fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนตุลาคม 2564

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนตุลาคม 2564

‘สมเด็จ วิรุฬหผล’ วีรชน 14 ตุลา ชาวจุฬาฯ

โดย เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ และ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

ชื่อของ ‘สมเด็จ วิรุฬหผล’ วีรชน 14 ตุลา ถูกลืมเลือนไปจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เหลือเพียงเรื่องเล่าผีที่นิสิตเล่าต่อๆ กันมาและพากันกราบไหว้

หลังความพยายามถอดรูปสมเด็จออกจากคณะเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่สนใจอีกครั้งพร้อมคำถามที่ว่า เหตุใดเรื่องของนิสิตที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนเสียชีวิตจึงไม่ถูกนำมาเล่าต่อในฐานะหนึ่งในเรื่องเล่าของจุฬาฯ

เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ และ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เขียนถึงชีวิตของสมเด็จ วิรุฬหผล นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยด้วยชีวิต

“ผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธอย่างที่รัฐกล่าวอ้าง อย่างมากผู้ชุมนุมก็ทำได้แค่ฉวยเอาไม้หรือหินข้างทางมาเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น หลังจากมีโทรศัพท์แจ้งว่าสมเด็จอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ครอบครัวจึงรีบเดินทางไปรับ แต่เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจึงรู้ว่าสมเด็จเสียชีวิตแล้ว…พี่สาวคนโตถึงกับเป็นลมล้มทั้งยืนเมื่อได้ทราบข่าว”

“สมเด็จถูกลดทอนคุณค่าลงไป จากการยกย่องในฐานะของวีรชน 14 ตุลา กลายเป็นเพียงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง กลายเป็นเพียงผีที่นิสิตต้องกราบไหว้อยู่นาน ก่อนจะได้กลับมามีชีวิตให้ผู้คนได้รู้จักในฐานะวีรชนอีกครั้งหลังจากเกือบจะหายสูญไปจากคณะอย่างถาวร”

 “หน้าที่ของรัฐศาสตร์ คือการทำให้สังคมรู้เท่าทันอำนาจ” ประจักษ์ ก้องกีรติ

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“ถ้าคุณไม่ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ รัฐศาสตร์แทบจะเป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์เลย เพราะหัวใจของรัฐศาสตร์คือการศึกษาเรื่องอำนาจ ถ้าเรามองว่าระบบการเมืองที่เป็นอยู่นั้นดีอยู่แล้ว แค่ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่าระบบว่าทำงานอย่างไร ถ้าเราหยุดอยู่แค่นั้น นักรัฐศาสตร์ก็เป็นแค่กระบอกเสียงสร้างความชอบธรรมกับระบอบการเมืองเท่านั้นเอง”

ในวันที่โลกยังตั้งคำถามว่าอะไรคือการปกครองที่ดีและยังพยายามหาคำตอบอยู่ Spotlight #ต้องรอด ประจำเดือนนี้ 101 ชวน รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม สนทนาว่าด้วยขอบฟ้าองค์ความรู้รัฐศาสตร์ปกครอง ความท้าทายของศาสตร์ที่รออยู่ในอนาคต และหนทางในการปรับตัวของนักรัฐศาสตร์ท่ามกลางโลกที่ผันผวนและไร้ความแน่นอน

“[องค์ความรู้รัฐศาสตร์] ต้องรับใช้ผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าผลประโยชน์ของนักการเมือง กองทัพ หรือผู้มีอำนาจกลุ่มเล็กๆ เราก็เห็นแล้วว่าการเมืองโลกที่ผันผวนทุกวันนี้ เพราะคนสามัญธรรมดาทั่วโลกไม่พอใจอีกต่อไปต่อภาวะที่อำนาจและผลประโยชน์ถูกผูกขาดอยู่ในมือคนจำนวนน้อย”

“ถ้ามองย้อนกลับไปที่จุดมุ่งหมายตั้งต้นของการศึกษารัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ไม่ควรศึกษาแค่ในเชิงการบรรยายพรรณาว่า ทำไมสังคมหนึ่งๆ ถึงมีการจัดระเบียบการเมือง มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบหนึ่ง แต่ควรจะมุ่งหาด้วยว่าคุณค่า เป้าหมาย และรูปแบบการปกครองที่ดีว่านี้เป็นไปได้ไหม หรือรูปแบบการปกครองที่ดีในสังคมนั้นคืออะไร แล้วเราพยายามตอบคำถามเหล่านั้นให้ได้”

“โจทย์ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นโจทย์เดียวกันกับโจทย์สำคัญของการเมืองโลกเลย คือโจทย์ว่าด้วยความล้มเหลวของประชาธิปไตย ปัจจุบันทั่วโลกกำลังตกอยู่ในยุคประชาธิปไตยถดถอย … ภาวะถดถอยของประชาธิปไตยของไทยมีลักษณะเฉพาะตัวคือ สถาบันเก่าแก่อย่างกองทัพและสถาบันกษัตริย์ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ยังมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยถดถอยหรือไม่สามารถลงหลักปักฐานตั้งมั่นได้”

“รัฐศาสตร์ไม่ได้มีความเฉพาะทางในวิชาชีพ จุดเด่นของการเรียนรัฐศาสตร์คือการพัฒนาทักษะ critical thinking และช่วยเปิดโลกให้นักเรียนรัฐศาสตร์มีความรู้ที่หลากหลาย เมื่อก่อนตรงจุดนี้อาจจะเป็นจุดอ่อน อาจจะโดนมองว่าเป็นเป็ด เป็น generalist รู้รอบ รู้ไปหมด รู้ประวัติศาสตร์ ปรัชญา กฎหมาย สังคมวิทยา แต่แค่รู้ผิวๆ ไม่ลึกมาก แต่ในปัจจุบันความเป็ดกลายเป็นจุดแข็ง”

“รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีขอบเขตเท่าไหร่ เพราะเรานิยามการเมืองแบบกว้างว่า การเมืองอยู่ทุกหนแห่งในชีวิตประจำวัน เพศสภาพ สิ่งแวดล้อม ศาสนา หรือนิยายก็นิยามว่าเป็นการเมืองได้ พอเราเห็นว่าการเมืองอยู่ทุกที่ มันจะทำให้เรียนรัฐศาสตร์ได้สนุกขึ้น เราจะมีสายตาที่มองเห็นอำนาจและการทำงานของอำนาจได้ไวกว่าคนอื่น”

6 บทเรียน จาก 6 ตุลา ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย

โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

“ประโยคที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” สะท้อนให้เห็นถึงสองวิธีการที่รัฐหรือฝ่ายสนับสนุนรัฐ มักใช้ในการตีตราผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามให้เป็นเสมือน ‘ปีศาจ’ เพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้ตัวเองในการปราบปราม

“นอกจากข้อกล่าวหาเรื่อง ‘คอมมิวนิสต์’ อีกข้อกล่าวหาหนึ่งที่รัฐมักใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการตีตราผู้ชุมนุมให้กลายเป็น ‘ปีศาจ’ คือข้อหา ‘ล้มเจ้า’
“คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ข้อกล่าวหา ‘ล้มล้างสถาบัน’ ถูกหยิบยกมาใช้ทั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา และการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน”

พริษฐ์ วัชรสินธุ เขียนถึง 6 บทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่สะท้อนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในปัจจุบัน

“วัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ที่เกิดขึ้นหลังความรุนแรงทางการเมืองตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือเหตุการณ์อื่นๆ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องร่วมกันกำจัด ไม่ใช่แค่เพื่อสะสางสิ่งที่ยังค้างคาจากอดีต แต่เพื่อสร้างบรรทัดฐานสำหรับการชุมนุมทางการเมืองของทุกฝ่ายในอนาคต”

Deepfake Porn – หนังโป๊สลับหน้า เมื่อเทคโนโลยีทำร้ายผู้หญิง

โดย โสภณ ศุภมั่งมี

“มีเคสหนึ่งของนักเขียนหญิงชื่อเฮเลน มอร์ต (Helen Mort) ที่เพื่อนมาบอกเธอว่ามีเว็บไซต์ที่มีภาพโป๊ของเธอบนนั้น แน่นอนเฮเลนรู้ว่าไม่ใช่ภาพจริงอย่างแน่นอน เพราะเธอไม่เคยแชร์หรือส่งต่อภาพเหล่านี้ให้ใคร ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยว่าเป็นภาพหลุดของเธอ อาจจะเป็นดาราเอวีที่หน้าตาคล้ายกัน แต่ไม่ใช่ ภาพนั้นเป็นใบหน้าของเธออย่างชัดเจน

“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีใครบางคนเอารูปของเธอจากโซเชียลมีเดีย (ซึ่งตอนนี้เธอลบไปแล้ว) อัปโหลดขึ้นเว็บโป๊แล้วยุให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ลองทำภาพโป๊ของเธอออกมาโดยใช้ deepfake แม้ว่าบางอันดูออกได้ว่าปลอม แต่ก็มีหลายอันดูเหมือนจริงจนน่าตกใจ

“แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เธอทั้งโกรธและรู้สึกว่าตัวเองถูกล่วงละเมิดอย่างมาก เธอให้สัมภาษณ์กับ MIT Technology Review ว่า ‘มันทำให้คุณรู้สึกเหมือนไร้เรี่ยวแรง เหมือนโดนกระทำ ถูกลงโทษในฐานะผู้หญิงที่กล้าพูดสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาในที่สาธารณะ นั่นคือคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุด เหมือนกับจะบอกว่า ‘ดูสิ เราทำแบบนี้กับคุณได้นะ’’”

โสภณ ศุภมั่งมี เขียนถึงมุมอันตรายของเทคโนโลยี deepfake เมื่อมีการเอาหน้าคนไปใส่แทนนักแสดงหนังโป๊ ทางออกของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

ไทยในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลก: ยุทธศาสตร์ 3M

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“ครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาสพบนักธุรกิจรายใหญ่ของจีนท่านหนึ่ง ซึ่งกำลังเจรจากับภาครัฐไทยเพื่อตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนมาไทย ผมถามท่านว่าเจรจากับฝ่ายไทยเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้รับคือ โหดหินมาก”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง ยุทธศาสตร์ 3M ยุทธศาสตร์สำหรับการตั้งหลักไทยให้มั่นในโลกที่การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองขั้วอำนาจจีน-สหรัฐฯ ดำเนินไปอย่างเข้มข้น

“ผมแอบดีใจว่าไทยเราเองก็เป็นนักเจรจาชั้นยอด แต่พอท่านเฉลยสาเหตุของความโหดหิน เล่นเอาขำไม่ออก ท่านบอกที่โหดหินเพราะฝ่ายไทยดูเหมือนจะไม่รู้ว่าจุดยืนของตนต้องการอะไร แถมเวลาตั้งโต๊ะเจรจาก็ต้องคุยกับหน่วยงานรัฐหลากหลายที่ไปคนละทิศละทาง ไม่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ไม่มีหัวหน้าทีมเจรจาที่คุมยุทธศาสตร์และภาพรวมทั้งหมดได้”

“หากให้สรุป จะเห็นว่าทั้ง 3M ล้วนเชื่อมโยงกัน M ตัวแรก Middle Power คือเข้าใจอำนาจต่อรองของไทย M ตัวที่สอง Mitigating Risks คือต้องพร้อมมีทางหนีทีไล่ อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าใบเดียว และ M ตัวสุดท้าย Mainland Southeast Asia คือ ต้องมีฐานที่มั่นของตนที่มั่นคง โดยมองในระดับตลาดอาเซียนภาคพื้นทวีป ไม่ใช่เพียงตลาดภายในประเทศ”

“ยุทธศาสตร์ 3M จะเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและพลังการรักษาสมดุลเชิงรุกให้กับไทยในโลกภูมิรัฐศาสตร์ที่ผันผวน หมดยุคที่จะเล่นเกมการทูตแบบลู่ตามลม”

อ่านโจทย์เมืองใหม่ เมื่อคนไทยต้องอยู่บนตึกสูง (มากขึ้น) กับ ภัณฑิรา จูละยานนท์

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“เราเห็นจุดร่วมกันของกรุงเทพฯ กับหัวเมืองใหญ่คือ คนรุ่นใหม่มีค่านิยมในการเลือกที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปจากรุ่นก่อนๆ พวกเขาไม่ได้คิดว่าต้องซื้อบ้านพร้อมที่ดินเหมือนคนรุ่นก่อน ทั้งยังมองว่าการเช่าคอนโดฯ แล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คือความอิสระในชีวิต และลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องเกิดขึ้นหากซื้อบ้าน

“หรือหลายคนค่อนข้างจะมีภาพเชิงบวกกับการอยู่คอนโดฯ มากกว่า ซึ่งมุมมองที่เปลี่ยนไปของคนอีกเจเนอเรชันหนึ่งก็น่าจะทำให้ที่อยู่อาศัยที่คนเมืองต้องการในอนาคตต่างไปจากในอดีตอยู่มากพอสมควร”

“…คำถามสำคัญคือ ถ้าเราเลือกจะมีครอบครัวแล้ว เราจะยังอยู่คอนโดฯ ต่อไปได้หรือไม่ คอนโดฯ ทำหน้าที่เป็นบ้านที่มีคุณภาพสำหรับครอบครัวได้มากแค่ไหน เพราะทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าหลายๆ ครอบครัวที่พอมีลูกก็จะย้ายออกจากคอนโดฯ ไปซื้อบ้านจัดสรร เพราะต้องการให้ลูกมีที่วิ่งเล่น

“ซึ่งจะนำไปสู่การคิดต่อในเชิงการออกแบบหรือนโยบายต่างๆ ว่าเราจะทำอย่างไรให้คอนโดฯ ระดับกลางๆ สามารถตอบโจทย์คนที่อยากมีลูกหรือมีครอบครัวได้ และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่นั้นได้โดยไม่ต้องออกไปหาบ้านเดี่ยวชานเมือง”

101 คุยกับ ภัณฑิรา จูละยานนท์ ว่าด้วยโจทย์เมืองใหม่ เมื่อที่อยู่อาศัยแนวตั้งอาจเป็นอนาคตของเมือง เราจะตีโจทย์นี้อย่างไร เมืองแบบไหนที่จะโอบรับทุกคน ให้อยู่ได้อย่างมีความสุขทั้งเด็ก คนหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ

แบบแปลนอำนาจของชนชั้นนำสิงคโปร์

โดย แมท ช่างสุพรรณ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของสิงคโปร์นั้นเติบโตมาจากความคิดของลี กวน ยู แต่จะมีกี่คนที่ตระหนักถึงความล้ำลึกของเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างชาติและสถาปนาให้ตระกูลลีเป็นศูนย์กลางของอำนาจในการบริหารมาจนถึงปัจจุบัน”

แมท ช่างสุพรรณ เขียนถึงวิธีการดำรงอำนาจของชนชั้นนำและเครือข่ายลี กวน ยู ในสิงคโปร์ ผ่านหนังสือ The Ruling Elite of Singapore: Networks of Power and Influence in Southeast Asia โดย Michael D. Barr

“วิธีการที่ดีที่สุดในการมองชนชั้นนำและอำนาจของสิงคโปร์ให้เห็นเต็มตาคือการมองให้ลึกไปกว่าความเป็นประเทศสมัยใหม่ที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยทั่วไป หลังม่านที่บังตานั้นคือธุรกิจแบบครอบครัวของชาวจีน ระบอบปิตาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับลูกชายคนโต และกวนซี”

“ความสำเร็จของความคิดลี กวน ยู ทำให้รูปแบบการสืบทอดอำนาจยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ผู้เล่นในเครือข่ายจะเปลี่ยนหน้าไป หรือพรรคฝ่ายค้าน (ที่หลายฝ่ายยังเชื่อว่ามีพอเป็นพิธี) จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังไม่มีจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้โครงสร้างทางอำนาจเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้ เพราะเครือข่ายชนชั้นนำยังแฝงตัวอยู่ในทุกมิติที่เป็นต้นกำเนิดกระแสลมของการเปลี่ยนแปลง”

‘ความตายของโกโบริ’ กับ ‘ฆาตกรที่ชื่ออังศุมาลิน’ : คู่กรรมบนถนนสังคมการเมืองไทย

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ชวนย้อนอ่าน ‘คู่กรรม’ ผ่านตัวบทและบริบทสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย วรรณกรรมและละครที่อยู่สังคมไทยมากว่าครึ่งศตวรรษทาบทับกับสังคมการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

“คู่กรรมที่ฉายในช่อง 7 เวลาไพรม์ไทม์ เมื่อปี 2533 กลายเป็นละครประวัติศาสตร์เนื่องจากมีเรตติ้งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครมาโค่นล้มลงได้ ผู้ที่รับบทโกโบริคือธงไชย แมคอินไตย์ นักร้องชื่อดังแห่งยุคสมัย…

“คู่กรรมกลายเป็นตัวอย่างสำคัญของการทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้อย่างแนบเนียน ไม่แพ้กับพลังทางวัฒนธรรมที่มากับการ์ตูน และการ์ตูนทีวีที่มีอิทธิพลต่อลูกหลานชนชั้นกลางในเขตเมืองที่ยังจำกัดแวดวงอยู่
การที่ละครเป็นที่นิยมจนเรตติ้งทะลุฟ้าได้ทำให้ความเป็นญี่ปุ่นถูกรับรู้กันอย่างกว้างขวางผ่านการดูละครโดยตรง การอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ การฟังจากวงสนทนาในที่ทำงานหรือตลาด ร้านค้า ชื่อ ‘ฮิเดโกะ’ อันเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่นของอังศุมาลิน (ที่แปลว่าดวงอาทิตย์) ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกลายเป็นญี่ปุ่นของคนไทย-สังคมไทยในยุคสมัยดังกล่าว เช่นเดียวกับความนิยมชมชอบของโกโบริ-ความเป็นญี่ปุ่นในร่างของเบิร์ด ธงไชยน่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด”

