fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤษภาคม 2565

Spotlight ประจำเดือนพฤษภาคม 2565

Bangkok-บางคอก: กรุงเทพฯ เมือง ‘คน’ สร้าง

ภายใต้คำขวัญ ‘กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง…’ ที่เราได้ยินกันจนคุ้นหู ดูเหมือนว่าภาพความเป็นจริงของ ‘กรุงเทพฯ’ ที่เราเห็นอยู่ทุกวันจะไม่ใช่แบบนั้น

ภาพถนน-ทางเท้าที่ผุพัง รถติดยาวเป็นกิโล รถสาธารณะที่เข้าถึงยาก ตรอกซอกซอยลึกยามค่ำคืนที่เปลี่ยวอันตราย น้ำ ‘รอการระบาย’ หลังฝนถล่ม ท้องฟ้าที่ปกคลุมด้วยฝุ่นพิษ ค่าครองชีพที่แพงติดอันดับโลกสวนกับรายได้ และหลายพื้นที่ที่ผู้คนต้องอยู่อย่างแออัดเสมือนอยู่ใน ‘คอก’

ท่ามกลางหลากหลายปัญหาที่คนเมืองหลวงต้องจมปลักกับมันมายาวนานทุกเช้าค่ำ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จึงเป็นความหวัง ‘อีกครั้ง’ ของชาวกรุงเทพฯ ที่จะได้กำหนดอนาคตและเลือกทิศทางของมหานครแห่งนี้ด้วยตัวเอง หลังจากที่ไม่ได้ใช้เสียงตัวเองเลือกผู้ว่าฯ มานานถึง 9 ปีหลังรัฐประหาร 2557

101 ติดตามสารพัดประเด็นแห่งมหานครกรุงเทพฯ ไล่เรียงตั้งแต่สัตว์ในสวนสาธารณะไปจนถึงตึกระฟ้า พูดคุยกับบรรดาผู้ลงชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่าฯ เจาะลึกนโยบาย หาทางออกจากปัญหาที่มีอยู่นับไม่ถ้วน พร้อมฟังเสียงสะท้อนของชาวกรุงและผู้เชี่ยวชาญจากหลากแวดวงถึงอนาคตกรุงเทพฯ ที่อยากให้เป็น เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์กรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองคนสร้าง’ อย่างแท้จริง ไม่ใช่เมือง ‘เทพสร้าง’ ที่อัดคนอยู่ในคอกอีกต่อไป

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤษภาคม 2565

‘ไปให้พ้นจากความยากจน’ บันทึกชีวิตผู้หญิงอีสานในปารีสที่ฝันถึงความเท่าเทียม

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ต่อให้ต้องอยู่ที่นี่คนเดียวก็ยังดีกว่ากลับไปอยู่เมืองไทย”

เป็นคำยืนยันของ ‘อร’ แรงงานไทยจากครอบครัวชาวนา ผู้พลัดอีสานมาอยู่ปารีสนาน 20 ปี โดยเริ่มต้นจากการเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทำงานหนัก-เสี่ยง จนได้สัญชาติฝรั่งเศสและก้าวสู่การเป็นเจ้าของกิจการ ทั้งหมดนี้เพื่อการต่อสู้กับความยากจนและแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งเธอหาไม่ได้ในไทย

ชีวิตในต่างประเทศของเธอนั้นรสชาติขมปร่า แต่เธอยืนยันหลายครั้งว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความลำบาก หรือจะพูดให้ถูกต้องคือไม่ได้ลำบากไปกว่าชีวิตในไทย

“เราไม่ได้มองว่ามันคือความลำบาก เราเป็นคนต่างจังหวัด คนชนบท ตอนเด็กๆ ก็นอนตามพื้นเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนอื่นอาจเป็นเรื่องลำบาก บางคนก็ร้องไห้ เขารับไม่ได้ อย่างที่ไปเก็บขยะกิน เพื่อนเราที่ไปด้วยกันเขาอาย ไม่กล้าทำ แต่เราไม่อาย เพราะถ้าไม่ทำก็ต้องไปซื้อกิน”

เรื่องที่หนักหนาสำหรับอรคือการอยู่แบบผิดกฎหมายและการต้องหาเงินดูแลทุกคนในครอบครัวที่ไทย อุบัติเหตุในชีวิตหลายครั้งทำให้เส้นทางการทำงานของเธอพลิกผันจากช่างเย็บผ้า หมอนวดแผนไทย สู่การทำงานนวดเปลื้องผ้า เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ และมาเป็นเจ้าของกิจการในที่สุด

“กลับไปก็ไม่รู้จะทำอะไรกิน ที่เมืองไทยเราเป็นคนจน ต้องอยู่ในสังคมอีกแบบ ทำงานในกรุงเทพฯ ก็โดนดูถูก โดนเหยียด แต่ที่ปารีสไม่มีแบบนั้นเลย ทุกคนเท่ากันหมด คนไทยจบปริญญาตรี-ปริญญาโทมาทำงานที่นี่ทุกคนเท่ากันหมด คุณไม่ได้เหนือกว่าเรา”

“เราการศึกษาน้อย สู้คนอื่นไม่ได้ เราไม่อยากให้ลูกเป็นเหมือนเรา ลูกเราต้องมีการศึกษา ถ้าเรากลับไปอยู่ไทย ที่บ้านเราทำนา ก็ไม่มีเงินพอส่งลูกเข้ามหา’ลัย”

“ถามว่าทำไมเราต้องรับผิดชอบพี่น้อง เพราะเป็นเราคนเดียวที่มีโอกาสมาอยู่ที่นี่…จริงๆ แล้วรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่เราก็ไม่มีรัฐสวัสดิการ ฉะนั้นมีเราคนเดียวที่สามารถดึงญาติพี่น้องขึ้นมาให้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าอดีตได้”

เกาหลีใต้ยุคมุน แช-อิน: 5 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง?

โดย เสกสรร อานันทศิริเกียรติ

การเลือกตั้งเมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมาทำให้เกาหลีใต้ได้ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ‘ยุน ซ็อก-ย็อล’ ซึ่งเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม เวลา 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)

ในช่วงรณรงค์หาเสียง หนึ่งในหลายสโลแกนที่ยุนประกาศคือ “เปลี่ยนรัฐบาล (정부를 바꾸다)” ซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้ยุนได้รับชัยชนะ แล้วอะไรที่ทำให้คนเกาหลีเทคะแนนให้ยุน จนได้เปลี่ยนรัฐบาลสมใจ? รัฐบาลก่อนหน้านี้ของประธานาธิบดีมุน แช-อินมีปัญหาอะไร? นโยบายหรือประเด็นอะไรที่ไม่ถูกใจคนเกาหลี? ทั้งที่สถิติจาก Korea Institute of America ระบุว่า ท่านมุนคือประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ได้รับคะแนนนิยม (approval rating) สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ทั้งตอนเข้าสู่ตำแหน่งและตอนพ้นจากตำแหน่ง

เสกสรร อานันทศิริเกียรติ สำรวจระยะเวลา 5 ปีของเกาหลีใต้ (2017-2022) ในยุคมุน แช-อิน จากประสบการณ์ตรงของเสกสรรที่เคยอยู่ในเกาหลีใต้ช่วง 2 ปีแรกของประธานาธิบดีมุน ชวนไปมองว่ายุคของมุนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงอย่างไร ในด้านใด บริบทอะไรที่นำพาให้สุภาพบุรุษท่านนี้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของสาธารณรัฐแห่งนี้ และอะไรคือจุดพลิกผันที่ทำให้คนเกาหลีใต้หันไปเลือกอีกขั้วการเมืองในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

Investigative: ฉีกหน้ากาก IO เลือกตั้งผู้ว่าฯ แหวกลึกถึง IO การเมืองระดับชาติ

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ 22 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นเดิมพันอันสูงยิ่งในทางการเมือง เราจึงได้เห็นแต่ละกลุ่มการเมืองต่างระดมสรรพกำลังอย่างเต็มกำลังทุกวิถีทางเพื่อคว้าชัยชนะ หนึ่งในนั้นคือการใช้กองกำลังไซเบอร์หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ไอโอ’ (IO)

101 สืบสวนความเคลื่อนไหวของไอโอบนแพลตฟอร์ม Twitter ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ พบ 3 เครือข่าย ซึ่งมีจำนวนบัญชีรวมทั้งสิ้น 447 บัญชี ที่มีพฤติกรรมส่อว่ากำลังร่วมมือกับบัญชีอื่นๆ ทำปฏิบัติข้อมูลข่าวสารเพื่อสนับสนุนหรือโจมตีผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ บางคนอย่างผิดสังเกต และเมื่อสืบค้นลึกลงไปอีก ยังพบว่าหลายบัญชีเชื่อมโยงกับเครือข่ายปฏิบัติการไอโอที่ต้องสงสัยว่ากำลังเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง รวมถึงบุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการตำรวจท่านหนึ่ง

“ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของทั้ง 382 บัญชีทวิตเตอร์ หนึ่งความเคลื่อนไหวที่สะดุดตาที่สุดคือหลายบัญชีในกลุ่มนี้โควตทวีต รวมถึงรีพลายจากทวีตหนึ่ง ซึ่งระบุข้อความว่า “กระจ่าง #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส” พร้อมแนบภาพประกอบซึ่งแคป (capture) มาจากกล่องความคิดเห็นหนึ่งบนเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ Pantip.com โดยเป็นภาพการโยงใยสายสัมพันธ์ระหว่างอัศวินและ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า”

“101 สืบค้นต่อเข้าไปยังแฮชแท็ก #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส จนค้นพบเครือข่ายที่ต้องสงสัยว่ามีพฤติกรรม CIB อีกเครือข่ายหนึ่ง ซึ่งมีอย่างน้อย 51 บัญชีที่กำลังเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อหวังผลในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมื่อตรวจสอบโปรไฟล์ของทั้ง 51 บัญชีนี้ก็พบว่าเกือบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาในวันเดียวกัน คือวันที่ 9 เมษายน 2022 นั่นแปลว่าเพิ่งเริ่มปฏิบัติการได้เดือนเศษ และแต่ละบัญชียังก็ยังฟอลโลว์กันเองอีกด้วย”

ก่อนหน้าการเคลื่อนไหวในแฮชแท็ก #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส ได้ 2 วัน คือวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา 101 ก็สังเกตพบอีกความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของ 51 บัญชีกลุ่มนี้ โดยเป็นทวีตเชียร์ผู้สมัครหมายเลข 3 อย่างสกลธี ซึ่งเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน โดยมีข้อความแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือล้วนติดแฮชแท็ก #สกลธีเบอร์3 #ผู้ว่ากรุงเทพ และ #ทำทันธี

“ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือบนหน้ากิจกรรมของของกลุ่มนี้ไม่ได้ปรากฏเพียงเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาในเชิงสนับสนุนบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับชาติอยู่ 2 คน คือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา”

