fbpx

เติมหัวใจให้ระบบกฎหมาย นำความเป็นมนุษย์กลับสู่กระบวนการยุติธรรม ด้วย ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’

กระบวนการยุติธรรมควรเป็นกระบวนการที่เที่ยงตรง ปราศจากความลำเอียง และมอบความยุติธรรมให้กับผู้ที่ร้องขอ – ฟังดูแล้วประโยคนี้คงไม่ผิดอะไรเท่าไร แต่หากลองมองให้ถี่ถ้วนแล้ว หลายครั้งที่ลักษณะเหล่านี้กลับกลายเป็นสิ่งขวางกั้นความยุติธรรมเสียเอง ถ้าหากกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นกระบวนการที่เน้นแต่ตัวกระบวนการรวมถึงตัวบทกฎหมาย จนอาจหลงลืมมิติความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในหลายคดีที่เกิดขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเริ่มมีการพูดถึงการนำ ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ (restorative justice) เข้ามาปรับใช้ในระบบยุติธรรม กระบวนการดังกล่าวเป็นระบบที่มุ่งไกล่เกลี่ยและรักษาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ มุ่งทั้งโอบรับผู้เสียหายและมุ่งเยียวยาผู้กระทำผิดเพื่อคืนคนดีกลับสู่สังคม

นอกจากนี้ หากเรามองว่าทุกครั้งที่เกิดการกระทำผิดขึ้น คนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีเพียงแค่ผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิด แต่ยังรวมเอาสังคมรอบตัวของทั้งสองฝ่ายเข้าไปด้วย แนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงรวมเอาชุมชนและคนรอบตัวของทั้งสองฝ่ายเข้าไปร่วมในกระบวนการด้วย เพื่อมุ่งเยียวยาทุกคนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงและครอบคลุม

เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดงานเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 20 ปี เอกสาร Basic principles on the use of restorative justice programmes in criminal matters (หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา) ซึ่งเป็นเอกสารที่เปรียบเสมือนหมุดหมายสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยงานเสวนาดังกล่าวได้รวบรวมบุคลากรจากหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันเสวนาเกี่ยวกับภาพรวมที่ผ่านมาของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การดำเนินการในระยะต่อไป และการมุ่งขยายผลการใช้กระบวนการดังกล่าวเข้าไปในรากแก้วที่สำคัญของสังคมอย่างโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และจะสร้างภาพระบบยุติธรรมที่ครอบคลุมและโอบรับทุกความเป็นมนุษย์ไว้ได้อย่างไร ชวนหาคำตอบได้ในบรรทัดถัดจากนี้

1

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับความยุติธรรมทางอาญา

สองทศวรรษแห่งกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) | ภาพจาก TIJ

“ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เอกสารสำคัญอย่างหนึ่งของสหประชาชาติคือ Basic principles on the use of restorative justice programmes in criminal matters ได้รับการรับรองโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ได้รับการพัฒนา ทั้งในแง่การสร้างกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและสร้างผลลัพธ์ที่มีความสมานฉันท์ได้จริง”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้า ที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ลงหลักปักฐานและตั้งหมุดหมายในระดับโลก อย่างไรก็ดี กิตติพงษ์อธิบายว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงในทางวิชาการก่อนที่จะมีเอกสารดังกล่าว เช่นในประเทศไทย มีการพูดถึงแนวคิดการปรับกระบวนทัศน์ที่ไม่ใช่การลงโทษพร่ำเพรื่อ ให้ความสำคัญกับผู้เสียหาย และมีกระบวนการที่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างความสำนึกผิด นำไปสู่การให้อภัย และก่อให้เกิดการเยียวยาได้อย่างแท้จริง

“ในช่วงสมัยปี 2540 มีการพูดถึงเรื่องนี้เพื่อรวบรวมความเห็นและนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 ตอนนั้นผมกับทีมที่ทำเรื่องนี้เจอความท้าทายอย่างหนึ่งว่า จะเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าอย่างไร เพราะ restoration แปลว่าการฟื้นฟูเยียวยา แต่ถ้าเราเรียกแบบนี้จะไปสอดคล้องกับแนวคิด rehabilitation ซึ่งอาจไม่สามารถครอบคลุมแนวคิดของหลักการนี้ได้ทั้งหมด”

