fbpx
20 ปีเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001-2021 เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง

20 ปีเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001-2021 เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง

Michael Foran ภาพประกอบ

เหตุการณ์ 9/11 เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายในนาม al-Qaeda ภายใต้การนำของ Osama bin Laden จำนวน 19 นาย ยึดเครื่องบินโดยสาร ถล่มอาคารกระทรวงกลาโหม ทำเนียบขาว และอาคาร World Trade Center อันเป็นศูนย์กลางการปกครอง ศูนย์กลางความมั่นคง และศูนย์กลางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จนมีผู้เสียชีวิต 2,996 คน

หลังเหตุการณ์ 9/11 กองกำลังพันธมิตรของสหรัฐฯ อันประกอบไปด้วย the Five Eyes Alliance (FVEY) ซึ่งได้แก่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ร่วมกับ อิตาลี และเยอรมนี กรีฑาทัพภายใต้ปฏิบัติการ Freedom’s Sentinel เข้าทำสงครามในอัฟกานิสถาน และสามารถยึดกรุงคาบูลได้ภายในไม่กี่เดือน รวมทั้งเริ่มเปิดฉากการโจมตีประเทศอิรักอีกครั้งในปี 2003 ด้วยความเชื่อที่ว่า Saddam Hussein ผู้นำเผด็จการอิรัก มีสายสัมพันธ์และให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว และยังสร้างหลักฐานเท็จว่า อิรักกำลังเร่งพัฒนาและครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction – WMD) แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหตุการณ์ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อาวุธดังกล่าวไม่ได้มีอยู่จริงในอิรัก

ผ่านมา 20 ปี สิ่งที่เราพบเห็นและเผชิญหน้า ณ ปัจจุบัน คือความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ จากการถอนทหารออกจากตะวันออกกลาง ควบคู่กับการถดถอยในดุลอำนาจของสหรัฐฯ ในเวทีโลก อันเป็นสัญญาณว่าสหรัฐฯ ได้สูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลก (hegemonic power)

เพื่อจะเข้าใจสิ่งนี้ เราต้องย้อนกลับไปดูบริบททางภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งเป็นช่วง 10 ปีก่อนหน้าเหตุการณ์ 9/11 ในเวลานั้นโลกได้เห็น 1) การล่มสลายของสหภาพโซเวียต 2) การขึ้นมาของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ชนะสงครามเย็น เป็นมหาอำนาจเชิงเดี่ยว (unipolarity power) 3) จีนที่เริ่มต้นกระบวนการเปิดประเทศสู่ตลาดโลก หลังเริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1978 และ 4) การเริ่มต้นของการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดีย

สหรัฐฯ ในปี 1991 เตรียมความพร้อมตนเองมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980s ในการขึ้นเป็นมหาอำนาจผู้ควบคุมระเบีบบโลก ผ่านมาตรการต่างๆ ที่ถูกขนานนามโดย Professor John Williamson ว่า ‘ฉันทามติวอชิงตัน’ (Washington Concensus) สหรัฐฯ รับรู้แล้วว่า การขยายอิทธิพลในโลกยุคหลังสงครามเย็นจะไม่ใช่การขยายอิทธิพลทางทหารเหมือนในช่วงสงครามโลก หรือการขยายอิทธิพลทางอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนในยุคสงครามเย็น หากแต่เป็นอิทธิพลทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องเริ่มจากการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแกร่ง มีวินัยทางการคลัง ปฏิรูปการจัดเก็บภาษี นำงบประมาณแผ่นดินไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมทั้งการศึกษาพื้นฐานและสาธารณสุข เพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์สหรัฐฯ แข็งแกร่งสำหรับการค้าและการลงทุนในโลกยุคหลังสงครามเย็น นอกจากนั้น สหรัฐฯ ต้องเลิกเอาภาษีและชีวิตของคนอเมริกันไปสูญเสียในสงครามในต่างประเทศที่สหรัฐฯ เป็นผู้ก่อ ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามอัฟกานิสถาน ฯลฯ และในเวทีระหว่างประเทศ สหรัฐฯ จะต้องสนับสนุนแนวคิดการค้าและการลงทุนเสรีเพื่อเปิดตลาดให้บริษัทอเมริกันผ่านการลด ละ เลิก ทั้งภาษีและมาตรการกีดกันการค้า ใช้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และระดับราคา สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการลด ละ เลิก กฎระเบียบต่างๆ

