fbpx

“ให่ข้อยเว่าแหน่เถาะ” เสียงของผู้ถูกกดขี่ใน 2444

“ให่ข้อยเว่าแหน่เถาะ…”

นี่คือประโยคเปิดเรื่องสั้นที่น่าสะเทือนใจมากที่สุดสำหรับผมบทหนึ่งในวรรณกรรมไทยร่วมสมัย มันเป็นประโยคแรกที่เรียกร้องให้เราสนใจ เรียกร้องให้เราฟัง ด้วยคำพูดบ้านๆ คำพูดง่ายๆ ในภาษาลาวซึ่งแปลเป็นภาษากลางหรือกรุงเทพกรุงไทยได้ว่า “ให้ฉันได้พูดสักนิดเถอะนะ” มันเป็นการเรียกร้องที่ไม่ได้มากมายอะไรนัก แค่ขอให้ใครสักคนได้ฟังสิ่งที่เขากำลังจะพูด ทำไมการที่ใครสักคนจะพูดและเขาต้องขอให้เราฟังนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจได้ขนาดนี้ ผมคิดว่านั่นอาจเป็นเพราะคนที่เขากำลังขอให้เราฟังและขอจะพูดนั้น แทบไม่มีมีใครเคยคิดอยากจะฟังพวกเขา อย่าว่าแต่คิดอยากฟังเลย เราแทบไม่เคยจินตนาการถึง ‘เสียง’ ของพวกเขาเหล่านั้นด้วยซ้ำไป บางทีเสียงของพวกเขาในจินตนาการของชนชั้นนำไทยอาจแปลกแปร่งและเป็นได้แค่เสียงเหน่อๆ ของคนบ้านนอก ห่างไกลความเจริญ เป็นได้อย่างมากก็แค่คนรับใช้ของพวกเขาเท่านั้น

“ให้ข่อยเว้าแหน่เถาะ แม้ว่าจะถูกตัดหัวเสียบประจานไว้ แม้ว่าบ่ได้ฮ่ำฮอนอาลัยอาวรณ์ถึงไผหรือสิ่งใด๋ กะย้อนบ่มีหัวใจ แม้ว่าบ่คึดอยากข้าวอยากน้ำ ย้อนว่าบ่มีท้องมีไส้ มีแต่ปากพอได้เล่าได้เว้าได้ส่งเสียง จากหัวแก่หัวเก่าบ่เน่าบ่เปื่อยตากแดดตากลมตากฝนโอ้อ่าวเหงาหงอยมาร้อยกว่าปีแล้ว บ่ไปไสมาไส บ่ได้ผุดได้เกิด เสียบคาไม้แก่แด่อยู่กลางทุ่งศรีเมืองนี่แหละ ถูกเหยียบข้ามหัวไปมา ทนเฝ้ามองเบิ่งควมจื่อจำของแผ่นดิน ของประวัติศาสตร์โบราณแตกป่นมุนอุ้ยปุ้ยเป็นผุยผง…”

ในประโยคถัดมา เราได้รู้แล้วว่า ที่มาของเสียงนั้นมาจากไหน ก็มาจากหัวที่ถูกตัดเสียบประจานอยู่ที่ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานีนี้เอง สำหรับผม เวลามีใครสักคนพูดว่าชนชั้นนำไทยไม่เคยเห็นหัวคนลาวในประวัติศาสตร์ไทย (ในปกหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์เล่มแรก… และเล่มเดียวของ ภู กระดาษ นักเขียนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง เป็นรูปหมอแคนสองคนนั่งอยู่แต่ไม่มีหัว มันสะท้อนให้เห็นว่าทั้งชนชั้นนำและประวัติศาสตร์ส่วนกลางหรือประวัติศาสตร์แห่งชาติของสยามนั้นไม่เคยเห็นหัวคนลาวเลย) ผมก็เห็นด้วยเสมอ จนกระทั่งผมมาอ่านเรื่องสั้น ‘2444’ ของ มาโนช พรหมสิงห์ นี่แหละ ยังไม่พ้นย่อหน้าแรกเลย เราก็ได้เห็นแล้วว่า หัวของคนลาวนั้นมีอยู่จริงและได้รับการขานรับจากชนชั้นนำสยามในฐานะหัวของกบฏ หัวที่ถูกตัด ตัดเสียบประจาน ประจานไม่ให้ใครก็ตามเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หัวของพวกบกฏที่ต้องกำจัด กำราบให้ราบคาบ ให้คนเหล่านั้นเกรงกลัว ในนามของการรักษาความสงบ ในนามของการผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่ง ในนามของชนชั้นผู้ถูกปกครอง ถูกทำให้กลายเป็นฝุ่นใต้ตีนของชนชั้นนำมายาวนานหลายร้อยปี

