fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมีนาคม 2564

Spotlight ประจำเดือนมีนาคม 2564

Digital Joins My Family

Digital joins ‘My Family’ : ครอบครัวยุคหน้าจอ ดิจิทัลขออยู่ด้วย

ตะดึ๊ง! เสียงแจ้งเตือนดังขึ้น กรุ๊ปครอบครัวของคุณได้รับคำขอเข้าร่วมกลุ่มจาก ‘ดิจิทัล’

คุณจะอนุญาตหรือไม่?

ในชีวิตจริงอาจไม่มีสัญญาณเตือนแบบนี้ รู้ตัวอีกที เทคโนโลยีดิจิทัลก็แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนทุกช่วงวัย อยู่ในทุกครัวเรือน และแน่นอน พาความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ทุกครอบครัว

ภาพลูกติดหน้าจอ พ่อแม่ติดโซเชียล เด็กเล็กใช้สมาร์ทโฟนเป็นก่อนอ่านเขียนได้คล่อง ห้องของวัยรุ่นเต็มไปด้วยอุปกรณ์เล่นเกม กล้อง ไมค์สารพัด หรือแม้กระทั่งข้อความแปลกๆ ที่ผู้ใหญ่ส่งต่อกันมาในไลน์ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนกลายเป็นเรื่องราวที่มีแทบทุกบ้าน

ดิจิทัลกำลังเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิด และความสัมพันธ์ในครอบครัวของเราไปตลอดกาล

101 ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอชวนคุณมาสำรวจโลกใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล วิธีใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ก้าวทันเทรนด์ใหม่ๆ ในสังคม ผ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ตลอดช่วงเดือนนี้ถึงเดือนมีนาคม

พร้อมไหม กับการใช้ชีวิตร่วมกับดิจิทัลในฐานะ ‘สมาชิกใหม่’ ของครอบครัวคุณ

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมีนาคม 2564

และแล้วเสือตัวที่ห้าก็ปรากฏ…บทเรียนจาก The Celtic Tiger ต่อประเทศไทย

โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

“การผงาดขึ้นมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกของเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ทำให้ชาติเหล่านี้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สี่เสือแห่งเอเชีย’ (The Four Asian Tigers) และทำให้แวดวงวิชาการเริ่มหันมาสนใจศึกษาบทบาทของรัฐราชการเพื่อการพัฒนากันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีการคาดเดากันว่า ‘ประเทศใดที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเสือตัวที่ห้า?’”

“และแล้วความน่าประหลาดใจก็ปรากฏ… ‘เสือตัวที่ห้า’ มิได้เกิดในเอเชียแต่กลับไปปรากฏตัวที่ชายหาดของฝั่งยุโรป ณ ประเทศไอร์แลนด์ พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของรัฐพัฒนารูปแบบใหม่”

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ พาไปมองบทบาทของรัฐที่พึงประสงค์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมองต้นแบบจากไอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น The Celtic Tiger โดยเรียกได้ว่าเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ห้าของโลก

“Sean O Riain ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย National University of Ireland Maynooth ได้ศึกษาบทบาทภาครัฐกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ และสรุปว่า รัฐพัฒนาของเสือเซลติกแตกต่างจากเสือแห่งเอเชียอย่างมาก โดยเขาเรียกรูปแบบรัฐพัฒนานี้ว่า ‘รัฐพัฒนาแบบยืดหยุ่น’ (Flexible Developmental State) ซึ่งต่อมาเขาได้เปลี่ยนคำเรียกเป็น ‘รัฐพัฒนาแบบเครือข่าย’ (Developmental Network State)”

“แทนที่จะมองเสือสี่ตัวแรก รัฐไทยควรมุ่งปฏิรูปโดยเรียนรู้จากเสือตัวที่ห้า และพยายามที่จะผลักดันตัวเองเป็นรัฐพัฒนาแบบเครือข่าย คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไร?”

