Spotlight ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564

อะไรก็ ‘ช่าง’ เปิดโลกการศึกษาสายอาชีพ พลิกนิยามใหม่เด็กอาชีวะ
ความปกติในชีวิตประจำวันของเราทุกคนต่างดำเนินไปได้โดยมีเบื้องหลังเป็นผู้คนจำนวนมากผ่านสินค้าและบริการต่างๆ
ขณะที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาสายสามัญเรื่อยมา แต่อีกส่วนสำคัญที่ตกหล่นไปอย่างน่าเสียดายคือการพัฒนาการศึกษาสายอาชีพ
แนวทาง ‘อาชีวะสร้างชาติ’ ที่ไทยพยายามผลักดันจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากทั้งสังคมยังใช้สายตาแบบเดิมมองเด็กอาชีวะด้วยความไม่เข้าใจ เมื่อการศึกษาสายอาชีพคือการเรียนรู้ความเป็นมืออาชีพ การศึกษาลึกลงไปในทักษะนั้น โดยมองเห็นความเป็นไปได้อันเต็มไปด้วยความหลากหลาย
101 ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชวนเปิดโลกการศึกษาสายอาชีพอย่างรอบด้าน สำรวจความหลากหลายในโลกการศึกษาสายอาชีพ ฟังเสียงนักเรียนสายอาชีพที่เลือกเดินตามความฝันของตัวเอง มองแนวทางใหม่ของการพัฒนาอาชีวะในการรับมือโลกดิจิทัลเพื่อเห็นรูปแบบใหม่ๆ ในการพัฒนาการศึกษาสายอาชีพของไทย ผ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ตลอดเดือนนี้
20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤศจิกายน 2564


ชุมชนตึกร้าง 95/1: หลากชีวิตบนซากคอนกรีต
“หากมองจากภายนอก ตึกที่ลุงดำกับพี่เดชอาศัยอยู่นั้นเป็นตึกร้างสมบูรณ์แบบ ในที่นี้คือมีเพียงโครงสร้างตึกพอให้เห็นเค้าของอาคาร ปูนฉาบเรียบเฉพาะบางจุด เหล็กเส้นชี้ออกมาจากทุกที่ที่มีเสา อาคารไร้ผนัง บันไดไร้ราวจับ และประตูไร้วงกบ มีร่องรอยของซุ้มประตูที่ถ้าสร้างสำเร็จคงเป็นทางเข้าที่โอ่โถงไม่น้อย แต่เมื่องานศิลปะยังไม่ได้แต่งแต้ม อาคารเหล่านี้ก็เป็นเพียงซากคอนกรีตเท่านั้น”
“อาคารสูง 4 ชั้นที่ยังสร้างไม่เสร็จนี้เป็น 1 ใน 8 ตึกของกลุ่มอาคารที่เจ้าของหมายมั่นจะสร้างเป็นทาวน์โฮม แต่ไม่สำเร็จเพราะเจอพิษฟองสบู่แตก จากแต่เดิมที่มีผู้คนย้ายมาจากบริเวณเลียบทางรถไฟบางกรวยอยู่แล้ว พอตึกถูกทิ้งร้าง หลายคนก็เข้าไปจับจองพื้นที่บนตึก และยังมีคนไร้บ้านหรือคนที่ถูกไล่ที่จากที่อื่นเข้ามาอยู่ด้วย พวกเขารวมตัวกันหลวมๆ เป็น ‘ชุมชนตึกร้าง 95/1’ ตั้งชื่อตามซอยจรัญสนิทวงศ์ 95/1 มีผู้อยู่อาศัยทั้งบนตึกและบนพื้นรวมแล้วกว่า 140 ครัวเรือน”
“…เราเสนอโมเดลมาตลอดว่า บ้านร้างที่ถูกยึด หรือบ้านร้างที่ไม่มีใครทำอะไรแล้ว รัฐน่าจะเจรจา ทำเป็นเป็น CSR ก็ได้ หรือมีข้อตกลงร่วมกันกับเอกชน แล้วรัฐเข้ามารีโนเวต พอให้เขาอยู่อาศัยได้ มีน้ำมีไฟให้ หรือคุณจะเก็บค่าเช่าราคาถูกก็ได้ เราเชื่อว่ากฎระเบียบต่างๆ สามารถสร้างเงื่อนไขร่วมกันได้”

หมอก็เป็นมนุษย์ : เอ็กซเรย์สาธารณสุขไทยผ่านมุมมองนักศึกษาแพทย์
“นอกจากหลักปฏิบัติอันเคร่งครัดที่มีขึ้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและจัดวางสถานะหมอในสังคม ไพลินเผยว่าก่อนจะเข้ามาเรียนก็ไม่เคยรู้ว่าคณะแพทย์มีวัฒนธรรมที่เรียกว่าการ ‘กินหัว’ ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมที่รุนแรงของอาจารย์ทั้งคำพูดและการปฏิบัติ เช่น การต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรงอย่างไล่ไปตาย การหักหน้านักศึกษาต่อหน้าคนไข้
“ทั้งหมดนี้ถูกอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมการสอนที่ทำกันเป็นปกติในโรงเรียนแพทย์ อีกทั้งยังถูกให้ความชอบธรรมด้วยประโยคยอดนิยมอย่าง ไม่เจ็บก็ไม่โต (no pain no gain) หรือมีการทับถมในเชิงที่ว่า ‘ฉันผ่านมาได้ เธอก็ต้องผ่านได้’”
“นอกจากเนื้อหาการเรียนอันหนักหนาสาหัสและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดันจะบีบให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์ต้องสละสุขภาพกายใจแล้ว ปัญหาเชิงระบบในแวดวงสาธารณสุขไทยที่ถูกฉาบด้วยวาทกรรมแบบพุทธยังแปรรูปความเสียสละอดทนของหมอให้เป็นบุญกุศล จนผู้คนหลงลืมว่าหมอก็อยากมีชีวิตที่ดี
“เราคงเคยผ่านตากับความเห็นที่ขาดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ในอินเทอร์เน็ตเวลามีข่าวแพทย์เลือกจบชีวิตเพราะความกดดันจากภาระงาน ซึ่งมีข้อความทำนองว่า ‘รู้ว่าเหนื่อยจะมาเป็นหมอทำไม’ หรือ ‘เรียนมาขนาดนี้แล้วทำไมไม่อดทน’”
101 สนทนากับ 2 แพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือ ‘อินเทิร์น’ ที่เพิ่งก้าวออกจากรั้วโรงเรียนแพทย์สู่โลกจริงของการเป็นหมอ อำนาจนิยมในโรงเรียนแพทย์เข้มข้นจริงหรือไม่ พร้อมร่วมตั้งคำถาม หาคำตอบ และขุดให้ลึกถึงต้นตอของสารพัดปัญหาในวงการสาธารณสุขไทย

รำลึก ดร.โกร่ง: อาจารย์พี่เลี้ยง แหล่งข่าว และมือปืนชั่วคราว
พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ รำลึกถึง “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร
อ่านเรื่องเล่าย้อนอดีตสมัยเป็นอาจารย์ร่วมคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ยุคหลัง 14 ตุลา 2516, ศึกพยากรณ์เศรษฐกิจระหว่าง ดร.โกร่ง และ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รวมถึงเหตุการณ์ที่ไม่มีใครรู้ เมื่อ อ.โกร่ง ต้องรับบทมือปืนชั่วคราวอารักขา ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์!