“ญี่ปุ่นยังมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศผ่านการลงทุนในไทยอย่างใหญ่หลวง ปี 2533 กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่นได้อนุมัติเงินกู้กว่า 2 พันล้านเพื่อสร้างทางหลวงสายบางปะอิน-นครสวรรค์, สายสระบุรี-นครราชสีมา, สายธนบุรี-ปากท่อ และปีต่อมาสายกรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่ เป็นเงินกว่า 2 พันเก้าร้อยล้าน…”

จาก 1984 ถึง 2021 วรรณกรรม ‘ดิสโทเปีย’ บอกอะไรกับเรา – คารินา โชติรวี

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“คนที่ได้อ่านวรรณกรรมดิสโทเปียจะรู้ว่าคนอ่านวรรณกรรมไม่ได้หลีกหนีความจริง แต่วรรณกรรมยิ่งพาเราไปสู่ความเป็นจริงมากขึ้นด้วยซ้ำ”

101 ชวน ผศ.ดร.คารินา โชติรวี อดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสนทนาว่าด้วยวรรณกรรมยูโทเปียและดิสโทเปีย สำรวจลักษณะและองค์ประกอบของโลกสมมติทั้งสองแบบ และทบทวนสิ่งที่วรรณกรรมอาจบอกกับเรา

“Utopia ถือเป็นงานที่สะท้อนถึงยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เซอร์ โธมัส มอร์ ก็เป็นตัวอย่างของปัญญาชนมนุษยนิยม เมื่อองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่นักบวชแบบในยุคกลาง แนวคิดมนุษยนิยม หรือ Humanism จะให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยึดหลักการใช้เหตุผลมากกว่าความเชื่อความศรัทธาแบบยุคกลาง วรรณกรรม Utopia จึงถือเป็นความพยายามของมนุษย์คนหนึ่งที่จะสร้างสรรค์ ออกแบบ บรรยายสังคมอุดมคติสำหรับมนุษย์ โดยที่มนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่พระเจ้า”

“สิ่งที่เราเห็นได้คือความใฝ่ฝัน ความพยายามที่จะสร้างสังคมในอุดมคติ นอกจากจะไม่บรรลุผลแล้ว ยังกลายเป็นเหมือนฝันร้ายเสียด้วย ในอีกมุม ความนิยมต่อวรรณกรรมประเภทนี้อาจสะท้อนความคิดแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ที่เชื่อว่าผู้คนได้พากันปฏิเสธความแน่นอนหนึ่งเดียว แท้จริงไปหมดแล้ว โดยเฉพาะความคิดที่ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่ปรากฏนั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน รัฐและสิ่งที่รัฐนำเสนอในลักษณะที่เป็นองค์รวมก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวกันก็ได้”

“เมื่อนึกถึง วินสตัน สมิธ ใน 1984 หลายคนอาจตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าตกลงเขาเป็นฮีโร่หรือไม่ เพราะในที่สุดแล้วเขาแพ้ ภาพสุดท้ายของเขาคือการยอมจำนนทุกสิ่งอย่าง คนที่พาเขามาก็บอกว่าถ้าอยากเห็นภาพของอนาคต ให้นึกถึงใบหน้าของมนุษย์คนหนึ่งที่มีรองเท้าบู๊ตของทหารย่ำอยู่บนหน้าตลอดกาล”

“แต่เราจะมองความพ่ายแพ้ของเขาอย่างไร จะมองว่านี่คือความพ่ายแพ้ของมนุษยชาติ แปลว่าเราไม่มีสิทธิที่จะฝันหรือเรียกร้องอะไรเลย เพราะในที่สุดเราก็แพ้อย่างวินสตันอย่างนั้นหรือ หรือเราจะมองว่า อย่างน้อยก็ยังดีที่มีคนคนหนึ่งลุกขึ้นมาแล้วคิดว่าขอลองสู้ดูด้วยวิธีการเล็กๆ น้อยๆ และในระหว่างที่สู้เขาก็มีความฮึกเหิม มีความรัก ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง”

ยุติธรรมอำนาจนิยม

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจนิยมที่เป็นใหญ่อยู่ในขณะนี้?

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนหาคำตอบผ่านการมองปัจจัยเชิงโครงสร้างและอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ในองค์กรของกระบวนการยุติธรรม

“เคยมีนักเรียนกฎหมายเป็นจำนวนมากได้ร่วมลงชื่อโดยมีความเห็นว่าการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานที่บุคคลทุกคนควรได้รับ รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าในหลายคำสั่งของศาลขัดกับหลักการเรื่องการประกันตัวอย่างชัดเจน แต่แนวทางการไม่ให้ประกันตัวก็ยังคงเดินทางไปในแนวทางแบบเดิม”

“ทั้งปัจจัยในเชิงโครงสร้างและอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ในองค์กรของกระบวนการยุติธรรมเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายตุลาการ นับเป็นเงื่อนสำคัญที่ทำให้ระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ของไทยไม่ได้ตระหนักว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือหัวใจสำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่”

1 ปีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 1 ปีประเทศไทยบนทางแยก

โดย กองบรรณาธิการ

101 ชวน 5 นักคิด นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทบทวนและอ่านการเมืองไทย จากความคิดความรู้สึกของผู้ประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูป คำถามเกี่ยวกับกิจการราชสำนักและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บทวิเคราะห์เครือข่ายในหลวงและพระราชอำนาจนำ ข้อวิพากษ์ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์กับทุน ถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุขในมุมมองเชิงเปรียบเทียบกับสากล

“การออกมาพูดเรื่องสถาบันฯ เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมากๆ แค่คนโพสต์เฟซบุ๊กก็โดน 112 ได้ แม้คำพูดจะดูไม่มีอะไร ยิ่งทำให้คนกลัวและการปกครองด้วยความกลัวมันไม่ยั่งยืนเลย ความกลัวอาจเปลี่ยนเป็นความเกลียดก็ได้ ใครจะรู้ แต่ความกลัวไม่อาจเปลี่ยนเป็นความรัก” รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

“ถ้าย้อนกลับไปสมัยคณะราษฎร กิจการราชสำนักเกือบทั้งหมดถือว่าเป็นกิจการสาธารณะ เมื่อถือว่าเป็นกิจการสาธารณะแล้ว ตามหลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบ พระมหากษัตริย์ก็จะไม่มีพระราชอำนาจในกิจการเหล่านั้น” ดร.ปราการ กลิ่นฟุ้ง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงต่างๆ ล้วนสัมพันธ์กับการขึ้นลงของพระราชอำนาจนำและเครือข่ายในหลวง” ดร.อาสา คำภา สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“สถาบันกษัตริย์คือสถาบันที่นายทุนเข้าหาและโคจรรอบ ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถาบันที่แสดงบทบาทเชิงประเพณีหรือวัฒนธรรมตามบทบาทที่ควรจะเป็นของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติ สถาบันกษัตริย์แสดงบทบาทที่สำคัญและทรงอิทธิพลมากในตลาด” ปวงชน อุนจะนำ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“สถาบันกษัตริย์จะอยู่รอดได้ต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้าระบอบประชาธิปไตยรอด สถาบันกษัตริย์ก็จะรอดด้วย” ทอม กินสเบิร์ก (Tom Ginsburg) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์แห่ง University of Chicago

เผาธงที่ไม่ใช่ชังชาติ เปลือยกายที่ไม่ใช่ลามกจกเปรต

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

การเผาธงชาติเพื่อแสดงออกทางการเมืองสมควรได้รับโทษหรือไม่?

แล้วการเปลือยกายในการประท้วงถือเป็นการกระทำอันควรขายหน้าหรือเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงออก?

