fbpx

3 ปีบนเส้นทางสู่ ‘ความเสมอภาค’ การศึกษาไทยเดินอยู่ตรงไหนแล้ว?

ว่ากันว่า การศึกษาคือบันไดในการนำพาชีวิตไปสู่จุดที่ดีขึ้น

วาทะดังกล่าวคือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นความจริงที่หลายคนยังเอื้อมไม่ถึง – ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงเป็น ‘เรื่องจริง’ ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย การศึกษาไม่ใช่บันไดที่ทุกคนมีจนนำมาสู่วงจรแห่งความเหลื่อมล้ำไม่จบไม่สิ้น

หากจะตัดวงจรความเหลื่อมล้ำเพื่อนำไปสู่ความเสมอภาคอย่างแท้จริง การใช้ฐานความรู้เหนี่ยวนำไปสู่การสร้างโอกาสให้ตรงเป้า เหมาะสมต่อผู้ที่ต้องการและทำให้ผู้ที่ได้รับโอกาสนั้นใช้โอกาสได้จริงคือหนึ่งในหนทาง – แม้ว่าจะไม่ง่ายนักท่ามกลางความผันผวนจากวิกฤตโรคระบาดและเศรษฐกิจซบเซา

แน่นอนว่าเส้นทางไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาต้องอาศัยแรงจากหลากหลายภาคส่วนของสังคมในการต่อเติมจึงจะกลายเป็น ‘ความจริง’ สำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งต้องอาศัยการส่งต่อเจตจำนงไปสู่อนาคตเพื่อให้เส้นทางไม่หักเหไปทางอื่น

ในวันที่เราเริ่มเห็นความเสมอภาคทางการศึกษาค่อยๆ ก่อร่าง 101 ชวนสำรวจ 3 ปีเส้นทางแห่งการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย รวมทั้งอนาคตของเส้นทาง ผ่านสายตาของ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ กนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องหมดไป

บนถนนสายความเหลื่อมล้ำ

ท่ามกลางโจทย์อันหลากหลายที่รอการแก้เพื่อพาประเทศไทยก้าวต่อไปสู่การพัฒนา การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานับว่าเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ฝังรากลึกและท้าทายการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศมานานกว่า 50-60 ปี หรืออาจยาวนานยิ่งกว่านั้น

แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ สิ่งที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เชื่อว่าเป็นปมเงื่อนที่ทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาห่างไกลออกไปจากความเป็นจริงคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในไทย ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% ของประเทศและกลุ่มคนที่จนที่สุด 10% ของประเทศอยู่ห่างกัน 20 เท่าต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี

กล่าวให้ชัดคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในไทยไม่เคยลดลงมานานกว่า 20 ปีแล้ว

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเล่าว่า สำหรับ กสศ. แล้ว การช่วยให้ประชาชนมีโอกาสในการศึกษาที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนรุ่นใหม่ให้สามารถเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจสังคมจากยากจนไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้นั้นคือ ‘ความฝัน’ และ ‘แนวทางไปสู่ความฝัน’ ของ กสศ.

“เราหวังว่าการศึกษาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในอนาคตได้ ถ้าเราทำให้คนรุ่นใหม่ที่เดิมมาจากครอบครัวยากลำบากมีขีดความสามารถสูงขึ้น เขาก็จะมีอาชีพที่ดี มีรายได้ที่ดีขึ้น และเปลี่ยนสถานะครอบครัวในรุ่นต่อไป”

นพ.สุภกร บัวสาย

เมื่อย้อนกลับมามองความเป็นจริง การศึกษาไทยยังคงเหลื่อมล้ำสูงมาก แม้ว่าไทยจะปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 2540 เพื่อให้ประชากรจากทุกกลุ่มรายได้ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มยากจนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับมัธยมปลายในระดับที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่แน่นอนว่านักเรียนที่มีฐานะยากจนที่สุดในประเทศยังคงเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ทุกเมื่อจากความยากจนที่คอยบีบคั้น มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในขณะที่เด็กนักเรียนจากครอบครัวชนชั้นกลางกว่า 90% สามารถเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ ยังไม่นับว่ามีเด็กนักเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับกว่า 600,000 คนที่ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ขาดลงจนครอบครัวต้องพาลูกออกจากโรงเรียน (dropout) หลุดออกจากระบบการศึกษาแลกกับการต่อลมหายใจทางเศรษฐกิจ

ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าถึงการศึกษาไม่ได้เป็นหลักประกันว่าการศึกษาที่นักเรียนจะได้รับนั้นมีคุณภาพดีเสมอกันทั่วประเทศ จากงานวิจัยของธนาคารโลกชี้ให้เห็นชัดว่า โรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบทมีคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพครูและทรัพยากรสำหรับการพัฒนาโรงเรียนต่างกันมาก โดยนักเรียนในโรงเรียนเขตชนบทจะมีระดับความรู้ล่าช้าตามหลังนักเรียนในโรงเรียนเขตเมืองกว่าถึง 1.5-2 ปีการศึกษา หมายความว่านักเรียนชั้น ม.3 จากโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทจะมีความรู้เทียบเท่านักเรียนชั้น ม.1 จากโรงเรียนในเมืองที่มีทรัพยากรพร้อม นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพทางการศึกษายังส่งผลต่อโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถที่เหลื่อมล้ำอีกต่อหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ คือปัญหาที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ตีโจทย์ในการปฏิรูปการศึกษา คุณภาพของการศึกษาที่ต่ำ ระบบการศึกษาที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สูงคือสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข

ตั้งต้น-ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำการเรียนรู้

เพื่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในปี 2561 กสศ. จึงกลายเป็นกลไกใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่รับโจทย์เป็นผู้นำร่องหานวัตกรรมและหนทางใหม่ๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นระบบและรอบด้าน การสร้างโอกาสและสร้างศักยภาพให้เด็กที่ต้องการโอกาสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้มากกว่าที่จะให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้าที่ไม่ตรงเป้า

“วิธีเดินเรื่องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. เราทำงานโดยใช้วิทยาศาสตร์ ใช้การศึกษาวิจัย ใช้การหาความรู้ แล้วทดสอบบนโลกแห่งความเป็นจริงให้มั่นใจว่าการปฏิบัติบนฐานของความรู้ที่ได้มาตอบโจทย์ที่ตั้งไว้” นพ.สุภกรเล่าถึงหัวใจสำคัญในการและจุดคานงัดที่ กสศ. เชื่อว่าจะนำไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาได้จริง

โจทย์หนึ่งที่เร่งด่วนที่สุดคือต้องช่วยไม่ให้ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ของเด็กนักเรียนยากจนขาดลง กลุ่มนักเรียนที่ยากจนที่สุด 10% ของประเทศคือสนามที่ กสศ. ตั้งต้นลงไปหาตัวนักเรียนที่ประสบสภาวะยากลำบากจริงให้เจอ มองปัญหาของนักเรียนเหล่านี้ให้ทะลุ และทดลองหาวิธีช่วยที่ตรงจุด

หนทางที่จะรักษาการเรียนรู้ของนักเรียนเหล่านี้ไม่ให้ร่วงหล่นคือ นำวิธีทางเศรษฐศาสตร์อย่างการวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Mean Test) เพื่อหานักเรียนยากจนตัวจริงในระบบการศึกษา จ่ายเงินอุดหนุน ‘ทุนเสมอภาค’ เพื่อไม่ให้ครอบครัวต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการส่งลูกหลานไปโรงเรียน โดยมีเงื่อนไขว่าเด็กนักเรียนต้องมาโรงเรียนตามสัญญามากกว่า 80% จากนั้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลติดตามไม่ให้นักเรียนเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษาในระยะยาว รวมถึงเพื่อให้ความช่วยเหลือในอนาคต

ส่วนนักเรียนที่ฟางเส้นสุดท้ายขาดจนหล่นหายไปจากระบบการศึกษาแล้วหรืออยู่นอกระบบตั้งแต่แรก ก็วางวิธีแก้โจทย์โดยการลงไปทำงาน สร้างความร่วมมือในระดับพื้นที่นำนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือพัฒนาทักษะประกอบอาชีพ โดยการลงไปทำงานกับพื้นที่จะยิ่งตอบโจทย์เฉพาะของพื้นที่และตัวเด็กมากยิ่งขึ้น

อีกโจทย์หนึ่งที่ กสศ. ตีออกมาว่าต้องฝ่าเพื่อให้ก้าวไปถึงความเสมอภาคคือ ต้องสร้างบันไดให้นักเรียนยากจนเรียนดีที่ขาดโอกาสเรียนต่อหลังจบชั้น ม.6 ได้มีโอกาสต่อเติมศักยภาพของตนเองในการพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งนอกจากจะมีโอกาสพัฒนาทักษะและนำทักษะที่ได้ไปใช้ประกอบอาชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตแล้ว นักเรียนเหล่านี้ยังกลายเป็นฟันเฟืองชิ้นใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต

มองไปไกลกว่าการสร้างโอกาส นพ.สุภกร อธิบายว่าโจทย์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. ไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่การขจัดอุปสรรคอันเกิดจากความยากจนเท่านั้น แต่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพโรงเรียน และคุณภาพครูเช่นกันที่ กสศ. ต้องหามาตรการและร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อยกระดับ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่โรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนครู “ทางแก้หนึ่งคือการทำให้เด็กในพื้นที่มีโอกาสในการศึกษาต่อ ให้เขาได้เรียนครูแล้วกลับไปดูแลรุ่นน้องๆ ที่บ้านเกิด หนทางนี้อาจเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว นกตัวแรกคือเด็กคนที่อยากเป็นครูได้เรียนครู นกตัวที่สองอาจจะไม่ใช่แค่ตัวที่สองแต่เป็นนกทั้งฝูง เมื่อเด็กชนบทเรียนครูจบแล้วก็กลับไปดูแลนักเรียนรุ่นน้องได้อีกหลายคนหลายรุ่น”

จากจุดตั้งต้นในปี 2561 ทั้งหมดนี้ค่อยๆ กรุยทางให้การศึกษาไทยเดินหน้าไปสู่ความเสมอภาค

3 ปีระหว่างเส้นทางสู่ความเสมอภาค

“ถ้าทำสำเร็จในอนาคตข้างหน้า เราจะเห็นการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมของคนยากจนจำนวนหนึ่ง เป็นความฝันที่ผมคิดว่าน่าจะทำให้เป็นจริงได้ แต่คงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลา 1-2 ปี” นพ.สุภกรเล่าว่า กสศ. เชื่อมั่นว่าฝันสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นจริงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มองเห็นความเป็นจริงเช่นกันว่า งานพัฒนาการศึกษาและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ความฝันที่จะสำเร็จได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น

เมื่อย้อนมอง 3 ปีที่ผ่านมาของ กสศ. นพ.สุภกรกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าการลงแรงที่ผ่านมานั้นทำได้ดีหรือประสบความสำเร็จในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแล้ว เพราะโจทย์ที่ กสศ. ได้รับให้เป็นผู้เริ่มหาวิธีทดลองแก้นั้นล้วนแต่เป็นโจทย์ใหญ่ ต้องอาศัยกำลังและความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ไม่ใช่แค่เพียงน้ำพักน้ำแรงของ กสศ. หน่วยงานเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหมดไป “ผมขอใช้คำว่าพยายามได้ดี ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เราทุ่มเทพอสมควร ผ่านอุปสรรคมาได้และเห็นว่าไปในทิศทางที่ดี” นพ.สุภกรกล่าว

กระนั้น ก้าวแรกที่ นพ.สุภกรมองว่า กสศ. ตั้งต้นได้ดีพอสมควรคือการที่สามารถผลักดันให้ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งฝังรากลึกมานานกลายเป็นประเด็นที่สังคมทั่วไปตระหนักรู้

“ก่อนหน้านี้ 3-4 ปี ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในแวดวงปฏิรูปการศึกษา ส่วนมากมักจะพูดเรื่องปัญหาคุณภาพการศึกษา การเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำมากกว่าความเข้าใจ การสอบแข่งขัน หรือการเรียนพิเศษ ซึ่งเป็นปัญหาของการศึกษาไทยจริง แต่เป็นปัญหาของชนชั้นกลาง ปัญหาที่ชนชั้นล่างเผชิญอยู่ตรงที่นักเรียนยากจนไม่ได้ไปเรียน ต้องขาดเรียนเยอะ ไม่มีทางเลือกว่าจะเรียนโรงเรียนไหน หรือมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ตอนนี้สังคมเริ่มรับรู้ เข้าใจ ตระหนัก ตื่นตัว และมีส่วนร่วมต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น”

