fbpx
เมื่อโลกนี้กำลังจะไหม้ : 2019 ปีแห่งหายนะ และความหวังของสิ่งแวดล้อม

2019 … WHAT A YEAR! : ทวนสถานการณ์โลก-ไทยในปี 2019

พบกับซีรีส์ “2019 … WHAT A YEAR!” มองย้อนเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมโลกและไทยในปี 2019 ผ่านผลงาน 101 โดยกองบรรณาธิการ the101.world

ในภาษาอังกฤษ เวลาพูดว่า WHAT A …. แล้วตามด้วยคำนาม คนพูดกำลังจะบอกว่า สิ่งนั้น ‘สุดจริงๆ” เมื่อกองบรรณาธิการ the101.world ตั้งชื่อซีรีส์นี้ว่า WHAT A YEAR จึงถอดความง่ายๆ ให้ได้อรรถรสว่า ‘ปีนี้…สุดว่ะ’

แต่คำว่า ‘สุด ก็อาจหมายถึง ‘สุดยอด’ หรือ ‘สุดแย่’ ก็ได้ แล้วแต่ว่า ใครประเมิน ประเมินเรื่องไหน และประเมินอย่างไร

จากความหวังที่จะได้เลือกตั้งช่วงต้นปี ลงท้ายด้วยเงื่อนปมการเมืองอันแหลมคมหลายคมปลายปี เราประเมินการเมืองอย่างไร

จากสัญญาณเตือนถึงเศรษฐกิจชะลอตัวโลกต้นปี ลงท้ายปลายปีเรารับมือได้ดีแค่ไหน

จากความไร้ระเบียบโลกในช่วงต้นปี ปลายปีโลกดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม

จากสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน เราถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง

จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อะไรคือรูปธรรมที่อยู่ตรงหน้า อะไรคือสิ่งที่กำลังจะมา และเราเรียนรู้ทันหรือไม่อย่างไร

จาก ‘อคติ’ ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์ในช่วงต้นปี ปลายปีเราเปลี่ยนไปมากแค่ไหน

จากเกรต้า ธันเบิร์ก ถึงฝุ่น pm2.5 ในประเทศไทย สุขภาพของโลกย่ำแย่หรือดีขึ้นอย่างไร

จากห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ สื่อ-ศิลป์ ไทยปรับตัวอย่างไร

จากผืนดิน ถึงภูเขา และทะเล ความทุกข์ของมนุษย์ปรากฏ คลี่คลาย และขมึงเกลียวไปทางใด

สมคิด พุทธศรี ธิติ มีแต้ม พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย วจนา วรรลยางกูร ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ กานต์ธีรา ภูริวิกรัย และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ ร่วมด้วย ธีทัต จันทราพิชิต ร่วมกัน ‘อ่าน 2019’ ผ่านผลงานตลอดทั้งปีของ The101.world ในบทความพิเศษรับปีใหม่

 

เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย 2019 : ปีแห่งความยากลำบาก

 

โดย สมคิด พุทธศรี

“กล่าวอย่างรวบยอด ตลอดปี 2019 ไม่มีอะไรที่ดีขึ้นกว่า 2018 เลย แถมยังแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ”

สมคิด พุทธศรี สรุปภาพรวมเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ในรอบปี 2019 ซึ่งเป็นปีแห่งความยากลำบาก และการผุดบังเกิดของโจทย์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน

“ภายใต้สถานการณ์ที่โลกไม่เป็นใจ สูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยคือ ทำทุกวิถีทางเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้พ้นจากช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเสียก่อน และหวังว่า หากสงครามการค้าจบลงและเศรษฐกิจโลกดีขึ้นเมื่อไหร่ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้ ไม่ว่าจะเป็น ‘ชิม ช็อป ใช้’ หรือ ‘บ้านดีมีดาวน์’ ก็มีเบื้องหลังวิธีคิดเช่นนี้

ว่ากันตามตำรา หากอาการป่วยของเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องระยะสั้น การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปแต่อย่างใด ประเด็นถกเถียงควรไปอยู่ที่ว่า นโยบายที่ออกมามีประสิทธิภาพและถูกออกแบบมาดีแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหามีอยู่ว่า โลกอาจจะไม่ได้ป่วยระยะสั้น หรือจริงๆ แล้ว ไม่ได้ป่วยเลยด้วยซ้ำ”

