fbpx
2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต

2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เรื่อง

 

เมื่อผมได้รับทาบทามให้มาพูดปาฐกถาในวาระครบรอบ 86 ปีของการปฏิวัติหรืออภิวัฒน์นั้น ขอแจ้งด้วยใจจริง ผมเคยคิดฝันตลอดมาว่า ในวาระพิเศษของ 24 มิถุนายน ในปีใดปีหนึ่ง ผมน่าจะได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกฯ ที่รัฐสภาอันทรงเกียรติ หรือที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์อันโอ่อ่า หรือที่ที่เป็นหลักหมายสำคัญของการปฏิวัติ 2475 ผมไม่เคยคิดเลยว่า เมื่อถึงคราวที่ได้รับเชิญให้มาพูดนำจริงในวันนี้ ก็เป็นเพียงพื้นที่โล่งแจ้ง ที่ห่างไกลจากหลักหมายทางการเมืองของปฏิวัติครั้งนั้นอย่างยิ่ง ทั้งชื่อผู้จัดงานทั้งสององค์กร ผมก็พยายามคิดว่าเกี่ยวพันอย่างไรกับหลักหมายการเมืองนี้บ้าง ถึงวันนี้ก็ยังงงๆ อยู่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อใคร่ครวญอยู่หลายวัน และถูกเร่งรัดคำตอบ ผมคิดว่า ในยามยากเยี่ยงนี้ ผมควรแบ่งปันข้าวปลาอาหารความรู้ให้กับผู้ที่กระหายบ้าง แม้นว่าผมจะมีอยู่ไม่มาก ไม่แตกต่างจากผู้คนเหล่านั้นหรือทุกท่าน ณ ที่นี้ ผมจึงตอบรับด้วยความยินดีที่จะมาพูดในวันนี้

1. ปัจจุบันของ 2475

 

ในวันนี้ เมื่อมองไปยังสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีอะไรที่ทำให้เราสามารถนึกถึงวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ได้บ้าง

สิ่งแรกที่โดดเด่นสุดก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอาคารสองฟากถนนราชดำเนินกลาง โครงการสร้างย่านธุรกิจที่ทันสมัยของกรุงเทพฯนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 ปลายด้านหนึ่งของถนนช่วงนี้จะมีโรงแรมหรูและทันสมัยกลางพระนคร ซึ่งปัจจุบันยังเป็นโรงแรมอยู่เช่นเดิม ส่วนปลายถนนอีกด้านหนึ่งเป็นโรงละครที่หรู ทันสมัย และใหญ่ที่สุดกลางพระนครชื่อ “ศาลาเฉลิมไทย” ที่ต่อมาเป็นโรงภาพยนตร์ และถูกทุบทำลายลงเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมา

ณ กึ่งกลางบนถนนราชดำเนินกลาง คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ที่ปิดห้ามเข้ามา 4 ปีแล้ว จากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันนี้ แต่ยังมองเห็นได้) การออกแบบอนุสาวรีย์นี้ได้ระบุตัวตนของการปฏิวัติด้วยเลข 24 ที่ความสูงของปีกทั้งสี่ด้าน เลข 3 คือเดือน 3 มิถุนายน ที่ความสูงของพานซ้อนกันสองชั้น หรือพานแว่นฟ้ารองรับสมุดไทยที่เขียนมาตรารัฐธรรมนูญไว้ (ขณะนั้นเปลี่ยนปีศักราชวันที่ 1 เมษายน ไทยเปลี่ยนปีศักราชเป็น 1 มกราคม ปีแรก ปี 2484) และตัวเลขปี 2475 จากจุดกึ่งกลางถึงเส้นรอบวง เป็นเลข 24 เมตร บวกกับปืนใหญ่โบราณ (แบบที่อยู่ด้านหน้ากระทรวงกลาโหม) ปักด้านปากกระบอกปืนลงดินโดยรอบ 75 กระบอก

ภาพปูนปั้นแสดงกิจกรรมของการปฏิวัติในครั้งนั้นที่ฐานปีกทุกด้าน ยังมีป้อมตรงใจกลางอนุสาวรีย์ซึ่งตั้งพานสองชั้นที่วางสมุดรัฐธรรมนูญไว้นั้น สูง 6 เมตร มีประตูป้อม 6 บาน เลข 6 นี้ คณะราษฎรได้ประทับความทรงจำการปฏิวัติในครั้งนั้นไว้ว่า การสร้างระบอบการเมืองใหม่ การสร้างอนาคตใหม่ จะดำเนินตาม นโยบายของคณะราษฎร 6 ข้อ ด้วยกัน ได้แก่ นโยบายด้านเอกราชของประเทศ นโยบายด้านความปลอดภัยของประชาชน นโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างความมั่งคั่ง นโยบายด้านสิทธิของทุกคนที่เสมอภาค คนเท่ากัน นโยบายด้านเสรีภาพของทุกคน และนโยบายด้านการศึกษา ที่มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่

และเหนืออื่นใด รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้สร้างขึ้นนั้นระบุทฤษฎีทางการเมืองไว้อย่างชัดเจนว่า ระบอบใหม่คือระบอบประชาธิปไตย “อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ประชาธิปไตยสากลต้องมีการเลือกตั้งทุกระดับ ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น

ในวันเริ่มแรกก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี้ คือวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลคณะราษฎรได้สถาปนาวันนี้ให้เป็น วันชาติ และในปีแรกนี้ ให้เป็น “วันชาติและเฉลิมฉลองเอกราชอันสมบูรณ์” วันชาติ 24 มิถุนายน ให้มีวันหยุดราชการ 3 วัน คือวันที่ 24-25-26 มิถุนายน ขณะที่ วันฉลองรัฐธรรมนูญ หรือต่อมาชื่อ วันรัฐธรรมนูญ เป็นวันหยุดแห่งชาติ 3 วันมาตั้งแต่ปี 2475 คือวันที่ 10-11-12 ธันวาคม ดังนั้น เมื่อถึงปี 2482 หรือเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ประเทศไทยของเราก็มีวันสำคัญของชาติและประชาชนเป็นวันหยุดแห่งชาติรวม 6 วัน มากกว่าวันหยุดด้านอื่นๆ 

วันที่ 24 มิถุนายน 2482 นี้เอง ที่ทุกท่านได้มีชื่อประเทศว่า ไทย และ Thailand  แทนชื่อประเทศ สยาม  หรือ Siam ของระบอบเก่า ทุกท่านได้แสดงความรักชาติ ด้วยการยืนตรงร้อง เพลงชาติไทย ในเวอร์ชั่นกองทัพบกมาจนถึงทุกวันนี้

เพียงแค่ท่านมองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มองอาคารสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลาง ร้องเพลงชาติไทย ท่านรักเมืองไทย ท่านก็ไม่อาจหลบหลีกเรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 ไปได้เลย

นอกจากนี้ ณ ปลายถนนราชดำเนิน มีอาคารหินอ่อนที่สง่าเป็นหลักหมายแห่งความทรงจำเช่นกัน นั่นคือ อาคารสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เริ่มสร้างระบอบประชาธิปไตยปี 2475

อีกรูปธรรมที่หลายท่านอาจคิดไม่ถึง นั่นคือ ที่ดินอันมีค่ามหาศาลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนี้ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่ร่ำรวยมั่งคั่งที่สุด บนเนื้อที่ 1,196 ไร่ 32 ตร.วา อันเป็นทรัพย์สินเด็ดขาดของจุฬาฯนั้น ก็เพราะรัฐบาลคณะราษฎรและสภาผู้แทนราษฎรได้ตระหนักว่า ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ดังนั้นจึงปลดล็อคด้วยการออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2482” หากคณะราษฎรไม่ปลดล็อคที่ดินให้กับจุฬาฯ ในวันนั้น จุฬาฯ ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจากวันนี้