มีตัวอย่างการทำงานที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้เครื่องมือที่กว้างกว่าขอบเขตทางการศึกษา ซึ่งเริ่มจากการทำวิจัยในขนาดพื้นที่ทดลอง เพื่อให้มีความมั่นใจในมาตรการแล้วค่อยจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวม เช่น ‘กองทุนการศึกษาโลก’ หรือ Global Partnership for Education (GPE) หน่วยงานที่สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาทั้งหมด 76 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสได้เข้าสู่การศึกษา เช่นเดียวกับการทำงานของ ศูนย์วิจัย Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab (J-PAL) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) การทำงานจะเป็นการออกแบบการวิจัย การลงพื้นที่ เก็บข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้เกิดข้อค้นพบในการแก้ปัญหาที่นอกเหนือจากมิติแวดวงทางการศึกษา เช่น การจัดโปรแกรมถ่ายพยาธิให้กับนักเรียนในประเทศเคนยา ซึ่งตั้งต้นจากข้อค้นพบที่ว่า เด็กนักเรียนจำนวนมากต้องขาดเรียนเพราะอาการปวดท้องจากพยาธิ หรือต้องดูแลพี่น้องที่ป่วย จึงทำให้เกิดโครงการนี้ซึ่งส่งผลในทางบวกต่อสุขภาพ และยังลดอัตราการขาดเรียนมากกว่า 1 ใน 4

ในแง่ของการลงไปทดลองในโลกแห่งความเป็นจริง ความพยายามในการทดลองแก้โจทย์เด็กนักเรียนยากจนพิเศษทั่วประเทศที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือตกอยู่ในสภาวะ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ คือโจทย์ใหญ่ที่ นพ.สุภกรมองว่าเดินหน้าไปได้ ซึ่งเครื่องมือที่นำลงไปใช้หวังผล ‘ป้องกัน’ และบรรเทาทุกข์ไม่ให้นักเรียนยากจนพิเศษกว่า 900,000 คนต่อปี (คัดกรองได้เพิ่มจากเดิมปีละประมาณ 700,000 คนต่อปีก่อนการระบาดของโควิด-19) จำต้องออกจากโรงเรียนคือเงินอุดหนุนปีการศึกษาละ 3,000 บาทต่อคน

ในขณะที่การทดลองหนึ่งหวังผลไปยังการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง อีกการทดลองหนึ่งที่ กสศ. และภาคีมองว่าน่าจะเดินหน้าไปได้ดีในระยะยาวแต่หวังผลในรูปแบบที่ต่างออกไปคือ การให้ทุนการศึกษาสายอาชีพแก่นักเรียนยากจนขาดโอกาสที่มีความสามารถสูงหรือ ‘ช้างเผือก’ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้มีทักษะประกอบอาชีพในอนาคต ควบคู่ไปกับการเข้าไปช่วยจัดระบบการเรียนการสอนของสถาบันให้มีคุณภาพสูง ปีละประมาณ 2,000 ทุน ทั้งหมดนี้เปลี่ยนวิธีคิดการให้ทุนการศึกษาในไทยที่เคยอยู่บนฐานของ ‘ความเก่ง’ ไปอยู่บนฐานของ ‘ความต้องการ’ ของผู้รับทุน

แม้จำนวนทุนดังกล่าวจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ให้นักเรียนยากจนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้เพิ่มจากเดิม 5% เป็น 6% เท่านั้นด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ แต่ที่ กสศ. หวังผลไปไกลกว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของนักเรียนคือ ‘การทดลองเพื่อนำร่องการปฏิรูปเชิงระบบ’

“เราต้องทำให้สังคมเห็นผลว่า หากนักเรียนยากจนเหล่านี้ได้โอกาสที่ดีแล้ว เขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต”

อย่างไรก็ตาม นพ.สุภกรเสริมว่าอาจต้องใช้เวลากว่า 5-10 ปีเพื่อที่จะยืนยันได้ว่านักเรียนเหล่านี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่และยืนยันได้ว่าการจัดระบบการศึกษามีมาตรฐานดีพอที่จะการันตีว่าผู้ที่ผ่านการเรียนนั้นจะมีขีดความสามารถจริง ฉะนั้นสิ่งที่สามารถบ่งชี้ถึงความสำเร็จได้ในระยะสั้นคือผลการเรียนของนักเรียน

แต่นี่ไม่ใช่การทดลองทั้งหมด ยังมีอีกหลายการทดลองที่ยังต้องรอผลปรากฏ และแน่นอนว่านี่ยังไม่ใช่ปลายทางของความเสมอภาคทางการศึกษา