เรียนไม่เก่งแล้วไง ตอนที่ 1

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงการเรียนหนังสือและการเล่นของเด็ก โดยเฉพาะชั้นเตรียมอนุบาลและอนุบาล ที่ควรให้เล่นแบบบูรณาการ

“มีเอกสารอ้างอิง มีตัวอย่างในต่างประเทศ มีตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกในประเทศ (ซึ่งนักเรียนของพวกเขาจบปริญญาตรีและโทกันมากมายแล้ว) ว่าการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยการเล่นตอนอนุบาลมีข้อดีมาก และไม่มีข้อเสียอะไรเลย”

“พูดง่ายๆ ว่าเด็กอ่านเขียนเรียนเลขได้หมดทุกคนในภายหลัง แต่จะอย่างไรการศึกษาไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการก็จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาด”

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตั้งตนเหนือศาลอื่น : พิทักษ์หรือบั่นทอนรัฐธรรมนูญ?

โดย ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการนับอายุความคดีโฮปเวลล์ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่พัฒนาตัวเองให้กลายเป็น ‘ศาลลำดับชั้นสูงสุด’ ที่มีอำนาจตรวจสอบคำพิพากษาของศาลอื่นๆ ทั้งปวง

ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ชวนมองประเด็นนี้ผ่านหลักการทางทฤษฎีเรื่องคดีร้องทุกข์ในทางรัฐธรรมนูญ เขตอำนาจที่ควรต้องเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ และการจำกัดอำนาจตนเองของศาลรัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้มอบหมายหน้าที่โดยตรงให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการพิพากษาคดีของศาลอื่นผ่านช่องทางในคดีร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ”

“การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เกิดช่องทางที่บุคคลทั้งหลายที่แพ้คดีในศาลต่างๆ จะยื่นคำร้องทุกข์มาที่ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะศาลลำดับชั้นสุดท้ายในคดีทุกประเภทเสมอ”

“ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนน้อยมาก ดังนั้นจึงมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยน้อยมากในการที่จะพิจารณาพิพากษาในเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญในทางการเมืองและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่นๆ”

ผู้พิพากษาที่ดีและผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

จากการอ่านหนังสือ ‘ผู้พิพากษาที่ดี’ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนคิดต่อถึง ‘ผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์’ อันเป็นปัญหาที่สัมพันธ์ในระดับโครงสร้างหรือวัฒนธรรมในฝ่ายตุลาการ

“แม้ทั้งระบบการศึกษาและกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าปมประเด็นสำคัญก็คือ การดำรงอยู่ของผู้พิพากษาที่ปราศจากการเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน”

“หากปราศจากความเชื่อมโยงใดๆ กับอำนาจของประชาชนหรือการตรวจสอบจากสาธารณชนในการปฏิบัติหน้าที่ก็อาจทำให้เกิดสภาวะที่ผู้พิพากษาหลุดลอยไปจากสังคม อันทำให้ไร้ซึ่งการตรวจสอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าจะมีข้อวิจารณ์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากเพียงใดก็ตาม

“ยิ่งในสภาวะที่ผู้พิพากษายึดติดกับสถาบันการเมืองที่ไม่สัมพันธ์กับประชาชนมากเป็นพิเศษก็ยิ่งมีโอกาสจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาที่รุนแรงมากขึ้น”

112 ปีของสนธิสัญญาแองโกล-สยาม: จากมุมของสี่รัฐมลายู กลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และเปอร์ลิส

โดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล

“หากพิจารณานโยบายของอังกฤษต่อรัฐมลายูทั้งสี่แล้วจะพบว่า แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับนโยบายของรัฐไทยที่กระทำต่อประชาชนในรัฐมลายูหนึ่งเดียวคือ รัฐปาตานี ที่ตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของไทย”

เนื่องในโอกาสครบรอบ 112 ปี สนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 อรอนงค์ ทิพย์พิมล ชวนทบทวนความสัมพันธ์ของสี่รัฐมลายู กลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และเปอร์ลิส กับสยาม ก่อนปี 1909 และฉายภาพมุมมองของสี่รัฐมลายูที่มีต่อสนธิสัญญาดังกล่าว

“มุมมองต่อเรื่องการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองของสี่รัฐมลายูกับสยามจึงมีความแตกต่างกัน ในขณะที่ฝ่ายสยามถือว่าการส่งต้นไม้คือการยอมสวามิภักดิ์ และถือว่ารัฐนั้นอยู่ภายใต้อำนาจและการปกครองของสยาม ส่วนรัฐมลายูมองว่าการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นแค่การสานสัมพันธไมตรี ซึ่งรัฐมลายูไม่ได้กระทำต่อรัฐสยามเพียงแห่งเดียว หากมีการส่งไปยังรัฐอื่นๆ ด้วย การอ้างว่าการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองแสดงว่ารัฐมลายูอยู่ภายใต้อำนาจของสยามจึงไม่ถูกต้องนัก ซึ่งจะเกี่ยวกับพันกับท่าทีของสี่รัฐมลายูต่อสนธิสัญญาแองโกล-สยามปี 1909”

