fbpx
“2559 (รวมเรื่องสั้นในส่วนเสี้ยวกาลเวลา)” กับความหวังของวรรณกรรมไทยสายเลือดใหม่

“2559 (รวมเรื่องสั้นในส่วนเสี้ยวกาลเวลา)” กับความหวังของวรรณกรรมไทยสายเลือดใหม่

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

ผมจำได้ว่าเมื่อวันที่ผมอยู่ในร้านหนังสือและลังเลว่าเดือนนี้จะเขียนถึงเล่มไหนดี สายตาผมเหลือบไปเห็นรวมเรื่องสั้น “2559 (รวมเรื่องสั้นในส่วนเสี้ยวกาลเวลา)” ของศิวรัฐ หาญพานิช ซึ่งผมไม่เคยได้ยินชื่อของเขาในฐานะนักเขียน ดังนั้น มันเป็นไปได้ว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้น่าจะเป็นผลงานขบวนแรกในชีวิตของเขา

ตัวผมเองสนใจความเคลื่อนไหวและผลงานใหม่ๆ ในแวดวงวรรณกรรมอยู่แล้ว จึงเดินออกจากร้านหนังสือพร้อมกับรวมเรื่องสั้นชุดนี้

เมื่อเปิดอ่าน ผมคิดว่า รวมเรื่องสั้นชุดนี้มีความน่าสนใจหลายจุด เริ่มตั้งแต่โครงสร้างของหนังสือ โดยทั่วไปแล้ว หนังสือวรรณกรรมจะมีคำนำสำนักพิมพ์และคำนำนักเขียนที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนที่เพิ่งจะมีผลงานเป็นขบวนแรกในชีวิต แต่ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ เรากลับเห็นเพียงแค่สิ่งที่เป็น ‘เสมือนคำนำ’ ในบท 2559 ซึ่งเป็นบทเปิด มันคือการแนะนำว่าหนังสือเล่มนี้กำลังจะพูดถึงอะไรและอย่างไร จากนั้นก็เป็นเรื่องสั้นจำนวน 16 เรื่อง

ในบทที่ 17 คือ “¥” เป็นเหมือนบทส่งท้ายของผู้เขียนเอง และเป็นการแสดงทัศนคติที่ผู้เขียนมีต่อตัวละครและเรื่องราวเหล่านั้น ตลอดจนพยายามชี้ให้เห็นว่าเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ มันคือชีวิตของผู้คนมากมายที่ถูกนำพาให้มารู้จักกัน สนิทสนม ผูกพัน และพลัดพรากจากกันไป

สำหรับผมแล้ว โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่ชวนให้คิดไปถึงการชมมหรสพขนาดใหญ่ ที่มีผู้เล่าเรื่อง (หรือเป็นเจ้าของเรื่องทั้งหมดในลักษณะที่ว่าเป็นผู้เห็น/สังเกตการณ์ และคัดเลือกเรื่องเหล่านี้มาให้กับผู้ชม– ราวกับบรรณาธิการ) เดินออกมากล่าวเปิดเรื่อง/เปิดงาน/โหมโรง จากนั้นเรื่องราวต่างๆ ก็ดำเนินไป จนกระทั่งตอนสุดท้าย ผู้เล่าเรื่องมาสรุปเรื่องราวทั้งหมด และหยอดการสั่งสอน (ที่ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสีก็ดี หรือมีเจตนาจะสั่งสอน (หรือไม่มี?) ก็ดี) เอาไว้อีกด้วย

ประการต่อมาที่น่าสนใจ คือ รูปแบบของโครงสร้างหนังสือส่งผลต่อความรับรู้ในการอ่านรวมเรื่องสั้นนี้ เพราะโดยทั่วไป เราจะเข้าใจว่าเรื่องสั้นในหนังสือรวมเรื่องสั้นนั้นเป็นเรื่องที่แยกขาดจากกัน แม้จะมีธีมเดียวกันหรือเนื้อหาและรูปแบบไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ถูกนับเนื่องว่าแต่ละเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และปกติการรวบรวมเรื่องสั้นเป็นหนังสือนั้น ทั้งผู้เขียนและบรรณาธิการต้องทำหน้าที่คัดสรร เพื่อให้เรื่องที่ถูกเลือกมามีความเชื่อมโยงกันในมิติใดมิติหนึ่ง เช่น แนวคิด โครงเรื่อง รูปแบบ เทคนิค ฯลฯ

