fbpx
ราษฎรปลดแอก: สยามไม่ใช่คอกควาย!

ราษฎรปลดแอก: สยามไม่ใช่คอกควาย!

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านพิภพขึ้นครองสิริราชสมบัติในสยามรัฐสีมาได้ไม่นาน ราษฎรก็มีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น สังคมสยามในช่วง 5 ปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเต็มไปด้วยข่าวลือ ซึ่งสะท้อนความไม่มั่นใจและความต้องการหยั่งท่าทีของรัฐบาลในเรื่องที่เล่าลือกันต่างๆ นานา

ท่ามกลางบรรยากาศของความไม่มั่นใจถึงอนาคตทางการเมืองของสยาม และความไม่กล้าตัดสินใจในหลายๆ เรื่องของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองทั้งโดยเปรียบเทียบและโดยตรง ท้าทายอำนาจรัฐผ่านหน้าหนังสือพิมพ์มากขึ้น

แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะพยายามขัดขวางการเผยแพร่ความเห็นอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง แต่ก็มิอาจสกัดกั้นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ ดังที่ปรากฏให้โลกเห็นแล้วว่า ความคิดในทำนองนี้ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั่นเอง

 

ราษฎรตื่นแล้ว

 

ในหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2470 ปรากฏบทนำชื่อ “ราษฎรตื่นแล้ว” โดยเปิดเรื่องว่า “หมู่นี้ไม่ว่าจะเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับไหน ฉบับนั้นมีแต่เสียงร่ำร้องคร่ำครวญถึงสิทธิของราษฎรที่ควรจะมีเกี่ยวข้องในราชการ หรือพูดกันตรงๆ ก็คือ ต้องการให้รัฐบาลดำริห์ตั้งปาเลียเมนต์ มีผู้แทนราษฎรเข้าปฤกษาราชการเหมือนอย่างประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ

ก่อนจะแยกค่ายสื่อมวลชนให้เห็นความเป็นไปของการนำเสนอข่าวว่า “ยกเว้นแต่หนังสือพิมพ์กึ่งราชการ และหนังสือพิมพ์ที่ได้รับเงินปีจากรัฐบาลแล้ว หนังสือพิมพ์อื่นๆ อันเป็นหัวใจของราษฎรต่างพากันเรียกร้องถึงข้อนี้ อย่างไม่เคยมีปรากฏในประวัติกาลของประเทศสยามเลย จนทำให้เรามีความพิศวงว่า ราษฎรสยามตื่นนอนแล้ว?

ตัวอย่างที่ สยามรีวิว ประมวลมาจากหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น คือ “การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ของง่าย ใครก็คงไม่ยอมใครง่ายๆ แน่นอน มีตัวอย่างชาติอื่นๆ เปลี่ยนได้ก็โดยอำนาจ ‘เลือดกับเหล็ก’ บางฉบับอ้างว่า เงินรัชชูปการ ราษฎรเปนผู้เสีย เงินอากรอื่นๆ รัฐบาลก็เก็บจากราษฎร ยามยากลำบากมีทัพมีศึก ราษฎรก็ต้องออกหน้าเพื่อพลีชีวิตแก่ชาติและพระมหากระษัตริย์ เมื่อเช่นนี้ จะไม่เปนการสมควรละหรือ ที่ราษฎรควรจะมีเสียงบ้าง?”

สยามรีวิว จึงสรุปว่า “เมื่อหนังสือพิมพ์ที่เปนเสียงของราษฎรพากันออกความเห็นต้องตรงกันหลายฉบับเช่นนี้ ก็พอจะเปนทางส่องให้เห็นได้ชัดว่า ราษฎรสยามได้ตื่นจากการนอนหลับแล้ว ราษฎรกำลังทวงสิทธิ ซึ่งแท้จริงก็เปนของๆ เขาเอง  ประเทศทั่วโลกก็ยอมรับรองแล้วว่า เปนสิทธิอันแท้จริงของราษฎร

ลงท้าย สยามรีวิว ตั้งคำถามต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “เมื่อเช่นนี้รัฐบาลที่รักของเราจะนั่งดูดายทำหูทวนลม และขัดขืนความประสงค์ของชนหมู่มากอย่างที่เปนอยู่เดี๋ยวนี้ รัฐบาลได้คิดรอบคอบแล้วหรือ?

