fbpx

ซาวปีที่คิดถึง ‘จรัล มโนเพ็ชร’ คำเมืองและความหวังที่ค่อยๆ หายไป

“ดีดซึงขับเพลงหัวอกฮ่ำไห้ ส่งเจ้าดวงดอกไม้ ไปเป๋นเมียนาย”

เพลง เจ้าดวงดอกไม้

จรัล มโนเพ็ชร

ผมโตมากับจรัล มโนเพ็ชร ได้ยินเพลงของอาว[1]จรัลมาตั้งแต่สมัยละอ่อน ปีที่อัลบั้มอาวจรัลออกวางแผง (สมัยบะเดี่ยวเขาใช้คำว่าเดบิวต์กันหมดแล้ว แต่รุ่นผม ‘วางแผง’ เป็นเทปคาสเซ็ตต์) เป็นปีเดียวกันกับปีที่ผมเกิด (ไม่บอกว่าปีไหน) ช่วงเวลาที่ผมเติบใหญ่ก่เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เพลงของอาวจรัลเบ่งบาน ผลิดอกออกผลไปทั่วภาคเหนือและหอมไกลมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งบ่ง่ายเลยในสมัยนั้น 

นึกย้อนไปเพลงอย่าง ‘อุ๊ยคำ’ (2519) ‘สาวเจียงใหม่’ (2524) ‘หม่าเมี๊ยะ’ (2524) หรือ ‘ของกิ๋นคนเมือง’ (2520) ล้วนเป็นเพลงที่ล่องลอยอยู่ในความทรงจำ หลายเพลงตีขนานไปกับเหตุการณ์ในชีวิตของผมก่ว่าได้ แบบที่ผมเองก่ไม่รู้ว่ามันมาจะได แต่มันซึมซับเข้าไปแบบไม่รู้ตัว เชื่อว่าคนในเจนเนอเรชันผมในถิ่นคนเหนือตวยกันเอง เราทุกคนมีความเกี่ยวโยงกับเพลงของอาวจรัลไม่ทางใดก่ทางหนึ่ง และไม่ว่าคุณจะฮักชอบความเป็นพื้นถิ่นหรือว่าบ่สน บ่ยุ่ง บ่เกี่ยว แต่เพลงอาวจรัลยังมีอิทธิพลกับสังคมละอ่อนเด็กยุคนั้นพอสมควร

ผมจะไม่กล่าวถึงประวัติอาวจรัล อันนี้ไปหาอ่านได้ป่ะเล้อป่ะเต๋อในอินเทอร์เน็ต แต่อยากแบ่งประสบการณ์ในฐานะแฟนเพลงคนนึ่งของจรัลว่า ทำไมนักดนตรีคนนี้ถึงถูกพูดถึงในฐานะทหารกล้าของชาวล้านนา

ถ้าคุณเกยฟังเพลงของจรัลจะพบว่า เพลงกว่าสองร้อยกว่าเพลงที่แต่งขึ้นนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลายของเนื้อหาอยู่นัก มีตั้งแต่เพลงแบบคนมองโลกในแง่ดี ม่วนงัน สนุกสนาน แต่ก่มีเนื้อหาคมคายในการในเสนอ ความสามารถในการใช้คำ-เป๋นนายของคำ-ถือเป็นส่วนนึ่งที่ทำให้ ‘เพลงจรัล’ มีบุคลิกที่แตกต่างร่วมสมัย แม้กระทั่งวงสะล้อซอซึงอันเป็นรากเหง้าดั้งเดิมของจรัลเอง หากเป็นสำเนียงที่คุณจรัลแต่ง ก่จะฮู้ได้ทันทีเลยว่านี่เป็นเพลงที่แตกต่าง เช่นเพลง ‘ฮานี่บาเฮ้ย’ ที่ร้องคู่กับคุณสุนทรีย์ เวชานนท์

“ช. ขายควาย ได้เงินสามปัน แจ่มจันทร์ อ้ายเหลือแต่งัว ไถนาสองตัว

ญ.ไปขายงัว เหียก่อน

ต๋อน ยอน ต๊ะ ตอน ย้อน ต๊ะ ตอน หย่อน ต๋อน ยอน ต๋อน ยอน

ช.ขายงัว ได้เจ็ดปันป๋าย เสีย ดาย บ่ได้ ไถนา

น้องคงบ่ว่า

ญ.ไปขายนา เหียก่อน”

