fbpx
สามยุทธศาสตร์ Catch-Up : ตลาดเสรี ฝูงห่านบิน และเสือกระโดด

สามยุทธศาสตร์ Catch-Up : ตลาดเสรี ฝูงห่านบิน และเสือกระโดด

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในปี 1960 ซึ่งธนาคารโลกเริ่มเก็บข้อมูลรายได้แต่ละประเทศอย่างเป็นระบบ ในปีนั้นมีประเทศ ‘รายได้ปานกลาง’ อยู่จำนวน 101 ประเทศ

เมื่อเวลาผ่านไป 50 ปี คุณคิดว่ามีกี่ประเทศครับที่สามารถหลุดพ้นสถานะรายได้ปานกลางขึ้นมาเป็นประเทศร่ำรวยได้

คำตอบคือ 13 ประเทศ

พูดอีกอย่างก็คือ ในบรรดาร้อยประเทศที่ออกวิ่งไล่เลี่ยกันนั้น มีเพียงสิบกว่าประเทศเท่านั้นที่สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยได้สำเร็จหลังแข่งกันมาครึ่งศตวรรษ!

หัวข้อศึกษาเรื่อง ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ เป็นที่สนใจแพร่หลายก็เพราะสัดส่วนความสำเร็จในการไล่กวด (catch-up) ที่น้อยจนน่าตกใจนี่แหละครับ

แล้วพอมาดูรายละเอียดว่ามีประเทศใดบ้างที่ประสบความสำเร็จ ก็จะยิ่งตกใจเข้าไปอีก

เพราะจาก 13 ประเทศดังกล่าว เป็นประเทศที่อยู่ในยุโรปและได้รับประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปไปแล้ว 4 ประเทศ (กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน) เป็นเกาะขนาดเล็ก 2 ประเทศ (มอริเชียสและเปอร์โตริโก) และเป็นประเทศที่ร่ำรวยเพราะโชคดีขุดเจอน้ำมัน 1 ประเทศ (อิเควทอเรียลกินี)

เหลือเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่พอจะมีลักษณะใกล้เคียงกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มากหน่อย ชวนให้ศึกษาโมเดลการพัฒนาเพิ่มเติม คือ อิสราเอล ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

การขยับสถานะอันแสนยากเย็นนี้ทำให้เกิดวิวาทะในแวดวงเศรษฐศาสตร์การพัฒนามายาวนาน ว่าอะไรคือ ‘กลจักรแห่งการเติบโต’ (growth engine) ที่ประเทศเพียงหยิบมือใช้ขับเคลื่อนจนก้าวจากโลกที่สามสู่โลกที่หนึ่งได้

คนส่วนใหญ่ (เคย) เชื่อว่า ‘กลไกตลาด’ คือกลจักรมหัศจรรย์ที่หากประเทศกำลังพัฒนานำเข้ามาใช้ให้ถูกที่ถูกทางก็จะสร้างความเจริญรุ่งเรือง แต่พอผ่านสงครามโลกมาได้ 2-3 ทศวรรษ การเติบโตแบบไฮสปีดของเอเชียตะวันออกกลับสร้างชื่อเสียงให้กับ ‘ทฤษฎีฝูงห่านบิน’ ที่มีญี่ปุ่นเป็นห่านจ่าฝูง

อย่างไรก็ดี เมื่อโลกยุค 4.0 หันมาสนใจการพัฒนานวัตกรรมเป็นหลัก คนจำนวนมากก็พากันแกะรอย ‘เส้นทางเสือกระโดด’ ที่ทำให้บริษัทจากเกาหลีใต้และไต้หวันเติบโตล้ำหน้าญี่ปุ่น

 

ยุทธศาสตร์ตลาดเสรี

 

ผู้เชื่อมั่นในแนวทางตลาดเสรีมองว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศยากจนคือ ตลาดถูกบิดเบือน เพราะรัฐเข้ามาก้าวก่ายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะด้วยมาตรการโจ่งแจ้งอย่างการอุดหนุนผู้ผลิตบางราย ประกันราคาสินค้า หรือผ่านเครื่องมืออื่นๆ เช่น ตั้งอัตราภาษีศุลกากรระดับสูง กีดกันการลงทุนจากต่างชาติ

ทั้งหมดนี้ทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ การแข่งขันไม่สมบูรณ์ ผู้บริโภคจึงไม่สามารถซื้อสินค้าในราคาตามกลไกตลาด ส่วนเกษตรกรและผู้ผลิตก็ไม่มีแรงจูงใจให้พัฒนาเทคโนโลยี เพราะรู้ว่ามีรัฐบาลคอยช่วยเหลืออยู่

