fbpx

เรื่องของ…ว่าที่วุฒิสมาชิกญี่ปุ่น

ที่มาภาพปก Chris 73

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งวุฒิสมาชิก  กำหนดวันลงคะแนนเสียงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 545 คน เป็นจำนวนที่เกิน 500 คนในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา และมากกว่าครั้งที่แล้วในปี 2019 ถึง 175 คน แบ่งเป็นผู้สมัครแบบแบ่งเขต(選挙区)367 คนต่อจำนวน 75 ที่นั่ง  และผู้สมัครแบบสัดส่วน(比例代表)178 คนต่อจำนวน 50 ที่นั่ง รวมทั้งหมด 125 ที่นั่ง เป็นการเลือกตั้งทุก 3 ปี ทดแทนวุฒิสมาชิกกึ่งหนึ่งที่ออกตามวาระ 6 ปี

เมื่อดูจำนวนผู้สมัคร พรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคแอลดีพี(自民党)ส่งผู้สมัครทั้งสองแบบรวม 82 คน และพรรคโคเม (公明党) 24 คน ส่วนพรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย (立憲民主党) 51 คน พรรคอิชิน (日本維新の会) 46 คน และพรรคอื่นๆ รวมผู้สมัครอิสระรวม 439 คน

ที่น่ายินดีคือ ในจำนวนผู้สมัคร 545 คนนี้  มีผู้สมัครหญิง 181 คน นับเป็น 33% ของผู้สมัครทั้งหมด เพิ่มขึ้นเกิน 30% เป็นครั้งแรก ก้าวขึ้นเทียบเท่ามาตรฐานสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว เมื่อมองย้อนไปหลังสงครามโลกไม่นาน มีผู้หญิงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเพียง 5% เท่านั้น และเริ่มมีจำนวนเกิน 20% เป็นครั้งแรกในปี 1989 หลังจากนั้นตลอดช่วงเวลา 20 ปี ก็มีจำนวนผู้สมัครหญิงราว 25% เท่านั้น ความพยายามของญี่ปุ่นที่ต้องการให้ชายและหญิงต่างก็มีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศพอๆ กัน เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครหน้าใหม่ถึง 80% เมื่อดูอัตราส่วนแล้วจะเห็นความแตกต่างระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล กล่าวคือ พรรคร่วมฝ่ายค้านมีผู้สมัครหน้าใหม่รวมกันกว่า 80% ส่วนพรรคแอลดีพีของรัฐบาล มีผู้สมัครหน้าใหม่เพียง 40%

ข้อมูลที่น่าสนใจของหนังสือพิมพ์นิฮนเคไซ(日本経済新聞)พบว่าในครั้งนี้มีผู้สมัครที่เป็นผู้อยู่ในตระกูลนักการเมือง(世襲候補)ประมาณ 5% กล่าวคือ พ่อหรือแม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา หรือคนในครอบครัวต่อเนื่องกัน 3 รุ่นหรือรุ่นใดรุ่นหนึ่งเป็นสมาชิกสภาใดสภาหนึ่งมาก่อน ผู้สมัครจากพรรคแอลดีพีมีประวัติครอบครัวเช่นนี้ถึง 20% ทีเดียว

เกี่ยวกับอายุของผู้สมัคร ช่วงอายุ 30 ปี มี 10% ช่วงอายุ 40 – 50 ปี 30% และอายุเกิน 60 ปีมี 20%  ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงเด่นชัดไปจากครั้งก่อนๆ

หัวหน้าพรรคแต่ละพรรคเริ่มปราศรัยครั้งแรกในที่ต่างๆ กัน สำนักข่าวเอ็นเอชเครวบรวมคำปราศรัยของหัวหน้าพรรค 9 พรรค รวมเวลา 2.50 ชั่วโมง ใช้ AI มาทำการจับคำพูดของหัวหน้าพรรค นับคำที่ใช้มาก คำที่เน้นให้ความสำคัญ มารวบรวมวิเคราะห์ให้เห็นแนวนโยบายของพรรค เป็นวิธีการที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังเป็นตัวอย่างการหาเสียงของประเทศพัฒนาแล้ว

พรรคแอลดีพี(自民党)นายฟุมิโอะ คิชิดะ(岸田文雄)นายกรัฐมนตรี  และหัวหน้าพรรคไปปราศรัยครั้งแรกที่จังหวัดฟุคุชิมะ ที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ใช้เวลาปราศรัย 17 นาที ปรากฏคำว่า ‘ฟุคุชิมะ’ ถึง 24 ครั้ง พรรคให้คำมั่นว่ามีนโยบายจัดการปัญหาน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ปลอดภัยสูงสุด มุ่งหวังให้ผู้อพยพทุกคนสามารถกลับสู่บ้านของตนเองได้โดยเร็ววัน และฟื้นความเชื่อมั่นของผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากภูมิภาคนี้ให้ได้  

นอกจากนี้ คำว่า ‘(ราคา)พุ่งสูงขึ้น’(高騰) ก็ปรากฏหลายครั้ง นายคิชิดะเน้นว่ามีนโยบายเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น  โดยมอบเงินช่วยเหลือแบบเร่งด่วนแก่ท้องถิ่นจำนวน 1 ล้านล้านเยน (2.6 แสนล้านบาท) เพื่อให้ท้องถิ่นได้สร้างงานและพัฒนาตนเองให้ทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุข เป็นที่น่าสังเกตว่าในการปราศรัยนี้ ไม่ปรากฏคำว่า ‘การป้องกัน’(防衛)อันเป็นคำสำคัญในนโยบายพรรคเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงประเทศ จากการที่จีนแผ่อิทธิพลมาบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และหมู่เกาะโซโลมอน เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธมาทางทะเลญี่ปุ่น และไม่ปรากฏคำว่า ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญ’(憲法改正)เลย  ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศขึ้นอีก

พรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย(立憲民主党)นายเคนตะ อิสุมิ (泉健太) หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ปราศรัยครั้งแรกที่จังหวัดอาโอโมริทางตอนเหนือของเกาะฮอนชูเป็นเวลา 11 นาที นอกจากชื่อพรรคและชื่อจังหวัดแล้ว ปรากฏคำว่า ‘ค่าครองชีพ ราคาสินค้า’(物価)9 ครั้ง พรรคชูสโลแกน คือ ‘ความมั่นคงปลอดภัยของการใช้ชีวิต’(生活安全保障)ฉะนั้นจึงต้องต่อสู้กับ ‘ราคาสินค้าแพง’  และพยายามให้มีการลดภาษีผู้บริโภคให้เหลือ 5% เป็นนโยบายหลัก ราคาสินค้าแพงทำให้ประชาชนมีภาระเพิ่มขึ้น และตำหนินโยบายเกี่ยวกับค่าครองชีพของรัฐบาลที่ยังไม่ได้ผล นอกจากนี้ยังมีคำว่า ‘รัฐสภา’ เรียกร้องให้มี ‘รัฐสภาที่มีความตื่นตัว’ และ ‘รัฐสภาที่สะท้อนเสียงของสตรี’  การที่ไปปราศรัยที่จังหวัดอาโอโมริซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร จึงมีคำว่า ‘เกษตรกร’ และ ‘เงินช่วยเหลือ’ ด้วย

พรรคอิชิน(日本維新の会)พรรคฝ่ายค้านที่มีฐานเสียงที่ภาคคันไซ โอซากา หัวหน้าพรรคนาย อิชิโร มัทสึอิ(松井一郎)ได้ปราศรัยครั้งแรกที่เมืองโอซากา ใช้เวลา 23 นาที ปรากฏคำว่า ‘โอซากา’ ถึง 29 ครั้ง ถัดไปคือคำว่า ‘ค่าใช้จ่าย’ ‘สมาชิกรัฐสภา’ เรียกร้องให้นักการเมืองมีจิตสำนึกต้องยอมเฉือนเนื้อลดจำนวนคนและสิทธิประโยชน์ตัวเอง แต่ไม่มีการเอ่ยถึงการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ว่าด้วยเรื่องการไม่ทำสงคราม ไม่สะสมกำลังอาวุธและทหาร ขณะที่สถานการณ์ประเทศรอบด้านญี่ปุ่นกำลังแสดงแสนยานุภาพอันเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างยิ่ง

สรุปโดยรวมของการปราศรัยครั้งแรกของหัวหน้าพรรค แน่นอนว่าคำว่า ‘การเลือกตั้ง’ ปรากฏมากที่สุด นอกนั้นก็มีคำว่า ‘ญี่ปุ่น’ ‘การเมือง’ ‘ประชาชน’ เป็นต้น ส่วนคำที่แสดงถึงนโยบายคือ ‘ภาษีผู้บริโภค’(消費税)พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้ลดหรือยกเลิกภาษีผู้บริโภค ขณะที่พรรครัฐบาลตั้งคำถามว่า ‘รัฐจะมีรายได้จากทางใด’

พบว่าคำที่หัวหน้าพรรคทุกพรรคใช้คือ ‘ค่าครองชีพ’ ‘สินค้าแพง’ เนื่องจากสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้ราคาน้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากขาดแคลนและราคาสูงขึ้น และยังมาถูกซ้ำเติมด้วยค่าเงินเยนอ่อนตัวลงอย่างมากและรวดเร็ว แต่ละพรรคแข่งกันเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนอยู่รอดจากภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัดตัว นอกจากนี้ยังมีคำว่า ‘ค่าแรง’(賃金)ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำไม่เคยขึ้นมานานหลายปีแล้ว หลายพรรคพยายามชูนโยบายเพื่อจูงใจผู้ประกอบการให้เพิ่มค่าตอบแทนให้แก่ลูกจ้าง

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’(憲法)’การต่างประเทศ ความมั่นคง’(外交・安全保障)ไม่ได้ปรากฏบ่อยครั้งเป็นอันดับต้นๆ ในการปราศรัยครั้งแรกของบรรดาหัวหน้าพรรค แต่กลับปรากฏในคำปราศรัยของหัวหน้าพรรคฝ่ายซ้าย พรรคสังคมประชาธิปไตย(社民党)ถึง 16 ครั้ง และพรรคคอมมิวนิสต์(共産党)6 ครั้ง ส่วนพรรคแอลดีพีของรัฐบาลปรากฏเพียง 1 ครั้งเท่านั้น

การปราศรัยครั้งแรกของหัวหน้าพรรคพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ชีวิต ค่าใช้จ่าย  ค่าครองชีพ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง มากกว่าเรื่องระดับใหญ่เกินตัว คำว่า ‘การต่างประเทศ ความมั่นคง’ จึงไม่ปรากฏอย่างเด่นชัดหรือเน้นย้ำในคำปราศรัย ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญความท้าทายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศจากท่าทีแข็งกร้าวและแสดงแสนยานุภาพของเกาหลีเหนือ และการแผ่อิทธิพลของจีนสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

นโยบายของพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านของญี่ปุ่นจะสามารถชนะใจผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกวุฒิสมาชิกได้มากกว่ากัน ต้องติดตามต่อไป…

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save