fbpx
บ้านคับกับเมืองแคบ ทางออกของคนเมืองศตวรรษ 21

บ้านคับกับเมืองแคบ ทางออกของคนเมืองศตวรรษ 21

ถ้าคุณเป็นแฟนรายการแต่งบ้านประเภท DIY ลองสังเกตให้ดี จะพบว่ารายการประเภทแต่ง ‘บ้านเล็ก’ ให้สวย เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น

 

คำว่า ‘บ้านเล็ก’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงอพาร์ทเม้นท์ ขนาด 40 ตารางเมตรอะไรแบบนั้นนะครับ บ้านเล็กในที่นี้ คือ ‘บ้านคับ’ (Tiny House) เลยล่ะ หมายถึงบ้านที่มีขนาดไม่กี่ตารางวา หรือไม่ก็เป็นแบบรถบ้านที่ต่อพ่วงกับรถไปไหนต่อไหน

ส่วนหนึ่งเดาได้ว่ามาจากราคาของที่ดินและที่พักอาศัยในเมืองใหญ่ๆ นั้นบ้าดีเดือดจริงๆ เอาแค่ไม่ใกล้ไม่ไกล ผมเคยถามเพื่อนที่ไทเป ราคาอพาร์ทเม้นท์ขนาด 1 ห้องนอนในกรุงไทเปใกล้รถไฟฟ้าขนาด 35 ตารางเมตร อาจสูงถึง 10 ล้านบาทได้เลย

แล้วนี่คือไทเปนะครับ ไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์ นิวยอร์ก ปารีส หรือลอนดอน ราคาค่าเช่าบ้านหากจะเอาในย่านกลางใจเมือง เดินทางสะดวกหน่อยก็แพงแบบเกิดแล้วตายแล้วเกิดใหม่ก็อาจยังจ่ายไม่ไหว ดังนั้น รายการแต่งบ้านแบบคับๆ จึงกลายเป็นกระแสที่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์นำมาเป็นจุดขายเรื่องไอเดียในการอยู่อาศัยของคนเมืองยุคนี้

สังคมและวัฒนธรรมปรับเปลี่ยนตามผู้สร้างมันเสมอ ขณะเดียวกัน ผู้สร้างสังคมและวัฒนธรรมก็เป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน กระแสแบบ ‘บ้านคับในเมืองแคบ’ เมื่อดูตามเหตุปัจจัยของมัน ก็สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปนะครับ ตัวอย่างเช่น เรามีแนวโน้มจะมีครอบครัวที่เล็กลงเรื่อยๆ แต่งงานช้าลง ไม่ก็เป็นโสดไปเลย ที่ดินแพงขึ้นเพราะคนต้องการมากขึ้น ฉะนั้นเราอาจต้องลดการสะสมของต่างๆ ลง เพราะทุกอย่างต้องถูกคิดภาษีหมด (หรือในบางเมืองการเช่าโกดังเก็บของอาจถูกกว่าการหาที่เก็บไว้ที่บ้านด้วย)

ที่สำคัญ เมื่อเราสามารถฝากชีวิตเราไว้บนคลาวด์บนอินเทอร์เน็ตได้ อะไรที่เคยต้องเก็บไว้บนชั้นหนังสือ หรือในกล่องก็อาจไม่จำเป็น เอาเงินไปเช่าคลาวด์อาจจะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ถูกรังสรรค์อย่างสวยงามในรายการตามช่อง HGTV หรือใน Discovery กับการอยู่ใน ‘บ้านคับ’ อีกแบบหนึ่ง อาจไม่ได้เกิดจากปัญหาที่ว่ามา แต่อีกส่วนหนึ่ง เทรนด์ ‘บ้านคับ’ อาจเป็นของเล่นของคนมีเงินก็ได้ เหมือนคนที่อยากได้รถคันที่สองเป็นออสติน มินิ เอาไว้ขับเล่นๆ ไปกินข้าวบ่ายวันอาทิตย์ก็มีเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ‘บ้านคับ’ ที่ผมว่าน่าสนใจที่สุด อาจเป็นเทรนด์ที่เกิดในซีแอทเทิล เพราะ ‘บ้านคับ’ เหล่านี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาของเมืองอย่างได้ผล

