fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2564

Spotlight ประจำเดือนกันยายน 2564

ความน่าจะอ่าน 2021

ความน่าจะอ่าน 2021 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!

ความน่าจะอ่านดำเนินมาถึงปีที่ 5 แน่นอนว่าเรายังมีนายกรัฐมนตรีคนเดิม โดยที่นักประวัติศาสตร์อาจจะอยากเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ หรือนักรัฐศาสตร์อยากจะเขียนถึงประเด็นทางการเมืองใหม่ๆ แล้วก็ได้ แต่ก็อย่างที่รู้ นี่เป็นเรื่องที่หลายคนกำลังต่อสู้กันอยู่

ถ้าเราคิดว่าปี 2020 นั้นสาหัสแล้ว ปี 2021 ที่จุดบุหรี่รอซ้ำเติมคงยิ้มเยาะแล้วบอกเราว่า ที่เจอมานั่นยังไม่ใช่ของจริง เพราะดูเหมือนว่าความสาหัสจะไม่ได้จางหายไปไหน แต่ยิ่งทวีคูณความโหดร้ายขึ้นซ้ำๆ ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย เพราะมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ จนทำให้ร้านค้าและผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียงานของตัวเอง ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนขยับไปอย่างเชื่องช้า ยังไม่นับการจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และการทำร้ายผู้ชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่ถอยหลังในประเทศไทย

เราเผชิญและ ‘อ่าน’ เรื่องราวเหล่านี้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า “เหมือนการซ้อมตกนรก” นั่นจึงทำให้เราเลือกที่จะตั้งคอนเซ็ปต์ของปีนี้ไว้ว่า ‘อ่านอะไรในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’

เพราะว่าคำว่า ‘ยิ่งกว่า’ ไม่ใช่เรื่องเกินเลย หากมองจากสภาวการณ์ที่เรากำลังเผชิญในตอนนี้

ในความน่าจะอ่าน 2021 นี้ เรายังชวนเหล่าบรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 60 ชีวิต มาเลือกหนังสือที่คิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุด จนได้หนังสือกว่า 130 เล่ม หลากหลายทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และการ์ตูน หลายเล่มช่วยต่อจิกซอว์ให้เราเข้าใจภาพใหญ่ของสังคมมากขึ้น หลายเล่มช่วยให้เราเห็นแก่นของปัญหา และอีกหลายเล่มก็ช่วยปลอบประโลมหัวใจเราในวันที่เหนื่อยล้า

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2564

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

“ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาในโลกทวิตเตอร์มีประเด็นเล็กๆ ที่น่าสนใจ เมื่อใครสักคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า มีใครที่เกิดช่วงปี 1990-1999 แล้วยังรู้สึกว่าตัวเองยังไม่โตบ้างไหม”

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

“นึกย้อนไปสมัยที่ผู้เขียนยังเด็กมากๆ เวลาเห็นคนที่อายุ 25 ปีขึ้นไปมักให้ความรู้สึกของการเป็นผู้ใหญ่ หรือการแบกรับภาระหน้าที่บางอย่าง (ทั้งในเชิงการงานและการใช้ชีวิต) ได้อย่างดีเยี่ยมและน่ายกย่อง…จนกลายเป็นภาพจำของผู้เขียนที่รู้สึกว่า ถ้าวันไหนเราโตไปก็คงจะมีภาพแบบนั้นกับเขาเหมือนกัน”

“ตัดภาพมาที่ชีวิตจริง สิ่งเดียวที่มีพัฒนาการต่างไปจากตอนเด็กคืออาการติดกาแฟกับปวดหลัง ส่วนที่เหลือก็ยังใช้ชีวิต ‘ชุ่ย’ เหมือนเดิม”

“แต่เอาเข้าจริงๆ นี่นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ในต่างประเทศเองก็มีการศึกษาวิจัยว่ากลไกอะไรที่ทำให้คนรุ่นมิลเลนเนียลส์ หรือกลุ่มคนที่เกิดในกลางยุค 1980s จนถึงช่วงยุค 1990s นั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่โต หรือถ้าโต ก็ไม่ใช่ภาพลักษณ์แบบที่ตัวเองเคยคิดไว้เมื่อสมัยยังเด็ก”

“ปรากฏการณ์ที่หนุ่มสาวชาวมิลเลนเนียลส์ในสหราชอาณาจักรยังพร้อมใจกัน ‘ไม่อยากโต’ นั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขามีเงินและถือครองทรัพย์สิน ไม่ว่าจะบ้านหรือรถยนต์น้อยกว่าคนรุ่นพ่อแม่ หรือก็คือคนรุ่นบูมเมอร์ (กลุ่มคนที่เกิดหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง) ด้วยราคาที่ดินตลอดจนค่าภาษีในสหราชอาณาจักรแพงหูฉี่ การจะมีบ้านสักหลังหนึ่งจึงหมายถึงการต้องแบกรับภาระการเงินต่างๆ เหล่านี้จนหลังแอ่น”

เมื่อนักเขียนไทยเลี้ยวขวา และวรรณกรรมถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ คุยกับชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“การเกิดขึ้นของรางวัลซีไรต์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่นาน ไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ มีนักเขียนที่ได้รับสมญานามว่าเป็นฝ่ายซ้ายจำนวนมากได้รับรางวัลซีไรต์ต่อเนื่องกันในช่วง 10 ปีแรก

“กรณีของรางวัลซีไรต์หรือศิลปินแห่งชาติ คือทำให้นักเขียนที่เคยเป็นฝ่ายก้าวหน้าถูกยกย่องจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ และทำให้กลายเป็นสถาบันขึ้นมาโดยยกย่องให้มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจน จนเป็นที่เคารพนับถือของคน“

101 ชวน รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาคุยว่าด้วยเรื่องลักษณะทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปของวงการวรรณกรรมไทย และคุณค่าความหมายของวรรณกรรมในโลกปัจจุบัน

“…การยกย่องงานเขียนเหมือนยกย่องเครื่องรางของขลัง ก่อให้เกิดภาวะงมงายในการมีปฏิสัมพันธ์กับวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่อง

“มีการเชิดชูงานเหล่านี้ในระดับตัวบุคคลหรือในเชิงคุณค่าที่ตายตัวและหยุดนิ่ง ไม่ชี้ให้เห็นนัยหรือมิติที่สอดคล้องกับสังคมเท่าไหร่ ทำให้นัยของงานที่ควรจะเป็นการปลุกสำนึกของผู้อ่านหรือทำให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจหายไปจากตัวงาน สิ่งเหล่านี้มีผลสำคัญมากต่อกระบวนการที่ทำให้วรรณกรรมไทยและนักเขียนไทยเลี้ยวขวาในระดับวัฒนธรรม”

“…ศิลปินแห่งชาติหลายคนอาศัยหลบซ่อนตัวเองอยู่ข้างหลังคุณสุชาติ (สวัสดิ์ศรี) ในฐานะศิลปินที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พวกเขาไม่ต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองให้ชัดเจนก็สามารถกล้อมแกล้มตบตาคนทั่วไปได้ว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

แต่เมื่อคุณสุชาติถูกปลดออกไป ศิลปินแห่งชาติเหล่านี้ หากยืมคำที่คุณสุชาติชอบใช้ก็คือ ไม่สามารถทำตัว ‘เนียนเนียน เบลอเบลอ’ ได้อีกต่อไป ต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายไหน

ต่อไปคนที่เชิญคนพวกนี้ไปเป็นกรรมการมูลนิธิหรือไปร่วมงานกับฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องคิดหนักขึ้น เพราะนับจากนี้ไปศิลปินแห่งชาติจะถูกตีตราว่าเป็นศิลปินของรัฐแถมยังเป็นรัฐเผด็จการอีกต่างหาก มิใช่ศิลปินของราษฎรอีกต่อไปแล้ว”

“ความวุ่นวายไม่ได้ทำให้สังคมล่มสลาย” ทบทวนนิยามสันติวิธี กับ ภัควดี วีระภาสพงษ์

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“บางครั้งความวุ่นวายไม่ได้ทำให้สังคมล่มสลาย และมันสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมได้ .. ความปั่นป่วนไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขั้นต้องปฏิเสธไม่ให้มีการประท้วงเกิดขึ้น”

จากเหตุการณ์ปะทะที่สามเหลี่ยมดินแดงและปฏิบัติการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐโดยกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊ส – ทะลุแก๊ซ ทำให้สังคมไทยกลับมาถกเถียงถึงหลักสันติวิธี นิยามความรุนแรงและความวุ่นวายอีกครั้ง

101 คุยกับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล และนักวิชาการอิสระผู้ศึกษาการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของขบวนการภาคประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ผู้ที่ยืนยันว่าสันติวิธีไม่อาจถูกตีกรอบจำกัดจากคนวงนอกการปะทะ

“สันติวิธีเป็นเครื่องมือของคนที่อ่อนแอกว่าในการต่อสู้ โดยทั่วไป นักสันติวิธีสายปฏิบัติจึงพยายามนิยามให้กว้างที่สุดเพื่อเพิ่มอำนาจให้คนอ่อนแอ”

“ถ้าผู้ประท้วงบอกว่าจะชุมนุมโดยสันติ แต่โกรธเกรี้ยวและลุกขึ้นตอบโต้เมื่อมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ นั่นก็เป็นเรื่องปกติในโลกการต่อสู้ ปัญหาคือบางครั้งสังคมไทยเข้าใจว่าสันติวิธีต้องไม่ตอบโต้อะไรเลย … ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐยิงกระสุนยางมา เราโมโห ขว้างขวดน้ำกลับไป ซึ่งทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่คุณจะไม่นับว่าเป็นสันติวิธีหรือ? การตอบโต้เพราะความโกรธจากการถูกกระทำเป็นความรุนแรงในสายตาคุณหรือ?”