แต่ในงานชิ้นนี้ของศิวรัฐ การ ‘เล่น’ กับโครงสร้างของหนังสือช่วยเปลี่ยนความเข้าใจและการรับรู้ในพื้นที่เชิงมิติและเวลาของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องได้อย่างน่าสนใจ

สิ่งที่ผมสนใจต่อไปอีก คือ ชื่อเรื่องทั้งหมดของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ใช้เป็นตัวเลขทั้งสิ้น มีอยู่ 3 บทที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์คือ “~”, “-“ และ “¥” ตัวเลขและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เหล่านี้ช่วยสื่อความหมายที่ซับซ้อน เป็นความหมายโดยนัยที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย เพื่อเข้าใจว่าตัวเลขและสัญลักษณ์เหล่านั้นกำลังสื่ออะไร

ในเรื่องแรก “301” นั้น เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่กำลังเดินทางไป ‘ยุติการตั้งครรภ์’ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ห้องที่เธอเข้าไปเป็นห้องหมายเลข 301 ในแง่นี้ ตัวเลข 301 จึงหมายถึงห้องที่เธอทำการยุติการตั้งครรภ์ มันสื่อความหมายได้ทั้ง ห้องที่จบชีวิตของชีวิตหนึ่ง และเป็นห้องที่ให้ชีวิตได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม 301 ยังเป็นหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยการทำแท้งอีกด้วย ตัวเลข 301 จึงมีมิติที่หลากหลายกว่าการเป็นตัวเลขทั่วๆ ไปที่อาจเป็นชื่อห้อง ชื่อสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง

หรือในเรื่อง “279” ซึ่งเป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวัง โดยเฉพาะการแอบรักเพื่อนสนิท เรื่องราวดูจะไม่มีอะไรมากนัก การเล่าเรื่องก็เป็นการอธิบายความรู้สึกภายในของตัวละคร แต่สิ่งที่พิเศษคือ บันทึกของตัวละครเกี่ยวกับความรู้สึกที่เขามีต่อคนที่แอบรัก และไม่กล้าบอกออกไป

ในบันทึกนั้น “ฉันเรียบเรียงประโยคเหล่านี้ในวันที่ 279 ที่เรารู้จักกัน ซึ่งมันเป็นวันครบรอบ 2 ปีรัฐประหารพอดี” (หน้า 106) ตัวเลข 279 ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่วันครบรอบที่รู้จักกันและครบรอบรัฐประหารเท่านั้น แต่มันยังอ้างอิงถึง มาตรา 279 ที่ทำให้ประกาศ คำสั่งและการกระทำต่างๆ ของ คสช. หรือเรียกรวมทั้งหมดว่า ‘อำนาจพิเศษ’ ของคสช.นั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

กล่าวให้ง่ายกว่านั้น มันคือการทำให้การรัฐประหารของ คสช.ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีความผิด ไม่ว่าจะก่อนหน้าและหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

ในแง่นี้ มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.กับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง “279” มีลักษณะบางอย่างที่ผมคิดว่าน่าสนใจ เพราะมาตรา 279 ทำให้การกระทำที่ควรจะต้องโทษประหารกลายเป็นความชอบธรรม และบรรดาสิ่งที่ คสช.ทำ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้สังคมไม่สามารถเดินหน้าไปทางไหนได้ ดังนั้น คสช.จึงเป็นต้นเหตุแห่งความทุกขเวทนาของสังคมไทยนานับประการและยังส่งต่อไปยังอนาคตผ่านมาตรา 279 อีกด้วย