เรื่องสั้น 2444 เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นชุด ‘2444’ ของมาโนช พรหมสิงห์ นักเขียนลาวฝั่งขวาชาวอุบลราชธานีที่มีประสบการณ์ทางวรรณกรรมมาอย่างโชกโชนและยังเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร ‘ชายคาเรื่องสั้น’ นิตยสารเรื่องสั้นที่มีบทบาทสำคัญของแวดวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัยอีกด้วย มาโนชเคยมีผลงานรวมเล่มคือ รวมเรื่องสั้น ‘ร่างแหแห่งวิหค’ (2540) และ ‘สายลมบนถนนโบราณ’ (2548) รวมความเรียง ‘เสียงเพรียกจากสวนดอกไม้’ (2544) รวมบทกวีทำมือ ‘ณ ดวงตาเธอมีดาวประกายพรึก’ (2545) นวนิยาย ‘สายรุ้งกลางซากผุกร่อน’ (2556)

ในรวมเรื่องสั้นชุด ‘2444’ เล่มล่าสุดของมาโนชนั้น เคยเป็นเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ต่างวาระกันตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ประเด็นที่ผมสนใจคือบางเรื่องเคยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารและนำมารวมแล้วครั้งหนึ่ง ได้แก่ ‘มาตุคาม’ (ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารราหูอมจันทร์ ปี 2550 รวมพิมพ์ในหนังสือ ‘สาบอีสาน’ ปี 2551), ‘พิพิธภัณฑ์’ (ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ปี 2545 รวมเล่มใน ‘สายลมบนถนนโบราณ’ ปี 2548), ‘ระหว่างรอยมีด’ (ตีพิมพ์ครั้งแรกในช่อการะเกด ปี 2538 รวมเล่มใน ‘ร่างแหแห่งวิหค’ ปี 2540)

การนำเรื่องสั้นเหล่านี้มาพิมพ์ใหม่อีกครั้งในชุด ‘2444’ นี้ผมคิดว่าเป็นเพราะเรื่องสั้นเหล่านี้ (เรื่องสั้นที่เคยพิมพ์รวมเล่มไปแล้ว) สอดคล้องกับเรื่องสั้นอีกห้าเรื่องที่เหลือ นั่นคือเป็นเรื่องสั้นที่ว่าด้วยสรรพเสียงและสำเนียงอันหลากหลายของผู้ที่ถูกกดขี่ขูดรีด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกดขี่ของชนชั้นนำสยามที่มีต่อคนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง

ในเรื่องสั้น ‘2444’ นำเสนอเรื่องราวของกบฏองค์มั่นซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในพื้นที่ของ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ บางส่วนของมุกดาหารและลาวทางใต้ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง กลุ่มขององค์มั่นในประวัติศาสตร์ของการกบฏต่อรัฐสยามในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเป้าหมายที่สำคัญก็คือ การขับไล่อำนาจของสยามออกไปหลังจากมีการปฏิรูปการปกครอง รวบรวมมณฑลแว่นแคว้นต่างๆ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามในศตวรรษที่ 19 อำนาจในการปกครองท้องถิ่นจึงอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลจากส่วนกลาง

การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางนี้เองก่อให้เกิดการกดขี่ รีดนาทาเร้นชาวลาวอย่างไม่เป็นธรรมและไร้มนุษยธรรม เช่นภาษีส่วยที่รีดเก็บจากชายฉกรรจ์คนละสี่บาท ในเรื่องสั้น ‘เสียง’ ของกบฏหัวขาดเล่าเอาไว้ว่า “ข้อยเคยได้ยินว่าต้องหาบไก่มาเป็นสิบๆ โตย่างเดินหลังแอ่นเป็นร้อยหลักกิโล ไปตลาดใหญ่เมืองโคราช ขายไก่โตละสลึง กว่าจะกำเงินสี่บาทมาจ่ายภาษีให้หลวง” (หน้า 22)