สู่สองทศวรรษที่สูญหาย? สิ่งที่ประเทศไทยขาดมากที่สุดคือ ‘ความหวัง’ – กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
โดย กองบรรณาธิการ
“ประเทศไทยมีหลายสิ่งที่ต้องเปลี่ยนหากเราจะปฏิรูประบบเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้สิ่งสำคัญที่เราขาดมากที่สุดคือ ความหวัง”
เมื่อเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเข้าสู่ ‘ทศวรรษที่สองของการสูญหาย’ 101 ชวนกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่ง School of Global Policy and Strategy ที่ University of California San Diego และอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตีโจทย์เศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด-19 อะไรคือสิ่งที่สังคมไทยจะต้องกลับมา ‘คิดใหม่’ และ ‘ปรับใหญ่’ เรื่องเศรษฐกิจการเมือง พร้อมหาคำตอบว่าเราจะพาเศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากสองทศวรรษแห่งการสูญหายนี้ไปได้อย่างไร
“สมมติว่าเราสามารถหาวิธีอยู่กับโควิดได้ สิ่งสำคัญคือแล้วเราจะไปต่อจากนี้อย่างไร ผมเปรียบเทียบช่วงเวลานี้ว่าเหมือนเรากำลังอยู่ในอุโมงค์มืด เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ประเด็นคือโลกอีกฝั่งหนึ่งที่ปลายอุโมงค์ต่างกับโลกที่ปากอุโมงค์ที่เราเข้ามาโดยสิ้นเชิง ปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศต่างกันค่อนข้างเยอะกับยุคก่อนจะมีโควิด
“ถัดมาคือ เรากำลังจะเดินออกจากอุโมงค์แบบเพลียๆ หรือที่หลายคนเรียกว่ามีแผลเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่โควิดสร้างผลกระทบที่จะติดกับเราไปอีกนาน เพราะฉะนั้นต่อให้โควิดจะจบลงแต่ปัญหาเศรษฐกิจคงยังไม่จบลงง่ายๆ”
“ถ้ามองในภาพรวม หากคนจำนวนมากในประเทศไร้ความหวังก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจจะเป็นเศรษฐกิจที่ไร้ความหวัง-ไร้อนาคตด้วยเช่นกัน”
“ความหวังสามารถเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคนได้อย่างมีพลัง คำถามคือ สังคมไทยจะสร้างความหวังให้กับผู้คนได้อย่างไร สำหรับผม ความหวังต้องมาพร้อมกับโอกาส การที่ผู้คนหมดหวัง เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีโอกาส ดังนั้น ความหวังจึงสัมพันธ์กับเรื่องความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมด้วย คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยกำลังรู้สึกว่า ต่อให้พวกเขาพยายามแทบตายอย่างไรก็ไม่สามารถไปแข่งกับคนอื่นได้ เพราะคนอื่นมีแต้มต่อมากกว่าเขาตั้งแต่ต้น แล้วเขาจะพยายามไปเพื่ออะไร”
“การสร้างเศรษฐกิจแห่งความหวังจึงแยกไม่ออกกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มี ‘ความเสมอภาคทางโอกาส’ ที่มากขึ้น โดยภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา…และที่สำคัญรัฐจะต้องไม่เป็นตัวสร้างความไม่เสมอภาคในสังคมขึ้นเสียเอง”

อรุณยังรุ่งฟ้าอยู่เสมอ : 6 เรื่องของนักการทูตที่ไม่ธรรมดา ‘อรุณ ภาณุพงศ์’
โดย กษิดิศ อนันทนาธร
“อรุณยังรุ่งฟ้าอยู่เสมอ”
28 ตุลาคมที่ผ่านมา วงการกฎหมายและการต่างประเทศเผชิญกับอีกหนึ่งความสูญเสียอันยิ่งใหญ่เมื่อ “อรุณ ภาณุพงศ์” นักการทูตคนสำคัญจากไป
กษิดิศ อนันทนาธร ชวนอ่าน 6 เรื่องเกี่ยวกับ ‘อรุณ ภาณุพงศ์’ ผู้ล่วงลับ เพื่อทำความรู้จักนักการทูตผู้มีชีวิตที่ไม่ธรรมดา

“ผมไม่ได้เขียนการ์ตูนให้คนอ่านขำๆ ไปวันๆ ผมเขียนเพื่อต่อสู้กับเผด็จการ” – เซีย ไทยรัฐ
“มีเพื่อนผมหลายคนเคยแสดงความคิดเห็นไว้เหมือนกันว่า การ์ตูนการเมืองแทบไม่เป็นการ์ตูนแล้ว การ์ตูนการเมืองที่ดีต้องเสียดสีนิดหน่อย พอให้มีอารมณ์ขัน แต่ตอนนี้การ์ตูนการเมืองเป็นเหมือนคู่สงครามของรัฐบาล ผมก็ยอมรับว่าใช่ ผมนี่แหละคู่สงคราม”
“จะบอกว่าผมประกาศสงครามกับรัฐบาลก็ย่อมได้ เพราะผมเองก็เป็นประชาชนเหมือนคนอื่นๆ ต้องการต่อสู้กับเผด็จการ ถึงไม่มีปืน มีแต่กระดาษและปากกา ผมก็จะสู้กับคุณ ใช้การ์ตูนของผมนี่แหละเป็นอาวุธ”
101 คุยกับอีกหนึ่งตำนานนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองไทย ‘ศักดา แซ่เอียว’ หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ ‘เซีย ไทยรัฐ’ เรื่องเส้นทางชีวิตและจิตวิญญาณการต่อสู้ผ่านตัวการ์ตูน
“ผมต้องเขียนถึงบุคคลที่เป็นข่าวและมีอิทธิพลต่อการเมือง ยังไงก็หลีกเลี่ยงเขียนถึงนายกไม่ได้หรอก เขาหาว่าผมเขียนด่าเขามาตลอด 7 ปี บอกเลยว่าถ้าไม่อยากให้ผมเขียนถึงก็ลาออกไปสิ จริงไหม”