ยิ่งไปกว่านั้น คณะราษฎรได้สร้างความทรงจำต่อนโยบาย 6 ข้อของระบอบการเมืองใหม่ไว้ที่ภาพเสา 6 เสา ด้านหน้าของหอประชุมใหญ่จุฬาฯ ที่สร้างขึ้นปี 2481-2482 และเช่นกันที่ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สร้างในวาระครบรอบ 20 ปีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในปี 2497

ตัวอย่างที่นำเสนอเบื้องต้นนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ยังเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราในวันนี้ ไม่ว่าท่านจะทราบ ไม่ทราบ หรือพยายามจะไม่ทราบ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่การปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ยังไม่มีในวันนี้คือ “สถาบันคณะราษฎร” ในลักษณะที่จัดตั้งแบบ “สถาบันพระปกเกล้า” อันเป็นสถาบันค้นคว้าวิจัยอบรมเผยแพร่ในสังกัดหน่วยงานของรัฐสภา ที่ได้งบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาลปีละหลายร้อยล้านบาทมากว่าสองทศวรรษแล้ว น่าใคร่ครวญว่า เรายังไม่มี “สถาบันคณะราษฎร”

 

2. อดีตของอดีต 2475

 

เรื่องราวการปฏิวัติ 2475 ถูกลดทอนความสำคัญลงหลังการรัฐประหารปลายปี 2490 โดยการทำให้วันชาติและวันรัฐธรรมนูญที่เคยเป็นวันสำคัญที่สุด มีวันหยุดอย่างละ 3 วัน เหลือวันหยุดราชการ เพียงอย่างละ 1 วัน แต่ในท้ายสุด ชะตากรรมวันชาติ 24 มิถุนายนนั้นเศร้าสลด เมื่อต้องมีวันมรณะในปี 2503 ในสมัยรัฐบาลทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ส่วนวันรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะยังอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน เพราะคณะรัฐประหารทุกคณะยังต้องอ้างการสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ จึงยังต้องรักษาวันหยุดแห่งชาตินี้ไว้ แต่ก็เป็นวันหยุดแห่งชาติที่ทุกคนก็คงงงๆ เพราะไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่โรงเรียน ไม่มีการยิงพลุเฉลิมฉลอง ไม่มีนายกรัฐมนตรีมากล่าวปราศรัยถึงประชาชนที่เคารพ ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับประชาชน เราทุกคนคงผ่านประสบการณ์ร่วมกันว่า วันหยุดรัฐธรรมนูญเป็นวันหยุดซักผ้า นอนอยู่บ้านให้นานๆ หรือดูหนังฟังเพลงตามใจปรารถนาของแต่ละคน และเราไม่เคยคิดถึง “รัฐธรรมนูญ” เอาเสียเลย

การที่วันชาติ 24 มิถุนายน มีกำเนิดปี 2482 ได้สิ้นชีวิตหรือมรณะในปี 2503 เป็นหลักหมายอย่างดีในด้านการเมืองของประวัติศาสตร์ คือนับแต่ปี 2503 เป็นต้นมา คณะราษฎรและปฏิวัติ 2475 รวมทั้งสิ่งที่สร้างสรรค์ระบอบใหม่ขึ้นมานั้น จะค่อยๆ เลือนไปจากความรับรู้ ความทรงจำ

หากจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพที่สุด ขอยกตัวอย่างคนที่เกิดในปี 2497 ถึงวันนี้คนรุ่นนี้จะมีอายุ 64 ปี คนที่เกิดปีนี้และปีหลังจากนี้เป็นต้นมา รวมทั้งที่เกิดก่อนหน้านี้สักสิบปี ก็จะแทบไม่มีความรับรู้ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและปฏิวัติ 2475 เพราะเรื่องราวเหล่านั้นได้ถูกกำจัดออกไปจากหนังสือตำราเรียน ชื่อของผู้นำคณะราษฎร และแม้แต่ชื่อคณะราษฎร ก็เป็นชื่อที่ไม่พึงเอ่ยถึง สิ่งที่คนเกิดรุ่นนี้จะได้รับภาพประทับใหม่คือความนิยมสูงสุดในชุดทหาร บทบาททหารที่เป็นผู้นำที่ท่านนายพลจะฉายแววเก่งกล้าสามารถ เป็นยุคลัทธิทหารและการฟื้นราชาชาตินิยม

นักประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเราคนหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ในช่วงปี 2503-2506 ได้เล่าประสบการณ์ว่า สมัยที่เรียนอยู่นั้น ยังไม่รู้เลยว่าใครคือผู้สร้างธรรมศาสตร์ ชวนกันคิดว่าน่าจะเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งเป็นผู้สร้างเหมือนอย่างจุฬาฯ ยังคิดว่าน่าจะเป็นพระองค์เจ้ารพี เพราะมีวันรพีของชาวนิติศาสตร์เป็นหลักหมายประจำปี ทั้งไม่รู้จักชื่อ ปรีดี พนมยงค์ เอาเสียเลย

เรื่องเล่าความจำนี้ของอาจารย์ชาญวิทย์ ได้ชี้ให้เห็นอย่างสั้นและชัดมากว่า การลบล้างความรับรู้ความทรงจำเรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ค่อนข้างบรรลุผลอย่างมาก เพียงในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษหลังการสิ้นอำนาจของคณะราษฎรไปแล้วเท่านั้น

ยุครัฐทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีระยะเวลาถึงทศวรรษครึ่ง (ปี 2500-2516) นับว่าเป็นช่วงเฟื่องฟูของการปลูกฝังความนิยมในลัทธิทหาร และการฟื้นฟูราชาชาตินิยมและเรื่องราวสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

กระนั้นก็ตาม ความคิดแหวกแนวก็บังเกิดขึ้นในหมู่อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ในแบบวิชาการ ที่อาจารย์เหล่านี้ได้กลับมาจากการศึกษาในโลกตะวันตก กับคำถามพื้นฐานมากๆ คือ ทำไมประชาธิปไตยของไทยจึงมีทหารข้าราชการประจำเป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงเป็นสภาตรายาง หรือ rubber stamp เต็มไปด้วยสมาชิกที่เป็นทหารสามเหล่าทัพและตำรวจข้าราชการประจำ ทำไมพรรคการเมืองไทยจึงอ่อนแอ ทำไมนักการเมืองหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจบทบาททางการเมือง

อันที่จริงแล้ว คำถามต่อการเมืองไทยมากมายในครั้งนั้น เป็นคำถามที่นักวิชาการต่างประเทศที่ศึกษาเกี่ยวกับไทยในช่วงทศวรรษ 2500 ได้ร่วมด้วยช่วยกันที่จะเข้าใจประเทศนี้ เข้าใจบทบาทของทุกสถาบันทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ เข้าใจความคิดความเชื่อที่ฝั่งอยู่ในเรือนร่างของคนไทย

ไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมทศวรรษ 2500 ในยุครัฐทหารเผด็จการอย่างที่สุดนั้น จึงแทบไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ ออกมาจากมหาวิทยาลัย อันเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่มีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศ ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือ ยุคสมัยนี้มีวิชาการเมืองการปกครองสหรัฐและอีกหลายประเทศ แต่ไม่มีวิชาการเมืองการปกครองไทยในคณะรัฐศาสตร์ และไม่มีแม้แต่วิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย

หนึ่งในบทสรุปที่สำคัญของการศึกษาวิจัยในช่วงดังกล่าวของโลกตะวันตกคือ รัฐไทยเป็นรัฐราชการ (Bureaucratic Polity) ซึ่งเป็นข้อเสนอจากงานศึกษาของ Fred W. Riggs ที่พิมพ์เผยแพร่ในโลกภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี 2509 นับแต่นั้นมา การสนทนาในวงวิชาการก็มีคำว่า รัฐราชการ เป็นแนวคิดกระแสหลักมาจนถึงวันนี้