“เมื่อรัฐมลายูทั้งสี่รับรู้ถึงข้อตกลงในสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ต่างก็ไม่พอใจและโกรธเคืองรัฐบาลไทยเป็นอย่างมากที่อังกฤษและสยามตกลงกันโดยที่ไม่ได้มีการปรึกษาหารือหรือไม่มีการบอกกล่าวให้สุลต่านสี่รัฐมลายูได้รับรู้”


“และหากสุลต่านทั้งสี่รัฐสามารถมองเห็นเหตุการณ์ในอนาคตล่วงหน้าได้เป็นร้อยปี ก็อาจจะรู้สึกยินดีแล้วที่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เพราะชะตากรรมของผู้นำและประชาชนในรัฐมลายูทั้งสี่กับรัฐปาตานีช่างต่างกันอย่างลิบลับ”

“สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ” บินหลา สันกาลาคีรี

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เราอยู่ในสังคมที่แทบจะคุยกันไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถเห็นพ้องกันทั้งหมดได้ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณเห็นพ้องหรือไม่เห็นพ้อง ปัญหาอยู่ที่คุณพูดไม่ได้ เพราะกติกาไม่เอื้อให้คุณพูด…

“พอเราเห็นน้องๆ นักศึกษาออกมาพูดแล้วโดนกระทำ เราก็รู้สึกว่าสังคมเป็นอะไรไป ทำไมไม่สามารถฟังได้ สังคมเราจะเต็มไปด้วยคนที่เซฟตัวเอง อ่อนแอ ขี้ขลาด สุดท้ายก็ถูกทำให้กลายเป็นคนแบบเดียวกันทั้งหมดเพื่อจะอยู่ในสังคมได้ สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ แล้วนำมาสู่ความพินาศในที่สุด ผมเลยเศร้า”

“ผมมองว่ากฎหมาย 112 อันตรายมากสำหรับการโต้แย้ง เป็นกฎหมายที่ไม่สามารถอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้ กฎหมายนี้ไม่ได้แปลว่าถ้าคุณดูหมิ่นแล้วมีความผิด แต่อาจจะรวมว่าแค่คุณพูดก็มีความผิด เพราะฉะนั้นต้องเริ่มด้วยการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง”

“เมืองไทยไม่ยอมแตะต้องกฎหมายฉบับนี้ เพราะกลัวจะไปละเมิดหรือแตะต้องพระมหากษัตริย์ด้วย ทำให้ทุกอย่างสะดุด เพราะฉะนั้นต้องเริ่มด้วยการแก้กฎหมายก่อน กรณีแบบนี้มีอยู่ตลอดเวลา เช่น ส.ศิวรักษ์ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งก็โดนฟ้องหลังจากที่พูดถึงพระนเรศวร ถ้าวิจารณ์พระนเรศวรไม่ได้ แล้วคุณมีสิทธิอะไรไปวิจารณ์พระเจ้าเอกทัศน์

“ถ้าพระเจ้าเอกทัศน์จะมีคนปกป้องบ้าง ชี้ให้เห็นว่ามีความดีหรือไม่ดีบ้าง ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ปุถุชน ไม่อย่างนั้นคุณก็หมดสิทธิที่จะเรียนรู้ แล้วเราจะเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม ถ้าเราไม่สามารถเอาข้อดีหรือข้อเสียในประวัติศาสตร์มาพูดถึงเพื่อจะแก้ไขสังคมปัจจุบันและอนาคตเราได้”

2035: จีนกับเกมเดิมพัน 15 ปี

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงความท้าทายของจีนในการก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งด้านเศรษฐกิจแทนที่สหรัฐฯ ภายในปี 2035

ในจีนเวลานี้ มีคำกล่าวแพร่หลายในวงเศรษฐกิจว่า โจทย์ใหญ่ที่สุดของแผนพัฒนา 5 ปีฉบับใหม่ของจีน (ค.ศ. 2021-2025) คือ จะทำอย่างไรให้ไม่ซ้ำรอยญี่ปุ่น? … พร้อมกับการประกาศแผน 5 ปีฉบับใหม่ จีนยังตั้งหมุดหมายสำคัญไว้ที่ปี ค.ศ. 2035 สิ่งที่จีนน่าจะคิดแต่ไม่ได้พูดออกมาอย่างเป็นทางการก็คือ จีนหวังจะก้าวขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ให้ได้อย่างช้าที่สุดภายในปี ค.ศ. 2035