อำนาจข้อมูลสู้อิทธิพลการเมือง: ส่องงบประมาณแบบ อบต. ราชาเทวะ
“แม้ว่า อบต. ราชาเทวะจะมีงบประมาณประจำปีมากถึง 480 ล้านบาท แต่เสาไฟกินรีไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น เพราะนายก อบต. เลือกใช้เบิกเงินสะสมที่มีอยู่ราว 800 ล้านบาทออกมาสร้างเสาไฟ ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติโดยสภา อบต. ในการใช้งานแต่ละครั้ง โดยปีงบประมาณ 2564 อบต. ราชาเทวะได้ออกประกาศจ่ายขาดเงินสะสมทั้งสิ้น 3 ครั้งด้วยกัน และมีงบเพื่อสร้างเสาไฟกินรีสิริรวม 379.9 ล้านบาท (เกือบเท่ากับงบประมาณที่ใช้ทำเรื่องอื่นทั้งปี) ถ้าหากปีนี้ไม่มีเรื่อง อบต. ราชาเทวะจะมีเสาไฟกินรีเพิ่มขึ้นถึง 3,999 ต้น หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 50% ในเวลาปีเดียว ดินแดนสนามบินสุวรรณภูมิก็คงกลายเป็นป่าหิมพานต์แน่”
คอลัมน์ Policy Praxis เดือนนี้ ฉัตร คำแสง ชวนตรวจสอบการใช้งบประมาณของ อบต. ราชาเทวะ ที่มีกระแสข่าวดังเรื่องการจัดซื้อเสาไฟกินรี เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรายังสามารถสร้างสังคมที่โปร่งใสได้อีกมากจากแค่การนั่งอ่านงบประมาณหน่วยงานรัฐ
“เรื่องของเสาไฟฟ้ากินรีนั้นโชคดีมีการตีแผ่ไปแล้ว แต่ราชาเทวะยังมีการจัดงบประมาณแบบประหลาดๆ อีกหลายโครงการ เช่น…งบประมาณประจำปี 2564 มีโครงการใหญ่โครงการหนึ่งในชื่อ ‘โครงการจัดสร้างแหล่งท่องเที่ยว Land Mark ของโลก: สุวรรณภูมิแดนสวรรค์’ ด้วยมูลค่าก่อสร้างมากถึง 200 ล้านบาท เพียงโครงการเดียวนี้มีมูลค่าคิดเป็น 41% ของงบประมาณทั้งหมด และใช้งบประมาณลงทุนเกือบทั้งหมดของ อบต.”
“ในงบประมาณปี 2565 มีการตั้งค่าจัดซื้อถังขยะประจำหมู่บ้านและที่สาธารณะขนาดไม่น้อยกว่า 240 ลิตรพร้อมล้อยาง จำนวน 2,000 ใบ คิดเป็นเงิน 5,000,000 บาท หรือตกใบละ 2,500 บาท แต่หากท่านลองเปิดเว็บขายของออนไลน์ ก็จะพบว่าถังขยะคุณสมบัติเดียวกันนี้มีราคาขายปลีกอยู่ราว 1,300-1,500 บาท สามารถลดงบลงได้ 40-50% และน่าจะลดได้มากกว่านี้เพราะซื้อในจำนวนมาก”
“ผมเชื่อว่าที่ผ่านมาประชาชนถูกปิดหูปิดตามามาก จนเมื่อคนไม่กล้ามีปากมีเสียง ก็ยิ่งทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องสกปรกยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้คนที่ดีมีความตั้งใจเพื่อประชาชนถูกกีดกันออกจากการเมืองไปจำนวนมาก”

จุดเปลี่ยนหลักนิติศาสตร์-ประวัติศาสตร์ : อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผ่านสายตานักกฎหมาย
โดย กองบรรณาธิการ
เป็นอีกครั้งที่คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญสั่นสะเทือนสังคมไทย เมื่อมีคำวินิจฉัยให้การชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
101 ชวนอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ผ่านสายตาสามนักกฎหมาย คือ สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ และเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เมื่อเกิดคำถามจำนวนมากถึงเรื่องอำนาจอธิปไตย ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพ จนถึงผลกระทบที่อาจตามมา
“คำวินิจฉัยศาลเป็นการยืนยันว่าในสังคมประชาธิปไตยนี้มีคุณค่าสองอย่างที่อาจขัดแย้งกันอยู่ในตัว ขณะที่ศาลยอมรับว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น แต่ก็บอกว่าการใช้เสรีภาพนี้ไปล่วงละเมิดคุณค่าสถาบันหลักของชาติ”
“ภารกิจหลักของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลกที่ควรจะเป็นอย่างหนึ่ง คือการเป็นกลไกพิทักษ์คนฝ่ายข้างน้อยหรือคนที่ไม่ได้ถืออำนาจ ภายใต้สังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยกลับไม่ได้พัฒนามาในทิศทางนี้”- ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“หากใช้สิทธิเสรีภาพแล้วทำให้เกิดความไม่สงบ ไปกระทบหรือแตะคนอื่นไม่ได้เลย ก็ต้องย้อนถามว่าอะไรคือวัตถุประสงค์ของการมีสิทธิเสรีภาพ เสรีภาพมีไว้ปกป้องเวลาคุณต้องการพูดในสิ่งที่คนมีอำนาจไม่อยากฟัง และคุณต้องมีเสรีภาพหลังการแสดงออกต่อได้”
“สิ่งที่เรียกว่า ‘นิติสงคราม’ ที่จะใช้ต่อไป มีหลายคนไปยื่นยุบพรรคหรือดำเนินคดีอาญาต่อ ตรงนี้ต้องเข้าใจว่ามาตรฐานการเอาผิดในคดีนี้ไม่ควรถูกลงโทษทางอาญา”- เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“คำอธิบายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ท้าทายแค่นักกฎหมาย แต่ท้าทายอย่างสำคัญถึงคำอธิบายด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย”
“สิ่งที่นักวิชาการควรทำคือชี้ให้เห็นว่าคำวินิจฉัยนี้มีปัญหามาก ทั้งในแง่หลักการกฎหมายและความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมือง เราไม่ควรปล่อยให้คำวินิจฉัยนี้กลายไปเป็นฐานของการเขยิบในทางการเมืองที่จะไปเอาผิดกับผู้คน”- สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รัฐบาลไทยสัญญาอะไรไว้ในเวทีโลก: สิ่งที่ควรรู้ในกลไกตรวจสอบสิทธิมนุษยชน UPR รอบ 3
ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ชวนทำความเข้าใจกลไก UPR และทบทวนการบ้านของรัฐบาลไทยก่อนจะเข้าสู่การตรวจสอบครั้งที่ 3 ซึ่งจากรายงานที่รัฐบาลไทยเตรียมไปเสนอนั้นยังสะท้อนให้เห็นมุมมองที่ไม่ตรงกันกับรายงานของยูเอ็นและรายงานสรุปขององค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ
“รัฐบาลได้ลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสูญหายเมื่อปี 2012 และถูกทวงถามถึงประเด็นนี้ตลอดบนเวทีนานาชาติ หากให้พูดง่ายๆ คือรัฐบาลเก็งข้อสอบว่าจะต้องถูกสอบถามประเด็นนี้ที่เวที UPR แน่นอน จึงรีบเร่งกระบวนกฎหมายให้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาก่อน UPR ครั้งที่ 3”
“มีข้อสังเกตหลายประเด็นจากรายงานของรัฐบาลไทย เช่น การที่รัฐบาลเลี่ยงการใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีเจตจำนงที่จะนำหลักการผู้ลี้ภัยมาใช้ในบริบทของไทย”
“ประเด็นสิทธิในการแสดงออกก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ รัฐบาลให้สิทธิในการแสดงออกแก่ประชาชน เพียงแต่ห้ามพาดพิงถึงสถาบันหลักหรือความมั่นคงของชาติ”

ฝันร้ายที่เรียกว่า Metaverse
โดย โสภณ ศุภมั่งมี
“สิ่งที่น่าสะเทือนใจและบางทีก็ดูย้อนแย้งในตัวมันเองก็คือเป้าหมายของเจ้า Metaverse เองด้วย
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กบอกว่า Metaverse ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ ‘ประสบการณ์ที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือการเชื่อมโยงกับคนอื่น’ แน่นอนว่าความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งการใช้งานที่น่าสนใจและแทบไม่มีอะไรเลยที่เป็นไปไม่ได้
แต่ในความเป็นจริงคือ มันเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้งานขยับเข้ามาใกล้กัน แต่กลับทำให้ก้าวถอยหลังและอยู่ในพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น แยกตัวออกจากสังคมมากขึ้น เมื่อไม่จำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในโลกของความเป็นจริง ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องทำ”
“เมื่อโลกเสมือนของ Metaverse นั้นทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ใครกันที่อยากจะถอดแว่นตาออกมาเพื่อเผชิญหน้าความโหดร้ายของโลกแห่งความจริง”
โสภณ ศุภมั่งมี เขียนถึง Metaverse จักรวาลใหม่ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่อาจส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในอนาคต

ละเมิดอำนาจศาล มิใช่ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์
ทำไมการตีความเรื่องละเมิดอำนาจศาลในระบบกฎหมายไทยจึงแตกต่างจากนานาอารยประเทศ?
สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนมองถึงเหตุผลที่ทำให้คดีละเมิดอำนาจศาลถูกตีความในขอบเขตที่กว้างขวางออกไปมากกว่าการขัดขวางกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล
“ฝ่ายตุลาการในสังคมไทยมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์นี้เป็นการถวายพระเกียรติที่มีมาแต่เดิม แต่ไม่ได้มีความหมายว่าฝ่ายตุลาการทำหน้าที่แทนพระองค์อย่างแท้จริง การตัดสินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ล้วนแต่เป็นความรับผิดชอบของผู้พิพากษาแต่ละคนทั้งสิ้น ไม่อาจที่จะปฏิเสธหรือโยนไปให้บุคคลอื่นเป็นที่รับผิดชอบ”

ทางออกและทางตันของปัญหาจีน-ไต้หวัน
“การรวมชาติอย่างสันติของทั้งสองฝ่าย ดูจะเป็นไปไม่ได้ และดูไม่ใช่ทางออก”
อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงปัญหาการรวมชาติจีน-ไต้หวันท่ามกลางความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ที่อาจพาความหวังในการรวมชาติไปสู่ทางที่ตันยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
“ความคิด ‘รวมชาติอย่างสันติ’ ของเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง จริงๆ แล้ว ความหมายแท้จริงคือ บีบให้ไต้หวันยอมแพ้เอง โดยไม่ต้องรบเสียเลือดเนื้อ … แนวทางสร้างสรรค์ที่สุดของการรวมชาติของชนชั้นนำในเกาะไต้หวันก็คือ การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และจีนเปลี่ยนเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยให้เหมือนกับไต้หวัน”
“สหรัฐฯ ไม่มีทางจะหยุดยุ่งและหยุดสนับสนุนไต้หวัน และยิ่งเมื่อดูสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ก็ไม่มีคนไต้หวันที่ไหนด้วยที่จะสนับสนุนแนวคิด ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ของจีน … ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่เองก็ไม่เห็นเค้าลางใดๆ ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะล่มสลายได้ ดูเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยังคงได้รับความนิยมสูง คนจีนทั่วไปดูจะกลัวประชาธิปไตยที่อาจวุ่นวายและจีนที่อาจแตกเป็นเสี่ยงๆ ยิ่งกว่ากลัวพรรคคอมมิวนิสต์จีน”
“พื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ในการรวมชาติของทั้งสองฝ่าย มองจากมุมของจีนยังหมายถึงการทำลายความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เองจะยอมได้อย่างไร ส่วนในมุมของไต้หวันก็หมายถึงการทำลายระบบการเมืองจีน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยอมได้อย่างไร”
“ทั้งหมดนี้จึงวกกลับมาที่ทางตันเช่นเดิม”
“และนี่เองจึงเป็นความจำเป็นที่ทั้งสองฝั่งของคาบสมุทรต้องมีปัญญาเพียงพอที่จะรักษาความกำกวมเช่นในปัจจุบันต่อไป คือ ไต้หวันก็ไม่ประกาศแยกประเทศ ส่วนจีนก็ไม่ประกาศรวมประเทศ”

ข้างหลังภาพของสี่แผ่นดิน นิยายแห่งยุคสมัย
“หากคุณหญิงกีรติเป็นตัวแทนความเสื่อมสลายของชนชั้นสูงในยุคปฏิวัติแล้ว แม่พลอยก็ถือเป็นประจักษ์พยานแห่งยุคทองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เขียนถึงวรรณกรรมสองเล่มที่เป็นภาพแทนอุดมการณ์อันแตกต่างคือ ‘ข้างหลังภาพ’ และ ‘สี่แผ่นดิน’
“ก่อนสี่แผ่นดินจะโด่งดังกว่าสิบปี ข้างหลังภาพเป็นอีกนิยายขายดีในยุคเฟื่องฟูของประชาธิปไตยไทย หลายคนลงความเห็นว่ามันเป็นนิยายที่สะท้อนความเสื่อมโทรมของสถาบันศักดินาผ่านตัวละครที่ชื่อ ‘หม่อมราชวงศ์กีรติ’
จุดร่วมกันของนิยายข้างหลังภาพและสี่แผ่นดินก็คือ ต่างก็มีความสัมพันธ์กับการปฏิวัติสยาม 2475 ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งคู่เป็นหนังสือขายดี และกลายเป็นวรรณกรรมที่ถูกผลิตซ้ำในยุคหลัง…”
“ข้างหลังภาพโดยศรีบูรพา เป็นตัวแทนวรรณกรรมของยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง การตีพิมพ์ลงประชาชาติตั้งแต่ปี 2479-2480 นับเป็นรุ่งอรุณสมัยแห่งการปฏิวัติสยาม”
สี่แผ่นดิน ถือกำเนิดมาจากตีพิมพ์ในสยามรัฐมาก่อนในปี 2494-2495 ด้วยฝีมือของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เกิดในตระกูลที่มีเชื้อสายเจ้า สำนวนของผู้เขียนนั้นจัดว่าแพรวพราว เสกตัวละครแต่ละตัวออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา เรื่องราวที่ยืดยาว 2 เล่มจบ ได้ให้ทั้งภาพกว้างของชีวิตแม่พลอยที่ยืนยาวถึง 4 รัชกาล…”

