Terminal 21 นครราชสีมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 30 ราย บาดเจ็บอีก 58 คน กลายเป็นโศกนาฏกรรมคืนมาฆบูชา และพฤติการณ์ของ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารชั้นประทวน วัย 32 ปี ประจำกองพันกระสุนที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ก็จะหลอกหลอนสังคมไทยไปอีกนาน

แต่หากจะตื่นจากฝันร้าย สังคมไทยควรสบตาและทำความเข้าใจความจริงที่ซุกซ่อนอยู่หลังพฤติการณ์ของมือปืนอย่างไร อะไรคือรากของความรุนแรงที่จู่ๆ ก็ปะทุขึ้นเหนือปล่องภูเขาไฟ สังคมแบบไหนที่จะลดปัจจัยเสี่ยงเหตุสะเทือนขวัญได้ และเมื่อ ‘เด็ก’ คือจุดเปราะบางและอ่อนไหวที่สุดของสังคม เราควรทำอย่างไรเพื่อให้บาดแผลในใจหายบอบช้ำ โดยเฉพาะเด็กที่ประสบเหตุดังกล่าว

101 สรุปบทเรียน 30 ประการ จากการคุยกับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ เจ้าของหนังสือ ‘วิกฤติตำรวจและงานสอบสวน จุดดับกระบวนการยุติธรรม’ในมุมอาชญาวิทยา, อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ สุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาภัยก่อการร้ายในหลายทวีป สวมแว่นความมั่นคงมองเหตุดังกล่าว และ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา เสนอทางออกในการเยียวยาสังคมทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

มุมมองอาชญาวิทยา

 

ประการที่ 1 – พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร มองว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์แรก เพียงแต่รอบนี้เกิดความเสียหายรุนแรงในวงกว้าง

ประการที่ 2 – เหตุการณ์กราดยิงที่โคราชเป็นอาชญากรรมที่มีพื้นฐานคือความคับแค้นใจต่อการถูกเอาเปรียบของผู้บังคับบัญชา หรือหน่วยงานที่ตัวเองสังกัด ไม่ใช่แค่เรื่องของคนเสียสติที่กราดยิงผู้บริสุทธิ์ แต่การใช้คำว่า ‘ทหารคลั่ง’ ในข่าวทำให้ข้อเท็จจริงแวดล้อมถูกลดทอน

ประการที่ 3 – มือปืนเป็นทหารชั้นประทวน มีรายงานจำนวนมากระบุว่าข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ก่อเหตุลักษณะดังกล่าวคือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมเมื่อถูกเอาเปรียบ คำว่า ‘ประทวน’ หมายถึงผู้ไม่มีอำนาจ ทำตามคำสั่งอย่างเดียว นี่คือสถานะที่โครงสร้างสังคมอำนาจนิยมสร้างขึ้น

ประการที่ 4 – ปกติทหารมีความเคารพผู้บังคับบัญชาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อผู้บังคับบัญชากลายเป็นพ่อค้า ความเคารพนับถือกันย่อมลดลง ให้ลองคิดว่าเวลาคุณไปซื้อของ มีแต่คนขายที่ต้องพินอบพิเทาคนซื้อ แต่เหตุของความคับแค้นเป็นลักษณะการค้าขายเชิงอำนาจด้วย ทำให้ความเคารพเดิมย่อมผิดหวังและกลายเป็นบ่อเกิดของการแก้แค้น

ประการที่ 5 – ธรรมชาติของคนที่คับแค้นใจและไม่มีอะไรจะเสีย มักสร้างความเสียหายให้เกิดมากที่สุด

ประการที่ 6 – ตามกฎหมายแล้ว ถ้ามือปืนถูกจับกุมจะต้องรับโทษประหารชีวิตหรืออาจจะติดคุกตลอดชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ามือปืนกระทำการโดยการไตร่ตรองไว้ก่อนและพร้อมสละชีวิตตัวเอง ถ้าไม่ยิงตัวตายก็พร้อมถูกวิสามัญ

ประการที่ 7 – ความที่เป็นมืออาชีพด้านปืนบวกกับความคับแค้นใจ ยิ่งทำให้มือปืนพยายามทำให้เกิดการสูญเสียจนสำเร็จ

