fbpx
20 ข้อควรรู้ : โอกาสท่ามกลางวิกฤตของไทยและอาเซียน ในสงครามการค้าของสหรัฐฯ

20 ข้อควรรู้ : โอกาสท่ามกลางวิกฤตของไทยและอาเซียน ในสงครามการค้าของสหรัฐฯ

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

 

1. สถานการณ์ปัจจุบันคือ รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการทางการค้าในสินค้าหมวดต่างๆ โดยหมวดสินค้าที่น่าจะส่งผลกระทบต่อไทยและอาเซียน ได้แก่

– เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ ซึ่งจะมีการกำหนดโควตาการนำเข้า และหากนำเข้าเกินโควตาจะโดนจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มในอัตรา 40-50% โดยจัดเก็บกับทุกประเทศ ยกเว้นแคนาดาและบางประเทศที่มีเงื่อนไข

– แผงโซลาเซลล์ ซึ่งจะมีการกำหนดโควตาการนำเข้า และหากนำเข้าเกินโควตาจะโดนจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มในอัตรา 15-30% โดยจัดเก็บกับทุกประเทศยกเว้นบางประเทศที่มีเงื่อนไข

– เหล็ก เพิ่มภาษีศุลกากรการนำเข้าอีก 25% โดยจัดเก็บกับทุกประเทศ ยกเว้นออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา และเกาหลีใต้

– อลูมิเนียม เพิ่มภาษีศุลกากรการนำเข้าอีก 10% โดยจัดเก็บกับทุกประเทศ ยกเว้นบราซิลและอาร์เจนตินา

– สินค้า IT เพิ่มภาษีศุลกากรการนำเข้าอีก 25% โดยจัดเก็บแบบพุ่งเป้าไปที่สินค้าจากจีน

2. ล่าสุด (17 กันยายน 2018) สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสินค้าจำนวน 6,031 รายการ โดยเน้นสินค้าในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร สินค้าประมง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าที่อยู่ในมาตรการส่งเสริมของจีนในนโยบาย Made in China 2025 โดยขึ้นภาษีศุลกากรการนำเข้าสินค้าจากจีนเบื้องต้นที่ร้อยละ 10 และยังประกาศว่าจะมีการปรับอัตราภาษีศุลกากรขึ้นไปเป็นร้อยละ 25 ในอนาคต

3. ในขณะที่จีนเองก็ประกาศเช่นกันว่า จีนพร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้ โดยในเบื้องต้นจะปรับขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าการนำเข้าประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่เคยได้ประกาศไว้แล้วเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และพร้อมที่จะปรับเพิ่มภาษีศุลกากรในสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าเดียวกันกับที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษี นั่นคือมูลค่าการค้าประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเน้นสินค้าที่ผลิตในรัฐที่เป็นฐานเสียงหลักของประธานาธิบดี Donald Trump โดยตรง

4. ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น ที่ออกมาประกาศจะทำนโยบายตอบโต้ทางการค้ากับสงครามการค้าที่เริ่มยิงก่อนโดยสหรัฐฯ แต่อีก 6 ประเทศก็พร้อมที่จะประกาศสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป อินเดีย ตุรกี และรัสเซีย นั่นทำให้เรากล่าวได้ว่า สงครามการค้า (Trade War) เกิดขึ้นแล้ว และไทยกับประชาคมอาเซียนอยู่ในสถานะโดนลูกหลง หรือ ถูกหางเลข ไปด้วย

5. การประกาศสงครามการค้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ ทั้งนี้เนื่องจากประธานาธิบดี Trump ต้องการลดตัวเลขขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ เพื่อหวังผลการสนับสนุนทางการเมืองจากประชาชนสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2018

6. อาวุธหลักที่สหรัฐฯ ใช้ในการประกาศสงครามคือ Section 232 ของ Trade Expansion Act ปี 1962 (19 U.S.C. §1862) ซึ่งอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการทางการค้าเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duties: AD) มาตรการตอบโต้การให้เงินอุดหนุน (Counter Veiling Duties: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safe Guard: SG) โดยทั้ง 3 มาตรการสามารถนำมาใช้ได้โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง

7. อาวุธที่ 2 ที่สหรัฐฯ ใช้ในการประกาศสงครามคือ Section 301 ของ Trade Act of 1974 (last edition March 23, 2018), (Pub.L. 93–618, 19 U.S.C. § 2411) ซึ่งมักจะถูกใช้ในการตอบโต้หากทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ถูกละเมิด ซึ่งกฎหมายในลักษณะนี้ไม่มีในสารบบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO)

8. โดยปกติการบังคับใช้มาตรการ AD และ CVD ต้องมีกระบวนการพิสูจน์ว่าผลกระทบจากสินค้านำเข้า ส่งผลทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสินค้าในประเทศจริง กระบวนการศึกษาเพื่อพิสูจน์ดังกล่าวใช้ระยะเวลานานและต้นทุนสูง ดังนั้นจึงนิยมใช้ SG ซึ่งใช้ได้ทันทีมากกว่า ซึ่งประเทศที่ถูกกีดกันโดย SG สามารถเข้าไปเจรจาเพื่อขอให้มีการยกเลิกหรือผ่อนปรนได้

9. ในความคิดเห็นทางกฎหมาย มาตรการทางการค้าทั้งหมดที่สหรัฐดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ล้วนขัดแย้งกับหลักการขององค์การการค้าโลกทั้งหมด เนื่องจากมีลักษณะเลือกปฏิบัติและพุ่งเป้าโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แม้ใน Article XXI และ Article XIX ของ GATTs (ซึ่งเป็นหัวใจหลักของกฎระเบียบของ WTO) ซึ่งถูกเสนอโดยสหรัฐฯ เองในปี 1948 เพื่อใช้เป็น Escape Clause หรือช่องโหว่ให้สามารถทำนโยบายการค้าในลักษณะกีดกันได้ ก็ไม่อนุญาตให้สามารถใช้มาตรการทางการค้าในรูปแบบที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ได้ เพราะต้องอยู่บนหลักการของการไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นการที่สหรัฐฯ ยกเว้นให้กับบางประเทศ และบังคับใช้กับบางประเทศ จึงขัดแย้งกับหลักการดังกล่าวทันที

10. เหตุผลความมั่นคงที่สหรัฐฯ ใช้อ้างเป็นเหตุผล ซึ่งตีความหมายอย่างแคบมาก อาทิ ต้องขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ เพราะหากสินค้าเหล็กที่นำเข้ามามีราคาถูกมาก จะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในสหรัฐฯ อยู่ไม่ได้ และเมื่อเกิดภาวะสงครามขึ้น สหรัฐฯ ก็จะไม่มีเหล็กที่ผลิตในประเทศเพื่อไปใช้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ (นี่คือเหตุผลที่เราได้รับทราบมาจาก Washington D.C. ซึ่งถือว่าค่อนข้างจะเป็นการตีความเรื่องของความมั่นคงในรูปแบบที่แคบมาก)

11. คำถามสำคัญคือ เมื่อสหรัฐฯ ใช้มาตรการเหล่านี้แล้ว ผลกระทบต่อไทย และอาเซียนจะเป็นอย่างไร เราสามารถสรุปผลกระทบได้ใน 4 รูปแบบ

– ผลกระทบทางตรง นั่นคือ สินค้าจากไทย สินค้าจากอาเซียน ที่ถูกกำแพงภาษี ถูกกำหนดโควตาการนำเข้า ก็จะสามารถส่งออกไปขายในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้ลดลง

– ผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากไทย อาเซียน จีน และประเทศอื่นๆ อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) เดียวกัน ดังนั้น เมื่อสินค้าจากจีนถูกมาตรการทางการค้า ก็จะทำให้จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง และเมื่อส่งออกลดลง จีนก็จะผลิตลดลง และเมื่อจีนลดการผลิตลง ชิ้นส่วนต่างๆ วัตถุดิบต่างๆ ที่จีนต้องนำเข้าจากไทยจากอาเซียน จีนก็จะลดการนำเข้าลงด้วย นั่นทำให้เราส่งออกได้ลดลง อันเป็นผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้า

– ผลจากการนำเข้า แน่นอนว่าเมื่อหลายๆ ประเทศส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ได้ลดลง นั่นทำให้มีสินค้าเหลือค้างอยู่ในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก อุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ทำให้ราคาสินค้าในตลาดโลกลดลง และทำให้สินค้าราคาถูกเหล่านี้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตไทยถูกโจมตีจากสินค้านำเข้าราคาถูกเหล่านี้

– ผลจากการส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ที่ลดลง สืบเนื่องจากการที่ในตลาดโลกมีสินค้าเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สินค้าจากไทย และสินค้าจากอาเซียนขายได้ลดลงในตลาดโลกด้วย

12. สิ่งที่หลายๆ คนอาจคิดถึงต่อไปก็คือ แล้วเราจะโต้กลับหรือเยียวยาจากมาตรการทางการค้าในลักษณะสงครามทางการค้าเหล่านี้จากสหรัฐฯ ได้หรือไม่ แน่นอนว่าถ้าเล่นกันตามกฎกติกา ถ้าว่ากันในทางทฤษฎี เราสามารถทำได้ โดยการร้องเรียนไปยังองค์การการค้าโลก พร้อมกับหลักฐาน ซึ่งหลักฐานสำคัญคือ การต้องใช้นักเศรษฐศาสตร์ นักสถิติ และนักกฎหมาย ไปทำงานร่วมกันในการคำนวณหามูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้ง 4 ข้อที่กล่าวไปว่า เรามีความสูญเสียทางการค้า (Trade Lost) ไปแล้วเป็นมูลค่าเท่าไร จากนั้นก็ไปเรียกร้อง เจรจา ต่อรอง ในอนุญาโตตุลาการ เพื่อเรียกร้องการเยียวยา

13. แต่ในทางปฏิบัติ กระบวนการตั้งแต่ศึกษาเพื่อคำนวณมูลค่า Trade Lost ไปจนการเรียกร้อง เจรจา ต่อรอง ในอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องการเยียวยา ล้วนมีต้นทุนทั้งที่เป็นตัวเงิน และเวลา รวมทั้งทรัพยากรบุคคล ซึ่งต้นทุนเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นต้นทุนเหล่านี้อาจไม่คุ้มกับสิ่งที่จะได้รับการเยียวยาก็เป็นไปได้ ตัวอย่างเช่น มูลค่า Trade Lost อยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากแต่กระบวนการทั้งหมดกว่าจะได้ตัวเลขนี้มา และการเรียกร้องเจรจา จนได้การเยียวยาออกมา อาจมีมูลค่าสูงมากกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็เป็นไปได้

14. ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ไม่ใช่ว่าเราชนะ แล้วสหรัฐฯ จะต้องเยียวยาเราโดยจ่ายค่าเสียหายให้เรา 5 ล้านดอลลาร์ แต่องค์การการค้าโลกจะอนุญาตให้เราใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้กับสหรัฐฯ ได้ในมูลค่าเท่ากับ 1.5 ล้านดอลลาร์แทน นั่นทำให้เราต้องกลับมาคำนวณอีกว่าจะใช้มาตรการตอบโต้โดยวิธีไหน จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าใดจากสหรัฐฯ เพื่อให้เราได้การชดเชยความเสียหายคืนมาเทียบเท่ากับมูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์