กิตติพงษ์เล่าต่อว่า ตอนนั้นตนเองนึกถึงคำว่า ‘สมานฉันท์’ เพราะ ‘สมาน’ แปลว่าทำให้สนิทติดกันหรือนำมาเชื่อมกัน ให้ความรู้สึกของการเยียวยารักษาความสัมพันธ์ให้ดีเดิม ส่วน ‘ฉันท์’ หรือ ‘ฉันทะ’ แปลว่าความพอใจที่จะทำสิ่งนั้น ดังนั้น กิตติพงษ์จึงสรุปว่า สมานฉันท์ในความหมายของตนเองคือ “ความพยายามที่จะเข้าไปเยียวยาความสัมพันธ์ให้สมานกันได้ดีดังเดิมเพื่อความพอใจของทุกฝ่าย”

“ช่วงแรกๆ ที่มีการดำเนินการเรื่องนี้ในไทย คนสนใจเรื่องนี้กันมากเพราะเป็นเรื่องใหม่ น่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทยได้หลายเรื่อง ทั้งการใช้โทษจำคุกพร่ำเพรื่อเกินไป รวมไปถึงการช่วยยกระดับการให้ความสำคัญกับผู้เสียหาย เพราะโดยทั่วไปแล้ว กระบวนการยุติธรรมทางอาญามักถูกมองว่าเป็นเรื่องของรัฐ รัฐคือผู้เสียหาย แต่จริงๆ แล้วผู้เสียหายคือคนที่สำคัญและควรได้รับการเยียวยามากที่สุด อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือครอบครัวได้มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งของสังคมไทยแต่เดิม”

แม้จะมีความพยายามจากหลายหน่วยงานในการนำหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้าไปใช้ ในขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็ยังต้องเจอกับความท้าทายหลายประการ โดยกิตติพงษ์ชี้ให้เห็น ดังนี้

ประการแรก ปัญหาเรื่องกฎหมายที่จะนำมารองรับเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยกิตติพงศ์ชี้ว่า ความคิดแบบเก่ายังมองว่าความผิดอาญาเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเป็นผู้เสียหาย เมื่อเปิดโอกาสให้มีการไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายเข้ามามีส่วนร่วมทำให้นักกฎหมายอาญาในกรอบความคิดเดิมจะรับได้ยาก และ ประการที่สอง คือการขาดประสบการณ์ในการใช้ทางเลือกแทนการลงโทษ และไม่สามารถพิสูจน์ให้สังคมเห็นได้ว่า ทางเลือกดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการสร้างความสำนึกผิดได้ไม่น้อยไปกว่ากัน

ในช่วงท้าย กิตติพงษ์กล่าวสรุปแนวทางการดำเนินการต่อไปว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องควรทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้ถ่องแท้ โดยไม่เหมารวมว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นประเพณีของไทย เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องความเกรงใจผู้ใหญ่ ความมีอำนาจเหนือของผู้ไกล่เกลี่ย แต่ไม่ได้นำไปสู่ความยินยอมพร้อมใจของผู้เสียหายหรือความสำนึกผิดของผู้กระทำความผิดจริงๆ

อีกประการคือ ประเทศไทยยังไม่มีระบบรองรับเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขัง (non-custodial sanction) ที่ชัดเจน จึงควรมีการพัฒนาระบบรองรับและติดตามผลที่ได้ รวมถึงต้องสื่อสารกับสังคมว่าการลงโทษไม่ได้เพียงแค่เรื่องของการจำคุก แต่ยังมีวิธีอื่นที่สามารถสร้างให้เกิดความรู้สึกสำนึกผิดได้ใกล้เคียงกัน

“เราควรมองว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ถ้าเราทุกคนมี restorative mindset นำเรื่องนี้ไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ในโรงเรียน สร้างกระบวนการรับฟังที่ดีให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้ นี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สามารถแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นเหตุอย่างแท้จริง” กิตติพงษ์ทิ้งท้าย

‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ หนทางสู่การพัฒนาที่มอบความยุติธรรมให้ทุกคน

อิวอง ดันดูรัน (Yvon Dandurand) และ วงศ์เทพ อรรถไกวัลวที

อิวอง ดันดูรัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มหาวิทยาลัยแห่งแฟรเซอร์แวลลีย์ แคนาดา

เมื่อมองในระดับสากล อิวอง ดันดูรัน (Yvon Dandurand) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มหาวิทยาลัยแห่งแฟรเซอร์แวลลีย์ แคนาดา ชี้ว่า กระบวนการยุติธรรมเขิงสมานฉันท์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ซึ่งมุ่งมอบความยุติธรรมให้กับทุกคน