ประการที่ 8 – การปฏิบัติการที่มีตัวประกันเสียชีวิตหรือตำรวจเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ในทางหลักการถือว่าล้มเหลว ประเด็นคือหน่วยปฏิบัติการพิเศษในพื้นที่มีอำนาจตัดสินใจได้จริงแค่ไหน ถ้าเป็นหน่วยงานที่มืออาชีพ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ถูกฝึกมาย่อมมีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาได้ดีกว่าผู้บริหาร เปรียบเทียบกับแพทย์คนหนึ่งจะผ่าตัดฉุกเฉิน ผอ.โรงพยาบาลไม่ต้องมาสั่งการว่าจะผ่าอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ประการที่ 9 – ในประเทศเจริญแล้ว บทบาทของตำรวจในการป้องกันอาชญากรรมจะมีมากกว่าการจับผู้ร้าย นี่คือความสำคัญของงานสืบสวนสอบสวนเพื่อหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไขปัญหา จริงๆ ไม่ควรมีฮีโร่จากความป่วยไข้ของสังคม แต่ประเทศไทยมักถนัดสร้างฮีโร่หลังเกิดอาชญากรรม แต่ในด้านกลับกันบางทีวัฒนธรรมฮีโร่นั่นแหละที่เอื้อให้เกิดการสร้างผู้ร้ายขึ้น

ประการที่ 10 – อาชญากรทุกคนเป็นเหยื่อของสังคมด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะอาชญากรรมเป็นภาพสะท้อนความป่วยไข้ของสังคม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นชัยชนะของใคร แต่เป็นความพ่ายแพ้ของชาติ

 

แว่นตาความมั่นคง

 

ประการที่ 11 – อาทิตย์ ทองอินทร์ มองเหตุกราดยิงในประเด็นว่าเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ว่า mass shooting นั้นเป็นกริยาในกลุ่มเดียวกันกับการวางระเบิด การลอบสังหาร และการโปรยตะปูเรือใบ ส่วนอะไรที่จะเข้าความหมายว่าเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ต้องดูที่เป้าหมาย หากมีเป้าหมายทางการเมืองหรือขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ มีแนวคิดบางอย่างซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา หรือศาสนานิยมก็ตาม แต่กรณีที่เกิดขึ้นที่โคราชยังไม่ใช่

ประการที่ 12 – ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ใช่ก่อการร้ายก็ตาม การกราดยิงเป็นพฤติกรรมเลียนแบบโดยธรรมชาติ เนื่องจากสถิติเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวมักมีร่องรอยของหลักฐานที่เชื่อมโยงได้ว่ามือปืนเสพหรือบริโภคข่าวเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแบบเดียวกันมาก่อน

การลอกเลียนแบบมีสองมิติ 1) การลอกเลียนแบบในเชิงแรงบันดาลใจ นี่เป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังหวาดกลัวอยู่ในขณะนี้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่คิดว่าการกระทำดังกล่าวคือฮีโร่ โดยมีจุดเชื่อมกันคือความเกลียดชังสังคม

2) การเลียนแบบเชิงวิธีการหรือแบบแผนในการก่อเหตุ สังเกตว่าเอาอาวุธมาจากไหน ประกอบระเบิดอย่างไร จะก่อเหตุต้องคุมพื้นที่อย่างไรบ้าง เป็นการถอดบทเรียนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว กรณีนี้เป็นเรื่องที่สังคมกังวลเรื่องการนำเสนอของสื่อที่รายงานเจาะลึกเรื่องยุทธวิธีของฝ่ายรัฐ เนื่องจากอาจทำให้บุคคลที่เฝ้ามองอยู่และเตรียมก่อเหตุสามารถวางแผนได้รอบคอบขึ้น

ประการที่ 13 – ความเข้าใจว่ามือปืนว่าป่วยทางจิตหรือไม่ ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนบ้าสติฟั่นเฟือน เพราะข้อเท็จจริงของสังคมทุกวันนี้คือไม่มีใครปกติ แต่เราทุกคนล้วนมีภาวะเบี่ยงเบนจากความปกติเสมอ ไม่ว่าจะเกิดจากสภาวะของสังคม ด้วยฮอร์โมนหรือระบบประสาททางสมองก็ตาม เพราะฉะนั้นคำว่าการป่วยทางจิตในที่นี้ ถ้าพูดเป็นสำนวนหน่อยคือทุกคนล้วนมีปีศาจอยู่ในตัวเอง เพียงแต่มันจะออกมายึดร่างกายเราเมื่อไหร่ และความเข้าใจแบบนี้กำลังเป็นจุดบอดของแนวคิดเรื่องความมั่นคงกระแสหลัก ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก รวมถึงประเทศไทยด้วย