“จากการสำรวจความเคลื่อนไหวของการทวีตเนื้อหาเกี่ยวกับประวิตรทั้งหมด 101 ยังสามารถค้นพบจนเจอเพิ่มอีกอย่างน้อย 14 บัญชีที่คล้ายว่ากำลังเคลื่อนไหวร่วมกันในการส่งเสริมภาพลักษณ์ประวิตร พร้อมๆ ไปกับที่พบความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ สอดแทรกเข้ามา แต่มีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ต่างไปจากกลุ่ม 51 บัญชีก่อนหน้า”

“ทวีตที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวิตรที่ปรากฏบนหน้ากิจกรรมของ 14 บัญชีกลุ่มนี้ มักเป็นทวีตเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ โดยมักจะตามด้วยแฮชแท็ก เช่น #ลุงป้อมใจดี #รักลุงป้อม และ #สิ่งที่ลุงป้อมทำ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าบัญชีเหล่านี้ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อโปรโมตประวิตรโดยเฉพาะเจาะจงเพียงคนเดียว เพราะบนหน้ากิจกรรมยังเต็มไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับภารกิจและผลงานของบรรดารัฐมนตรีและนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ โดยบางทวีตมีการติดแฮชแท็กอย่าง #พรรคพลังประชารัฐ #พลังประชารัฐ #พปชร และ #พลังประชารัฐเพื่อประชาชน”

“101 ยังพบว่า ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา บัญชีเหล่านี้ทยอยทวีตเนื้อหาโปรโมตหนึ่งในผู้สมัครอย่างอัศวิน ซึ่งมีทั้งเรื่องการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนระหว่างหาเสียง ผลงานในสมัยเป็นผู้ว่าฯ รวมถึงโควตคำพูดเด็ดจากการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว โดยมีข้อสังเกตคือหลายทวีตใช้ภาพประกอบและข้อความซ้ำกัน แม้จะทวีตคนละวันและเวลากันก็ตาม”

“เรายังไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่าใครหรือองค์กรไหนที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการไอโอในเครือข่ายที่เราค้นพบเหล่านี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นคนไหนหรือองค์กรไหนก็ตาม ก็เป็นที่น่าฉุกคิดว่าการลงทุนของพวกเขาครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่ เพราะสังเกตได้ว่าความเคลื่อนไหวของพวกเขาแทบจะไม่สามารถถูกส่งออกไปถึงผู้คนนอกเครือข่าย เนื้อหาส่วนมากแทบจะไม่ได้รับการโต้ตอบใดๆ หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการโต้ตอบระหว่างกันของบัญชีเครือข่ายเดียวกันเองเท่านั้น และที่สำคัญ รูปแบบการทำงานที่ดู ‘สุกเอาเผากิน’ ยังทำให้บัญชีเหล่านั้นถูกคนทั่วไปจับสังเกตว่าเป็นบัญชีไอโอได้อย่างง่ายดาย จึงยากที่เชื่อได้ว่าความเห็นพวกนั้นจะโน้มน้าวเปลี่ยนแปลงใจคนได้จริง”

*มีรายชื่อบัญชีต้องสงสัยทั้งหมด 447 บัญชี ให้ดาวน์โหลดได้ที่ท้ายบทความ

 

อยู่เองได้ โตเองเป็น ตอนที่ 1

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงหนังสือ ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น’ และชวนคิดถึงการเลี้ยงลูกให้เหมาะสมกับพัฒนาการเด็ก

“ออโตโนมี (autonomy) เป็นคำจากทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพของอีริกสัน เป็นบันไดขั้นที่ 2 ใน 8 ขั้นของพัฒนาการมนุษย์ ความว่าเมื่อเด็ก 2-3 ขวบมีกล้ามเนื้อแขนขาที่แข็งแรง เขาจะลงมือปฏิบัติการโดย อัต-ตะ-โน-มัติ เพราะนี่คือชั้นพัฒนาการ ออ-โต-โน-มี ผมเขียนเสมอว่า ‘เมื่อหนูทำได้ หนูจะทำ’ และแปลชั้นนี้ว่าคือชั้น ‘หนูทำได้’

“ในทางตรงข้ามถ้าเด็กทำไม่ได้ ไม่ได้ทำ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ โดยเฉพาะประการหลังคือห้ามปา ห้ามปีน ห้ามวิ่ง ห้ามกระโดด ไปจนถึงห้ามเด็ดดอกไม้ เด็กจะสงสัยในพลังความสามารถของตนเอง เรียกว่า doubt – ความแคลงใจ ผลคือเด็กพัฒนาผ่านขั้นตอนหนูทำได้นี้ช้า หรือหยุดพัฒนา
“แล้วจะกลายเป็นรูปแบบหรือแม่พิมพ์ที่เขาจะใช้ไปตลอดชีวิตที่เหลือ นั่นคือ ‘สงสัยในความสามารถของตนเอง’ แปลอีกทีว่าอยู่เองไม่ได้ โตเองไม่เป็น”

‘มรณสักขีแห่งสองคอน’ กับความหวาดระแวงของรัฐไทย

โดย นิติ ภวัครพันธุ์

นิติ ภวัครพันธุ์ เขียนถึง ‘มรณสักขีแห่งสองคอน’ เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกชาวไทยเจ็ดคนเสียชีวิต ที่ไม่เพียงบอกเล่าถึงความเชื่อมั่นในศาสนา หากแต่ยังสะท้อนถึงการกดทับของรัฐไทยที่มีต่อความเชื่อของประชาชนด้วย

“‘มรณสักขีแห่งสองคอน’ เมื่อคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกชาวไทยจำนวนเจ็ดคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต ณ บ้านสองคอนในเขตจังหวัดมุกดาหาร เนื่องจากไม่ยอมเลิกนับถือศาสนาคริสต์ หลังจากนั้น ผู้ตายทั้งเจ็ดได้รับการยกย่องจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าเป็น ‘มรณสักขี’ และได้รับ ‘การประกาศเป็นบุญราศี’”

“ความเกลียดชังฝรั่งเศสและศาสนาคริสต์ส่งผลให้คนท้องถิ่น ผู้เป็นคริสต์ศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ตามชุมชนต่างๆ ริมลำน้ำโขงกลายเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงทางการเมือง”

“แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือสายตาของรัฐไทย ศาสนาคริสต์เป็น ‘คู่แข่ง’ ที่น่ากลัว เนื่องจากสามารถดึงดูดผู้คนในประเทศไทยให้ ‘เข้ารีต’ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง ทั้งคนตามชายแดนและ ‘คนชายขอบ’ ดังจะเห็นได้จากกรณีของชาวบ้านบ้านคำเกิ้มและบ้านหนองแสงที่เลื่อมใสศรัทธาในคริสต์ศาสนาเพราะบาทหลวงซาเวียร์ เกโกสามารถปราบ/ขับไล่ผีออกไปจากชุมชน และ ‘รักษาคนป่วยจนหายด้วยยาสมัยใหม่และแนะนำการใช้ชีวิตที่ถูกสุขอนามัย’”

“กรณีของมรณสักขีแห่งสองคอนเป็นตัวอย่างที่ดี ที่สะท้อนถึงความโกรธเคือง ความคับแค้นใจ – หรือ ‘อุกอั่ง’ ในภาษาอีสาน – ของคนท้องถิ่นต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐไทย เป็นความคับแค้นใจที่ทำให้คนท้องถิ่นไม่เกรงกลัวสิ่งใดเลย แม้แต่ความตาย”

 เลือกตั้งฟิลิปปินส์ 2022: การจ่อคืนอำนาจของมาร์กอส ในบ้านเมืองที่โหยหายุคเผด็จการ

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“การเลือกตั้งผู้นำฟิลิปปินส์กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคมนี้ หากผลเลือกตั้งเป็นไปตามโพล ตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กำลังจะตกอยู่ในมือคนในนามสกุลมาร์กอสอีกครั้ง ด้วยชายที่มีชื่อว่า ‘เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์’ (Ferdinand Marcos Jr.) หรือบงบง มาร์กอส (Bongbong Marcos) ลูกชายของอดีตผู้นำเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคอร์รัปชันมากมาย”

“ความทรงจำของคนฟิลิปปินส์ที่มีต่อระบบมาร์กอสไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ขณะที่จำนวนมากมองว่ามาร์กอสนำความพินาศย่อยยับมาสู่ประเทศ คนอีกกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะคนจนและคนชนบทที่ได้ประโยชน์จากโครงการทางเศรษฐกิจต่างๆ ในยุคสมัยมาร์กอส มองว่านั่นคือยุคทอง และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ยินดีด้วยกับการปฏิวัติประชาชนโค่นล้มมาร์กอสในปี 1986 โดยมองว่ากลุ่มคนที่ออกมาขับไล่คือกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองหลวงที่เสียผลประโยชน์จากระบอบมาร์กอส แล้วต้องการอำนาจกลับคืน หรืออาจบอกได้ว่า ‘คนชนบทตั้งรัฐบาล คนมะนิลาล้มรัฐบาล'”

BringBackMarcos #ProtectMarcosJr #FightForMarcosJr เป็นแฮชแท็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ติดเทรนด์ขึ้นมาโดยกองเชียร์มาร์กอส..ยกข้อหักล้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ทำให้มาร์กอสเป็นผู้ร้าย ด้วยการสร้างวาทกรรม เช่นว่า การประกาศกฎอัยการศึกตอนนั้นทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย อยากให้ประเทศกลับไปช่วงเวลาแบบนั้นอีกครั้ง รวมถึงบอกคนไม่เห็นด้วยว่าถ้าคุณไม่ทำผิดกฎหมายแล้วจะกลัวอะไร”

“นักวิชาการฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งมองว่าเหตุสำคัญที่ทำให้คนฟิลิปปินส์จำนวนมากไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดในยุคสมัยมาร์กอส คือความล้มเหลวของหลักสูตรการศึกษาในการสอนประวัติศาสตร์ โดยพบว่าให้เวลากับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์น้อยมาก ทำให้เนื้อหารวบรัด ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ลึกซึ้ง ทั้งยังเน้นการสอนแบบท่องจำ โดยแทบไม่ได้มีการอภิปรายถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์”

“ตั้งแต่ช่วงเทศกาลการเลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2016 เรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ บนโลกอินเทอร์เน็ตของฟิลิปปินส์ปรากฏข้อมูลที่แก้ต่างให้ระบอบมาร์กอส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการคอร์รัปชัน รวมทั้งข้อมูลที่เน้นย้ำความสำเร็จในยุคสมัยมาร์กอสแพร่สะพัด โดยจำนวนมากได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ และยังถูกสืบสวนพบว่าการแพร่กระจายของข้อมูลเหล่านี้มีความข้องเกี่ยวกับปฏิบัติการไอโอของตระกูลมาร์กอส ที่พยายามแก้ไขประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการกลับคืนสู่อำนาจ และดูเหมือนว่าปฏิบัติการจะประสบความสำเร็จยิ่งในการชักจูงความคิดผู้คน”

“บงบง มาร์กอส ไม่เคยแสดงความขอโทษใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยพ่อของเขา แม้จะถูกกดดันจากคนฟิลิปปินส์จำนวนมากให้กล่าวคำขอโทษแทนพ่อของตัวเองที่ล่วงลับไปแล้ว กลับกันเขาแก้ต่างแทนพ่อ และพูดถึงพ่อในเชิงชื่นชมอยู่เสมอ ขณะเดียวกันเมื่อนักข่าวถามเขาต่อหน้าว่า ถ้าคุณขึ้นเป็นผู้นำแล้ว คุณจะปกครองแบบพ่อของคุณหรือไม่ เขาก็ตอบแบบอ้ำอึ้งเลี่ยงไปเลี่ยงมา นอกจากนี้เขายังบอกด้วยว่าอย่าไปมัวแต่คิดถึงเรื่องราวในอดีต”

“การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการแข่งขันระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันการช่วงชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นเสมือนประชามติที่จะบ่งบอกว่าคนฟิลิปปินส์อยากเห็นประชาธิปไตยของประเทศเดินไปทางไหนกันแน่ – ไปข้างหน้าหรือย้อนกลับหลัง?”

