fbpx
3 ข้อชวนคิด ก่อน “ช็อปช่วยชาติ”

3 ข้อชวนคิด ก่อน “ช็อปช่วยชาติ”

อธิภัทร มุทิตาเจริญ เรื่อง

 

มาตรการช็อปช่วยชาติกลับมาอีกแล้วครับ เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน  หลายๆท่านเห็นโครงการแล้วอาจจะดีใจที่ได้ส่วนลดไปช็อปปิ้งปลายปีอีกแล้ว แต่อย่าเพิ่งรีบออกตัวไปซื้อของครับ เรื่องนี้มีนัยยะสำคัญทั้งต่อตัวพวกเราเอง และต่อประเทศชาติ

ในบทความนี้ ผมขอชวนคุยว่าเราควรคิดอะไรก่อนที่จะออกไปช็อปปิ้ง และในฐานะพลเมืองเจ้าของประเทศ เราจะดูอย่างไรว่ามาตรการนี้คุ้มค่าหรือเปล่า และมันสะท้อนภาพใหญ่ของประเทศอย่างไร

 

1. ทบทวนส่วนลดภาษีที่แท้จริงของเรา

 

ผู้อ่านหลายท่านเห็นมาตรการแล้วอาจคิดเร็วๆ ว่า ส่วนลดภาษีที่เราได้รับจะเท่ากับขั้นบันไดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตัวเอง แต่จริงๆแล้ว ส่วนลดภาษีที่แท้จริงของท่านอาจจะน้อยกว่านั้นมาก เนื่องจากตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ท่านอาจจะได้ซื้อ หรือวางแผนที่จะซื้อ LTF RMF ประกันชีวิต หรือบริจาคเงินต่างๆ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ไปพอสมควรแล้ว

ในงานวิจัยของผมที่ได้รับความกรุณาจากกรมสรรพากรให้ใช้ข้อมูลผู้เสียภาษีในการศึกษา พบว่า มีเพียงแค่ประมาณ 7% ของผู้ยื่นแบบภาษีเท่านั้นที่เข้าข่ายจะได้รับส่วนลดภาษี 20% ขึ้นไปจากมาตรการช็อปช่วยชาติ  ดังนั้นก่อนจะออกไปซื้อของ ผมขอให้ท่านผู้อ่านลองกดเครื่องคิดเลขคำนวณเงินได้สุทธิ และส่วนลดภาษีที่แท้จริงของเราก่อน อย่าเพิ่งรีบใช้สิทธิโดยที่ตัวเองยังไม่รู้ว่าจะได้ส่วนลดเท่าไหร่

 

รูปที่ 1 สัดส่วนของผู้ยื่นแบบภาษี ตามส่วนลดภาษีที่จะได้รับหากเข้าร่วมมาตรการช็อปช่วยชาติ (2560)

 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดถ้าท่านมีเงินเหลือและยังไม่รู้ว่าจะซื้ออะไรดี แต่อยากได้ส่วนลดภาษี การเอาเงินนั้นไปออมหรือลงทุน เช่น ซื้อหน่วยลงทุนพวก RMF และ LTF น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ โดยรวมสัดส่วนของผู้เสียภาษีไทยที่ได้ลดหย่อนภาษีผ่าน RMF หรือ LTF มีเพียงแค่ไม่ถึง 10% เท่านั้น และเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง สัดส่วนนี้ยิ่งน้อยลงไปอีกอยู่ในระดับต่ำกว่า 5% นอกจากนี้สัดส่วนของการหักลดหย่อนต่อรายได้ของหน่วยลงทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ก็ยังถือว่าค่อนข้างต่ำทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรายได้ปลายกลาง

 

รูปที่ 2 สัดส่วนผู้ที่ใช้สิทธิ์หักลดหย่อน และสัดส่วนหักลดหย่อนต่อรายได้ของ RMF และ LTF (2555)

2. ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของมาตรการ

 

ในฐานะประชาชนคนไทย เราต้องไม่ลืมว่าต้นทุนของมาตรการนี้คือเม็ดเงินภาษีของเราเอง ดังนั้นคำถามสำคัญที่พวกเราต้องช่วยกันถามดังๆ ก็คือ มาตรการช็อบช่วยชาตินี้จะคุ้มค่ามากน้อยขนาดไหน

เมื่อเป้าหมายหลักของมาตรการคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาคเอกชน คำว่า “คุ้มค่า” จึงหมายความว่า เม็ดเงินทุก 1 บาทที่รัฐเสียไปจากการเก็บภาษีได้น้อยลง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า 1 บาทหรือเปล่า

กุญแจของความคุ้มค่านี้จึงมีอย่างน้อย 2 ดอกด้วยกัน

กุญแจดอกแรก คือ การสร้างอุปสงค์ใหม่ ไม่ใช่แค่การเลื่อนการใช้จ่าย ตัวอย่างคือ คนที่คาดการณ์ว่าจะมีมาตรการนี้ช่วงปลายปี เนื่องจากเห็นว่ามีมาแล้ว 2 ปีติดต่อกัน พอเข้าครึ่งปีหลังเป็นต้นมา ก็ชะลออั้นการซื้อโทรทัศน์ ตู้เย็น โทรศัพท์ไว้ รอมาใช้ช่วงที่มีส่วนลดจากโปรโมชั่นช็อปช่วยชาติ

