fbpx

2070: การเดิมพันด้วยชีวิตของอินเดีย

ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประชุม COP26 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยมีผู้นำชาติต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม ตลอดจนบรรดาผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ยังมีบรรดากลุ่มภาคประชาสังคมและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การประชุมในรอบนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อสร้างฉันทามติร่วมกันในการผลักดันการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน และป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียถือเป็นอีกหนึ่งผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และนำเสนอเป้าหมายด้านคาร์บอนของอินเดีย โดยย้ำอย่างชัดเจนว่าภายในปี 2070 อินเดียต้องมีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อประชาคมระหว่างประเทศ เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายนี้จึงเป็นสัญญาณบวกอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

น่าสนใจว่าก่อนหน้าการประชุม อินเดียเลือกที่จะไม่กำหนดเป้าหมายการลดคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์มาโดยตลอด จึงเกิดคำถามว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้นายกรัฐมนตรีอินเดียตัดสินใจประกาศเป้าหมายปี 2070 และความพยายามของอินเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลอย่างไรกับโลกบ้าง

ไม่มีใครทำร้ายเรา เท่าตัวของเราเอง

บางคนอาจกล่าวว่า การที่อินเดียตัดสินใจประกาศเป้าหมายดังกล่าวบนเวที COP26 รอบนี้ เป็นผลมาจากแรงกดดันของประชาคมระหว่างประเทศ แต่นั่นอาจเป็นเพียงคำตอบหนึ่งเท่านั้น เพราะหากหันไปมองอินเดียอย่างจริงจัง จะพบว่าคนอินเดียจำนวนมากกำลังมีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงที่สูงมาก และไม่ใช่ความเสี่ยงที่มาจากอุบัติเหตุ แต่เกิดขึ้นเพราะเพียงแค่พวกเขาเหล่านั้นหายใจรับอากาศเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น

หลายๆ ท่านคงเคยได้เห็นข่าวเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศของอินเดียผ่านตากันมาบ้าง โดยเฉพาะในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานี้ สถานการณ์คุณภาพอากาศของอินเดียย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กรุงเทพมหานครเคยเจอค่าฝุ่นละอองย่ำแย่ที่สุดประมาณ 200 -300 AQI[1] แต่สำหรับอินเดีย ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในประเทศช่วงที่ร้ายแรงที่สุดนั้นพุ่งสูงเกินกว่า 500 AQI และในบางพื้นที่อาจแตะไปถึงระดับ 800 AQI ด้วยซ้ำ

รูป 1 สถานการณ์คุณภาพอากาศของเขต Dwarka ของกรุงนิวเดลี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา
ที่มา: https://aqicn.org/city/delhi/

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียพึ่งประกาศปิดการเรียนการสอน หากอ่านข่าวผ่านๆ หลายท่านอาจคิดว่าเป็นเหตุมาจากการระบาดซ้ำของโควิด-19 แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย การปิดโรงเรียนในรอบนี้เกิดขึ้นจากปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงอย่างมากหลังเทศกาลดิวาลี ถึงขนาดที่มลพิษเป็นภัยต่อสุขภาวะของเด็กๆ ในการใช้ชีวิตภายนอกเคหะสถาน

มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ไม่ได้ทำลายเพียงระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังสามารถแทรกซึมเข้าไปถึงระดับการไหลเวียนเลือดของได้อีกด้วย เหตุเช่นนี้ส่งผลให้ในระยะยาวแล้ว ผู้คนที่อาศัยในเขตที่มีมลพิษมากๆ จะต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพเรื้อรัง งานศึกษาวิจัยบางชิ้นชี้ว่าเด็กๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2020 อาจต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้ายกว่าคนรุ่นปู่ย่ามากถึง 7 เท่าตัว

นอกจากมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการปลดปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรมคุณภาพต่ำ การใช้ยานพาหนะ ตลอดจนการเผาวัชพืชที่นับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนคร่าชีวิตคนอินเดียปีละหลักล้านคนแล้ว อินเดียยังเผชิญกับปัญหามลพิษทางน้ำอีกด้วย เมื่อเร็วๆ นี้มีการเฉลิมฉลองพิธีศักดิ์สิทธิ์ของคนอินเดียที่ต้องลงไปอาบน้ำในแม่น้ำยมุนา ซึ่งภาพที่ปรากฏคือแม่น้ำที่เต็มไปด้วยโฟมสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง

ปัญหามลพิษทางน้ำส่งผลอย่างมากต่อระบบนิเวศน์โดยรวมของประเทศอินเดีย โดยเฉพาะคนอินเดียที่ต้องพึ่งพาการทำประมง ยังไม่นับรวมว่าคนอินเดียจำนวนมากยังคงพึ่งพาแม่น้ำตามธรรมชาติเพื่อกินดื่มและใช้สอย ความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำในหลายพื้นที่โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่กำลังทำลายวิถีชีวิตของคนอินเดียดั่งเดิมอย่างมาก และกลายเป็นต้นทุนราคาสูงมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้การเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น

ด้วยปัญหามลพิษทั้งทางอากาศและทางน้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากนี้เอง คนอินเดียจำนวนมากในเวลานี้จึงเปรียบเสมือนใช้ชีวิตอยู่บนเส้นด้ายและอาจเผชิญปัญหาสุขภาพในยามแก่เฒ่า ที่แย่กว่านั้นคือหากช่วงใดมลพิษทางอากาศมากถึงระดับวิกฤต คนอินเดียก็ไม่ต่างจากผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน และแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้นอกจากจะทำลายสุขภาพแล้ว ยังทำลายอนาคตของอินเดียอีกด้วย เพราะคงไม่มีประเทศใดบนโลกที่จะพัฒนาไปได้ในสภาพที่ประชากรทุกช่วงวัยเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพ

รูป 2 หมอกยามบ่ายเหนือ Safdarjang’s Tomb ในกรุงนิวเดลี ซึ่งไม่ใช่หมอกธรรมชาติแต่เป็นหมอกมลพิษ
ที่มา: ผู้เขียน (ถ่ายเมื่อปี 2018)

ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของอินเดีย

นอกจากปัญหามลพิษที่กดดันรัฐบาลอินเดียอย่างหนักให้หันมาจริงจังกับการแสวงหาแนวทางการแก้ไขแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยส่งเสริมที่มีส่วนช่วยให้รัฐบาลอินเดียต้องประกาศเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2070 คือกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศอินเดีย ตัวแสดงนี้ถือเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียที่มีความสำคัญอย่างมากในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ทั้งนี้อิทธิพลของขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้นั้นมีประวัติมาอย่างยาวนาน สามารถย้อนไปได้ไกลจนถึงช่วงที่มหาตมะ คานธียังมีชีวิตอยู่

แต่ขบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีอิทธิพลอย่างมากในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมหลังอินเดียได้รับเอกราช คงหนีไม่พ้นขบวนการ Chipko ซึ่งถือเป็นหนึ่งในขบวนการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนา กลุ่มขบวนการนี้เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 จากการรวมพลังกันของบรรดาชาวบ้านและสตรีในเขตชนบทของรัฐอุตตรขัณฑ์ (ในเวลานั้นยังเป็นรัฐอุตตรประเทศอยู่) ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมากจากการเปิดให้ทำสัปทานป่าไม้

Chipko เลือกใช้แนวทางสันติวิธี มุ่งเน้นประท้วงบนพื้นฐานของหลังอหิงสาของคานธี และที่ทำให้ขบวนการนี้ได้รับการพูดถึงไปทั่วโลกคือ ‘กลยุทธ์โอบกอดต้นไม้’ ของ Chipko ที่อาศัยร่างกายของตนเองเป็นเกาะกำบังให้บรรดาต้นไม้ใหญ่ที่จะถูกโค่นจากธุรกิจค้าไม้ ภาพบรรดาหญิงสาวโอบกอดต้นไม้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านการพัฒนาที่ละเลยสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ Chipko ประสบความสำเร็จอย่างมากจากแนวทางนี้