ดีลควบรวมทรูและดีแทค: กสทช. อยากถูกจดจำแบบไหนในหน้าประวัติศาสตร์?

โดย กนกนัย ถาวรพานิช

“จนถึงปัจจุบัน (28 เมษายน 2565) สำนักเลขาฯ ยังไม่จัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เล่นในตลาดอย่างเป็นทางการ ไม่มีการให้ข้อมูลในเว็บไซต์ของ กสทช. ทั้งๆ ที่การควบรวมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับผู้เล่นในตลาดเป็นจำนวนมาก และ กสทช. ไม่เคยได้สัมผัสการควบรวมที่มีขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน แตกต่างจากทางปฏิบัติของต่างประเทศ หากมีการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ ผู้ตรวจสอบจะรับฟังความเห็น และให้ข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าเป็นระยะ ผ่านทางเว็บไซต์ของตนเองอย่างเป็นทางการ มีการเผยแพร่หรือสรุปรายละเอียดของรายงานที่จัดทำหรือว่าจ้างโดยผู้ตรวจสอบ”

“ผู้ควบรวมมักจะอ้างเสมอว่าการควบรวมมีความจำเป็นทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการโทรคมนาคมซึ่งใช้เงินลงทุนสูงและต้องการผู้ใช้บริการจำนวนมากเพื่อให้คุ้มต้นทุนการให้บริการ ผู้ควบรวมมักอ้างว่า แม้จำนวนผู้แข่งขันในตลาดจะลดลง แต่การควบรวมจะช่วยเพิ่มการลงทุนและพัฒนาการให้บริการ ผู้เขียนมองว่า กสทช. ต้องพิจารณาข้ออ้างนี้อย่างระมัดระวัง Office of Communications (Ofcom) ซึ่งทำหน้าที่เทียบเท่า กสทช. ของอังกฤษ เพิ่งให้ความเห็นว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ สนับสนุนข้ออ้างที่ว่า เมื่อตลาดกระจุกตัวเพิ่มขึ้นจากการควบรวม การลงทุนจะเพิ่มขึ้นและการให้บริการจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นเสมอ Ofcom มองว่าการพิจารณาการควบรวมต้องให้ความสำคัญกับสภาพการแข่งขันในตลาด มากกว่าการยึดติดอยู่กับจำนวนที่เหมาะสมของผู้ให้บริการในตลาด”

“ผู้เขียนอยากย้ำเตือนว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เคยมีประวัติศาสตร์อันด่างพร้อยในขั้นตอนการร่างในชั้นที่พิจารณาโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แข่งขันฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมาแล้ว ในขั้นตอนนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ จะทำหน้าที่ตรวจร่างกฎหมายก่อนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้ทำการแก้ไขร่างกฎหมายในประเด็นที่มีความสำคัญหลายประเด็น ‘ความด่างพร้อย’ ของ พ.ร.บ. แข่งขันฯ มีอยู่ว่า หนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมาธิการฯ คือผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัทในเครือซีพีที่ลงทุนในต่างประเทศ และดำรงตำแหน่งอยู่ด้วยในช่วงเวลาที่มีการตรวจร่าง”

“นี่คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของระบบกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยที่ควรบันทึกไว้…ถึงตรงนี้ ผู้ที่ทำงานใน กสทช. และ กขค. อยากให้ตนเองถูกจดจำแบบไหนในหน้าประวัติศาสตร์ การกระทำของท่านเท่านั้นคือคำตอบ”

ปวีณ พงศ์สิรินทร์: รางวัลของคนทำงานคือการลี้ภัย

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ที่ประเทศฉิบหายขนาดนี้เพราะคน ‘อยู่เป็น’ นี่แหละ นั่นคือความเห็นแก่ตัว เขาสอนกันมาว่าคำพูดที่สวยหรูเอาไว้ท่องเฉยๆ แต่ไม่ใช่เอาไว้ปฏิบัติ”

101 คุยกับ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ถึงสิ่งที่เขาเจอจากการทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา อันเป็นเหตุให้เขาต้องจบชีวิตตำรวจและกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย

ชีวิตของเขาสะท้อน ‘ความไม่ปกติ’ ที่เกิดขึ้นในโครงสร้างการทำงานตำรวจไทย เมื่อการพยายามค้นหาความจริงกลายเป็นเรื่องอันตรายอันมีชื่อเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายรายเกี่ยวพัน

“การค้ามนุษย์คือคนขายคนเพื่อเงิน โดยไม่สนใจว่าคนที่ถูกขายจะเป็นอะไร จะสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมดสิ้นทั้งชีวิต อยู่อย่างทุกขเวทนาทรมานรอวันตายกี่ชีวิต กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่นชีวิตที่เขาต้องเจอชะตาแบบนี้ แต่คนเหล่านั้นกล้าทำแล้วยังกล้าโกหกประชาชนอีก”

“ขบวนการนี้มีเงินหลายพันล้าน รวมหลายปีก็เป็นหมื่นล้าน เงินเหล่านี้ส่งไปถึงใคร ผมเชื่อว่าเงินเหล่านี้ไปซุกอยู่ในบัญชีของระดับพลเอกทั้งหลาย เขาจึงไม่ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน”

“เราต้องพิจารณาเรื่องชั้นยศกันใหม่ คนที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนต้องมีหลักประกันในการทำงานว่าจะไม่มีใครแทรกแซง ถามว่าทุกวันนี้เขาแทรกแซงได้ไหม ได้หมดเลย… ไม่มีหลักประกันเลยว่าถ้าตั้งใจทำงานอย่างตรงไปตรงมาแล้วไปกระทบคนใหญ่คนโต คนทำงานจะมีหลักประกันอะไรว่าเขาจะปลอดภัย แล้วแบบนี้จะมีความเป็นธรรมและความยุติธรรมได้อย่างไร”

เหล้ายา บาร์ สาวเปลือย มรดกรักจากสหรัฐฯ ถึงพัทยา

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

ภายหลังสงครามเวียดนาม สหรัฐฯ ส่งกองทัพอเมริกันมาลงพื้นที่เตรียมทำสงครามในอุษาคเนย์ มรดกอย่างหนึ่งที่ทหารจีไอฝากฝังไว้คือการก่อกำเนิดเมืองพัทยา อันหมายถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บาร์เหล้า และสาวโชว์

“ช่วงรอยต่อระหว่างปี 1965-1966 อันเป็นช่วงที่สงครามกำลังไต่ขึ้นไปถึงขีดสุดทั้งในแง่ความรุนแรงและพละกำลังของโลกสองขั้ว ประมาณการกันว่ามีเครื่องบินอเมริกันจากฐานทัพไทยบินไปเวียดนามราวหนึ่งพันเที่ยวต่อสัปดาห์ ขณะที่ประเทศต้นทางทยอยส่งทหารหนุ่มเข้ามาอยู่ไม่ขาด ทั้งเพื่อเพิ่มกำลังพลและอุดรูรั่วนายทหารคนเก่าที่บาดเจ็บหรือตายจาก”

“และแม้เมื่อสงครามปิดฉากแนบสนิท ทหารทยอยกลับบ้าน หากแต่พัทยาก็ดำรงอยู่และเติบโตในฐานะเมืองท่องเที่ยวแบบครบวงจร มันไม่หลับใหล ยามเช้าเมื่อวอล์กกิง สตรีตง่วงงุน จืดชืดด้วยห่างหายจากไฟนีออนและเสียงเพลง หาดจอมเทียนก็คึกคักด้วยแดดจ้าและเตียงร่ม”

“ไม่เกินเลยหากจะบอกว่า พัทยาในนามของเมืองท่องเที่ยว -อเมริกันทาวน์ พื้นที่หยาบช้าในสายตาผู้แสวงหาศีลธรรม และสรวงสรรค์ของคนผู้โหยหารสชาติฉูดฉาดให้ชีวิต- คือมรดกตกทอดจากกองทัพอเมริกันในยุคสงครามเวียดนาม”

“มีบันทึกถึง ‘โชว์’ สั้นๆ ว่าถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 1970s และปรากฏใน Emanuelle in Bangkok (1976) หนังอื้อฉาวสัญชาติอิตาลีกับฉาก ‘เริงรัก’ ที่เห็นแล้วร้อนวาบเหมือนลวกลูกตาด้วยมาร์ตินี”

“จะติดธุระ จะมีงานเช้าหรือกระทั่งต้องไปเข้าเฝ้าพระเจ้าในนรก ใครที่ไหนจะไม่ยอมดวดเบียร์ให้หมดแก้วก่อนกลับ เว้นเสียว่าในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ที่ลูกกระเดือก-ผนังคอไม่ยอมทำงาน”

“นึกไปถึงขวบปีแรกๆ ที่โชว์ลักษณะนี้ถือกำเนิด ทหารอเมริกันกับสภาพหัวจิตหัวใจแตกสลายจากสงคราม เลือด เนื้อ เขม่าปืนกัดกร่อนไปไกลกว่ากายเนื้อ ความบันเทิงที่วาดหวังไว้เพื่อสมานแผลในจิตวิญญาณอาจไกลกว่าที่เราจะจินตนาการได้”

นับถือพุทธ ไม่นับถือพระ

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ความเสื่อมทรามในวัตรปฏิบัติของพระไทยที่ปรากฏมักถูกอธิบายว่าเป็นเรื่อง ‘ปัจเจกบุคคล’ แท้จริงแล้วปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สัมพันธ์กับการจัดโครงสร้างขององค์กรสงฆ์เลยหรือ?

