fbpx
ข่าวเศรษฐกิจยอดนิยม! : 3 ดราม่าซ้ำๆ ที่รอให้สังคมเรียนรู้

ข่าวเศรษฐกิจยอดนิยม! : 3 ดราม่าซ้ำๆ ที่รอให้สังคมเรียนรู้

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คนที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจจะสังเกตเห็นว่ามีพาดหัวข่าวชุดหนึ่งที่เวียนวนมาเรื่อยๆ ปีแล้วปีเล่า รอบแล้วรอบเล่า ซ้ำไปซ้ำมา เริ่มต้นก็ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ชวนให้ตกใจ พอเกิดเป็นดราม่าขึ้นมา สุดท้ายก็มีคนออกมาอธิบายหลักคิดเบื้องหลังให้เข้าใจ เมื่อหายตกใจกันแล้ว พอครบปี หรือครบรอบข่าว ก็(แกล้ง)ลืม กลับมาพาดหัวข่าวกันใหม่ ให้ตกใจกันอีกรอบแล้วรอบเล่า ซ้ำไปซ้ำมา …

ผมขอยกตัวอย่าง 3 ข่าวเศรษฐกิจยอดนิยม เริ่มจากเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด

 

พาดหัวข่าวแรก

“ราชกิจจาฯ รายงานฐานะการเงินไทย หนี้สินประเทศกว่า 6 ล้านล้าน!” (12 มิถุนายน 2563)

จริงๆ แล้ว ต้องบอกว่าตัวเลขหนี้สินประเทศไม่ได้ผิดไปจากความจริงเท่าไรนัก เพราะ “หนี้สาธารณะ” หรือหนี้ภาครัฐของไทยก็มีอยู่มากกว่า 6 ล้านล้านบาทอยู่แล้ว ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านบาท

เพียงแต่รายงานฐานะการเงินที่ปรากฏเป็นข่าว คือ ประกาศกระทรวงการคลัง รายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร ซึ่งเผยแพร่อยู่ในราชกิจจานุเบกษาอยู่เป็นประจำ ตัวเลขที่รายงานนี้ไม่ใช่หนี้สาธารณะ แต่เป็นการแสดงรายงานงบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีอยู่ 3 บัญชี คือ บัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย บัญชีทุนสำรองเงินตรา และบัญชีกิจการธนบัตร ทั้งสามบัญชีมีไว้เพื่อดำเนินกิจการของธนาคารกลาง โดยใช้บริหารสภาพคล่องของระบบ และดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

หนี้สินของ ธปท. มาจากการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของระบบการเงิน การรับฝากเงินจากธนาคารพาณิชย์ การพิมพ์ธนบัตรออกใช้ เป็นต้น หนี้สินเหล่านี้ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ เพราะไม่ได้เป็นภาระภาษีของประชาชน และไม่ได้สร้างภาระให้รัฐบาลต้องไปชำระหนี้แต่อย่างใด นอกจากนั้น ยังมีสินทรัพย์หนุนหลังเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือสินทรัพย์อื่นๆ

อย่าลืมว่า ธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ทุกวันก็นับเป็น “หนี้” ของธนาคารกลางด้วยนะครับ

จริงๆ แล้ว ใครที่สนใจติดตามรายงานฐานะการเงินของ ธปท. ไม่ต้องรออ่านประกาศในราชกิจจาฯ หรอกครับ แนะนำให้ติดตามจากเว็บไซต์ของแบงก์ชาติเลย จะได้ข้อมูลล่าสุดที่รายงานกันทุกสัปดาห์ และสดใหม่ก่อนลงในราชกิจจาฯ ด้วยซ้ำไปครับ

 

พาดหัวข่าวที่สอง

“แบงก์ชาติขาดทุนบักโกรก!”