ขวากหนาม ความท้าทาย และก้าวต่อไปบนถนนสายเสมอภาค

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าการศึกษาไทยค่อยๆ เดินห่างออกมาจากความเหลื่อมล้ำและเดินหน้าไปสู่ความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2563 ของ กสศ. ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มที่นักเรียนยากจนและนักเรียนด้อยโอกาสได้เข้าเรียน เจริญเติบโตและมีพัฒนาการทางร่ายกายนั้นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งโควิด-19 ระบาดจนรั้วโรงเรียนต้องปิดลง

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่โรคเข้ามาเปลี่ยนโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจย่อมลามมาสู่วิกฤตการเรียนรู้ ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ฝังรากลึกอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนจากครอบครัวฐานะยากจนที่ต้องเผชิญความเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่แล้วเป็นทุนเดิม 

นพ.สุภกรอธิบายว่าในภาพรวม โจทย์ที่โลกการศึกษาต้องเผชิญท่ามกลางโรคระบาดคือ 3 แกนปัญหาที่แยกออกจากกันไม่ขาด

แกนแรกคือเศรษฐกิจ หลายครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวของนักเรียนยากจนมีรายได้ลดลง อย่างในไทยอาจกล่าวได้ว่ามีครอบครัวยากจนเพิ่มมากขึ้นกว่า 700,000 ครัวเรือนในช่วงกลางปี 2563

แกนที่สองคือการศึกษา เมื่อโรงเรียนปิดการเรียนการสอน ปรากฏการณ์ที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือภาวะการเรียนรู้ถดถอย (COVID Slide) โดยเฉพาะสำหรับเด็กนักเรียนยากจนที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้นอกห้องเรียนมากกว่าเด็กนักเรียนจากครอบครัวมีฐานะ อย่างที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรสกุลกล่าวไว้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจนำมาสู่การถดถอยของทุนมนุษย์อย่างเลี่ยงไม่ได้

และแกนที่สาม สุขภาพ เมื่อโรงเรียนปิด นอกจากเด็กยากจนจะขาดโอกาสเรียนรู้แล้ว ยังขาดโอกาสที่จะได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างพอเพียงจากอาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียนจัดเตรียมให้

“เมื่อรายได้ของครอบครัวหาย โอกาสที่เด็กยากจนจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก็เพิ่มขึ้น ปัญหาสุขภาพและพัฒนาการก็จะตามมา

“ผลเสียที่เป็นรูปธรรมที่สุดและต้องเฝ้าระวังมากที่สุดคือการที่ฟางเส้นสุดท้ายขาดแล้วครอบครัวต้องเอานักเรียนออกจากโรงเรียน ยิ่งในปีการศึกษาใหม่ที่พบว่ามีนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 คน โอกาสที่เด็กนักเรียนมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนในชั้นรอยต่อระหว่างช่วงชั้น” นพ.สุภกรกล่าว

แต่นอกจากการใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนเหล่านี้หลุดออกจากระบบ สำหรับ กสศ. ที่ทำงานบนฐานของการนำความรู้จากการวิจัยลงไปทดลองทำมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในโลกจริง การที่ต้องระดมทุนสรรหาเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าในสถานการณ์โรคระบาดก็นับว่าเป็นเรื่องยากลำบากเช่นกัน แม้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ อย่างการจัดงบประมาณ หรือระดมทุนเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดอาหารกลางวันในช่วงที่ต้องปิดภาคเรียนนานกว่าปกติก็ตาม เพราะยังไม่มีบทพิสูจน์ระยะยาวว่าการลงเงินไปนั้นจะมีประสิทธิภาพและสร้างผลกระทบในการลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยแค่ไหน

นับว่าเป็นความท้าทายของแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องแลกประสิทธิภาพกับความช่วยเหลือที่ทันเวลา ฉะนั้น นพ.สุภกรมองว่า กสศ. ต้องหาสมดุลให้ดีระหว่างการลงเม็ดเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และแนวทางหลักที่อาศัยองค์ความรู้และการทดลองเพื่อให้ได้มาตรการที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นระบบได้จริง

หากมองโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปให้ไกลต่อจากวิกฤตครั้งนี้ แม้ กสศ. จะระบุโจทย์เฉพาะกลุ่มที่ต้องแก้เพื่อสร้างความเสมอภาคต่อไปได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถครู คุณภาพการศึกษาและโรงเรียนให้กับเด็กยากจนที่รักษาไว้ในระบบการศึกษาได้ การหาวิธีติดอาวุธและทักษะสายอาชีพให้กับนักเรียนที่เรียนพ้นการศึกษาภาคบังคับและยังอยู่ในระบบเพื่อให้มีทักษะพอในวันที่สถานการณ์บีบคั้นให้หลุดออกจากระบบ หรือการที่ต้องตามหาเด็กที่หลุดออกจากระบบก่อนจบการศึกษาภาคบังคับและไปทำงานเพื่อเข้าไปช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และทักษะเพื่อประกอบอาชีพ แต่การจะออกมาตรการที่ให้ผลกระทบสูงได้นั้น นอกจากต้องมีการศึกษาและพิสูจน์ว่ามาตรการจะได้ผลจริง โจทย์เหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโรงเรียน หน่วยงานราชการ หรือชุมชนด้วยเช่นกันจึงจะสำเร็จ

“เราต้องทำงานผ่านหน่วยงานเหล่านี้ร่วมกันไป แต่ถ้าจะให้แน่ใจว่าได้ผลสำเร็จ ก็ต้องมีการประเมิน ศึกษาวิจัย และทำงานวิชาการประกอบ ไม่ใช่ว่าลงมือไปโดยไม่ได้พิสูจน์ว่าได้ผลจริงหรือไม่

“เราต้องไม่ลืมว่า ไม่มียาวิเศษขนานเดียวที่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ เพราะความเหลื่อมล้ำคือปัญหาที่ฝังรากลึก และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้อยู่โดดๆ แต่ยังเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและสังคม ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มประชากรที่ลงไปทำงานด้วยยังเป็นกลุ่มที่มีชีวิตยากลำบากที่สุด

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะทำให้ กสศ. เดินหน้าต่อไปได้ คือต้องเข้าใจว่าการแก้ปัญหาที่เหมาะกับแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ แต่ละเงื่อนไข อาจต้องใช้วิธีที่ต่างกัน ความท้าทายจึงอยู่ตรงการจัดการความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมายและภาคี” นพ.สุภกรทิ้งท้าย

“เราหวังว่าหน่วยงานในระบบการศึกษาจะเห็น กสศ. เป็นเพื่อน”

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยกำลังจะอยู่ในกำมือของคนรุ่นใหม่ในไม่ช้านี้

นิด – กนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ คือหนึ่งในคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน กสศ. ไปข้างหน้า แม้ว่าเธอจะร่วมงานกับ กสศ. ตั้งแต่ยังมีสถานะเป็น สสค. (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน) นานร่วม 8-9 ปีแล้ว

นิดเล่าว่า เธอเรียนจบด้านเทคโนโลยีการศึกษามาโดยตรง แต่ระหว่างที่เรียนก็ไม่ได้มุ่งความสนใจหรือเห็นภาพความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยชัดเจนมากนัก จนกระทั่งมีโอกาสได้ฝึกงานและทำงานที่ สสค. สิ่งที่ค่อยๆ เปิดตาของนิดให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากำลังเกิดขึ้นในไทยตลอดเวลา คือการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งนับว่าเป็นจังหวัดที่มีความยากลำบากมากที่สุดแห่งหนึ่งในไทยและประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการทางการศึกษา

นิด – กนิษฐา คุณาวิศรุต (ภาพจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)

ครั้งหนึ่งที่เธอลงพื้นที่ เธอถามเด็กพิการทางสายตาคนหนึ่งด้วยคำถามสุดแสนธรรมดาว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่คำตอบที่ได้กลับมาสะท้อนอยู่ในใจของนิดจนถึงวันนี้ “อยากไปโรงเรียน แล้วก็อยากเป็นผู้ใหญ่”

ท่ามกลางสภาวะที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ถ่างกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นิดมองว่า หากเธอเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทำอะไรสักอย่าง ความเหลื่อมล้ำอาจกำลังไปสู่จุดวิกฤต

เมื่อ กสศ. ก่อตั้งเมื่อ 3 ปีก่อน นิดจึงรู้สึกดีใจมากที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเพื่อไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่เธอเล่าว่า “มีแพสชันในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเต็มเปี่ยม” อีกหลายคน “มันเป็นเหมือนจุดเล็กๆ ที่จะได้ใช้ความรู้ ไอเดีย ระดมความคิด เครื่องมือต่างๆ เพื่อที่จะพัฒนานวัตกรรมช่วยเหลือการเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา”