เพลง ฮานี่บ่าเฮ้ย

เพลงนี้ฟังแบบไม่คิดมากก่ดูสนุกสนานม่วนดี แต่ถ้าคิดลึกไปอีกหน่อย ก่จะเห็นว่าอาวจรัลกำลังยั่วล้อกับความเจริญที่เริ่มเข้ามาในเชียงใหม่ตามการมาถึงของมหาวิทยาลัยและสนามบิน สังคมกำลังเปลี่ยน มองเรื่องเงินทองสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งความรักของหนุ่มสาวว่ากว่าจะได้เป็นผัวเป็นเมีย ก่ต้องขายข้าวขายครัวจนหมดเนื้อหมดตัว

เพลงเหล่านี้กลายเป็นส่วนนึ่งของเด็กวัยรุ่นสมัยนั้นที่อาจยังไม่เข้าใจชีวิตมากมายนัก แต่ก่พอได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากำน้อยในเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองทางเหนือ

นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้ว ยังมีเพลงที่แฝงไปด้วความรัก ความหวัง ความฝันแบบวัยหนุ่นสาว ในยุคนั้นก่ต้องถือว่าเป็นยุคแห่งความหวัง การเปลี่ยนแปลงและการต่อสู้ทางการเมืองในกรุงเทพฯ เพลงของอาวจรัลก่เป็นเหมือนเสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่ต่างจังหวัด ที่อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“บ้านบนดอยบ่มีแสงสี บ่มี ทีวี บ่มีน้ำประปา บ่มีโฮงหนัง โฮงนวด คลับบาร์ บ่มีโคลา แฟนต้า เป๊ปซี บ่มีเนื้อสันผัดน้ำมันหอย คนบนดอยซอบกิ๋นข้าวจี่ บ่มีน้ำหอม น้ำปรุงอย่างดี แต่หมู่เฮามีฮึม มีน้ำใจ๋”

เพลง บ้านบนดอย

เส้นทางของการเติบโตในถนนดนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน้าตาหรือความหล่อเหลา แต่เป็นความสามารถในการเขียนเพลงและการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาวจรัลเห็นรอบๆ ตัว เช่นว่าการประยุกต์เอาเพลงไทยเดิมมาใช้ในการแต่งเพลง การนำเอาภาษาถิ่นมาเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองแบบร่วมสมัย บ่นักบ่น้อย เนื้อเพลงที่สวยงามทำนองที่ฟังง่าย ทำให้หลายเพลงข้ามเขตปริภูมิมาดังถึงกรุงเทพฯ

เพลงหนึ่งที่ดังมากและกลายเป็นสัญลักษณ์แบบ one hit wonder ของอาวจรัลก่คือ ‘รางวัลแด่คนช่างฝัน’ ในอัลบั้มเอื้องผึ้ง-จันผา (2527) ซึ่งถูกนำไปใช้ในโฆษณาเครื่องดื่มน้ำอัดลมเป๊ปซี่ หากนับจากเพลงบ้านบนดอยที่แต่งไว้เมื่อปี 2526 ที่เนื้อหาของเพลงมีพูดถึงน้ำอัดลมเป๊ปซี่ อยู่ดีๆ ปี 2534 เพลงของเขาก็กลับถูกใช้ในโฆษณาที่ดังที่สุด จากนั้นเป็นต้นมา จรัลก่กลายเป็นคนของวงการบันเทิงโดยแท้ มีทั้งงานหนัง งานละคร งานเพลงประกอบภาพยนต์ สารคดีและอีกมากมาย เรียกว่าเปลี่ยนชีวิตของเขาไปมากพอสมควรจากเพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน

โฆษณานี้แจ้งเกิดทั้งพีท ทองจือและอาวจรัลให้กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางระดับประเทศ นอกจากนี้โฆษณายังได้สร้าง stereotype ของการเป็นนักศึกษาปัญญาชนรุ่นใหม่ ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงประจำของชาวค่ายและงานอาสาพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในยุคที่ Gen X กำลังอยู่ในวัยมหาลัย เป็นเพลงสำหรับรับน้องขึ้นดอย เพลงออกค่าย เพลงรอบวงเหล้า เรียกว่าเป็นหนึ่งในเพลงที่โตมากับนักศึกษาในยุคนั้นจริงๆ 