หลายคนอาจนึกภาพว่าซีแอตเทิลเป็นเมืองของการล่องเรือ เป็นบ้านของสตาร์บัคส์ อะเมซอน และไมโครซอฟท์ แต่ในอีกซีก-ซีแอตเทิลก็เป็นเมืองที่มีปัญหาเรื่องคนไร้บ้านมากสุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาด้วย เดือนที่แล้วหนังสือพิมพ์ซีแอตเทิลไทม์ถึงกับทำรายพิเศษเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตคนไร้บ้านในซีแอตเทิล กลายเป็นว่า เมืองสวยแห่งนี้กำลังต้องการความคิดเร่งด่วนมาช่วยในการแก้ปัญหาและเปลี่ยนแปลงเมือง

ตอนนี้ ซีแอตเทิลมีโครงการบ้านหลังเล็กๆ สำหรับคนไร้บ้าน โดยองค์กรที่ชื่อว่า Low Income Housing Insitute (LIHI) เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ โดยเริ่มจากปัญหาที่เจอ คือคนไร้บ้านหลายคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น มีคนป่วย คนสูงอายุ และในฤดูหนาวเต้นท์ที่กางอยู่ตามสวนสาธารณะที่เอาไว้เป็นที่พักอาศัย ก็ไม่สามารถป้องกันความหนาวได้ดีพอ

คนไร้บ้านในซีแอตเทิล ไม่ใช่เป็นคนที่ไม่มีงานทำนะครับ หลายคนมีงานทำ แต่ไม่มีเงินพอที่จะเช่าอพาร์ทเม้นอยู่เพราะแพงเหลือเกิน LIHI จึงเริ่มทำโครงการจัดหาพื้นที่เปล่าจากเจ้าของที่ดินที่ยินดีจะให้เช่าในราคาถูก หรือเอาที่ดินเปล่าของเมืองมาจัดสรร บริหารจัดการด้วยการสร้างชุมชนคนไร้บ้าน โดยสร้างเป็นบ้านขนาดเล็กหลายๆ หลัง ขนาดหลังหนึ่งก็ประมาณ 10-15 ตารางเมตร มีครัวกลางแจ้ง ห้องน้ำและพื้นที่ส่วนกลางที่เอาไว้ใช้ร่วมกัน มีรั้วรอบขอบชิด แต่ละชุมชนจะมีบ้านแบบนี้อยู่ราว 14-20 หลัง แล้วแต่ขนาดของที่ดิน โดยตัวบ้านสร้างจากเงินบริจาค ส่วนแรงงานก็เป็นอาสาสมัครจากนักศึกษาหรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการมาช่วย

พอชุมชนได้เลขที่หมู่บ้าน (เพื่อรับจดหมาย) ได้น้ำ ได้ไฟ ก็ประกาศให้เช่าในราคาไม่กี่สิบเหรียญต่อเดือน โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องช่วยกันดูแลรักษาชุมชนไปด้วย ตอนนี้โครงการนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นโมเดลที่กำลังไปได้สวย โดยมีแผนการที่จะหาพื้นที่และขยายโครงการนี้ออกไปเพื่อรองรับคนไร้บ้านในซีแอตเทิลที่มีมากกว่า 2,000 คน

นอกเหนือจากชุมชนบ้านคับเหล่านี้แล้ว ผมเพิ่งได้ข่าวว่าทางอะเมซอนจะสร้างอาคาร 6 ชั้นในบริเวณโครงการ สร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ เพื่อให้เป็นอพาร์ทเม้นท์สำหรับคนไร้บ้านด้วยนะครับ โดยอาคารดังกล่าวกินพื้นที่กว่า 47,000 ตารางฟุต มีห้องพักเพียงพอสำหรับ 65 ครอบครัว แม้มูลค่าการลงทุนนั้นจะไม่น้อย (แต่ก็ไม่น่ามากสำหรับอะเมซอน) แต่มูลค่าทางใจนั้นไม่ต้องพูดถึง อีกทั้งงานนี้ต้องบอกว่า – อะเมซอนได้ใจชุมชนไปเต็มๆ อีกต่างหาก

 

เทรนด์บ้านคับในเมืองแคบนี่ – บอกอะไรต่อมิอะไรถึงความคับแคบและความกว้างขวางของวิสัยทัศน์ได้ไม่น้อยเลยนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save