fbpx
บันทึก 2017 : ความหวังที่เคลื่อนไหวในความทรงจำ

บันทึก 2017 : ความหวังที่เคลื่อนไหวในความทรงจำ

ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง

 

1

 

 

ณ มุมหนึ่งของกรุงเบอร์ลิน ระหว่างที่กลุ่มของพวกเรากำลังเดินทางกลับโรงแรมหลังจากทัศนศึกษามาทั้งวัน เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มชี้ชวนให้ดูป้ายรถเมล์แปลกตาข้างหน้า แวบแรกมันดูเหมือนป้ายรถเมล์ธรรมดาๆ ที่พบเห็นทั่วไปในเมืองนี้ คือมีที่นั่งแคบๆ นั่งได้ประมาณ 5-6 คน ไม่มีพนักพิง มีหลังคาแคบให้ร่มเงา แต่สิ่งที่ทำให้ป้ายรถโดยสารนี้แตกต่างออกไปคือ บอร์ดของมัน

แทนที่จะเป็นป้ายโฆษณาสินค้า มันกลับเล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่ง อดอล์ฟ ไอชมันน์ (Adolf Eichmann) และประวัติศาสตร์ของสถานที่โดยรอบ อันเป็นฉากตอนที่ยากแก่การลืมเลือนในหน้าประวัติศาสตร์เยอรมนี

ใครที่ชอบอ่านประวัติศาสตร์คงเคยได้ยินชื่อของอดอล์ฟ ไอชมันน์  เขาคืออดีตสมาชิกพรรคนาซีคนสำคัญและข้าราชการระดับสูงที่มีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ตำแหน่งสำคัญของเขาภายใต้รัฐบาลนาซีคือเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยราชการที่มีชื่อว่า กรมกิจการว่าด้วยชาวยิว (Office of Jewish Affairs)

หน่วยงานที่เขาบังคับบัญชา ซึ่งมีชื่อฟังดูไม่เป็นพิษเป็นภัยนี้ มีหน้าที่รับผิดชอบรวบรวมข้อมูลคนยิวในพื้นที่ ยึดทรัพย์สินของคนยิว ขนย้ายและลำเลียงคนยิวขึ้นรถไฟไปยังค่ายกักกันต่างๆ ในยุโรปตะวันออก ที่ซึ่งคนยิวหลายล้านคนถูกสังหารเสียชีวิต

หลังสงครามสิ้นสุด ไอช์มันน์ถูกจับกุมโดยทหารอเมริกัน แต่สุดท้ายก็หลบหนีมาได้ และปลอมแปลงตัวตนจนกระทั่งเดินทางออกนอกประเทศหนีไปอยู่ที่อาร์เจนตินา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถรอดพ้นเงื้อมมือของหน่วยสายลับอิสราเอลที่สืบเสาะตามจนเจอและจับกุมตัวเขาได้ในอาร์เจนตินา ไอชมันน์ถูกส่งตัวกลับมาขึ้นศาลที่อิสราเอลในหลายข้อหาฉกรรจ์ สุดท้ายเขาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปี ค.ศ. 1962

เรื่องราวเกี่ยวกับไอชมันน์โด่งดังและเป็นที่รู้จักกว้างขวางผ่านการถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีในศาลของเขา หนังสือของนักปรัชญาการเมืองชื่อดัง ฮันนาห์ อเรนดท์ (Hannah Arendt) เขียนถึงการพิพากษาประวัติศาสตร์ครั้งนี้ โดยพรรณนาถึงสิ่งที่ไอชมันท์ทำว่าเป็นความชั่วร้ายที่น่ากลัว เพราะนอกจากไอช์มันน์จะไม่รู้สึกผิดกับการกระทำของตนเองเท่านั้น เขายังอ้างเหตุผลว่าทั้งหมดที่เขาทำนั้นเป็นเพียง “การทำตามคำสั่ง” เขาเป็นเพียงข้าราชการธรรมดาคนหนึ่งในฟันเฟืองระบบราชการอันใหญ่โต เขาซื่อสัตย์กับงานที่รับผิดชอบ และทำตามหน้าที่เท่านั้น แนวคิดเช่นนี้เองที่อเรนดท์มองว่ามันแสนจะอันตราย เพราะผู้กระทำผิดมองตนเองเป็นเพียงกลไกของระบบโดยไม่เห็นว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมที่ใหญ่กว่านั้น