นี่ก็เป็นอีกข่าวที่เราได้ยินกันแทบทุกปี ปีแล้วปีเล่า แล้ว ธปท. ก็จะออกมาอธิบายสยบดราม่า จนเงียบไป แล้วพอถึงช่วงที่งบ ธปท. ออก ก็จะย้อนกลับมาดราม่าให้ตื่นเต้นซ้ำกันอีกรอบ รอบแล้วรอบเล่า

ผมเคยเขียนบทความเรื่องการขาดทุนของแบงก์ชาติไว้แล้วเมื่อสามปีก่อน แต่ขอสรุปให้อ่านกันอีกครั้งว่ามีประเด็นสำคัญอยู่ 2 เรื่องครับ

หนึ่ง ธนาคารกลางทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ฐานะกำไรขาดทุนอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้ารู้ที่มาที่ไป และไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายและความเชื่อมั่นของธนาคารกลาง

สอง กำไรขาดทุนของธนาคารกลางส่วนใหญ่มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และกำไรจากการตีมูลค่า

ปกติแล้วธนาคารกลางมักจะมีกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เพราะสามารถออกหนี้สินที่ไม่มีดอกเบี้ย (เช่น ธนบัตร) และนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่จ่ายดอกเบี้ย ดังนั้น ในทางหลักการ แบงก์ชาติจึงไม่ควรขาดทุนจากปัจจัยนี้

แต่ช่วงหลังต่างประเทศลดดอกเบี้ยกันจนเหลือศูนย์ แบงก์ชาติก็แทบจะไม่มีกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย เผลอๆ อาจขาดทุนบ้างเป็นบางช่วง

ในขณะที่ปัจจัยจากการตีมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะฐานะงบดุลของแบงก์ชาติมีฝั่งสินทรัพย์เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศในสกุลเงินตราต่างประเทศ (เช่น ดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนฝั่งหนี้สินนั้นเป็นเงินบาท ฉะนั้นทุกครั้งที่ค่าเงินขยับก็ทำให้แบงก์ชาติมีกำไรหรือขาดทุนได้อย่างน่าใจหาย

ทุกวันนี้เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นแปลว่า ถ้าอัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงหนึ่งบาท หรือเงินบาทแข็งค่าขึ้น แบงก์ชาติก็จะขาดทุนมากขึ้นทันทีประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท! โดยที่ยังไม่ทันทำอะไรเลย หรือถ้าปีไหนค่าเงินบาทอ่อนก็มีโอกาสกำไรได้ง่ายๆ

แต่อย่างที่เกริ่นมาครับ ถึงแบงก์ชาติจะขาดทุนจนทุนติดลบ (มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์) ก็อาจจะไม่ได้เป็นปัญหา (ธนาคารกลางหลายแห่งในโลกก็มีทุนติดลบเช่นกัน) ถ้าหากปัญหาเกิดจากการตีมูลค่าสินทรัพย์เป็นหลักและนักลงทุนยังมีความมั่นใจ จนเมื่อนักลงทุนเริ่มขายเงินบาททิ้ง ค่าเงินบาทก็จะอ่อนตัวลง และทำให้ฐานะของแบงก์ชาติดีขึ้นทันทีทันใด

และถ้าแบงก์ชาติอยากเพิ่มทุนขึ้นมาจริงๆ ก็สามารถขอให้รัฐบาลใส่เงินเพิ่มทุน (เช่น โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลมาให้แบงก์ชาติถือ) หรือออกกฎหมายปรับโครงสร้างบัญชีให้ได้ แต่ก็คงจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอยู่พอสมควร

ดังนั้น ประเด็นการขาดทุนบักโกรกของแบงก์ชาติอันเป็นผลจากค่าเงินแข็งก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตกอกตกใจไป ค่าเงินอ่อนลงเมื่อไหร่ การขาดทุนก็ลดลงเอง หรือถ้ายิ่งอ่อนก็อาจพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ แต่ถ้าการขาดทุนมาจากเหตุอื่น ก็ต้องศึกษาและประเมินกันว่าน่ากังวลหรือไม่

 

พาดหัวข่าวที่สาม

“รัฐบาลเตรียมขึ้น VAT!”

