fbpx
มองสามมุมเรื่องสถานการณ์และทางออกเศรษฐกิจไทย

มองสามมุมเรื่องสถานการณ์และทางออกเศรษฐกิจไทย

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทว่าโมเดลการพัฒนาแบบเดิมเริ่มมาถึงขีดจำกัด เมื่อต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ผลิตภาพการผลิตต่ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในตลาดโลก การขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ทำให้ไม่สามารถยกระดับการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้ ฯลฯ สถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยต้องหาโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่มีคุณภาพ

ข้อถกเถียงเกี่ยวโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ยิ่งมีความแหลมคมมากขึ้น เมื่อตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจของรัฐสวนทางกับความรู้สึกของผู้คนในโลกจริง ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสสอง ปี 2560 อยู่ที่ 3.7% ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศกลับไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแต่อย่างใด

เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทยกันแน่? เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไร? อะไรคือประเด็นเศรษฐกิจที่สังคมไทยควรจับตา? อะไรคือทางออกสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจไทย?

ร่วมสำรวจสถานการณ์และทางออกเศรษฐกิจไทยกับ รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รศ.ดร.พีระ เจริญพร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผ่านมุมมองเศรษฐกิจมหภาค นโยบายอุตสาหกรรม และการปฏิรูปการศึกษา

 

 

เศรษฐกิจมหภาคไทย : ป่วย แก่ กระจุก 

 

ดร.สมประวิณ ชี้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือนคนชราและคนป่วยจนทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ช้า แม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ผู้คนจำนวนมากกลับรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นเพียงแค่การฟื้นไข้เท่านั้น แต่ความ ‘แก่’ ยังคงอยู่ เศรษฐกิจไทยจึงยังคงฟื้นตัวช้า และอาจไม่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วอีกแล้วภายใต้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิม

“โรคจริงๆ ของเศรษฐกิจ คือ ‘แก่’ เราพัฒนามาหลายลำดับขั้นแล้ว เริ่มตั้งแต่ขุดทรัพยากรมาขาย แล้วพัฒนาด้วยการใส่ปัจจัยการผลิต ใส่ทุน และแรงงานเข้าไป จนมาถึงปัจจุบัน เครื่องยนต์ที่ใช้ก็เริ่มเก่าแล้ว แต่ทางยังชันอยู่ ก็ไม่แปลกที่เราจะเจริญเติบโตได้ช้า” ดร.สมประวิณ ยกตัวอย่าง

ดร.สมประวิณ อธิบายเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการส่งออก ซึ่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนจำนวนน้อยและบริษัทไม่กี่รายเท่านั้น

นอกจากนี้ การรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีนั้นอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ภาคค้าปลีกของไทยที่เปลี่ยนผ่านมาสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ในการวิเคราะห์จีดีพี ภาคค้าปลีกขยายตัวประมาณ 5.5% แต่การซื้อขายในห้างขยายตัวแค่ 2.3% ในขณะที่ออนไลน์ขยายตัวกว่า 15%

“ผู้ประกอบการต้องถามคำถามตัวเองให้ดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของวัฏจักรเศรษฐกิจ การกระจุกตัว หรือว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ปัญหาจะต่างกัน” ดร.สมประวิณกล่าว

เมื่อถูกถามถึงทางออกของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ดร.สมประวิณ ชี้ว่า มีประเด็นหลัก 3 ประเด็นที่สังคมไทยต้องตอบ

ประเด็นแรก ความเท่าเทียมในการกระจายโอกาส โดยมีตัวชี้วัดอย่างง่ายคือ ‘ความง่ายในการทำธุรกิจ’ (ease of doing business) ดูได้จากการที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องไม่แบกรับต้นทุนในการทำธุรกรรมกับรัฐมากเกินไป

ประเด็นที่สอง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประเทศไทยจำเป็นต้องหาเครื่องมือทางการเงินแบบใหม่ๆ เพื่อให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้

ประการที่สาม การแข่งขันที่เป็นธรรม กฎระเบียบต้องเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่แบบไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้

 

 

กับดักทางความคิดของภาคอุตสาหกรรมไทย : การทำวิจัยและพัฒนา

 

ที่ผ่านมา การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยขึ้นอยู่กับการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติค่อนข้างมาก แต่ในปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติกำลังลดลง และไม่ได้เลือกประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตสินค้าชนิดใหม่

ทำไม?