นับแต่การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ ชนชั้นนำไทยก็ผนวกคณะสงฆ์ให้อยู่ภายใต้อำนาจผู้ปกครอง จนมีมหาเถรสมาคมกลายเป็นเสมือนผู้ผูกขาดการใช้อำนาจเหนือบรรดาเหล่าสงฆ์และอำนาจการตีความไตรปิฎก โดยที่โครงสร้างองค์กรสงฆ์ก็มีสถานะใกล้เคียงหน่วยงานรัฐประเภทหนึ่ง มีชั้นยศ รถประจำตำแหน่ง เงินเดือน (นิตยภัต)

“การทำหน้าที่ของคณะสงฆ์ไทยได้ให้ความสำคัญกับรัฐเป็นอย่างมาก กลายเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำของไทยให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบเผด็จการ ระบอบเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดูเหมือนว่าแนวคำสอนของพระไทยจะไม่สามารถผนวกเอาอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคำสอนได้”

เงื่อนไขต่างๆ ทำให้คณะสงฆ์ไทยเป็นเหมือนข้าราชการประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่ทางด้านบ่มเพาะความเชื่อความศรัทธา หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ‘กระทรวงความมั่นคงทางจิตวิญญาณ’

คังคุไบ: ภาพสะท้อนปัญหาการค้ามนุษย์ของอินเดีย

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

“เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่คังคุไบกำลังสู้อาจไม่ใช่เพียงเรื่องการค้าประเวณีถูกกฎหมาย แต่เป็นการหยุดยั้งการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีต่างหาก”

ในวันที่ ‘คังคุไบ’ กำลังเป็นกระแส ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สะท้อนปัญหาการค้ามนุษย์และการค้าประเวณี ปัญหาที่ฝังรากลึกในอินเดียมานาน จากทั้งปัญหาความยากจน และค่านิยมทางสังคมและศาสนา ผ่านเรื่องราวของคังคุไบ รวมทั้งความพยายามขจัดปัญหาดังกล่าวในปัจจุบันของรัฐบาลอินเดีย

“ในขณะที่กระแสวิจารณ์และมุมมองส่วนใหญ่ต่อภาพยนตร์เรื่องคังคุไบมุ้งเน้นไปที่การสนับสนุนการทำให้ Sex Worker ถูกกฎหมาย หรือชวนมองมิติต่างๆ ทางด้านสังคมวัฒนธรรมของอินเดียภายใต้กรอบยุคอาณานิคม ระบบชนชั้นวรรณะทางสังคม หรือการกีดกันทางสังคมต่ออาชีพโสเภณี จนเชิดชูให้คังคุไบเปรียบเสมือนตัวแบบสำคัญของผู้ที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการให้กับโสเภณี แต่หากเราย้อนมองภาพยนตร์เรื่องนี้นับตั้งแต่เริ่มเรื่อง และตั้งคำถามกับมันง่ายๆ ว่า “ถ้าแฟนของคังคุไบไม่ขายเธอเข้าไปอยู่ในสถานเริงรมย์ ชีวิตของคังคุไบจะยังคงเป็นเช่นนี้หรือไม่”

“แม้เรื่องราวของคังคุไบจะผ่านมาเป็นเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคังคุไบยังไม่ได้เจือจางหรือเลือนหายไปจากสังคมอินเดียแต่อย่างใด ซ้ำร้ายดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น และถูกทำให้กลายเป็นสิ่งปกติในสังคมไปเสียด้วยซ้ำ แต่แน่นอนว่าสำหรับสังคมเอเชียใต้ ซึ่งรวมถึงอินเดียด้วยนั้น ปัญหาการค้ามนุษย์นั้นไปไกลกว่าเพียงเรื่องอาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

“ต้นสายปลายเหตุของปัญหามีความสลับซับซ้อนมากกว่าเพียงเรื่องการบังคับใช้แรงงาน การค้าประเวณีโดยไม่เต็มใจ หรือการขายอวัยวะ เพราะยังมีองค์ประกอบของปัญหาความยากจน ค่านิยมทางสังคมและศาสนา ความขัดแย้งในครอบครัว รวมไปถึงสภาวะความไม่สงบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงและความเปราะบางให้กับทั้งเด็กและผู้หญิงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์”

“ความเลวร้ายของการค้ามนุษย์ในอินเดีย นอกจากจะเป็นปัญหาความบกพร่องทางข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ แล้ว อินเดียยังเผชิญกับค่านิยมและวัฒนธรรมบางประการที่ส่งเสริมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการแต่งงานในวัยเด็กซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมมากกว่าเป็นการค้ามนุษย์ และผู้หญิงอินเดียจำนวนมากอยู่ในสภาพจำยอมที่ต้องแบกรับมรดกทางวัฒนธรรมและค่านิยมดั้งเดิมเหล่านี้”

“ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีไม่ใช่เรื่องง่าย […] แต่ก็ใช่ว่าจะสูญเปล่าไปเสียทั้งหมด ความพยายามหลายอย่างของรัฐบาลอินเดียที่เข้าไปแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจน การยื่นสวัสดิการเข้าไปในระดับครัวเรือน รวมถึงการประสานภาคประชาสังคมให้ร่วมดูแลสวัสดิการและป้องกันอาชญากรรมจากการบังคับค้าประเวณี”
“ความพยายามเหล่านี้ล้วนมีส่วนลดทอนกำลังของเครือข่ายการค้ามนุษย์ที่แต่เดิมนั้นแข็งแกร่งจนเป็นระดับมาเฟียในหลายท้องถิ่นลงได้ ที่สำคัญยังช่วยลดจำนวนการแต่งงานในวัยเด็กของผู้หญิงได้อย่างมหาศาล เพิ่มโอกาสให้เด็กหญิงได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา หลายรัฐของอินเดียอัตราส่วนผู้หญิงที่สามารถอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”

“ถ้ามองดีๆ นี่คงเป็นสิ่งที่คังคุไบคงอยากเห็นมากที่สุด ดังที่เธอพยายามอย่างมากให้บรรดาลูกสาว ลูกชายของโสเภณีได้รับโอกาสในการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาให้ไปไกลกว่าการอยู่ในวงจรดำมืดอย่างการค้ามนุษย์และค้าประเวณี”

ฮันนาห์ อาเรนต์: เมื่ออำนาจนิยมเปิดทางให้เจ้าหน้าที่รัฐ ‘ฆ่า’ ในสภาวะไร้คิด

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

ฮันนาห์ อาเรนต์ นักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ตั้งคำถามว่าอะไรเป็นชนวนสำคัญให้เจ้าหน้าที่นาซีกล้าสังหารหมู่ชาวยิวกว่าหกล้านคนโดยไม่รู้สึกผิด คำถามนี้เกิดขึ้นระหว่างที่เธอร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนอดอล์ฟ ไอช์มันน์ เจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาของนาซี และพบว่าเขาดู ‘ธรรมดา’ อย่างเหลือเชื่อ

อาเรนต์ให้ข้อสรุปต่อคำถามนั้นว่าเป็นเพราะ ‘สภาวะไร้คิด (thoughtlessness)’ และนั่นคือ ‘ระบบ’ ที่นาซีเยอรมันสร้างขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

“อะไรทำให้เจ้าหน้าที่นาซีสามารถลงมือ ‘พา’ ชาวยิวไปสู่มาตรการจัดการขั้นสุดท้าย (final solution) ผ่านทั้งระบบ นับตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่พาชาวยิวขึ้นสู่รถไฟไปยังปลายทาง ด้วยความรู้สึกว่าพวกเขาล้วนทำตามกฎหมายและคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียว”

“ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องของความดีความชั่ว ตัวไอช์มันน์จึงเชื่อว่าการทำตามคำสั่งนั้นไม่มีความผิด เพราะเมื่อคำสั่งนั้นเป็นกฎหมาย เขาจึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตาม อันจะเห็นได้จากปฏิกิริยาของเขาที่ไม่รู้สึกรู้สาต่อสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วเขาจะถูกศาลพิพากษาด้วยเหตุผลว่ากระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และลงเอยด้วยการถูกแขวนคอบนเรือ เพื่อที่ว่าเลือดของเขาจะไม่ไปแปดเปื้อนบนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์”

“เหตุใดคนธรรมดาจึงสามารถก่ออาชญากรรมที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นได้ ทำไมจึงไม่รู้สึกผิดต่อสิ่งที่พวกเขาทำลงไป ไม่รู้สึกรู้สาว่ากระบวนการ final solution ของนาซีนั้นเป็นความชั่วช้าอย่างร้ายแรง ทำไมไอช์มันน์จึงไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในมโนสำนึก และถึงที่สุด ฮันนาห์ก็สรุปในบทความนั้นว่า ไอช์มันน์เป็นฆาตกรที่กระทำการต่างๆ ลงไปด้วย ‘ความไร้คิด’ (thoughtlessness)”

 จีนกับเศรษฐกิจไบโพลาร์

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เพื่อนคนจีนเคยพูดทีเล่นทีจริงกับผมว่า เศรษฐกิจจีนวันนี้ก็มีอาการไบโพลาร์ วันหนึ่งรัฐบาลออกมาบอกว่าจะต้อง ‘รวยร่วมกัน’ อยากจะสร้างสังคมนิยมแบบที่ประธานเหมาฝัน วันถัดมากลับยืนยันว่าจะยังคงดำเนินนโยบายเปิดประเทศและส่งเสริมเอกชนให้รวยขึ้นมาก่อน ไม่มีทางถอยหลังกลับไปยุคประธานเหมา ถัดไปอีกวันก็กลับบอกว่าต้องจัดการคนรวยที่เอาเปรียบสังคมและเร่งกระจายประโยชน์ไปสู่คนยากจน แต่ไม่ทันข้ามคืนก็บอกว่าต้องให้คนรวยรีบเดินหน้าขยายก้อนพายให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อให้ขนาดเศรษฐกิจจีนใหญ่สู้สหรัฐอเมริกา”

“แล้วตกลงจีนจะไปซ้ายไปขวา จะเดินอย่างทุนนิยมไปข้างหน้าหรือถอยหลังกลับไปสังคมนิยมแบบในอดีตกันแน่ครับ”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง สภาวะ ‘สองขั้ว’ ของเศรษฐกิจจีน ระหว่างฝ่ายความมั่นคงที่ให้ความสำคัญกับการพึ่งพิงตนเองในนามของความมั่นคงในประเทศและฝ่ายเทคโนแครตที่ให้ความสำคัญกับความเจริญทางเศรษฐกิจ ที่ย่อมแยกไม่ออกจากระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“หลายคนแบ่งขั้วความคิดและขั้วการเมืองในจีนเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายความมั่นคงกับฝ่ายเทคโนแครต ฝ่ายความมั่นคงคิดทุกเรื่องเป็นเรื่องของการรักษาประเทศให้รอดจากการแข่งขันอันดุเดือดกับตะวันตก มองทุกอย่างจากมุมของยุทธศาสตร์ความมั่นคง ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนฝ่ายเทคโนแครตนั้นวางนโยบายต่างๆ ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แบบปกติ โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายต่างผลัดกันส่งเสียงและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจไปคนละทิศละทาง จนดูเหมือนจีนกลายมามีสองบุคลิกผสมกัน”

