fbpx

ผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกญี่ปุ่นและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล

การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกญี่ปุ่นในวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคแอลดีพี(自民党)สามารถนำพรรคคว้าชัยชนะ เพียงพรรคเดียวก็ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 63 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 125 ที่นั่งของจำนวนวุฒิสมาชิกที่ครบวาระในครั้งนี้ได้อย่างลอยลำแล้ว

เมื่อรวมกับ 56 ที่นั่งเดิมของวุฒิสมาชิกของพรรคแอลดีพีที่ยังอยู่ในวาระ รวมเป็น 119 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 8 ที่นั่ง ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล พรรคโคเม(公明党)ได้ 13 ที่นั่ง รวมกับที่นั่งเดิมเป็น 27 ที่นั่ง สองพรรครวมกันจึงมีวุฒิสมาชิก 146 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ 7 ที่นั่ง นับเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา 248 ที่นั่งแล้ว วางใจได้ในการผ่านกฎหมายบางฉบับ

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (憲法改正) มาตรา 9 ในเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันประเทศ ที่เป็นหนึ่งในนโยบายการหาเสียง จำเป็นต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่า 2 ใน 3 ซึ่งเป็นที่จับตากันมาโดยตลอดก่อนการเลือกตั้ง ว่าพรรครัฐบาลจะสามารถหาเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นโดยรวมกับพรรคฝ่ายค้านบางพรรคได้เพียงพอหรือไม่

พรรคฝ่ายค้านหลายๆ พรรคในครั้งนี้ได้ที่นั่งรวมกัน 49 ที่นั่ง รวมกับวุฒิสมาชิกที่ยังอยู่ในวาระของแต่ละพรรคอีก 53 ที่นั่ง รวมทั้งหมด 102 ที่นั่ง ลดลง 2 ที่นั่ง และมีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

คะแนนของสองพรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับพรรคฝ่ายรัฐบาล คือพรรคประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (国民民主党) มี 10 ที่นั่ง และพรรคอิชิน(日本維新の会) มี 21 ที่นั่ง รวมกับพรรครัฐบาลแล้ว ทั้ง 4 พรรคได้ 93 ที่นั่งในครั้งนี้ และหากรวมกับสมาชิกเดิมจะมีจำนวน 177 ที่นั่ง เป็นจำนวนเกิน 2 ใน 3 ของทั้งหมด

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา นายคิชิดะจึงมีความมั่นใจเกินร้อย สามารถเดินหน้าเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ได้อย่างแน่นอน

ส่วนคะแนนของพรรคฝ่ายค้านหลัก คือพรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย (立憲民主党) เป็นที่น่าผิดหวัง ในครั้งนี้ได้มาเพียง 17 ที่นั่ง รวมกับสมาชิกเดิม 22 ที่นั่ง เป็น 39 ที่นั่ง ลดลงจากเดิมถึง 6 ที่นั่ง สวนทางกับพรรคอิชิน พรรคฝ่ายค้านที่มีฐานเสียงแถบโอซากา สามารถคว้าที่นั่งมากกว่าเดิม 6 ที่นั่ง

เป็นที่น่าสังเกตว่าในครั้งนี้มีผู้หญิงได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกถึง 35 คน จากจำนวนผู้สมัครหญิง 181 คน เป็นจำนวนสูงสุดที่เคยมีมา นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ได้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้เพียง 2 วัน คือวันที่ 8 กรกฎาคม เวลา 11.30 น. นายชินโซ อาเบะ (安倍晋三) อดีตนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น ถูกลอบยิงจากคนร้ายด้วยอาวุธปืนทำเองในระยะประชิด ขณะกำลังปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรคแอลดีพี ที่จังหวัดนาระ จนเสียชีวิตในเย็นวันเดียวกันนั้น เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนญี่ปุ่นและคนทั้งโลก ขณะทราบข่าว นายคิชิดะ นายกรัฐมนตรี กำลังปราศรัยหาเสียงอยู่ที่จังหวัดยามางาตะ ทางตอนเหนือ ต้องหยุดภารกิจ แล้วบินด่วนกลับมายังทำเนียบเพื่อติดตามอาการของนายอาเบะ และมีคำสั่งให้ผู้สมัครของพรรคงดการปราศรัยในวันนั้น