“เราอยากเรียกร้องให้ประชาชนที่ลงไปปะทะมีโอกาสเป็นผู้นิยามสันติวิธีของตัวเอง เพราะเขามีประสบการณ์ สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกในตอนปะทะ ถ้าให้คนที่ลงไปปฏิบัติจริงเป็นผู้นิยามจะสร้างพื้นที่ของสันติวิธีในไทยได้มากกว่าเดิม”

“นักปฏิบัติการสันติวิธีต้องเป็นผู้นำของสังคมในการผลักให้เกิดมุมมอง ทัศนคติที่ต่างไปจากเดิมด้วย พูดง่ายๆ ว่านักสันติวิธีเชิงปฏิบัติคือคนที่สั่นคลอนสังคมให้คิดใหม่ มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การต่อสู้ ช่วงแรกคนในสังคมแทบทุกสังคมมักติดอยู่กับแนวคิดเดิมๆ กฎระเบียบเดิมๆ และนักสันติวิธีจะรับบทบาทท้าทาย ตั้งคำถามต่อสังคม ทำให้คนสะดุดกับความเชื่อเดิมจนต้องลุกขึ้นมาถกเถียงกันว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด”

[ความน่าจะอ่าน] ปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” กับ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

“ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวถึงความสัมพันธ์ของอาการ ‘ตาสว่าง’ กับการ ‘อ่าน’ ประวัติศาสตร์ไว้ได้อย่างน่าสนใจในคำนำเสนอของหนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี’ ว่า เมื่อคนตาสว่างกับปัจจุบันแล้ว จึงย้อนกลับไปสอบสวนอดีต ความข้อนี้เองทำให้การศึกษาบทบาททางการเมืองของพระมหากษัตริย์และพวกนิยมเจ้าตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีข้อเสนอใหม่ๆ ปรากฏขึ้นมาในวงวิชาการ”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึง ‘ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี’ ของ ณัฐพล ใจจริง 1 ใน 11 Top Highlights ‘ความน่าจะอ่าน 2021’ ที่ชวนคุณย้อนมองภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทยใต้เงาอเมริกา พ.ศ.2491-2500

[ความน่าจะอ่าน] ‘เศรษฐศาสตร์ความจน’ ทำความเข้าใจความจน ก้าวพ้นมายาคติ

โดย อิสร์กุล อุณหเกตุ

“หนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจปัญหาความยากจน โดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย เพราะนอกจากหนังสือเล่มนี้จะช่วยทำลายมายาคติเก่าๆ เกี่ยวกับความยากจนโดยการใช้เครื่องมือใหม่ๆ แล้ว ยังกระตุ้นให้เราพยายามทำความเข้าใจคนจนและกับดักความยากจน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในวิกฤติเช่นนี้”

อิสร์กุล อุณหเกตุ เขียนถึงหนังสือ ‘เศรษฐศาสตร์ความจน’ (Poor Economics) ผลงานจากสองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 1 ใน 11 Top Highlights ‘ความน่าจะอ่าน 2021’ ว่าด้วยมายาคติที่ฝังลึกเกี่ยวกับความยากจน และการก้าวข้ามกับดักความยากจน

“ไม่ใช่ว่าคอลเอาต์เพราะเป็นหน้าที่ดารา แต่เพราะสามัญสำนึกในความเป็นมนุษย์” – Daung นักแสดงพม่า

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“ในฐานะสื่อ แน่นอนว่าเราต้องอยู่เคียงข้างประชาชน แล้วเราก็จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ต่อไปว่า ในวันนี้เราได้เลือกยืนอยู่เคียงข้างความถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งอันที่จริงผมว่ามันไม่ใช่อะไรที่เราต้องเลือกด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นจิตสำนึกพื้นฐานของคนอยู่แล้วที่จะต้องรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด และการที่ดารานักแสดงพม่าหลายคนกล้าออกมาคอลเอาต์ก็เป็นเพราะพวกเขามีจิตสำนึกเหล่านี้อยู่แล้ว มันออกมาจากใจข้างใน มันไม่ใช่ว่าคอลเอาต์เพราะเป็นหน้าที่ที่ดาราต้องทำ แต่เป็นเพราะมีสามัญสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่ต้องทำเพื่อความถูกต้อง”

101 สนทนากับดาง์ว (Daung) นักแสดงชื่อดังชาวพม่า ถึงความหาญกล้าแสดงจุดยืนต้านรัฐประหารเคียงข้างประชาชน พร้อมย้อนความทรงจำในวงการบันเทิงพม่า ท่ามกลางการเมืองที่ผันแปร

“ตัวผมเองคอลเอาต์เพื่อประชาธิปไตยมานานแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งมีการเลือกตั้งใหญ่ หลังจากที่อยู่ภายใต้เผด็จการมายาวนาน ตอนนั้นผมเชิญชวนให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิใช้เสียง เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้นสำคัญมากจริงๆ เป็นจุดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้ และก็เป็นเพราะผมเชื่อมั่นมาตลอดว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมาจากเสียงของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันหมด แล้วก็ไม่ใช่แค่ในปี 2015 เท่านั้น แต่ผมทำมาตลอด พอมาถึงการเลือกตั้งปี 2020 ผมก็ยังทำแบบเดียวกันอยู่”

“สำหรับผม คนที่เป็นดาราต้องไม่ใช่แค่แสดงให้คนดูหรือสร้างสรรค์ผลงานออกมาเพื่อความบันเทิงของผู้คนเท่านั้น แต่ต้องทำตัวเหมือน ‘เพชร’ ที่ไม่ใช่แค่สวยงาม แต่ต้องมีคุณค่าด้วย คนทั้งประเทศต้องได้รับคุณค่าจากสิ่งที่เราทำหรือสื่อสารออกมา นั่นถึงจะเรียกได้ว่าเราเป็นสื่อที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง”

“ณ ตอนนี้ เราไม่ควรห่วงแค่อาชีพของตัวเองอย่างเดียว แต่เราต้องมองส่วนรวม ในฐานะที่มนุษย์ต้องอยู่ในสังคมร่วมกันกับคนอื่น ถ้าในภาพรวม ประเทศเราไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย อาชีพหรือความฝันของเราก็ไม่มีทางไปรอดได้ ถ้าประชาชนไปไม่รอด วงการบันเทิงเราก็ไปไม่รอดเช่นกัน เพราะฉะนั้น การที่เราจะไปรอดได้คือทุกคนในสังคมต้องไปรอดเหมือนกัน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราถึงต้องก้าวข้ามความกลัวแล้วออกมาต่อสู้ร่วมกัน”

“ผมมองว่าวงการบันเทิงหรือกระทั่งวงการศิลปะได้ถูกทำร้ายไปตั้งแต่ที่กองทัพเข้ามาทำรัฐประหาร มันจบสิ้นแล้ว ศิลปินไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากจะออกมาสร้างสรรค์ผลงานภายใต้รัฐบาลทหารอีกต่อไป เมื่อประชาชนไม่มีความสุข ศิลปินก็ไม่มีความสุขและไม่มีใจสร้างสรรค์งานไปด้วย เพราะฉะนั้น ผมว่าตราบใดที่ประเทศเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย วงการนี้ก็ไม่มีทางอยู่ต่อไปได้แน่นอน”

“อนาคตอย่างเดียวที่ผมมองเห็นในตอนนี้คือการต่อต้านรัฐบาลรัฐประหารชุดนี้ ถ้าถามว่าอีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้าจะทำอะไร ผมก็ตอบว่าผมจะต่อต้านรัฐประหาร แล้วหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมาผมทำอะไร ผมก็ต่อต้านรัฐประหารอยู่เหมือนกัน นี่คือสิ่งเดียวที่ผมคิดได้ตอนนี้ ถ้าเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาได้สำเร็จ ผมถึงค่อยกลับมาสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง ผมคิดแค่นี้เลยในตอนนี้”

ภูมิรัฐศาสตร์เหนือลุ่มน้ำโขง: การแข่งขันของมหาอำนาจ

ภูมิรัฐศาสตร์เหนือลุ่มน้ำโขง: การแข่งขันของมหาอำนาจ

โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี วิเคราะห์การต่อสู้ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่แข่งกันมีอิทธิพลในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

“กล่าวเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขง ถือได้ว่าจีนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างการเชื่อมโยงและขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง จีนมีการค้าและการลงทุนเป็นจำนวนมากในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประสบความสำเร็จในการส่งออกเทคโนโลยีระบบรางให้กับลาวและไทย มีความสัมพันธ์ทางทหารและขายยุทโธปกรณ์ให้กับไทย พม่า และกัมพูชา และในทางกลับกันประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เช่น พม่า ไทย และกัมพูชา มีจีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับหนึ่ง”

“อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาต่างๆ ของจีนในลุ่มแม่น้ำโขงสร้างปัญหาให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำไม่น้อยเช่นกัน เฉพาะอย่างยิ่งโครงการเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก่อให้เกิดผลกระทบด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก”