หากมองจากมุมมองแบบคนกรุง เพลงของอาวจรัลในยุคนั้นมีความเป็นคนนอก เป็นคนต่างจังหวัด แต่ในขณะเดียวกันมันก่มีความทันโลก มีความเป็นปัญญาชนแบบที่คนเมืองคาดหวัง เข้าใจโลก เรียกว่าใสซื่อแต่ก่ลึกซึ้ง หากเทียบกับนักดนตรีที่มาในแนวเดียวกันสมัยนั้นอย่างเพลงของวงแฮมเมอร์ที่ขายความเป็นปักษ์ใต้ หรือพุ่มพวง ดวงจันทร์ลูกทุ่งที่ขายความเป็นคนบ้านนอกเหมือนกัน เพลงสไตล์กำเมืองของจรัลมีความเป็นคนนอกมากกว่า อย่างน้อยอาวจรัลก่ดังมาจากหัวเมืองและมีบ้านเก๊าอยู่หัวเมือง แตกต่างจากศิลปินอื่นๆ ที่มักจะมีผลงานเพลงตอนเข้ากรุงเทพฯ

ความเป็นคนนอกที่สามารถฝ่าวงล้อมเข้าไปมีบทบาทในธุรกิจเพลงกระแสหลักของประเทศได้ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจในสมัยนั้นและการได้ร่วมงานกับบัณฑิต ฤทธิ์ถกลในการทำเพลงประกอบภาพยนตร์บุญชูผู้น่ารักในปี 2531 (ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มจากต่างหวัดที่เข้ามาเพื่อหาทางเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ) ยิ่งเป็นแรงส่งอย่างดี เสมือนย้ำว่าอาวจรัลเป็นตัวแทนของคนนอก (คนต่างจังหวัด) ที่อาจไม่ค่อยทันโลกนักแต่การมองโลกในแง่ดีก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ใจจนเกินไป และเหมือนจะบอกว่า ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อขยับสถานภาพของตัวเองของชนชั้นกลางต่างจังหวัด ก่ไม่จำเป็นต้องเอาเป็นเอาตายกับมันมากเกินไปนัก

ถึงทุกวันนี้ผมคิดว่าภาพที่ผมได้เห็นในหนังบุญชูสมัยโน้นกับละอ่อนสมัยนี้ก่ยังไม่ได้เปลี่ยนไปนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก่คือความอ่อนแรงของความเป็นพื้นถิ่นที่ดูจะถูกกลบและบดบังจากวัฒนธรรมกระแสหลักไปหมด การถูกกดทับจากส่วนกลางในหลายๆ อย่างทำให้คุณค่าของพื้นถิ่นไม่สามารถผสมผสานกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีมากนัก 

นึกย้อนไปสมัยผมเอง ในตอนเป็นละอ่อนในโรงเรียนมีการรณรงค์ ‘ห้ามอู้กำเมืองกันในโรงเรียน’

“ให้นักเรียนพูดภาษากลางเท่านั้น ยิ่งใครได้สำเนียงแบบคนกรุงเทพฯ ก็ยิ่งดี” ครูภาษาไทยกล่าว

ทุกวันนี้กำเมืองค่อยๆ หายไป ความเข้าในรากฐานทางภาษากำเมืองก่น้อยลง อย่างหลานผมสองคนแทบบ่อู้กำเมือง ผมไม่ได้หมายถึงว่าเราควรอนุรักษ์มันไว้แบบวัฒนธรรมแช่แข็ง แต่ควรมีทางเลือก เราควรเห็นคุณค่าของความเป็นถิ่นเดิมแล้วปล่อยให้มันเติบโตไปในทางของมัน แต่ไม่ใช่การลัดกิ่งก้านออกไปเสียหมด

การเลือนหายไปของเพลงกำเมืองก็เป็นไปตามความอ่อนแรงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ค่อยๆ หายไปพร้อมๆ กับการขยับขยายความเป็นรัฐส่วนกลางที่แสนเทอะทะ และเอาเข้าจริงๆ มันก่น่าเบื่อ

เพราะกว่าจะเจอปรากฏการณ์แบบอาวจรัลอีกครั้ง ก่นับว่ายากมาก


หมายเหตุ

[1] คำว่า ‘อาว’ ในภาษาเหนือหมายถึง ‘อา’

– ลองเข้าไปดูบทเพลงรำลึก 20 ปีการจากไปของอาวจรัลได้ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save