Thailand Policy Lab: มิติใหม่แห่งนโยบายสาธารณะ เมื่อพื้นที่ในการออกแบบนโยบายคือการฟังเสียงของ ‘ประชาชน’
ท่ามกลางโลกที่เจอความท้าทายซับซ้อนขึ้นทุกวัน หลายประเทศกำลังมองหาแนวทางการออกแบบนโยบายด้วยรูปแบบใหม่ๆ และ ‘ห้องปฏิบัติการนโยบาย’ (Policy Lab) ก็เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจและเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย…101 พาไปทำความรู้จัก Thailand Policy Lab จากความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ที่มุ่งขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของไทยให้ตอบโจทย์กระแสโลก และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการอย่างแท้จริง
“Thailand Policy Lab ตั้งขึ้นมาเพื่อหาคำตอบให้กับความท้าทายที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีความซับซ้อนและมีหลายมิติมากจนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการเดียว Thailand Policy Lab เลยตั้งขึ้นมาเพื่อนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ตอบปัญหาที่เรากำลังเจอ” – นิทัสมัย รัญเสวะ Head of Thailand Policy Lab
“ประเทศไทยยังไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า Lab ในกระบวนการออกแบบนโยบายสาธารณะ ความหมายคือเราไม่เคยทำนโยบายในลักษณะของการทดลองก่อนแล้วค่อยนำไปขยายผลใช้จริง ที่ผ่านมาอาจจะมีลักษณะเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) แต่ปัญหาคือบ้านเราไม่ค่อยยอมรับความล้มเหลว เลยไม่ได้เกิดกระบวนการในลักษณะของการทดลองจริงๆ ขณะที่ Policy Lab จะเปิดพื้นที่ให้ทดลองได้ นี่คือสิ่งที่ Policy Lab ต่างจากการทำนโยบายแบบดั้งเดิม” – สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒน์ฯ
“แนวคิดของเราคือการทำให้กระบวนการตัดสินใจและออกแบบนโยบายมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาส่งเสียงของตัวเองต่อประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีรายได้ระดับไหน ทำอาชีพอะไรก็ตาม เราเชื่อว่าทุกคนย่อมมีอะไรที่เป็นประโยชน์มาแลกเปลี่ยนร่วมมือกัน” – เรอโน เมแยร์ (Renaud Meyer) ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย
“การใช้วิธีการรับฟังเสียงจากสังคม (Social Listening) จะช่วยตีความคนในเชิงจิตวิทยาได้มากขึ้น แสดงให้เห็นได้ว่าคนรู้สึกหรือคาดหวังอะไร ซึ่งก็ต้องมาพร้อมกับค่านิยมในกระบวนการพัฒนาประเทศที่เห็นความเป็นมนุษย์ของประชาชน ต้องเคารพในความเป็นพลเมืองของเขา มองว่าเขามีสิทธิอันชอบธรรมที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แม้เขาจะมีภาษาที่แตกต่างจากเรา อาจจะไม่ได้พูดภาษาวิชาการ แต่เราก็ต้องฟังให้เข้าใจให้ได้ นี่คือหัวใจที่แท้จริงของคำว่า Policy Lab แล้วเราจะเห็นระบบราชการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีกระบวนการออกแบบนโยบายที่แคร์ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่มองประชาชนเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กน้อยของนโยบายอีกต่อไป” – สุริยนต์
“ทุกวันนี้ประชาชน องค์กร หรือรัฐบาลล้วนแต่กำลังเจอปัญหาหลายอย่างที่ซับซ้อนขึ้น เราจึงไม่อาจใช้สูตรสำเร็จเดิมๆ มาแก้ปัญหาใหม่ๆ เหล่านั้นได้อีกต่อไป แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องคิดใหม่ทำใหม่” – เรอโน

แช่แข็งทักษะศตวรรษที่ 21
“ความขัดแย้งวันนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากเรายังไม่มีทักษะศตวรรษที่ 21 รอบด้านและเพียงพอ”
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงความจำเป็นที่การศึกษาสมัยใหม่ควรสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมควรมี
“ชีวิตเด็กและเยาวชนจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองและป้องกันเสมอ โดยไม่เกี่ยวว่าเขาแสดงความคิดเห็นอะไรหรือใช้วิธีไหน เรื่องที่ตรงประเด็นคือเขาถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิต กฎหมายจึงควรแทรกแซงและปฏิบัติการ
“เรื่องนี้อยู่ในหมวดหลักการทั่วไปและเรื่องพื้นฐานเรื่องการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง เพราะเราไม่อาจจะปิดกั้นความเห็นต่างได้เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาวิธีอยู่ด้วยกันโดยไม่ฆ่ากันให้ได้
“บางครั้งการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยก็เหมือนการพัฒนาเด็กเล็ก เราจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กๆ ล้มลุกคลุกคลานโดยไม่แทรกแซง”

อบต. – การปกครองท้องถิ่นของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ถูกด้อยค่า
โดย ณัฐกร วิทิตานนท์
คอลัมน์ ‘ไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ’ เดือนนี้ ณัฐกร วิทิตานนท์ เขียนถึงที่มาและโครงสร้างของ อบต. หนึ่งในส่วนบริหารท้องถิ่นที่สำคัญของไทย ก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง
“อบต. ที่เรารู้จักทุกวันนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันกับ อบต. ในยุคแรก แต่เป็นผลจากการรอมชอมอีกครั้งสำคัญ ท่ามกลางกระแสปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์นองเลือดช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 ระหว่างนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งมีจุดยืนเรื่องการกระจายอำนาจเหมือนกันนั่นคือ เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเหมือนกรุงเทพฯ กับทางออกของกระทรวงมหาดไทยซึ่งไม่เห็นด้วย จึงเบี่ยงเบนเป้าหมายเปลี่ยนไปเป็นการรื้อฟื้น อบต. กลับมา
“ทั้งด้วยข้อจำกัดของความเป็นรัฐบาลผสม และความแข็งแกร่งของฝ่ายข้าราชการประจำ นำไปสู่การตราพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ของรัฐบาลชวน หลีกภัย ระบุให้ยกฐานะสภาตำบลที่มีรายได้เฉลี่ย 3 ปีติดต่อกัน 150,000 บาท ขึ้นเป็น อบต. มีฐานะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นและนิติบุคคล”
“อบต. ใช้โครงสร้างรูปแบบสภา-ผู้บริหารที่ในช่วงแรกๆ มีลักษณะเป็นภาคขยายของส่วนภูมิภาค และการปกครองท้องที่อันมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง และให้กำนันเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร (ต่อมาก็คือตำแหน่งนายก อบต.) ไม่ยอมให้สมาชิกประเภทที่ประชาชนเลือกเข้าไปได้แสดงบทบาทมากนัก
“ต่อมาภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนญปี 2540 รัฐธรรมนูญระบุชัดว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือฝ่ายบริหารมาจากความเห็นชอบของสภา ในช่วงนี้เอง อบต. กลับต้องเผชิญปัญหาการเมืองไร้เสถียรภาพ เนื่องจากสมาชิกที่ได้เลือกตั้งโดยมาเป็นแบบต่างคนต่างมา ไม่ได้มีกลุ่มก้อนทางการเมือง และเงื่อนไขการดำรงอยู่ของฝ่ายบริหารขึ้นอยู่เสียงในสภา ทำให้เกิดปัญหามีความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้บริหารบ่อยครั้ง…”