หลายคนคิดว่าเหตุการณ์นี้จะมีผลต่อการลงคะแนนเสียงในวันอาทิตย์ที่ 10 ด้วย คนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปลงคะแนนหรือไม่ หรือคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนให้ใครหรือพรรคใดดีก็เริ่มตัดสินใจได้ มีผลออกมาว่าครั้งนี้มีผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียง 52.16% เพิ่มขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมากำหนดให้ผู้มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เป็นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ในจำนวนนี้จึงมีเสียงของคนหนุ่มสาวนักเรียนมัธยมปลายรวมอยู่ด้วย

ตลาดหุ้นนิคเคอิเปิดตลาดมาด้วยการตอบรับผลการเลือกตั้งที่พรรคแอลดีพีชนะอย่างลอยลำ มีแรงบวกพุ่งขึ้นกว่า 500 จุดและปิดตลาดบวก 295 จุด นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าเป็นผลจากการเลือกตั้งที่พรรคแอลดีพีเพียงพรรคเดียวก็ได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งแล้ว เป็นชัยชนะแบบขาดลอย นักลงทุนจึงรู้สึกมั่นใจในการบริหารนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เมื่อเปิดตลาดมาจึงมีแรงซื้อโหมเข้ามา และดัชนีเป็นบวกตลอดวัน 

ตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้นหลังการเลือกตั้ง นายคิชิดะได้แถลงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการที่ที่ทำการพรรคว่า มุ่งมั่นจะสานต่อเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกลอบยิงจนเสียชีวิต นายอาเบะมีความตั้งใจแก้ปัญหาคนญี่ปุ่นถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ(拉致問題)และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ไม่ใช่เรื่องไม่ง่าย แต่จะตั้งใจทำให้สำเร็จลุล่วงให้ได้   

นายคิชิดะ กล่าวว่า “จำนวนที่นั่งวุฒิสมาชิกที่พรรคได้มาไม่ได้แสดงให้เห็นเพียงความไว้วางใจที่ชาวญี่ปุ่นมอบให้แก่พรรคแอลดีพีและพรรคโคเมเท่านั้น แต่เป็นเสียงกระตุ้นเตือนจากประชาชนให้พวกเราระลึกเสมอว่า ‘จงปกป้องญี่ปุ่น และตั้งใจทำงานเต็มกำลังสุดความสามารถเพื่ออนาคตของญี่ปุ่น’ ”

เมื่อมองย้อนกลับไปกว่า 9 เดือนที่ผ่านมา นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคแอลดีพี ฟันฝ่าด่านหินหลายๆ ด่านมาได้ตลอด นับตั้งแต่การลงชิงตำแหน่งและได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแอลดีพี(総裁選)เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2021 และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในวันที่ 4 ตุลาคม ต่อมาประกาศยุบสภาหลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียง 10 วัน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(衆議院選挙)ในวันที่ 31 ตุลาคม 2021 และคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  พรรคแอลดีพียังคงมีเสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้  

รัฐบาลต้องเผชิญปัญหาหนักหลายอย่าง อาทิ การแพร่ระบาดหลายระลอกของโควิด-19 เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด มาจนถึงปัญหาระหว่างประเทศกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน การคว่ำบาตรมหาอำนาจรัสเซีย การป้องกันประเทศจากการแสดงแสนยานุภาพของเกาหลีเหนือและจีน ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น พลังงาน ค่าเงินเยนอ่อนสุดในรอบ 24 ปี และอีกหลายปัญหา ปัญหาเหล่านี้ยังเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลนายคิชิดะ แต่ก็น่าสังเกตว่ารัฐบาลของนายคิชิดะมีคะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้นตลอดนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ    

ชัยชนะในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกครั้งนี้ ย่อมนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่พิสูจน์ความสามารถของนายฟุมิโอะ คิชิดะ และความเชื่อมั่นที่ได้รับจากประชาชนชาวญี่ปุ่น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save