สหรัฐฯ ปฏิบัติการจัดระเบียบได้อย่างรุดหน้าผ่านองค์กรระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ มีอิทธิพลสูง อาทิ ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ฯลฯ โดยมีการผลักดันฉันทามติวอชิงตันนี้ ควบคู่ไปกับตัวช่วยทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบการสื่อสารโทรคมนาคมที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วตลอดทศวรรษ 1990s ภายใต้สิ่งที่ทั่วโลกรู้จักในนาม ‘โลกาภิวัฒน์/โลกานุวัฒน์’ (Globalisation) ขณะที่ในมิติความมั่นคง สหรัฐฯ ก็ลดบทบาทในการเข้าไปสร้างภาระทางการเงินและชีวิตจากการเป็นผู้ก่อสงคราม เปลี่ยนไปเป็นการพึ่งพากลไกขององค์กรสหประชาชาติเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001 ที่เข้าไปทำลายจุดศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง จุดศูนย์กลางการทหาร-ความมั่นคง และจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจ จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยทางดุลอำนาจอีกครั้ง หลังจากที่เป็นผู้กำหนดระเบียบได้อย่างสมบูรณ์มาตลอดทศวรรษ 1991-2001

สงครามผู้ก่อการร้าย (War on Terror) ทำให้สหรัฐฯ ต้องทุ่มเทเงินทองที่มาจากภาษีของคนอเมริกัน และชีวิตคนอเมริกันจำนวนมาก ไปในการทำสงครามที่ยืดเยื้อเรื้อรัง โดยคนที่รับเคราะห์กรรมไม่ได้มีเพียงประชาชนในตะวันออกกลางเท่านั้น หากแต่คนอเมริกันเองก็ต้องแบกรับภาระภาษี

จากการประเมินของ Linda Bilmes แห่ง Harvard Kennedy School พบว่า สหรัฐฯ ใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วและยังมีผลผูกพันที่จะต้องจ่ายงบประมาณต่อไปในอนาคตที่มูลค่าราว 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน (2001-2021 โดยมีภาระผูกพันถึงปี 2053) นั่นจึงทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เพราะเหตุใดในระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ จึงมีปัญหาระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานในประเทศสูงมาก เราได้เห็นปัญหา US Government Shut Down หรือ แม้แต่ปัญหาระบบประกันสุขภาพ ที่แม้ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถจัดสรรให้บริการกับประชาชนได้ตามมาตรฐานอย่างที่ประเทศรายได้ระดับสูงหรือประเทศพัฒนาแล้วควรจะเป็น

และในการบุกเข้ามาในตะวันออกกลางรอบนี้ สหรัฐฯ เองก็เป็นผู้สร้างปีศาจร้ายตนใหม่ขึ้นมา อาทิ การเข้าไปกำจัด Saddam Hussein จนทำให้อิรักกลายเป็นรัฐล้มเหลว บ้านเมืองปราศจากผู้ควบคุมดูแล เกิดขุนศึกต่างๆ ขึ้นมามากมาย และนั่นทำให้ Abu Musab al-Zarqawi ลูกน้องคนหนึ่งของกลุ่ม al-Qaeda ซึ่งไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนักในทางการกำหนดนโยบายของ al-Qaeda หากแต่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยซ้ำว่า Osama bin Laden ล้มเหลวเพราะไม่ได้ตีความศาสนาอย่างเคร่งครัดเข้มงวดมากเพียงพอ ตั้งตนขึ้นมาเป็นผู้นำขบวนการแนวคิดสุดโต่งขบวนการใหม่ที่ไปรวบรวมเอากลุ่มนักรบ Mujahideen ที่กระจัดกระจายตัวกันขึ้นมาจัดตั้งองค์กรในนาม Islamic State of Iraq and the Levant หรือ ISIS โดยอาศัยช่วงเวลาสุญญากาศทางอำนาจในอิรักขึ้นมานั่นเอง