เมื่อปัญหาหลักของนโยบายเศรษฐกิจไทย อาจเหมือนกับปัญหาใหญ่ของแมนฯ ยูไนเต็ด
“เส้นทางอันโลดโผนของแมนฯ ยูไนเต็ดทำให้ความรู้สึกของแฟนบอลปั่นป่วนไม่ต่างกับการนั่งรถไฟเหาะตีลังกา…ในเวลาเพียงแค่ 6 เดือน แฟนบอลของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดได้ประสบพบเจอทั้งชัยชนะอันเร้าใจ ความพ่ายแพ้ที่ทำหัวใจสลาย ข่าวลือที่อาจเปลี่ยนวิถีทางของทีมครั้งใหญ่ ชัยชนะของมวลชนเหนือสโมสร และความปลื้มปีติเมื่อตำนานที่ยังมีชีวิตเดินทาง ‘กลับบ้าน’ หลังออกรอนแรมนาน 12 ปี”
“แต่เมื่อผลงานในสนามหลังเปิดฤดูกาลใหม่ไม่เป็นไปดังคาด หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า หรือแมนฯ ยูไนเต็ดจะกลายเป็นเพียง ‘เครื่องจักรที่ไร้ทิศทาง’ (directionless vehicle) ที่ผลิตได้แค่ความบันเทิง แต่ไม่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนไปแล้ว”
“มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย” ประโยคที่หลิว (โจนาธาน หลิว คอลัมนิสต์ฟุตบอลแห่งหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน) สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใกล้เคียงกับสถานการณ์ของตลาดนโยบายเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อย”
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เปรียบเทียบปัญหาที่เกิดขึ้นกับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับปัญหานโยบายเศรษฐกิจไทย ซึ่งต่างเน้นสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ แต่กลับไร้ซึ่งการเปลี่ยนแปลง
“ในช่วงเวลา 7 ปีตั้งแต่พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน เราไม่เคยตกขบวน buzzword หรือ ‘คำศัพท์ทันยุค’ เลย…สิ่งที่มาพร้อมกับคำศัพท์ใหม่ก็คือผู้คนหน้าใหม่ (หรือต่อให้เป็นหน้าเก่าก็มาด้วยความคาดหวังใหม่) การแข่งขันของแวดวงนโยบายสาธารณะเริ่มไม่ต่างจากเวทีประกวดร้องเพลง ที่เต็มไปด้วยผู้เข้าแข่งขันทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ผลัดกันเอาเพลงฝรั่งมาแปลงหรือแสดงลูกเล่นเพื่อดึงดูดแสงไฟและคนดู แต่คลื่นคำศัพท์กับขบวนคนหน้าใหม่ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?”
“แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกมีพลวัตเคลื่อนไหวต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องจริง และการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ก็ช่วยให้เราเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนขึ้น แต่สังคมไทยทุกวันนี้สนใจแก่นสารของประเด็นหรือแพ็คเกจจิงที่ห่อหุ้มมากกว่ากันแน่?”

จากเศรษฐกิจพันลึก สู่นโยบายหลักของสหรัฐอเมริกา: การเดินทางของนโยบายอุตสาหกรรมแห่งศตวรรษที่ 21
คอลัมน์ Dancing with Leviathan เดือนนี้ แบ๊งค์ งามอรุณโชติ เขียนถึงแนวคิดทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เริ่มโอบรับแนวทาง ‘รัฐพัฒนา’ และ ‘นโยบายอุตสาหกรรม’ แบบญี่ปุ่นที่รัฐมีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจ มาใช้อย่างซ่อนเร้นในยุค 1980s กระทั่งค่อยๆ ถูกนำมาใช้อย่างโจ่งแจ้งในยุคปัจจุบัน
“Fred L. Block ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาเศรษฐกิจ เสนอว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1980s มีการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนระหว่างฝ่ายที่ต้องการจะนำรูปแบบการพัฒนาแบบญี่ปุ่นเข้ามาใช้กับสหรัฐอเมริกา กับฝ่ายที่ต้องการให้รัฐทำหน้าที่น้อยลงและปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการโดยลำพัง ถึงแม้ว่า ในท้ายสุดฝ่ายสนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรมจะพ่ายแพ้ไป โดยเฉพาะหลัง Reagan ชนะการเลือกตั้งในปี 1981 แต่ฝ่ายที่เชื่อในการทำนโยบายอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ลดละความพยายาม พวกเขาซุ่มซ่อนสนับสนุนภาคเอกชนในเชิงรุกผ่านหน่วยงานราชการที่สำคัญ”
“เมื่อล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มีความท้าทายสามด้านที่ทำให้บทบาทการทำนโยบายอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ด้านหนึ่งคือการถดถอยลงของภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาเอง ด้านที่สองคือการถูกท้าทายจากคู่แข่งในตลาดโลกโดยเฉพาะจากฟากเอเชียตะวันออก นำโดยเกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน และด้านที่สามคือวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ซึ่งกดดันให้รัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง”
“Obama ทำตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ เขาเปลี่ยนวิธีบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยชักนำรัฐพัฒนาแบบเครือข่ายและนโยบายอุตสาหกรรมที่ต้องอยู่อย่างเร้นลึกหลบซ่อนนานกว่าสามทศวรรษ ให้เผยตัวออกมามีบทบาทอย่างเป็นทางการ”
“Joe Biden สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ในเดือนมกราคม 2021 หลังจากนั้นเขาได้ตั้ง Brian Deese เป็นประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic Council) การกลับมาของ Deese ในรัฐบาล Biden คือการสานต่อภารกิจขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมที่ยังไม่เสร็จสิ้น หลักหมายสำคัญคือถ้อยแถลงของเขาต่อ Atlantic Council ในเดือนมิถุนายน 2021 โดยมีวรรคทองดังนี้:
‘ปัจจุบัน วิธีการของทั้งคู่แข่งและพันธมิตรเราได้เปลี่ยนไปแล้ว เราควรตาสว่างและจ้องมองอย่างชัดเจนเสียที แนวคิดเรื่องตลาดการค้าระหว่างประเทศที่เปิดกว้างและเสรีได้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า จีนและประเทศอื่นๆ กำลังเล่นบนกติกาซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิง การลงทุนภาครัฐในเชิงกลยุทธ์เพื่อคุ้มครองและหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เติบโต คือสัจจะของการพัฒนาเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 เราไม่สามารถจะแค่เบือนหน้าหนีและหวังว่ามันจะหายไปซักวันหนึ่ง’”

Phantasmapolis: เมืองผีกับกระต่ายบนดวงจันทร์
“ปลายปีที่แล้ว เพื่อนภัณฑารักษ์ชาวไต้หวันเชื้อสายญี่ปุ่นมาชวนผู้เขียนไปทำงานด้วยกันในเทศกาลศิลปะ Asian Art Biennial ครั้งที่ 8 ที่พิพิธภัณฑ์ National Taiwan Museum of Fine Arts (NTMoFA) ที่เมืองไถจง ในธีมไซไฟ-โลกอนาคต (แบบเอเชีย) โดยชื่อธีมว่า Phantasmapolis”
“นี่เป็นคำชวนที่เซอไพรส์อย่างมากค่ะ เพราะ Futurism หรือ ‘ไซไฟ’ ไม่เคยอยู่ในวงโคจรการทำงานของผู้เขียนเลย ในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่วุ่นวายอยู่กับเรื่องของ ‘อดีต’ หรือ ‘อดีตที่ปรากฏในปัจจุบัน’ ในงานศิลปะ การทำงานทั้งหมดเป็นการมองย้อนหลังมากกว่าจะมองไปข้างหน้า แต่ถึงแม้ว่าจะไม่เคยทำงานเกี่ยวกับอนาคต ไซไฟ หรืออะไรทำนองนั้นเลย ผู้เขียนก็ตอบรับคำชวนนี้ไปด้วยความคิดที่ว่า ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่จะออกจากอาณาเขตอันคุ้นเคยเพื่อไปเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่”
ธนาวิ โชติประดิษฐ เล่าประสบการณ์การทำงานภัณฑารักษ์ในเทศกาลศิลปะธีมไซไฟ-โลกอนาคต ‘Phantamapolis’ ที่ประเทศไต้หวัน