ทางแก้ปัญหาก็คือ ทำตรงข้ามกับที่ว่ามาข้างต้นเพื่อให้กลไกราคาทำงานได้สมบูรณ์ ดังสโลแกนว่า “Getting the prices right” โดยเลิกประกันราคา ปล่อยให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาอย่างเสรี ไม่มีกำแพงภาษี แปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนเสีย

เช่นเดียวกับกลุ่มอื่น ในหมู่ผู้สนับสนุนตลาดเสรีก็มีหลายเฉดสีภายใน มีตั้งแต่สำนักที่เชื่อในตลาดเสรีสุดขั้ว รัฐไม่ควรทำอะไรเลยนอกจากป้องกันประเทศจากการรุกรานทางทหาร ถัดมาหน่อยก็มีกลุ่มที่เห็นว่ารัฐควรมีบทบาทจัดการสิ่งที่ตลาดทำเองไม่ได้ เช่น สร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐาน ดูแลสิ่งแวดล้อม หรือบางกลุ่มที่ให้เปรียบเทียบต้นทุน ผลได้-ผลเสียระหว่างให้รัฐทำกับให้ตลาดทำ

อิทธิพลของตลาดเสรีแปรผันขึ้นลงตลอดพัฒนาการทุนนิยมโลก โดยมีอิทธิพลสูงในยุคล่าอาณานิคมและช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เสียเครดิตไปในมหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 และกลับมามาผงาดอีกครั้งในทศวรรษ 1980 ก่อนจะถูกวิจารณ์หนักหน่วงอีกคราในปี 2007-2008

ข้อวิจารณ์ทางทฤษฎีที่สำคัญคือ ตลาดเสรีอาจมีพลังในการจัดสรรทรัพยากร ณ เวลาหนึ่งๆ ให้มีประสิทธิภาพ (static efficiency) แต่ไม่ได้การันตีว่าประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถยกระดับ ความสามารถทางเทคโนโลยี (technological capabilities) ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวได้

ยกตัวอย่างเช่น หากประเทศหนึ่งยกเลิกภาษีศุลกากรลงชั่วข้ามคืน ประชาชนย่อมสามารถซื้อสินค้านำเข้าได้ในราคาถูกลงแน่นอน แต่ผู้ผลิตในประเทศย่อมยากที่จะเติบโต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาก่อน

 

ยุทธศาสตร์ฝูงห่านบิน

 

โลกทฤษฎีขยับตามโลกแห่งความจริง เมื่อญี่ปุ่นและบรรดาเสือเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ เริ่มเติบโตเร็วผิดคาดในทศวรรษ 1980 โลกจึงหันมามองเอเชียและหาคำอธิบายที่มาจากฝั่งเอเชียเองมากขึ้น

อันที่จริง ศาสตราจารย์ คานาเมะ อะคามัตซึ (Kaname Akamatsu) เสนอ ทฤษฎีฝูงห่านบิน (flying geese model) ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 แล้ว แต่แนวคิดนี้เพิ่งถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางก็เมื่อโลกเริ่มมองเห็นฝูงห่านเอเชียด้วยตาของตัวเอง

แนวคิดนี้มอง ‘การผลิต’ (production) เป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเทศกำลังพัฒนาย่อมไม่มีทุนและเทคโนโลยีที่จะผลิตสินค้าเองในช่วงแรก จึงต้องอาศัยการลงทุนจากประเทศเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งก็จะได้ประโยชน์จากค่าแรงที่ถูกลงเมื่อย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศตนเอง สมประโยชน์ win-win กันทั้งสองฝ่าย

การพัฒนาเศรษฐกิจตามวิธีคิดนี้จึงมีกรอบคิดเป็นระดับ ‘ภูมิภาค’ โดยเปรียบเปรย ‘ห่านจ่าฝูง’ เป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยี และมองการพัฒนาเป็นเรื่องของการไต่ระดับการผลิตสินค้า

ประเทศกำลังพัฒนาควรค่อยๆ ขยับบินตามห่านจ่าฝูง โดยเริ่มไต่ระดับจากการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น (เช่น สิ่งทอ รองเท้า) แล้วจึงค่อยพัฒนามาผลิตสินค้าเทคโนโลยี (เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์) เมื่อเวลาผ่านไป