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนพิจารณาการตั้งข้อหา ‘ป้าเป้า’ จากการเปลือยร่างกายระหว่างประท้วงเพื่อโต้ตอบเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“การเปลือยกายในที่สาธารณะเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเกิดขึ้นในประเด็นอันหลากหลาย นับตั้งแต่การร่วมกันถ่ายภาพเปลือยในทะเลสาบเดดซีเพื่อกระตุ้นสำนึกของสาธารณะต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม, การเปลือยกายเพื่อบอยคอตสินค้าจากสัตว์, การเรียกร้องสิทธิในที่ดิน, การต่อต้านสงคราม และอีกนานัปการ”

“การกระทำเหล่านี้ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายที่ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว หากต้องการการปรับเปลี่ยนทั้งในระดับปรากฏการณ์หรือนโยบาย จะเรียกว่าเป็นกิจกรรม ‘อันควรขายหน้า’ ได้กระนั้นหรือ ตรงกันข้าม สังคมควรให้ความสำคัญต่อการเปลือยกายของบุคคลในลักษณะเช่นนี้มากกว่า”

ชวนคุยเรื่อง AUKUS: ว่าด้วยศึกภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีคำตอบ และอนาคตการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่แน่นอน

โดย จิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา

จิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา ชวนคิดต่อว่าด้วยผลที่ยัง ‘คาดการณ์ได้ยาก’ ของยุทธศาสตร์ AUKUS ระหว่างสามพันธมิตรสหรัฐฯ-สหราชอาณาจักร-ออสเตรเลีย ต่อพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และความท้าทายต่อการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ระดับโลกที่ตามมาจากความร่วมมือเกี่ยวกับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างสามประเทศพันธมิตร

“ความท้าทายที่ข้อตกลงซื้อขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้ AUKUS มีต่อ NPT คือ แม้หากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายแล้ว ข้อตกลงการซื้อขายนี้ไม่ผิดกฎ NPT แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบ safeguards ของ IAEA และอาจสร้างมาตรฐานใหม่ในการครอบครองนิวเคลียร์ความบริสุทธิ์สูง (high-enriched uranium: HEU) ที่รัฐอื่นๆ อาจทำตามในอนาคต หากกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นจริง ประชาคมโลกจะต้องเลือกว่าจะยอมให้มีการแพร่ขยาย HEU เพื่อรักษามาตรฐานไม่เลือกปฏิบัติไว้ หรือจะยอมปฏิบัติแบบสองมาตรฐานโดยไม่ยอมให้รัฐอื่นได้ครอบครอง HEU ซึ่งย่อมทำให้เข้มแข็งของระบอบการไม่แพร่ขยายอาวุธโดยรวมลดลง

“NPT อนุญาตให้รัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์สามารถพัฒนาหรือใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติได้ตราบใดที่มีการตรวจสอบจาก IAEA และภายใต้ NPT การสร้างหรือใช้เรือพลังงานนิวเคลียร์ก็ยังอยู่ในขอบข่ายของการใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติ อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติ IAEA ไม่สามารถตรวจสอบตัวจ่ายพลังงานที่ใช้กับเรือได้ … ที่ผ่านมา รัฐที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์กับเรือคือรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองอยู่แล้วเท่านั้น และหากข้อตกลงซื้อขายนี้สำเร็จ ออสเตรเลียจะเป็นรัฐแรกที่ลงนามใน NPT ที่มีนิวเคลียร์โดยไม่ได้ถูกตรวจสอบโดย IAEA

“ที่ท้าทายยิ่งกว่านั้นคือ พลังงานนิวเคลียร์สำหรับเรือดำน้ำที่ออสเตรเลียซื้อน่าจะเป็นนิวเคลียร์แบบ HEU ในระดับสูงถึง 93-97% ซึ่งเป็นนิวเคลียร์ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้โดยตรง แม้ออสเตรเลียอาจไม่ได้แอบนำนิวเคลียร์จากเรือดำน้ำมาปรับเป็นอาวุธนิวเคลียร์ แต่รัฐอื่นๆ ในอนาคตอาจใช้ข้ออ้างเรื่องสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ แล้วอาจแอบปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์โดยปราศจากการตรวจสอบโดย IAEA”

“การวิเคราะห์ผลกระทบของข้อตกลง AUKUS ต่อทิศทางพลวัตทางการเมืองในภูมิภาคในรายละเอียดยังทำได้อย่างจำกัดด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกคือ เราต้องไม่ลืมว่ารายละเอียดในข้อตกลงซื้อขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ครั้งนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด สามพันธมิตรจะใช้เวลาอีก 18 เดือนในการพูดคุยรายละเอียดดังกล่าวทั้งในประเด็นโมเดลเรือดำน้ำ ประเภทพลังงานนิวเคลียร์ที่จะใช้ ระบบขนส่ง ระบบรักษาความปลอดภัยนิวเคลียร์ การขีดเส้นแบ่งอำนาจอธิปไตยของออสเตรเลียในการดำเนินนโยบายต่างประเทศให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงอาจมีการเพิ่มเติมจำนวนพันธมิตรมากขึ้น”

“ประการที่สองก็คือ ข้อมูลที่เผยแพร่สาธารณะทั่วไป ณ ขณะนี้ (อย่างน้อยที่ปรากฏในสื่อหลัก) ยังไม่เพียงพอที่ทำเข้าใจมากนักว่าแต่ละรัฐ ‘เข้าใจ’ และ ‘คิด’ อย่างไร รวมไปถึงมีข้อจำกัดอะไรในการดำเนินโยบายนี้ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อไปข้างหน้าอย่างสำคัญ”

เห็บหมัดของตุลาการภิวัตน์

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เขียนถึงปรากฏการณ์ ‘นักร้อง’ ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือส่งเสริมความคิดฟากตนเอง อันเป็นผลพวงมาจากตุลาการภิวัตน์

“มีเส้นบางๆ ระหว่างพลเมืองดีกับนักร้องที่บิดผันสิทธิตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน บางครั้งประโยชน์นั้นอาจจะเป็นเรื่องความพึงพอใจในชัยชนะของพวกตนและทำลายศัตรูลงได้ บางครั้งประโยชน์นั้นอาจจะเป็นชื่อเสียงเกียรติยศ ตลอดจนโอกาสความก้าวหน้าที่ผู้ใหญ่อาจจะเมตตาแลเห็น และหยิบยื่นให้เพิ่มต่อไปในภายภาคหน้า”

“เมื่อเกิดตุลาการภิวัตน์ ระบบกฎหมายและตุลาการของไทยก็เติบโตขึ้นจนแทรกซึมเข้าไปในทุกส่วน เสมือนอสุรสัตว์มหึมานั่งอยู่ใจกลางรัฐ ส่วนนักร้องนั้นก็เติบโตขึ้นตามอสุรสัตว์ที่พวกเขาเกาะอยู่ ยิ่งกฎหมายน่ากลัวมากขึ้นเท่าไหร่ ความสำคัญของนักร้องยิ่งทวีคูณ”

Stagflation เงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจไม่ดี ความท้าทายต่อธุรกิจและธนาคารกลาง

Stagflation เงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจไม่ดี ความท้าทายต่อธุรกิจและธนาคารกลาง

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

“ประเทศไทยเองก็อาจจะกำลังเจอความท้าทายไม่แพ้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของเราที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมากและยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แต่ต้นทุนสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ และค่าขนส่งเริ่มปรับสูงขึ้นไปแล้ว ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไปแตะระดับที่ไม่ได้เห็นตั้งแต่ปี 2017 จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินทุนไหลออก และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก็กำลังทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าและราคาสินค้าในประเทศมีแรงกดดันมากขึ้นไปอีก”

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย มองปรากฏการณ์ stagflation ซึ่งเป็นภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง ที่หลายประเทศกำลังประสบหลังโควิดเริ่มผ่านพ้น จนอาจเป็นความท้าทายใหญ่ของธุรกิจและธนาคารกลางทั่วโลก

“การกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งเกิดขึ้นในบริบทที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพากันอัดฉีดกันเต็มที่เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้เกิดวิกฤติ และช่วยให้ตลาดการเงินกลับมามีเสถียรภาพ อุปสงค์จึงถูกกระตุ้นให้กลับมาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เมื่ออุปสงค์เหล่านี้เริ่มกลับมา กลับกลายเป็นว่าการผลิตสินค้ายังไม่กลับมาได้ไม่เต็มที่ เพราะปัญหาคอขวดของการผลิต และข้อจำกัดของห่วงโซ่อุปทาน ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น โดยยิ่งฐานเงินเฟ้อต่ำ (เพราะปีก่อนเงินเฟ้อต่ำหรือติดลบ) อัตราเงินเฟ้อที่กลับมารอบใหม่ยิ่งสูงขึ้น”

“ภาวะเช่นนี้สร้างความท้าทายให้กับทั้งธนาคารกลางและภาคธุรกิจ โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางจะใช้นโยบายการเงินเพื่อเร่งหรือแตะเบรกเงินเฟ้อ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการเร่งหรือเบรกภาคเศรษฐกิจไปด้วย เวลาที่เศรษฐกิจเริ่มไม่ดี แต่เงินเฟ้อสูง โดยเฉพาะที่ภาวะเงินเฟ้อเกิดจากด้านต้นทุน หรือปัญหาด้านอุปทาน จึงเป็นภาวะที่ทำให้ธนาคารกลางกระอักกระอ่วน เพราะแม้ว่าการถอนการกระตุ้นหรือการขึ้นดอกเบี้ยอาจช่วยชะลอเงินเฟ้อได้ แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน”

“ล่าสุด Jerome Powell ผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ถึงกับบอกว่า สภาพที่เป็นอยู่นั้นน่าอึดอัดใจอย่างยิ่ง “frustrating” และยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนปัจจัยด้านอุปทานอาจจะสูงกว่าที่คาด และค้างอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งยิ่งทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจมีความเสี่ยง และอาจจะเร่งทำให้การถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็นมากขึ้น และเผลอๆอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดก็ได้”

“แม้เงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำมานาน แต่ถ้าต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่าวรวดเร็ว พร้อมค่าเงินอ่อนที่ลงไปมากๆ ก็อาจจะทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ดีนัก”

“สถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจจะทำให้แบงก์ชาติต้องคิดหนักเลยทีเดียว เพราะถ้าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็อาจจะทำให้ค่าเงินอ่อน และเงินเฟ้อก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีก แต่จะขึ้นดอกเบี้ยในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ก็อาจจะไม่ได้”

“หรือจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ กนง. ตัดสินใจส่งสัญญาณด้วยเสียงเอกฉันท์ ปิดประตูไม่ลดดอกเบี้ยเพิ่มในการประชุมครั้งที่ผ่านมา?”