คำว่า ‘ความมั่นคง’ มักหมายถึงความมั่นคงแห่งรัฐ หรือความมั่นคงของชาติ กรณีเหตุกราดยิง ถ้าพูดภาษาความมั่นคงก็คือเกิดความไม่สงบเรียบร้อย ไม่มีความปลอดภัย แต่การอธิบายเช่นนี้จะเห็นคนที่เป็นหน่วยนับความสูญเสียเท่านั้น บาดเจ็บกี่คน ตายกี่คน เสียหายมากเท่าไหร่ เมื่อเกิดวินาศกรรมที่กระทบความมั่นคงของรัฐ จะไม่สามารถเห็นมิติด้านในหรือที่เรียกว่าความมั่นคงของมนุษย์ มนุษย์ในที่นี้คือมนุษย์แต่ละคนมีหลายปัจเจก เป็นความมั่นคงทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งมิตินี้กำลังเป็นภัยคุกคามที่มนุษย์ทุกทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในศตวรรษปัจจุบัน เช่น ความสิ้นหวังในความเป็นมนุษย์

ประการที่ 14 – กรณีกราดยิงโคราชเป็นการบั่นทอนความมั่นคงภายในของกองทัพโดยตัวมันเอง คำถามคือหน่วยงานความมั่นคงสร้างผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นมาแบบไหน ทั้งฝีไม้ลายมือเรื่องการใช้อาวุธ การฝึกรบ ความเป็นนักกีฬาแม่นปืน พูดอีกแบบก็คือเครื่องมือการสร้างความมั่นคงของรัฐกลับเป็นตัวบั่นทอนความมั่นคงเสียเอง เนื่องจากความชอบธรรมของกองทัพในฐานะตัวแสดงเดียวที่ถืออาวุธได้อย่างชอบธรรมกำลังทำลายความชอบธรรมในการถือครองอาวุธด้วย

ประการที่ 15 – เมื่อความมั่นคงของรัฐถูกบั่นทอนด้วยตัวมันเอง คำถามคือจะปฏิรูปความมั่นคงอย่างไร ไม่ใช่แค่ของกองทัพอย่างเดียว เพราะรูปแบบของภัยคุกคามเปลี่ยนไปจากอดีต เช่นที่โลกกำลังเผชิญกันอย่างภัยก่อการร้าย ไวรัสโคโรนา ภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง คนจะยิงกันตายเพราะว่าไม่มีน้ำใช้ในทุกวันนี้ นี่คือรูปแบบภัยความมั่นคงในปัจจุบันที่ต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

ส่วนความมั่นคงที่ยึดโยงกับความรู้สึกประชาชน ปลอดภัย มีศักดิ์ศรี เป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายการปฏิรูป ทำอย่างไรจะให้คนไม่ขาดจากความรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกัน ไม่เป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกันมากขึ้น กระทั่งทำให้คนรู้สึกมีความหวัง มีความฝันที่จะอยู่ในชุมชนทางการเมืองที่หลากหลายได้

ประการที่ 16 – การแสวงหาคุณค่าแห่งชาติอันใหม่ (national value) เป็นอีกโจทย์ที่สำคัญ เมื่อสังคมปัจจุบันไม่ได้ยอมรับในคุณค่าเดิมอีกต่อไป เช่น การเคารพธงชาติ หรือต้องเอาเลือดมาทาแผ่นดิน แต่เป็นการรวมคนที่หลากหลายทางความหวังและความฝัน การหาคุณค่าใหม่นี้ไม่ใช่ภาระของกองทัพ ตำรวจอย่างเดียว แต่รวมถึงบรรดาเอกชน ภาคประชาสังคม และปัจเจกบุคคลด้วย เมื่อไปถึงจุดนั้นได้มันจะปลดข้อถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัวกับเรื่องความมั่นคงออกไป เพราะว่าสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน

ประการที่ 17 – เงื่อนไขในการสร้าง national value ใหม่ได้ เราต้องตั้งคำถามกับระบอบกติกากฎเกณฑ์เดิม และระบอบการเมืองการปกครองที่โลกมีอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่มีระบอบไหนฟังก์ชั่นเท่ากับประชาธิปไตย

ประการที่ 18 – เนื่องจากประชาธิปไตยเปิดพื้นที่ให้มนุษย์มีความหวัง ความฝัน รับประกันว่าแต่ละคนสามารถต่อสู้ดิ้นรนเพื่อมันได้อย่างไม่ถูกปิดกั้น เพราะการถูกกดทับปิดกั้นความปรารถนาของคนวันหนึ่งจะแสดงออกมาเป็นความรุนแรง แต่ประชาธิปไตยในระดับวิถีชีวิตจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงได้