และปิดท้ายด้วยการยกตัวอย่างในประเทศรัสเซียซึ่งหมดความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว ดังนี้ “ซาร์นิโกลาซแห่งประเทศรัสเซีย ซึ่งถูกปลงพระชนม์ด้วยมือราษฎรสามัญ เมื่อหกเจ็ดปีมานี้ ถ้ายังทรงพูดได้ในเวลานี้ จะต้องทรงแสดงความเสียพระทัย ในการที่พระองค์คิดได้ช้าไป  ประเทศต่างๆ เวลานี้ที่มีพระราชาเปนประธาน จึงต้องระวังระไวคอยฟังเสียงราษฎรส่วนมาก และอนุโลมตามเสมอมิให้เปนที่ขัดอัธยาศัยได้

 

เห็นว่าจ้าวเปนลูกตุ้มถ่วงความเจริญ

 

ผู้ใช้นามปากกา “ลุงสิ่ว” เขียนบทความ “เห็นว่าจ้าวเปนลูกตุ้มถ่วงความเจริญ” ลงในหนังสือพิมพ์ ราษฎร ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2471 โดยนำเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมาเล่า เริ่มจากการเปิดเรื่องถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติจีนว่า

จีนเปนชาติดึกดำบรรพ์ชาติหนึ่ง ซึ่งมีพลเมืองมากกว่าชาติใดๆ ในโลก จีนเปนชาติรักจ้าวนับถือจ้าวเปนยอดยิ่งไม่มีชาติใดเสมอเหมือน เราจะเห็นได้จากพงศาวดารจีน แม้วงศ์ตระกูลของจ้าวจะตกอับไปจมโคลนจมเลนอยู่ที่ไหน ก็อุตส่าห์ช่วยกันขุดเอามาสถาปนาขึ้น  เมื่อตายไปเปนผีเปนสางแล้ว ก็ช่วยกันสร้างศาลไว้ให้อยู่

จากนั้น กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในยุค ดร.ซุนยัดเซ็น ว่า “ต่อมาในสมัยหมอซุน จีนได้มีการศึกษาอย่างอารยะชาติดีขึ้นเปนลำดับมา พวกที่ได้รับการศึกษากลับเห็นว่าจ้าวเปนลูกตุ้มก้อนมหิมา เปนเครื่องถ่วงความเจริญของประเทศไม่ให้ก้าวหน้าไปสู่ความเจริญได้ และประกอบกับเปนสมัยที่จีนได้เปิดประตูเมืองรับชาวต่างประเทศเข้าไว้ด้วยอาการแพ้เปรียบทุกประการจนโลกขนานนามว่า ‘หมูสนาม’

ผู้เปนจ้าวใหญ่ ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมา ก็ตั้งน่าจะหาความสุขสนุกสบายเปนส่วนตัว มิได้จัดการหาวิธีแก้ไขอย่างใดไม่ มิไยประชาชนพลเมืองจะยากจนค้นแค้นเดือดร้อนอย่างไรก็ช่าง” คือ ข้อความที่ “ลุงสิ่ว” บรรยายความตกต่ำของกรุงจีน

ดังนั้น “ผู้ที่ได้รับการศึกษา มีหมอซุนเปนต้น เห็นว่าถ้าปล่อยให้จ้าวมีอำนาจถือบังเหียนการปกครองอยู่ดังนี้ พลเมืองจะต้องผอมแห้งตายแห้ง ไหนจะถูกพวกเจ้านายซึ่งมีอำนาจเหนือสูบเอาเลือดไปกิน ไหนจะถูกชาวต่างประเทศซึ่งมีไหวพริบฉลาดกว่าสูบเอาไปกินอีก เมื่อราษฎรถูกสูบเลือดทั้งข้างนอกข้างใน ดังนี้ ความตายแห้งผอมแห้งก็ดำเนินเข้ามาสู่”

ด้วยเหตุนี้เอง “ผู้ที่ได้รับการศึกษา ลืมหูลืมตาเห็นทางไกล เช่น หมอซุนเปนต้น จึงได้พยายามรวบรวมพวกพ้อง ตั้งเปนคณะขึ้นเรียกว่า ‘คณะเก็กเหม็ง’ แล้วดำเนินกุศโลบายทำลายอำนาจจ้าวแห่งวงศ์เช็ง ซึ่งเขาเห็นว่าเปนลูกตุ้มถ่วงสำหรับถ่วงความเจริญของประเทศ จนเปนผลสำเร็จ

 

สยามไม่ใช่คอกควาย

 

หนังสือพิมพ์ ไทยหนุ่ม ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2472 ตีพิมพ์บทความเรื่อง “สยามไม่ใช่คอกควาย” โดยไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน  บทความนี้เริ่มจากการเกริ่นถึง ‘ประชาภิบาล’ (รีปับลิก) ฝรั่งเศส ที่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ต้องทำสงครามกับอังกฤษและพวก

อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนที่ไม่ปรากฏนามนี้อยู่ฝ่ายสนับสนุนฝรั่งเศส จากบทบรรยายว่า “นับแต่เริ่มมีการจลาจลในประเทศฝรั่งเศสมาจนบัดนี้ก็เปนเวลาเพียง 140 ปีเท่านั้น และภายในเวลาอันน้อยนี้เอง อำนาจพลเมืองหรือประชาธิปตัยสามารถเจริญงอกงามขึ้นได้อย่างน่าพิศวง นักรัฐประศาสนศาสตร์ทั้งปวงมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ยังจะเจริญก้าวหน้าต่อไปอีกมาก นอกจากไฟประลัยกัลป์แล้ว เชื่อว่าไม่มีอานุภาพใดๆ ในโลกจะพึงทำลายล้างความเจริญของประชาธิปตัยในโลกอารยะได้

จากนั้น ผู้เขียนได้หยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศ ‘อาบิสสิเนีย’ (เอธิโอเปีย) ขึ้นมาเปรียบเทียบว่า “ประเทศเล็กๆ อันอยู่ในมุมที่มืดที่สุดของโลก … พลเมืองในประเทศเหล่านั้นโดยมากโง่เขลาเปนป่าเถื่อนดุจโคกระบือ ไม่รู้จักรักสิทธิ์อิศรภาพของตน ปล่อยให้พวกมีอำนาจกดขี่เบียดเบียนดูถูกดูหมิ่นได้ตามความพอใจ พลเมืองเหล่านั้นไม่มีอินเตอเรสต์ในการกระทำของพวกอมาตย์มนตรีเสียเลยทีเดียว แม้พวกอมาตย์มนตรีจะกระทำความเน่าหนอนเหลวเลวอะไร พลเมืองเหล่านั้นก็หาเอาใจใส่ไม่ ด้วยเขาหลงเข้าใจผิดคิดว่า กิจการของรัฐบาลไม่ใช่เปนกิจการของตน จะต้มจะยำเล่นกันอย่างไรก็ช่าง”

ต่อมาผู้เขียนกล่าวถึงระบอบการปกครองของสยามว่า “ประเทศสยามที่รักของชาวเรา แม้จะประดิษฐานอยู่ไกลจากอารยะประเทศก็จริงอยู่ แต่ทว่าเรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงธรรมเปนประมุข พระองค์ทรงรักพลเมือง และพยายามที่จะช่วยพลเมืองให้พ้นจากความกดขี่และความฉ้อโกงของพวกอมาตย์มนตรีที่ชั่วร้าย  ถ้าปรากฏว่าเกิดการข่มเหงพลเมืองขึ้นในที่ใด หรือมีการเล่นโฉเบ๊กันขึ้นในกรมใด กระทรวงใด ก็อย่าพึงหวังว่าพระองค์จะไม่ทรงพยายามให้ความยุติธรรมบังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ชาวเราควรพอใจและพูมใจในการปกครองของสยามอันเปนมาตุภูมิที่รักของชาวเราเสมอ

ผู้เขียนปิดท้ายบทความว่า “ขอเตือนอมาตย์ทุจริตที่แฝงหากินอยู่ในกระทรวงทบวงการว่า ควรเปลี่ยนนิสสัยเสียใหม่ อย่าทำโฉเบ๊เกะกะนัก เพราะถึงแม้สยามประเทศจะอยู่ห่างไกลอารยะประเทศและไกลแสงสว่างแห่งอารยะธรรมก็จริง แต่สยามมีพระมหากระษัตริย์ผู้ทรงธรรมและยุตติธรรมปกครองอยู่ สยามหาใช่เปนคอกควาย หรือเกือบจะเปนคอกควาย เช่นอย่างอาบิสสิเนียไม่

 

คณะราษฎร 2475

 

ครั้นถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งสยามก็สิ้นสุดลง จากความเห็นถ้อยคำที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ก็ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในสิ่งที่เรียกว่า “ประกาศคณะราษฎร” มีความตอนหนึ่งว่า

“การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว”

และยืนยันว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง

โดยที่ระบอบการปกครองใหม่นั้น “คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

ผ่านมาแล้วเกือบ 90 ปี อย่าให้คนในอนาคตตราหน้าคนในปัจจุบันได้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย

 

บรรณานุกรม

  • อัจฉราพร กมุทพิสมัย. รายงานวิจัยเรื่องปัญหาภายในสังคมไทยก่อนการปฏิวัติ 2475 ภาพสะท้อนจากเอกสารและงานเขียนทางหนังสือพิมพ์ (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532).
  • ประกาศคณะราษฎร

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save