15. นั่นจึงทำให้ประเทศจีน ซึ่งน่าจะได้รับผลเสียหายมากที่สุดจากสงครามการค้าครั้งนี้ (ในระยะแรก) ทำการตอบโต้ในลักษณะที่ทำทันที โดยจำกัดไม่ให้มูลค่าของการตอบโต้สูงกว่ามูลค่าความเสียหาย เช่น การเก็บภาษีเหล็ก จะทำให้จีนเสียหาย 20 ล้านดอลลาร์ (ตัวเลขสมมติ) จีนก็จะทำการตอบโต้โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น สุรา กางเกงยีนส์ มอเตอร์ไซค์ ในมูลค่าเท่ากัน คือ ประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

16. แต่ไม่ใช่ว่าสงครามการค้าจะส่งเฉพาะด้านลบเสมอไป เพราะต้องอย่าลืมว่า เมื่อมีการตอบโต้กันไปมา เช่น เมื่อจีนซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่สหภาพยุโรป อินเดีย และอีกหลายๆ ประเทศดำเนินการ นั่นหมายความว่าสินค้าจากสหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นในสายตาของผู้บริโภคจีนและนานาประเทศ นั่นหมายถึงโอกาสของสินค้าส่งออกจากประเทศไทยที่จะเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ก็ขึ้นกับความสามารถของผู้ประกอบการไทยด้วยว่า จะสามารถปรับนโยบายได้รวดเร็วเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดนั้นๆ และสามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดนั้นๆ ได้หรือไม่ เช่นเดียวกัน เมื่อสินค้าจากจีนและจากนานาชาติมีราคาสูงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ สินค้าไทยก็อาจมีโอกาสในตลาดสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องจับจังหวะและปรับนโยบายในการทำการค้าอย่างตาไม่กะพริบในช่วงสงครามการค้าเช่นนี้

17. จากรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ออกมาตรการไปในระลอกแรก (818 รายการ มูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีการตอบโต้จาก 7 ประเทศทั่วโลก (มูลค่าการตอบโต้อยู่ที่ 7.642 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าตัวใดบ้างที่อาจเป็นโอกาสของไทยในการเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากสหรัฐฯ กับอีก 7 ประเทศคู่สงคราม

ขออนุญาตนำมารวมกันไว้ดังนี้ คือ

1) กากเหลือจากอุตสาหกรรมผลิตอาหาร (HS 2303) ส่งออกไปจีน ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

2) ข้าว (HS 1006) ส่งออกไปจีน ตุรกี และ EU ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

3) ผลไม้จำพวกส้มสด/แห้ง (HS 0805) และผลไม้แห้งอื่นๆ (HS 0813) ส่งไปจีน แทนสินค้าสหรัฐฯ

4) ผลไม้ปรุงแต่ง (HS 2008) และน้ำผลไม้ (HS 2009) ส่งไปจีน และ EU แทนสินค้าสหรัฐฯ

5) ปลาแช่แข็ง (HS 0303) กุ้งแช่แข็ง (HS 0306) ส่งออกไปจีน ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

6) เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง (HS 1602) ส่งออกไป แคนาดา ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

7) ซอสและของปรุงรส (HS 2103) น้ำแร่และน้ำอัดลม (HS 2202) ส่งออกไปแคนาดา ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

8) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ (HS 7113) ส่งออกไป EU ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

9) เคมีภัณฑ์ พวกโพลิอะซีทัล ขั้นปฐม (HS 3907) โพลิเมอร์ของเอทิลีน ขั้นปฐม (HS 3901) และยางสังเคราะห์ (HS 4002) ส่งออกไปจีน ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

10) รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ สำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก (HS 8703) และ รถจักรยานยนต์ (HS 8711) ส่งออกไปจีน ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

11) เครื่องสูบลมหรือสูบสุญญากาศ (HS 8414) ส่งออกไปเม็กซิโก ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

12) หม้อแปลงไฟฟ้า (HS 8504) ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำที่คล้ายกัน (HS 8541) เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง (HS 8525) และเครื่องเรดาร์ควบคุมระยะไกล (HS 8526) ส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีน

13) เครื่องพิมพ์ (HS 8443) และเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ (HS 8471) ส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีน

14) เครื่องสูบของเหลว (HS 8413) มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (HS 8501) และอุปกรณ์ควบคุมโดยอัตโนมัติ (HS 9032) ส่งออกไปสหรัฐฯ แทนสินค้าจีน ฃ

15) น้ำมันและผลิตภัณฑ์อื่นๆ (HS 2707) ส่งออกไปจีน ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

16) เหล็กหลอดหรือกลวง (HS 7306) ส่งออกไปแคนาดา เม็กซิโก EU ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

17) เศษและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นอลูมิเนียม (HS 7602) แผ่นและแถบทำด้วยอลูมิเนียม (HS 7606) ส่งออกไปจีน ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ

18) ฐานรองฟูก (HS 9404) และกระดาษชำระส่งออกไปจีน ทดแทนสินค้าสหรัฐฯ (ขอขอบคุณการคาดการณ์โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเหล่านี้ได้รับทราบถึงโอกาสทางการค้าที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้า)

18. สำหรับระลอกที่ 2 กรณีที่สหรัฐฯ ขู่จะขึ้นภาษีจีนรอบใหม่ในอัตราร้อยละ 10 ในช่วงแรก และจะขึ้นเป็นร้อยละ 25 ในอนาคตสำหรับการนำเข้าสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากประเทศจีน กลุ่มสินค้าที่ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ มีหลายชนิด อาทิ สินค้าเกษตร เช่น ถั่วแห้ง แผ่นยางสดรมควัน ข้าวสี (rice milled) ยางแท่ง TSNR (Technically Specified Natural Rubber) ผักผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็น และแปรรูป เช่น กล้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มะละกอ สับปะรด (สดและแห้ง) อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป เช่น ปลาทูน่าบิ๊กอาย (Big Eye Tuna) ปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack Tuna) ปลาทูน่าครีบเหลืองสดและแช่แข็ง (Yellowfin Tuna) เนื้อปลาแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เช่น น้ำผึ้งธรรมชาติ อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม เช่น อาหารสุนัข/แมว เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผลไม้) เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เช่น กรดซิตริก ยานยนต์และส่วนประกอบ เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยางรถยนต์ (Pneumatic Radial Tyres) (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์)

19. สิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการมากที่สุดในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนคือ

– ต้องยืนหยัดในแนวคิดการค้าเสรี เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่สงครามการค้าเกิดขึ้น คู่กรณีก็เสียหายด้วยกันทั้งคู่ สหรัฐฯ เองในช่วงครึ่งหลังของปีก็คงได้รับผลจากการทำสงครามการค้าอย่างมีนัยสำคัญแล้ว เพราะเมื่อไม่สามารถนำเข้าสินค้าราคาถูกได้ ผู้ผลิตในสหรัฐฯ ก็ต้องใช้วัตถุดิบราคาแพง และที่แย่กว่านั้นก็คือ ผู้บริโภคหรือประชาชนทั้งประเทศก็ต้องกินของแพง ใช้ของแพงไปด้วย ทั้งหมดเพียงเพื่อที่จะปกป้องผู้ผลิตสินค้าแค่ไม่กี่รายการ คำถามคือคุ้มค่าหรือ

– ไทยต้องร่วมมือกับอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสน่าจะต้องถูกจัดขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะถ้าเราไม่ร่วมมือกัน ต่างคนต่างอยู่ อาเซียนคือคนเล็กๆ 10 คนที่ไร้อำนาจต่อรอง แต่ถ้าเราร่วมมือกัน เราคือเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ในขนาดประชากรและเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลกตามมูลค่า GDP

– รูปธรรมของของการสร้างความร่วมมือที่เด่นชัด และจะเพิ่มอำนาจการต่อรองให้อาเซียนและพันธมิตรหลักมากที่สุด คือการหาข้อสรุปของข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้ นั่นคือ RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ อาเซียน+6 ซึ่งหมายถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมของอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