“The Economist ได้ออกบทวิเคราะห์อันแหลมคมชวนคิดว่า นับตั้งแต่หลังวิกฤติการณ์การเงินโลกในปี 2008 เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ยุค ‘Slowbolisation’ หรือ ภาวะการณ์ที่อัตราการหลอมรวม (integration) ของเศรษฐกิจทั่วโลกช้าลงในหลายมิติ

เมื่อสองเทรนด์นี้ทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ประหลาดและย้อนแย้ง ในด้านหนึ่ง เทคโนโลยีทำให้คนเชื่อมต่อกันมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การเชื่อมต่อที่เข้มข้นจะทำให้ข้อมูลข่าวสาร ความคิด และผู้คน เกิดการแลกเปลี่ยนไหลเวียนได้ เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘digital globalisation’ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดเศรษฐกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ระเบียบโลกแบบอเสรีนิยมกลับทำให้การค้า การลงทุน และความร่วมมือระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น”

“โจทย์ที่ชวนคิดต่อจากนี้คือ หาก digital globalisation กลายมาเป็นพลังหลักของโลกาภิวัตน์แบบดั้งเดิมมากขึ้น การค้าโลกจะสำคัญน้อยลงอีกหรือไม่ เพราะถึงที่สุดแล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลก็มีลักษณะของภาคบริการมากกว่าภาคอุตสาหกรรม และหากการค้าโลกมีนัยสำคัญน้อยลง ผลต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักจะได้รับผลกระทบแค่ไหน

และสูตรสำเร็จที่เคยใช้กันมาก่อนหน้านี้ จะได้ผลหรือไม่กับโจทย์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน”

 

โลก 2019 : ก้าวต่อไปของ (ความไร้) ระเบียบโลกใหม่ บนสมรภูมิการแข่งขันของมหาอำนาจ

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร มีเพียงผลประโยชน์เท่านั้นที่ยั่งยืน”

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย สรุปภาพรวมการเมืองระหว่างประเทศปี 2019 ที่เป็นเหมือนก้าวต่อไปของ (ความไร้) ระเบียบโลกครั้งใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของสหรัฐอเมริกาและจีน

“แม้จะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า สงครามการค้าจะคลี่คลายไปในทางใด และสหรัฐฯ กับจีนจะเข้าสู่สงครามเย็นเต็มรูปแบบหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้ มีโอกาสที่จะขยายตัวไปเป็นความขัดแย้งในแทบทุกมิติ และสร้างความเสี่ยงใหญ่ต่อเสถียรภาพในระเบียบการเมืองโลก”

นโยบายต่างประเทศแบบ American First ที่มีมิติของการเมืองภายใน กำลังเผชิญกับบททดสอบสำคัญ … หากทรัมป์สามารถเจรจากับคิมจองอึนได้สำเร็จ การเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองของเขาจักประสบความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ ‘ความพ่ายแพ้ที่ฮานอย’ ได้ทำลายความฝันอันสูงสุดของทรัมป์ลงไป และนั่นอาจเป็นโชคดีของคนอเมริกันและประชาชนทั่วโลกด้วย ที่ ‘อเมริกาที่หนึ่ง’ (America First) อาจสะดุดลงในสี่ปีนี้เท่านั้น”

“จีนถือเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคแล้ว และยังมีความปรารถนาจะเป็นมหาอำนาจในระดับโลก แต่ก็ยังไม่รู้ขอบเขตความรับผิดชอบที่มหาอำนาจระดับโลกพึงมี และยังต้องพิสูจน์ตัวเองในอีกหลายด้าน อีกทั้งจีนยังไม่มีศักยภาพมากพอสำหรับการมีบทบาทในเวทีโลก

ถ้าจีนถอยกลับในกรณีฮ่องกง จีนก็จะเสียฟอร์ม หรือถ้าจีนยอมฮ่องกง ก็จะดูอ่อนแอ และจะส่งผลกับคนจีนที่ต่อต้านรัฐบาลและอยากได้ประชาธิปไตยด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าจีนใช้ความรุนแรงปราบปรามจนเกิดการนองเลือด ก็จะถือเป็นจุดจบของฮ่องกงในฐานะ international hub