งานศึกษาของริกส์นั้น ได้ศึกษาเกี่ยวกับรัฐมนตรีและเครือข่ายว่าเป็นคนกลุ่มไหนและสัมพันธ์กันอย่างไรจากปี 2475 ที่เริ่มมีรัฐบาลในระบอบใหม่มาถึงปีต้นๆ ของยุคจอมพลสฤษดิ์เท่านั้น แต่หากทุกท่านมีโอกาสศึกษาอีกหนึ่งทศวรรษกว่าถัดมาหรือเรื่อยมาถึงปัจจุบัน เราจะเห็นว่า สาระที่แท้จริงไม่ใช่ว่ารัฐไทยคือรัฐราชการ แต่รัฐไทยคือ “รัฐทหาร” (Military Polity) ที่มีเครือข่ายและฝั่งรากไว้อย่างกว้างขวาง ส่วนจะยังแข็งแกร่ง หรือเปราะบางชราภาพ นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ถัดจากนั้น นักวิชาการไทยที่ทยอยกลับจากการศึกษาจากโลกตะวันตก ก็มีผลงานวิชาการออกมาเพื่อทำความเข้าใจและตอบคำถามสำคัญของการเมืองไทย หนึ่งในงานชิ้นที่สำคัญที่พิมพ์ในปี 2514 ซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองรัฐทหารต้องเปิดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากปิดตายมาสิบปีแล้ว แต่ปลายปีดังกล่าวก็เกิดรัฐประหารตนเองอีกของจอมพลถนอม กิตติขจร

ช่วงการเมืองแบบเปิดให้มีเสรีภาพช่วงสั้นๆ สองปีกว่าระหว่างปี 2512-2514 นี้ ทำให้อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ได้เริ่มเขียนงานวิชาการด้านการเมืองการปกครองอย่างจริงจัง จึงได้หนังสือรวมบทความเล่มสำคัญที่มี ชัยอนันต์ สมุทวณิช แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้นำทีม หนังสือชื่อ “สัตว์การเมือง” ซึ่งเป็นการนำแนวคิดสำคัญของนักปรัชญาการเมืองตะวันตกยุคกรีกโบราณนาม อริสโตเติล ที่กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง” มาปรับใช้ หรือการจัดพิมพ์ “บันทึกพระยาทรงสุรเดช” ซึ่งเป็นหนึ่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่คณะราษฎร โดยการปัดฝุ่นของสองเพื่อนอาจารย์รุ่นใหม่นาม นรนิติ เศรษฐบุตร และชาญวิทย์ เกษตรศิริ จากรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หรืองานศึกษาของ ธวัช มกราพงษ์ ในภาษาอังกฤษที่แปลชื่อเรื่องได้ว่า “ประวัติศาสตร์การปฏิวัติของไทยฯ” งานของเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ เรื่อง “การปฏิวัติ 2475”

ตัวอย่างเบื้องต้นเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า จากเดิมเรื่องราวการเมืองในอดีตที่เป็นงานของนักเขียนสารคดีในหน้าหนังสือพิมพ์ในวารสาร ได้เปลี่ยนมาเป็นงานวิชาการ ทำให้คนรุ่นใหม่ในยุคห้าสิบปีที่แล้ว เริ่มมีความรู้และฟื้นความจำเกี่ยวกับปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าทิศปลายทางของอารมณ์ความรู้สึกของผู้รับสารจำนวนมากจะมุ่งไปสู่ทัศนคติเชิงลบต่อปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ด้วยถูกอธิบายว่ากำเนิดบทบาททหารที่แทรกแซงการเมืองไทยนั้นเริ่มต้นมาจากปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรนี้เอง

คนในยุคห้าสิบปีที่แล้วนั้นต้องการสร้างประเทศใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีทหารอยู่ในการเมือง ผลก็อย่างที่เราทราบคือการเกิดขึ้นของ “ปฏิวัติตุลาคม” หรือ 14 ตุลา 2516  แต่ที่น่างงงวยยิ่งกว่า เมื่อผ่านมาอีก 5 ทศวรรษ คนในรุ่นนั้นหลายๆ คนได้แปรผันมาเป็นกำลังสนับสนุนการรัฐประหารในปัจจุบันนี้ นี่คือความหมายที่แท้จริงของคำว่า “สัตว์การเมือง”

ปฏิวัติตุลาคม 2516 แม้ว่าจะได้เทิดพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ฟื้นกลับมามีพื้นที่ในหน้าประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยอีกครั้ง กระทั่งได้มีสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งรัชกาลที่ 7 น่าจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีพระนามเป็นสถาบันวิจัย ที่มีเงินรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาลหลายร้อยล้านบาทดังที่กล่าวแล้วนั้น แต่อีกด้านหนึ่ง เรื่องราวปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้สืบเสาะค้นหา ว่าใครเป็นใครกันในปรากฏการณ์สำคัญของการเมืองไทยในปีดังกล่าว

หนังสือ 2 เล่มที่เปิดเผยเรื่องปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ที่ตีพิมพ์ในช่วงสามปีของการฟื้นฟูประชาธิปไตยอีกครั้ง ระหว่างปี 2516-2519 ที่ควรกล่าวถึง

เล่มแรกคือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500” หนังสือรวมข้อเขียนบันทึกของคนหลายคน มีความหนาถึง 580 หน้า หนังสือนี้ทำให้เราเห็นมิติด้านความเป็นมนุษย์ของคนต่างๆ ในทุกฝ่าย ทั้งผู้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกลุ่มการเมืองใหม่ที่มากับการปฏิวัติ 2475

เล่มที่สองคือ งานรวบรวมบันทึกของอดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ เรื่อง “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)” ที่มีความหนาถึง 1,156 หน้า หนังสือเล่มนี้ได้รวมข้อมูลตั้งแต่วันปฏิวัติ 2475 และเกิดอะไรขึ้นตามลำดับเวลามากที่สุดที่เคยมีมา ทำให้เราเห็นข้อมูลว่าคณะราษฎรได้ทำอะไรไปบ้างหลังการปฏิวัติ ซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่ทราบกัน

หนังสือสองเล่มนี้ได้กระตุ้นให้มีการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ในบริบทยุคฟื้นฟูประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษาบทบาทของทุกสถาบันทางการเมือง

ในช่วงนี้ได้มีเรื่องราวและผลงานของสองบุคคลในอดีตที่ฟื้นกลับมา คนหนึ่งคือ “ปัญญาชนปฏิวัติ” จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งถูกยิงตายที่ชายป่าภูพาน สกลนคร เมื่อปี 2509 อีกหนึ่งคือปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนที่ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่จีนและฝรั่งเศสตลอดชีวิต ซึ่งถูกสร้างให้เป็นปีศาจการเมืองและถูกใช้ประโยชน์โดยรัฐทหาร ทั้งด้านเกี่ยวกับการสวรรคตของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 และการรุกรานของคอมมิวนิสต์ตลอดมานับแต่หลังรัฐประหาร 2490

การกลับมาของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ที่ทำให้การศึกษาและวิพากษ์สังคมไทยว่ามีโฉมหน้าเป็นศักดินาอย่างไรในตอนนั้น กลับมามีความคึกคักในหมู่ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า ขณะที่การกลับมาของปรีดี พนมยงค์ ทำให้เกิดความสนเท่ห์สงสัยต่อเรื่องราวของคณะราษฎร ปฏิวัติ 2475 ตลอดถึงยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าที่เขียนที่แต่งกันมาหลายสิบปีนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือเป็นเรื่องเล่าที่เสกสรรปั้นแต่งกันขึ้นมา

