fbpx

จับตาการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นกำหนดให้มีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก(参議院選挙)วันที่ 22 มิถุนายนและจัดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 10 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นการเลือกตั้งสมาชิกที่ต้องออกตามวาระต่อจากครั้งที่แล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019

วุฒิสมาชิกของญี่ปุ่นมีจำนวน 248 คน แบ่งเป็นสมาชิกที่มาจากแบบแบ่งเขต (選挙区) 45 เขตทั่วประเทศ และสมาชิกที่มาจากแบบสัดส่วน(比例代表)อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี  กำหนดให้ทุกๆ 3 ปี สมาชิกจำนวนกึ่งหนึ่งต้องออกตามวาระ ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้มีสมาชิกครบวาระที่ต้องเลือกใหม่รวม 125 คน ระบบแบ่งเขตจำนวน 75 คน ระบบสัดส่วน  50 คน  

ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไปและเลือกลงสมัครแบบแบ่งเขต หรือแบบสัดส่วนได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ไม่เหมือนผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนที่ต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป และมีสิทธิลงสมัครได้ทั้ง 2 แบบในคราวเดียว 

ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปเหมือนกันทั้งการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ผู้มีสิทธิหนึ่งคนกาบัตร 2 ใบคือเลือกคนและเลือกพรรค (หรือบัญชีรายชื่อ)   

หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาคือพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร เสนอร่างกฎหมาย รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประชุมร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น        

เมื่อเดือนตุลาคม 2021 นายฟุมิโอะ คิชิดะ(岸田文雄) ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแอลดีพี(自民党)และเข้ารับตำแหน่งเข้านายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ได้ประกาศว่าหนึ่งภารกิจสำคัญคือต้องนำพรรคแอลดีพีชนะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้ให้ได้ 

ปัจจุบันในวุฒิสภา พรรคฝ่ายรัฐบาล (与党) คือพรรคแอลดีพีรวมกับพรรคโคเม(公明党)มีเสียงรวมกันเกินกึ่งหนึ่ง ในครั้งนี้ทั้งสองพรรครวมกันยังคงมีวุฒิสมาชิกที่อยู่ในวาระรวม 69 เสียง หากได้เพิ่มอีก 56 เสียงก็จะเกินกึ่งหนึ่ง แต่หากจะให้ฐานเสียงมั่นคงมาก ควรได้เพิ่มอีก 63 เสียง รวม 132 เสียงเป็นอย่างน้อย ส่วนพรรคฝ่ายค้าน(野党)หลายพรรครวมกัน  มีวุฒิสมาชิกที่ยังอยู่ในวาระรวม 53 เสียง ต้องได้เพิ่มอีก 72 เสียง จึงเกินกึ่งหนึ่งแบบคาบเส้น ดังนั้นหากพรรครัฐบาลสามารถคว้าชัยชนะเพิ่มมา 63 เสียงเสียแล้ว จะเหลืออีกเพียง 62 เสียงให้พรรคฝ่ายค้านซึ่งรวมแล้วก็ไม่เกินกึ่งหนึ่ง   

ขณะนี้พรรคฝ่ายรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว หากยังสามารถรักษาฐานเสียงเกินกึ่งหนึ่งของวุฒิสภาไว้ได้อีก ก็ย่อมเป็นที่มั่นใจได้ในการผ่านร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ได้   

ประเด็นที่น่าจับตาคือการแก้ไขบางมาตราในรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นต้องลงมติด้วยเสียงเกิน 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด พรรคฝ่ายรัฐบาลจึงต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านคือพรรคอิชิน(日本維新の会)ซึ่งมีฐานเสียงแถบคันไซ โอซากา และพรรคประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(国民民主党)ด้วย

การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกครั้งที่ผ่านมาปี 2019 ผู้ได้รับเลือกมีอายุเฉลี่ย 54.4 ปี ช่วงอายุ 50 ปีที่ได้รับเลือกมี 39 คน ใกล้เคียงกับช่วงอายุ 40 ปีที่มีผู้ได้รับเลือก 38 คน ผู้มีอายุน้อยที่สุดคือ 32 ปี และผู้มีอายุมากที่สุดคือ 78 ปี  

เมื่อดูแนวโน้มการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของผู้หญิงญี่ปุ่นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีผู้หญิงที่ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก 28 คน จากผู้สมัครหญิงประมาณ 100 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 22% ของผู้ได้รับเลือกทั้งหมด ยังมองไม่เห็นแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้น แม้ว่าในปี 2018 จะมี ‘กฎหมายขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมวางแผนทางการเมืองของชายและหญิง’ เป็นความพยายามเพื่อให้มีจำนวนผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เฉลี่ยชายและหญิงพอๆ กัน ประเมินว่าในครั้งนี้จะมีผู้สมัครเป็นผู้หญิงราว 175 คน

ครั้งที่แล้วในปี 2019 ผู้ที่สนใจมาลงคะแนนเสียงมากที่สุดคือช่วงวัย 60 ปี ถัดไปคือ ช่วงวัย 70 ปี  50 ปี และ 40 ปี ตามลำดับ ส่วนช่วงวัย 20 ปี ไปใช้สิทธิลงคะแนนน้อยที่สุด

สำนักข่าวเอ็นเอชเคของญี่ปุ่นทำการสำรวจประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป เมื่อช่วงวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับคะแนนนิยมต่อพรรครัฐบาล และการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ผลสำรวจพบว่าคะแนนนิยมรัฐบาลนายคิชิดะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องคือ 59% เพิ่มขึ้น 4% จากเดือนที่แล้ว และอยู่ในระดับสูงที่สุดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

เกี่ยวกับความสนใจในการไปเลือกตั้งวุฒิสมาชิกครั้งนี้ รวม 82% ตอบว่า “จะไปเลือกตั้งแน่นอน” และ “ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง” ส่วนผู้ไม่แน่ใจ และผู้ที่ไม่ไป มีรวมกันเพียง 16% เท่านั้น

ส่วนคำถามถึงความสนใจการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก 16% ตอบว่า “สนใจมาก” ซึ่งเป็นจำนวนต่ำกว่าการเลือกวุฒิสมาชิกครั้งที่แล้วเมื่อ 3 ปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกถึง 49% ที่ตอบว่า “สนใจ”

เมื่อถามถึงนโยบายสำคัญของผู้สมัครที่ท่านให้ความสำคัญที่สุดจาก 6 อย่าง 

มี 42% ที่ตอบว่า “นโยบายเศรษฐกิจ” 

17% ตอบว่า “นโยบายการต่างประเทศ และนโยบายความมั่นคง” 

15% ตอบว่า “นโยบายความมั่นคงทางสังคม”  

7% ตอบว่า “นโยบายเกี่ยวกับโควิด-19”   

ส่วน “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” กับ “นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม” มีผู้ตอบอย่างละ 5%

สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ท่านอยากให้ฝ่ายใดได้ที่นั่งมากกว่า มีผู้ตอบว่า “อยากให้พรรครัฐบาลได้ที่นั่งมากกว่า” และผู้ตอบ “อยากให้พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งมากกว่า” ฝ่ายละเท่าๆ กันคือ 25% ส่วนอีก 43% ตอบว่า “ไม่แน่ใจ”

คะแนนนิยมต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายคิชิดะ ยังคงสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ลดลงจากตอนที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อตุลาคมปีที่แล้วเลย จึงพอเชื่อมั่นได้ว่านายคิชิดะจะสามารถนำพรรครัฐบาลคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกครั้งนี้ได้อีก 

และจะเป็นอีกหนึ่งก้าว… ที่เพิ่มความมั่นคงให้แก่รัฐนาวาของนายคิชิดะ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save