แน่นอนว่าตามแนวคิดนี้ ญี่ปุ่นคือ ‘ห่านจ่าฝูง’ ของการพัฒนาในเอเชีย หลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาทะยานอีกครั้งก็นำมาสู่การโยกย้ายฐานการลงทุนครั้งใหญ่ เนื่องจากค่าแรงภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น

ระลอกแรก ห่านญี่ปุ่นบินไปชวนห่านเกาหลีใต้ ห่านไต้หวัน และห่านสิงคโปร์ ฉุดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้ให้ออกบินตามขึ้นมา

พอทศวรรษ 1980 ก็เกิดการเปลี่ยนทิศทางสู่ระลอกที่สอง ทั้งญี่ปุ่นและห่านตัวรองอย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน ออกบินมาตั้งฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

แม้แต่ในปัจจุบัน หลายคนยังมองว่าการเติบโตของประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ก็สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดฝูงห่านบิน เพราะห่านญี่ปุ่นและบรรดาห่านตัวรองก่อนหน้าก็ถึงคราวออกบินอีกครั้งเพื่อหาฐานที่มั่นแห่งใหม่ เป็นไปตามวัฏจักรเดิมแม้หน้าตาของสินค้าและห่านจะเปลี่ยนไปก็ตาม

 

ยุทธศาสตร์เสือกระโดด

 

อย่างไรก็ดี พอห่านญี่ปุ่นเริ่มบินช้าและถูกเกาหลีใต้และไต้หวันแซงหน้าไปในหลายอุตสาหกรรม งานวิจัยก็หันมาสนใจสองประเทศนี้มากขึ้น

งานวิจัยของ คุน ลี (Keun Lee) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เสนอว่าเราสามารถแบ่งเส้นทางการไล่กวดได้เป็น 3 รูปแบบหลัก ผมแปลเป็นไทยว่า ไล่ตามเขา เราทำเอง หรือ เขย่งก้าวกระโดด

Path-following หรือ ไล่ตามเขา เป็นเส้นทางปกติที่พบเห็นทั่วไป โดยประเทศกำลังพัฒนาเลือกเดินตามประเทศเจ้าของเทคโนโลยีไล่ไปทีละขั้น เรียกว่าเดินตามก้นผู้นำ ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากเกินไป เส้นทางนี้เป็นวิธีที่เกาหลีใต้ใช้พัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระยะแรก (ที่ยังเป็นระบบอนาล็อก) คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเครื่องจักรกล

Path-creating หรือ เราทำเอง เป็นการตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางใหม่ที่ยังไม่มีผู้นำชัดเจน แบกรับความเสี่ยง แต่ถ้าประสบความสำเร็จก็จะกลายเป็นผู้นำตลาดทันที เกาหลีใต้เลือกเดินเส้นทางนี้ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์ระบบ CDMA และโทรทัศน์ระบบดิจิทัล

เส้นทางที่น่าสนใจยิ่งแต่มักถูกมองข้ามคือ Stage-skipping หรือ เขย่งก้าวกระโดด เพราะเป็นเส้นทางที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ต้องเสี่ยงเลือกทางใหม่ที่ยังรกร้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องเดินตามก้นผู้นำ โดยสามารถเลือก ‘ก้าวกระโดด’ ขั้นตอนที่ผู้นำเคยทำพลาดมาก่อน อาศัยประโยชน์ของการมาทีหลังเพื่อเดินลัดไปยังกระบวนการล่าสุดเพื่อให้เข้าใกล้ผู้นำได้มากที่สุด

 

 

ใช่ครับ ความยากของเส้นทาง Stage-skipping อยู่ที่ความสามารถในการอ่านเกมและการจับกระแสแต่ละอุตสาหกรรมแม่นยำ ดังที่เห็นตัวอย่างจากกรณีซัมซุง (Samsung) ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ซัมซุงเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตหน่วยความจำ D-RAM ช้ากว่าสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยเป็นช่วงที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนผ่านจากชิปส์ 16-Kbit ไปสู่ 64-Kbit

ณ จุดนั้นซัมซุงสามารถเลือกจะเริ่มต้นเดินตามทางปกติ ด้วยการเริ่มผลิตชิปส์แบบ 1-Kbit ไล่ไปจนถึง 16-Kbit ก็ได้