อันที่จริงแล้ว ‘เรื่อง’ ที่ถูกเล่าและนำเสนออยู่ในเรื่องสั้น ‘2444’ เป็นเรื่องราวที่อยู่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ว่าด้วยกบฏผีบุญในพื้นที่ลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาให้ความสนใจกับปรากฏการณ์กบฏผีบุญ ดังนั้นเรื่องเล่าของกบฏผีบุญจึงถูกนำเสนอในแง่มุมที่หลากหลายมากกว่าการถูกตีตราว่าเป็นกบฏเพียงอย่างเดียว เช่นในบทความ ‘กบฏผู้มีบุญอีสาน ผู้นำตั้งตนเป็นผู้วิเศษ-พระศรีอริยเมตไตรย สู่จดหมายลูกโซ่ยุคแรกในไทย’ ​ของ สุวิทย์ ธีรศาสวัต ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมปี 2549 ที่เล่าเหตุการณ์กรณีขององค์มั่นหรือเหตุการณ์กบฏผีบ้าผีบุญในปี 2444 เอาไว้ และยังได้วิเคราะห์สาเหตุของการเกิดกบฏผู้มีบุญ เช่น กรณีภาษีส่วนสี่บาทนั้น สุวิทย์เสนอไว้ว่า “ผู้เฒ่าคนหนึ่งอายุเกือบ 100 ปี ให้สัมภาษณ์ผู้เขียนเมื่อ 23 ปีที่แล้วว่า ท่านต้องหาบไก่ 16 ตัว เดินทาง 140 กิโลเมตร จากอำเภอมัญจาคีรี เอาไปขายที่ตลาดเมืองโคราชตัวละ 1 สลึง ได้เงินมาเสียภาษีส่วย 4 บาทดังกล่าว สำหรับคนไม่มีเงินเสียภาษีดังกล่าวก็ถูกเกณฑ์ไปทำงานโยธา 15 วัน เช่น ขุดสระน้ำ (เช่น บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด) สร้างถนน สนามบิน ถางหญ้าข้างศาล เป็นต้น”[1]

สิ่งที่มาโนชทำไม่ใช่เป็นการเล่าเรื่องใหม่ แต่เป็นการทำให้ตัวละครในประวัติศาสตร์นั้นมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งผ่านเสียงเล่าของตัวละครในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นกบฏผู้ถูกตัดหัวจนขาดและถูกเสียบประจานไว้ เสียงขององค์มั่นผู้นำกบฏผู้บุญ หรือเราอาจเรียกได้ว่าเป็นการทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่มีลักษณะเป็นข้อมูล ข้อเท็จจริง มาสร้างใหม่ให้มีลักษณะเป็นวรรณกรรมหรือมีความเป็นเรื่องแต่งมากขึ้น เราจะได้เห็นกระบวนการสร้างเรื่องแต่งจากประวัติศาสตร์ ทำให้เราเห็นความมีชีวิตชีวาและสะเทือนอารมณ์จากเหตุการณ์ในอดีตได้มากกว่าการเข้าใจวิธีการเขียนประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ ที่มีแต่ความแห้งแล้ง

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยวิพากษ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เอาไว้ได้อย่างเจ็บแสบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์และวรรณกรรมในสังคมไทยนั้นมีลักษณะที่เรียกว่า ‘ด้อยอิงเดี้ยง’ นั่นเป็นเพราะประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทยนั้นไม่มีลักษณะที่ที่เป็นการสะท้อนจิตใจของยุคสมัยอันเป็นความจริงในระดับลึกที่สุดที่ทำให้เรามองเห็นความสลับซับซ้อนของความเป็นมนุษย์ งานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทยเป็นสิ่งที่สะท้อนได้แค่ระดับของเหตุการณ์และไม่ได้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มทุกฐานะในสังคม ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยจึงอยู่ในสภาวะ ‘เดี้ยง’ นักเขียนเมื่ออยากจะ ‘อิง’ ประวัติศาสตร์ก็ไม่สามารถไปได้ไกลกว่าระดับของการอิงอยู่กับเหตุการณ์เช่นเดียวกัน ดังนั้นทั้งวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต่างก็เดี้ยงพอๆ กัน

สำหรับผม เมื่อมาอ่านเรื่องสั้น ‘2444’ ผมคิดว่าเราอาจต้องทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับประวัติศาสตร์เสียใหม่ ผมคิดว่าในปัจจุบันงานศึกษาด้านประวัติศาสตร์มีความหลากหลายมากขึ้นและพยายามจะสะท้อนความสลับซับซ้อนของจิตใจผู้คนในแต่ละยุคสมัยด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่เน้นข้อมูลและข้อเท็จจริงมากที่สุด ในขณะเดียวกันนักเขียนเองก็อาจต้องตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมและงานศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ให้ทันเพื่อประโยชน์ในการทำงานวรรณกรรมของตัวเองให้ได้มากที่สุด เรื่องสั้นชิ้นนี้ของมาโนชได้แสดงให้เห็นศักยภาพของวรรณกรรมที่ทำให้ประวัติศาสตร์แห่งการขูดรีดกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เสียงของผู้ถูกกดขี่ได้รับการถ่ายทอดและบอกเล่าในฐานะที่เป็นทั้งเครื่องมือการต่อสู้ทางสังคมและการเรียกขานมโนสำนึกของผู้กดขี่ซึ่งก็คือรัฐสยามกรุงเทพกรุงไทยอันศรีวิไลซ์มากที่สุดในพระราชอาณาจักรแห่งนี้