“สีจิ้นผิงเองดูจะอยู่ในขั้วความมั่นคง แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างน่าตกใจในช่วงปลายปีที่แล้วและต้นปีที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนว่าสีจิ้นผิงจะเริ่มถอยและประนีประนอมมากขึ้นกับกลุ่มเทคโนแครต ในรายงานของนายกฯ จีนต่อสภาประชาชนในเดือนมีนาคม แทบไม่มีการกล่าวถึงนโยบายรวยร่วมกันของสีจิ้นผิง และน่าติดตามต่อว่าในการเลือกตั้งกลุ่มผู้นำสูงสุดของจีน 7 คน ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนั้น แม้ว่าสีจิ้นผิงจะได้ไปต่อค่อนข้างแน่นอนในฐานะผู้นำเบอร์ 1 แต่จะมีขั้วเทคโนแครตขึ้นมารักษาสมดุลในทีมงานมากน้อยเพียงใด”

ความย้อนแย้งในสงครามรัสเซียบุกยูเครน

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ชวนมองประวัติศาสตร์การต่อสู้บนฐานทางอุดมการณ์ของรัสเซียในอดีต อันสะท้อนให้เห็นความย้อนแย้ง (paradox) ของสงครามรัสเซียบุกยูเครนเมื่อมองกลับมายังปัจจุบัน

“วันนี้ในศตวรรษที่ 21 รัสเซียภายใต้ปูตินกำลังเสนอรูปแบบและอุดมการณ์ที่ตรงกันข้ามกับ ‘การปฏิวัติเดือนตุลาคม’ โดยสิ้นเชิง แทนที่การปลดปล่อยประชาชน เขาเสนอโซ่ตรวนและคุกตะรางให้แก่คนที่รักเสรีภาพและความเป็นอิสระ แทนที่พลังของประชาสังคม คืออำนาจผูกขาดของกลุ่มคณาธิปไตยและทุนผูกขาดโดยรัฐ

“นี่เองที่ยูเครนประกาศก้องไปทั่วโลกว่าการต่อสู้ของพวกเขา ไม่ใช่เพื่อตัวเอง หากแต่เพื่อคนทั้งโลกที่ใฝ่หาและต้องการเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน”

“ผมไม่ได้ฝันไกลเกินกว่าสิ่งที่มนุษย์เคยทำมา” ความหวังในท้องถิ่นและบทเรียนการเมืองของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“…ระบบราชการกับฝ่ายอนุรักษนิยมผลิตซ้ำเรื่องท้องถิ่นโกงกับท้องถิ่นไม่มีศักยภาพมาตลอดเพื่อไม่ให้เกิดการกระจายอำนาจ”

“คุณจะมีศักยภาพต่อเมื่อมีอำนาจและงบประมาณ แล้วได้ลงมือทำ…ไม่ใช่เกิดมาปุ๊บมีศักยภาพ แต่เกิดจากการลงมือทำ ลองผิดลองถูก ดังนั้นถ้าคุณเอาส่วนกลางออกไป ให้งบประมาณและอำนาจท้องถิ่น ผมว่าเลือกตั้งสองรอบ ใช้เวลา 8 ปี ศักยภาพท้องถิ่นมาเลย”

“…ถ้าเอางบเข้าไปในท้องถิ่นได้ ท้องถิ่นแก้ปัญหาในท้องที่ได้เอง ไม่ต้องไปวิ่งของบใคร คนจะรู้สึกเปลี่ยนไป…แต่ตอนนี้งบไกลมาก ถ้าเราเอางบที่มาจากภาษีมาใกล้กับประชาชนมากขึ้น ปล่อยให้กลไกเดินสักรอบสองรอบ คนจะให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคอร์รัปชันแล้ว เพราะเขาจะรู้สึกว่าเป็นเงินของเขา เกิดการตรวจสอบ ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น”

“การปฏิรูปการรวมศูนย์กลายเป็นการลดทอนเสาค้ำยันอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน วันนี้ศูนย์กลางปัญหาหลักของความขัดแย้งในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2549 คือ ‘อำนาจจารีต’ ปะทะกับ ‘อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน’”

“ถามว่าโดนคดีเยอะแยะ คุ้มไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ผมว่าคุ้มมหาศาลเลย ถ้าย้อนเวลากลับไปก็ยังจะตั้งพรรคการเมืองอยู่ดี ถึงแม้รู้ว่าจะเป็นอย่างนี้…”

“ผมไม่ได้อยากเป็นนายกฯ เป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ผมเฉยๆ กับเรื่องพวกนั้นมาก… ถ้าสังคมไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อไหร่ ปฏิรูปกองทัพได้เมื่อไหร่ แก้รัฐธรรมนูญได้เมื่อไหร่ เป็นประชาธิปไตย เป็นการเมืองปกติได้เมื่อไหร่ ผมก็หมดนัยสำคัญทางการเมืองไปแล้ว จะมีคนมีความรู้ความสามารถมากกว่าผมมาทำงานการเมือง”

101 ชวนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาคุยยาวๆ ว่าด้วยบทเรียนทางการเมืองที่ผ่านมา เรื่องใหม่ที่เรียนรู้จากการเมืองท้องถิ่น การคาดเดาทิศทางการเมือง และ ‘ที่ทาง’ ของเขาในอนาคต

‘วัฒนธรรมความ(ซึม)เศร้า’ เมื่อความเศร้าเป็นสิ่งฉาบฉวย เก๋ไก๋และขายได้

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

คอลัมน์ PopCapture ตั้งข้อสังเกตถึงกระแสการแบ่งปันประสบการณ์เลวร้ายที่แพร่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์ แม้ด้านหนึ่งมันจะช่วยเยียวยาผู้เล่า แต่ในอีกด้านก็กลายเป็นหลุมพรางขนาดย่อม ที่อาจพาใครต่อใครไปยังเขตแดนของ ‘ความป่วยไข้ทางใจ’ โดยไม่ได้เจตนา ทั้งมันยังแปรสภาพกลายเป็นสินค้าแฟชั่นอันชวนฉงนของโลกทุนนิยมด้วย

“คนในวิดีโอเหล่านี้ระบุในเกม ‘put a finger down if…’ ก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขหรือผลพวงจากอาการบาดเจ็บทางจิตใจทั้งหมด หากแต่เป็น ‘ปฏิกิริยาตอบสนองทั่วไปเวลาเราเผชิญความเครียด’ […] ซึ่งวิธีการตีความเช่นนี้จะยิ่งส่งผลลบต่อตัวเรามากกว่าผลบวก เนื่องจากถึงที่สุดจะกลายเป็นว่า เราเริ่มทึกทักไปเองว่าปฏิกิริยาแบบมนุษย์ปุถุชนทั่วไปของเรานั้นมีที่มาจากบาดแผลสะเทือนใจบางอย่าง ซึ่งอาจโยงไปสู่ภาวะตึงเครียดในที่สุด”

“ปรากฏการณ์หนึ่งที่สำแดงตัวตนชัดเจนคือ ‘ความงดงามของความเจ็บปวด’ หรือการ romanticising mental illness”

“ยังไม่นับว่าเมื่อ ‘วัฒนธรรมความเศร้า’ ได้กลายเป็นความนิยมแล้ว มันย่อมก่อให้เกิดกระแสธารสินค้าต่างๆ ตามมาไม่สิ้นสุด ทั้งหมวก ผ้าพันคอและเสื้อยืดพิมพ์ลายข้อความเกี่ยวกับความป่วยไข้ดังกล่าว ซึ่งด้านหนึ่งมันชวนให้ตั้งคำถามว่าอะไรทำให้ ‘ภาวะ’ เหล่านี้ขายได้ในฐานะ ‘เครื่องประดับ’ ที่ผู้สวมใส่พอใจจะนิยามตัวตนลงในนั้น โดยที่ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ค่อยปรากฏในความป่วยไข้ลักษณะอื่นๆ”

ปีกอนุรักษนิยม ครองอำนาจแต่ไม่ครองใจ

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และ ส.ก. ที่ฝ่ายเสรีนิยมชนะแบบถล่มทลาย เป็นตัวชี้วัดถึงความตกต่ำของฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน”

“เคยสงสัยไหมว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมที่ยึดครองอำนาจมาได้เกือบสิบปี ทำไมถึงไม่สามารถครองใจประชาชนได้เลย และนับวันจำนวนแนวร่วมฝ่ายอนุรักษนิยม ก็ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ”

“ฝ่ายอนุรักษนิยมมีเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงของตัวเอง คือการเข้าสู่อำนาจ การออกกฎหมายที่ฝ่ายตัวเองได้ประโยชน์ การใช้กฎหมายและกลไกของรัฐปราบปรามฝ่ายอื่นอย่างแข็งกร้าวและพร่ำเพรื่อ แต่เมื่อใช้บ่อยๆ มันก็อาจจะไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ยิ่งมีการจับกุมคนที่มีความคิดแตกต่างทางการเมืองมากขึ้นอย่างไม่ยุติธรรม คนก็ไม่เกรงกลัวอีกต่อไป และเป็นการผลักให้คนที่อยู่ตรงกลางๆ ถอยห่างจากฝ่ายตัวเองมากขึ้น”

“สุดท้ายหากฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ปรับตัว ก็ต้องล่มสลายลงด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่แน่ บทเรียนจากประเทศพม่า อาจจะเป็นโมเดลต่อไป หากฝ่ายเสรีนิยมได้รับเสียงข้างมาก มีชนะในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้ ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจจะหาสาเหตุทำการรัฐประหารยึดอำนาจเหมือนเดิม โดยไม่สนใจเสียงประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ตั้งข้อสังเกต 10 ประการที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมไทย ไม่สามารถครองใจประชาชนได้ แม้ครองอำนาจมาแล้วยาวนาน

เด็กๆ ไม่เกิด คนแก่ไม่ตาย

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“พูดกันว่าเด็กไทยไม่เกิดและคนแก่ไม่ตาย เรากำลังจะขาดผลผลิต และการจ่ายเงินอุดหนุนให้คนแก่กำลังจะไม่พอ”
.
จากทฤษฎีพัฒนาการมนุษย์ 8 ขั้นของอีริก อีริกสันที่อธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์’ กับโลกรอบตัว นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนคิดต่อว่า ในสังคมที่เด็กไทยไม่เกิดและคนแก่ไม่ตายเช่นนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

“อีริกสันมิได้บอกให้มีลูก เขาพูดเรื่องการทำประโยชน์ (generate) ให้แก่คนอื่นหรือสังคม เขาเขียนว่าเมื่อถึงมิดไลฟ์-ระยะครึ่งชีวิต ที่คนเราทุกคนอยากทำคือถ่ายทอดตัวตนให้คนอื่น ตัวตนนี้มิได้แปลว่ามีลูก แต่อาจจะเป็นความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ไปจนถึงของที่ระลึกที่เป็นประโยชน์ เช่น สร้างสะพานหรือห้องสมุดสาธารณะให้แก่ชุมชนเล็กๆ เป็นต้น แล้วถ้าใครไม่ทำจึงจะเกิดมิดไลฟ์ไครซิส ซึ่งอีริกสันใช้คำว่าความหยุดนิ่ง (stagnation) แค่นั้น”