ดังนั้น คำถามสำคัญที่รัฐบาลปักกิ่งต้องตอบคือ จีนพร้อมไหมหากจะไม่มีฮ่องกงในฐานะเมืองท่านานาชาติ”

“ในปี 2020 อาเซียนภายใต้การนำของเวียดนามต้องเจอกับโจทย์ใหญ่หลายประการ นอกจากจะต้องผลักดันข้อตกลงและทำเรื่องที่ค้างคาให้ลุล่วงแล้ว อาเซียนยังต้องวางตัวให้ดี เล่นเกมให้เป็น และก้าวย่างอย่างระมัดระวังที่สุดในสมรภูมิของสองมหาอำนาจนี้ เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของอาเซียนเอง”

 

การเมือง 2019 : จากการ ‘เลือกตั้ง’ สู่วาระ ‘สัญญาประชาคมใหม่’

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ความอลหม่านของการเมืองไทย 2019 ไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันเอาชนะกันทางการเมืองอย่างเดียว แต่ได้เปิดเปลือยเนื้อแท้ออกมาแล้วว่าสังคมไทยยังไม่มีฉันทามติหรือสัญญาประชาคมใดๆ ทั้งสิ้น

สิ่งที่น่าจับตาในปี 2020 คือ เมื่อวาระการแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นบันไดขั้นแรก บันไดขั้นต่อไปจะเป็นฉันทามติของประชาคมหรือจะเป็นแค่ทางที่พากลับไปสู่หลุมดำเดิมๆ

ธิติ มีแต้ม สรุปภาพรวมการเมืองไทย 2019 ว่าอะไรคือปรากฏการณ์ และอะไรคือโจทย์สำคัญที่จะส่งผลต่อการเมืองไทยในปี 2020 ผ่านผลงานใน The101.world

ไล่เรียงไปตั้งแต่เสียงของ New Voter, นักการเมืองหน้าใหม่และเก่า ทั้งในและนอกสภา, พรรคการเมืองขนาดย่อม, กลุ่มสตาร์ทอัพ, ศิลปิน, คนไร้บ้าน ฯลฯ

หนึ่งในความโหดหินอันดับต้นๆ หนีไม่พ้นรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เสมือนหลุมระเบิดสำหรับม้าบางกลุ่ม แต่กับม้าอีกบางกลุ่มอาจเป็นลู่วิ่งที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ นั่นเพราะสะท้อนอยู่ในคำพูดที่ว่า “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ของฝ่ายรัฐบาล”

ในบรรดาความบิดเบี้ยวของโครงสร้างการเมืองไทย ดูเหมือนว่า 2 ใน 3 เสาหลัก ได้แก่ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจะถูกเชื่อว่ามีส่วนทำให้การเมืองไทยวิกฤตอยู่สม่ำเสมอ แต่ฝ่ายตุลาการไม่เคยถูกตั้งคำถามอย่างจริงจังว่ามีส่วนในการสร้างวิกฤตการเมืองอย่างไร

คำว่า “ความหวัง” ถูกพูดถึงในทางการเมืองอย่างมหาศาล อย่างน้อยก็มากจากเสียงของฝ่ายต่อต้านอำนาจเผด็จการ เพราะต่างก็อยากเห็นอนาคตสังคมไทยเปลี่ยนไปจากเดิมและดีกว่าเดิม คำถามคืออะไรเป็นโจทย์รูปธรรมที่สุดของความหวังนั้น

 

หนีจากชายขอบเพื่อปะทะกับความไม่เข้าใจ : สุขภาพจิต-เพศ ในปี 2019

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

เมื่อร้อยเรียงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เราก็ยังพบกำแพงขนาดใหญ่ที่สังคมร่วมกันสร้างมาตลอดหลายปี คือกำแพงที่ชื่อว่า ‘อคติ’ และความไม่เข้าใจ ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของเราอย่างชัดเจน บางครั้งมาในรูปแบบของการเลือกปฏิบัติ และบางครั้งก็เป็นการผลักให้ผู้ที่หลุดพ้นจากชายขอบ ต้องเผชิญกับขอบเขตใหม่ที่ยากจะสู้

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ สรุปประเด็นเรื่องเพศและสุขภาพจิต ในปี 2019 เพื่อทบทวนว่าแง่มุมไหนที่ยังขาดความเข้าใจ ก้าวไม่พ้นอคติ และส่งผลกระทบต่อชีวิต-สิทธิของผู้คน

