fbpx

รำลึก 24 ปีหลังยุคระเบียบใหม่ (1): ย้อนดูเหตุการณ์และปัจจัยที่นำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 1998 เวลาประมาณ 9.00 น. ประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Suharto) ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีที่ดำรงมาถึงเจ็ดสมัย และถือเป็นการสิ้นสุด 32 ปีของยุคระเบียบใหม่และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคปฏิรูป

ซูฮาร์โตเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของอินโดนีเซีย โดยมีอำนาจทางการเมืองแบบพฤตินัยตั้งแต่ปลายปี 1965 ได้รับการมอบอำนาจในการบริหารประเทศในเดือนมีนาคม 1966 และดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในปี 1967 เมื่อซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่งทำให้รองประธานาธิบดี บาคารุดริด จูซุฟ ฮาบีบี (Bacharuddin Jusuf Habibie) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน

ในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน (Sukarno) หลังการเป็นเอกราช อินโดนีเซียประสบปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ การแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย และความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกับกองทัพในช่วงปลายทศวรรษ 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1960 นำไปสู่โศกนาฏกรรมทางการเมืองในเหตุการณ์ขบวนการวันที่ 30 กันยายน 1965 เกิดการพยายามทำรัฐประหารโดยกลุ่มนายทหารที่มีความใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียแต่ปฏิบัติการนั้นล้มเหลว โดยซูฮาร์โตเป็นผู้นำในการปราบขบวนการดังกล่าว เหตุการณ์นั้นนำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูการ์โนและแทนที่ด้วยประธานาธิบดีซูฮาร์โต และยุคระเบียบใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น

ยุคระเบียบใหม่ภายใต้การนำของซูฮาร์โตเน้นการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการลงทุนและรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ เป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งเป็นนโยบายที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงจากยุคของซูการ์โน ในตอนแรกซูฮาร์โตได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพซึ่งถือเป็นมือขวาของซูฮาร์โต นักธุรกิจ นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้เนื่องมาจากนโยบายการเมืองนำเศรษฐกิจในยุคของซูการ์โนทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังย่อยยับ เงินเฟ้อสูงถึง 700% แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคระเบียบใหม่คือการคอร์รัปชัน เอื้อพวกพ้อง การทุจริตต่างๆ นานา และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซูฮาร์โตบริหารประเทศด้วยการมีกองทัพเป็นเครื่องมือสำคัญ นายทหารได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและสังคม เกิดสโลแกนของทหารที่เรียกว่า ‘ดวีฟุงซี’ (Dwi Fungsi) หรือหน้าที่สองอย่างของทหาร หมายความว่านอกจากทหารจะเป็นรั้วของชาติแล้ว ทหารยังมีหน้าที่ทางด้านสังคมอีกด้วย ในทางปฏิบัติทหารเข้าไปมีบทบาทแทบจะทุกด้านของสังคม ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

ยุคระเบียบใหม่เป็นการปกครองแบบอำนาจนิยมผ่านปฏิบัติการของกองทัพและการออกกฎหมายควบคุมการเมืองและประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน มีการควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ อย่างเข้มข้น  โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา เนื่องจากนักศึกษาเป็นกลุ่มแนวหน้าที่เคลื่อนไหวประท้วงซูฮาร์โตอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็โดนปราบปรามและจำกัดสิทธิในการแสดงออกอย่างมากด้วยเช่นกัน สื่อมวลชนไม่สามารถรายงานข่าวหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อโลกเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น การแข่งขันต่อสู้ทางอุดมการณ์สิ้นสุดลง ยุคระเบียบใหม่มีการปรับตัว มีการพูดถึง ‘การเปิด’ ทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่ได้หมายถึงการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ซูฮาร์โตหรือยุคระเบียบใหม่ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยุคระเบียบใหม่ยังได้หันไปหาคะแนนนิยมจากกลุ่มมุสลิมซึ่งกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางสังคมเพิ่มมากขึ้น ซูฮาร์โตได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อเอาใจชาวมุสลิม เช่น การตั้งองค์กรปัญญาชนมุสลิม, ดำริให้ตั้งธนาคารอิสลาม, เพิ่มบทบาทศาลศาสนาให้มากขึ้น ตลอดจนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย อันที่จริงแล้วในตอนต้นยุคระเบียบใหม่กลุ่มอิสลามเป็นหนึ่งในพันธมิตรกับซูฮาร์โต และเป็นกลุ่มสำคัญที่ช่วยในการกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย แต่หลังจากที่ยุคระเบียบใหม่ได้สถาปนาอำนาจอย่างมั่นคงก็เริ่มหันมาควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มอิสลามด้วย

อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน รอเพียงวันปะทุได้ถูกกระตุ้นด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 6 ของยุคระเบียบใหม่ซึ่งซูฮาร์โตยังชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น สวนทางกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อนหน้านี้ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้กระแสความไม่พอใจในตัวซูฮาร์โตและพรรคพวกโดยเฉพาะกองทัพพุ่งสูงขึ้น การชุมนุมเดินขบวนของนักศึกษาก็ยกระดับขึ้น จุดเปลี่ยนที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงจนกลายเป็นการจลาจลคือเหตุการณ์ในวันที่ 12 พฤษภาคม 1998 ที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ตรีศักติ (Trisakti) คือเหตุการณ์ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติกำลังจะเดินขบวนไปที่อาคารรัฐสภา แต่โดนสกัดโดยเจ้าหน้าที่ หลังจากการเจรจาไม่เป็นผล นักศึกษาจึงตัดสินใจเดินทางกลับมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอาคารรัฐสภา ในขณะที่นักศึกษากำลังเดินทางกลับนั้นได้มีกลุ่มบุคคลยิงปืนเข้าไปใส่กลุ่มนักศึกษา ทำให้มีนักศึกษาเสียชีวิตทันทีสี่คน เหตุการณ์นี้ถูกนำเสนอข่าวรายงานอย่างละเอียดทั้งในประเทศอินโดนีเซียและในต่างประเทศ ความโกรธแค้นของประชาชนต่อรัฐบาลและกองทัพยิ่งเพิ่มสูงขึ้น หลังจากนั้นช่วงวันที่ 13-15 พฤษภาคม เกิดการจลาจลในกรุงจาการ์ตาและเมืองใหญ่ๆ เช่น สุราบายา มีการปล้นสะดม เผาอาคารบ้านเรือน เผารถยนต์ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนและสังหารชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการที่ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนตกเป็นแพะรับบาปจากวิกฤตเศรษฐกิจ ความเกลียดชังชาวจีนที่สั่งสมและปลูกฝังมาตั้งแต่ต้นยุคระเบียบใหม่นำไปสู่โศกนาฏกรรมนี้ ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากช่วงการจลาจลนี้ราวพันคน บาดเจ็บนับร้อยคน และอาคารบ้านเรือถูกเผาเป็นพันหลัง

หลังจากนั้นในวันที่ 18 พฤษภาคม นักศึกษาจำนวนเป็นหมื่นคนได้ไปยึดอาคารรัฐสภาเรียกร้องและกดดันให้ประธานาธิบดีซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่ง ในการประท้วงที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 1997 และถึงจุดสูงสุดในเดือนพฤษภาคมปี 1998 นักศึกษาเรียกร้องการล้มล้างอำนาจซูฮาร์โต การยกเลิกบทบาทหน้าที่สองอย่างของกองทัพ และล้มล้างระบอบระเบียบใหม่ นอกจากนั้นนักศึกษายังเรียกร้อง ‘การปฏิรูป’ ในทุกภาคส่วนของประเทศ และได้วิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐมนตรีของซูฮาร์โตที่เป็นผลจากการเลือกตั้งในปี 1997 ว่าเป็นคณะรัฐมนตรีที่ไม่โปร่งใส มีแต่เครือข่ายพวกพ้องและญาติมิตรของซูฮาร์โต