“โครงการของสหรัฐฯ ที่ทำในกรอบความร่วมมือสหรัฐฯ-แม่โขง ในการติดตามข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขงที่สร้างความฉุนเฉียวให้กับจีนมากที่สุดคือ Monitoring the quantity of water flowing through the upper Mekong basin under natural (unimpeded) conditions ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านภูมิอากาศ Eye on Earth ได้ศึกษาข้อมูลจากดาวเทียมและการวัดระดับน้ำในแม่น้ำโขงระหว่างปี 1992-2019 จนนำไปสู่ข้อสรุปว่า เขื่อนของจีนในแม่น้ำโขงมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้พื้นที่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำโขงประสบกับภัยแล้ง”

“เมื่อรายงานออกเผยแพร่ในเดือนเมษายน 2020 สถานทูตจีนในกรุงเทพฯ ออกแถลงการณ์ตอบโต้รายงานดังกล่าวอย่างทันควัน โดยว่ามันถูกเขียนขึ้นด้วยแรงบันดาลใจทางการเมือง มุ่งโจมตีจีนด้วยเจตนาร้าย หนังสือพิมพ์ People’s Daily ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอ้างรายงานของจีนเองว่า เขื่อนมีส่วนในการช่วยขจัดภัยแล้งในแม่น้ำโขงต่างหาก การปะทะกันแบบนี้คงจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตราบเท่าที่มหาอำนาจทั้งสองยังคงแข่งขันกันสร้างอิทธิพลเหนือลุ่มน้ำโขง”

 เมื่อกองทัพ ‘แทรกซึม’ สังคม: มองอำนาจกองทัพ ‘นอกรัฐประหาร’ กับ พวงทอง ภวัครพันธุ์

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“ที่ผ่านมา สังคมมักจะเข้าใจเพียงแค่ว่ากองทัพใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อให้ชนชั้นนำเก่าและกองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเท่านั้น … แต่ที่จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยไทยไม่เคยลงหลักปักฐานเลย เพราะกองทัพมีอำนาจแทรกซึมในระบบการเมืองและสังคมตลอดเวลา รวมทั้งในยามที่เขาไม่ได้เป็นรัฐบาลด้วย”

ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สองที่สูญหายหลังอำนาจกองทัพครอบงำสังคมไทย 101 สนทนากับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs เพื่อเปิดอำนาจกองทัพในส่วนที่ยังซ่อนอยู่ในรัฐไทยอย่างแยบยล

“เราต้องมอง กอ.รมน.ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของรัฐไทยที่มีทหารครอบงำอยู่ ที่เอาไว้รับมือกับกลุ่มคนที่รัฐนิยามว่าเป็นศัตรูหรือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทย รวมทั้งในฐานะเครื่องมือที่รัฐหวังใช้เพื่อที่จะแทรกซึมเข้าสู่สังคม … กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ องค์กรนี้มีไว้เพื่อให้ชนชั้นนำและกองทัพสามารถควมคุมทิศทางการเมืองและสังคม ซึ่งรวมถึงการควบคุมและปราบปรามประชาชนด้วย …”

“จะเห็นว่าหลังรัฐประหาร 2549 ชนชั้นนำเก่าเลือกกลับไปใช้กลไกเก่า [กอ.รมน.] ที่มีอยู่แล้วและขยายขอบเขตอำนาจโดยออกกฎหมายรับรอง ซึ่งจะเห็นความประจวบเหมาะพอดี คือกองทัพทำรัฐประหาร ผลักดัน พ.ร.บ. ออกมาและให้มีผลบังคับใช้ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งปี 2551 นี่ถือว่าเป็นมรดกชิ้นสำคัญของ คมช. และรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

“กลไกแทรกซึมสังคมของ กอ.รนม. จะถูกใช้ควบคู่และทับซ้อนกับกลไกอื่นๆ ของหน่วยงานรัฐด้วย … ทำหน้าที่หลายอย่างและทำหน้าที่ร่วมกันไปเพื่อแทรกซึมลงไปให้ถึงระดับมวลชนรากหญ้า ทั้งกลไกการปกครองการพัฒนา กลไกการปราบปราม กลไกจิตวิทยาการเมือง กลไกปลูกฝังอุดมการณ์หลักของชาติ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อการแย่งชิงฐานมวลชนทั้งในเชิงอุดมการณ์และเชิงการจัดตั้ง”

“การปฏิรูปกองทัพต้องเริ่มจากการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองทัพใหม่ว่าภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคงมิติไหนบ้างที่ควรหรือไม่ควรอยู่ในมือกองทัพ ดิฉันเสนอว่าต้องนำทหารออกไปจากภารกิจความมั่นคงรูปแบบใหม่ทั้งหมด …

“การเปลี่ยนขอบเขตบทบาทอำนาจหน้าที่ของกองทัพจะนำไปสู่การตัดโครงการ หน่วยงานกิจการพลรือนในกองทัพและงบประมาณจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับกิจการความมั่นคงภายใน … และเมื่อตัดงบประมาณมหาศาลที่อยู่ในโครงการได้ ก็จะสามารถตัดตำแหน่งนายพลและกำลังพลที่ส่วนใหญ่รับผิดชอบงานความมั่นคงภายใน พอปัญหาความมั่นคงภายในในมือของกองทัพลดขนาดลง ก็จะยุบ กอ.รมน. ได้และให้สภาความมั่นคงแห่งชาติรับผิดชอบกิจการความมั่นคงภายในแทน ก็จะตัดอำนาจการแทรกแซงทางการเมืองและสังคมของกองทัพออกไปได้”

รัฐประหารในโลกเก่า กลไกเข้าสู่อำนาจที่บ่อนทำลายตัวเอง: อ่านประวัติศาสตร์อยุธยาด้วยแว่นเกมออฟโธรนส์

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ในวาระใกล้ครบรอบ 15 ปีการรัฐประหาร 2549 ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พาไปย้อนไปรู้จักรัฐประหารในสมัยอยุธยา ที่มาจากการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำ

“หากบัลลังก์เหล็กแห่งเวสเทอรอสในเกมออฟโธรนส์จะเป็นเป้าหมายของตระกูลต่างๆ แล้ว เศวตฉัตรแห่งกรุงศรีอยุธยาก็อาจพออุปมาได้ถึงบัลลังก์อันเป็นที่หมายปองของชั้นนำในยุคดังกล่าว

“ในวัฒนธรรมร่วมสมัย การฉายภาพการชิงอำนาจของกษัตริย์อยุธยาอาจผ่านตามาแล้วบ้างจากในหนังสุริโยไท หรือล่าสุดคือละครย้อนยุคที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อย่างบุพเพสันนิวาส ที่ตอนท้ายเรื่องเล่าถึงการรัฐประหารของพระเพทราชา ฆ่าพระปีย์และคอนสแตนติน ฟอลคอน เรียกได้ว่าการรัฐประหารนั้นแฝงอยู่ในวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัยไทยแบบที่เราอาจจะไม่ทันรู้ตัว

“ข้อเขียนนี้จะชวนมองชนชั้นนำในฐานะมนุษย์ผู้มีเลือดมีเนื้อ และเป็นนักการเมืองผู้แสวงหาอำนาจภายใต้ความโลภ โกรธ หลงแบบปุถุชน มีการกระทำที่มีทั้งประสบความสำเร็จและความผิดพลาด บนสังเวียนของการชิงอำนาจในโลกการเมืองแบบหนึ่งที่อาจพอเทียบเคียงได้กับซีรีส์ชื่อก้องโลกอย่างเกมออฟโธรนส์ เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่มาสู่ราชธานีที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสยาม นั่นคือ ‘กรุงศรีอยุธยา’”

รัฐที่ไม่ (ต้อง) พัฒนา เพราะใช้งานอาสาเป็นเกราะกำบัง

รัฐที่ไม่ (ต้อง) พัฒนา เพราะใช้งานอาสาเป็นเกราะกำบัง

โดย ฉัตร คำแสง

“ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 โครงการก้าวคนละก้าวได้สร้างปรากฏการณ์ระดับประเทศ พี่ตูน บอดี้สแลมวิ่งจากสุดเขตแดนใต้สู่สูงสุดแดนสยาม เพื่อระดมเงินบริจาคไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ ในวันนั้น เสียงชื่นชมพี่ตูนในฐานะฮีโร่ของสังคมไทยดังไปทั่วสารทิศ”

“เราต่างหวังว่าความพยายามที่ยิ่งใหญ่ครั้งนั้นจะช่วยแก้ปัญหาให้กับโรงพยาบาลได้ จากการช่วยเหลือเฉพาะจุด การชี้ให้ทุกคนเห็นถึงปัญหาในการบริหารจัดการระบบ และการจุดประกายให้ภาครัฐเริ่มพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างเข้มข้นถึงโครงสร้าง เพื่อไม่ต้องแบมือรอรับบริจาคอีก…แต่วิกฤตโควิด-19 ก็นำพาภาพเดิมๆ กลับมาอีก”

คอลัมน์ Policy Praxis เดือนนี้ ฉัตร คำแสง และเชษฐพันธุ์ ใจเปี่ยม เล่าถึงประเทศไทยที่มักมีเอกชนเข้ามาอาสาจัดการปัญหาแทนรัฐ แต่อีกด้านก็ทำให้ประสิทธิภาพของภาครัฐย่ำแย่ลง