ดร.พีระ ชี้ว่า ปัญหาสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทยคือ กับดักทางความคิดที่มุ่งเน้นแต่การทำวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว ในขณะที่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีมากกว่านั้น เช่น การออกแบบ การทำวิศวกรรมย้อนกลับ (reverse engineering) การพัฒนาสินค้า ฯลฯ

แม้จะเน้นการวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่การวิจัยและพัฒนาของไทยยังมีปัญหาอยู่หลายด้าน ไม่ว่างบลงทุนที่น้อยเกินไป หรือเอกชนมีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาน้อยเกินไป ในขณะที่ภาครัฐกลับมีบทบาทในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

“การวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนและภาครัฐไม่เหมือนกัน ภาครัฐทำแล้วมักจะขึ้นหิ้งทำให้ไม่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจริง” ดร.พีระกล่าวถึงปัญหาเรื่องการทำวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ

นอกจากนี้ ภาครัฐไทยยังมีเครื่องมือเชิงนโยบายที่ใช้สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาที่จำกัดมาก ประเทศไทยใช้แต่แรงจูงใจทางภาษีเพียงอย่างเดียว ซึ่งงานวิจัยเป็นจำนวนชี้ว่าเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ผล ดร.พีระ เสนอว่า ประเทศไทยควรเครื่องมืออื่นมาส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการให้ทุนสนับสนุนของรัฐแก่ภาคเอกชน

กับดักทางความคิดอีกประการหนึ่งในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา คือ รัฐไทยไม่มีแนวคิดในการให้เงินทุนสนับสนุนบริษัทข้ามชาติ ซึ่ง ดร.พีระเห็นว่า เป็นนโยบายทางเลือกที่น่าสนใจและเคยประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาแล้ว

“ถ้าเราอยากเป็นประเทศที่ผลิตนวัตกรรมและขยับขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือทางนโยบายที่หลากหลาย” ดร.พีระกล่าวย้ำ

สำหรับทางออกของภาคอุตสาหกรรมไทย ดร.พีระชี้ว่า รัฐไทยต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยมีความหลากหลาย ดังนั้น รัฐควรออกแบบนโยบายเฉพาะส่วนแทนที่จะใช้นโยบายแบบเดียวกันหมด เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กควรใช้นโยบายที่ให้ความสำคัญกับการขยายขนาดธุรกิจ (scale up) เพราะจะช่วยให้ผลิตภาพการผลิตสูงขึ้น หรือการออกแบบนโยบายอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยล่าสุดควรออกแบบในระดับบริษัท (tailor made) เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเสี่ยงในการลงทุนที่แตกต่างกัน

 

การปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มต้นที่ระบบครู

 

ดร.วีระชาติ เริ่มต้นการอภิปรายด้วยการชี้ให้เห็นว่า การศึกษาเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก ดังนั้น หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มต้นที่ระบบครู

“ทุกวันนี้ด้วยโครงสร้างผลตอบแทนที่เป็นอยู่ทำให้เราได้คนเก่งพอสมควรมาเป็นครู แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนระบบ คนเก่งเหล่านี้ก็เข้าไปอยู่ในระบบแบบเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” ผศ.วีระชาติ กล่าวถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาระบบครู

ดร.วีระชาติชี้ว่า ปัญหาสำคัญของระบบครูมีอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก การออกแบบระบบแรงจูงใจให้ครูส่วนใหญ่ตั้งใจสอนและปรับตัวเข้ากับการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ได้ ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการให้อำนาจส่วนกลางในการกำกับดูแล ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดทิศผิดทาง

ประการที่สอง การเลือกใช้วิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ โดยวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพไม่ได้หมายถึง ‘วิธีที่ดีที่สุดในโลก’ ที่มีคนเก่งใช้ได้ไม่กี่คน หากแต่หมายถึง ‘วิธีที่ดีพอสมควร’ แต่เป็นวิธีที่ครูทั่วไปส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้สอนได้จริง

เมื่อถามถึงทางออกของโจทย์ทั้ง 2 ประการ ผศ.วีระชาติชี้ว่า ยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจนักว่าต้องทำอย่างไร เพราะเป็นปัญหาค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็ยังพอมองเห็นทางออกที่พอจะเป็นไปได้ คือ การกระจายอำนาจและการดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องต่อกัน

“เป็นความท้าทายที่จะทำให้กระทรวงศึกษายอมรับบทบาทของผู้ปกครอง เพราะด้วยโครงสร้างรวมศูนย์ที่ผ่านมาทำให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมได้ไม่เต็มที่ สภาพเช่นนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าตนเองเข้ามามีบทบาทได้ ” ดร.วีระชาติ กล่าว

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากเวทีเสวนาสาธารณะ Knowledge Farm Talk #3 “เศรษฐกิจไทย: สถานการณ์ปัจจุบันและทางออกสำหรับอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน “25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ณ สยามพารากอน

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save