ในช่วงเวลานี้ ผู้นำทีมทางวิชาการที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับอาจารย์อีกหลายคน ก็ได้ผลักดันให้มีการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทั้งรวบรวมเอกสารตีพิมพ์เผยแพร่ เช่นหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477” (พิมพ์ปี 2518) ซึ่งเป็นการย้อนเปิดเอกสารไปถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะมีการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ว่ามีเรื่องเกี่ยวกับแนวความคิดรัฐธรรมนูญ สภา รัฐบาล ในสังคมไทยหลายสิบปีก่อนปฏิวัติ 2475 แล้ว จนมาถึงเอกสารสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ต้องสละราชสมบัติและเป็นยุคสิ้นสุดระบอบทางการเมืองเดิม

อีกเล่มคือ “การเมือง-การปกครองไทยสมัยใหม่ : รวมงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์” (พิมพ์ปี 2520) หนังสือเล่มนี้เป็นการทำให้วิทยานิพนธ์จำนวนมากมาอยู่ในรูปบทความวิชาการ อันถือได้ว่าองค์ความรู้ต่ออดีตที่ดูเหมือนถูกปิดไว้อย่างยาวนาน ได้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา แม้การปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ดูจะอยู่ในรูปของผู้ร้าย ผู้แย่งชิงอำนาจ หรือด้านลบก็ตาม แต่ก็ทำให้มีการกล่าวถึงสองชื่อนี้กันอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ผลปลายทางของเส้นทางงานศึกษาของกลุ่มนี้จะออกมาในรูป แผนพัฒนาประชาธิปไตยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ แนวพระราชดำริทางการเมืองของรัชกาลที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 เป็นต้น ผลของกระบวนการนี้ ทำให้พระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ได้ประดิษฐ์ที่หน้าอาคารรัฐสภาในปี 2523 ในยุครัฐบาลทหารตามแผนพัฒนาประชาธิปไตยที่วางไว้ในการรัฐประหารเมื่อปี 2519

อย่างเงียบๆ มุมหนึ่งในศูนย์กลางทหารปืนใหญ่ ลพบุรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำทหารของคณะราษฎร ก็ได้มีอนุสาวรีย์ในค่ายทหารเปิดตัวปี 2523 ด้วยเช่นกัน และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อนุสาวรีย์จอมพล ป. ก็ได้สร้างเพิ่มอย่างเปิดเผยที่กลางเมืองลพบุรี

ประวัติศาสตร์นั้นมีได้ในหลายมุม ด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ตามหลักวิชาที่ขยายตัวมากขึ้น บวกกับแนวคิดต่อการอธิบายอดีตแบบใหม่ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและความเข้าใจใหม่ต่อการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร

ในวาระครบ 50 ปี การปฏิวัติ 2475 ในปี 2525 กล่าวได้ว่าเป็นวาระโอกาสสำคัญต่อการรื้อฟื้นอดีตการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร เปิดฉากด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานที่ยิ่งใหญ่เพื่อฉลอง “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” รวม 4 วันด้วยกัน ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน เริ่มงานที่วันปฏิวัติ 2475 จบงานที่วันรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานข้อแรกคือเพื่อ “ระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่ได้อุทิศตนเพื่อเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย” ทั้งยังประสานให้นายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำคณะราษฎรได้เขียนและอ่านสุนทรพจน์ผ่านการถ่ายทอดเทปเสียงในงานในชื่อเรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” งานนี้จัดโดย คณะกรรมการอำนวยการจัดงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย ร่วมกับ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานโครงการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ในวาระเดียวกันนี้ ได้มีการสัมมนาวิชาการเรื่อง 50 ปีบนเส้นทางประชาธิปไตยไทย” ซึ่งวารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองก็ได้ถอดเทปจัดพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อเดียวกันในปีต่อมา ดังนี้แล้ว อดีตการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ก็ได้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้งในวงการศึกษาวงวิชาการ และในยุคที่ระบอบประชาธิปไตยได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งเช่นกัน

ในช่วงเดียวกันนั้น ที่ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วารสารธรรมศาสตร์ ที่มี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการ ได้พิมพ์บทความวิชาการขนาดยาวของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นิสิตปริญญาโทประวัติศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของสยาม : พรมแดนแห่งความรู้” เป็นบทความในแนวประวัติศาสตร์นิพนธ์และได้มีการจัดเวทีสัมมนา มีผู้วิจารณ์บทความ

งานของนครินทร์ได้ช่วยคลี่ภาพความเข้าใจอดีตของการปฏิวัติ 2475 ให้แจ่มชัดด้วยข้อสรุปที่สั้นกระชับมากว่า ในช่วงปี 2475-2490 ประวัติศาสตร์ปฏิวัติ 2475 มีเนื้อหาแบบหนึ่ง แต่ที่เรา (ปี 2525 เมื่อกว่า 35 ปีมาแล้ว) รู้จักประวัติศาสตร์ปฏิวัติ 2475 นั้นมาจากการรับรู้และงานเขียนหลังรัฐประหารปี 2490 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการลดทอนและทำลายประวัติศาสตร์คณะราษฎรที่มีต่อสังคมไทย

นอกจากนั้น ในวารสารฉบับเดียวกัน ยังมีบทความสั้นเพียง 7 หน้า ที่โต้แย้งแนวทางอธิบายแบบเดิมว่า การทำปฏิวัติ 2475 เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขียน “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว 24 มิถุนายน 2475” นำเสนอว่า แม้รัชกาลที่ 7 จะพยายามปรับเปลี่ยนสถาบันเพื่อรักษาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ต่อไป แต่ก็ถูกคัดค้านจากสายอนุรักษนิยมในหมู่พระญาติอย่างสูง ดังนั้น “การต่อสู้ 2475 ก็เป็นเรื่องจำเป็นและเลี่ยงไม่พ้น”

ทั้งสองบทความข้างต้น รวมทั้งการจัดงานวิชาการรำลึกถึงวาระ 50 ปีของการปฏิวัติ 2475 ได้เป็นหลักหมายของการฟื้นฟูความจริงอีกหลายมุมเกี่ยวกับปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรแต่นั้นมา

ปี 2526 เมื่อปรีดี พนมยงค์สิ้นชีวิตที่ฝรั่งเศส หลังจากต้องลี้ภัยการเมืองหลายสิบปี ทำให้เรื่องราวและผลงานของปรีดีได้รับการเผยแพร่อย่างจริงจัง เช่นการรวมงานของปรีดีมาพิมพ์ใหม่ในชื่อ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย” หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ที่ปรีดีเขียนขึ้นทั้งฉบับในปี 2475 โดยวางให้เป็นเนื้อหาทางคอลัมน์ด้านซ้าย และพิมพ์พระราชหัตถเลขาวิพากษ์ของพระปกเกล้าฯ ไว้คอลัมน์ด้านขวา กล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้คนทั่วไปได้อ่านเนื้อหาจริงๆ หลังจากฟังเขาเล่าว่า มาอย่างยาวนาน และแง่มุมประวัติศาสตร์เรื่องเกี่ยวกับปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรก็แตกต่างจากเรื่องเล่ากระแสหลักที่มีมาก่อนหน้านี้

ตัวอย่างหนึ่งที่ขอยกขึ้นมาเล่า นายปรีดีได้เสนอ “ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” เป็นกฎหมายแนบท้าย “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” เพื่อให้การสร้างชาติทางเศรษฐกิจบรรลุเป้าหมาย โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศได้รับเงินเดือนโดยรัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดหรือเป็นเช็คของธนาคารแห่งชาติ ทั้งนี้ให้จัดแบ่งเป็น 7 ช่วงชั้นอายุ ตั้งแต่อายุก่อน 1 ปี ถัดนั้นเป็นช่วงชั้นละ 5 ปี จนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มเกษียณที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป แนวความคิดนี้ทำให้เรานึกเปรียบได้กับการจ่ายเงินแก่ผู้สูงวัยเลย 60 ปีในปัจจุบัน (ที่เกษียณอายุจาก 55 ปีมา 60 ปี ถูกแก้ไขโดยรัฐทหารเมื่อปี 2494 อย่างน้อยก็เพื่อให้สองนายพลทหารบกยังคงมีอำนาจทางการเมืองการทหารในยุคดังกล่าวเป็นสำคัญ)