Exit from the EU?: กระแสออกจากสหภาพยุโรปหายไปไหน

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

กระแสออกจากสหภาพยุโรปหายไปไหน? พรรคฝ่ายขวาสุดโต่งเหล่านี้ต้องการพาประเทศออกจากสหภาพยุโรปจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ต้องมนตร์เบร็กซิตละเมอฝันไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น?

ย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2016 คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า หนึ่งในวิกฤตที่ถาโถมใส่สหภาพยุโรปคือกระแสคลื่นแห่งการต่อต้านสหภาพยุโรป โหมกระหน่ำโดยสารพัดพรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดโต่งทั่วทวีปที่ขณะนั้นกำลังรื่นรมย์กับวิกฤตศรัทธาต่อเสรีนิยมและเฉลิมฉลองอาการประชาธิปไตยโลกเอียงขวา จนผงาดกลายเป็นพลังการเมืองที่ต้องจับตามองในสนามการเมืองยุโรปหลายประเทศ

คงไม่มีใครลืม Brexit ได้ลง เพราะนั่นคือครั้งแรกที่ความรู้สึกไม่พอใจต่อสหภาพยุโรปถูกแปรไปเป็นคะแนนเสียงลงประชามติที่ตัดสินชะตาของสหราชอาณาจักรว่าจะ ‘ออก’ จากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ … แต่ที่เสียงดังกระหึ่มและสร้างความสะพรึงไม่แพ้กันคือสารพัดกระแส -exit ในอีกหลายประเทศแทบทั่วยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ‘เฟร็กซิต’ (Frexit) ในฝรั่งเศส, ‘เน็กซิต’ (Nexit) ในเนเธอร์แลนด์, ‘อิตาลีฟ’ (Italeave) ในอีตาลี, กระแส ‘สวีกซิต’ (Swexit) ในสวีเดน หรือ ‘โปลซิต’ (Polexit) ในโปแลนด์ ฯลฯ

แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 4 ปี โดมิโนที่ชื่อว่า Brexit ไม่ได้ล้มทับโดมิโนตัวอื่นๆ ที่เหลืออยู่แต่ประการใด ในทางกลับกัน เสียงแห่งความไม่พอใจกลับเงียบงันลงในระดับที่เรียกได้ว่ากระแส -exit แทบไม่ปรากฏให้เห็นในหน้าข่าวเลย

แล้วกระแสออกจากสหภาพยุโรปหายไปไหน?

‘ยาก-ลำบาก-แต่ไม่นึกเสียใจที่ออกมา’ ฟังเสียง 3 เยาวชนที่ไร้บ้านเพราะการเมือง

โดย ภาวิณี คงฤทธิ์

16 ตุลาคม คือวันครบรอบหนึ่งปีการสลายการชุมนุม ณ บริเวณแยกปทุมวัน วันแรกของการฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม และเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยรัฐ

หลังจากเหตุการณ์วันนั้น สถานการณ์ทางการเมืองนอกสภามีความเข้มข้นขึ้น เกิดม็อบรายวัน ม็อบไร้แกนนำ ควบคู่ไปกับการยกระดับการใช้กำลังในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภายในครอบครัวจำนวนมากก็เริ่มตึงเครียดขึ้น เด็กหลายคนออกมาระบายความในใจถึงความอึดอัดและความเครียดที่กำลังแบกรับ เนื่องจากมีทัศนคติทางการเมืองต่างจากคนที่บ้าน บ้างก็เกิดเหตุการณ์ที่เยาวชนต้องออกมาชูป้ายขอความช่วยเหลือกลางที่ชุมนุม หลังจากที่เขาหรือเธอถูกไล่ออกจากบ้านเพราะมาม็อบ และมีอีกมากที่ตัดสินใจละทิ้ง (อดีต) พื้นที่ปลอดภัยอย่างบ้าน เพื่อได้ออกมาสานต่ออุดมการณ์ทางการเมือง

101 คุยกับ 3 เยาวชนที่ตัดสินใจออกจากบ้านด้วยเหตุความเห็นต่างทางการเมือง ถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรคือสิ่งที่เขาต้องเผชิญในยามที่ออกมาอยู่ตัวคนเดียว รสชาติของชีวิตแบบไหนที่เด็กวัย 17 ปีต้องสัมผัส และเคยมีสักครั้งไหมที่พวกเขาคิดจะหยุดในสิ่งที่ทำเพื่อแลกกับการได้กลับบ้าน

ภูมิ, 17 ปี, ออกจากบ้าน 1 ปี

“ส่วนตัวถึงผมจะมีชีวิตอยู่ได้ แต่เอาจริงๆ การออกมาใช้ชีวิตแบบนี้ก็ไม่ค่อยดีหรอก บางคนออกจากบ้านแล้วเคว้ง ไม่มีที่ไปเลยก็มี บางคนไม่มีสกิลอะไรติดตัวที่จะสามารถทำงานหาเงินได้ก็จะลำบากเลย ไม่ใช่ทุกคนที่จะออกจากบ้านแล้วสามารถหางานได้ ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถชินได้ บางคนอาจจะเศร้าไปตลอดชีวิตก็ได้ ฉะนั้น ผมไม่อยากให้ใครต้องออกจากบ้านอีกแล้ว อยากให้มันจบที่รุ่นผมนี่แหละ”

– , 22 ปี, ออกจากบ้าน 3 เดือน

“การที่เราต้องออกจากบ้านและกลายมาเป็นแรงงานคนหนึ่งในระบบ ยิ่งทำให้เข้าใจมากขึ้นด้วยซ้ำว่าทำไมถึงยังต้องยึดมั่นอุดมการณ์นี้อยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดแล้วว่า ทุกการกระทำของรัฐส่งผลต่อชีวิตของเรา ยิ่งปีนี้แสดงให้เห็นชัดมากว่ารัฐไม่สามารถจัดการอะไรให้ดีขึ้นได้เลย ไม่พอยังกระทำเราซ้ำอีก แทนที่ว่าปีนี้จะได้ลืมตาอ้าปาก กลายเป็นว่าเสียเวลาไปเปล่าๆ เลยทั้งปี เราเข้าใจเลยว่าทำไม ณ วันนั้น คุณลุงคุณป้าเขาถึงออกมาประท้วงกัน ก็เพราะว่าเขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐไง มันไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝันของนักศึกษาอย่างที่ฝั่งตรงข้ามชอบโจมตี แต่มันคือการออกมาเรียกร้องเพื่อชีวิตของพวกเราจริงๆ
.
“ความลำบากที่เราต้องเจอไม่ได้ทำให้อุดมการณ์หายไปเลย กลับกันมันยิ่งตอกย้ำว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว”

พลอย, 17 ปี, ออกจากบ้าน 1 ปี

“ผู้ใหญ่ไม่ควรโทษเด็กว่าทำไมถึงทำแบบนี้ แต่คุณควรทำความเข้าใจและยืนเคียงข้างพวกเรา เพราะสิ่งที่เราทำไม่ใช่เรื่องผิด มันคือสิ่งที่คนคนหนึ่งควรทำในฐานะประชาชนของประเทศนี้ ไม่มีเด็กคนไหนหรอกที่อยากจะมีคดีติดตัวหรือต้องออกจากบ้าน แต่สังคมบีบให้เราต้องทำแบบนี้ อยากให้ผู้ใหญ่เปิดใจและรับฟังเสียงเด็กมากกว่านี้ เพราะเด็กก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน เด็กทุกคนคิดเป็นและไม่ได้โดนใครล้างสมองอย่างที่ผู้ใหญ่ชอบพูดกัน”

ประวัติศาสตร์หลัง 6 ตุลาฯ: “สังคมต้องจดจำขบวนการประชาชนที่กล้าหาญอย่างมากทางความคิด” – ธิกานต์ ศรีนารา

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“แก่นของยุคสมัยหลัง 6 ตุลาสะท้อนความอำมหิตของรัฐไทยและฝ่ายขวาที่พร้อมจะจัดการกับผู้ต่อต้านและเห็นต่างด้วยความรุนแรงเสมอ ไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใดก็ตาม ที่จริงพอเริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ไม่ว่าจะแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือแบบราดิกัลที่รุนแรงถอนรากถอนโคน ในที่สุดรัฐก็จะตั้งองค์กรขึ้นมาจัดการ อย่างหลัง 14 ตุลา พอนักศึกษามีความคิดไปทางฝ่ายซ้ายมากขึ้น รัฐก็จะเริ่มตั้งองค์กรขึ้นมาปราบ … ทั้งหมดนี้อาจเรียกว่าเป็นสภาวะหรือกฎทั่วไปแล้วก็ได้ เพราะมักเกิดเช่นนี้เสมอ”