ทุกปีราวเดือนตุลาคม จะมีข่าวฮือฮาเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% ดราม่ากันยกใหญ่ จนมีคนออกมาชี้แจงว่าอย่าตกใจ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นอย่างนี้มาจะ 20 ปีแล้ว

ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ตามประมวลรัษฎากร อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มถูกกำหนดไว้ที่ 10% ตั้งแต่แรกใช้ในปี พ.ศ. 2535 แต่ได้มีการเปิดช่องให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อปรับลดอัตราภาษีลงได้ จึงได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีให้เหลือ 7% มาตลอด โดยมีการพิจารณาต่ออายุปีต่อปี (บางครั้งก็สองปี) แถมตอนท้ายในพระราชกฤษฎีกาก็เขียนทิ้งท้ายให้ตกใจด้วยว่าอัตราภาษีจะถูกปรับเพิ่มขึ้นไปตามเดิมเมื่อครบกำหนดเวลา แต่ตามธรรมเนียม ทุกครั้งที่ครบกำหนดก็จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ต่ออายุไปเรื่อยๆ (มีแค่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% เป็นช่วงสั้นๆ)

ทีนี้ในพระราชกฤษฎีกาเพื่อลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเขียนระบุไว้ว่า ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 6.3% แล้วพอหมดอายุก็ให้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9% บางคนก็เลยแอบดีใจนึกว่าเขายิ่งลดภาษีลงกว่าเดิมอีก จาก 7% เป็น 6.3% ส่วนบางคนก็ตกใจล่วงหน้าว่าปีต่อไปจะต้องจ่ายอ่วมเพิ่มขึ้นเป็น 9% แล้วแต่ว่าใครจะหยิบส่วนไหนมาดราม่า

เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้ก็คือ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่เราคุ้นเคย ประกอบด้วยสองส่วน คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% และภาษีที่ต้องจัดสรรให้ราชการส่วนท้องถิ่น 0.7% เนื่องจากกฎหมายมอบให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนราชการส่วนท้องถิ่นในอัตรา 1 ใน 9 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ เมื่อรวมสองส่วนเข้าด้วยกันจึงเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 7% เท่าเดิม

และในกรณีที่อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มถูกปรับให้เป็น 10% ก็มีหลักคิดเช่นเดียวกัน องค์ประกอบก็จะเปลี่ยนเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% และภาษีท้องถิ่นอีก 1% (1 ใน 9 ของ 9%) รวมเป็นอัตราภาษี 10% ตามประมวลรัษฎากร

ดังนั้น ในพระราชกฤษฎีกาจึงเขียนตัวเลขอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดแล้วเป็น 6.3% และอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามเพดานปกติเป็น 9% ซึ่งก็คือกรณีที่ประชาชนถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% (6.3% + 0.7%) และ 10% (9% + 1%) ตามลำดับนั่นเอง ทุกอย่างไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม

เรื่องราวก็วนลูปอยู่อย่างนี้มาสองทศวรรษ แต่ก็ไม่วายเป็นประเด็นข่าวให้ดราม่ากันได้ตลอด รอดูเดือนตุลาคม 2563 ที่กำลังจะมาถึงว่าวงล้อข่าวจะหมุนวนมาอีกหรือไม่

ในความเป็นจริง ผมคิดว่าฐานรายได้จากภาษีของไทยไม่เพียงพอที่จะรองรับภาระทางการคลังในอนาคตแน่ๆ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหนึ่งในภาษีที่อาจจะปรับขึ้นได้ แต่เศรษฐกิจของเราไม่เคยอยู่ในภาวะที่ “เหมาะสม” ให้ขึ้นภาษีเสียที อีกทั้งในทางการเมือง นโยบายปรับขึ้นภาษีคงไม่เป็นที่นิยม และคงเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก

 

อ่านบทความชิ้นนี้แล้ว ในอนาคตถ้าได้อ่านข่าวดราม่าเศรษฐกิจยอดนิยมซ้ำอีก ท่านผู้อ่านก็ไม่ต้องตกใจไปนะครับ ส่วนตัวผมเองก็แอบหวังว่า สังคมและสื่อมวลชนจะได้เรียนรู้จนข่าวที่ไม่ควรเป็นข่าวเหล่านี้หยุดเกิดใหม่ในหน้าข่าวเสียที ไม่ต้องเวียนวนมาหลอกหลอนกันเรื่อยๆ ปีแล้วปีเล่า รอบแล้วรอบเล่า ซ้ำไปซ้ำมา …

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save