อิวองชี้ว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต้องให้ความสำคัญกับหลายประเด็น โดยเฉพาะการสร้างเสริมศักยภาพ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้กระบวนการดังกล่าว

“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างระบบยุติธรรมทางอาญา ผู้เสียหาย และชุมชน” อิวองกล่าว อย่างไรก็ดี เขาได้ชี้ให้เห็นความท้าทายว่า แม้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่กระบวนการดังกล่าวก็ยังต้องการการดำเนินการอีกมาก เช่น การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมรุนแรง

ความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในวาระของสากลยังถูกเน้นย้ำโดย วงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาพิเศษของ TIJ โดยวงศ์เทพชี้ว่า กระบวนการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้สนับสนุนการเชื่อมต่อกันระหว่างหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

วงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

“ถ้าเรามองว่าหลักนิติธรรมเป็นทางด่วน (highway) กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็เปรียบเหมือนรถที่วิ่งอยู่บนทางด่วนเพื่อมุ่งไปสู่สันติภาพและความสมานฉันท์ในสังคม”

วงศ์เทพยังกล่าวถึงความสำคัญของความยุติธรรมซึ่งสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนบทบาทของชุมชน โดยเฉพาะในกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด และอาจนำไปสู่ทางแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจร่วมกัน อีกทั้งยังควรมีความร่วมมือในระดับสากลเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต่อไป

การประยุกต์ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับเด็กและเยาวชน

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และ ทิชา ณ นคร

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ | ภาพโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

หนึ่งในกลุ่มที่มีการปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ด้วยมากที่สุดคือกลุ่มเด็กและเยาวชน โดย ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ที่มีมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาในรูปแบบการประชุมและจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูออกมาเพื่อรองรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

“สิ่งนี้ยังตอกย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ได้มีไว้แค่เพื่อรองรับการกระทำความผิดเพื่อแก้ไขเด็กและเยาวชนแบบเป็นองค์รวมเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้รับมือกับการกระทำความผิดทางอาญาของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะในพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ที่เพิ่งออกมาเพื่อรองรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งทางแพ่งและทางอาญา

“การนำเรื่องนี้ไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสแสดงความสำนึกผิดต่อสิ่งที่กระทำ มีโอกาสแสดงความขอโทษพร้อมทั้งรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การให้อภัย การกลับคืนสู่ครอบครัว และการยอมรับจากชุมชนเมื่อผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่ชุมชนแล้ว”

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

ขณะที่ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานว่า “เด็กที่ก่ออาชญากรรมไม่ได้เกิดมาเพื่อติดคุกหรือเป็นคนเลว แต่มีปัจจัยร่วมทั้งระดับครอบครัวและสังคมเต็มไปหมด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ต้องการนโยบายและการดูแลทางสังคม ซึ่งอาจจะยังขาดแคลนอยู่ในไทย”

“เพราะฉะนั้น ใครที่อ่อนแอและเปราะบางที่สุดจะเป็นผู้ได้รับผลไปก่อน เมื่อเด็กที่ทำผิดถูกส่งมาที่บ้านกาญจนาฯ ด้วยข้อหาที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ สิ่งที่เรารู้สึกคือเขายังมีคุณค่าและไม่มีวิธีไหนจะดีไปกว่าการโอบกอดเขา”

ทิชาเล่าว่า เมื่อเด็กและเยาวชนมาถึงบ้านกาญจนาภิเษกแล้ว จะมีการผูกข้อมือ รับขวัญ และกอด เพื่อยืนยันว่าเด็กเหล่านี้มีอีกคนที่เป็นคนดีอยู่ในตัวเขา กระบวนการเหล่านี้จะช่วยสร้างพลังใจให้เขามากขึ้น พร้อมกับสะท้อนให้เห็นห่วงโซ่ของความเสียหายที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน

“ตัวละครสำคัญที่เราต้องดึงเข้ามาร่วมด้วยคือพ่อแม่ของผู้กระทำความผิด แน่นอนว่าพวกเขาอาจจะคิดว่าตนเองเลี้ยงลูกดีแล้ว แต่การที่ลูกของคุณไปทำผิดกับคนอื่นทำให้คุณควรจะถูกเปลี่ยน mindset ด้วยเช่นกัน”