“ที่ประเทศไทยในปัจจุบัน เราเห็นเพจ Facebook หรือกลุ่มจิตอาสาต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการช่วยหาเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพราะเขาเล็งเห็นว่าสายด่วนของภาครัฐมีคู่สายให้บริการจำนวนน้อย โทรติดยาก แต่ก็เป็นการให้บริการที่ทับซ้อนกันและมีหลายช่องทาง”

“สุดท้ายเมื่อบ้านไหนติดโควิด การปฏิบัติจริงก็คือไปรวบรวมช่องทางต่างๆ ในการหาเตียงและไล่ติดต่อไปในทุกช่องทางเหล่านั้น แม้ว่าจะมีคนรับสายและอาจมีความช่วยเหลือเบื้องต้นมาที่บ้าน แต่ก็ยังคงต้องรอเตียงอยู่ ความลักลั่นก็คือเอกชนเหล่านั้นก็ต้องกลับมาประสานงานกับหน่วยงานรัฐในท้ายที่สุด เพราะเตียงรักษาโควิด-19 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายนั้นเป็นบริการของภาครัฐ แทนที่ทุกอย่างจะจบภายในหนึ่งระบบ กลายเป็นว่าจะต้องบริหารงานจากหลายระบบแทน โดยที่ระบบหลังบ้านของรัฐก็ยังเป็นคอขวดอยู่ดี”

“การเข้ามาของเอกชนจึงอาจแก้ปัญหาได้ในเบื้องหน้า แต่ก็ลดความจำเป็นที่รัฐจะต้องพัฒนาตัวเอง ซึ่งยังทำให้ระบบการหาเตียงนี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นอยู่ดี”

สิ้นสุด Merkelism?: 16 ปี เยอรมนีในมือ ‘อังเกลา แมร์เคิล’

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

ย่อมเป็นธรรมดาที่ตลอดช่วงระยะเวลา 16 ปีของแมร์เคิลจะมีทั้งขาขึ้นและขาลง ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหิน (แต่ส่วนมากเป็นดอกไม้) แนวทางการเมืองแบบ Merkelism ไม่ได้ประกันทุกสิ่ง แต่ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มรดกทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่แมร์เคิลฝากไว้อย่างแน่นอนคือ เสถียรภาพและการยึดรวมความต่างไว้ไม่ให้แตกสลายในแบบที่ยากจะเลียนแบบ

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแกร่งจากพรรคคริสเตียนเดโมแครตได้อำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (และตลอดกาล) ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2021 หลังจากครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง 4 วาระ เป็นเวลายาวนานถึง 16 ปีผ่านระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง ทนทาน และซับซ้อนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จนกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ตำนาน’ ที่โลกต้องจารึก

นับตั้งแต่แมร์เคิลเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2005 คลื่นวิกฤตยักษ์ใหญ่หลายลูกกระหน่ำซัดเยอรมนีไม่ยั้ง เริ่มต้นจากวิกฤตการเงินโลกและวิกฤตยูโรโซนปี 2008-2009 ต่อด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัยปี 2015 วิกฤตเสรีประชาธิปไตยหันขวาจากการผงาดขึ้นของพรรค AfD ปี 2017 และแน่นอน วิกฤตไวรัสโควิด-19 ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา

แต่กระนั้น แมร์เคิลยังคง ‘ยืนหนึ่ง’ อย่างสงบนิ่งท่ามกลางลมพายุการเมืองที่ปั่นป่วนและผันผวนที่สุดในโลกยุคหนึ่งจนขึ้นชื่อว่าเธอคือ ‘พลังแห่งเสถียรภาพ’ บ้างก็ว่าเป็น ‘ผู้จัดการวิกฤต’ หรือแม้กระทั่ง ‘ผู้นำแห่งโลกเสรี’ ที่พยุงเยอรมนี สหภาพยุโรปและโลกเสรีไว้ไม่ให้แหลกสลายในช่วงเวลาอันยากลำบาก

น่าฉงนว่าเธอทำเช่นนั้นได้อย่างไร สมดั่งฉายาแค่ไหน และเธอเปลี่ยนเยอรมนีไปอย่างไรบ้าง

[ความน่าจะอ่าน] เมื่อโลกซึมเศร้า: มันไม่ใช่ความผิดของคุณ

โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

“‘เมื่อโลกซึมเศร้า’ อธิบายว่าภาวะการซึมเศร้ารวมหมู่อย่างที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนั้นไม่ได้เป็นผลจากความผิดพลาดเชิงปัจเจก แต่เป็นผลลัพธ์จากระบอบทุนนิยมต่างหาก ‘ทุนนิยมยุคปลายมีวิธีการทำให้ผู้คนป่วยอย่างเห็นเด่นชัดเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นวิธีรักษาที่สนใจแค่ระดับส่วนบุคคลอย่างเดียวจึงยังไม่พอ แต่จะต้องทำควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสังคมวงกว้าง’

“ฉะนั้นการโทษตัวเอง หรือเฆี่ยนตีตัวเองด้วยมาตรฐานของโลกทุนนิยมนั้นไม่ใช่ทางออก มันกลับจะฝังเราลงไปในหลุมปัญหาให้ลึกขึ้นจนฉุดไม่อยู่ต่างหาก”

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เขียนถึงหนังสือ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher, โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์’ ผลงานของสรวิศ ชัยนาม 1 ใน 11 Top Highlights ‘ความน่าจะอ่าน 2021’ ว่าด้วยโลกสัจนิยมแบบทุน และชวนตั้งคำถามว่าอาการซึมเศร้ารวมหมู่ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของปัจเจกหรือเรื่องของทุนกันแน่

อย่าประเมินสันติวิธีบวกเกินไป อย่าประเมินความรุนแรงลบเกินไป

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนมองการอ่านตำราของนักเรียนกฎหมายไทยที่มักพูดกันว่าต้องทุ่มเทอ่านหนังสือจำนวนมาก โดยเฉพาะในการสอบอัยการหรือผู้พิพากษา แต่การอ่านนั้นมุ่งให้จดจำความหมายและบรรทัดฐานที่ถูกต้อง แต่ไม่ทำให้มีโอกาสฝึกฝนตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อพิพาทต่างๆ

“ตำรากฎหมายเหล่านี้มุ่งให้ผู้เรียนจดจำถึงความหมายและบรรทัดฐานที่ ‘ถูกต้อง’ งานที่นักเรียนกฎหมายต้องอ่านเพื่อให้ผ่านการสอบนั้น หัวใจสำคัญก็คือต้องสามารถอธิบายถึงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นให้สอดคล้องกับแนวความคิดหลักที่อธิบายกันอยู่”

“การอ่านในแนวทางเช่นนี้จะทำให้นักเรียนกฎหมายไม่ได้มีโอกาสในการฝึกฝนตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อพิพาทต่างๆ การอ่านในลักษณะเช่นนี้ ‘ซ้ำแล้วซ้ำเล่า’ ก็จะมีผลให้ผู้อ่านค่อยๆ สูญเสียทัศนะแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ลงไป จนในที่สุดก็จะกลายเป็นนักอ่านเซื่องๆ คนหนึ่ง”

มองปรากฏการณ์คนสามจังหวัดภาคใต้เชียร์ตาลีบัน: สำนึกร่วมของผู้ถูกกดขี่ การปลดแอก และความหลากหลายในกลุ่มมุสลิม

มองปรากฏการณ์คนสามจังหวัดภาคใต้เชียร์ตาลีบัน: สำนึกร่วมของผู้ถูกกดขี่ การปลดแอก และความหลากหลายในกลุ่มมุสลิม

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

“ปฏิกิริยาต่อการเข้ายึดอำนาจของตาลีบันและการถอนกำลังของกองทัพสหรัฐฯ นั้นหลากหลาย โลกได้เห็นภาพผู้คนหนีออกนอกประเทศ ขึ้นเครื่องบินด้วยความจุเต็มจำนวนเพื่อไปแสวงหาชีวิตยังที่แห่งใหม่ พร้อมกันกับที่มีชาวอัฟกันจำนวนไม่น้อยที่แสดงความยินดีต่อการจากไปของกองทัพสหรัฐฯ อันหมายถึงการได้ปลดแอกตัวเองออกจากการปกครองของประเทศอื่นนานนับ 20 ปี ซึ่งสภาวะอย่างหลังนี้ไม่ได้ปรากฏขึ้นแต่ในกลุ่มชาวอัฟกันที่สนับสนุนตาลีบันเท่านั้น หากแต่อยู่ในแววตา อยู่ในน้ำเสียงของคนมุสลิมในเขตแดนอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งคนในสามจังหวัดชายแดนใต้จำนวนไม่น้อย”

พิมพ์ชนก พุกสุข สนทนากับอสมา มังกรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และรุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ อาจารย์คณะภาษาและภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา มองกระแสเชียร์ตาลีบันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันสะท้อนสำนึกร่วมของผู้ถูกกดขี่ และความซับซ้อนของการเมืองเรื่องศาสนาในสังคมไทย

“การอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมา 17 ปี รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คนต้องเจอกับการเชิญตัวไปรีดเค้นข้อมูล หรือการซ้อมทรมานต่างๆ ตลอดมา สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการยากที่จะไปลบล้างความรู้สึกของพวกเขาว่าไม่ได้ถูกกดขี่ เพราะเขาเห็นด้วยตาตัวเองมาโดยตลอด ไม่ใช่แค่จากคำบอกเล่า แล้วคนกลุ่มนี้ก็เชื่อมตัวเองเข้ากับพื้นที่มุสลิมอื่นๆ ทั่วโลกที่มีปัญหา โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญ จึงได้เห็นว่าตัวเองมีประสบการณ์คล้ายคลึงกันกับคนอีกหลายพื้นที่ เช่น กาซ่า-ปาเลสไตน์ อัฟกานิสถาน และมณฑลซินเจียง-จีน และประเทศมุสลิมก็มองเหตุการณ์ของมุสลิมที่ยังถูกกดขี่เหล่านี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่พวกเขาต้องพูดออกไป” – รุสนันท์

“มันเป็นสำนึกร่วมกันในอุดมการณ์ชาตินิยมและความรู้สึกของการเป็นผู้ถูกกดขี่หรือเป็นพลเมืองชั้นสอง พวกเขาอยากเป็นตัวของตัวเอง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาเห็นด้วยกับเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด ส่วนตัวไม่คิดว่าพลวัตของสังคมวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้จะไปสุดขั้วทางด้านศาสนาอย่างตาลีบัน” – อสมา

“เรื่องนี้เชื่อมโยงกับประเด็นภาพตัวแทน สังเกตว่าการกระทำของมุสลิมบางกลุ่มมักถูกนับเป็นตัวแทนของอิสลามโดยอัตโนมัติ ซึ่งแปลกไปจากศาสนาอื่นมาก… สิ่งที่ตาลีบันกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ การบังคับผู้ชายให้ไว้หนวดเครายาวๆ หรือการใช้กฎหมายต่างๆ อย่างเข้มงวดมากนั้น ไม่ใช่ว่าคนด่าตาลีบัน แต่ด่าอิสลาม แล้วคนก็ไปมองว่าตาลีบันคือตัวแทนอิสลาม นี่คือสิ่งที่ต้องระวังทั้งสองฝั่ง ฝั่งคนข้างนอกที่มองเข้าไปก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าแต่ละสิ่งเป็นที่อิสลามหรือเป็นที่ตัวบุคคลกันแน่ ขณะที่ฝั่งมุสลิมก็ยิ่งต้องระวัง เพราะคนข้างนอกมักมองเราในฐานะตัวแทน” – รุสนันท์

“มุสลิมบ้านเราอาจต้องจับตามองและถามตัวเองดีๆ ว่าสนับสนุนอะไร เพราะอะไร การที่ตาลีบันเคลมว่าใช้ชารีอะห์ ซึ่งมุสลิมยอมรับว่าเป็นสัจธรรม ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ตาลีบันถูกต้องชอบธรรมสมบูรณ์แบบไปโดยอัตโนมัติ เพราะเราต้องอย่าลืมว่าชารีอะห์กับการปฏิบัติใช้ชารีอะห์นั้นแตกต่างกัน” – อสมา

The King and I(ndonesia): การเสด็จชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

The King and I(ndonesia): การเสด็จชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสชวาถึง 3 ครั้ง โดยการเสด็จชวาครั้งแรกถือเป็นการเสด็จ ‘ต่างประเทศ’ ครั้งแรกของพระองค์ด้วย และแรงบันดาลใจในการพัฒนาสยามให้ทันสมัยก็เป็นผลมาจากการเสด็จชวา ไม่ใช่ยุโรปดังที่หลายคนเข้าใจกัน

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์การเสด็จประพาสชวา (อินโดนีเซีย) 3 ครั้งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากเสด็จชวามีการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปสยามครั้งใหญ่ เช่นในปี 2415 สองปีหลังจากกลับจากเสด็จชวาครั้งแรก ได้มีการปรับปรุงการทหาร สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้น และการปฏิรูปการบริหารบ้านเมืองอื่นๆ ในสยามให้ทันสมัย ตลอดจนการก่อสร้างอาคารตึกแถว และถนนหนทางต่างๆ ซึ่งคาดว่ามาจากการที่ทรงได้ไปเห็นการบริหารงานการปกครองที่ฮอลันดาใช้ในปัตตาเวีย

หลังการเสด็จชวาครั้งแรก ด้วยทรงรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาลอาณานิคมฮอลันดา รัชกาลที่ 5 จึงทรงส่งรูปปั้นช้างสำริดมอบให้เป็นของขวัญแก่ปัตตาเวีย ในปัจจุบัน รูปปั้นดังกล่าวตั้งอยู่ที่หน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ณ กรุงจาการ์ตา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงมีชื่อเล่นว่า ‘พิพิธภัณฑ์ช้าง’ ในทางกลับกัน รัชกาลที่ 5 ก็ทรงได้รับ ‘ของขวัญ’ จากการเสด็จชวากลับมาสยามเช่นกัน

“ดูเหมือนว่าเรื่องการแลกเปลี่ยน ‘ของขวัญ’ ระหว่างราชาจากสยามกับเจ้าอาณานิคมฮอลันดาจะเป็นความเจ็บปวดในใจลึกๆ ของชาวอินโดนีเซียที่ความรู้สึกว่าสูญเสียโบราณวัตถุของ ‘ชาติ’ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม อาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าการแลกเปลี่ยนนั้นถูกกระทำในช่วงเวลาที่ชาวพื้นเมืองอินโดนีเซียถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคมดัตช์ พวกเขาไม่ได้มีสิทธิมีเสียง ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินโดนีเซีย”

15 ปี 19 กันยา: ย้อนเปิดบันทึก ‘ปิยบุตร’ เคยอ่านการเมืองไทยไว้อย่างไร หลังรัฐประหาร 49

โดย กองบรรณาธิการ

15 ปีเต็มที่การเมืองไทยไร้รัฐประหารนับจาก รสช. 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนหลายคนคิดว่าการรัฐประหารไม่มีวันหวนกลับคืนสู่สังคมไทยอีกแล้ว … รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เกิดขึ้น!

15 ปีผ่านไป จาก 2549 ถึง 2564 สังคมไทยก็ยังอยู่ภายใต้มรดกคณะรัฐประหาร จาก คมช. สู่ คสช. บางมิติพันลึกขึ้นเรื่อยๆ บางมิติก็สว่างจ้าขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการเลือกตั้งในปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยากที่จะกล่าวถึงประเทศไทยในตอนนี้ว่าอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ บางคนอาจกล่าวกระทั่งไม่แน่ใจว่าใช่ ‘ประชาธิปไตย’ หรือไม่ด้วยซ้ำไป

ในวาระครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 101 เปิดกรุต้นฉบับเก่า ชวนย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ว่าด้วยทหาร-รัฐประหาร-ประชาธิปไตยไทย ในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคปลายรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่อยุคต้นรัฐบาล คมช.

งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 (สัมภาษณ์โดยกองบรรณาธิการประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังรัฐประหาร) ขณะนั้น ‘ปิยบุตร’ ในวัย 27 ปี เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอยู่ระหว่างการลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส

“ผมเสียดายที่สุดคือ ค่านิยมทหารไม่ยุ่งการเมือง ทหารไม่ยึดอำนาจ ที่สังคมไทยช่วยกันฟูมฟักมา 15 ปี มาวันนี้หายไปหมด ตลอด 15 ปี บางช่วงก็พอมีข่าวมาบ้างว่าทหารจะออกมา แต่เราก็ช่วยกันสร้างค่านิยมนี้จนทหารเป็นทหารอาชีพมากขึ้น รัฐประหาร 19 กันยา ทำเอาค่านิยมนี้ไร้ความหมายไปเลย หมายความว่าต่อไปอีก 3 ปี 5 ปี หากเราไม่พอใจรัฐบาล หากทหารเกิดขัดแย้งกับรัฐบาล ก็อาจมีรัฐประหารอีก เพราะครั้งล่าสุดเพิ่งผ่านไปไม่นาน รัฐบาลต่อไปก็ต้องพึ่งกองทัพ ต้องประนีประนอมกับกองทัพ คงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะฟื้นฟูให้ค่านิยมทหารไม่ยุ่งการเมืองกลับมาปักหลักได้อีก”

“ผลจากรัฐประหารครั้งนี้ ถามว่าคู่กรณีที่ทะเลาะกันมาปีกว่าๆ ใครชนะ ผมว่าแพ้หมด ทักษิณแพ้ พันธมิตรแพ้ ฝ่ายค้านแพ้ ที่สำคัญสังคมไทยแพ้ ผมคิดว่าสังคมสมัยใหม่เราหนีความขัดแย้งไปไม่พ้น วิธีการจัดการความขัดแย้งมีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีใช้กำลังหรือกดปุ่มรีเซ็ต สังคมไทยควรโตพอที่จะเรียนรู้กันเสียทีว่ารัฐประหารไม่ใช่ยาวิเศษที่รักษาโรคร้ายให้หายขาดในเร็ววัน จะอัศวินม้าขาว จะอัศวินควายดำ จะอัศวินเสื้อเขียว เสื้อเหลือง ไม่มีจริงทั้งนั้น”

ประชาธิปไตยไร้รัฐ: ณ ที่นี้ ประชาชนออกคำสั่งและรัฐบาลเชื่อฟัง

โดย วริษา สุขกำเนิด

วริษา สุขกำเนิด ชวนทำความเข้าใจ ‘สังคมประชาธิปไตยไร้รัฐ’ ผ่านการพูดคุยกับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลผู้สนใจศึกษาแนวคิดอนาธิปไตย และเฮวาล ทาคุชิน สมาชิกฝ่ายการทูตจากเขตปกครองตนเอง AANES หรือ ‘โรจาวา’ สังคมไร้รัฐในปัจจุบัน

