fbpx

รำลึก 24 ปีหลังยุคระเบียบใหม่ (2): มรดกทางการเมืองจากยุคซูฮาร์โต

อ่านบทความ รำลึก 24 ปีหลังยุคระเบียบใหม่ (1): ย้อนดูเหตุการณ์และปัจจัยที่นำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต

หลังการลาออกของอดีตประธานาธิบดีซูฮารโตในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1998 อินโดนีเซียได้เข้าสู่ ‘ยุคปฏิรูป’ ซึ่งการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน (โดยเฉพาะการเมืองและบทบาทกองทัพ) เป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาชุมนุมขับไล่ซูฮาร์โตเป็นเรือนแสน

การปฏิรูปประเทศหลังยุคระเบียบใหม่

1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับปี 1945 ทั้งหมดสี่ครั้งในช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1999-2002 จากเดิมรัฐธรรมนูญปี 1945 ประกอบไปด้วย 16 หมวด, 37 มาตรา, 65 อนุมาตรา, บทเฉพาะกาล 2 มาตรา และกฎเพิ่มเติม 2 อนุมาตรา หลังการแก้ไขส่งผลให้รัฐธรรมนูญมี 16 หมวด, 37 มาตรา, 194 อนุมาตรา, บทเฉพาะกาล 3 มาตรา และกฎเพิ่มเติม 2 อนุมาตรา ผลของแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้มีการปลดล็อคการห้ามตั้งพรรคการเมือง ขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดีถูกจำกัดไม่เหมือนในยุคระเบียบใหม่ มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ มีการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง และเกิดสิ่งไม่เคยมีมาก่อนคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน

2. ลดอำนาจและบทบาทของกองทัพ

บทบาทหน้าที่สองอย่าง (dwi fungsi) ของกองทัพอินโดนีเซียเป็นฐานอำนาจที่สำคัญของซูฮาร์โต และในช่วงการชุมนุมประท้วงต่อต้านซูฮาร์โต บรรดาผู้ชุมนุมไม่ได้โจมตีซูฮาร์โตคนเดียว หากแต่วิพากษ์บทบาทของกองทัพอย่างรุนแรงและเรียกร้องการปฏิรูปกองทัพ เมื่อซูฮาร์โตสิ้นสุดอำนาจ จึงมีการปฏิรูปกองทัพขนานใหญ่ โดยการปฏิรูปกองทัพดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญคืออินโดนีเซียสามารถส่งทหารกลับเข้ากรมกองได้ ทหารไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้แบบเช่นในยุคระเบียบใหม่ หากทหารจะเล่นการเมืองต้องตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีการแยกการปกครองตำรวจออกมาจากกองทัพ อย่างไรก็ตามกองทัพอินโดนีเซียยังคงมีบทบาทสำคัญในสังคมการเมืองของประเทศอยู่ แต่ไม่ใช่ในรูปแบบเดิม และการปฏิรูปกองทัพนั้นเป็นการปฏิรูปจากข้างในองค์กรเองด้วย

3. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

การบริหารประเทศในยุคระเบียบใหม่เป็นการผูกขาดอำนาจและรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดการขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบทางทรัพยากรในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจจากพื้นที่ต่างๆ หลังการสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ ได้มีการปฏิรูปที่สำคัญคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ท้องถิ่นต่างๆ สามารถเลือกตั้งผู้บริหารทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอได้ รวมถึงการจัดการกับทรัพยากรภายในจังหวัดของตนโดยมีการกำหนดสัดส่วน ไม่ได้ผูกขาดการจัดการโดยส่วนกลางอีกต่อไป ตลอดจนยังมีการส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ เช่น สนับสนุนการเรียนภาษาของท้องถิ่น จากแต่เดิมจะเน้นให้เรียนแต่ภาษาอินโดนีเซียซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ

4. เสรีภาพของสื่อ

สื่อในยุคระเบียบใหม่ถูกปิดกั้น แทรกแซง และเซ็นเซอร์ ซูฮาร์โตใช้การควบคุมสื่อในรักษาอำนาจของตน การควบคุมดำเนินการผ่านการให้ใบอนุญาต สื่อต้องขอใบอนุญาตในการดำเนินกิจการ ซึ่งการเพิกถอนใบอนุญาตถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับสื่อที่นำเสนอข่าวหรือความคิดเห็นไปในทางโจมตีรัฐบาลหรือซูฮาร์โต นอกจากนี้ยังมีการออกฎหมายอื่นๆ เพื่อกำกับการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ หลังยุคระเบียบใหม่สื่อมีเสรีภาพมากขึ้น มีการยกเลิกระบบใบอนุญาตและการควบคุมต่างๆ ลง