ทิชาอธิบายก่อนว่า งานสำคัญคือการแสดงให้เห็นว่าคู่ขัดแย้งสามารถกลับมาคืนดีกันได้ ซึ่งจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแค่ในแง่ของความรู้สึก แต่ยังส่งผลต่อความรู้สึกของผู้เสียหายที่รู้สึกว่าตนเองมีโอกาสได้ให้อภัยผู้อื่นด้วย

“ทั้งหมดนี้ทำให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน เด็กๆ ในนั้นเห็นหลายกรณีที่ถูกคลี่คลายทั้งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ และทุกคนอยากเป็นคนนั้น คนที่ได้รับการให้อภัย เพราะเมื่อไรที่พวกเขารู้สึกว่าได้รับการให้อภัยจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าใจของตนเองสะอาดขึ้น และนำไปสู่แรงจูงใจในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และการก่ออาชญากรรมซ้ำจะเกิดขึ้นได้น้อยที่สุดภายใต้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ทิชาทิ้งท้าย

Recap กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสายธารกระบวนการยุติธรรมภาพใหญ่

อุกฤษฏ์ ศรพรหม

อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้วิจัยหลักและผู้จัดการโครงการ TIJ | ภาพจาก TIJ

“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้รับการนำไปใช้ทั้งในไทยและทั่วโลก เป็นที่ยอมรับทั้งในฐานะเครื่องมือทดแทนและส่วนเสริมกระบวนการยุติธรรมตามปกติ”

นี่คือคำกล่าวนำจาก อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้วิจัยหลักและผู้จัดการโครงการ TIJ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า ในส่วนแรก การเป็น ‘เครื่องมือทดแทน’ คือการที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะเข้ามาแทนที่กระบวนการเชิงแก้แค้นทดแทนที่เป็นเสมือนกำแพงกั้นกลางระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิด ผลักให้ทั้งสองฝ่ายยืนอยู่คนละฝั่งในกระบวนการยุติธรรม และนำพยานหลักฐานมาต่อสู้กันในคดีอาญา ทว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะทลายกำแพงที่ว่าลง และพยายามเปิดให้มีการพูดคุยและสร้างความเข้าใจกันระหว่างสองฝ่าย

ในส่วนที่สอง การเป็นส่วนเสริมหรือทางเลือก เป็นการที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะถูกใช้เพื่อหันเห (divert) คดีออกไปจากกระบวนการยุติธรรมตามปกติตั้งแต่ก่อนมีการพิจารณาคดีในชั้นพนักงานสอบสวน หรือแม้กระทั่งในชั้นศาลเองก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน จะเห็นว่ามีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอนุญาตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจตามกฎหมายสามารถเลือกนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ได้

ทั้งนี้ อุกฤษฏ์เสริมว่า ในบางคดีที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือเป็นคดีที่มีความรุนแรง มีอัตราโทษสูง หรือสามารถก่อความเสียหายร้ายแรงต่อสังคมได้ คดีเหล่านี้จำเป็นจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามปกติ แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถเข้ามาแทรกได้ในทุกขั้นตอน โดยขึ้นกับผู้มีอำนาจที่จะนำกระบวนการดังกล่าวมาเสริม

“เราจะเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ได้เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน สังคม ที่เป็นค่านิยมหรือวัฒนธรรมเดิม แต่จะรองรับส่วนนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะค่านิยมของชุมชนท้องถิ่นที่มีการระงับข้อพิพาท หรือแม้แต่ในระดับที่เล็กลงมา เช่น โรงเรียน ที่ทำงาน ก็นำกระบวนการฯ ตรงนี้มาใช้ได้เช่นกัน

“นอกจากนี้ ที่ทุกท่านเน้นย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มุ่งเยียวยาผู้เสียหายและเน้นการทำให้ผู้กระทำความผิดสำนึกผิด ส่วนนี้จะเป็นกระบวนการสำคัญที่อาศัยทักษะเฉพาะของผู้จัดกระบวนการในการดึงความต้องการและความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ของผู้เสียหายออกมา รวมถึงดึงเหตุผลและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อและเป็นปัจจัยต่อการกระทำความผิดมาพูดคุยและทำความเข้าใจกัน ทำให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายสามารถกลับคืนสู่ความสมานฉันท์ดังเดิม โดยเฉพาะคู่ที่เคยมีความสัมพันธ์อันดีมาก่อน”