ปี 2527 เป็นปีหลักหมายครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นปีที่ปรีดี พนมยงค์ได้มีอนุสาวรีย์อย่างเปิดเผยในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และต่อมาในวาระครบรอบ 100 ปี ปรีดีก็ยังได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การยูเนสโก ทั้งปรีดีและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเป็นเรื่องเล่าใหม่และเปิดเผย ไม่ต้องซุบซิบแบบก่อนๆ เกี่ยวกับประวัติการก่อกำเนิดประชาธิปไตยไทย และการดำเนินงานด้านต่างๆ ของคณะราษฎร

งานศึกษาประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำทีมโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ได้ศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจากยุคก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 50 ปีนั้น ได้ฉายภาพการปฏิวัติ 2475 ใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ให้มีวิชารัฐธรรมนูญ วิชาการเมือง วิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่อาจทำให้ประชาชนไม่ภักดีต่อระบอบการปกครอง  วิชาเหล่านี้จะเริ่มมีเรียนหลังการปฏิวัติ 2475 แล้วนั้นเอง เพียงตัวอย่างเดียวนี้ เราทราบทันทีว่า ระบอบการปกครองเก่าก็ต่อสู้ปกป้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มที่เช่นกัน

ในปีเดียวกันนั้นเอง วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกภาษาอังกฤษที่ได้ตีพิมพ์ในชื่อเรื่อง The End of the Absolute Monarchy in Siam” ที่อีกกว่าสิบปีต่อมาจึงได้แปลพิมพ์ในภาษาไทยในชื่อ “อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของ เบนจามิน เอ. บัทสัน (ฉบับแปลพิมพ์ครั้งแรกปี 2543) ก็เป็นการศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงปัจจัยภายในของกลุ่มเจ้านายผู้ปกครองว่าได้มีการปรับตัวหรือไม่อย่างไร มีความขัดแย้งทั้งความคิดและอำนาจกันอย่างไร อันนำมาสู่การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีระยะเวลาสั้นนักเพียง 40 ปีเท่านั้น นับแต่ปี 2435 เมื่อมีการสร้างระบอบนี้ตามแนวทางการปกครองของราชวงศ์ในโลกตะวันตกที่รวบอำนาจหรือรวมอำนาจเข้าสู่ประมุขแห่งรัฐ (Head of State) ที่พระราชวังหลวง (Royal Palace) หรือที่ศูนย์กลางอำนาจ

นับจากนั้นเป็นต้นมา การฟื้นอดีตตามหลักวิชาการก็แผ่ขยายไปสู่การศึกษาในระดับสูงและการวิจัยจำนวนมากในทศวรรษที่ 2530 และปรับผลงานให้เป็นหนังสือวางจำหน่ายในทศวรรษต่อๆ มา เช่น เสน่ห์ จามริก ปี 2529 เรื่อง “การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ” สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ ปี 2532 เรื่อง “ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย” ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปี 2533 เรื่อง “ประวัติการเมืองไทย 2475-2500” และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ “ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475” สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ปี 2534 เรื่อง “แผนชิงชาติไทย” นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ปี 2535 เรื่อง “การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475” และชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2475 การปฏิวัติสยาม” พร้อมเอกสารการปฏิวัติครั้งนั้น อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ปี 2538  เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 – พ.ศ. 2475” ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ปี 2543 เรื่อง 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ” ชาตรี ประกิตนนทการ ปี 2548  เรื่อง “คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม ‘อำนาจ’ ” บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ปี 2549 เรื่อง “รัฐธรรมนูญสถาปนา” ณัฐพล ใจจริง ปี 2556 เรื่อง “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : การเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500)” และปี 2559 เรื่อง “กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475” ศราวุฒิ วิสาพรม ปี 2559 เรื่อง “ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ” สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ ปี 2561 “ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมในสยาม” และขอปิดท้ายด้วยงานวิเคราะห์ภาพรวมของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ปี 2561 เรื่อง “ข้ออ้างการปฏิวัติรัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่”

จากที่กล่าวรายชื่อหนังสือวิชาการขึ้นมาเพียงเล็กน้อย สิบกว่าเล่ม ในระยะเวลาสามทศวรรษของความก้าวหน้าการศึกษาวิจัย ซึ่งยังมีวิทยานิพนธ์อีกจำนวนมาก ความรู้เกี่ยวกับปฏิวัติ 2475 นั้นก้าวหน้าไปไกลอย่างยิ่ง มีทั้งการเจาะลึกไปยังการต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องของฝ่ายคณะเจ้า เรื่องปีแห่งเหตุการณ์ เรื่องการต่อสู้ปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายระบอบเก่า เรื่องการต่อสู้ในพื้นที่ขบวนการเสรีไทย เรื่องทศวรรษ 2490 กับทำลายการปฏิวัติ 2475 เรื่องผลการปฏิวัติด้านผัวเมีย ด้านประติมากรรมสถาปัตยกรรม ด้านการเข้ามีส่วนร่วมในระบอบใหม่ของประชาชนสามัญชน เป็นต้น ดังนั้น ในวันนี้ของเรา ปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร จึงเป็นเรื่องที่ได้เพิ่มความรู้ให้กับสังคมไทยเราอย่างกว้างขวาง ทั้งด้วยสายตาที่ชื่นชมและวิพากษ์ แต่เป็นการฟื้นอดีตตามหลักวิชา ไม่ใช่อคติแบบกำจัดทำลายในแบบยุคสามทศวรรษรัฐทหารก่อนหน้านั้น

 

3. ปฏิวัติ 2475

 

การปฏิวัติ 2475 สร้างประชาธิปไตยสากลคนเท่ากัน คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ อันเป็นส่วนหนึ่งของบริบทโลกในกระแสประชาธิปไตย และกระแสพลังลัทธิชาตินิยม ที่บังเกิดขึ้นทั้งในประเทศที่เกิดใหม่ หรือเพิ่งได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 2457-2461) และในประเทศที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างยาวนาน ซึ่งสมัยนั้น ไทย (ขณะนั้นชื่อ สยาม) “ยังเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในโลกที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ”

รัฐธรรมนูญในช่วงเวลานั้น มีความหมายที่ซ้อนทับกับคำว่า “ประชาธิปไตย” (Democracy) ทั้งในแบบสาธารณรัฐ และแบบสภาเลือกตั้งที่มีประมุขรัฐแบบต่างๆ นั่นคือ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” (ดังปรากฏในมาตราที่ 1 ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย 27 มิถุนายน 2475) ที่ก่อเกิดกระบวนการทางการเมืองเพื่อแสดงถึงอำนาจของประชาชน เช่น การเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ “ศิวิไลซ์” ของประเทศเท่านั้น ทว่ายังเป็นหลักหมายของการประกันสิทธิเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย รัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎรมีเพียง 39 มาตราสั้นๆ ไม่กี่หน้ากระดาษ

โดยทั่วไป ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลกได้ค่อยๆ ถูกเปลี่ยนเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คือแบบประธานาธิบดี ในแบบสหรัฐอเมริกาและจีน หรือแบบจักรพรรดิ/สุลต่าน/พระราชาธิบดี/กษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ ในแบบอังกฤษและญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศอีกส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนการปกครองไปเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น สหภาพโซเวียต ในบริบทโลกดังกล่าวนี้ ไทยก่อนการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นประเทศที่อยู่บนทางสองแพร่งของระบอบการเมือง คือ การรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เพิ่งถูกสร้างในสยามอันเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองส่งมาจากโลกตะวันตก กับการเปลี่ยนเป็นระบอบรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั่นเอง ขณะที่กระแสลัทธิคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลน้อยมากยิ่งนักในประเทศไทยขณะนั้น