ท่ามกลางวิกฤตการณ์และการประท้วงอย่างหนักจากนักศึกษาและประชาชน ซูฮาร์โตได้พยายามแก้ไขสถานการณ์โดยการปรับคณะรัฐมนตรีและจะเปลี่ยนชื่อจาก ‘คณะรัฐมนตรีเพื่อการพัฒนา’ เป็น ‘คณะรัฐมนตรีเพื่อการปฏิรูป’ แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น จนวันที่ 20 พฤษภาคม บรรดาคณะรัฐมนตรีได้ประกาศไม่รับตำแหน่ง ในคืนวันนั้นซูฮาร์โตได้เรียกที่ปรึกษาและผู้นำกองทัพเข้าปรึกษาหารือ และในที่สุดเช้าวันรุ่งขึ้นซูฮาร์โตได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ปัจจัยที่นำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดีซูฮาร์โต

ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่มองว่าปัจจัยหลักที่นำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของซูฮาร์โตคือวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เขียนไม่ปฏิเสธ แต่อยากเสนอว่าวิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นำไปสู่การลาออกของซูฮาร์โต หากแต่มีปัจจัยอื่นๆ ด้วย ซึ่งหากไม่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่แน่ว่าซูฮาร์โตจะยังคงอยู่ในอำนาจได้ต่อหรือไม่ ทั้งนี้ในช่วงต้นของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินยังประเมินว่าอินโดนีเซียจะสามารถแก้ไขปัญหาและผ่านวิกฤตไปได้ วันที่ 9 พฤษภาคม 1998 ประธานาธิบดีซูฮาร์โตยังคงเดินทางไปร่วมประชุมเรื่องเศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ราวกับว่าวิกฤตในประเทศยังไม่หนักหน่วงมากนัก

1. วิกฤตเศรษฐกิจ

วิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มในประเทศไทยในปี 1997 และได้ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อินโดนีเซียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากจากวิกฤตต้มยำกุ้ง อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินรูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 2,000 รูเปียห์ต่อ 1 ดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน 1997 เป็น 16,000 รูเปียห์ต่อ 1 ดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน 1998 อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4.68 ล้านคนในปี 1997 เป็น 5.46 ล้านคนในปี 1998 ระบบเศรษฐกิจของประเทศพังทลาย ธนาคารและธุรกิจล้มละลายจำนวนมาก ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นมาก มีการกักตุนสินค้า ประชาชนอินโดนีเซียโดยเฉพาะชนชั้นล่างเดือดร้อนอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลอินโดนีเซียต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และยอมรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่วิกฤตเศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้นจนนำไปสู่ความรู้สึกต่อต้านการบริหารประเทศของซูฮาร์โตและลุกลามเป็นเรียกร้องให้ซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่ง

2. บทบาทขบวนการนักศึกษา

ขบวนการนักศึกษามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นหัวหอกประท้วงประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งส่งผลให้ซูฮาร์โตลาออกในเวลาต่อมา การชุมนุมและเดินขบวนประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีซูฮาร์โตดำเนินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ใน 1997 จนถึงปี 1998 การประท้วงดำเนินไปถึงจุดสูงสุดเมื่อนักศึกษาไปยึดอาคารรัฐสภาได้สำเร็จจนซูฮาร์โตประกาศลาออกจากตำแหน่งในที่สุด อย่างไรก็ตามในช่วงปี 1997-1998 นั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่นักศึกษามีบทบาททางการเมือง นักศึกษาอินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศอินโดนีเซียมาโดยตลอด อันที่จริงแล้วขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซียเคยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สนับสนุนซูฮาร์โตขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เมื่อเริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากลของซูฮาร์โตในการบริหารประเทศ นักศึกษาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มแสดงปฏิกิริยาและตั้งคำถามต่อการพยายามสืบทอดอำนาจของซูฮาร์โตตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกของยุคระเบียบใหม่ในปี 1971