ส่วนที่นิดช่วยขับเคลื่อนใน กสศ. คือโครงการเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข โดยกลุ่มที่นิดดูแลคือนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในระบบการศึกษาอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 1.17 ล้านคน และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลัง กสศ. เดินหน้า นิดเล่าว่า เรื่องที่น่าดีใจคือ ข้อมูลบ่งชี้ว่ากลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับความช่วยเหลือไปโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น

“ตอนลงพื้นที่ เราได้คุยกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายายของนักเรียนที่ได้เงิน เขารู้สึกขอบคุณที่อย่างน้อยทำให้ลูกหลานของเขาได้ไปโรงเรียน”

ส่วนนักเรียนที่นิดมีโอกาสคุยด้วยก็บอกเช่นกันว่าดีใจมาก แม้เงินที่ได้มาต่อปีจะไม่ใช่จำนวนที่มากนัก “เขาได้เงินมาเท่านี้ เขาก็มองอนาคตแล้วว่าจะได้ไปโรงเรียนแล้ว ที่จริงนักเรียนเหล่านี้ไม่มีความฝันว่าจะโตไปเป็นอะไรด้วยซ้ำ เขาคิดแค่ว่าเขากำลังจะมีเงินพอจบ ป.6 หรือจะมีเงินต่อม.1” การลงพื้นที่และการเห็นความเสมอภาคที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยคือแรงบันดาลใจและไฟในการทำงานต่อ

แต่การช่วยให้เด็กไปโรงเรียนได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้นั้นยังไม่พอที่จะตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย เพราะการเข้าถึงยังถือว่าเป็นบันไดขั้นแรก สำหรับนิด นอกจากจะการทำให้นักเรียนยากจนเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยไม่หลุดออกแล้ว การที่ให้นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาคุณภาพดีอย่างเสมอภาคยังเป็นความท้าทายที่ยังไปไม่ถึง แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นปัญหาและพยายามหาทางแก้ไขอยู่ก็ตาม รวมถึง กสศ. ที่เริ่มพยายามทดลองเพิ่มคุณภาพทางการเรียนรู้ให้นักเรียนอย่างเสมอภาคผ่านทักษะการเรียนรู้อย่างการวิเคราะห์ การสร้างสรรค์ และวิธีคิดแบบ Growth mindset ในปีนี้

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่ กสศ. พยายามเดินหน้าเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นิดมองว่าองค์กรที่ตนสังกัดอยู่นั้นมีจุดแข็งอยู่ตรงที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายหรือโครงการต่างๆ บนฐานขององค์ความรู้ที่ผ่านการวิจัย และ กสศ. ก็ใช้จุดแข็งตรงนี้ได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน ความท้าทายที่นิดมองว่า กสศ. กำลังเผชิญอยู่คือ การบริหารความคาดหวังให้สังคมเข้าใจสิ่งที่ กสศ. กำลังทำ

“ไม่ใช่แค่ กสศ. เท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทั้งระบบ และไม่ใช่เพียงแค่เป็นกองทุนที่ให้เงินอุดหนุนนักเรียนเท่านั้น แต่ที่จริงเป็นหน่วยงานที่พยายามพัฒนาองค์ความรู้หรือนวัตกรรมในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐทำงานได้ดีขึ้น ดูแลกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น

“ความคาดหวังตรงนี้ก็เป็นแรงผลักดันว่า กสศ. คงต้องทำงานเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น ทำงานให้ถูกจุด ใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่ไม่เหมือนเดิมเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในแก้ไขความเหลื่อมล้ำ”

ยิ่งไปกว่าความคาดหวัง อีกความท้าทายหนึ่งคือ กสศ. ต้องวิ่งแข่งกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามกระแสการพัฒนาประเทศ รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่มักเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

“เข้าใจว่างานวิจัยบางอย่างเอามาใช้ยาก แต่สิ่งที่เราคาดหวังว่า กสศ. จะทำได้ดีขึ้นอีกคือการคิดหรือพัฒนานวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่นำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้งเรารอเวลาไม่ได้ มีเด็กนักเรียนหลุดจากระบบทุกวันๆ ยิ่งเราช้าเท่าไหร่ ยิ่งเท่ากับว่าเราช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้กลับเข้ามาในระบบยากมาก”