ความสำเร็จของ Chipko จุดประกายให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ การให้สัมปทานค้าไม้ที่ปราศจากความเห็นชอบจากชุมชน และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ได้รับความใส่ใจมากยิ่งขึ้นตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ฉะนั้นขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อท้าทายต่อแนวทางการพัฒนาของรัฐบาลที่ปราศจากความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในอินเดียจึงค่อนข้างมีความเข้มแข็งจากพื้นฐานด้านประวัติศาสตร์ตลอดช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อผนวกกับความร้ายแรงของมลพิษในอินเดียที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา รัฐบาลอินเดียมีความพยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และล่าสุดก็คือการประกาศเป้าหมายดังกล่าว

2070 เส้นทางที่ยาวไกลกับสิ่งที่อินเดียกำลังทำ

แน่นอนว่าหลายท่านอาจสงสัยว่า เป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของอินเดียปี 2070 นั้นจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด อาจต้องย้อนไปดูว่าก่อนหน้านั้นว่าอินเดียทำอะไรมาแล้วบ้าง ซึ่งก็ต้องบอกว่า อินเดียได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากกับโลกของเราไม่แตกต่างไปจากจีนในเรื่องการลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะการลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้น้อยลง และหันมาลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น

ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญอย่างมากกับการผลักดันการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ใช้นโยบายนี้ในการส่งเสริมการเข้าถึงไฟฟ้าของชาวบ้านในเขตนอกโครงข่ายระบบไฟฟ้าของรัฐบาล พลังงานหมุนเวียนสำหรับอินเดียจึงสร้างประโยชน์ได้ถึงสองต่อผ่านการผลักดันเพียงนโยบายเดียว

การลงทุนครั้งมหาศาล โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโลกลดลงอย่างรวดเร็ว และที่อินเดียประสบความสำเร็จอย่างมากคือการทำให้ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต่อหน่วยถูกลงมาอย่างมาก ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปี 2017 ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของอินเดียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 370 ทีเดียว

นอกจากนี้ อินเดียยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในภาคพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนจากเดิมที่มักถูกผูกขาดอยู่กับรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก นโยบายการปฏิรูปภาคพลังงานดังกล่าวช่วยเร่งให้การกระจายพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังมีแผนยกระดับระบบรถไฟของประเทศเพื่อให้มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงภายในประเทศ เนื่องจากระบบรถไฟของอินเดียมีโครงข่ายใหญ่โตเป็นอันดับ 2 ของโลก หากมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง ก็จะช่วยให้อินเดียลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมาก

ฉะนั้นความพยายามตลอดหลายปีที่ผ่านมาของอินเดีย ถือเป็นเค้าลางดีสำหรับส่งเสริมเป้าหมายล่าสุดของประเทศที่ต้องการให้ประเทศมีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ แน่นอนว่านับจากวันนี้จนถึงปี 2070 นั้น ยังเป็นเวลาอีกยาวไกลในการบรรลุเป้าหมาย แต่ทุกๆ ปีที่อินเดียล่าช้าไม่ได้หมายถึงตัวเลขที่พลาดเป้าเท่านั้น แต่มันหมายถึงการเดิมพันด้วยชีวิตคนอินเดียที่กำลังเผชิญปัญหามลพิษที่กัดกินสุขภาพอย่างต่อเนื่องทุกวันๆ จนกลายเป็นระเบิดเวลาด้านสุขภาพ ยิ่งอินเดียล่าช้าในการแก้ปัญหานี้มากเท่าไหร่ มันก็หมายถึงหายนะของอินเดียเอง


[1] AQI = Air Quality Index เป็นการวัดดัชนีคุณภาพอากาศ โดยระดับ 0-50 หมายถึงคุณภาพอากาศดี 51-100 หมายถึงคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง 101-150 หมายถึงคุณภาพอากาศไม่ดีต่อกลุ่มเสี่ยง 151-200 หมายถึงคุณภาพอากาศไม่ดี 201-300 หมายถึงคุณภาพอากาศย่ำแย่ และ 301 ขึ้นไปหมายถึงคุณภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save