เรื่อง “83” ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ ในตอนแรกผมยังหาความเชื่อมโยงระหว่างตัวเลข 83 กับตัวเรื่องสั้นไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นทางสังคมการเมืองและประวัติศาสตร์ เพราะในเรื่อง 83 คือหมายเลขของตู้รถไฟที่ตัวละครนั่งเพื่อเดินทางลงใต้ไปฉลองเรียนจบกับเพื่อนของเขา จนกระทั่งผมได้คำใบ้จากเรื่องสั้นเรื่องอื่น ที่มีเลข 83 เช่นกัน ก็พบว่า ถ้าเอาปี พ.ศ.ระหว่าง 2557-2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นทั้งหมดมาลบด้วย 83 เราจะพบว่า 2558-83 = 2475 ตัวเลข 83 จึงหมายถึง 83 ปีมาแล้วที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกลับต้องมาติดแหง็กอยู่ในช่วงเวลา 2 ปีแห่งการรัฐประหารโดย คสช.นี้เอง

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องตัวเลขกับรวมเรื่องสั้นชุดนี้น่าจะมีอะไรให้พูดและตีความได้อีกมาก (เช่น ราคาของกาแฟที่ตัวละครทุกตัวในรวมเรื่องสั้นนี้ดื่ม ราคา 75 บาททุกแก้ว — ผมคิดว่าเป็นร้านเดียวกันทั้งเล่ม) ความน่าสนใจของตัวเลขในเรื่องนี้ คือมันไม่ใช่แค่ตัวเลขที่ใส่ลงมาเท่ๆ หรือเพื่อโชว์ภูมิทางสังคมประวัติศาสตร์ แต่มันยังมีความสัมพันธ์กับตัวเรื่อง โครงเรื่องและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอีกด้วย

ดังที่ผมได้พยายามชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างของหนังสือนั้นทำให้มิติด้านพื้นที่และเวลาซับซ้อนและทับซ้อนกันไปมา สิ่งที่ทำให้ลักษณะดังกล่าวชัดเจนขึ้นอีก ก็คือเรื่องสั้น ทุกเรื่อง ทุกตัวละคร และทุกความสัมพันธ์ของตัวละครต่างถูกร้อยเรียงเกาะเกี่ยวเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น มันมีลักษณะคล้ายกับนวนิยายที่มีโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อย แต่นี่คือรวมเรื่องสั้น

เรื่องสั้นแต่ละเรื่องล้วนเกาะเกี่ยวกันผ่านเหตุการณ์ในชีวิตของตัวละคร ชะตากรรมของตัวละคร ฉาก ตัวละครบางตัวเดินผ่านกันไปมาโดยที่เขาไม่รู้จักกันและไม่รู้ว่าชีวิตของพวกเขาถูกนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องแต่งในต่างกรรมต่างวาระกัน เช่น การเดินทางด้วยรถไฟบนตู้หมายเลข 83 ซึ่งตัวละครในเรื่อง “35” และ “83” อยู่บนตู้เดียวกันแต่ไม่รู้จักกัน

เมื่ออ่านไปได้สักพักหนึ่ง เราอาจมีความลังเลในการอ่านว่าเราจะอ่านมันแบบนวนิยายหรืออ่านแบบเรื่องสั้น เพราะการอ่านวรรณกรรมทั้งสองประเภทนี้มีวิธีการอ่านที่แตกต่างกัน นั่นคือ การอ่านเรื่องสั้น เราอ่านแบบจบในตอนเดียว ทุกอย่างคลี่คลายในเรื่องเดียว แต่การอ่านนวนิยาย เราต้องหารายละเอียดและเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในโครงเรื่อยย่อยๆ กับโครงเรื่องหลักซึ่งอาจอยู่ในหลายตอนของนวนิยาย ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นสำคัญในการตั้งต้นว่าเราจะอ่านมันด้วยวิธีการไหน เพราะรูปแบบของวรรณกรรมที่แตกต่างกันย่อมให้ผลการสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน

เรื่อง “~” เป็นเรื่องเล่าที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ของตัวละครชายหลักกับเพื่อนชายอีกคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์เกินกว่าเพื่อนไปแล้วในชั่วข้ามคืน ถัดมาในวันรุ่งขึ้น ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมก็คือความรู้สึกของตัวละครชายหลักในเรื่องที่มีต่อเพื่อน เขาเกิดความสงสัยในตัวเองและเก็บงำความสงสัยนั้นมากกว่าสองปี เขาตั้งใจว่าจะถามถึงความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่เขาและ ‘เพื่อน’ คนนั้นจะมีต่อกัน แต่แล้ว..