อุกฤษฏ์ยังฉายภาพถึงกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยพัฒนาการที่สำคัญและถือว่าโดดเด่นที่สุดคือในฝั่งกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน (juvenile justice) โดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจในการเบี่ยงเบนเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการยุติธรรม สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้พวกเขาสามารถเติบโตต่อไปได้โดยไม่เกิดการตีตราใดๆ

ในกรณีของผู้ใหญ่ อุกฤษฏ์ชี้ว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ได้ถูกระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายใด ยกเว้นพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 ทว่ากระบวนการฯ ดังกล่าวได้สอดแทรกในกฎหมายฉบับอื่นๆ อยู่อีกมากมาย

“ผมอยากชี้ให้เห็นภาพรวมว่า เรามีกระบวนการที่หลากหลายและขึ้นกับกฎหมายหลายฉบับที่แตกต่างกัน มีอำนาจแตกต่างกัน และมีเงื่อนไขการนำกระบวนการเข้ามาใช้ที่แตกต่างกัน เราจึงเห็นภาพที่แสดงลักษณะแตกต่างและไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวในกระบวนการของไทย”

อุกฤษฎ์ชี้ให้เห็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในไทยยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร โดยปัจจัยหลักอย่างแรกคือการตระหนักรู้ของสาธารณชนที่ยังยึดถือบทลงโทษที่รุนแรงแบบตาต่อตาฟันต่อฟันกัน การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่มีความไม่ต่อเนื่องกันอยู่ และการทำงานระหว่างหน่วยงานที่ยังไม่เกิดการบูรณาการมากเท่าที่ควร

ในตอนท้าย อุกฤษฏ์ได้กล่าวถึงนวัตกรรมใหม่อย่างระบบติดตามประเมินผลที่กำลังมีความพยายามพัฒนากันอยู่ โดยใช้วิธีติดตามประเมินผลผ่านทางเว็บไซต์ ออกแบบระบบให้เข้าถึงได้ง่าย และสามารถสนับสนุนทุกคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการได้

“ในอนาคต เราจะรวบรวมข้อมูลเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่และให้เครื่องจักร (machine) ช่วยพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง นำข้อมูลมาเป็นฐานประเมินสิ่งที่เป็นระบบและปัจจัยความสำเร็จที่สามารถจะขับเคลื่อนต่อไปได้” อุกฤษฏ์ทิ้งท้าย

2

การส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

ก้อนหินที่หายไป การให้อภัยที่กลับคืนมา

สมชัย พุทธจันทรา

สมชัย พุทธจันทรา

หนึ่งในคดีสำคัญที่เป็นที่พูดถึงในสังคมเมื่อหลายปีก่อนคือ คดีที่ตลกร่างเล็กคนหนึ่งถูกปาก้อนหินใส่รถจนเสียชีวิต เด็กที่ก่อคดีคนนั้นได้เข้าสู่บ้านกาญจนาภิเษกภายใต้การดูแลของป้ามล (ทิชา ณ นคร) จนกระทั่งนำไปสู่พิธีขอขมาและการให้อภัยจากภรรยาของตลกร่างเล็กในที่สุด

หากเปรียบเรื่องนี้เป็นหนังสักเรื่อง นี่คงเป็นหนังระดับตำนานที่หลายคนหยิบยกกันมาพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะการสะท้อนให้เห็นภาพของการให้อภัยและคุณค่าที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สร้างให้เกิดขึ้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คดีดังกล่าวถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดี ก้อนหินที่หายไป กำกับโดย สมชัย พุทธจันทรา

“ตอนที่ได้ยินคำว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ครั้งแรก เราก็ค่อนข้างแปลกใจว่าความยุติธรรมจะสมานฉันท์ได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นเรื่องของความถูกผิด แต่พอได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก็เข้าใจหัวใจสำคัญข้อหนึ่งคือ ถ้าใครๆ ใช้กระบวนการยุติธรรมได้ ใครๆ ก็ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้”

สมชัยชี้ให้เห็นว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องเริ่มทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการฯ ดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องของคู่กรณี ตำรวจ หรือศาล แต่มีคนอีกมากมายที่สามารถมาอยู่ร่วมได้และป้องกันไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำอีก

“ถ้าจะถามถึงแก่นของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ผมคิดว่าสมานคือการทำให้เชื่อมติดกัน แต่ก็มีนัยซ้อนอีกว่าการจะทำให้สิ่งเหล่านั้นเชื่อมติดกันได้ต้องทำให้มันเข้ากัน เสมอกันก่อน จึงจะเชื่อมเข้าหากันได้อย่างสนิทแนบแน่น แน่นอนว่าในการสูญเสีย ต้องมีคนหนึ่งรู้สึกว่าตนเองสูญเสียมากกว่าอีกคนหนึ่ง แต่เราก็ต้องทำให้คนชมภาพยนตร์เห็นว่า เราจะสมานกันได้แม้รู้สึกสูญเสียต่างกัน นี่คือหัวใจข้อหนึ่ง

“ส่วนฉันท์หรือฉันทะเป็นข้อหนึ่งในอิทธิบาท 4 อยู่แล้ว คือการจะทำให้เกิดการสมานกันได้ต้องทำให้เกิดความพอใจหรือยินดีร่วมกันก่อน คีย์เวิร์ดสองข้อนี้จึงกลายเป็นการตีความเพื่อนำมาเล่าในภาพยนตร์ และผมมองว่านี่ก็คือหัวใจของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”

ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ สมชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วคำว่าสมานฉันท์อยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนานตั้งแต่เมื่อหนึ่งหรือสองศตวรรษก่อน ทว่าคำนี้อาจจะหายไปบ้างในปัจจุบัน เขาจึงเลือกใช้ ‘ก้อนหิน’ เป็นสัญลักษณ์แทนอัตตา ตัวตน หรือความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้ความสมานฉันท์หายหรือเบาบางลงไป

“เวลาเกิดความขัดแย้งขึ้นสักอย่าง เราอาจจะเริ่มจากการทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นให้ถี่ถ้วน รอบด้าน แล้วจึงมาดำเนินกระบวนการ ตัดสินว่าควรเป็นอย่างไรต่อไป เราไม่ควรรีบร้อนตัดสินว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้แน่ๆ ยิ่งในสังคมปัจจุบัน ผมว่านี่เป็นปัญหาของสังคมเราที่สุดในปัจจุบัน ผมจึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวนี้ให้สังคมรับรู้

“ผมว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สมานฉันท์อยู่แล้ว แต่เราอาจจะลืมมันไปเท่านั้นเอง” สมชัยทิ้งท้าย

‘RJ in School’ หยั่งรากแก้วความสมานฉันท์ในสถาบันการศึกษา

อดิศร จันทรสุข และ คฑาวุธ สิทธิโชคสกุล

หนึ่งในความพยายามของ TIJ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการขับเคลื่อนในกลุ่มโรงเรียน โดย TIJ ได้ร่วมมือกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยในการผลักดันเรื่องนี้

“ผมอยากเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นโครงการนำร่อง (pilot project) เพราะโครงการนี้อาจต้องการกระบวนการในการทำงานและการช่วยกันพิจารณาเพื่อนำผลไปประยุกต์และพัฒนาต่อไป” ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวนำ

ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการนำความเป็นมนุษย์กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง เพราะหลายครั้งเมื่อเราพูดถึงกระบวนการยุติธรรม เรามักมองอีกฝั่งเป็นศัตรู แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าหลักการสำคัญคือการพาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับมาฟังกัน พยายามเข้าใจความรู้สึกทั้งของเราเองและอีกฝ่าย เข้าใจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ก้าวเดินหน้าต่อไป”

และที่สำคัญ อดิศรมองว่า เป็นหน้าที่ของระบบการศึกษาที่จะต้องนำมิติความเป็นมนุษย์เหล่านี้กลับมาอยู่ในพื้นที่การเรียนรู้ให้ได้

สำหรับอดิศรแล้ว ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่เขามองว่าไม่ใช่เรื่องปกติคือวิธีการจัดการความขัดแย้ง ทั้งใช้อำนาจ บังคับให้ชดใช้ ซึ่งเขามองว่า คนที่โดนบังคับให้ชดใช้ก็จะชดใช้ด้วยความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ผิด แต่ต้องทำเพราะมีกฎหมายบังคับควบคุมอยู่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมิติความเป็นมนุษย์กลับมาให้คนกระทำผิดเห็นว่าสิ่งที่เขาได้ทำลงไปกระทบผู้อื่นและเริ่มสำนึกผิด รวมถึงอยากเยียวยาทั้งผู้เสียหายและครอบครัวของตนเอง

นอกจากนี้ อดิศรยังชี้ว่า ‘ครู’ คือผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการที่ครูจำเป็นต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เพื่อให้เข้าใจและสามารถทำงานต่อไปได้