ถึงแม้ว่า al-Zarqawi จะถูกจับกุมในเวลาต่อมา แต่การนำเขารวมถึงนักโทษคนอื่นๆ ไปควบคุมตัวในคุกลับที่มีการทรมานอย่างรุนแรง แม้ผู้ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งอาจเป็นแค่เพียงผู้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับ ISIS และ al-Qaeda ก็ตาม ก็ยิ่งบ่มเพาะให้คนกลุ่มนี้มีหัวคิดต่อต้านตะวันตกอย่างรุนแรง อาทิ คุกลับที่ชื่อว่า Camp Bucca ที่สหรัฐฯ จับตัวนักวิชาการทาง Islamic Studies แห่งมหาวิทยาลัย Islamic University of Baghdad อย่าง ดร. Abu Baker al-Baghdadi เข้ามากักขังทรมาน ก็ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มที่ต่อต้านตะวันตกอย่างฝังรอยแค้น จนในที่สุด เขาก็เข้าสู่โรงเรียนการก่อการร้าย และกลายเป็นผู้นำรุ่นที่ 2 ของ ISIS

หากแต่ในช่วงเวลาเดียวกันที่อีกซีกโลกหนึ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนเองที่พัฒนาตนเองทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเปิดประเทศในปี 1991 ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 (ปีเดียวกันกับที่สหรัฐฯ เริ่มเดินหน้าทำสงครามอีกครั้ง) ผลลัพธ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องคือการผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในทศวรรษ 2010s (ตามมูลค่า GDP PPP) และสามารถกำจัดความยากจนแบบ absolute poverty ได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2021

เราจึงเห็นได้ว่า ในขณะที่สหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาขึ้นระหว่างปี 1991-2001 และเข้าสู่ขาลงระยะยาวตลอดปี 2001-2021 จีนกลับอยู่ในช่วงขาขึ้นตลอดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1991-2021           

ในเมื่อการกำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ระยะยาวของทั้ง 2 ประเทศมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฝั่งสหรัฐฯ กำหนดเป้าหมายโดยเน้นความมั่นคงเป็นธงนำ เน้นการเข้าไปแบ่งแยกและครอบงำ (Divide and Rule) เราจึงเห็นบทบาทสองมาตรฐานของสหรัฐฯ อย่างชัดเจนในโลกมุสลิม อาทิ การใช้ความรุนแรง การปราบปราม และการกดดันทุกรูปแบบกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ (ตามกรอบวิธีคิดแบบ Western Liberal Democracy) ต่อประเทศอย่างอิหร่าน อิรัก และอัฟกานิสถาน แต่ไม่เคยเลยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะดำเนินการแบบเดียวกันกับซาอุดิอาระเบีย ทั้งที่ 15 ใน 19 คนของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 ถือสัญชาติซาอุดิอาระเบีย และซาอุดิอาระเบียเองก็มีตีความศาสนาอิสลามไปในรูปแบบเดียวกันกับอีกหลายประเทศที่สหรัฐฯ ต่อว่าว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในเรื่องบทบาทของผู้หญิง หรือแม้แต่การส่งกองกำลังเข้าไปสังหารสื่อมวลชนอย่าง Jamal Khashoggi ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศตุรกี

เช่นเดียวกับการที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Donald Trump เปิดการเจรจากับตัวแทนจากฝ่าย Taliban โดยทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุการเจรจาได้สำเร็จ มีการลงนาม Doha Agreement ที่มีใจความสำคัญคือ ฝ่ายสหรัฐฯ จะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในระยะเวลา 14 เดือน ในขณะที่ฝ่าย Taliban ยืนยันให้การรับรองที่จะไม่อนุญาตให้สมาชิก บุคคล หรือกลุ่มอื่นๆ รวมถึงอัลกออิดะห์ ใช้ดินแดนของอัฟกานิสถานเพื่อคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ และพันธมิตร (Taliban agree NOT to allow any of its members, other individuals or groups, including al-Qaeda, to use the soil of Afghanistan to threaten the security of the United State and its allies.) ในขณะที่รัฐบาลอัฟกานิสถานใต้การนำของ Ashraf Ghani ต้องยอมปล่อยตัวนักโทษ Taliban จากที่คุมขังกว่า 500 คน ทำให้ทุกฝ่ายพิจารณาได้ว่า การเจรจากันครั้งนี้ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันหมด นั่นคือสหรัฐฯ และพันธมิตรได้เลิกสงคราม 20 ปีที่สูญเสียมหาศาลทั้งกำลังคนและกำลังเงิน ประธานาธิบดี Trump ได้นำผลงานนี้ไปใช้หาเสียงเลือกตั้ง Taliban ได้กำลังคนเพื่อที่จะได้กลับมาครอบครองประเทศอีกครั้ง แต่คนที่ไม่ได้ประโยชน์และไม่มีฝ่ายใดเห็นหัวในการเจรจาเลยคือประชาชนชาวอัฟกานิสถาน