คณะเจ้า นับแต่ยุคสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา กล่าวได้อย่างหนักแน่นว่า ชนชั้นผู้ปกครองไทยรับรู้ดี ถึงระบอบประชาธิปไตยและกระแสประชาธิปไตยของโลกในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 และพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ซึ่งต่างก็เป็นนักเรียนนอกที่อังกฤษเป็นเวลาราวหนึ่งทศวรรษนั้น ย่อมได้เรียนรู้อย่างดีถึงความผันผวนปรวนแปรของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในการรักษาสถานภาพของตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญ

ด้วยบริบทโลกนี้ ในแต่ละรัชสมัยจึงมีการกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็จะเป็นเพียงแนวคิดในลักษณะ “ร่างเค้าโครงเบื้องต้น” ซึ่งในยุคสมัยรัชกาลที่ 7 สิ่งเหล่านี้ต่างเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่ได้ประสงค์จะสื่อสารกับประชาชนคนไทยภายในประเทศขณะนั้นอย่างแน่นอน

กระนั้น เกมประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ เป็นเกมที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องเล่น ต้องปรับตัว แต่จะเล่นและปรับตัวอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดที่คณะเจ้าต้องวิพากษ์ถกเถียงขัดแย้งกันเองอย่างมากมาย เพราะเมื่อกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ก็ต้องสัมพันธ์กับประเด็นการเลือกตั้งและการมีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ก็หมายความว่ายอมให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศชาติร่วมด้วย ซึ่งในข้อเท็จจริงทางทฤษฎีอำนาจทางการเมือง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นมีทฤษฎีอำนาจทางการเมืองว่า อำนาจสูงสุดของแผ่นดินเป็นของประมุขรัฐที่สืบทอดอำนาจโดยสายโลหิต ดังนั้น เรื่องการเลือกตั้งโดยประชาชนและผู้แทนราษฎร จึงเป็นเรื่องยากอย่างที่สุดที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสามารถคิดถึงและพัฒนาการเมืองเรื่องประชาธิปไตยต่อไปได้

ทว่าในอีกด้านหนึ่งของพัฒนาการทางการเมืองการปกครองไทย คณะเจ้าสามารถนำรูปแบบและการดำเนินงานของสถาบันทางการเมืองตะวันตก เช่น Council of State หรือ สภาแห่งรัฐ มาช่วยทำหน้าที่ร่างกฎหมาย สร้างความชอบธรรมในการบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติในต้นสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อกระชับและรวมอำนาจเข้าศูนย์กลางที่องค์พระมหากษัตริย์ กำจัดอำนาจของขุนนางในกรุงและท้องถิ่นออกไป แล้วสร้างระเบียบราชการจากศูนย์กลางแผ่ออกไปทั่วประเทศ

การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีจุดเริ่มในปี 2435 ซึ่งเรียกว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ต้องใช้กระบวนการสร้างการกระชับอำนาจนี้ตลอดกว่าสองทศวรรษท้ายของรัชสมัยและในรัชสมัยต่อมา ส่วนสถาบันที่เรียกว่า Council of State หรือ “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” นี้ ก็หมดบทบาทเมื่อรัชกาลที่ 5 ค่อนข้างบรรลุความสำเร็จในการรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง

นอกจากนั้นยังมีดุสิตธานี บ้านเมืองขนาดย่อม บนเนื้อที่ 2 ไร่ครึ่งในพระราชวังพญาไทของรัชกาลที่ 6 ที่ในช่วงไม่กี่ปีนั้น มุ่งเน้นสื่อสารต่อข้าราชบริพารใกล้ชิดว่า ถ้าหากอยากได้ประชาธิปไตยก็ต้องอบรมบ่มเพาะศึกษาเล่าเรียนก่อน รูปแบบประชาธิปไตยของดุสิตธานี จึงถูกทำให้กลายเป็นเวทีแสดงและแบบฝึกหัดของข้าราชบริพาร แทนการเข้าร่วมทางการเมืองของประชาชนที่สามารถมีอำนาจจัดสรรสิ่งที่มีค่าของสังคม ว่าใคร ได้อะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร

ส่วนกระแสประชาธิปไตยในประชาราษฎร คือการเกิดแนวความคิดว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศชาติ เป็นเจ้าของแผ่นดินนี้ร่วมกัน ประเทศชาติเราทุกคนร่วมกันสร้าง การมีรัฐธรรมนูญ มีสภาผู้แทนราษฎร มีการเลือกตั้ง รวมทั้งการเลือกตั้งฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลนั้น เป็นสิ่งสำคัญของระบอบการเมืองใหม่ที่ประเทศชาติต้องมี แทนการปกครองที่ถูกมองว่าไม่ศิวิไลซ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นการปกครองโดยบุคคลเพียงคนเดียวและเครือข่าย

การเกิดกรณีของบุคคลชื่อ เทียนวรรณ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เป็นสามัญชนได้ท่องโลกตะวันออกตะวันตกและอ่านออกเขียนภาษาอังกฤษได้  ได้เสนอเรื่องการมีสภาผู้แทน ให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และให้เลือกตั้งฝ่ายบริหาร การเกิดกรณี คณะทหารหนุ่ม อายุส่วนใหญ่ระหว่าง 18-25 ปี เตรียมการปฏิวัติเพื่อสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเมื่อปีที่สองของรัชกาลที่ 6 ซึ่งกลายเป็น “กบฏ ร.ศ.130” หรือ “กบฏยังเติร์ก” (ปลายปี 2454) อันเป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าการปฏิวัติ 2475 ราว 20 ปีนั้น

ทั้งสองกรณีสำคัญนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎรนั้น ไม่ใช่การปรากฏตัวอย่างฉับพลันทันทีทันใด แต่เป็นการเกิดขึ้นบนพลังกระแสประชาธิปไตยที่มีระดับแรงมากขึ้นหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 และพลังลัทธิชาตินิยมที่เพิ่มพูนมากขึ้นในหมู่ประชาราษฎร ดังนั้น ย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นด้วยว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบอบนำเข้ามาจากตะวันตกด้วยเช่นกัน อันเพิ่งมีระยะเวลาในสยามไทยเพียง 40 ปีนั้น ก็ไม่อาจที่จะปรับเปลี่ยนเชิงสถาบันเพื่อตอบรับกระแสประชาธิปไตยและความเป็นสมัยใหม่ได้นั่นเอง แม้ว่าจะได้มีความพยายามในบางส่วนแล้วก็ตาม    

คณะราษฎร ก่อตั้งขึ้นโดยคนหนุ่ม 7 คน อายุระหว่าง 26-29 ปี โดยร่วมคิดก่อการเมื่อ 5 ปีกว่าก่อนการปฏิวัติ 2475 คนหนุ่มวีรสามัญชนผู้กล้าหาญ ที่เราพึงเคารพชื่นชมชมยกย่องเหล่านี้ ได้แก่ 1) นายปรีดี พนมยงค์ 2) นายร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ 3) นายร้อยโทประยูร ภมรมนตรี 4) นายร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี 5) หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) 6) นายตั้ว ลพานุกรม และ 7) นายแนบ พหลโยธิน