ไล่เรียงไปตั้งแต่ประเด็นของผู้หญิงและอุดมคติของสังคม, ความหลากหลายทางเพศ, บทบาทของ LGBTQ ในการเมือง, สิทธิที่สร้างความลำบากทั้งในระดับชีวิตและกระบวนการยุติธรรม, ความไม่รู้และอคติที่เกิดกับการพูดคุยเรื่องเพศในสังคมไทย, สถานการณ์และตัวเลขที่น่าหวั่นใจของผู้มีปัญหาสุขภาพจิต, ตอบคำถามว่าโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นกับใคร ไปจนถึง ทางออกของสุขภาพจิตในประเทศไทยมีอะไรบ้าง

“สังคมมีอุดมคติของ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ตามคำว่า กุลสตรี แม่ที่ดี เมียที่ดี การเป็นผู้หญิงที่ดีหมายถึงคุณต้องบริสุทธิ์ คุณต้องไม่เคยมีชะตากรรมในเรื่องเพศที่น่าชัง”

“ตราบใดที่ฐานรากของความรุนแรงยังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมี LGBTIQ แม้แต่คนเดียวยังถูกรังแกอยู่ ยังมีแม้แต่หนึ่งคอมเม้นต์ในโลกออนไลน์ ที่สร้างความเกลียดชัง การ Come Out หรือเปิดกว้าง ก็ไม่อาจสง่างามได้แท้จริง”

“ตัวอย่างและเหตุการณ์มากมายสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่กระแสอีกต่อไป แต่สามารถเกิดขึ้นกับใคร อายุเท่าไหร่ ประกอบอาชีพอะไรก็ได้ และเมื่อพบเข้ากับความเจ็บป่วยทางใจแล้ว การไม่ตระหนักถึงหนทางแก้ไข ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น”

 

มองชีวิตผ่านพื้นที่ในปี 2019 : เมื่อปัญหาไม่เคยหายไปจากมนุษย์

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

หากมีตั๋วหนึ่งใบให้คุณเที่ยวรอบโลก คุณจะไปที่ไหน ?

เป็นไปได้เราคงอยากเลือกไปในที่ที่ทำให้ใจผ่อนคลาย มองธรรมชาติที่จรรโลงโลกให้งดงาม ดื่มด่ำกับผู้คนและคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองที่เป็นระเบียบ แต่ในความจริง โลกของเราไม่ได้สวยงามไร้ที่ติแบบนั้น

บนโลกทรงกลมใบนี้ ยังมีความบิดเบี้ยวแทรกอยู่ทุกอณูของดาวเคราะห์ มนุษย์บางส่วนของโลกยังมีน้ำดื่มไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในบางมุมของโลก เด็กๆ ใช้ก้อนดินเหนียวเตะแทนฟุตบอล ใช้เท้าลุ่นๆ วิ่งบนพื้นหวดลูกกลมๆ ด้วยไม่รู้ว่าเท้าจะบาดเข้ากับอะไรบ้าง ตรงกันข้าม เด็กบางกลุ่มมีสนามหญ้าที่เล็มอย่างดีไว้รองรับ สวมสตั๊ดใหม่เอี่ยมหวดลูกบอลที่ตัดเย็บอย่างละเอียด

หากถอยมามองโลกผ่านภาพดาวเทียม เราจะเห็นแสงสว่างกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ขยับเข้าไปใกล้หน่อยจะเห็นป้ายโฆษณาตั้งตระหง่านตามรายทางส่องไฟจนแสบตา ตัดภาพไปที่ชาวบ้านที่หาปลาได้ไม่ตรงตามฤดูกาล เพราะเขื่อนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าบุกรุกแม่น้ำของพวกเขา จนฤดูที่น้ำควรหลากกลับไม่หลาก

เราทุกคนบนโลกต่างเจอปัญหาของตัวเอง ไม่ว่าเราจะหลบลี้อยู่มุมไหน และแม้ว่ามนุษย์จะสร้างเทคโนโลยีจนเกือบแตะคำว่าพระเจ้าแล้ว แต่ก็อย่างที่เห็น ปัญหาไม่เคยหายไปจากมนุษย์ และยิ่งกับมนุษย์ที่โดนโครงสร้างทางสังคมกดทับครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่รู้จะยืนหยัดขึ้นมาได้อย่างไร ปัญหาก็ยิ่งเกาะติดราวกับไม่มีวันจะหายไป