“สำหรับผม ผมว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกเคส ทุกสถานการณ์ ทำให้คนมองเห็นความเป็นมนุษย์ระหว่างกัน เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกทั้งของตัวเองและของอีกฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในสังคมไทย”

ขณะที่อีกหนึ่งภาคีเครือข่ายอย่างมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ภราดา คฑาวุธ สิทธิโชคสกุล หัวหน้าสำนักฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว โรงเรียนในเครือฯ ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับความสมานฉันท์มาปรับใช้ได้สักระยะหนึ่งโดยการปรับเปลี่ยนวิธีการในระบบโรงเรียน

ภราดา คฑาวุธ สิทธิโชคสกุล หัวหน้าสำนักฝ่ายวิชาการ มูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย | ภาพจาก TIJ

“เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘ห้องปกครอง’ เด็กๆ ฟังแล้วก็คงคิดว่าถ้าเข้าไปแล้วต้องเป็นห้องเย็นแน่ๆ เหมือนศาลที่มีครูคอยตัดสิน แต่เราเปลี่ยนจากห้องปกครองเป็นห้องอภิบาล ห้องที่คอยดูแลเอาใจใส่นักเรียน เราจะไม่ได้แค่ลงโทษแต่พูดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน”

คฑาวุธยังยกตัวอย่างการดำเนินการเพิ่มเติมของมูลนิธิฯ โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นสร้างการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กทุกคน จัดสัมมนาให้ครูเรียนรู้สิทธิเด็กและสอนให้เด็กเรียนรู้สิทธิของตนเอง

“เราอยากให้ผู้แทนนักเรียนมาร่วมกับเราสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำกระบวนการต่างๆไปใช้กับเพื่อนได้ ให้เด็กๆ ได้รู้ว่าไม่ใช่ทุกปัญหาต้องแก้ด้วยข้อกฎหมาย แต่เริ่มจากการเปิดใจ เข้าอกเข้าใจ และมีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) กัน ซึ่งจะส่งผลไปถึงความสันติในที่สุด” คฑาวุธทิ้งท้าย

การพัฒนาระบบติดตามประเมินผลกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

ไพสิฐ พาณิชย์กุล และ เชิญพร เรืองสวัสดิ์

ดร.เชิญพร เรืองสวัสดิ์ และ ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | ภาพจาก TIJ

“คอนเซปต์เรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าพูดในมุมของนักวิชาการ เรื่องนี้สามารถนำไปใช้ได้ในบริบทต่างๆ ซึ่งต้องขึ้นกับความเฉพาะของพื้นที่ด้วย โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความเชี่ยวชาญและมีฐานข้อมูลที่จะช่วย TIJ พัฒนาแพลตฟอร์มเครื่องมือระบบติดตามประเมินผลของกระบวนการฯ ได้”

ดร.เชิญพร เรืองสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบาย พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า ความท้าทายในการสร้างระบบติดตามประเมินผลคือรูปแบบที่หลากหลายของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมถึงการมุ่งเน้นสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้การติดตามประเมินผลออกมาในรูปแบบการบูรณาการเชิงระบบ

“แม้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะเริ่มจากกระบวนการยุติธรรม แต่เราก็มองว่านี่คือตัวกระบวนการด้วยเช่นกัน คือขยายไปวงอื่นและไปดีลกับความขัดแย้งในลักษณะอื่นได้ เราจึงมักจะมองกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในมุมมองของการฟื้นฟูผู้กระทำผิด มองความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกกระทำกับผู้กระทำ โดยยึดการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจผู้ถูกกระทำ และในบางครั้งที่มีปัญหาว่าคู่กรณีไม่ชัดเจน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็สามารถเข้าไปจัดการตรงนี้ได้”

เชิญพรอธิบายต่อว่า ในเรื่องของการสร้างแพลตฟอร์มหรือฐานข้อมูลสำหรับเป็นฐานนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสนใจในแพลตฟอร์มนี้ และเข้ามาส่งข้อมูลให้แพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลในเชิงพื้นที่ซึ่งต้องอาศัยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดในชุมชน ซึ่งเชิญพรมองว่า เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาต่อไป

ขณะที่ ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสริมว่า นอกจากการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว การพัฒนาระบบฐานข้อมูลหรือแพลตฟอร์มโดยนำเคสต่างๆ มาเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และต้องอาศัยองค์ความรู้ที่หลากหลาย สกัดออกมาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ทำให้สามารถใช้เป็นฐานความรู้ได้ต่อไป