“ผมไม่รู้มาก่อนว่าการโทรศัพท์หาเขาครั้งนั้นมันจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้คุยกัน เหตุการณ์เลวร้ายหลังจากนั้นเกิดขึ้นในตอนที่เขากำลังจะข้ามถนน คนที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่าเขาก้มหน้าหยิบโทรศัพท์มือถือในกระเป๋า สองขาก้าวเดินไปข้างหน้า แล้วจู่ๆ ก็มีเสียงแตรรถดังกึกก้องก่อนจะตามมาด้วยเสียงร่างกระแทกของแข็งเข้าอย่างแรง ร่างของเขาลอยคว้างไปไกล ไกลเกินกว่าผมจะคิดคำนวณได้ว่ามันมีระยะทางเท่าใด” (หน้า 117)

ต่อมาในเรื่อง “1-2-3-4-5” เป็นเรื่องที่ทำให้เราได้รู้ว่า ‘เพื่อน’ ที่ปรากฏตัวในเรื่อง “~” นั้นก็คือตัวละครหลักในเรื่องนี้นั่นเอง ที่รู้ได้ก็เพราะ

“ผมหยุดอยู่ตรงทางม้าลายริมถนนใหญ่สี่เลน ตั้งใจจะเดินข้ามถนนไปเรียกรถแท็กซี่อีกฝั่ง จังหวะพอดีกับที่เสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้นอีกครั้ง ผมหยิบขึ้นมาดูชื่อเจ้าของสายเรียกเข้าพร้อมกับก้าวท้าวลงจากฟุตบาธลงสู่ถนน โดยไม่ทันเห็นว่ามีรถยนต์คันหนึ่งแล่นมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง…เขาบีบแตรเสียงดังสนั่นและพยายามแตะเบรค เสียงล้อยางเสียดสีกับพื้นคอนกรีต แต่สายเกินไป เพราะมันได้เกิดการปะทะกันตรงที่จุดผมยืนอยู่ ร่างลอยลิ่วไปในเวิ้งว้างอากาศ…” (หน้า 132)

หลังจากนั้น เรื่องก็เล่าถึงความคิดคำนึงในเวลา 5 วินาทีที่ร่างของเขา “ลอยลิ่วไปในเวิ้งว้างอากาศ” ในแต่ละวินาทีเป็นการย้อนกลับไปคิดถึงอดีตของตัวเขา อดีตซึ่งเป็นปมในใจของเขาจนถึงปัจจุบัน ในวินาทีที่ 3 เขาย้อนคิดไปถึงเหตุการณ์ที่เขาและตัวละครหลักในเรื่อง “~” อยู่ในห้อง ผู้อ่านจะได้เห็นว่า สิ่งที่ตัวละครทั้งสองตัวในสองเรื่องมีเหมือนกันคือ ต่างฝ่ายต่างโหยหาซึ่งกันและกัน ค่ำคืนอันลึกลับในวันนั้นได้เปิดเผยความต้องการที่แท้จริงของทั้งคู่ให้ปรากฏชัดเจน แม้วันเวลาจะล่วงเลยไปกว่า 2 ปี

ความปรารถนาเป็นสิ่งที่ทั้งคู่โหยหา แต่เมื่อพวกเขามีโอกาสที่จะได้สารภาพความในใจแก่กัน คนหนึ่งก็ต้องตายจากไป…นี่คือโศกนาฏกรรม และผมอยากจะใช้คำว่า เป็นโศกนาฏกรรมสามัญของชาว LGBTQ อีกด้วย…

ใช่ครับ ผมพูดถึง LGBTQ รวมเรื่องสั้นชุดนี้ร้อยเรียงเอาความสัมพันธ์ของชาว LGBTQ เข้าไว้ด้วยกัน ผมคิดว่าประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การนำเสนอความสัมพันธ์ของชาว LGBTQ นั้นโดยมากจะถูกนำเสนอในฐานะความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวัง ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ซึ่งผมพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าใจรูปแบบและวิธีการนำเสนอดังกล่าว ว่ามันมีเหตุมาจากการไม่ถูกยอมรับ รวมถึงไม่ถูกตระหนักในการดำรงอยู่ของความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวน

คล้ายกับว่าตราบใดที่สังคมยังใช้มาตรฐานแบบ binary  ในการกำหนดและจัดการความสัมพันธ์ของผู้คน โศกนาฏกรรมของความสัมพันธ์แบบ non-binary และ/หรือ LGBTQ ก็ยังคงดำเนินอยู่ร่ำไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นอกจากการนำเสนอความสัมพันธ์แบบ LGBTQ แล้ว ความแหลมคมในการวิพากษ์สังคมแบบ binary ที่กลายเป็นมาตรฐานของสังคมนั้น ศิวรัฐก็ทำได้ดี เช่นในเรื่อง “0”

“ ‘ความรักสำหรับเธอคืออะไร?’ เขาพยายามบังคับเสียงไม่ให้สั่น

“หญิงสาวตอบง่ายๆ ว่า ไม่รู้และไม่เคยคิดจะนิยาม แล้วก็พรั่งพรูออกมาว่าโลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่านิยามและคำอธิบาย ผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ เลสเบี้ยน ครอบครัว เพื่อน คนรัก เธอไม่อยากดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้กฎกรอบเหล่านั้น ‘เราน่าจะมีชีวิตที่เป็นสุขดีได้โดยไม่ต้องถูกนิยามไม่ใช่เหรอ?’ เธอตั้งคำถามทิ้งท้าย” (หน้า 92)

ในเรื่อง “2540” และ “-” ที่มีเรื่องราวทับซ้อนกันของความสัมพันธ์แบบ LGBTQ กับปัญหาครอบครัว เป็นเรื่องของ ‘แม่’ ของตัวละครที่ถูกรถชนตายในเรื่อง “1-2-3-4-5” ซึ่งไปใช้ชีวิตกับหญิงคนรักอีกคนหนึ่ง โดยในเรื่อง “2540” เป็นการเล่าภูมิหลังของแม่กับความสัมพันธ์และชีวิตครอบครัวแบบ binary ที่ล้มเหลว

ต่อมาในเรื่อง “-” เป็นการเล่าจากมุมของ ‘ป้า’ หรือคนรักใหม่ของแม่ ซึ่งก็ประสบปัญหากับความสัมพันธ์ของครอบครัวแบบ binary เช่นกัน ศิวรัฐได้นำเสนอประเด็นที่ร่วมสมัยที่สุดในพ.ศ.2563 ของชุมชน LGBTQ ลงไปในเรื่องสั้นของเขา นั่นคือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต

“ฉันยังจำรอยยิ้มที่ยินดีของเธอได้ตอนที่ฉันบอกว่ามีคนกำลังพยายามต่อสู้อยู่เพื่อ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เราจะมีสิทธิ์เหมือนกับการจดทะเบียนสมรสของชายหญิง แต่มันก็ถูกทำให้ล้มพับลงไปหลังจากที่ทหารนำรถถังเข้ามาบุกยึดเมือง… สิ่งที่เราสองคนกังวลใจคือเมื่อใดก็ตามที่ใครคนหนึ่งต้องเจ็บป่วยไข้ เราจะผ่านช่วงเวลาร้ายๆ เหล่านั้นไปได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งการเซ็นชื่อในเอกสารของโรงพยาบาลในฐานะญาติใกล้ชิด แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมานานนับสิบปี” (หน้า 162)

นักเขียนบางคนนำเสนอปัญหาสังคมและปัญหาทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาโดยมักจะลืมไปว่าตนเองกำลังสร้างสรรค์งานวรรณกรรมขึ้นมา มิใช่สารคดีทางสังคมการเมืองที่เข้มข้น ผมไม่มีนิยามว่าวรรณกรรมแนวสังคมการเมืองที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร แต่ผมพอจะบอกเล่าได้บ้างว่า แนวทางที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษนั้นก็คือตัวบทวรรณกรรมจะต้องไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดปัญหาสังคมการเมือง หรืออุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างอยู่ตลอดเวลาจนทำให้วรรณกรรมนั้นขาดความสำเริงสำราญทางอารมณ์ไป