“ประชาธิปไตยแบบไร้รัฐนั้นเป็นไปได้ มีมาแล้วและมีอยู่ในตอนนี้ เช่น ซาปาติสตาในเม็กซิโก โรจาวาในซีเรีย เพียงแต่กระบวนการตัดสินใจจะมีหน้าตาแตกต่างจากกระบวนการประชาธิปไตยที่เราคุ้นเคยกัน ดังนั้น เราอาจต้องเริ่มต้นด้วยการรื้อสร้างนิยามของ ‘ประชาธิปไตย’ เสียก่อน”

“หากคิดว่าเมื่อไม่มีรัฐแล้วมนุษย์จะแก่งแย่งฆ่าฟันกันเอง ป่านนี้มนุษยชาติก็คงสูญพันธุ์ไปตั้งแต่หลายหมื่นปีที่แล้ว” – ภัควดี วีระภาสพงษ์

“ใน AANES ทุกคนในเมืองรู้จักกันหมด แม้แต่คนที่ปกครองเมืองก็เป็นเพื่อนกับแทบทุกคนที่อยู่ในเมือง และด้วยชีวิตของคนโรจาวาไม่ใช่ชีวิตที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเข้าทำงานและกลับบ้านตอนเย็นจนไม่มีเวลาได้พูดคุยกับใคร ผู้คนในเมืองนี้จึงพูดคุยกันตลอดเวลา”

“ไม่มีการแบ่งแยกทางสังคมระหว่างชนชั้นปกครองและคนธรรมดา เพราะความเป็นเพื่อนเหนียวแน่นกว่าชนชั้น และความเป็นเพื่อนนำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และนี่คือสิ่งประชาธิปไตยแบบล่างขึ้นบนที่ควรจะเป็น”

“โอชาลัน อดีตผู้นำการปฏิวัติของโรจาวาบอกว่า ‘ความเป็นชาติสร้างปัญหามากกว่าศาสนาดั้งเดิมเสียอีก’ วิธีคิดเช่นนี้คือการมองว่าความเป็นชาติเปรียบเสมือน ‘ศาสนาสมัยใหม่’ รัฐชาติและแนวคิดชาตินิยมทำให้เกิดการเข่นฆ่าและกระทำความรุนแรงต่อชาติพันธุ์กลุ่มน้อย ดังนั้นผมจึงไม่ต้องการรัฐชาติ”- เฮวาล ทาคุชิน

ซ้าย Accelertationism และงูของ Nick Land

โดย พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง

คอลัมน์ ‘ช่วยด้วยเพื่อนฉันเป็นฝ่ายซ้าย’ ตอนใหม่ พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง เขียนถึง เจมส์ เพื่อนผู้วิพากษ์ผับนายทุนว่า “ไร้จิตวิญญาณ” และฝ่ายซ้ายสาย accelertationist ผู้สนใจงานของ Nick Land นักปรัชญาสุดเพี้ยนที่ ‘เลื้อย’ ขึ้นเวทีประชุมนานาชาติและเขียนงานชื่นชมรัฐบาลจีนที่ประสบความสำเร็จในการผนวกรวมอุดมการณ์แบบมาร์กซิสม์เข้ากับระบอบทุนนิยม

“เจมส์อธิบายให้ฟังว่าผับในอังกฤษส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นผับแบบ Wetherspoons กล่าวคือมีบริษัทใหญ่เป็นเจ้าของและเพียงแต่ขยายสาขากระจายไปตาม high street ของแต่ละเมือง ทางตอนใต้ของอังกฤษนั้นมีบริษัท brewery ซึ่งเป็นเจ้าของเบียร์แบรนด์ใหญ่ๆ และที่ดินก็จะขาย franchise ผับให้ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจร้านอาหารโดยมีข้อแม้ว่าต้องขายเครื่องดื่มของบริษัทเท่านั้น … เจมส์ทำตาโตพร้อมป้องปากกระซิบดังๆ ว่า “Wetherspoons ไม่มีจิตวิญญาณ รู้สึกได้ใช่ไหม”

“เจมส์ใช้งานของนักปรัชญาหลายคนในโปรเจ็กต์ของเขาแต่คนที่เขาพูดถึงบ่อยที่สุดคือนิก แลนด์ (Nick Land) เพราะเป็นสมาชิกของ CCRU ที่ ‘เพี้ยน’ ที่สุด เจมส์บอกว่าเหตุผลที่เขาพูดถึงแลนด์บ่อยที่สุดนั้นเป็นเพราะพวกเราชาว Hive จะได้จำได้ว่าเส้นที่กั้นระหว่างความบ้าและหมกมุ่นทางวิชาการนั้นบางกว่าที่คิด”

“ต่างจากฟิชเชอร์ซึ่งมองว่าอาจยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แม้พัฒนาการของเทคโนโลยีสร้างสิ่งที่ฟิชเชอร์เรียกว่าสัจนิยมแบบทุนนิยม (Capitalist Realism) ซึ่งทำให้เราไม่สามารถจินตนาการการเมืองแบบอื่นนอกเหนือไปจากเสรีนิยม-ทุนนิยมได้ แลนด์เห็นว่าปัญหาของพวก left-accelerationist แบบฟิชเชอร์และเจมส์คือมองไม่เห็นว่าเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนตัวเองได้ (Self-propelling technology) นั้นเป็นเนื้อเดียวกันกับระบอบทุนนิยมอย่างแยกไม่ออก นี่คือเหตุผลที่ปัจจุบันแลนด์เขียนงานชื่นชมรัฐบาลจีนและจีนยุคใหม่ในฐานะรัฐที่ประสบความสำเร็จในการผนวกรวมอุดมการณ์แบบมาร์กซิสม์เข้ากับระบอบทุนนิยม”

“แต่นี่ยังไม่ใช่เรื่องที่เพี้ยนที่สุดของแลนด์”

“เจมส์เล่าต่อไปว่ากลุ่ม CCRU เคยเป็นที่เกลียดชังของภาคปรัชญาที่วอร์ริกมากไม่ใช่แค่เพราะพวกเขา ‘วิจัย’ เกี่ยวกับเรื่องแปลกๆ เช่น วัฒนธรรม cyberpunk และดนตรี jungle แต่เพราะแลนด์เคยย้ายเข้าไปอยู่ในห้องศูนย์วิจัยและตากกางเกงในบนเครื่องทำความร้อนคณะ แม้ว่าตามบันทึกทางการของมหาวิทยาลัยจะระบุว่าแลนด์ลาออก แต่เจมส์บอกว่าเขารู้จักอาจารย์ที่เคยเรียนกับแลนด์และบอกว่าเหตุผลจริงๆ เกิดจากการที่แลนด์ ‘เลื้อย’ ขึ้นเวทีประชุมนานาชาติ”

โดย โตมร ศุขปรีชา

กระดูกของดันเต้: ว่าด้วยอำนาจวรรณกรรม – จากสันตะปาปาถึงมุสโสลินี

คอลัมน์ ‘The Scythe’ สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา เขียนถึง ดันเต้ กวีชื่อดังชาวอิตาเลียนเจ้าของมหากาพย์ Divine Comedy ผู้มีชะตาชีวิตหลังความตายอันแปลกประหลาด เพราะเถ้ากระดูกของเขาถูกช่วงชิง ฝังแล้วขุด ขุดแล้วฝังอยู่หลายครั้งตลอดหลายร้อยปี เพราะ ‘อำนาจวรรณกรรม’ ที่เขาเขียนขึ้นเองกับมือ

ม็อบหนุ่มสาว อนาคตประเทศไทย และกรอบรูป

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

แม้ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายถึงความล้มเหลวของรัฐบาลด้วยข้อมูลมากมายเพียงไร แม้ว่าประชาชนจะออกมาประท้วงเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ไหวติง มีเพียงความขัดแย้งภายในพรรคที่ปรากฏ

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงสภาพน่าเศร้าใจของบ้านเมืองที่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ตกอยู่ในวังวนเผด็จการทหารและทุจริตคอร์รัปชันที่นำความเสื่อมถอยมาให้แก่บ้านเมือง

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนกันยายน 2564

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ : EP.1 จัดกระดานการเมืองใหม่ จากรัฐประหาร 2549 ถึงเลือกตั้ง 2565?

โดย กองบรรณาธิการ

– ครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 2549 เมื่อทหารล้มกระดานแล้วไม่ปล่อยมือออกจากการเมืองไทย
– ผลสะเทือนเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจสร้างรอยร้าวในพรรคพลังประชารัฐ นำไปสู่สัญญาณการปรับ ครม. และการจัดทัพใหม่ของ พปชร.
– เปลี่ยนกติกาแก้รัฐธรรมนูญ เดินหน้าเลือกตั้งบัตรสองใบ ฤดูโยกย้ายนักการเมืองพรรคเล็กซบพรรคใหญ่ ส่อแววเลือกตั้ง 2565?

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ, สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.2 สัมพันธ์ร้าว 3 ป.?