มอง ‘คังคุไบ’ แล้วย้อนดูไทย: ชีวิต sex worker ที่อาจโหดร้ายกว่าฉากในภาพยนตร์

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

“เรื่องราวชีวิตอันแสนเจ็บปวดของหญิงขายบริการอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Gangubai Kathiawadi ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เมืองกามธิปุระในอินเดียเท่านั้น แต่นี่คือบาดแผลที่หญิงขายบริการหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของโลกต่างเคยพบเจอ
“แม้แต่ในประเทศไทย ผู้ประกอบอาชีพขายบริการหรือ sex worker ก็มีชีวิตที่เจ็บปวดและทุกข์ระทมเพราะอคติเชิงลบที่คนในสังคมมีต่ออาชีพนี้เช่นกัน”

“สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing Thailand) กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาชีพขายบริการยังคงผิดกฎหมายและเป็นอาชีพสีเทาอยู่เรื่อยมา เพราะมีคนได้ประโยชน์จากสภาวะนี้ และสิ่งที่ยากอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนให้อาชีพขายบริการถูกกฎหมายในประเทศไทย คือการต้องไปขัดแข้งขัดขากับคนที่เคยได้ประโยชน์”

“ในประเทศไทย สุรางค์ยืนยันว่า จากสถิติมีพนักงานขายบริการจำนวนมากถูกทำร้ายร่างกายระหว่างทำงาน แต่กลับไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเองได้ เพราะสถานภาพของอาชีพ sex worker ที่ยังคงผิดกฎหมาย สุดท้ายพวกเขาต่างถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบที่นอกจากจะไม่ได้รับความเห็นใจจากคนในสังคมแล้ว ซ้ำยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในฐานะประชาชนคนหนึ่งอีก”

ทำความรู้จักโลกและปัญหาของ sex worker ไทยผ่านหนังคังคุไบ จากเสียงคนทำงานช่วยเหลือผู้ขายบริการ

เปิด 8 ตำรับก๋วยเตี๋ยวจอมพล ป. ‘มรดกจานด่วน’ คณะราษฎร

โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

เชื่อหรือไม่ว่าครั้งหนึ่ง การกินก๋วยเตี๋ยวถือเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย! นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์พร้อมเปิด 8 สูตรทำก๋วยเตี๋ยวสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำเทรนด์การกินก๋วยเตี๋ยวในสังคมไทย

“หนังสือพิมพ์ชั้นนำยุคนั้นทั้ง ‘ศรีกรุง’ และ ‘ประชาชาติ’ พร้อมเป็นกระบอกเสียงแก่ภาครัฐ นำเสนอข่าวกระตุ้นให้ราษฎรไทยร่วมใจกันทั้งขายและกิน ‘ก๋วยเตี๋ยว’ ระดับ ‘วาระแห่งชาติ’ ฯพณฯ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ถึงกับเสนอให้ยืมทุนเริ่มต้นรายละ 30 บาทโดยไม่คิดดอกเบี้ยเพื่อแพร่การขายออกทั่วประเทศโดยเร็ว รวมทั้งระดมภาคราชการทุกหน่วยงานเร่งรัดนโยบายนี้อย่างเป็นการด่วน”

“โดยเฉพาะกรมประชาสงเคราะห์ที่ดำรงสถานะเสมือนเป็นแม่งานทั้งในแง่การกระจายเงินทุน ผลิตอุปกรณ์การขาย เช่นรถเข็นเร่ขาย และข้อสำคัญคือเผยแพร่ ‘สูตรก๋วยเตี๋ยว 8 ชนิด’ ปรากฏสู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485”

“เมื่อเชื่อมโยงกับก๋วยเตี๋ยวในปัจจุบัน พอจะเห็นเค้าลางได้ว่า สูตร 1-5 คือก๋วยเตี๋ยวลวกใส่เครื่องทั่วไปอันมีอัตลักษณ์ความเป็นไทยในเรื่องการใส่ถั่วงอกบ้าง มะนาวบ้าง แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ‘จานผัด’ ซึ่งดูเหมือนสูตร 6 และ 8 จะเป็นต้นตระกูลของ ‘ผัดไทย’ ในเวลาต่อมา … ส่วนสูตร 7 ก็คือบรรพบุรุษของ ‘ราดหน้า’ ที่สังคมไทยคุ้นเคย”

ผลงานใหม่ประจำเดือนพฤษภาคมของ 101PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะ

5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช.

โดย ฉัตร คำแสง

การควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ถือเป็น ‘ดีลใหญ่’ ที่สุดดีลหนึ่งของไทย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเกือบ 120 ล้านเลขหมาย และกระเทือนถึงอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในภาพรวม

แม้จะเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ขนาดนี้ แต่ผู้เกี่ยวข้องต่อการกำกับดูแลมักจะออกมาให้ ‘เรื่องเล่า’ ในทำนองว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดผลเสีย และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตั้งแต่การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ตลอดจนการบอกปัดอำนาจหน้าที่ของตนเองว่าไม่มีอำนาจกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจนี้

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ขอตรวจสอบ ‘เรื่องเล่า’ เหล่านั้น และเสนอ ‘เรื่องจริง’ ของการวิเคราะห์การรวมธุรกิจครั้งนี้ผ่านข้อมูลและกฎหมายที่จับต้องได้

‘มอเตอร์ไซค์’ เส้นเลือดเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้าม: 3 ข้อเสนอนโยบายเพื่อผู้ขับขี่

โดย วรดร เลิศรัตน์

ถ้าเปรียบถนนในกรุงเทพฯ เป็นยุทธภพ จอมยุทธ์ที่เก่งกาจและปราดเปรียวที่สุดคงเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจาก ‘มอเตอร์ไซค์’

ไม่ว่าจะชอบนั่งมอเตอร์ไซค์หรือไม่ แต่เรื่องที่ปฏิเสธยากคือ มอเตอร์ไซค์เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ รถเครื่องสองล้อขนาดกะทัดรัดที่มีอยู่กว่า 4 ล้านคันในมหานครนี้ได้นำพาผู้คน สินค้า และความคิด เดินทาง-หมุนเวียน-แลกเปลี่ยนไปทั่วทุกอณูพื้นที่อย่างที่ไม่มีพาหนะใดทำได้เสมอเหมือนมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ ลองจินตนาการว่าหากมอเตอร์ไซค์ทั้งหมดหายไปในพริบตา ชีวิตประจำวัน ธุรกิจ และกิจการงานต่างๆ ของคนกรุงทุกชนชั้นอาจหยุดชะงัก ราวกับกรุงเทพฯ เป็นอัมพาตไปกะทันหัน

แม้มอเตอร์ไซค์จะสำคัญต่อชีวิตเมืองเพียงใด แต่ที่ผ่านมา ในฐานะจอมยุทธ์ที่ ‘รัน’ ยุทธภพ มอเตอร์ไซค์มักไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญเท่าไรนัก สิทธิและคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่ในฐานะ ‘คนที่เท่ากัน’ กับผู้ใช้ยานพาหนะอื่น กลับมักถูกผู้กำหนดนโยบายสาธารณะมองข้าม นโยบายส่วนใหญ่ที่ออกมามุ่งควบคุมมอเตอร์ไซค์ในฐานะตัวร้าย-ตัวอันตรายแห่งท้องถนน ปัญหาของผู้ขับขี่จำนวนมากจึงไม่ถูกแก้ไข ทั้งเรื่องอุบัติเหตุที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การขาดทางวิ่งที่สะดวกและปลอดภัย ความลำบากยามฝนตก หรือการขาดที่จอดที่เหมาะสมตามสถานที่ต่างๆ

คำถามก็คือ มอเตอร์ไซค์เป็นตัวร้ายจริงๆ หรือต้องร้ายเพราะรัฐบังคับให้ร้าย?

101 PUB (101 Public Policy Think Tank) ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจ ‘ความสำคัญ’ และ ‘ความจำเป็น’ ของมอเตอร์ไซค์ต่อกรุงเทพฯ พร้อมทั้งสำรวจปัญหาของผู้ขับขี่ และเสนอแนวนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีสิทธิบนท้องถนนเสมอหน้ากับผู้ใช้ถนนกลุ่มอื่นมากขึ้น ตลอดจนมีคุณภาพในการเดินทางและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

3 ความท้าทาย จำกัดฝัน ตีกรอบผู้ว่าฯ กทม.

โดย เจณิตตา จันทวงษา

ผู้ว่าฯ กทม. ดูจะเป็นตำแหน่งผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจกว้างขวางกว่าท้องถิ่นอื่น เพราะ กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เต็มพื้นที่ ไม่มีส่วนภูมิภาคซ้ำซ้อนอย่างต่างจังหวัด ผู้บริหารมาจากการเลือกของประชาชนโดยตรง และยังดูแลประชากรเกิน 10 ล้านคนหากนับรวมประชากรแฝง

แต่โจทย์ยากของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คือโครงสร้างการบริหารและกฎกติกาของ กทม. หลายส่วนยังผูกขาดอำนาจไว้ที่รัฐบาลและราชการส่วนกลาง ในขณะที่ผู้ว่าฯ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารงานพื้นฐานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน กทม. โดยตรง

แม้จะบริหารงานได้เก่งกาจมากแค่ไหน แต่หากโครงสร้างอำนาจและกฎหมายยังเปิดช่องให้รัฐบาลส่วนกลางมีอิทธิพลตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ผู้ว่าฯ ควรทำได้เอง เราก็ไม่อาจแน่ใจได้นักว่าผู้ว่าฯ กทม. จะสามารถเดินหน้าเปลี่ยนแปลงเมืองหลวงแห่งนี้ได้มากน้อยเพียงใด

ทางออกในระยะยาวจึงไม่ควรเป็นการเสาะหาผู้ว่าฯ ที่ประสานงานกับทุกฝ่ายได้ดีเพียงอย่างเดียว แต่ควรทลายข้อจำกัดลง โดยลดอำนาจส่วนกลางและทวงคืนอำนาจของ กทม. ให้สามารถบริหารและพัฒนาเมืองได้เองอย่างแท้จริง

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank วิเคราะห์ข้อจำกัดของอำนาจบริหาร กทม. ใน 3 ประเด็นใหญ่ที่ผู้ว่าฯ กทม. สมัยหน้าจะต้องรับมือ และผลักดันเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ร่วมกันสังคม เพื่อสร้างเมืองที่บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองเสียงเรียกร้องของประชาชนได้อย่างเต็มที่

งบประมาณไทย จ่ายไปที่ไหนบ้าง?