ว่าด้วยความร้ายในโลกวิชาการ
คอลัมน์ ‘ช่วยด้วยเพื่อนฉันเป็นฝ่ายซ้าย’ ตอนใหม่ พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง เขียนถึง ออเนอร์ เพื่อนฝ่ายซ้ายผู้โดนวาจาเผ็ดร้อนร้ายกาจจากนักวิชาการในดวงใจทำร้ายเสียเปล่าๆ หลังจากเขียนบทวิจารณ์หนังสือส่งวารสารด้านปรัชญาการเมืองชื่อดัง
“ครั้งหนึ่งผู้เขียนเจอเขา [ออเนอร์] สภาพคล้ายศพนอนอยู่บนโซฟาในห้องสมุดโดยมีหนังสือเล่มหนาของนักวิชาการฝ่ายซ้ายชื่อดังอักษรย่อ J.D. เขาอธิบายว่ากำลังเขียนบทวิจารณ์หนังสือให้กับวารสาร Radical Philosophy ซึ่งเป็นวารสารวิชาการชื่อดังวารสารหนึ่งทางด้านปรัชญาการเมือง เขาตามอ่านงานของนักวิชาการผู้นี้มาตั้งแต่ปริญญาตรี จึงอยากเขียนงานชิ้นนี้ออกมาให้ดีที่สุด”
“… พวกเราพาเขากินเบียร์เป็นการฉลองเย็นวันที่เขาตัดสินใจกดส่งตัวต้นฉบับ ด้วยความเป็นแฟนบอย ออเนอร์ส่งอีเมลแบบเขินๆ ไปหานักวิชาการผู้เขียนหนังสือท่านดังกล่าวว่าเขาเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่กำลังจะตีพิมพ์บทวิจารณ์ (แปลเป็นไทยว่า ขอฝากไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ) หากมีข้อติชมประการใดก็ขอให้บอกเขาได้เลย
“ระหว่างดื่มเบียร์กันอยู่ออเนอร์ก็เช็กอีเมลไปด้วยเผื่อว่านักวิชาการท่านนั้นจะเขียนอีเมลกลับมา พวกเราคิดว่านักวิชาการท่านนั้นอาจจะยุ่งจึงไม่ได้เขียนอีเมลตอบกลับ ออเนอร์ไม่ได้ติดใจอะไร ระหว่างที่พวกเรานั่งคุยกันเรื่องอื่น ออเนอร์หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กทวิตเตอร์เล่นๆ ทันใดนั้นหน้าของเขาก็เปลี่ยนสี
“ทุกคนถามว่าเกิดอะไรขึ้น ออเนอร์นิ่งไปพักหนึ่งก่อนจะหยิบโทรศัพท์มาให้พวกเราดู ปรากฏว่านักวิชาการท่านนั้นเพิ่งทวีตข้อความว่า “โอ้ ฉันช่างเป็นคนขี้ขลาด ฉันไม่กล้าแม้แต่จะเขียนบทความวิจารณ์หนังสือที่ฉันอ่านไม่แตกและไม่จบ””
“ผู้เขียนเองรู้สึกค่อนข้างหลอนกับประสบการณ์ทางอ้อมของเพื่อนทั้งสองคนจึงหยิบเรื่องนี้ไปถามที่ปรึกษา”
“เอียนผู้ซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์ในแวดวงปรัชญาแต่เขียนผลงานด้านประวัติศาสตร์ทางการเมืองมากกว่าเลิกคิ้วพร้อมให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “ผมว่าไม่จำเป็นนะนั่น”
“… เอียนทำหน้าเหมือนลังเลและคิดจะพูดอะไรต่อ “ปกติผมไม่ค่อยชอบ ‘สั่งสอน’ อะไรเท่าไหร่หรอกนะ …
คำวิจารณ์ทางวิชาการมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เขียนพัฒนางานชิ้นนั้นๆ มันเป็นคำวิจารณ์ที่เน้นการสร้างสรรค์ไม่ใช่การทำลาย (constructive, not destructive) เพื่อนร่วมงานและการรักษาบรรยากาศที่ดีของชุมชนทางวิชาการจำเป็นต่อการสร้างองค์ความรู้ และนั่นเป็นเหตุผลที่พวกเราเลือกมาเป็นนักวิชาการไม่ใช่หรือ คนพวกนั้นที่คุณเล่ามาอาจเห็นไม่ตรงกับผมนัก””
รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนพฤศจิกายน 2564
ชุมชนตึกร้าง 95/1 หลากชีวิตบนซากคอนกรีต
โดย กองบรรณาธิการ
บริเวณท้ายซอยจรัญสนิทวงศ์ 95/1 มีคนจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่บนตึกร้าง ส่วนหนึ่งเคยถูกไล่ที่จากการสร้างรางรถไฟ อีกส่วนหนึ่งคือคนไร้บ้านที่หาที่อยู่อาศัย มีกระจายอยู่ทั้งบนตึกและสร้างบ้านเล็กๆ อยู่ติดพื้น รวมเป็นชุมชนกว่า 140 หลังคาเรือน พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ชุมชนตึกร้าง 95/1’
ก่อนหน้านี้ ประเด็นเรื่องคนไร้บ้านถูกพูดถึงในหลายมิติ เรื่องการจัดสรรที่อยู่อาศัยก็เป็นหนึ่งในนั้น หลายฝ่ายเสนอว่าจำนวนพื้นที่รกร้างที่ยังไม่มีการใช้สอยจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร อาจเปลี่ยนให้เป็นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านได้ โดยให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการประสานกับภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ
101 ลงพื้นที่สำรวจชุมชนตึกร้าง 95/1 และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานประเด็นคนไร้บ้าน
สำหรับหลายคน การมีคอนกรีตเปล่าเปลือยคือที่หลบฝนที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ พวกเขาต้องการอะไร และแนวคิดเรื่องการจัดการคนไร้บ้านแบบไหนที่ควรรับฟัง
101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.8 : ฝุ่นตลบกลบตำแหน่ง ‘แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.-ปธ.วิปรัฐบาล’
– พลังประชารัฐฝุ่นตลบต่อเนื่อง จากการถอนตัวแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เหตุผลแท้จริงคืออะไร – เกมชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ใครมาแรง
– จับตาตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล หลังศาลฎีการับเรื่องคดีฟุตซอลของวิรัช รัตนเศรษฐ จึงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เปิดประชุมนัดแรกไร้ประธานวิปรัฐบาลทำสภาล่ม
– มองท่าทีแต่ละพรรคการเมืองกับประเด็นแก้ 112 เมื่อเพื่อไทยออกตัวชูประเด็น 112 พร้อมสัญญาณเบรกทันทีจากทักษิณ ชินวัตร ตามมาด้วยข้อถกเถียงถึงการผลักดันเรื่องนี้ในสภาบนจุดยืนที่แตกต่างกัน
ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ และ สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world
101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.9 : การเมืองไทยหลังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ
การเมืองไทยต้องสะเทือนอีกครั้งจากคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ คือการล้มล้างการปกครอง ทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ
วันเดียวกันนั้น ตัวแทนประเทศไทยชี้แจงเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกลไก UPR ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หลายชาติสมาชิกแสดงความกังวลต่อการใช้ ม.112 และการขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง
อีกด้านในแวดวงวิชาการ คดีฟ้องหนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ส่งผลสะเทือนต่อเสรีภาพทางวิชาการและเกิดคำถามต่อการทำหน้าที่ทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชวนจับตาพรรคร่วมรัฐบาลนัดกินข้าวกระชับมิตร 26 พ.ย. เคลียร์ใจ เตรียมชูประยุทธ์ลุยเลือกตั้งครั้งหน้า ดูดบิ๊กเนมต่อแถวเข้าพลังประชารัฐ
ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world
101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.10 : เอฟเฟกต์คว่ำร่าง รธน. เอฟเฟกต์ระบอบประยุทธ์
หลังรัฐสภามีมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับรื้อระบอบประยุทธ์’ ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอ แม้ไม่เกินคาดหมาย แต่เอฟเฟกต์ที่ตามมาทำให้เห็นท่าทีของแต่ละพรรคการเมือง จนถึงท่าทีของ ส.ว. นำไปสู่คำถามต่อ ‘ระบอบประยุทธ์’
ชวนสำรวจผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายแพ่งฯ ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และให้ออกกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
มองแนวทางแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบทหาร ผักแพง-สั่งปลูกผักชีในค่ายทหาร, รถบรรทุกประท้วง-เตรียมใช้รถทหารขนส่งสินค้าแทน
ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ และสมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world
101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.11 : จับสัญญาณการเมือง จากเลือกตั้งสนามเล็ก สู่สนามใหญ่
หลังราชกิจจาฯ ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เสียงปี่กลองสู่การเลือกตั้งก็ดังขึ้น แต่ละพรรคการเมืองเริ่มจัดทีมเตรียมรับศึกเลือกตั้ง โดยที่ประชาชนคนไทยยังไม่รู้ว่าจะมีเลือกตั้งใหญ่จริงๆ เมื่อไหร่
ชวนคุยเรื่องเลือกตั้ง อบต. ในรอบ 8 ปี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด แต่ได้รับความสนใจน้อยที่สุด
ชวนคิดเรื่องการควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC ภายใต้คำถามสำคัญที่สังคมควรคิดร่วมกันว่าผู้บริโภคอยู่ตรงไหนในสมการนี้
ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world
101 One-on-One Ep.244 พรุ่งนี้เพื่อไทย…พรุ่งนี้การเมืองไทย กับ ภูมิธรรม เวชยชัย
ทันทีที่พรรคเพื่อไทยปรับยุทธศาสตร์ขยับใหญ่ การเมืองไทยก็กลับมาเข้มข้นและเต็มไปด้วยสีสันทันที จากหัวหน้าพรรคคนใหม่ – นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ถึงที่ปรึกษาฯ คนใหม่ – แพทองธาร ชินวัตร ก้าวต่อไปของเพื่อไทยน่าจับตามองยิ่ง
101 ชวน ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สนทนาว่าด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ของพรรค เพื่อไทยอ่านการเมืองอย่างไร การปรับตัวรอบนี้ตอบโจทย์ไหน และอนาคตของเพื่อไทยและการเมืองไทยจะเดินอย่างไร
101 One-on-One Ep.245 เจาะประเด็นสิ่งแวดล้อม ‘COP26’ เมื่อโลกไม่มีใบที่สอง กับ เพชร มโนปวิตร
“นี่คือสัญญาณเตือนสีแดง (Code Red) สำหรับมนุษยชาติ” คือคำเตือนสุดท้ายจากองค์การสหประชาชาติและบรรดานักวิทยาศาสตร์เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ถึงอุณหภูมิโลกที่กำลังทะยานขึ้นเกินขีดจำกัด อันจะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อโลก หากไม่รีบช่วยกันแก้ไขเสียแต่ ‘ตอนนี้’ ทุกสายตาทั่วโลกจึงต่างจับจ้องไปที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ด้วยความหวังว่าผู้นำโลกจะบรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาร่วมกันก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
101 ชวน ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef สนทนาถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ใกล้เดินถึงจุดที่ไม่อาจแก้ไขได้ พร้อมเจาะลึกผลการประชุม COP26 ว่าเพียงพอหรือล้มเหลวที่จะพามนุษยชาติให้รอดพ้นจากปัญหานี้
101 One-on-One Ep.246 2 ปีประเทศไทยกับวิกฤตโควิด-19 กับ อนุทิน ชาญวีรกูล
ในห้วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยได้ชื่อว่าทั้ง ‘รับมือได้ดีที่สุด’ และ ‘ล้มเหลวที่สุด’ และในฐานะหนึ่งในผู้รับผิดรับชอบโดยตรง ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้รับทั้ง ‘ดอกไม้’ และ ‘ก้อนหิน’
ตลอดเวลาในวิกฤต ‘อนุทิน’ เป็นข่าวในหน้าสื่อแทบจะตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่มักเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า น้อยครั้งที่จะมีโอกาสได้พูดคุยและสื่อสารกับสาธารณะโดยถอยออกมามองภาพใหญ่
ในวันที่ประเทศไทยดูคล้ายจะตั้งหลักรับมือวิกฤตสุขภาพได้ 101 ชวนอนุทิน ชาญวีรกูล ถอดบทเรียนการรับมือวิกฤตโควิด-19 ในมุมมองของผู้กำหนดนโยบายโดยตรง ประเทศไทยสำเร็จหรือล้มเหลวในการรับมือวิกฤต อะไรคือสิ่งที่ทำได้ดีกว่าคาด อะไรคือสิ่งที่รับมือได้แย่กว่าที่ควร และโควิด-19 จะส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไร
101 One-on-One Ep.247 Re-Solution ก้าวต่อไปรื้อระบอบประยุทธ์ กับ พริษฐ์ วัชรสินธุ
การโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่นำเสนอโดยกลุ่ม ‘Re-Solution’ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับที่สองที่สภาฯ ปฏิเสธ ทำให้ทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองตีบตันมากไปกว่าเดิม
บทสนทนา การเจรจา และการประนีประนอมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปอย่างสันติ ดูจะไม่ใช่ทางเลือกหลักของชนชั้นนำที่กุมอำนาจรัฐไทยในปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้การเมืองภาคประชาชนและขบวนการประชาธิปไตยจะก้าวต่อไปอย่างไร
101 ชวน ‘ไอติม’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution สนทนาว่าด้วยก้าวต่อไปรื้อระบอบประยุทธ์และก้าวต่อไปการเมืองไทย
101 One-on-One Ep.248 วิเคราะห์ศึกเลือกตั้ง อบต. – อ่านภาพใหญ่การเมืองไทย กับ ณัฐกร วิทิตานนท์
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นับเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ ‘ใกล้ชิด’ ประชาชนมากที่สุด แต่กระแสการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กว่า 5,300 แห่งทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 กลับค่อนข้างเงียบเหงา
แต่ความเงียบไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากถูกแช่แข็งมา 8 ปี ความเคลื่อนไหวและผลการเลือกตั้งย่อมสะท้อนพลวัตในท้องถิ่นและโครงสร้างอำนาจในการเมืองใหญ่ได้อย่างน่าสนใจ
101 ชวน ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิเคราะห์การเลือกตั้ง อบต. เพื่ออ่านภาพใหญ่การเมืองไทย
Constitutional Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา #9 “อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ: ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมักส่งผลต่อสถานะของศาลรัฐธรรมนูญเองและการเมืองภาพใหญ่อยู่เสมอ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/254 ที่ตัดสินให้ข้อเรียกร้อง ‘การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 10 ข้อ’ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จะเป็นคำตัดสินที่ส่งผลสะเทือนยิ่งกว่าครั้งไหนๆ
โครงการรัฐธรรมนูญสนทนาชวนอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไทย และผลกระทบต่อตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการจัดวางโครงสร้างอำนาจทางการเมืองไทยในภาพใหญ่
วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 19.30-21.30 น.
ร่วมเสวนาโดย
(1) สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(2) ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(3) เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์