หลังจากนั้นนักศึกษาก็ประท้วงยุคระเบียบใหม่มาโดยตลอด โดยที่เห็นเด่นชัดคือในช่วงการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ซึ่งผลของการประท้วงทำให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและออกกฎหมายควบคุมองค์กรนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นคือการห้ามนักศึกษาเดินขบวนหรือชุมนุมนอกมหาวิทยาลัย กล่าวคือมีการชุมนุมได้แต่ต้องอยู่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ในการประท้วงในปี 1997-1998 ขบวนการนักศึกษาได้ท้าทายข้อห้ามนี้ มีความพยายามเดินขบวนประท้วงนอกมหาวิทยาลัย ครั้งที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมก็คือที่มหาวิทยาลัยตรีศักติดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ขบวนการนักศึกษาในช่วงปี 1997-1998 มีการประสานงานกันอย่างดีมาก การนัดชุมนุมประท้วงกระทำผ่านการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (sms) ทำให้การประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และเป็นการรวมพลังร่วมกันขับไล่ซูฮาร์โตที่มีคนเข้าร่วมด้วยจำนวนหลายแสนไปจนถึงล้านคน หลังจากยุคระเบียบใหม่ก็ไม่มีการรวมตัวกันของนักศึกษาที่จะมากเท่านี้ได้อีกเลย กลุ่มนักศึกษายังได้มีการออกหนังสือพิมพ์ของนักศึกษาเพื่อรายงานข่าวการประท้วงและข่าวอื่นๆ ที่ไม่ถูกนำเสนอในสื่อหลักอีกด้วย

3. ท่าทีของนานาชาติ

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาของยุคระเบียบใหม่ ตั้งแต่การกวาดล้างขบวนการคอมมิวนิสต์ การปราบปรามขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นติมอร์ตะวันออก (ชื่อในขณะนั้น), ปาปัว หรืออาเจะห์ ตลอดจนการบังคับสูญหายผู้นำนักศึกษาและประชาชน แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาทำเหมือนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมดูเหมือนท่าทีสนับสนุนซูฮาร์โตของประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรดูไม่ค่อยหนักแน่นเช่นเดิม การนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของนักศึกษาตรีศักติและเหตุการณ์การจลาจล การทำร้ายกลุ่มชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่ถ่ายทอดไปทั่วโลกสร้างความเสียหายและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก หลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซียและสหรัฐอเมริกาประณามอินโดนีเซียในเหตุการณ์ดังกล่าวและพร้อมให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกทำร้ายในการจลาจล

4. ท่าทีของทหารและคณะรัฐมนตรี

แม้ว่าอย่างเป็นทางการผู้นำกองทัพออกมาพูดสนับสนุนซูฮาร์โตและยืนยันว่าควรแก้ปัญหาด้วยการปรึกษาหารือกัน ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วง เพราะว่ากองทัพเองก็เป็นเป้าหมายหลักหนึ่งของการประท้วงของนักศึกษาและประชาชนเช่นกัน แต่การที่ทหารยอมปล่อยให้นักศึกษาไปยึดอาคารรัฐสภาได้แสดงให้เห็นว่าทหารเองก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะว่าหากทหารจะยับยั้งนักศึกษาจริงๆ ก็ย่อมทำได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือท่าทีและการประกาศลาออกไม่รับตำแหน่งของบรรดาคณะรัฐมนตรีทั้ง 14 คนซึ่งใน 14 คนนี้มี ซีตี ฮาดียันตี รุกมานา (Siti Hadiyanti Rukmana) บุตรสาวและ บ๊อบ ฮาซัน (Bob Hasan) เพื่อนสนิทของซูฮาร์โตด้วย

ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ในที่สุดซูฮาร์โตก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่แม้ว่ายุคระเบียบใหม่จะล่มสลายไปแล้วถึง 24 ปีและประเทศอินโดนีเซียได้เข้าสู่การปฏิรูปในทุกภาคส่วน มีการพัฒนาประชาธิปไตยที่ได้รับการยกย่องชื่นชม แต่ทว่ามีมรดกหลายอย่างจากยุคระเบียบใหม่ที่ยังคงส่งผลต่อสังคมการเมืองอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบัน การสำรวจความนิยมในตัวผู้นำอินโดนีเซีย ปรากฏว่าซูฮาร์โตได้คะแนนนำประธานาธิบดีทุกคน ทั้งซูการ์โน ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono -อดีตประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน) และแม้กระทั่ง โจโก วีโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ปรากฏการณ์เหล่านี้บอกอะไรแก่เรา ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปในตอนหน้า

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save