โดย ฉัตร คำแสง

76 จังหวัดได้งบประมาณรวมกันน้อยกว่ากรุงเทพฯ กว่าครึ่งหนึ่ง ท้องถิ่นจัดสรรงบได้เองเพียง 7%

งบประมาณไทยปี 2022 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท เป็นงบที่จ่ายลงไปตามพื้นที่จังหวัดทั่วประเทศ 2,510,898 ล้านบาท ตามการจำแนกของสำนักงบประมาณ

เงินงบประมาณส่วนมากถึง 1,704,116 ล้านบาท หรือ 68% ลงไปที่กรุงเทพฯ และจังหวัดที่เหลืออีก 76 จังหวัดได้รับงบประมาณรวมกันเพียง 806,782 ล้านบาท หรือ 32%

ในจำนวนนี้ 216,370 ล้านบาทจ่ายไปยังนนทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการจำนวนมาก ในขณะที่จังหวัดอื่นอีก 75 จังหวัดที่เหลือ ได้รับงบรวมกันเพียง 590,413 ล้านบาท เฉลี่ยจังหวัดละ 7,872 ล้านบาท

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank พบว่า งบประมาณที่ลงไปตามจังหวัดของไทยนั้นมักจะลงไปที่จังหวัดใหญ่ เพราะนอกจากกรุงเทพฯ และนนทบุรีที่ได้งบประมาณมากจนเป็น outlier แล้ว งบประมาณตามพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ สัมพันธ์กับจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจอย่างมาก แต่งบประมาณต่อหัวประชากรมีลักษณะจังหวัดยิ่งรวยยิ่งได้มาก แม้จะสัมพันธ์กับรายได้ต่อหัวของประชากรในแต่ละจังหวัดไม่เข้มข้นมาก

งบประมาณที่ลงกรุงเทพฯ นนทบุรี รวมถึงจังหวัดใหญ่ แสดงให้เห็นว่าอำนาจการตัดสินใจในงบประมาณยังค่อนข้างรวมศูนย์อยู่มาก และช่วยรักษาสถานะความสำคัญของจังหวัดใหญ่ต่อไป

งบประมาณที่ลงไปตามจังหวัดนั้นยังไม่ได้อยู่ในอำนาจจัดการของท้องถิ่นเองเท่าไหร่นัก เนื่องจาก
• งบประมาณเป็นของกระทรวงต่างๆ ถึง 91% ซึ่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและราชการส่วนภูมิภาคเป็นผู้คุมงบประมาณ
• งบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดซึ่งเป็นงบเสริมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่อยู่ในอำนาจบริหารจัดการของผู้ว่าราชการจังหวัดมีอยู่อีก 2%
• งบประมาณที่นายกของท้องถิ่นสามารถจัดการได้เองเหลือเพียง 7% เท่านั้น ซึ่งยังต้องทำงานฝากและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของส่วนกลางและภูมิภาคอีกด้วย

การกระจายอำนาจที่ผ่านมายังไม่ใช่การกระจายอำนาจที่แท้จริง และศักยภาพของท้องถิ่นจึงยังถูกล็อกเอาไว้โดยโครงสร้างงบประมาณ ซึ่งจะต้องได้รับการปลดล็อกต่อไปให้ท้องถิ่นตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้

รัฐสวัสดิการ: ของข้าราชการ vs ของประชาชน

โดย ฉัตร คำแสง

ใครว่าไทยจัด ‘รัฐสวัสดิการ’ ดีๆ ไม่ได้? ประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการที่ดีแล้ว… สำหรับข้าราชการ

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ชวนจับตาการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการทำงบประมาณครั้งสุดท้ายของรัฐบาลนี้

งบประมาณรอบนี้มีหลายประเด็นให้จับตามอง โดยเฉพาะการประลองกำลังของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบายที่ตนเคยหาเสียงไว้ การจัดงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ตลอดจนการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นที่ยังไม่เกิดขึ้น

ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดคือการจัดงบประมาณสวัสดิการประชาชน ซึ่งเป็นไฮไลต์นโยบายหาเสียงเมื่อครั้งเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 แต่ 101 PUB พบว่า สวัสดิการของประชาชนยังคงตามไม่ทันสวัสดิการของราชการ โดยเฉพาะเมื่อผู้มีสิทธิรับสวัสดิการราชการมี 5.2 ล้านคน ขณะที่ประชากรทั้งหมดมี 66.2 ล้านคน

“รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อเพิ่มสวัสดิการตามที่เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2562 แม้จะเป็นการจัดงบประมาณปีสุดท้ายแล้ว แถมยังตั้งงบประมาณไม่พอสำหรับของเดิมอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เกิดขึ้นในยุคของประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกด้วย”

ในโลก VUCA อันผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ ไทยต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงและนวัตกรรมระดับโลกเพิ่มขึ้นโดยตลอด ความไม่มั่นคงจะฉุดรั้งให้คนไทยส่วนมากไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าทดลอง ถูกทิ้งห่างมากยิ่งขึ้น

การสร้างสวัสดิการประชาชนให้เพียงพอในปัจจุบัน (ร่วมกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมขนานใหญ่) จึงเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์และความกล้าหาญของภาครัฐ

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนพฤษภาคม 2565

19 ปีแฟนพันธุ์แท้กรุงเทพฯ การหวนมาทวงบัลลังก์ของ ‘อนุชิต เจริญศรีสมจิตร’

โดย กมลชนก คัชมาตย์, ธนกร เนตรจอมไพร และ พิมพ์ชนก พุกสุข

19 ปีก่อน อนุชิต เจริญศรีสมจิตร สร้างความตื่นตะลึงด้วยการคว้าแชมป์รายการ ‘แฟนพันธุ์แท้ ตอน กรุงเทพมหานคร’ ความแม่นยำและจำแม่นของเขานั้นเจนจัดขนาดที่ว่า รู้จักทุกตรอกซอกซอย ถนนสายเล็ก แม่น้ำสายน้อย อนุชิตตอบได้หมด!

ในวาระที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ กำลังจะมาถึงหลังห่างหายไปนานร่วมแปดปี 101 ชวนอนุชิตกลับมาเล่นเกมควิซ ถามตอบข้อมูลเกี่ยวกับเมืองหลวงประเทศไทย ไม่ว่าจะทายภาพจากสายไฟระโยงระยาง, เปิดป้ายทายเขตแดน วัดหัวจิตหัวใจและความแม่นยำของเจ้าของตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ ตอน กรุงเทพมหานครเมื่อสองทศวรรษก่อน ว่าความจำจะยังดีเหมือนเดิมไหม และ 19 ปีที่ผ่านมานี้ มีอะไรที่เปลี่ยนไปหรืออะไรที่ยังคงเดิมในสายตาเขาบ้าง

มรดกรักจากสหรัฐฯ ถึงพัทยา

โดย กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์ และ พิมพ์ชนก พุกสุข

ทศวรรษ 1970 ภายหลังการระเบิดตัวขึ้นของสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกากระโจนเข้าสู่สงครามด้วยการส่งนายทหารจีไอ รุกคืบเข้ารบในประเทศเวียดนาม สร้างฐานทัพที่ประเทศใกล้เคียงอย่างประเทศไทยเพื่อลำเลียงหน่วยรบและเป็นท่าอากาศยานสำหรับปฏิบัติภารกิจทางการทหาร

ห้วงยามที่ทหารอเมริกันเข้ามาปักหลักสร้างฐานบินอู่ตะเภา ยังผลให้ ‘พัทยา’ เมืองท่าเล็กๆ บริเวณใกล้เคียงกลายเป็นสถานที่พักผ่อนของเหล่าทหารต่างเมือง เปลี่ยนวิถีชีวิตชาวบ้านให้กลายเป็นการทำธุรกิจรับนักท่องเที่ยว และในเวลาต่อมาได้สร้างสัมพันธ์เหนียวแน่นระหว่างผู้มาเยือนกับเจ้าบ้าน แม้เมื่อสงครามจบลง ทหารอเมริกันหลายคนก็ยังหวนกลับมายังดินแดนที่ไม่เคยหลับใหลแห่งนี้อยู่บ่อยๆ

และในอีกทางหนึ่ง การมาเยือนของทหารจากสงครามเวียดนามนี่เองที่สร้างภาพจำพัทยาให้เป็นเมืองฉูดฉาดด้วยสุราและนารีอย่างที่ยากจะหาเมืองอื่นมาเทียบ ทั้งยังเป็นเช่นนั้นเสมอมาแม้เวลาล่วงผ่านมาแล้วหลายสิบปีหลังสงครามสงบลง

101 Documentary ชวนท่องอดีตผ่านคำบอกเล่าของพนักงานในบาร์ที่พัทยา และอดีตผู้ประสานงานการซ้อมรบระหว่างกองทัพไทยและอเมริกา

MAY DAY เราทุกคนคือ ‘คนทำงาน’

โดย กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์ และ ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“คนทำงานสร้างชาติ มิใช่ทรราชผู้ใด!”

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีคือวันแรงงานสากล วันแห่งการเฉลิมฉลองการต่อสู้เรียกร้องสิทธิแรงงานที่ผ่านมาในอดีต

แต่ท่ามกลางสภาวะ ‘ค่าครองชีพแพง ค่าแรงเท่าเดิม’ คุณภาพชีวิตถดถอย ความเหลื่อมล้ำพุ่งสูง โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองไม่เอื้อให้อำนาจและความมั่งคั่งกระจายไปสู่มือของ ‘คนทำงาน’ อย่างเป็นธรรม เส้นทางการต่อสู้ย่อมยังไม่สิ้นสุด

‘คนทำงาน’ ต้องเผชิญปัญหาอะไรบ้าง? อะไรคือข้อเรียกร้องของคน 99% ต่อคน 1%? ร่วมฟังเสียงหลากหลายจากผู้ร่วมเดินขบวน ‘#MAYDAY รวมพลังคนทำงาน’ และแชมป์-ฉัตรชัย พุ่มพวง สมาชิกสหภาพคนทำงาน

“คนทำงานสร้างชาติ มิใช่ทรราชผู้ใด!”