ประการที่ 19 – ประชาธิปไตยในแง่วิถีชีวิต เหมือนต้นไม้ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะโต ต้องผ่านการเรียนรู้ร่วมกันนานพอ ไม่สามารถคาดหวังว่าพรุ่งนี้จะเห็นผลทันที อาจต้องผ่านความขัดแย้งยาวนานและมากพอ เป็นบททดสอบที่ไม่ได้รับประกันความสำเร็จในระยะสั้น

ประการที่ 20 – แต่ถ้าทั้งระบอบและวิถีชีวิตเป็นเผด็จการ เมื่อเกิดกรณีกราดยิง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการควบคุมกำกับโดยมาตรการที่เข้มข้นกว่าเดิม เผด็จการอาจจะคุมคนที่มีโอกาสเป็นผู้ก่อเหตุได้ 10 ใน 100 (ตัวเลขสมมติ) แต่มาตรการเดียวกันนี้อาจทำให้คนปกติ 70 – 80 คน รู้สึกเกลียดรัฐมากกว่าเดิม เพราะถูกตรวจค้นจับกุม และอาจสร้างความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นในการก่อเหตุ

 

เยียวยาบาดแผล

 

ประการที่ 21 – เมื่อเกิดเหตุสะเทือนขวัญแล้ว เมริษา ยอดมณฑป แนะนำการดูแลเด็กและครอบครัวว่า ผู้ปกครองที่ต้องรับมือเมื่อเจอสถานการณ์ดังกล่าว และมีลูกที่อายุ 3 ปีขึ้นไป เด็กมักจะตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ควรทำคือพยายามอธิบายเขา โดยไม่จำเป็นที่จะต้องโกหกว่าเหตุดังกล่าวไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่รุนแรง แต่ควรบอกความจริงที่เข้าใจง่าย ตัดประเด็นดราม่าทั้งหมด เช่น เรื่องอารมณ์ จำนวนผู้เสียชีวิต ลักษณะปืน ผู้ปกครองสามารถบอกเขาว่ามีคนพยายามทำร้ายผู้อื่นซึ่งเป็นอันตรายและควรเอาตัวรอด

“หากเด็กถามว่า ทำไมเขาทำแบบนี้ เราอธิบายได้ว่าบางครั้งคนที่โกรธหรือว่าไม่สามารถจัดการความโกรธได้ เขาก็แสดงออกไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ เช่น การไปทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ ทำร้ายตัวเอง อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนของเด็กว่าเวลาโกรธ เราไม่ควรทำแบบนี้ เพราะว่าทำให้นำไปสู่การสูญเสียอะไรบ้าง”

ประการที่ 22 – ผู้ปกครองและโรงเรียนควรสอนเด็กในเรื่องของการเอาตัวรอด เช่น วิ่ง หลบ ซ่อน ต้องบอกเด็กว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นให้วิ่งหนีไปทางไหน หรือไปหลบในที่ที่มีกำบัง ทำให้คนที่จะทำร้ายมองไม่เห็นเรา ไปจนถึงสอนให้เด็กซ่อนตัวอย่างมิดชิดและอย่าส่งเสียง

ประการที่ 23 – ผู้ปกครองควรคุยกับเด็กในเชิงไม่วิจารณ์เรื่องที่เกิดขึ้นว่าตัวผู้ก่อเหตุไม่ดีอย่างไร แต่เราสอนเขาได้ว่าสิ่งที่ผู้ก่อเหตุทำ ทำให้เรารู้สึกกลัวอย่างไร ไม่ต้องไปวิจารณ์หรือตีตราว่าผู้ก่อเหตุเลวร้ายอย่างไร ไม่ต้องบอกว่าผู้ก่อเหตุสมควรถูกวิสามัญอย่างไร ไม่เช่นนั้นเด็กจะสับสนว่าการแก้ปัญหาควรแก้ด้วยความรุนแรง ตาต่อตาฟันต่อฟันหรือไม่ ซึ่งจะทำให้วงจรดำเนินต่อไป

ประการที่ 24 – แต่ละบ้านที่มีเด็กอายุไม่ถึง 12 ปี ควรงดเปิดดูข่าวดังกล่าวไปสักระยะ เพราะเราไม่สามารถควบคุมความรุนแรงที่ปรากฏอยู่ในข่าวได้ และถึงแม้เด็กจะได้ยินมาจากเพื่อนที่โรงเรียนแล้วกลับมาคุยกับที่บ้าน ผู้ปกครองสามารถคุยกับเด็กได้โดยไม่ต้องไปวิจารณ์ใดๆ