20. แน่นอนว่า ทุกฝ่ายล้วนสูญเสียหากมีการทำสงครามการค้า และโลกก็ได้เห็นการสูญเสียจากสงครามการค้ามาหลายครั้งแล้วด้วย อาทิ

– ตัวอย่างที่คลาสสิกที่สุดที่อาจารย์ทั่วโลกมักจะใช้สอนในวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ก็คือกรณี Smoot-Hawley Act ที่สหรัฐฯ ประกาศจะใช้กำแพงภาษีเพื่อปกป้องผู้ผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศ แล้วตามด้วยการที่นักอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ล็อบบี้ จนในที่สุดสหรัฐฯ สร้างกำแพงภาษีในเกือบทุกสินค้านำเข้าในอัตราเฉลี่ยที่ 20% ผลที่ตามมาคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจทั่วโลกดำดิ่งสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในโลก นั่นคือ The Great Depression ตลอดทศวรรษ 1930 เกือบทุกประเทศที่เข้าร่วมสงครามการค้า สูญเสียทองคำสำรองจำนวนมหาศาล (สมัยนั้นยังใช้มาตรฐานทองคำในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน) ทำให้ค่าเงินถูกลดค่า และต้องขึ้นกำแพงภาษีในอีกเกือบทุกรายการสินค้า การค้า และการลงทุนของโลกชะงักงัน

– ต้องอย่าลืมว่า ในความเป็นจริง ในเวทีการค้าโลกมีประเทศอยู่เพียง 2 กลุ่มเท่านั้น นั่นคือ ประเทศที่ผลิตมากกว่าที่ตนเองต้องการจะใช้ และประเทศที่ต้องการจะใช้มากกว่าที่ตนสามารถผลิตได้ และนั่นทำให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเกิดขึ้น การที่ประเทศขาดดุลการค้า แปลว่า เขาใช้มากกว่าที่เขาผลิตได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการที่เศรษฐกิจของขยายตัวและเติบโตขึ้นมิใช่หรือ เขาจึงใช้มากกว่าที่ผลิต เขาจึงนำเข้า และเขาจึงขาดดุลการค้า

แต่อย่าลืมว่า ดุลยภาพในตลาดโลกจะปรับตัวโดยดุลการค้า (Trade Balance) และบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ที่ขาดดุล จะถูกชดเชยโดย บัญชีทุน (Capital Account) ที่เกินดุลเสมอ นั่นหมายความว่า การขาดดุลการค้า จะถูกชดเชยโดยเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศ เข้ามาลงทุน เพราะเห็นโอกาสแล้วว่าประเทศคุณยังผลิตไม่พอใช้ เราน่าจะรีบไปลงทุนผลิตเพื่อป้อนตลาดประเทศนี้นะ และเราก็มักจะเห็นเสมอๆ ว่าประเทศที่ขาดดุลการค้าคือประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัว การลงทุนเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตพัฒนา

ดังนั้นการทำสงครามการค้า ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ จึงไม่น่าจะใช่ข้ออ้างที่เหมาะสม เพราะมันตรงข้ามกับสภาพความเป็นจริง และดึงให้ทุกคนลงเหวเสียมากกว่า คำถามคือสงครามการค้านั้นช่วยปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ แก้ปัญหาการว่างงาน รวมทั้งลดปัญหาการขาดดุลการค้า ได้จริงหรือ

– ถ้าเป็นตัวอย่างในห้วงเวลาปัจจุบัน ที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ของ Trump กรณีคลาสสิกอีกกรณีก็คือการขึ้นกำแพงภาษีการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้า โดยประธานาธิบดี George W. Bush ในปี 2002 แน่นอนว่าเพื่อปกป้องกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิคกัน โดยอ้างว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ คนงานในอุตสาหกรรมเหล็กกว่า 15,000 ราย จะต้องตกงานจากโรงงานเหล็กที่ต้องปิดตัวเพราะถูกโจมตีจากเหล็กนำเข้าราคาถูก