5. กำเนิดองค์กรอิสระ

ผลของการปฏิรูปที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการกำเนิดองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการปราบปรามการคอรัปชั่น และคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น องค์กรต่างๆ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมดูแลให้การพัฒนาประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยดี

แม้ว่าจะอินโดนีเซียจะผ่านการปฏิรูปครั้งใหญ่ จนเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศจากรัฐที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมมาเป็นรัฐที่มีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยที่เป็นที่ชื่นชมและจับตามองจากนานาชาติ ชาวอินโดนีเซียได้เลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรง และมีประธานาธิบดีอย่าง โจโก วีโดโด ที่มีพื้นเพมาจากชนชั้นกลางธรรมดาๆ แตกต่างจากผู้นำอินโดนีเซียก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตามมีการทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับความนิยมในตัวประธานาธิบดีอินโดนีเซียโดยสำนัก Lembaga Survei Indo Barometer เมื่อปี 2020 ปรากฏว่าอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตผู้ซึ่งถูกประท้วงต่อต้านจากประชาชนจนต้องลาออกจากตำแหน่งได้รับการโหวตเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 23.8 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจโก วีโดโด 23.4 เปอร์เซ็นต์ อันดับสามคือ ซูการ์โนประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ได้คะแนน 23.3 เปอร์เซ็นต์ อันดับสี่คือ ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo bum Bang Yudhoyono) ได้ 14.4 เปอร์เซ็นต์ อันดับห้า ฮาบีบี (Habibie) ได้ 8.3 เปอร์เซ็นต์ อันดับหก อับดูรเราะฮ์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) ได้ 5.5 เปอร์เซ็นต์ และ เมกาวตี ซูการ์โนปุตรี (Megawati Setiawati Sukarnoputri) ได้ 1.2 เปอร์เซ็นต์[1]

ก่อนหน้านั้นสองปี เมื่อค.ศ. 2018 ผลของการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,200 คน โดยสำนัก Lembaga Survei Indo Barometer เช่นกัน ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 32.9 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าซูฮาร์โตเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการนำประเทศ รองลงมา 21.3 เปอร์เซ็นต์เลือกซูการ์โน ส่วนประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจโกวีได้ 17.8 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามมีผู้ออกมาแย้งว่าผลการสำรวจก็ต้องออกมาเช่นนั้นอยู่แล้ว เนื่องจากว่าซูฮาร์โตอยู่ในตำแหน่งยาวนานก็ย่อมต้องมีการสร้างอะไรมากกว่าผู้นำคนอื่น และการอยู่ในตำแหน่งยาวนานขนาดนั้นก็สามารถควบคุมทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งรัฐบาลหรือผู้นำในยุคปฏิรูปและหลังจากนั้นทำไม่ได้[2]

ซูฮาร์โตถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2008 หลังจากนั้นได้มีการถกเถียงกันในสังคมอินโดนีเซียอย่างดุเดือดเรื่องว่าซูฮาร์โตสมควรได้รับการยกย่องให้เป็น ‘วีรบุรุษแห่งชาติ’ หรือไม่ สำหรับคนที่ชื่นชอบซูฮาร์โตมีความเห็นว่าในยุคสมัยของซูฮาร์โตได้มีพัฒนาอินโดนีเซียในด้านต่างๆ และซูฮาร์โตก็ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘บิดาแห่งการพัฒนา’ สิ่งที่เป็นภาพจำเรื่องการพัฒนาอันถือว่าเป็นความสำเร็จของยุคระเบียบใหม่ เช่น ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงถึงเจ็ดเปอร์เซ็นต์ต่อปี ดาวเทียมปาลาปาที่ทำให้อินโดนีเซียก้าวหน้ามากในยุคนั้น การสร้าง Taman Mini Indonesia Indah เป็นสถานที่จำลองสถานที่สำคัญในประเทศอินโดนีเซียทั้งหมด ตั้งอยู่ที่จาการ์ตาและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอินโดนีเซีย การสร้างมัสยิดทั่วประเทศ และสร้างมัสยิด Istiklal Dzamija ที่บอสเนีย เป็นต้น