ในที่นี้ขอกล่าวอย่างสั้นๆ ว่า การตั้งคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนระบอบการเมืองของประเทศให้เป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้น ท่านเหล่านั้นได้กำหนดเจตจำนงว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้ว่าท่านเหล่านั้นจะตระหนักดีถึงความผันผวนหลังการปฏิวัติ อย่างที่เกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศอังกฤษ และของฝรั่งเศส เจตจำนงต่อวิธีการเปลี่ยนแปลง คือการเปลี่ยนระบอบจากบนลงล่าง ที่กลุ่มผู้ปกครองและระบอบปกครองเก่าได้เปราะบางอย่างที่สุด เพียงผลักก็ล้ม แต่ก็ตระหนักว่ามีจุดอ่อนอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของคนที่ถูกปลูกฝังในระบอบเก่ามายาวนาน รวมทั้งเหล่าบรรดาคนที่มีผลประโยชน์ด้านต่างๆ ภายใต้ระบอบเก่า การปฏิวัติต่อสู้เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยทั้งของอังกฤษและฝรั่งเศสได้เป็นแนวทางอย่างดีที่ชี้ให้เห็นว่า หากสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว จะมีทั้งกลุ่มคนที่ต่อต้านระบอบใหม่ และกลุ่มคนที่เปลี่ยนย้ายมาอยู่ข้างระบอบใหม่เมื่อเห็นอนาคตที่เป็นประโยชน์ของตน ครอบครัว และประเทศชาติในท้ายสุด

ห้าปีกว่าของการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ ขยายสมาชิกอย่างคัดสรรออกไปในหมู่ทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการพลเรือน ได้สมาชิก 102 คน ครึ่งหนึ่งเป็นทหาร ครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือน เกือบทั้งหมดคือข้าราชการ มีหัวหน้าผู้อาวุโสที่สุด คือ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา อายุ 45 ปี ในวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 สมาชิกคณะราษฎร มีเพียง 4 ท่านที่ถือว่าอาวุโส มีอายุระหว่าง 38-45 ปี สมาชิกส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 20 ปี จนถึง 35 ปีเพียงเท่านั้น คณะราษฎรคือกลุ่มไทยใหม่ เป็น The Young Thai ที่มุ่งสร้างชาติไทยขึ้นมาใหม่ เข้าแทนที่กลุ่มสยามเก่า The Old Siam ที่ไม่สอดรับกับกระแสโลกสมัยใหม่อีกต่อไป

ห้าปีกว่าของความตั้งใจและความมุ่งมั่น ย่อมแสดงให้เราเห็นถึงอุดมการณ์อันแกร่งกล้า ไม่หวั่นไหวต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคและความยากลำบาก ยอมเสียสละชีพเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่ง เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลุ่มคนอายุน้อยและกลุ่มไทยใหม่ ได้ร่วมกันพลิกแผ่นดินเพื่อปลูกความเจริญมั่งคั่งศิวิไลซ์ครั้งสำคัญ เหมือนยุคสิ้นระบอบเก่าราชอาณาจักรอยุธยา ที่กลุ่มคนอายุน้อยรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ยุคสมัยกรุงธนบุรี ภายใต้การนำของพระเจ้าตากสินมหาราช หรือในการปฏิวัติตุลาคม 2516 ในแต่ละช่วงเวลา The Young Thai คือผู้ที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญมั่งคั่งศิวิไลซ์ขึ้นไป หาใช่ The Old Siam หรือ The Old Thai แต่อย่างใดไม่

ชื่อ คณะราษฎร หรือ The People’s Party คือชื่อของพรรคการเมืองหนึ่งที่อุทิศตนให้เป็นผู้แทนประชาราษฎรในขณะนั้น ต่อสู้เพื่อล้มระบอบการปกครองของคณะเจ้านาย ข้อพึงสังเกตคือ การใช้คำแปลว่า คณะ จากคำว่า Party หรือที่เราแปลกันว่า พรรคการเมือง ในปัจจุบันนั้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ภายใต้ระบอบการปกครองเก่านั้น คำทางการเมืองถูกห้ามสร้างห้ามคิดในพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผยเลย เพราะไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เหมือนเช่นในสภาวะหลายปีมานี้ของยุคเรา แต่กระนั้น ในที่สุด การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ชนชั้นปกครองเก่า The Old Thai ไม่มีวันตระหนักรู้และเข้าใจ หากแต่หลงอยู่ในวังวนความเชื่ออย่างลมๆ แล้งๆ ว่าทุกอย่างควบคุมได้และทุกอย่างดูสงบเรียบร้อย  

การปฏิวัติ 2475 ถูกสร้างวาทกรรมให้เชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนระบอบทางการเมืองที่ “ไร้การนองเลือด” ที่ฝ่ายกลุ่มผู้ปกครองเดิมสละอำนาจและผลประโยชน์ทั้งสิ้นด้วยความยินดีปรีดา แต่ในข้อเท็จจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะการต่อสู้ช่วงชิงเพื่อพิทักษ์อำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ปกครองระบอบเก่า ภายใต้ระบอบใหม่ มีขึ้นตลอดเวลา ทั้งในรูปแบบการต่อสู้ในเกมการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ตามมาด้วยการรัฐประหารครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีที่เป็นนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษาและอธิบดีศาลอุทธรณ์ เมื่อ 1 เมษายน 2476 กลายเป็นรัฐบาลพระยามโนฯ ที่มีอำนาจเผด็จการ 81 วัน

พระยามโนฯ ได้เป็นจอมเผด็จการคนแรกในยุคระบอบใหม่นี้ ทั้งพระยามโนฯ ยังใช้อำนาจเผด็จการออกกฎหมาย “คอมมิวนิสต์” มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดผู้นำฝ่ายตรงข้าม คือ ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำสายพลเรือนของคณะราษฎร ยุคมโนเครซี (Monocracy) จบลงด้วยการรัฐประหารกลับของฝ่ายคณะราษฎรกลุ่มทหารหนุ่ม เมื่อ 20 มิถุนายน 2476 เพื่อยุติการฟื้นระบอบเก่าในเสื้อคลุมระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และยืนยันแนวทางของประเทศว่าด้วยรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยสากลคนเท่ากันที่คณะราษฎรได้จัดสร้างขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อนนั้น

แต่ในอีก 3 เดือนต่อมา คณะราษฎรก็ถูกตีโต้ด้วยการใช้กำลังทหารของฝ่ายระบอบเก่าทำรัฐประหารในนาม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” เมื่อเดือนตุลาคมปี 2476  ซึ่งเป็นเดือนที่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประเทศกำลังเริ่มขึ้น เป้าหมายของการรัฐประหารของกลุ่มระบอบเก่าครั้งนี้เพื่อพิทักษ์เพิ่มพูนอำนาจและบทบาทของประมุขแห่งรัฐในระบอบใหม่ ตลอดถึงการพิทักษ์ทรัพย์ของกลุ่มผู้ปกครองระบอบเก่า ทว่าจบลงด้วยการรบนองเลือดทางการทหารของทั้งสองฝ่าย ผู้หญิงผู้ชายจำนวนมากในกรุงเทพฯ ได้ลุกขึ้นมาร่วมสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร ด้วยการทำข้าวปลาอาหารส่งไปยังการรบที่แนวหน้า เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกว่า “กบฏบวรเดช”

ถัดจากนั้น ตามมาด้วยการต่อรองทางการเมืองเรื่องการสละราชย์ที่สิ้นสุดลงเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2477 ซึ่งสาระสำคัญของการต่อสู้จากฝ่ายระบอบเก่าที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 ที่มีจำนวนครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (อีกครึ่งมาจากการเลือกตั้ง) นั้นให้เป็นอำนาจของประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่อำนาจของคณะราษฎรผู้แทนประชาชน

การต่อสู้ตลอดมาของฝ่ายระบอบเก่าก็เพื่อเปลี่ยนรูปทางการเมือง จากระบอบพระมหากษัตริย์ “ใต้” รัฐธรรมนูญ ที่มุ่งสร้างประชาธิปไตยของการปฏิวัติ 2475 ให้กลายเป็นระบอบราชาธิปไตย “ตาม” รัฐธรรมนูญ ที่จะเปลี่ยนแปลงไป หรือกลายเป็นระบอบเก่าราชาธิปไตย “ที่มี” รัฐธรรมนูญ นั่นเอง

การต่อสู้ของฝ่ายระบอบเก่ายังคงดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมีคณะทหารได้ทำรัฐประหารอีก 11 ครั้งตั้งแต่ปี 2490 มาจนถึงปัจจุบัน