โดย กองบรรณาธิการ

– 2 ป. ลงพื้นที่วัดพลัง 55 ส.ส.พลังประชารัฐแห่รับป้อมชื่นมื่น ตู่เหงา สัญญาณเขย่าพรรค ส่งซิกสู่เลือกตั้ง 

– การลงพื้นที่สำคัญอย่างไรในทางการเมือง มองท่วงทีการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจแต่ละยุค-วิเคราะห์ลีลาแต่ละพรรคการเมือง 

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ, สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.3 การเมืองเรื่องน้ำและสายธารของรัฐราชการไทย

โดย กองบรรณาธิการ

– การเมืองเรื่องน้ำ เมื่อน้ำไม่ได้ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่ผันไปจากที่มีอำนาจสูงไปที่มีอำนาจต่ำ 

– ทบทวน 10 ปีน้ำท่วม 2554 กับแผนจัดการน้ำที่ไปไม่ถึง 

– 30 ก.ย. เกษียณอายุข้าราชการ สำรวจเส้นทางหลังเกษียณของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรัฐราชการแบบไทย

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ, สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

101 Gaze Ep.5 “หรือเรากำลังอยู่ใน ‘ดิสโทเปีย’ ?

โดย กองบรรณาธิการ

คุณมองเห็นภาพอะไรเมื่อนึกถึงประเทศไทยในปีที่ผ่านมา

ก. ผู้คนมากมายเจ็บป่วยและล้มตายเพราะโรคระบาด

ข. ผู้คนต้องทรมานและดิ้นรนทุกวิถีทางเพราะพิษเศรษฐกิจ

ค. ผู้คนถูกรัฐบาลสอดส่องและควบคุมแบบ (เกือบ) เบ็ดเสร็จ

ง. ถูกทุกข้อ

ไม่ว่าคุณจะเลือกข้อไหน ทุกคำตอบช่างตรงกับลักษณะของนวนิยาย ‘ดิสโทเปีย’ หรือเรื่องราวของสังคมอันไม่พึงปรารถนา ที่สร้างความทุกข์ระทม หดหู่ และสิ้นหวังให้กับผู้คน ในแบบที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นจริง

แต่ ณ เวลานี้ สังคมไม่พึงปรารถนาที่ว่าอาจไม่ได้อยู่แค่บนหน้ากระดาษอีกต่อไป

101 Gaze ชวนสำรวจสังคมไทยในวิกฤตโรคระบาดและการเมือง เราสอบผ่านความเป็นดิสโทเปียหรือไม่ และความหวังของผู้คนในห้วงเวลามืดมนนี้จะส่องประกายอย่างไร หาคำตอบไปกับ ผศ.ดร.คารินา โชติรวี อดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา

“เรามาไกลเกินกลับไปนับหนึ่ง” ม็อบ 3 กันยาฯ ราชประสงค์

โดย กองบรรณาธิการ

3 กันยายน 2564 ที่แยกราชประสงค์ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับ กลุ่มทะลุฟ้า นัดชุมนุม ‘#ม็อบ3กันยา ราษฎรไม่ไว้วางใจมึง’ โดยแกนหลักสำคัญคือการย้ำหลักสันติวิธีในการต่อสู้ เพราะหลักสันติวิธีจะช่วยรักษาความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวและลดทอนการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐ อีกทั้งยังคงย้ำถึงความหวังของประชาชนในการต่อสู้ ที่ไม่ว่าผลจะเป็นยังไงในภายภาคหน้า ก็ขอให้ยืนหยัดสู้กันต่อ

“ต่อให้วันพรุ่งนี้ ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะยังไม่ออกไป แต่เราจะต้องสู้ต่อไป จัดการกับเหล่านายทุน ขุนศึกและศักดินาที่คอยค้ำจุนประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ เรามาไกลเกินกว่าจะนับหนึ่งใหม่แล้ว” เบนจา อะปัญ แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ กล่าวระหว่างปราศรัย

(แก๊ส)น้ำตาในชุมชน : คำถามจากชาวดินแดงที่ยังไม่มีใครตอบ

โดย กองบรรณาธิการ

ช่วงเวลาบ่าย ณ บริเวณย่านดินแดง เงียบเหงากว่าที่เคย ชนิดที่ว่าหากไร้ร่องรอยเศษซากพลุไฟ ปลอกกระสุนแก๊สน้ำตา ความเสียหายตามบ้านเรือน และความเจ็บปวดที่สะท้อนผ่านแววตาของชาวบ้านย่านดินแดง คงยากที่จะเชื่อว่าค่ำคืนที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้เพิ่งจะประสบกับการเป็น ‘พื้นที่ปะทะ’ ระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) กับกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระ

เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนเต็มที่พื้นที่บริเวณดินแดงถูกบังคับเปลี่ยนสถานะชั่วคราว จากย่านที่อยู่อาศัยกลายมาเป็นพื้นที่เสี่ยงในการปะทะและการสลายการชุมนุม ส่งผลให้ชาวบ้านกว่าหลายร้อยชีวิตต้องแบกรับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ตั้งโต๊ะรับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวดินแดงที่ได้รับผลกระทบ เพื่อนำข้อมูลไปยื่นต่อกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม ให้เข้ามาดูแลชดเชยผู้ได้รับความเสียหายจากการปะทะและการสลายการชุมนุม แต่ก็ต้องผ่านขั้นตอนสำรวจและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเสียก่อน จึงจะสามารถพิจารณามาตรการเยียวยาต่อไปได้

พลอย เจ้าของร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ใต้แฟลตดินแดง 1 คือหนึ่งตัวอย่างของผู้ได้รับผลกระทบ แม้ตัวเธอเองจะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ต้องสลายการชุมนุม แต่ก็เกิดคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องปฏิบัติการรุนแรงถึงขนาดนี้ พลอยยังสะท้อนอีกว่า ทุกครั้งที่มีปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ คฝ. ไม่เคยลงมาสื่อสารกับชุมชนว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หรือมีข้อควรระวังอะไรบ้าง ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและดำเนินไปอย่างไร้การรับฟังความเห็นจากชุมชน

สิ่งที่หลงเหลือไว้ให้พลอยหลังจากการสลายการชุมนุมในทุกค่ำคืน จึงมีเพียงร่องรอยความเสียหายภายในร้านและความกังวลที่ก่อขึ้นภายในจิตใจของเธอ เช่นเดียวกับอีกหลายครอบครัวในชุมชนย่านดินแดงที่เกิดคำถามว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

ในวันที่การเรียนออนไลน์ไม่ใช่ทางออกของการศึกษาไทย

โดย กองบรรณาธิการ

นักเรียนไทยต้องหยุดเรียนเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 มากว่าร่วมปี โดยมีการเรียนออนไลน์เป็นความหวังว่า นักเรียนจะยังคงได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แม้ในวันที่การปฏิสัมพันธ์แบบออฟไลน์เป็นเรื่องยากลำบาก

ทว่าระบบการเรียนออนไลน์ก็ไม่อาจตอบโจทย์การเรียนรู้ได้ทั้งหมด ยิ่งภาครัฐล้มเหลวในการบริหารจัดการ ดอกผลของการเรียนออนไลน์ยิ่งจำกัด อีกทั้งยังสร้างปัญหาใหม่ๆ ตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไม่ถึงระบบการเรียนออนไลน์อย่างทั่วถึง สภาวะเครียดของเด็กและครูที่ต้องอยู่บนหน้าจอกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเรียนรู้ของนักเรียนไทยจะถดถอย และครูก็ไม่ได้มีความสุขมากนักกับการทำงาน

ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ได้จัดแคมเปญ “Strike! หยุดเรียน #ไม่เรียนออนไลน์เเล้วอิสัส” เพื่อส่งเสียงไปยัง ‘ผู้ใหญ่’ ให้ลงมาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง 101 ชวนฟังเสียงของ ‘มิน-ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ’ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ผู้ริเริ่มแคมเปญประท้วงหยุดเรียนออนไลน์ และชวนฟังเสียง ‘ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล’ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับการประท้วงออนไลน์ของนักเรียนที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่ ‘เคี้ยว’ ยัน ‘ขาย’ ในวันที่ปลดล็อกเสรี ‘พืชกระท่อม’

โดย กองบรรณาธิการ

ภายหลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 และปลดล็อก ‘พืชกระท่อม’ ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ก็ทำให้คนไทยสามารถปลูก เคี้ยว ต้ม หรือซื้อขายพืชชนิดนี้ได้อย่างเสรีและไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์กว่าที่จะปลดล็อกเสรีพืชกระท่อมพบว่า เป็นเวลากว่า 80 ปีที่สมุนไพรดังกล่าวถูกควบคุมโดยรัฐไทยนับตั้งแต่ปี 2486 เมื่อได้มีการตรา ‘พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486’ ขึ้นโดยระบุว่า ห้ามปลูกและครอบครอง รวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม ก่อนที่ในปี 2522 กระท่อมจะถูกขึ้นบัญชีเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

ถึงแม้จะผิดกฎหมาย แต่กระท่อมก็ไม่ได้หายหน้าหายตาไปจากวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและคนเฒ่าคนแก่ที่ยังคงเคี้ยวใบกระท่อมหรือดื่มน้ำกระท่อม เพื่อเป็นยาชูกำลังให้คึกคักซู่ซ่า สามารถทำงานได้ทนและเยอะมากขึ้น อย่างไรก็ดี กระท่อมไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นยาอย่างเดียว แต่ยังถูกใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับนำไปต้มสารเสพติด 4×100 อีกด้วย และจากการบริโภคที่ผิดวิธีก็ทำให้กระท่อมถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘พืชเสพติด’ ประจำสังคมไทยและกลายเป็นภาพจำที่เด่นชัดตลอดมา