วรรณกรรมที่ผมรู้สึกชอบนั้น โดยมากจะนำเสนอ ‘ชีวิต’ และ ‘ประสบการณ์ทางอารมณ์’ ของผู้คนในแต่ละช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ชีวิตที่ผมว่าไว้ หมายถึงชีวิตของคนทั่วๆ ไป คนที่เราสามารถพบเห็นพบเจอได้ในทุกวัน คนที่เราอาจไปซื้อน้ำเต้าหู้และปาท่องโก๋ในตอนเช้า หรือคนที่รอคิวราดหน้าในมื้อกลางวันด้วยกัน ในวรรณกรรมเป็นโลกที่เราสามารถเข้าใจชีวิตและโลกของคนเหล่านั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องถูกยัดเยียดให้เข้าใจ ผมชอบอ่านวรรณกรรมที่นำเราเข้าไปในชีวิตของพวกเขาอย่างเนิบนาบ ค่อยๆ คลี่คลายความซับซ้อนในชีวิตของพวกเขา

นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกดีกับนักเขียนที่มีเมตตาด้วยการไม่โยนปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมใส่ผู้อ่านโครมเบ้อเร่อ แต่ค่อยๆ นำเสนอในฐานะที่เป็นฉากหลังหรือปูมของปมปัญหาในชีวิตตัวละคร ผมไม่คิดว่าการพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมอย่างตรงไปตรงมาในวรรณกรรมนั้นจะช่วยให้คนอ่านตระหนักถึงปัญหาที่ถูกกล่าวถึงมากนัก ในฐานะที่มันเป็นวรรณกรรมซึ่งหมายถึงความเป็นเรื่องแต่ง การโกหกให้คนตระหนักถึงความจริงของโลกภายนอกวรรณกรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ดึงดูดผู้อ่านให้ติดตามไปจนจบเรื่องได้เสมอ

สำหรับผม “2559 (รวมเรื่องสั้นในส่วนเสี้ยวกาลเวลา)” เป็นงานที่ตอบโจทย์ความชอบทางวรรณกรรมของผมได้อย่างดี นอกจากไม่เป็นการยัดเยียดปัญหาสังคมใส่ปากตัวละครแล้ว การนำเสนอประเด็นที่เฉพาะเจาะจงลงไปของปัญหาสังคมไทยอย่างเรื่อง LGBTQ ศิวรัฐก็ทำได้อย่างแหลมคม

“2559 (รวมเรื่องสั้นในส่วนเสี้ยวกาลเวลา)” แสดงให้เห็นถึงความเป็นโรงมหรสพขนาดใหญ่ โดยมีชีวิตธรรมดาสามัญของผู้คนที่ถูกกดขี่ และได้รับผลจากการรัฐประหารปี 2557 ของ คสช. ถูกฉายขึ้นอย่างเนิบช้า และมีจังหวะจะโคนที่พอดิบพอดี ชะตากรรมสามัญของคนธรรมดานั้นต่างอยู่ในเส้นทางอันซับซ้อนและทับซ้อนกันไปมา แต่ก็อยู่ภายใต้ความตรอมตรมของการถูกปล้นอำนาจอันพึงมีอยู่ของปัจเจกบุคคล

พวกเขาอาจรู้จักและไม่รู้จักกัน อาจเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกันและกัน ต่างสูญเสียในสิ่งเดียวกัน และทุกคนต่างมีชะตากรรมร่วมกันในโรงมหรสพแห่งนี้

ในบรรดาวรรณกรรมจากนักเขียนหน้าใหม่ ผมไม่คิดว่าเราจะมองข้ามผลงานชิ้นนี้ของศิวรัฐ หาญพานิช ไปได้ ในแสงอันหรุบหรู่ของวงการวรรณกรรมไทยที่นักเขียนรุ่นเก่าพากันออกมาแลบลิ้นปลิ้นตาใส่ผู้อ่านอย่างน่าสยดสยอง แสงไฟน้อยๆ จากหัวไม้ขีดที่อยู่สุดลูกหูลูกตาของพรมแดนวรรณกรรมก็เริ่มสะบัดพลิ้วปลิวไสวมากขึ้น…

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save