“ถ้าเรามีฐานข้อมูลและมีการทบทวนต่อยอดมากพอ จะเป็นส่วนสำคัญนำไปสู่บทเรียนว่าเราจะไม่เดินซ้ำในความขัดแย้งนั้น แต่จะช่วยวางแผนป้องกัน หากวิธีการให้สังคมสามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) และปัจจัยต่างๆ เพื่อนำไปสู่การป้องกันในทุกระดับได้”

“ผมมองว่า นับวัน เรื่องนี้จึงยิ่งกลายเป็นกระแสหลักในกระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อรายกรณี นี่จะเป็นตัวอย่างสำคัญสำหรับผู้กระทำความผิดหรือผู้ถูกกระทำ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในการหาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อหาวิธีสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย”

ในตอนท้าย ไพสิฐชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่จะเกิดขึ้นได้ คือการต่อยอดฐานข้อมูลในพื้นที่ และการนำเรื่องความยุติธรรมชุมชนเข้ามาใช้ประกอบ

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในมุมมองของภาครัฐ

ธปภัค บูรณะสิงห์

ดร.ธปภัค บูรณะสิงห์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการระงับข้อพิพาท กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม | ภาพจาก TIJ

“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือเรื่องหนึ่งที่กฎหมายไทยมีความมุ่งมั่นและมีพัฒนาการที่จะนำกระบวนการดังกล่าวไปสู่กระบวนการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาให้สังคม”

ดร.ธปภัค บูรณะสิงห์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการระงับข้อพิพาท กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวนำ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงเรื่องความยุติธรรม ตั้งแต่ระดับสากลที่มุ่งสร้างความสมานฉันท์ผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 16 นำมาซึ่งแผนแม่บทกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่พยายามกำหนดกระบวนการยุติธรรมไทยให้ส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งทางอาญา แพ่ง พาณิชย์ และปกครอง

ธปภัคยังกล่าวถึงความพยายามของภาครัฐในการพัฒนากระบวนการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา หรือแนวคิดความยุติธรรมชุมชน โดยชี้ให้เห็นว่าแม้ชุมชนจะมีกระบวนการเจรจาแก้ปัญหากันแล้ว แต่กลับมีคนบางส่วนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงทำให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เสียเวลาและเกิดเป็นต้นทุนในการพิจารณาคดี จึงนำมาซึ่งการส่งเสริมการใช้พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562

“ถ้าเราไปดูคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักจะพบว่ามีไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าเราหันมาใช้กระบวนการหันเหคดีออกไปก็อาจจะช่วยลดปริมาณตรงนี้ได้ หรือถ้าบางคดีเข้าถึงชั้นสอบสวนแล้ว แต่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ เราก็มีส่วนที่ระบุไว้ว่าให้เจ้าพนักงานสอบสวนสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในการดำเนินการ ถ้าคดีไม่จบก็สามารถดำเนินการสืบสวนดำเนินคดีได้ต่อ”

อีกกลไกสำคัญของภาครัฐคือศูนย์ยุติธรรมชุมชนที่ไม่ได้ดำเนินการแค่การไกล่เกลี่ย แต่ทำตั้งแต่การป้องกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุขึ้นในชุมชน รวมถึงอำนวยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิที่ตนพึงมีพึงได้ หากเกิดคดีใดขึ้น รัฐอาจเข้าไปช่วยดูแลก่อนเพื่อเยียวยาในเบื้องต้น และอาจจะดำเนินการเพื่อให้เกิดการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต่อไป

“ถ้ามองไปถึงตอนที่ผู้กระทำความผิดถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว เราอาจจะใช้แนวคิดความยุติธรรมชุมชนในการดูแลผู้พ้นโทษ ให้โอกาสเขากลับตัวเป็นคนดีได้”

ในตอนท้าย ธปภัคเน้นย้ำถึงการทำงานแบบเชื่อมโยงบูรณาการ โดยตอนนี้กระทรวงยุติธรรมกำลังพัฒนากระบวนการใช้การยื่นขอไกล่เกลี่ยออนไลน์ (e-mediation) และเป็นแหล่งฐานข้อมูลที่จำเป็น และอาจจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลที่ TIJ กำลังพัฒนาได้ในอนาคต

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save