ในวันที่กฎหมายเปิดให้ปลูก-เคี้ยว-ขายกระท่อมได้อย่างไม่มีอะไรขวางกั้น ชนิดที่ว่าจากที่เคยเป็น ‘พืชเสพติด’ มาวันนี้กระท่อมถูกวาดฝันให้กลายเป็น ‘พืชเศรษฐกิจใหม่’ ของไทย เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านของสังคมก็ยังคงตั้งคำถามต่อความปลอดภัยและวิธีการนำไปใช้

101 เดินทางไปยังตลาดดินแดงเพื่อทำความรู้จักพืชกระท่อมกับ คิว-กษาปณ์ พุ่มพวง เจ้าของธุรกิจค้าใบกระท่อม ที่หอบเอาใบกระท่อมสดๆ จากภาคใต้หลายร้อยกิโลกรัมมาเปิดขายถึงในใจกลางเมืองหลวง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นธุรกิจค้าขายกระท่อม ภาพจำของการถูกมองว่าเป็นพืชเสพติด และชวนมองถึงอนาคตของตลาดใบกระท่อม เพราะถึงแม้วันนี้จะขายได้ แต่ก็ยังแปรรูปเป็นสินค้าอื่นไม่ได้

เสียงจากผู้ค้า-ผู้ส่งของออนไลน์ เมื่อโรคระบาดทำขนส่งอัมพาต

โดย กองบรรณาธิการ

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต จาก ‘ออกนอกบ้าน’ ไปซื้อของ กลายเป็น ‘นั่งอยู่บ้าน’ เพื่อช้อปปิงออนไลน์แทน ธุรกิจขนส่งจึงกลายเป็นที่พึ่งสำคัญต่อทั้งเจ้าของกิจการและผู้บริโภคในภาวะวิกฤตเช่นนี้

กระนั้นนับตั้งแต่เกิดการระบาดและปิดเมืองหลายครั้ง เรากลับได้ยินปัญหาของระบบขนส่งอยู่เนืองๆ เช่น ส่งของล่าช้า สินค้าค้างสต็อก ส่งของไม่ตรงตามสั่ง เป็นต้น โดยไม่มีใครรู้ว่าเส้นทางส่งของที่ดู ‘ล่องหน’ ก่อนจะถึงมือเรา ต้องเจอปัญหาจุดไหนบ้าง

หลายคนมองว่า การขนส่งสินค้าเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ยิ่งรัฐบาลแก้ไขสถานการณ์ได้ช้าเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม แน่นอนว่าภาคขนส่งย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย 

101 ชวนฟังเสียงของพนักงานขนส่งและผู้ประกอบการที่พึ่งพาระบบขนส่ง เล่าถึงปัญหาที่พวกเขาเจอในช่วงโควิด และสิ่งที่พวกเขาต้องการให้รัฐช่วยคลี่คลาย ก่อนปัญหาจะบานปลายจนถึงทางตัน

‘ความน่าจะอ่าน 2021 : Final Round’ อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!

เสวนาออนไลน์ ‘ความน่าจะอ่าน 2021 : Final Round’ อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!

หลังจากเปิดเผยรายชื่อ ‘ความน่าจะอ่าน 2021’ ที่คัดเลือกโดยคนในวงการหนังสือไปแล้วกว่า 140 เล่ม จากตัวแทนกว่า 60 สำนักพิมพ์ ก็ถึงเวลาตั้งวงเสวนาว่าด้วยการ ‘อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’ พร้อมคุยประเด็นจากหนังสือ ‘ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน’ ของรัช ที่ถูกเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง และหนังสือ Top Highlights เล่มอื่นๆ

แวดวงการอ่านเขียนเผชิญความสาหัสอะไรบ้างในปีที่ผ่านมา ทิศทางการอ่านของสังคมเชื่อมโยงกับสภาพสังคมโดยรวมอย่างไรบ้าง รายชื่อหนังสือที่คนในวงการหนังสือและนักอ่านเลือกมาสะท้อนภาพอะไรในสังคม และเราควร ‘อ่าน’ อะไรในห้วงเวลาเช่นนี้

ร่วมเสวนาโดย ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารและสำนักพิมพ์อ่าน, อำนาจ รัตนมณี เจ้าของ ‘ร้านหนังสือเดินทาง’, โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล, จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day เจ้าของนามปากกา jirabell

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

101 One-on-One Ep.238 มองการเมืองไทยหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับ ชลน่าน ศรีแก้ว

ศึกที่กำลังรายล้อมรัฐบาลตอนนี้สะท้อนออกมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ควบคู่ไปกับการเมืองบนท้องถนนที่แสดงเจตจำนงให้ประยุทธ์และคณะลาออก

ศึกนอกน่าหวั่นเกรงแล้ว แต่ที่หนักหนากว่าคือศึกภายในพรรคที่ส่งสัญญาณเตือนสะเทือนเอกภาพ

โจทย์ที่ใหญ่กว่าคือการแก้มหาวิกฤตจากโรคระบาดที่ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า โจทย์ที่สำคัญกว่าคือการรักษาชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน โจทย์การเมืองไทยจะเดินไปอย่างไร ผลของศึกอภิปรายฯ สะท้อนถึงอะไร และหมากต่อไปของฝ่ายค้านเป็นแบบไหน

101 ชวน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย มองการเมืองไทยหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เปิดเผยหลากปมปัญหาอันนำพาสังคมไทยมาสู่จุดวิกฤตในปัจจุบัน

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

101 One-on-One Ep.239 ‘เศรษฐกิจไทยกับทศวรรษที่สองของการสูญหาย’ กับ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

1 ทศวรรษหลังรัฐประหาร 2549 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 3.2% เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในหมู่ประเทศอาเซียน ไม่ต้องพูดถึงว่า การเติบโตดังกล่าวต่ำกว่าเมื่อครั้งที่ไทยยังเป็น ‘ว่าที่เสือตัวที่ 5’ อย่างเทียบไม่ได้ นี่คือ ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง 

หากยังนับรัฐประหาร 2549 เป็นหมุดหมาย เศรษฐกิจไทยกำลังสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเข้าสู่ทศวรรษที่สองของการสูญหาย วิกฤตการณ์เมืองก็ยังไม่คลี่คลาย ไหนจะวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจที่เข้ามาซ้ำเติม สังคมไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดใหม่และปรับใหญ่เรื่องเศรษฐกิจการเมือง

101 ชวน กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมตีโจทย์เศรษฐกิจไทยเพื่อหาคำตอบว่าเราจะพาเศรษฐกิจหลุดพ้นจากสองทศวรรษแห่งการสูญหายนี้ไปได้อย่างไร

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

101 One-on-One Ep.240 ทำความเข้าใจม็อบดินแดง มองก้าวต่อไปขบวนการ กับ สมบัติ บุญงามอนงค์

ควันจากแก๊สน้ำตาที่คลุ้งแยกดินแดงอันเกิดจากการสลายการชุมนุมนั้น นอกจากทำให้วิสัยทัศน์ไม่ชัดเจนแล้ว ยังสะท้อนภาวะความเข้าใจของสังคมที่มีต่อการชุมนุมแยกดินแดง

เกิดคำถามจำนวนมากต่อรูปแบบการประท้วงของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระที่มักรวมตัวกันยามเย็นเพื่อไปให้ถึงบ้านพักพล.อ.ประยุทธ์ เกิดคำถามจำนวนมากต่อการรับมือด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

ควันไฟ พลุไฟ ประทัดยักษ์ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ลูกแก้ว รถจีโน่ หลากอาวุธที่ถูกหยิบใช้ในการปะทะกันยิ่งทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยในทั้งสองฝ่าย

101 ชวน สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักกิจกรรม คุยเพื่อทำความเข้าใจม็อบดินแดง ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้มาจากไหน สังคมควรมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร เหตุใดการโต้ตอบของเจ้าหน้าที่จึงออกมาในระดับนี้ และปรากฏการณ์นี้จะนำขบวนการเคลื่อนไหวไปสู่สิ่งใด

ดำเนินรายการโดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์   

101 One-on-One Ep.241 การเมืองเยอรมนีหลัง Merkelism กับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี ได้อำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (และตลอดกาล) ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2021 หลังจากครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง 4 วาระ เป็นเวลายาวนานถึง 16 ปี 

นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2005 แมร์เคิลผ่านวิกฤตใหญ่ระดับโลกมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตซับไพรม์โลกและวิกฤตยูโรโซนปี 2008-2009 ต่อด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัยปี 2015 วิกฤตเสรีประชาธิปไตย และวิกฤตสหภาพยุโรปในปี 2016 กระนั้นวิถีทางแบบแมร์เคิล (Merkelism) ก็สามารถนำเยอรมนีผ่านวิกฤตเหล่านี้ได้อย่างมีเสถียรภาพ

ด้วยสถานะของเยอรมนีบนเวทีโลก สื่อตะวันตกถึงกับยกย่องให้แมร์เคิลให้เป็น ‘ราชีนีแห่งยุโรป’ (Queen of Europe) หรือกระทั่งเป็น ‘ผู้นำโลกเสรี’ (Leader of the Free World) ในวันที่สหรัฐอเมริกาถดถอย การลงจากตำแหน่งของแมร์เคิลจึงส่งผลต่อทั้งการเมืองเยอรมนี การเมืองยุโรป และการเมืองโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

101 ชวน ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาวิเคราะห์การเมืองเยอรมนีและการเมืองโลกในยุคหลัง Merkelism 

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save