101 รวบรวมสกู๊ปและสารคดีที่เผยแพร่ตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา ไล่เลาะไปตามพื้นที่ ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทะเลอันดามัน ไปจนถึงฮ่องกง ทุกพื้นที่ต่างประสบกับสถานการณ์เฉพาะที่ต้องแก้ไขกันไป

ว่ากันว่า อยู่ใต้ฟ้าอย่ากลัวฝน และเราต่างอยู่บนผืนดินเดียวกัน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาย้อนมองเรื่องราวชีวิตที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ ซึ่งล้วนมีปัญหาเป็นของตัวเอง มองภาพรวมสกู๊ปตลอดปี 2019 ที่ฉายให้เห็นภาพการต่อสู้ของมนุษย์กับโครงสร้างที่กดทับอยู่

 

สิทธิมนุษยชน 2019 : สูญหาย บานปลาย ห่างไกลความเป็นธรรม

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

ปีที่ผ่านมาแม้จะมีความคาดหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้สถานการณ์ความยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนลดน้อยลงบ้าง จากการกลับเข้ามาสู่รูปรอยที่ควรจะเป็น มีการใช้อำนาจที่เปิดช่องให้มีการตรวจสอบโต้แย้งได้บ้าง

แต่การสะสางปัญหาไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่ไม่มีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาที่ก่อไว้ช่วงรัฐประหารในนาม คสช. เช่นในกรณีการสกัดกั้นการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากม.44

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วยังสร้างความไม่ชัดเจนถึงทิศทางต่อไป เมื่อรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ควรจะเป็นผู้เข้ามาคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหาร กลายเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางช่วงรัฐประหาร

วจนา วรรลยางกูร ชวนทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคมผ่านผลงานตลอดปี 2019 ของ 101 ที่ทำให้เห็นถึงปัญหารอบด้านอันเรียงร้อยกลายเป็นสังคมปัจจุบัน

 

เทรนด์ 2019 : How To เดินทางสู่โลกแห่งอนาคตอย่างไรไม่ให้ตกขบวน

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ ย้อนดูเทรนด์สำคัญในปี 2019 ว่าด้วยเรื่องความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี และการเตรียมความพร้อมสู่ยุคดิจิทัลนับจากนี้เป็นต้นไป

“บริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้า เช่น Tencent เจ้าของแอปฯ WeChat มองไกลยิ่งกว่าการดึงดูดให้คนออนไลน์เพื่อสื่อสารอย่างเดียว Super apps หรือกลุ่มของแอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรม ‘ทุกสิ่งอย่าง’ ทั้งดูหนังฟังเพลง ออกกำลัง ซื้อของ จ่ายเงิน เรียกรถ และอื่นๆ จึงเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่าต่อจากนี้อินเทอร์เน็ตจะเข้ามาอยู่ในทุกจังหวะชีวิตของเราเลยทีเดียว”

“แม้เราจะเชื่อว่าเทคโนโลยี AI ในปัจจุบันยังครอบคลุมถึงแค่งานที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะทางหรืองานทำซ้ำซาก แต่ช่วง 2-3 ปีมานี้ พัฒนาการความก้าวหน้าของ AI เริ่มแสดงให้เราเห็นว่ามัน ‘ฉลาด’ ขึ้นอย่างรวดเร็วจนมนุษย์อาจต่อกรไม่ไหว

“ตัวอย่างสำคัญได้แก่เรื่องฮือฮาในวงการหมากล้อมหรือโกะในปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่ออีเซดล (Lee Se-Dol) แชมป์โกะระดับโลก 18 สมัยประกาศถอนตัวออกจากวงการหลังพ่ายแพ้ให้กับระบบ AI ชื่อว่า AIpha Go ถึง 4 ใน 5 เกม ด้วยเหตุผลว่าเขาไม่สามารถเอาชนะความฉลาดของระบบคอมพิวเตอร์ได้”