ในวาระครบรอบ 45 ปี ‘6 ตุลา 2519’ 101 ชวน ธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนทนาว่าด้วยช่วงเวลาที่ทอดยาวหลังจากการล้อมปราบสังหารหมู่นักศึกษา เมื่อกระแสความคิดฝ่ายซ้ายแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ส่งอิทธิพลต่ออุดมคติและความหวังของคนรุ่นใหม่ยุคเดือนตุลา มรดกจากยุค ‘หลัง 6 ตุลาฯ’ ที่ยังประจักษ์ชัดอยู่ในการเมืองไทย และกระแสธารความคิดที่ฝ่ายซ้ายไทยฝากไว้ และเรื่องราวที่ยังไม่สิ้นสุดในการต่อกรต่ออำนาจรัฐของขบวนการประชาชน

“ต้องไม่ลืมว่าตัวละครในเวทีการเมืองไทยไม่ได้มีเพียงชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง หรือนักศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังมีประชาชนธรรมดาเข้ามาแสดงบทบาทในรูปของการเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติชาวนา ถ้าไปดูหนังสือบันทึก ก็จะเห็นว่ามีการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการปราบ ซึ่งหลายร้อยหลายพันชีวิตมีแต่ชาวนาหรือกรรมกรทั้งนั้น นักศึกษาก็มีมาก ในแง่หนึ่งก็สะท้อนว่า ประวัติศาสตร์ช่วงเวลาดังกล่าว [หลัง 6 ตุลา] ไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปอย่างไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย ผมเชื่อว่ามีสามัญชนคนธรรมดาเสียชีวิตหลายพันคน ที่ทางทางการเมืองของกรรมกรและชาวนาในร่วมต่อต้านอำนาจรัฐนั้นสำคัญมากๆ ละเลยไปในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไม่ได้เสียด้วยซ้ำ”

“ในช่วงเวลาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 ต่อเนื่องมายังทศวรรษที่ 2520 นับว่าปรากฏการวิพากษ์สังคมที่โดดเด่นมากที่สุดในยุคหนึ่ง แม้แต่กระแสแบบคณะราษฎรยังเป็นเพียงกระแสเล็กๆ เมื่อเทียบกับขบวนการฝ่ายซ้ายแบบ พคท. ซึ่งรวมถึงขบวนการปัญญาชนฝ่ายซ้ายในเมืองก่อนเข้าป่าด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนของนายผี อัศนี พลจันทร อุดม สีสุวรรณ เปลื้อง วรรณศรี จิตร ภูมิศักดิ์ และคนอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ในอักษรสาส์น รวมถึงสิ่งพิมพ์ของพรรคอย่าง มหาชน และ ปิตุภมิ รวมทั้งนักศึกษาหลัง 14 ตุลาด้วยต่างพยายามจะบอกว่า ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีกำลังพยายามครอบงำประเทศคุณอยู่ อาจจะเรียกว่าเป็นความตาสว่างในยุคนั้นก็ได้”

“หลังจากป่าแตก สหายบางคนกลายเป็นฝ่ายขวาเพราะอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเติบโตและพระราชอำนาจเพิ่มพูนขึ้นในจังหวะเดียวกับที่ออกมาจากป่า … บางคนยึดอุดมการณ์การพัฒนา อุดมการณ์แบบ พคท. ที่ชูธงสังคมที่มีความพอเพียงอยู่ดีมีสุขไปสอดรับกับอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงของสถาบันกษัตริย์ … การเติบโตของทุนนิยมและการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาตั้งแต่ช่วงพฤษภาฯ 2535 ได้เปลี่ยนการเมืองประชาธิปไตยและระบบรัฐสภากลายเป็นสัญลักษณ์ของนายทุนโลก ในสายตาของปัญญาชนฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งที่ยังต่อต้านทุนนิยมอยู่ บางคนก็เชื่อว่าต้องร่วมมือกับสถาบันกษัตริย์ในการต่อต้านทุนนิยม เพราะลำพังมวลชนเองสู้กับทุนไม่ได้ ต้องร่วมมือกับพลังที่ใหญ่กว่าถึงจะชนะ ซึ่งผลก็ชนะจริงๆ”

“ส่วนตัวผมไม่อยากให้ พคท. ชนะถ้าต้องเป็นแบบลาวหรือเวียดนาม แต่อย่างหนึ่งที่สำคัญมากและไม่ใช่ข้อผิดพลาดคือความพยายามของอุดมการณ์ที่จะทำลายโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียม มีการกดขี่ ผูกขาดอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจ พยายามสร้างสังคมใหม่ที่คนเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสังคมในอุดมคติที่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะต้องสร้างอย่างไร อุดมคติจึงจะเป็นจริง อันนี้ถือว่าเป็นอุดมคติที่ดีงามมาก ซึ่งที่ผ่านมา พคท. อาจผิดพลาดในแง่วิธีการที่จะไปถึงมัน”

Thailand Policy Lab: มิติใหม่แห่งนโยบายสาธารณะ เมื่อพื้นที่ในการออกแบบนโยบายคือการฟังเสียงของ ‘ประชาชน’

Thailand Policy Lab: มิติใหม่แห่งนโยบายสาธารณะ เมื่อพื้นที่ในการออกแบบนโยบายคือการฟังเสียงของ ‘ประชาชน’

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

ท่ามกลางโลกที่เจอความท้าทายซับซ้อนขึ้นทุกวัน หลายประเทศกำลังมองหาแนวทางการออกแบบนโยบายด้วยรูปแบบใหม่ๆ และ ‘ห้องปฏิบัติการนโยบาย’ (Policy Lab) ก็เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจและเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย…101 พาไปทำความรู้จัก Thailand Policy Lab จากความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ที่มุ่งขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของไทยให้ตอบโจทย์กระแสโลก และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการอย่างแท้จริง

“Thailand Policy Lab ตั้งขึ้นมาเพื่อหาคำตอบให้กับความท้าทายที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีความซับซ้อนและมีหลายมิติมากจนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการเดียว Thailand Policy Lab เลยตั้งขึ้นมาเพื่อนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ตอบปัญหาที่เรากำลังเจอ” – นิทัสมัย รัญเสวะ Head of Thailand Policy Lab

“ประเทศไทยยังไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า Lab ในกระบวนการออกแบบนโยบายสาธารณะ ความหมายคือเราไม่เคยทำนโยบายในลักษณะของการทดลองก่อนแล้วค่อยนำไปขยายผลใช้จริง ที่ผ่านมาอาจจะมีลักษณะเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) แต่ปัญหาคือบ้านเราไม่ค่อยยอมรับความล้มเหลว เลยไม่ได้เกิดกระบวนการในลักษณะของการทดลองจริงๆ ขณะที่ Policy Lab จะเปิดพื้นที่ให้ทดลองได้ นี่คือสิ่งที่ Policy Lab ต่างจากการทำนโยบายแบบดั้งเดิม” – สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒน์ฯ

“แนวคิดของเราคือการทำให้กระบวนการตัดสินใจและออกแบบนโยบายมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาส่งเสียงของตัวเองต่อประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีรายได้ระดับไหน ทำอาชีพอะไรก็ตาม เราเชื่อว่าทุกคนย่อมมีอะไรที่เป็นประโยชน์มาแลกเปลี่ยนร่วมมือกัน” – เรอโน เมแยร์ (Renaud Meyer) ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย

“การใช้วิธีการรับฟังเสียงจากสังคม (Social Listening) จะช่วยตีความคนในเชิงจิตวิทยาได้มากขึ้น แสดงให้เห็นได้ว่าคนรู้สึกหรือคาดหวังอะไร ซึ่งก็ต้องมาพร้อมกับค่านิยมในกระบวนการพัฒนาประเทศที่เห็นความเป็นมนุษย์ของประชาชน ต้องเคารพในความเป็นพลเมืองของเขา มองว่าเขามีสิทธิอันชอบธรรมที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แม้เขาจะมีภาษาที่แตกต่างจากเรา อาจจะไม่ได้พูดภาษาวิชาการ แต่เราก็ต้องฟังให้เข้าใจให้ได้ นี่คือหัวใจที่แท้จริงของคำว่า Policy Lab แล้วเราจะเห็นระบบราชการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีกระบวนการออกแบบนโยบายที่แคร์ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่มองประชาชนเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กน้อยของนโยบายอีกต่อไป” – สุริยนต์

“ทุกวันนี้ประชาชน องค์กร หรือรัฐบาลล้วนแต่กำลังเจอปัญหาหลายอย่างที่ซับซ้อนขึ้น เราจึงไม่อาจใช้สูตรสำเร็จเดิมๆ มาแก้ปัญหาใหม่ๆ เหล่านั้นได้อีกต่อไป แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องคิดใหม่ทำใหม่” – เรอโน