กระนั้นก็ตาม ขอชี้ให้เห็นด้วยตัวอย่างที่สั้นกระชับว่า ความพยายามของการยื้อรื้อถอนการสร้างประชาธิปไตยสากลคนเท่ากันของคณะราษฎรในรอบ 71 ปีที่ผ่านมา หากท่านคิดว่าระบอบเก่าและรัฐทหารบรรลุความสำเร็จจากการรัฐประหารได้ถึง 11 ครั้ง ก็อาจใช่ แต่ในด้านกลับกัน การที่ระบอบเก่าและรัฐทหารต้องกระทำรัฐประหารอย่างซ้ำๆ ซากๆ ถึง 11 ครั้ง หรือทุกๆ 6 ปีต้องลงมือทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่า ระบอบเก่าและรัฐทหารไม่อาจหยุดยั้งความปรารถนาของประชาชนไทยที่จะมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยสากลคนเท่ากันเลือกตั้งทุกระดับได้แต่อย่างใด

การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้มีการเลือกตั้งทุกระดับของสถาบันทางการเมือง นั่นคืออุดมการณ์ของปฏิวัติ 2475 การจัดตั้งให้มีเทศบาลทุกตำบล ที่ฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งแม้สองทศวรรษที่ผ่านมาจะเป็นเพียงองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. นั่นคืออุดมการณ์ปฏิวัติ 2475 การที่ต้องมี สภาผู้แทนราษฎร ตลอดมา ได้เป็นสิ่งยืนยันว่า มรดกการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรยังคงอยู่กับประชาชนทุกคนถึงวันนี้

 

4. อนาคต 2475

 

2475 ยังมีอนาคตอยู่หรือไม่?

ประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 ได้ผ่านช่วงตกต่ำมืดมิดอย่างที่สุดไปแล้วในช่วงสามทศวรรษ ระหว่างทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2510 อันเป็นยุครัฐทหารและการฟื้นฟูราชาชาตินิยมอย่างเข้มข้น ดังนั้น ในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐทหารและพลังราชาชาตินิยมยังคงอยู่อย่างเสมอมา แต่ดังที่ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับงานศึกษาจำนวนมากของการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นช่วงที่สปิริตของการปฏิวัติ 2475 ได้แผ่กระจายไปยังทุกอณูทางความคิด ความทรงจำ และความหวัง

ปฏิวัติ 2475 คืออดีตที่เป็นแสงนำทางต่อการสร้างอนาคตประเทศชาติของเรา ด้วยแนวทางประชาธิปไตยสากลคนเท่ากัน การเลือกตั้งทุกระดับ ด้วยแนวคิดสำคัญของคณะราษฎรที่ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือกุญแจที่ไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับรัฐ และสัมพันธภาพระหว่างสถาบันต่างๆ ของสังคม ประชาชนทุกคนร่วมสร้างประเทศชาติของเรา (The Nation We Build Together)

ขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ร่วมรับฟังในวันนี้ เพียงกล่าวคำนี้ว่า ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน จิตวิญญาณของการปฏิวัติ 2475 ว่าด้วยสิทธิเสมอภาค ก็มีอยู่ในตัวของทุกท่านแล้วอย่างแน่นอน ขอบคุณครับ

 

อ้างอิง

50 ปีบนเส้นทางประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526.

เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์. การปฏิวัติ 2475. พระนคร: แพร่พิทยา, 2514.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และคณะ. สัตว์การเมือง. พระนคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2514.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูต. บรรณาธิการ. เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477.  กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518.

ชัยอนันต์ สมุทรวณิช และ สุวดี เจริญพงศ์. บรรณาธิการ.  การเมือง-การปกครองไทยสมัยใหม่ : รวมงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2522.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475-2500.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2533.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2475 การปฏิวัติสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2535.

ชาตรี ประกิตนนทการ. คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม “อำนาจ”. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม มติชน, 2548.

ณัฐพล ใจจริง. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : การเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556.

ณัฐพล ใจจริง. กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม มติชน, 2559.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543. ต่อมารวมพิมพ์ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475. พิมพ์ปี 2547 และอีกหลายครั้ง ต่อมานำสองบทแรกพิมพ์ในชื่อ  ปฏิวัติ 2475 และรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ปี 2555,

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “10 ธันวาคม วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ หรือ วันรัฐธรรมนูญ?” ใน ชาญวิทย์  เกษตรศิริ บรรณาธิการ, ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่ : สู่ทศวรรษที่ 7 ปฏิวัติ 2475 / สถาปนา มธก. 2477. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548, หน้า 89-113.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ “ข้ออ้าง” การปฏิวัติรัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “รัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 เผด็จการยุคแรกแบบ “Monocracy” ใน The101.world. (เผยแพร่ 2 เมษายน 2561).

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของสยาม : พรมแดนแห่งความรู้.” ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 เล่ม 2 (มิถุนายน 2525), หน้า 7-52.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475.  กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2533.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2535.

นรนิติ เศรษฐบุตร และชาญวิทย์ เกษตรศิริ. บรรณาธิการ. บันทึกพระยาทรงสุรเดช. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรไทย, 2514.

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. รัฐธรรมนูญสถาปนา : ชีวิตและชะตากรรมของประชาธิปไตยในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2549.

เบนจามิน เอ. บัทสัน. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. (The End of  the Absolute Monarchy in Siam)  บรรณาธิการแปล กาญจนี ละอองศรี, ยุพา ชุมจันทร์; คณะแปล พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. “24 มิถุนาในขบวนการ 14 ตุลา.” ใน ชาญวิทย์  เกษตรศิริ บรรณาธิการ, ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่ : สู่ทศวรรษที่ 7 ปฏิวัติ 2475 / สถาปนา มธก. 2477. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548, หน้า 115-178.

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). กรุงเทพฯ: กลุ่ม “รัฐกิจเสรี”, 2517.

ปรีดี พนมยงค์. “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน.” ใน ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.

ศราวุฒิ วิสาพรม. ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม มติชน, 2559.

สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย.  เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500. กรุงเทพฯ: นรามิตรการพิมพ์, 2516.

สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2481-2492. กรุงเทพฯ:

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.

สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมในสยาม. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม มติชน, 2561.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2534. (ชื่อวิทยานิพนธ์ “การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500)”)

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว 24 มิถุนายน 2475.” ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 เล่ม 2 (มิถุนายน 2525), หน้า 62-68.

เสน่ห์ จามริก. การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มธ., 2529. พิมพ์ครั้งที่ 2. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540.

อรรถจักร สัตยานุรักษ์. การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4-พ.ศ.2475. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2538.

Thawatt Mokarapong. History of the Thai revolution : a study in political behavion. Bangkok: Distributed by Chalermnit, 1972.

 

หมายเหตุ

1. เนื้อหาทั้งหมดคือบทปาฐกถาในงาน “ครบรอบ 86 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน 2475” วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2561 ณ สวนองุ่น มูลนิธิไชยวนา ซอยทองหล่อ กรุงเทพฯ จัดโดย มูลนิธิไชยวนา ร่วมกับ กลุ่มโดมรวมใจ และเพื่อน ผู้เขียนขอขอบคุณคุณศิริวุฒิ บุญชื่น ในการช่วยค้นคว้า และ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ได้พิจารณาตรวจทานความสมบูรณ์ของบทความนี้

2. เนื้อหาส่วนที่ 3 “การปฏิวัติ 2475” ปรับปรุงใหม่จากบทส่งท้ายหนังสือของผู้เขียน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475 และรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2555, หน้า 154-159.

3. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรัฐประหารครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ที่ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “รัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 เผด็จการยุคแรกแบบ “Monocracy” ใน The101.world, เผยแพร่ 2 เมษายน 2561.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save