“ไม่เพียงแค่วงการเกมโกะเท่านั้นที่สั่นสะเทือน แต่ยังรวมถึงวงการธุรกิจและการศึกษา เพราะในอนาคต ขอบเขตความสามารถของปัญญาประดิษฐ์จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้งานที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่นแพทย์ หรืองานใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างนักเขียน นักแต่งเพลง ก็อาจถูก AI แย่งตำแหน่งไปเช่นเดียวกัน ตามที่ จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผลให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่บัดนี้ ‘ไม่มีงานใดไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์’”

 

เมื่อโลกนี้กำลังจะไหม้ : 2019 ปีแห่งหายนะและความหวังของสิ่งแวดล้อม

 

โดย ธีทัต จันทราพิชิต

ธีทัต จันทราพิชิต สรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ผ่านผลงาน 101 ในปี 2019 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา ไปจนถึงการเดินหน้าต่อสู้ของคนรุ่นใหม่

แม้การเมืองโลกปี 2019 จะยังหันขวา และผู้นำฝ่ายขวาอย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ค่อยเชื่อเรื่อง climate change เสียเท่าไหร่

แต่ในปีเดียวกันนี้ ทั้งโลกก็ได้ตระหนักรู้ในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเพราะสัญญาณอันตรายจาก climate change นั้นเริ่มเขยิบเข้ามาใกล้จนเราสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นอากาศแปรปรวน ฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล ฝุ่น pm 2.5 ที่หนาจนเห็นทุกอย่างเป็นหมอกควัน พะยูนมาเรียมที่ตายจากขยะพลาสติก หมีโคอาล่าลูอิสที่ได้แผลจากไฟป่าจนต้องทำการุณยฆาต ฯลฯ

ภาวะทั้งหมดที่ว่ามา กำลังบ่งชี้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการเอาใจใส่มากกว่าที่คิด และนำมาสู่กระแสความรักโลกในปี 2019 โดยมีหัวหอกสำคัญอย่างเจ้าหนู เกรต้า ธุนเบิร์ก ที่ออกมาตะโกนให้ใส่หน้าผู้ใหญ่ และอาจรวมถึงพวกเราทุกคนที่ยังนิ่งดูดายว่า “How dare you!”

 

สื่อ-ศิลป์ 2019 : ปีแห่งการช่วงชิงพื้นที่และความหมาย – ใต้เงาสลัว

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“หากการทำหน้าที่สื่อคือกระจกเงาสะท้อนสังคมอย่างที่ใครบางคนว่าไว้ อาจไม่ผิดนักหากจะพูดว่าภาพรวมของสื่อไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา เป็นเสมือนกระจกที่ค่อนข้างขุ่นหมอง หรือไม่ก็เลือกส่องสะท้อนเฉพาะบางแง่มุมที่ตัวเองอยากเห็น

ยังไม่นับว่า มีกระจกอีกหลายบานที่พยายามตั้งใจทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ถูกทุบให้แตกด้วยน้ำมือของบางใครที่ไม่กล้าสบตากับความจริง”

101 ปิดท้ายซีรีส์ ‘2019 … WHAT A YEAR!’ ด้วยการประมวลภาพรวมแวดวงสื่อมวลชน และศิลปวัฒนธรรม ผ่านผลงานของ 101 ในปี 2019 โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

ไล่เรียงตั้งแต่การประมวลทัศนะของสื่อมวลชนรุ่นใหญ่อย่าง อธิคม คุณาวุฒิ, สุชาดา จักรพิสุทธ์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และ รศ.รุจน์ โกมลบุตร

ต่อด้วยความเคลื่อนไหวในแวดวงหนังสือรอบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ‘Lit Fest’, งานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งสุดท้ายที่ศูนย์สิริกิติ์, การยกขบวนไปอิมแพ็คฯ ภายใต้การบริหารของนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คนใหม่ ไปจนมุมมองที่น่าสนใจต่อวัฒนธรรมการอ่าน-การวิจารณ์ ในสังคมไทย

ปิดท้ายด้วยไฮไลท์เนื้อหาเด่นๆ ในหมวดหมู่ของศิลปวัฒนธรรม ทั้งจากคอลัมนิสต์ และกองบรรณาธิการ The101.world ที่สะท้อนว่าปี 2019 ที่ผ่านมานั้น เป็นปีแห่งการช่วงชิงพื้นที่และเสรีภาพ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save