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคาดไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา อนาคตของ กสศ. ที่นิดอยากเห็นคือ “เป็นหน่วยงานที่มีความยืดหยุ่นยิ่งกว่าเดิม และมีโอกาสนำโครงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมนำร่องไปเสนอเป็นมาตรการเชิงรุกและข้อเสนอเชิงนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเชิงรุกที่ใช้ได้จริง อย่างเช่นโครงการเงินอุดหนุน เรามีการทดลองนำร่องพัฒนาประเมินประสิทธิภาพต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราต้องทำให้กลายเป็นข้อเสนอการปฎิรูปการจัดงบประมาณด้านการศึกษา ไม่ใช่แค่เป็นโครงการช่วยอุดหนุนนักเรียนไปตลอดทุกปี”

“ในระบบการศึกษา เราคาดหวังว่าทุกหน่วยงานในระบบการศึกษาจะเห็น กสศ. เป็นเพื่อน ซึ่งเพื่อนร่วมงานหลายๆ หน่วยงานทั้งปฎิบัติงาน หัวหน้างาน ผู้บริหารก็ต่างมอง กสศ. ว่าเป็นเพื่อนช่วยคิด เพื่อนช่วยทำ เพื่อนช่วยแนะ

“ถ้าหน่วยงานต่างๆ เห็นเราเป็นเพื่อน เวลาเรามีข้อเสนอแนะอะไร เขาจะฟัง ถ้าเขาคิดไม่ออก เขาจะมาปรึกษาหรือถามเราว่าต้องทำอย่างไร ถ้าเขาอยากแก้ไขปัญหา อยากพัฒนา เขาจะมีเราคอยอยู่เป็นเพื่อน ถ้าเขาคิดว่าเขาจะทำ เขาจะทดลอง เขาก็อยากจะบอก กสศ. ให้ช่วยคิด ช่วยทำ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานด้านการพัฒนาการศึกษาคงไม่ต่างไปจากการวิ่งมาราธอนที่ต้องลงแรงเยอะ ใช้ความทรหดอดทน และกินเวลายาวนานกว่าจะผลสำเร็จจะปรากฏตรงหน้า ความหวังอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงคนทำงานด้านการศึกษาให้วิ่งต่อในเส้นทางไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาได้ แต่นิดมองต่างออกไปเล็กน้อย

“ก่อนอื่นเลยเราต้องมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าผลจะออมาดีหรือไม่ดี แต่มันคือความตั้งใจในสิ่งที่เราทำเต็มที่มากกว่าที่หล่อหลอมให้เรารู้ว่าไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร จะมีหรือไม่มีความหวัง มันคือความตั้งใจของเราและคุณค่าในสิ่งที่เราทำมากกว่า”

“สำหรับเรา เรารู้สึกว่าทุกๆ วันที่ทำงานเพื่อเด็กๆ คือการได้ทำสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่า”

แพสชันคืออีกสิ่งที่ทำให้นิดยังไปต่อได้ “เราอยากเห็นระบบการศึกษาที่ดีขึ้น ถ้าเด็กทุกคนอยากไปโรงเรียน ทุกคนก็ควรได้ไป ถ้าเด็กอยากพัฒนาศักยภาพ เขาก็ควรมีโอกาสได้พัฒนาอย่างเต็มที่”

สำหรับคนทำงานด้านการศึกษา แน่นอนว่าย่อมมีภาพฝันของอนาคตการศึกษาไทย สำหรับนิด ปลายทางที่การศึกษาไทยควรไปถึงคือ การศึกษาคุณภาพดีที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็เข้าถึงได้อย่างแท้จริง

“เราอยากเห็นอนาคตการศึกษาไทยที่เด็กทุกคนได้เรียนฟรีและมีคุณภาพจริงๆ ตอนนี้เขายังต้องควักกระเป๋าตังค์เอง ทำให้เราต้องหาวิธีจัดสรรงบประมาณใหม่อย่างที่เราทำอยู่ ทั้งๆ ที่เด็กทุกคนควรได้ไปโรงเรียนที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องเสียเงิน ทุกวันนี้ถึงจะมีเรียนฟรี 15 ปี แต่พ่อแม่ทุกคนพอเปิดเทอมยังต้องไปโรงรับจำนำ เอาของไปจำนำเพื่อนซื้ออุปกรณ์ ซื้อเสื้อผ้าให้ลูกไปโรงเรียน ทั้งๆ ที่รัฐบอกว่ามีชุดนักเรียนให้ แต่ที่สำคัญคือมันไม่ได้ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาให้เด็กทุกคนได้เรียนจริง เราอยากเห็นเด็กทุกคนเรียนฟรีและพัฒนาศักยภาพอย่างที่หวังได้จริง”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save