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีคือวันแรงงานสากล วันแห่งการเฉลิมฉลองการต่อสู้เรียกร้องสิทธิแรงงานที่ผ่านมาในอดีต

แต่ท่ามกลางสภาวะ ‘ค่าครองชีพแพง ค่าแรงเท่าเดิม’ คุณภาพชีวิตถดถอย ความเหลื่อมล้ำพุ่งสูง โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองไม่เอื้อให้อำนาจและความมั่งคั่งกระจายไปสู่มือของ ‘คนทำงาน’ อย่างเป็นธรรม เส้นทางการต่อสู้ย่อมยังไม่สิ้นสุด

‘คนทำงาน’ ต้องเผชิญปัญหาอะไรบ้าง? อะไรคือข้อเรียกร้องของคน 99% ต่อคน 1%? ร่วมฟังเสียงหลากหลายจากผู้ร่วมเดินขบวน ‘#MAYDAY รวมพลังคนทำงาน’ และแชมป์-ฉัตรชัย พุ่มพวง สมาชิกสหภาพคนทำงาน

‘ความจริงต้องห้าม’ ในคดีค้ามนุษย์

โดย เมธิชัย เตียวนะ และ วจนา วรรลยางกูร

จากปี 2558 ที่มีการเจอหลุมศพและค่ายกักกันชาวโรฮิงญาที่สงขลา นำไปสู่การสืบสวนคดีค้ามนุษย์อันสะท้อนภาพความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกัน ท่ามกลางผลประโยชน์มหาศาลที่ได้จากการค้าขายชีวิตมนุษย์ ปรากฏชื่อทหารระดับสูงของกองทัพเป็นผู้รับเงิน

นั่นเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นแรกที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์พบและโยงใยให้เขาเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายรายหาประโยชน์อยู่ในขบวนการนี้

รางวัลที่ปวีณได้จากการทำคดีนี้คือการต้องลี้ภัยไปออสเตรเลีย หลังมีคำสั่งย้ายเขาไปชายแดนใต้และมีการบีบให้ลาออก

นั่นคือสิ่งที่รัฐไทยปฏิบัติกับผู้ที่พยายามหาความจริงในคดีค้ามนุษย์อันน่าหดหู่

“เรื่องราวคดีค้ามนุษย์ที่ผมและทีมงานได้ไปสอบสวน มันเป็นข้อเท็จจริง เป็นความจริง ยังไงก็ลบล้างไม่ได้ จะขุดมาพูดเวลาไหนมันก็เป็นเรื่องจริงทั้งนั้น ถ้าคนนั้นมีความเป็นมนุษย์ เขาจะรู้สึกสะเทือนใจมากในสิ่งที่เกิดขึ้นและจะไม่ให้อภัยเลยกับคนที่กระทำความผิด”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.the101.world/paween-pongsirin-interview/

‘เศรษฐกิจซบเซา น้ำท่วม รถติด’ 10 ปีร้างเลือกตั้งสู่ความหวังเมืองพัทยา

โดย กองบรรณาธิการ

นับถอยหลังเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา 22 พฤษภาคม 2565 พร้อมๆ กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ชาวพัทยาหลายคนมีความหวัง หลังไม่มีเลือกตั้งนายกเมืองมากว่า 10 ปี

ปัญหาหลักของพัทยา เมืองท่องเที่ยวหลักที่เป็น ‘หม้อข้าว’ สำคัญของประเทศคือเศรษฐกิจซบเซาจากโควิด-19 การจราจรติดขัดเนื่องจากรถเยอะ และมีการขุดเจาะถนนทั่วบริเวณเมือง และน้ำท่วมทุกปี

101 ชวนผู้สมัครนายกเมืองพัทยา 4 คนเปิดวิสัยทัศน์แก้ไขเมือง และชวนคุยเรื่องกระจายอำนาจ

พวกเขามีนโยบายอะไร และมีความคิดเห็นต่อการกระจายอำนาจอย่างไร

รถติด, รถไฟฟ้าแพง, น้ำท่วม, PM2.5 – ส่องวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กับปัญหาคลาสสิกของคนกรุง

โดย กองบรรณาธิการ

รถติด, รถไฟฟ้าแพง, ฝุ่น, น้ำท่วม คือปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ว่าจะกี่ปีต่อกี่ปี ก็แก้ไม่หาย

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ 101 ชวนย้อนดูวิสัยทัศน์บางช่วงบางตอนของผู้สมัคร 5 คนที่เคยมาพูดคุยกับ 101 ทั้งชัชชาติ สิทธิพันธุ์, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ศิธา ทิวารี และสกลธี ภัททิยกุล ว่าพวกเขามีแนวคิดจะแก้ ‘ปัญหาคลาสสิก’ ของคนกรุงเทพฯ เหล่านี้กันอย่างไร

วิกฤตผ้าเหลืองบนทางแยกคุณค่าศีลธรรมแบบใหม่

โดย เมธิชัย เตียวนะ และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ข่าวเสียหายจากในวัด ทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องศีลธรรมกับพระสงฆ์ หลายคนมองว่านี่คือยุค ‘วิกฤตผ้าเหลือง’

ในยุคที่หลายคนหันหลังให้วัด ขณะเดียวกัน รัฐไทยและกลุ่มอนุรักษนิยมก็เชิดชู ‘ศีลธรรมอันดีงาม’ ให้เป็นแก่นแกนหลักของสังคม ในวันที่ศีลธรรมในสังคมไทยถูกตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา ศีลธรรมแบบไหนที่เรากำลังพูดถึง

วิกฤตผ้าเหลืองสะท้อนอะไรบนทางแยกระหว่างศีลธรรมแบบเก่ากับแบบใหม่ คุณค่าแบบไหนที่สังคมสมัยใหม่ควรยึดถือ

101 ชวน ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา ผู้เขียนหนังสือ ‘พุทธราชาชาตินิยม’ มาพูดคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.the101.world/suraphot-thaweesak-interview/

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.30 : ซูเปอร์ดีลเปลี่ยนนายกฯ?

ท่ามกลางสีสันและความคึกคักของกระแสเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ การเมืองใหญ่กำลังปรับขบวนเพื่อรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มาพร้อมกับข่าวลือเรื่องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีสำรอง

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.31 : รัฐประหาร LAZADA

การออกมา ‘แบนลาซาด้า’ ของเหล่าทัพอย่างพร้อมเพรียงกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ด้วยข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกับบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ด้วยเหตุผลทางการเมืองย่อมส่งผลสะเทือนอย่างยิ่ง

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.32 : โค้งสุดท้ายสนาม กทม. – นับหนึ่งสภาฯ สมัยสุดท้าย

จับตาและอ่านการเมืองของสนาม กทม. ช่วงโค้งสุดท้าย พร้อมวิเคราะห์การเมืองภาพใหญ่ในห้วงเวลาแห่งการรำลึก ‘เดือนพฤษภา’

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.33 : กรุงเทพฯ เขียวทั้งแผ่นดิน

พลันที่ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยคะแนนเกือบ 1.4 ล้านเสียง ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แรงกระเพื่อมก็ส่งผลตรงต่อการเมืองภาพใหญ่อย่างเลี่ยงไม่ได้ คำถามที่คอการเมืองต้องคิดต่อคือปรากฏการณ์ ‘เขียวทั้งแผ่นดิน’ ของกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนการเมืองไทยภาพใหญ่หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 One-on-One Ep.262 จากข้อเรียกร้องแรงงานสู่รัฐสวัสดิการ กับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ประเด็นเรื่องสวัสดิการแรงงานถูกพูดถึงและขับเคลื่อนมาเป็นเวลานาน และยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อประเด็น ‘รัฐสวัสดิการ’ อยู่ในข้อเรียกร้องของการประท้วงรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมา

ในวันที่ ‘ข้าวของแพง-ค่าแรงถูก’ เช่นนี้ ประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานถูกหยิบมาพูดถึงในหน้าสื่ออีกครั้ง ช่วงสัปดาห์ใกล้วันแรงงานนี้ 101 ชวน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ มาพูดคุยว่าด้วยเรื่อง ‘แรงงาน’ และ ‘รัฐสวัสดิการ’

สวัสดิการแรงงานควรเป็นอย่างไร อะไรคือสิทธิที่คนทำงานควรได้รับ ปัญหาของแรงงานไทยปัจจุบันคืออะไร และเส้นทางสู่ฝัน ‘รัฐสวัสดิการ’ จะเป็นจริงได้อย่างไรในเชิงรูปธรรม ติดตามได้ในรายการ 101 One-on-One

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

101 One-on-One Ep.263 กรุงเทพฯ เมืองที่บริหารยากที่สุดในปฐพี? กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

กว่า 2 ปีครึ่งที่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ประกาศลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้ชื่อของเขาเป็นตัวเต็งลำดับต้นๆ และเป็นแคนดิเดตที่มีความพร้อมด้านนโยบายมากที่สุดคนหนึ่ง

ถึงอย่างนั้น กรุงเทพฯ และสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ ก็ไม่เคยง่าย ความพร้อมและนโยบายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงอยู่ในช่วงเผชิญบททดสอบท้าทายสำคัญ

101 ชวน ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ พูดคุยถึงความท้าทายในสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ กลยุทธ์หาเสียง การปรับนโยบายระหว่างทาง และนโยบายทีเด็ดที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้จริง

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

101 One-on-One Ep.264: อนาคตฟิลิปปินส์ในยุคมาร์กอส 2.0 กับ อัครพงษ์ ค่ำคูณ

การเลือกตั้งใหญ่ของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า ‘บงบง มาร์กอส’ ลูกชายอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ชนะไปอย่างถล่มทลาย พาตระกูลมาร์กอสหวนคืนสู่ทำเนียบมาลากันยังอีกครั้งในรอบ 36 ปี แม้ยุคสมัยมาร์กอสจะได้ชื่อว่าเป็นช่วงเวลาอันดำมืดก็ตาม

ชัยชนะของตระกูลมาร์กอสอีกครั้งในวันนี้กำลังสะท้อนอะไรถึงสังคมการเมืองของฟิลิปปินส์ บ่งบอกอะไรถึงประชาธิปไตยในอาเซียน แล้ว ‘มาร์กอส 2.0’ จะพาไปฟิลิปปินส์ไปทางไหน จะถอยหลังกลับไปเหมือนยุคสมัยของพ่อเขาหรือไม่ …101 ชวน ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มาร่วมพูดคุยหาคำตอบในประเด็นเหล่านี้

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

101 One-on-One Ep.265 อ่านงบประมาณ – อ่านประเทศไทย 2566 กับ อธิภัทร มุทิตาเจริญ

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2566 กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย. 2565 นับเป็นแมตช์แรกของการประชุมสภาฯ รอบใหม่ในช่วงขวบปีสุดท้ายของรัฐบาล

นอกจากความสำคัญทางการเมืองแล้ว การจัดสรรงบประมาณยังส่งผลต่อความเป็นไปของประเทศอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะช่วงท่ามกลางวิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจ

101 ชวน รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งหลักคิดเรื่องงบประมาณประเทศคู่ขนานไปกับกระบวนการในระบบรัฐสภา

อะไรคือโจทย์ใหญ่ของระบบงบประมาณไทย รัฐไทยจัดงบเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ และเราจะผ่าตัดระบบงบประมาณได้อย่างไร

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

101 Public Forum : การบ้าน – การเมืองของผู้ว่าฯ กทม.

แม้ชัยชนะอย่างถล่มทลายของชัชชาติ สิทธิพันธ์ุในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่นัยสำคัญของผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีหลายเรื่องที่เราอาจยังคาดไม่ถึง

หลังฝุ่นหายตลบ 101 ชวนวิเคราะห์สนามเลือกตั้ง กทม. อย่างละเอียดอีกครั้ง อะไรคือโจทย์ท้าทายของผู้ว่าชื่อ ‘ชัชชาติ’ ผลเลือกตั้งสะท้อนดุลอำนาจของการเมืองใน กทม. และระดับชาติแค่ไหน และเราเห็นอะไรจากสนามเลือกตั้งตลอดกว่าสองเดือนที่ผ่านมา

ร่วมพูดคุยและวิเคราะห์โดย

– ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร workpointTODAY

ดำเนินรายการโดย สมคิด พุทธศรี และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save