แต่ต้องอย่าลืมนะครับว่า ไม่เคยมีใครซื้อเหล็กกลับไปกินที่บ้าน ทุกคนซื้อเหล็กไปทำการผลิตต่อ เพราะเหล็กคือวัตถุดิบ เหล็กคือต้นน้ำของทุกอุตสาหกรรม เมื่อเหล็กแพงขึ้นเพราะกำแพงภาษี นั่นเท่ากับต้นทุนการผลิตสินค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง ต่อเรือ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ก็จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน และในที่สุด ผลจากมาตรการนี้ในปี 2002 ก็ทำให้ GDP ของสหรัฐฯ ในปีนั่นลดลงกว่า 30.4 ล้านดอลลาร์ และทำให้มีคนงานว่างงานจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ถดถอยลงอีกกว่า 200,000 คน (จากการคำนวณของ US International trade Commission)

ในขณะที่สถาบัน Peterson Institute for International Economics คำนวณออกมาว่า ต้นทุนของการทำให้คนงานในอุตสาหกรรมเหล็ก 1 คน มีงานทำต่อไปโดยการขึ้นกำแพงภาษีอยู่ที่ประมาณ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนงาน 1 คน จากการคำนวณของ Gavyn Davies (อดีตหุ้นส่วนของ Goldman Sachs และ อดีตประธาน BBC) เขาพบว่าหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเอเชียตะวันออก ร้อยละ 20 จะทำให้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศแท้จริง (Real GDP) ของสหรัฐฯ เอง ลดลงร้อยละ 0.6 สอดคล้องกับการทำแบบจำลอง Global Economic Model ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่พบว่าหากสหรัฐฯ ขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของตนร้อยละ 10 แล้ว GDP ของสหรัฐฯ เองนั่นล่ะที่จะล่วงลงร้อยละ 1 และทำให้รายได้ของทั้งโลกลดลงร้อยละ 0.3 ในขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว 35 ประเทศ ในนาม OECD ก็มีการทำ Simulation ในปี 2016 และพบว่า หากทั้งโลกทำสงครามการค้าโดยการขึ้นภาษีกันทุกประเทศ ประเทศละ 10% เหตุการณ์นี้จะทำให้การค้าระหว่างประเทศทั่วโลกลดลงร้อยละ 6 ในขณะที่ Real GDP ของทั้งโลกจะลดลงร้อยละ 1.4 โดยสหรัฐฯ จีน และยุโรป จะมี Real GDP ที่ลดลงระหว่าง 1.7% – 2.2%

 

เพื่อสรุปส่งท้าย ผมคงต้องกล่าวว่า ในระยะยาวแล้ว ทุกฝ่ายเสียประโยชน์จากการทำสงครามการค้าด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและแรงงานที่ช่วงแรกอาจได้รับการปกป้องจากการทำนโยบาย หรือแม้แต่ฝ่ายการเมืองที่อาจจะได้คะแนนเสียง แต่แล้วเมื่อผลตอบกลับจากการที่ต้นทุนการผลิตทุกสิ่งอย่างต้องแพงขึ้น ค่าครองชีพเองก็ต้องสูงขึ้น ทุกคนต่างเสียหายด้วยกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ผู้เริ่มสงคราม ฝ่ายที่ทำนโยบายตอบโต้ เพราะมองว่าสหรัฐฯ ละเมิด และแน่นอนประเทศเล็กๆ ที่อยู่ข้างๆ สนามรบที่ถูกลูกหลงไปด้วย

ดังนั้นในระยะสั้น เราต้องแสวงหาโอกาสเมื่อเกิดภาวะ Trade Diversion แต่ในระยะยาวสิ่งที่เราต้องเร่งสร้างมากที่สุดคือ การค้าเสรีที่เป็นธรรม Free and Fair Trade เพราะเพียง Free and Fair Trade เท่านั้นที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save