น้ำท่วมกับ ‘โคก หนอง นา’: เก็บน้ำไว้ใช้ ทำได้จริงหรือ

โดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง

น้ำท่วงฤดูน้ำหลากทีไร ก็มักมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดการน้ำของประเทศเราเสมอว่า “ทำไมไม่หาที่เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง” “เราน่าจะขุดบ่อแก้มลิงไว้มากๆ เพื่อเก็บน้ำ” “ตอนนี้ท่วม อีกสองเดือนก็แล้ง” และอีกหลายๆ ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ พลอยโยงไปถึงเรื่องที่ว่า “ทำไมประเทศไทยเราไม่ปฎิวัติวงการเกษตรด้วย ‘โคก หนอง นา โมเดล’ เราจะหาวิธีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตในการพึ่งพาน้ำฝน พึ่งพาธรรมชาติน้อยลงได้หรือไม่”

ในฐานะที่พื้นเพบรรพบุรุษของผมเป็นชาวนา สมัยเด็กก็ยังได้ทันไปลงแขกกับเขา ครอบครัวใช้เวลาสองชั่วอายุคนกว่าจะเขยิบฐานะมาเป็นชนชั้นกลาง แต่กระนั้น การทำนาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของเรา ที่นาทั้งหลายก็ยังให้เพื่อนบ้านที่ไม่มีที่นาเป็นของตัวเองได้เช่าทำ จึงเลยอยากสะท้อนมุมของคนที่มองจากคนข้างล่างไปหาคนในเมืองหลวงเพื่อให้เข้าใจว่า ‘ไม่ใช่เราไม่อยากจะทำ แต่ทำไมเราถึงทำไม่ได้’

คอลัมน์ สารกันเบื่อ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การจัดการพื้นที่การเกษตรตามโคก หนอง นา โมเดล ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทำเกษตรอย่างเป็นระบบได้จริง และอาจเป็นได้เพียงอุดมคติสำหรับผู้มีทุนทรัพย์ที่ใฝ่หาชีวิตชนบท

“โคกหนองนาจึงเป็นเรื่องของนาที่ไม่สามารถทำได้จริง มันเป็นแนวคิดที่ดีสำหรับข้าราชการเกษียณ คนที่พร้อม หรือคนที่มีต้นทุนทางสังคมประมาณหนึ่ง แต่สำหรับการนำมาแก้ปัญหาสังคมในเชิงมหภาค แนวความคิดแบบนี้แทบเป็นไปไม่ได้ หากว่าเรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม การเมือง และยิ่งยากไปอีกขั้นที่ว่า หากอยากทำขึ้นมาจริงๆ เราจะอยู่รอดในโลกทุนนิยมได้จริงหรือไม่ ในประเทศที่ระบบสวัสดิการของรัฐไม่มีอะไรการันตีว่าเราจะอยู่ได้สบายๆ”

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนตุลาคม 2564

‘ดินแดง’ ดินแดนไม่ประนีประนอม

โดย กองบรรณาธิการ

เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือนเต็มที่พื้นที่ดินแดงถูกบังคับเปลี่ยนสถานะชั่วคราว จากย่านที่อยู่อาศัยกลายมาเป็น ‘สมรภูมิ’ ระหว่างเยาวรุ่นทะลุแก๊สกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ส่งผลให้ชาวบ้านกว่าหลายร้อยชีวิตต้องแบกรับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

มากไปกว่าร่องรอยความเสียหายตามบ้านเรือน ลึกไปกว่าความเจ็บปวดที่สะท้อนผ่านแววตาของชาวบ้านย่านดินแดง พื้นที่แห่งนี้กลายมาเป็นประจักษ์พยานของ ‘ดินแดน’ ที่ไร้การประนีประนอม และเป็นหลักฐานสำคัญอีกครั้งของการปราบปรามประชาชนอย่างเลือดเย็นของรัฐไทย 

มาวันนี้ แม้กลุ่มผู้ชุมนุมอิสระจะบางตาลง เสียงประทัดยักษ์สลับกับเสียงลั่นไกยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาจะเงียบหายไป แล้วถูกแทนที่ด้วยเหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรึงกำลังแน่นหนาตามบริเวณแฟลตดินแดง หลังจากมีการออกคำสั่ง ‘ขอคืนพื้นที่’

แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับชาวดินแดงแล้ว ความเจ็บปวดสูญเสียไม่ได้สลายหายไปไหน และยังเฝ้ารอวันที่การรับฟังและการประนีประนอมจะมาถึง

101 Documentary ชวนชม ‘ดินแดง’ ดินแดนไม่ประนีประนอม

เปิดกล่องฟ้าสาง ความทรงจำเดือนตุลาฯ

โดย กองบรรณาธิการ

“เยาวมิตรที่รัก

วันนี้โลกนี้เป็นของเธอ และเธอก็จะส่งต่อโลกนี้ให้ลูกหลานของเธอต่อไป โลกที่เธอใฝ่ฝันในวันนี้สวยงามกว่าโลกที่ฉันเคยฝันถึงมาก่อน แต่เชื่อฉันเถิด ความใฝ่ฝันของลูกหลานเธอย่อมไม่เหมือนความฝันของเธอ เพราะจะยิ่งใหญ่กว่าและกว้างไกลมากกว่า”

ส่วนหนึ่งจากจดหมายของสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยกวนกาวแป้งเปียก ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

101 เปิดความทรงจำใน ‘กล่องฟ้าสาง’ รวมภาพถ่าย จดหมาย เนื้อเพลง และเรื่องราวการเคลื่อนไหวของคนเดือนตุลาฯ ในช่วงปี 2516-2519 ซึ่งเป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวของนักศึกษา แรงงาน และกรรมกรรุ่งโรจน์ที่สุด จัดทำโดยคณะทำงานโปรเจ็กต์ ‘5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง’

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้จากไป ปลุกปลอบใจผู้มีชีวิต และบอกเล่าข้อเท็จจริงแก่ผู้มาทีหลัง

ติดตามโปรเจ็กต์ ‘5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง’ ตั้งแต่ 18 กันยายน-12 ตุลาคม 2564 ได้ที่ https://www.facebook.com/6tula2519/

ร่วมอ่านประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตขึ้นมาตรงหน้า ผ่านรุ่งอรุณของความทรงจำ

45 ปี 6 ตุลา ใครฆ่าพี่ เราไม่ลืม

โดย กองบรรณาธิการ

กิจกรรมรำลึกครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงค่ำ ผู้คนต่างเข้าร่วมงานกันอย่างเนืองแน่นทั้งคนยุค 6 ตุลาและคนรุ่นใหม่

ในช่วงเช้าเป็นพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์และวางพวงหรีดจากประชาชนและกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อไว้อาลัยและรำลึกถึงเหล่าวีรชนผู้เสียสละ ส่วนช่วงเย็นแม้จะมีฝนตกลงมาแต่ผู้คนก็ยังเนืองแน่นอยู่ร่วมฟังการปราศรัยของเหล่านักกิจกรรมการเมือง ก่อนจะปิดท้ายด้วยการจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา

“6 ตุลาคม 2519 ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง เป็นความจงใจของกลุ่มผู้มีอำนาจที่ต้องการเข้ามากวาดล้างและสังหารหมู่นักศึกษาที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยในธรรมศาสตร์ จึงเป็นที่มาของ 45 ปี ที่เราเรียกร้องให้หาคนผิดมาลงโทษ” กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความและอดีตนักกิจกรรมยุค 6 ตุลา กล่าวขณะปาฐกถา

ปล่อยให้ความหลากหลายได้เติบโต กับหนังสือเด็กวาดหวัง

โดย วจนา วรรลยางกูร

“นิทานวาดหวัง 8 เล่ม หวังจะเป็นหน้าต่าง 8 บาน เด็กเปิดแล้วจะชอบหรือไม่ชอบ หรือเปิดแล้วปิด เป็นสิทธิ์ของทุกคน โปรดให้มีเมล็ดพันธุ์ของการอยากทำอะไรใหม่ๆ หลากหลายขึ้นบ้าง อย่าแช่แข็งไว้ตรงนี้ ให้เราได้เติบโตเถอะค่ะ ให้เราได้หายใจ”

101 พูดคุยกับ หมอน-ศรีสมร โซเฟร บรรณาธิการวาดหวังหนังสือและนักเขียนนามปากกา ‘สองขา’ ถึงการทำหนังสือนิทาน 8 เล่มที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งให้ตรวจสอบและเห็นว่ามีเนื้อหา ‘บ่มเพาะความรุนแรง’

อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่ : “อย่าผูกขาดความหวังดี” ศรีสมร โซเฟร กับเมล็ดพันธุ์อันหลากหลายในหนังสือเด็ก

“การมีนักข่าวคอยตั้งคำถาม จะทำให้เรามีประชาธิปไตยที่ดีได้” Exclusive Interview: Maria Ressa เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ 2021