จะเห็นว่า ผมสนใจเรื่องสั้น ‘2444’ นี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมันนำเสนอ ‘เสียง’ ของผู้ถูกกดขี่ได้อย่างน่าสนใจที่สุด สำหรับในเรื่องสั้นอื่นๆ ที่รวบรวมอยู่ในเล่มนี้ก็มีเทคนิคและวิธีการที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือการนำเสนอเสียงของคนชายขอบ เสียงของคนระดับล่างของสังคม เสียงของผู้ถูกกดขี่ในโลกสมัยใหม่ที่เราท่านอาจไม่เคยได้ยิน หรือไม่อาจจะได้ยิน หรือไม่เคยจะสนใจ เสียงของผู้หญิงที่ติดค้างอยู่ในความฝันของผู้ชาย มาเล่าเรื่องของตนเองอย่างอื้ออึงในความเงียบงัน  นอกจากนี้เราจะได้เห็นกลวิธีที่นำเสียงของคนกลุ่มต่างๆ มาเล่าเรื่องของตนเองโดยที่ไม่ได้แยกแยะว่าเรื่องที่กำลังเล่าอยู่นั้นเป็นเรื่องของใคร เป็นเสียงของใคร เพราะต่างคนก็มุ่งจะเล่าเรื่องของตนเอง เสียงต่างๆ จึงไม่ได้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยดังเช่นขนบของวรรณกรรมสมัยใหม่ที่ต้องการความชัดเจนของการเล่าเรื่อง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สุ้มเสียงที่สะเปะสะปะเหล่านั้นต่างก็เป็นน้ำเสียงที่ร่วมชะตากรรมของผู้ถูกกดขี่ด้วยกันทั้งสิ้น

ส่งท้าย

พุทธศักราช 2444 เป็นปีที่สำคัญปีหนึ่งสำหรับชาวลาวทั้งฝั่งซ้ายและขวา เพราะเป็นปีที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความโหดเหี้ยมอำมหิตของ ‘ชนชั้นนำสยาม’ จากการปราบปรามผู้นำในการต่อต้านการกดขี่ขูดรีดของ ‘รัฐสยาม’ นั่นคือกรณีเหตุการณ์การปราบกบฏผีบ้าผีบุญ นักสู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏเหล่านั้นถูกจองจำ ฆ่าตาย ตัดหัวเสียบประจานอยู่กลางทุ่งศรีเมือง

เมื่อผู้ชนะคือผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์เสมอ การปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมป่าเถื่อนนี้ถูกอธิบายว่าเป็นการปราบปราม ‘กบฏ’ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในนามของการ ‘รักษาความสงบ’ ในประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ กบฏคือผู้ร้าย ส่วนผู้ปราบปรามคือพระเอก และในฐานะที่ลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นภูมิภาคที่มีจำนวน ‘กบฏ’ โดยเฉพาะ ‘กบฏผู้มีบุญ’ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย พวกเขา – คนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง – จึงถูกมองอย่างเหยียดหยามอยู่เสมอมา ไม่ว่าจะในฐานะของคนที่ห่างไกลความเจริญ คนบ้านนอกและเป็นพวกกบฏ และก็เป็นพวกเขาเสมอไปที่มักจะถูกดูแคลนจากชนชั้นนำชนชั้นปกครองของ ‘กรุงเทพกรุงไทย’ ตลอดประวัติศาสตร์สังคมไทยสมัยใหม่ นอกจากนี้ ในการต่อสู้อันเข้มข้นระหว่างชนชั้นนำสยามกับ ‘คนอื่น’ โดยเฉพาะคนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงในปัจจุบันนั้นนั้นยังคงเขม็งเกลียวอยู่ไม่ขาดหาย ความพยายามในการต่อสู้ของพวกเขาตั้งแต่อดีตก็ยังถูกบันทึกเอาไว้ในฐานะที่เป็นขบวนการหลอกลวงในคราบของวีรบุรุษจอมปลอม

เพื่อนนักเขียนชาวลาวฝั่งขวาหลายท่านที่เคยสนทนากับผมมักบอกกับผมด้วยน้ำเสียงที่สิ้นหวังว่า ‘คนกรุงเทพกรุงไทยนั้นใจร้าย’ , ‘ชนชั้นนำสยามใจร้าย’ ซึ่งผมก็ว่าจริง เพราะไม่รู้กี่ศพต่อกี่ศพที่พวกเขาฆ่าและเสียบประจานผ่านถ้อยคำ ผ่านประวัติศาสตร์ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในนามของการรักษาความสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระราชอาณาจักรไทยอันยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่เกรียงไกรไม่มีใครเกิน…

“ให้ข้อยเว่าแหน่เถาะ…”


[1] รายละเอียดโปรดูต่อใน https://www.silpa-mag.com/history/article_8986  และงานวิจัยของสุวิทย์ ธีรศาสวัต ใน สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ. รายงานการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ลุ่มแม่น้ำชี ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2525. (กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2528), น. 242-243.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save