เหตุที่เมืองเบอร์ลินดัดแปลงป้ายรถเมล์นี้ให้กลายเป็น “อนุสรณ์ประวัติศาสตร์” เพราะตึกด้านหลังป้ายรถเมล์นี้เคยเป็นที่ตั้งของหน่วยงานว่าด้วยกิจการชาวยิวที่ไอช์มันน์เป็นผู้บังคับบัญชานั่นเอง ปัจจุบันมันกลายเป็นโรงแรมหรูที่ไว้รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่เหลือเค้ารอยของอดีตอันโหดร้ายให้เราได้สัมผัส

พวกเรายืนดูรูปและอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับชายชื่อไอช์มันน์และอาชญากรรมของเขาบนป้ายรถเมล์อยู่นานจนลืมเวลา ต่างคนต่างถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก บางคนถ่ายข้อความเก็บไว้เพื่อนำไปศึกษาต่อ ปราศจากป้ายรถเมล์แห่งนี้ ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา รวมทั้งคนที่ยืนรอรถเมล์ คงไม่มีวันได้ล่วงรู้เลยว่าเคยเกิดอะไรขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ป้ายรถเมล์ธรรมดาๆ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ข้างทางที่ทรงพลัง ช่วยย้ำเตือนผู้คนให้จดจำเรื่องราวที่ไม่ควรลืมของสังคมตนเอง

ผมสรุปเอาเองจากเรื่องนี้ว่า การบันทึกประวัติศาสตร์ไม่เคยเป็นเรื่องของการจดจำอดีตเพียงลำพัง แต่มันเป็นเรื่องของการส่งมอบเรื่องราวที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ไปสู่อนาคต แก่คนรุ่นหลัง

 

2

 

 

ระหว่างทางที่กำลังเดินตัดสวนสาธารณะเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ประตูบรันเดนบูร์ก (Brandenburg Gate) แลนด์มาร์กของเบอร์ลิน ซึ่งมักจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว กลุ่มของเราพลัดหลงเข้าไปในขบวนประท้วงโดยไม่ได้ตั้งใจ กะด้วยสายตา คนร่วมชุมนุมมีราวๆ หลายพันคน มาพร้อมกับป้ายผ้า โปสเตอร์ และลูกโป่งหลากสีสัน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว แต่ก็มีคนสูงอายุและกลุ่มที่มากันเป็นครอบครัวร่วมด้วยไม่น้อย มีเวทีตั้งอยู่ข้างหน้าพร้อมกับคนผลัดกันขึ้นปราศรัยอย่างเร่าร้อน แต่ทุกคนดูยิ้มแย้มแจ่มใสและมุ่งมั่นมากกว่าจะเคร่งเครียดบูดบึ้ง

ฟังเนื้อหาการไฮด์ปาร์คอยู่สักพักและเหลือบดูจากป้ายผ้า ทำให้พวกเรารู้ว่า นี่คือการชุมนุมที่จัดขึ้นเพื่อประท้วงกระแสการเหยียดผิว เหยียดศาสนา และเหยียดเชื้อชาติที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างน่ากลัวในสังคมเยอรมัน ป้ายผ้าเต็มไปด้วยข้อความว่า “สันติภาพ” “ความรักอยู่เหนือความเกลียดชัง” “no fear”

อันที่จริงต้องกล่าวว่าปี 2017 เป็นปีแห่งการเติบโตของกระแสฝ่ายขวาทั่วโลกทีเดียว พรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยมสุดโต่ง ซึ่งมีแนวนโยบายชาตินิยมแบบสุดโต่งคับแคบแอนตี้คนต่างชาติ ผู้อพยพ และชาวมุสลิม ได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำในหลายประเทศในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (พรรคสุดโต่งเหล่านี้มักจะเป็นเพียงพรรคไม้ประดับในอดีต) ไล่มาตั้งแต่เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย และเยอรมนี

ในกรณีของเยอรมนีนั้นน่าตกใจเป็นพิเศษกว่าที่อื่น เพราะด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ทำให้สังคมเยอรมันมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษกับพรรคการเมืองแนวขวาสุดโต่งที่มีนโยบายเหยียดเชื้อชาติ หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา พรรคที่ขายนโยบายแบบนี้มักจะล้มเหลว แต่ในปี 2017 ปรากฏว่ามีพรรคที่ชื่อว่า AfD ได้ที่นั่งเข้าสภามาจำนวนไม่น้อย สร้างความตกใจให้กับผู้คน เพราะสมาชิกพรรคระดับนำหลายคนกล่าวชื่นชมแนวคิดของฮิตเลอร์อย่างเปิดเผย บางคนยังเสนอให้เขียนประวัติศาสตร์ประเทศใหม่ เลิกจดจำประเทศในฐานะผู้แพ้และอาชญากรสงคราม กระทั่งมีการเสนอให้ทำลายอนุสรณ์สถานหลายแห่งที่รำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิว เพราะมองว่าเป็นอดีตที่ไม่น่าภาคภูมิใจของชาติ แน่นอนว่าข้อเสนอนี้โดนคัดค้านจากคนเยอรมันจำนวนมาก