แต่ซัมซุงต้องการเขย่งก้าวกระโดดแซงผู้นำให้ได้ จึงตัดสินใจซื้อเทคโนโลยีด้านการออกแบบและการผลิตจากบริษัทสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพื่อจะได้เข้าสู่ธุรกิจด้วยการผลิตชิปส์ 64-Kbit พร้อมกับบริษัทผู้นำตลาดเลย ซึ่งทำให้ซัมซุงย่นย่อเวลาในการไล่กวดไปหลายทศวรรษ จนสามารถกลายมาเป็นผู้นำตลาดได้ในทศวรรษ 2000

 

การเลือกยุทธศาสตร์กับความเสี่ยง

 

แน่นอนครับ high return ย่อมแลกมาด้วย high risk หากตลาดโลกไม่ได้หันมาสนใจโทรทัศน์ระบบดิจิทัล การลงทุนมหาศาลของซัมซุงก็อาจสูญเปล่า เกาหลีใต้และไต้หวันเองก็ล้มเหลวในหลายอุตสาหกรรมเช่นกันตลอดการไล่กวดทางเศรษฐกิจ

จะเลือกยุทธศาสตร์ใดย่อมขึ้นกับธรรมชาติของอุตสาหกรรมด้วย เช่นแนวทาง stage-skipping เหมาะกับอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีค่อนข้างบ่อย และมีการพัฒนาที่พอจะคาดเดาทิศทางได้อย่างอุตสาหกรรม D-RAM

ในอุตสาหกรรมประเภทนี้ ช่องว่างทางเทคโนโลยีจากรุ่นสู่รุ่นจะไม่กว้างเท่าใด และเทคโนโลยีสำคัญมักเป็นเชิงกระบวนการ (process technology) จึงทำให้บริษัทที่สามารถผลิตคราวละมากๆ ได้อย่างซัมซุงมีโอกาสสูงที่จะไล่ทันบริษัทผู้นำตลาด

นอกจากนี้ บริษัทที่เข้าอุตสาหกรรมประเภทนี้ก่อน (first mover) ก็มักจะมีปัญหาในการขยับตัวมากกว่าบริษัทที่มาทีหลังด้วยซ้ำ เพราะเหตุที่ตัวเองลงทุนกับเทคโนโลยีปัจจุบันไปแล้วมหาศาล (เช่น ชิปส์ 16-Kbit) จึงอยากทำกำไรจากการขายให้ได้มากและนานที่สุด ก่อนจะขยับไปสู่เทคโนโลยีขั้นถัดไป

กลายเป็นการเปิดช่องว่างให้บริษัทที่มาช้ากว่าแต่กล้าเสี่ยง กระโจนเข้าหาโอกาสช่วงเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีไปโดยปริยาย

แต่ไม่ว่าจะเลือกยุทธศาสตร์ใดๆ ก็ย่อมมีความเสี่ยงในตัวเองทั้งนั้น เพราะการมี ‘ยุทธศาสตร์’ หมายถึง ความกล้าในการ จัดลำดับความสำคัญ (priority) ของเป้าหมาย ภายใต้การประเมินสถานการณ์โลกว่าจะขยับไปในทิศทางไหน และการเลือกดังกล่าวมีต้นทุนอะไรที่ต้องแลกมาบ้าง (trade-off)

นี่คือธรรมชาติของการวางยุทธศาสตร์การพัฒนา

หากไม่มีองค์ประกอบพื้นฐานเหล่านี้ ก็โปรดอย่าเรียกการเรียงตัวอักษรใดๆ ว่า ‘ยุทธศาสตร์’ เลยครับ เพราะจะเป็นการเพิ่ม ‘คำตาย’ ในความหมายว่า meaningless ให้กับประเทศไทยอีกหนึ่งคำถัดจากคำจำพวกบูรณาการ องค์รวม และปฏิรูป

 

 


อ้างอิง

– รูปประกอบนำมาจาก Keun Lee (2005) “Making a Technological Catch‐up: Barriers and opportunities,” Asian Journal of Technology Innovation, 13:2, 97-131.

– หนังสือสองเล่มสำคัญของศาสตราจารย์ลีคือ

1. Keun Lee (2019) The Art of Economic Catch-up: Barriers, Detours and Leapfrogging. Cambridge University Press.

2. Keun Lee (2013) Schumpeterian Analysis of Economic Catch-up: Knowledge, Path-creation and the Middle-income Trap. Cambridge University Press.

– ดูการรีวิวยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ละเอียดและหลากหลายกว่านี้ได้ใน Alfredo Calcagno et al. (eds) (2015) Rethinking Development Strategies after the Global Financial Crisis: Making the Case for Policy Space. New York and Geneva: United Nations.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save