ผลการสำรวจความคิดเห็นอาจจะทำให้คนนอกที่ติดตามความเป็นไปของอินโดนีเซียประหลาดใจ แต่ปรากฏการณ์นี้สามารถทำความเข้าใจได้ หากเราพิจารณาพัฒนาการทางสังคมและการเมืองของอินโดนีเซียตั้งแต่การสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่จนถึงปัจจุบัน ภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจตั้งแต่ทศวรรษ 2000 และปรากฏการณ์โลกหันขวาที่บรรดาผู้นำแนวอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้นำในหลายประเทศทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ส่งผลต่อความรู้สึกของคนอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อยให้หวนคิดถึงยุคสมัยของซูฮาร์โต และต้องการผู้นำที่มีลักษณะชาตินิยมสูง มีความเด็ดขาดแบบทหาร จึงสนับสนุนปราโบโว ซูเบียนโตอดีตนายทหารและลูกเขยซูฮาร์โต แต่เสียงสนับสนุนก็ไม่มากพอที่จะทำให้ปราโบโวชนะการเลือกตั้งได้

มรดกจากยุคระเบียบใหม่

แม้ว่ายุคระเบียบใหม่จะสิ้นสุดลงในปี 1998 และอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตเสียชีวิตหลังจากนั้นราวสิบปี แต่มรดกของยุคระเบียบใหม่ที่ตกทอดมายังสังคมอินโดนีเซียยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากปรากฏการณ์คนชื่นชอบซูฮาร์โตแล้ว ยังมีสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นมรดกจากยุคระเบียบใหม่ได้แก่

1. ความเกลียดชังคอมมิวนิสต์

ซูฮาร์โตขึ้นสู่อำนาจด้วยการกล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอยู่เบื้องหลังการพยายามทำรัฐประหารในเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันว่า เหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 หรือเหตุการณ์เกสตาปู ที่มีกลุ่มคนต้องการยึดอำนาจประเทศแต่ขบวนการดังกล่าวล้มเหลว แต่ก็ได้ก่อการอันอุกอาจนั่นคือการลักพาตัวและสังหารนายทหารเจ็ดนาย การกล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอยู่เบื้องหลังขบวนการดังกล่าวนำไปสู่การกวาดล้างสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคอย่างบ้าคลั่ง มีผู้ถูกสังหารในการกวาดล้างที่ดำเนินไปตั้งแต่ปลายปี 1965 จนถึงปี 1966 ราวห้าแสนถึงหนึ่งล้านคน และผู้มีส่วนร่วมในการสังหารมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มองค์กรฝ่ายขวา สมาชิกองค์กรศาสนา และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังเพราะมีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์อีกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์และการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ยังบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน ไม่ได้ถูกยกเลิกหรือแก้ไขในช่วงที่มีการปฏิรูปกฎหมายในช่วงต้นของยุคปฏิรูป

การสร้างให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ของชาติอินโดนีเซีย ส่งผลอย่างมากต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน คนจำนวนมากมีความรู้สึกทั้งเกลียดและกลัวคอมมิวนิสต์ เห็นคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งชั่วร้ายและต้องห้ามในสังคมอินโดนีเซีย มรดกนี้จากยุคระเบียบใหม่เห็นได้ชัดจากท่าทีและปฏิกิริยาของคนกลุ่มต่างๆ ที่จะต่อต้านอย่างหนักหน่วงเมื่อมีการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องหรือพาดพิงกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย นอกจากนี้การกล่าวหาว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์ก็ยังถูกใช้ในการเมืองอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบันทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกแบนมาตั้งแต่ปี 1966 การกล่าวหาว่าโจโก วีโดโดเป็นคอมมิวนิสต์ก็ถูกใช้มาโจมตีทางการเมืองอยู่เสมอ

2. วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง

ตลอดระยะเวลา 32 ปีของยุคระเบียบใหม่ ซูฮาร์โตควบคุมสังคมด้วยการใช้ความรุนแรง ยุคสมัยของซูฮาร์โตก็เริ่มต้นด้วยความรุนแรงจากการสังหารหมู่สมาชิกและผู้สนับสนุน (รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นหรือสนับสนุน) พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยกองทัพเป็นกลุ่มหลักที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล หลังจากยุคระเบียบใหม่เกิดความรุนแรงในหลายพื้นที่จากความขัดแย้งในหลายสาเหตุทั้งความขัดแย้งในด้านศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากปัจจัยปัญหาด้านผลประโยชน์เป็นตัวกระตุ้น ซึ่งความไม่พอใจดำรงอยู่มาตลอด แต่ในยุคระเบียบใหม่กดทับความไม่พอใจดังกล่าวเอาไว้ เมื่อสิ้นยุคระเบียบใหม่ความไม่พอใจก็ปะทุกลายเป็นการใช้ความรุนแรง

3. วัฒนธรรม KKN

KKN ย่อมาจากคำว่า Korupsi (การคอรัปชั่น), Kolusi (การสมรู้ร่วมคิด) และ Nepotisme (การเอื้อพวกพ้อง) เป็นคำที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านซูฮารโตใช้โจมตีซูฮาร์โตและระบอบระเบียบใหม่ที่มีการคอรัปชั่นอย่างมาก มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับครอบครัว มิตรสหาย และเครือข่ายผลประโยชน์ของซูฮาร์โต ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศพังพินาศ อย่างไรก็ตามวัฒนธรรม KKN ได้หยั่งรากลึกในสังคมอินโดนีเซีย ในหน่วยงานราชการหลายแห่งและการทำงานของหลายองค์กรยังคงปรากฏวัฒนธรรม KKN อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในสังคมอินโดนีเซียต่างรับรู้กันดี

4. ภาษาทางการเมือง

ยุคระเบียบใหม่ได้ประดิษฐ์ถ้อยคำเพื่อใช้ในทางการเมืองและยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน หมายความว่าคนอินโดนีเซียยังใช้คำเหล่านี้อยู่ เช่นคำว่า ‘mengamankan’ โดยปกติแล้วคำนี้หมายความว่า ‘รักษาความปลอดภัย’ แต่เป็นที่รับรู้กันว่าคำนี้มีความหมายอื่นในแง่ลบในยุคสมัยของซูฮาร์โต คำนี้หากถูกใช้กับนักศึกษา นักกิจกรรม หรือผู้ต่อต้านซูฮาร์โตว่าถูกนำไป ‘รักษาความปลอดภัย’ ก็จะหมายถึงการควบคาตัว การลักพาตัว และการบังคับสูญหาย อีกคำที่เป็นการประดิษฐ์โดยยุคระเบียบใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งคือคำว่า ‘ยุคระเบียบเก่า’ หรือ Orde Lama ในภาษาอินโดนีเซีย เป็นคำที่ซูฮาร์โตใช้เรียกยุคของซูการ์โนที่เขาไปแย่งอำนาจมา การใช้คำว่า ‘เก่า’ ย่อมหมายถึง สิ่งที่คร่ำครึ โบราณ สมควรได้รับการเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้สอดคล้องกับยุคของตัวเองที่เรียกว่า ‘ยุคระเบียบใหม่’ ในปัจจุบันคนอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อยก็ยังเรียกยุคของซูการ์โนว่ายุคระเบียบเก่า

ระบอบอำนาจนิยมของยุคระเบียบใหม่ที่ดำเนินมากว่าสามทศวรรษได้หยั่งรากลึกในระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชาวอินโดนีเซียที่ถึงแม้ว่ายุคระเบียบใหม่จะล่มสลายไปแล้วถึง 24 ปี แต่มรดกของยุคระเบียบยังปรากฏให้เห็นเด่นชัดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนชื่อว่าอินโดนีเซียจะไม่หวนกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมแบบในยุคระเบียบใหม่อีก เนื่องจากว่าชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศของพวกเขามากที่สุด และการจะมีเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่จะเอื้อให้เกิดการปกครองแบบยุคระเบียบใหม่เป็นไปได้ยากในปัจจุบัน


[1] Muhammad Genantan Saputra, “Survei Indo Barometer: Soeharto Presiden Paling Disukai,” Merdeka.com, https://www.merdeka.com/peristiwa/survei-indo-barometer-soeharto-presiden-paling-disukai.html

[2] Fabian Januarius Kuwado, “Survei Indo Barameter, Soeharto Dinilai sebagai Presiden Paling Berhasil,” Kompas.com, https://nasional.kompas.com/read/2018/05/20/15323601/survei-indo-barometer-soeharto-dinilai-sebagai-presiden-paling-berhasil?page=all

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save