โดย กองบรรณาธิการ

ท่ามกลางภาวะที่เสรีภาพการแสดงออกถูกปิดกั้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก การแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข่าวสารจึงกลายเป็นอาชญากรรม ส่งผลให้อาชีพสื่อมวลชนต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้านเมื่อต้องต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา มีนักข่าวสองคนได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2021 คือมาเรีย เรสซา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว Rappler และดีมิทรี มูราตอฟ นักข่าวชาวรัสเซีย บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Novaya Gazeta ซึ่งสะท้อนความสำคัญของเสรีภาพในการพูด เพราะทั้งคู่ล้วนทำงานเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก และคอยตั้งคำถามต่ออำนาจไม่เป็นธรรมในสังคม

101 สัมภาษณ์พิเศษมาเรีย เรสซา ถึงความรู้สึกหลังรับรางวัลและมุมมองต่อสื่อ อะไรคือข้อท้าทายของสื่อทั่วโลก การนำเสนอความจริงจะนำมาสู่ประชาธิปไตยอย่างไร และอะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเสรีภาพในไทยกับฟิลิปปินส์

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.4 : เปิดแคนดิเดตนายกฯ / อ่าน 6 ตุลา 64 กับอนาคตการเมืองไทย

– แต่ละพรรคการเมืองทยอยเปิดชื่อแคนดิเดตนายกฯ เดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่ยังไม่ให้ความชัดเจนแก่ประชาชน / เบื้องหลังแต่ละชื่อมีที่มาอย่างไร / โพลสำรวจความนิยมทำหน้าที่อย่างไรในการเมืองเรื่องตัวเลข

– ครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา หนึ่งในงานรำลึกที่จัดได้ยากลำบากที่สุดของไทย / เหตุใด 6 ตุลากลายเป็นประวัติศาสตร์ปกปิดที่คนรุ่นใหม่สนใจค้นหาคำตอบ / เหตุการณ์การเมืองเมื่อหลายทศวรรษที่แล้วจะเป็นกระจกสะท้อนการเมืองในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ, สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.5 : เดิมพัน ‘เปิดประเทศ’ คำสัญญากับเหตุปัจจัยเบื้องหลัง

– ท่ามกลางคำมั่นสัญญาว่าจะเปิดประเทศของ ‘ประยุทธ์’ ที่ชวนมอง ‘อนาคต’ ของประเทศ ก็เกิดคำถามถึง ‘ปัจจุบัน’ เมื่อคนในประเทศยังไม่ได้รับชีวิตปกติกลับคืน วัคซีนยังไม่เต็มแขน โรงเรียนยังเปิดไม่ได้ ปัจจัยเบื้องหลังการวางเดิมพันครั้งนี้คืออะไร

– สำรวจชื่อหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ-เพื่อไทย ผู้นำทัพสองพรรคใหญ่สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า อ่านสัญญาณ ‘ทักษิณ’ อ่านโฉมหน้าแคนดิเดตเพื่อไทย

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ, สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.6 : เมื่อการทหารนำสาธารณสุขกระทบใต้ – การเมืองฝ่ายค้านสะเทือนอีสาน

– ตั้ง ศบค.ส่วนหน้า คุมโควิดจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิธีคิดใช้การทหารนำสาธารณสุขจะนำพาสถานการณ์ไปในทิศทางใดท่ามกลางความไม่ไว้วางใจของคนในพื้นที่

– จับตาประยุทธ์ออนทัวร์ ครม.สัญจร ลงพื้นที่จังหวัดสำคัญ

– เจาะยุทธศาสตร์ฝ่ายค้านเตรียมศึกเลือกตั้ง เมื่อก้าวไกลเปิดตัวพิธาที่อีสาน ท้าชนเพื่อไทย ท่ามกลางกอสซิปบ้านจันทร์ส่องหล้า

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ, สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.7 : เกมประลองกำลัง ‘พลังประชารัฐ’ – แผนจัดทัพ ‘เพื่อไทย’

– เกมประลองกำลังอันยืดเยื้อนับแต่ ‘ประยุทธ์’ ปลด ‘ธรรมนัส’ ลุกลามเป็นความแตกแยกภายในและการยืนยันบทบาทสำคัญในพรรคของ 2 ป. ชวนจับตาการประชุมพรรคอันอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเกมบีบธรรมนัสให้ออกจากพรรค

– อีกพรรคการเมืองใหญ่ที่สังคมจับตาการจัดทัพใหม่ อันหมายถึงยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือ พรรคเพื่อไทยกับตำแหน่งสำคัญในพรรค หลังมีการคาดเดาหลากหลายชื่อ มาจนถึงชื่อของ ส.ส.ดังเมืองเหนือที่อาจขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ, สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

101 One-on-One Ep.242 การเมืองไทยในเดือนตุลาฯ กับ อธึกกิต แสวงสุข

ในปฏิทินการเมืองไทย ‘เดือนตุลาฯ’ มักถูกหยิบยกให้เป็นเดือนพิเศษอยู่เสมอ ยิ่งการเมืองเข้มข้น ร้อนแรงเท่าไหร่ เดือนตุลาฯ ยิ่งแหลมคม

เดือนตุลาคม 2564 สมรภูมิการเมืองกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลเจอวิกฤตทั้งภายนอกและภายใน ในขณะที่โจทย์ใหญ่บนท้องถนนก็ยังไม่ได้ถูกแก้

101 ชวน ‘ใบตองแห้ง’ – อธึกกิต แสวงสุข วิเคราะห์การเมืองไทย – จากงานรำลึกประวัติศาสตร์ ตลาดการเมืองที่กำลังเปิด และระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในการเมืองไทย

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

101 One-on-One Ep.243 ศาสนา การเมือง และเกมความเชื่อ กับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ประเด็นเรื่อง ‘พส.’ หรือ ‘พระสงฆ์’ ถูกพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการที่ ‘พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง’ ออกมาพูดเรื่องการเมืองและใช้มุกตลกเพื่อสอนธรรมะผ่านโซเชียลฯ โดยมีผู้เคร่งครัดหลายคนมองว่าเป็นการกระทำไม่เหมาะสม จนมีกระแสกดดันให้จับสึก หรือเรื่องการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 รูป ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกมาบอกว่า “ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูล” ก็ทำให้คนหันมาสนใจ ‘เรื่องพระเรื่องเจ้า’ กันมากขึ้น

ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องศาสนากับการเมือง ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งมีประเด็นทับซ้อนเรื่องวินัยสงฆ์ ที่ทางของศาสนาในสังคมยุคใหม่ รวมถึงความเชื่ออื่นๆ ในสังคมไทยที่หลากหลายไม่ได้มีแค่พุทธ ท่ามกลางประเด็นละเอียดอ่อนเช่นนี้ เราจะมองประเด็นนี้อย่างไร มีเรื่องอะไรที่ต้องทำความเข้าใจ และจะคลายข้อสงสัยในเรื่อง ‘สงฆ์-ไสย’ อย่างไรได้บ้าง

101 ชวน ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ ‘ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง’ มาคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

101 Public Forum ‘ทำไมต้องทะลุแก๊ส’ เข้าใจหลากมิติม็อบดินแดง

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สังคมการเมืองไทยกำลังเผชิญกับคำถามและความท้าทายครั้งใหม่ เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนบางกลุ่มเคลื่อนไปสู่แนวทางการเผชิญหน้า การปะทะ และการตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ จนทำให้พื้นที่ดินแดงและอีกหลายจุดในกรุงเทพฯ กลายเป็นสมรภูมิรายวัน

แม้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงตอบโต้ด้วยการยกระดับมาตรการควบคุมการชุมนุมทั้งในแง่ของความถี่และความรุนแรง รวมทั้งการบุกเข้าจับกุมและดำเนินคดีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายร้อยคน แต่ก็ไม่ได้ทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบดังกล่าวหายไป

The101.world ร่วมกับภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดวงเสวนา ‘ทำไมต้องทะลุแก๊ส’ เพื่อหาคำตอบว่า เราจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ‘ทะลุแก๊ส’ นี้ได้อย่างไร ใครคือผู้เข้าร่วมหลักของขบวนการ พวกเขาคิดฝันทางการเมืองอย่างไร อะไรคือแรงผลักในการเคลื่อนไหว ทำไมต้องปะทะ ขบวนการเคลื่อนไว้นี้เกี่ยวโยงและส่งผลกับขบวนการประชาธิปไตยภาพใหญ่แค่ไหน และอะไรคือทางออกที่สังคมไทยต้องขบคิดร่วมกัน

พร้อมการนำเสนอข้อค้นพบเบื้องต้นของรายงาน “การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564” โดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุลและธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ ‘ม็อบดินแดง’ อย่างรอบด้านและเป็นระบบ

ร่วมคิด-อ่าน และถก-ถาม ต่อยอดจากรายงานวิจัย กับ
-ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้ช่วยวิจัยและผู้สื่อข่าว Plus Seven
-ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กีรตยาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวนำ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ดำเนินรายการ

เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรัฐศาสตร์เสวนาสาธารณะ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save