การชุมนุมของคนหนุ่มสาวเยอรมันที่พวกเราเข้าไปมีส่วนร่วมโดยไม่ตั้งใจในวันนั้น เป็นประจักษ์พยานว่า การเมืองของอดีตกับปัจจุบันไม่เคยแยกขาดจากกัน การเมืองอคติและการแบ่งแยกกำลังกลับมาหลอกหลอนโลกของเราในปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง ผู้นำในหลายประเทศฉวยใช้ความเกลียดชังและความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงอำนาจ มากกว่าสร้างการเมืองของความหวัง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภาวะเช่นนี้เคยนำโลกไปสู่โศกนาฏกรรมมาแล้ว ดังนั้น การเรียนรู้อดีตอย่างตรงไปตรงมาและเคารพต่อข้อเท็จจริงจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันทำให้เราเข้าใจว่าสังคมเราเดินมาถึงปัจจุบันได้อย่างไร การเรียนรู้ด้านที่ผิดพลาดล้มเหลวของชาติตน แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องน่าชิงชังอับอาย แต่มันคือภูมิคุ้มกันชั้นดีที่จะทำให้เราเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมีสติและไม่ทำผิดซ้ำรอยเดิม

น่าดีใจที่ในหลายสังคม คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมามีบทบาทอย่างคึกคักเข้มแข็งในการร่วมกันสร้างการเมืองของความหวังและความรักขึ้นมาแทนที่การเมืองของความหวาดกลัวและความเกลียดชัง โดยเก็บรับบทเรียนจากอดีต

 

3

 

ทุกวันนี้เวลาเดินผ่านป้ายรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตรงด้านสนามหลวงที่ผมทำงานอยู่ ใจอดคิดไปถึงป้ายรถเมล์ที่เบอร์ลินไม่ได้ มีเรื่องราวและร่องรอยของอดีตอยู่มากมาย ณ บริเวณนี้ โดยเฉพาะเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519

คงจะดีไม่น้อย ถ้าวันหนึ่ง เราจะมีอนุสรณ์แห่งความทรงจำเล็กๆ ที่ป้ายรถเมล์หรือใต้ต้นมะขามสนามหลวง เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์หน้านี้ส่งทอดต่อไปให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

เป็นเรื่องน่าดีใจที่ในวาระครบรอบ 41 ปี 6 ตุลาฯ ในปีนี้ ได้มีคนลุกขึ้นมาจัดทำเว็บไซต์โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ซึ่งเป็นพื้นที่บันทึกความทรงจำออนไลน์ที่รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไว้อย่างสมบูรณ์และละเอียดที่สุด มีการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ หลายประการที่สังคมไทยไม่เคยได้รับรู้มาก่อน คงจะดีไม่น้อยหากความทรงจำเหล่านี้จะถูกนำไปถ่ายทอดผ่านพิพิธภัณฑ์หรือช่องทางอื่นๆ ที่จะช่วยปลุกให้ความทรงจำกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

ในสังคมที่บิดเบือนและดัดแปลงอดีตให้กลายเป็นนิทานหรือละครหลังข่าวที่มีแต่ภาพมายาเพื่อกล่อมเกลาความเชื่อผู้คน สังคมนั้นมักจะหวาดกลัวการที่คนพยายามตั้งคำถามและเรียนรู้ถึงรากเหง้าที่มาของสังคมตนเองอย่างตรงไปตรงมา เพราะมันมีนัยถึงการสูญเสียอำนาจในการควบคุมความคิดจิตใจของพลเมืองซึ่งเป็นอำนาจที่สำคัญที่สุด

เราจึงพบการหวนคืนกลับมาของการเมืองในอดีตที่เคยเกิดขึ้นสมัย 6 ตุลาฯ รัฐมองคนที่คิดต่างเป็นศัตรู และมองพลังของคนหนุ่มสาวด้วยความหวาดกลัว คนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมถูกรัฐลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและบีบบังคับให้ต้องเงียบเสียงลง

สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือ สังคมที่ไม่อนุญาตให้พลเมืองของตนเองตั้งคำถามใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต … เหลือก็แต่ความเงียบและความสงบภายใต้การควบคุมของรัฐ หากปราศจากความเคลื่อนไหว ความใฝ่ฝัน และความหวังที่สร้างร่วมกันของประชาชน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save