ขณะที่ในฝั่งประเทศจีนมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ระยะยาวคือการสร้างความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ ผ่านการผลิต การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ บทบาทของจีนในตะวันออกกลางจึงมิใช่การแทรกแซง แบ่งแยกและปกครอง หากแต่เป็นการเข้าไป ทำการค้า การลงทุน โดยเฉพาะในรูปแบบที่รัฐบาลจีนและธุรกิจจีนมีความชำนาญมากที่สุด นั่นคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงทรัพยากร และการเข้าถึงตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง และที่สำคัญคือ จีนเลือกที่จะคบค้ากับทุกประเทศ โดยเน้นการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน (positive-sum, win-win solution) และเลือกที่จะไม่ไปแตะต้องในประเด็นอ่อนไหว อาทิ ประเด็นเรื่องศาสนาและสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องไปในรูปแบบที่ต่างฝ่ายต่างไม่ไปแตะต้องในประเด็นอ่อนไหวนี้ด้วยกันทั้งคู่ (ต้องอย่าลืมว่าจีนเองก็มีประเด็นอ่อนไหวในเรื่องการก่อการร้ายในเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ หรือซินเจียง ที่จีนก็ไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามากดดัน) ดังนั้นจึงดูเสมือนกับว่า นาทีนี้ แต้มต่อของประเทศจีนในด้านการยอมรับจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันตก หรือตะวันออกกลาง และอ่าวเปอร์เซีย มีมากกว่ามหาอำนาจอื่นๆ

โครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives – BRI) เกิดขึ้นในอียิปต์ อิหร่าน อิรัก กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยจีนเริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2010-2012 ภายใต้แนวคิด Marching Westward

จีนคือพันธมิตรในระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอิหร่าน และได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโทรคมนาคมในอิหร่านมูลค่ากว่า 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาท่าเรือ Jask ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในการลำเลียงพลังงานออกจากอ่าวเปอร์เซียในบริเวณช่องแคบ Hormuz ควบคู่กับการก่อสร้างทางรถไฟที่จะเชื่อม Tehran เมืองหลวงของอิหร่านไปยังชายแดนของอิรัก ปัจจุบันวิสาหกิจของจีนเข้าบริหารจัดการท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมทั้งในอียิปต์ โอมาน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจิบูติ (ซึ่งมีฐานทัพเรือตั้งอยู่ด้วย)

ขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมเกื้อหนุนในด้านความมั่นคงซึ่งกันและกัน โดยมีกองกำลัง Shiite กลุ่มของ Asa’ib Ahl al-Haq และ กลุ่ม Hezbollah เป็นตัวเชื่อมโยงจีน อิหร่าน อิรัก และซีเรีย ปัจจุบันกองทัพเรือของจีนและอิหร่านมีการซ้อมรบทางทะเลร่วมกันในทะเลอาหรับ มหาสมุทรอินเดีย

นอกจากจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่แล้ว จีนยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากที่สุดจากภูมิภาคนี้ โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 ของ 11 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและอ่าวเปอร์เชีย รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัฐบาลอิรัก วางยุทธศาสตร์และเสนอต่อรัฐบาล ในการนำจีนในฐานะคู่ค้าพลังงานรายใหญ่เข้ามาเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯ

ในอดีตเคยมีความเชื่อว่า จีนไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากันได้กับประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามนิกาย Sunni แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เลือกใช้ระบบโทรคมนาคม 5G ของบริษัท Huawei ซึ่งถูกแบนในสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก ขณะที่ในซาอุดิอาระเบีย ภาษาจีนได้กลายเป็นภาษาที่สามที่มีการเรียนการสอนกันทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เลือกที่จะเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ เป็นชาติแรกในตะวันออกกลางในปี 2016 ก่อนที่จะเดินทางไปเยือนกรุง Tehran ของอิหร่าน และทั้ง 2 ประเทศก็ประกาศเป็น Comprehensive Strategic Partnership กับจีนด้วยกันทั้งคู่

และที่น่าจะสร้างความประหลาดใจได้มากที่สุดก็คือ ท่าเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอิสราเอลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอย่างท่าเรือ Haifa ที่กำลังจะพัฒนาเป็น Automatic Terminal ได้เลือกที่จะให้ China Communications Construction และ Shanghai Zhenhua Port Machinery (ZPMC) ของจีน เป็นผู้เข้ามาลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ทั้งเครนยกสินค้าและระบบรางในท่าเรือ

เห็นได้ว่าตลอด 20 ปีในขณะที่สหรัฐฯ กลับมาทำสงคราม และบริหารความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและอ่าวเปอร์เชีย แต่จีนที่ผงาดขึ้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก กลับเลือกยุทธศาสตร์ที่ต่างออกไปนั่นคือ การเข้ามาสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน

อีกประเทศที่ต้องจับตาดูด้วยก็คืออินเดีย ในปี 1991 เช่นเดียวกัน เป็นปีที่รัฐบาลอินเดียประกาศจุดเริ่มต้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ และในปัจจุบัน อินเดียเองก็พัฒนาตนเองจนขึ้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก (หากพิจารณาตามมูลค่า GDP PPP) และก็ต้องไม่ลืมว่า ในตะวันออกกลาง-อ่าวเปอร์เชีย แรงงานที่เข้าไปทำงานจำนวนมหาศาล ทั้งการก่อสร้าง การผลิตสินค้า และงานภาคบริการ คือแรงงานที่เดินทางมาจากประเทศอินเดีย การผงาดขึ้นทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงทางสังคม-วัฒนธรรม และบทบาทของอินเดียในฐานะอีกหนึ่งผู้เล่นหลักด้านความมั่นคง ที่ต้องการเข้ามาแทนที่ปากีสถาน (ซึ่งมีภาพพจน์เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม) ก็เป็นอีกผู้เล่นหนึ่งที่เราต้องจับตามองในเกมแห่งดุลอำนาจในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน

จากที่นำเสนอมาทั้งหมด ผู้เขียนขอสรุปบทเรียนที่เราเรียนรู้จาก 20 ปีเหตุการณ์ 11 กันยายน 2011 ดังนี้

  1. ไม่มีผู้ชนะในสงคราม มีแต่ผู้สูญเสีย และผู้ที่สูญเสียมากที่สุดคือประชาชนของทั้งสองฝั่งของคู่สงคราม
  2. ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศย่อมต้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนก่อนสิ่งอื่นๆ และบางครั้ง เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ดังกล่าว ประเทศก็พร้อมที่จะทำสิ่งที่น่าละอาย
  3. คำพูดของนักการเมืองต้องวิเคราะห์ให้ดี เพราะหลายๆ ครั้ง มักจะเชื่อถือไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองประเทศไหน
  4. เราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดในอนาคต
  5. การตีความศาสนาที่เข้มงวดจนเข้าขั้น Extremist/ Fundamentalist จะทำให้ศาสนาที่ดีกลายเป็นภัยคุกคาม
  6. ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ (Geo-Political Economy) ร่วมกับสังคมวัฒนธรรม (Socio-Cultural) เป็นปัจจัยกำหนดผลของการสงคราม
  7. อันตรายที่สุดของการสร้างปีศาจขึ้นมาใช้งาน คือเมื่องานสำเร็จไปแล้วและไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานปีศาจตนนั้นอีกต่อไป ปีศาจเหล่านั้นจะกลับมาหลอกหลอนตัวผู้สร้างเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save