ประการที่ 25 – เด็กๆ ควรได้รับการสอนเรื่องการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม เราไม่ควรไปห้ามใครโกรธ หรือใช้การข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรงเวลาอีกฝ่ายทำไม่เหมาะสม เพราะจะนำไปสู่การเก็บกดทางด้านอารมณ์ ซึ่งอาจจะระเบิดออกมาเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน เราสามารถสร้างกติกาให้เป็นตัวกำหนดว่าโกรธได้นะ ถ้าโกรธแล้วทำอะไรได้บ้าง คุณมีสิทธิ์ไปนั่งในมุมของคุณ หรือว่าอยากจะไปสูดอากาศแล้วค่อยมาคุยกันใหม่

การพูดคุยในระดับผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือว่านักเรียนกับครู ไม่ควรเป็นไปในลักษณะที่ใช้การกดขี่ข่มเหง หรือใช้ความกลัวในการควบคุม ควรเป็นไปในลักษณะให้เกียรติแบบเพื่อนมนุษย์ซึ่งกันและกัน

ประการที่ 26 – ในกรณีที่เด็กมีอาการผวา ร้องไห้ ตัวสั่น ในระยะสั้นที่บ้านควรปิดสื่อให้หมด และหยุดถามเด็กว่าเป็นอะไร หยุดถามถึงเหตุการณ์ บางคนเข้าใจว่าการให้เด็กเล่าถึงเหตุการณ์จะเป็นการระบายออก แต่ไม่ใช่ หากเด็กอยากจะบอกอะไรเราฟัง เราฟังให้ได้มากที่สุด แต่อย่าไปตัดสิน ถ้าเด็กไม่เล่าแต่ร้องไห้ออกมา ให้เราก็อยู่ตรงนั้นใกล้ๆ ใช้วิธีกอด ลูบหัวหรือสัมผัสแทน อาจจะอ่านนิทานให้ฟัง ร้องเพลงเบาๆ แทน พาเด็กไปพักผ่อนในพื้นที่ธรรมชาติให้เยอะที่สุด ลดการอยู่ในที่แคบเพื่อไม่ให้เด็กนึกถึงภาพในพื้นที่เกิดเหตุ ให้เด็กได้วิ่งเล่นในที่ปลอดภัย

ประการที่ 27 – เด็กที่มีอาการหวาดผวา ผู้ปกครองห้ามจ่ายยาเอง อย่าไปซื้อยานอนหลับมาให้เด็กกินเอง ควรพาเด็กไปพบแพทย์

ประการที่ 28 – ตัวผู้ปกครองเองก็ต้องดูใจตัวเองด้วยว่าไหวไหม บางคนเผชิญเหตุการณ์ร้ายมา ย่อมมีผลต่อลูกโดยไม่รู้ตัว ครอบครัวต้องเข้ามาเสริมในการดูแลซึ่งกันและกัน ถ้าตัวเองไม่ไหวแล้วไปดูแลเด็ก อาจทำให้ยิ่งอาการแย่ลงทั้งคู่

ประการที่ 29 – ถ้าเด็กที่พบเหตุการณ์ร้ายไม่มีการร้องไห้หรือว่าเงียบปิดตัวเอง จะน่าเป็นกังวลกว่าเด็กที่ร้องไห้ออกมาหรือได้ระบายออกทางอารมณ์ น่าเป็นห่วงน้อยกว่าเด็กที่ทำตัวเข้มแข็งหรือเลือกที่จะก้มหน้า เงียบ โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น แนะนำให้ผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด หยุดถามในเรื่องที่เกิดขึ้น และให้กำลังใจด้วยการแสดงให้เด็กเห็นว่าจะอยู่ใกล้ๆ เขา ไม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญให้เด็กพูดอะไร หรือกระทั่งอาจจะพาไปพบจิตแพทย์ก็ได้

ประการที่ 30 – บทเรียนสำหรับสื่อมวลชน ในการเสนอข่าวกรณีดังกล่าว สื่อสามารถเลือกจัดลำดับความสำคัญในการนำเสนอได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งมีบทเรียนจากต่างประเทศ เช่น เหตุการณ์วางระเบิดในสถานีรถไฟใต้ดิน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สื่อเลือกรายงานวิธีการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ ให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยก่อนการรายงานพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุได้

เหมือนการรายงานข่าวน้ำท่วม สื่อสามารถเสนอว่าตรงไหนมีศูนย์ช่วยเหลือประชาชน และควรปฏิบัติตัวอย่างไรก่อนที่จะรายงานว่าน้ำท่วมไปแล้วกี่หลังได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ขัดกับหลักเสรีภาพการรายงานข่าวของสื่อ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save