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการเลื่อนอุปสงค์มาจากอนาคต อาจจะวางแผนซื้อของไว้ช่วงต้นปีหน้า ก็เลื่อนมาซื้อก่อนล่วงหน้าในช่วงนี้ หรือซื้อของตุนเอาไว้ใช้ในอีกครึ่งปีข้างหน้า

กุญแจดอกที่สอง คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ ถ้าคนเอาเงินไปซื้อสินค้าที่มีส่วนประกอบของการนำเข้า (Import content) สูง เช่น ไอโฟน ซัมซุง และสินค้าแบรนด์ต่างประเทศอื่นๆ เม็ดเงินภาษีที่เราใช้ตรงนี้ ก็จะมีประโยชน์น้อยมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นั่นหมายความว่า ถ้าจะให้คุ้มค่า มาตรการลักษณะนี้ต้องทำในรูปแบบที่คนไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน ต้องเป็นการซื้อบริการ หรือสินค้าที่ไม่คงทน เก็บไว้นานๆไม่ได้ และต้องมีการจำกัดส่วนประกอบของการนำเข้า

จะเห็นได้ว่ามาตรการช็อปช่วยชาติ ซึ่งได้ทำมาสามปีติดต่อกันแล้ว แทบจะไม่เข้าข่ายความคุ้มค่าตามที่ได้กล่าวมานี้เลย

กระทรวงการคลังบอกว่า ต้นทุนภาษีของมาตรการนี้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท และจะช่วยกระตุ้น GDP ได้ 0.05% แต่น่าสงสัยว่า GDP ที่กระตุ้นได้นี้มีมากน้อยขนาดไหนที่เป็นอุปสงค์ใหม่ คำถามที่น่าสนใจคือ หลังจากดำเนินมาตรการนี้มาแล้ว 2 ปี รัฐบาลมีการศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกอย่างไรบ้างถึงความคุ้มค่านี้ ผลประโยชน์ตกอยู่กับใคร ทั้งในมุมประชาชนผู้ได้รับการลดหย่อนภาษี และมุมกลุ่มธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการ

การเปิดเผยผลการศึกษานี้จะทำให้สังคมคลายกังวลขึ้นได้ว่า มาตรการเหล่านี้มีความคุ้มค่าอย่างแท้จริง ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจใดอย่างที่หลายคนสงสัยกัน การอ้างถึงผลดีแค่เพียงตัวเลขการกระตุ้น GDP 0.05% ไม่น่าจะเพียงพอครับ

 

3. ตระหนักถึงต้นทุนซ่อนเร้นของโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

 

ภาพใหญ่ของเรื่องนี้ คือ การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านระบบภาษี ได้สร้างต้นทุนซ่อนเร้นที่สำคัญให้แก่ภาคการคลังของประเทศ (Hidden fiscal cost) ดังที่ผมเคยเขียนถึงมาแล้ว สาธารณชนแทบจะไม่ทราบว่าต้นทุนของสิทธิประโยชน์เหล่านี้มีมากน้อยขนาดไหน และใครบ้างเป็นผู้ได้รับประโยชน์

งานวิจัยของผมได้ประมาณการว่า รายได้ของรัฐที่ลดลงเนื่องจากการให้สิทธิการลดหย่อนต่างๆในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีมูลค่ามากถึง 1 ใน 3 ของรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดในปี 2560 นอกจากนี้ ต้นทุนของการลดหย่อนภาษีส่วนใหญ่ยังจะกระจุกตัวอยู่ที่คนรวย โดย 27% ของเม็ดเงินต้นทุนการลดหย่อนภาษีนี้ จะเป็นของผู้ที่มีรายได้สูงสุด Top 5%

 

รูปที่ 3 รายจ่ายภาษีภายใต้กฎหมายปัจจุบันและองค์ประกอบสำคัญ (2560)

รูปที่ 4 การกระจายของรายจ่ายภาษีตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

 

 

ในมุมของผม สิ่งที่คุ้มค่าที่สุดจากมาตรการช็อปช่วยชาตินี้คือ การทำให้คนไทยได้ตระหนัก ถึงต้นทุนซ่อนเร้นทางการคลังจากมาตรการในลักษณะนี้ มาช่วยกันถามคำถามเรื่องนี้ดังๆ ถึงรัฐบาลกันครับ ผมเชื่อว่าประชาชน รวมถึงข้าราชการหลายท่าน ก็ไม่แน่ใจต่อความคุ้มค่าของมาตรการ การตั้งคำถามของพวกเราจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงถึงวินัยทางการคลังมากขึ้นเวลาคิดและทำมาตรการเช่นนี้

วินัยทางการคลังของรัฐบาลจะดีขึ้นได้ ถ้าพวกเราช่วยกันครับ

 

อ้างอิง

อธิภัทร มุทิตาเจริญ, 2560, “การวิเคราะห์รายจ่ายภาษีสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา,” ชุดโครงการแนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน (หัวหน้าโครงการ: ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร) สนับสนุนโดยสกว.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018