นักวิเคราะห์ต่างชาติบางรายถึงกับบอกว่าเดิมพันครั้งนี้สำคัญนัก บริษัทวิจัยข้อมูลเศรษฐกิจชื่อ Capital Economics ที่กรุงลอนดอนออกบทวิเคราะห์ว่า ถ้าปี ค.ศ. 2035 จีนยังไม่สามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ จีนจะไม่มีทางแซงหน้าสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป ดังนั้น เวลา 15 ปีนี้จึงเป็นเดิมพันสำคัญว่าจีนจะรุ่งโรจน์ต่อไปหรือจะถูกสอยร่วงเสียก่อ

ความโดดเด่นที่สุดของแผนพัฒนา 5 ปีฉบับใหม่ของจีนคือ การยอมเติบโตต่ำลงในช่วง ค.ศ. 2021-2025 เพราะจีนต้องการหันมาทุ่มให้กับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการสร้างบุญใหม่ เป้าหมายเพื่อให้ในช่วงปี ค.ศ. 2025-2035 จีนยังสามารถเติบโตต่อไปได้ หลีกเลี่ยงการโตสูงในช่วงสั้น แต่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว

พล.ต.ท. หลวงพิชิตธุระการ ผู้ ‘สังหาร’ สี่อดีตรัฐมนตรี

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

ถ้าจะมีคดีสังหารครั้งไหนที่อื้อฉาวและสร้างมลทินมัวหมองแก่วงการตำรวจไทยมากที่สุด หนึ่งในนั้นย่อมต้องมีคดีสังหาร ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2492 บริเวณกิโลเมตรที่ 14-15 ถนนพหลโยธิน แน่นอน

เพราะผู้ลงมือนั้น กลับเป็นตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์นั่นเอง

กษิดิศ อนันทนาธร เล่าประวัติ พล.ต.ท. หลวงพิชิตธุระการ ตำรวจผู้สังหารสี่รัฐมนตรี เพียงเพราะพวกเขาถูกกล่าวหาว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล

“การกระทำของจำเลยผู้กระทำความผิดเหล่านี้ พอเห็นได้ว่าเป็นเครื่องมือของผู้อื่นที่ใช้ให้กระทำ”

อำนาจประชาชน-อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ : ทัศนะนักกฎหมายมหาชนก่อนคำตัดสินคดี

โดย วจนา วรรลยางกูร

ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 11 มี.ค. นี้ 101 ชวนอ่านความเห็นจากการเสวนาออนไลน์ Constitution Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา ครั้งที่ 2 จาก 5 นักกฎหมายมหาชนที่ชวนมองถึงอำนาจในการรับวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงเข้ามาในพรมแดนทางการเมือง ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาที่จะโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ จึงมองได้ว่าเป็นการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ”
– ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“การจะให้ศาลชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจนั้นต้องมีข้อขัดแย้ง ถ้าไม่มีข้อขัดแย้งศาลจะทำได้เพียงให้คำปรึกษาทางกฎหมาย”
– โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด

“ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำงานออกนอกขอบเขตบางเรื่องและค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ในเรื่องที่ควรกระทำ เพราะกรณีการแก้ไขแบบนี้ยังไงก็ต้องผ่านการทำประชามติอยู่ดี”
– สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ศาลรัฐธรรมนูญห้ามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ แต่หยุดการปฏิวัติรัฐธรรมนูญไม่ได้”
– เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ต้องขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ทำให้วิกฤตคลี่คลาย แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ไขได้ยากด้วยความตั้งใจของผู้ร่าง แต่หากกระบวนการนี้ติดขัดไปต่อไม่ได้ ประเทศก็จะถึงทางตัน”
– ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รถไฟฟ้าหลากสี : เมื่อสัญญาสัมปทานอาจศักดิ์สิทธิ์กว่าผลประโยชน์ของประชาชน

โดย กมลวรรณ มาดายัง

101 ชวนเจาะลึกเบื้องหลังราคารถไฟฟ้า การจัดทำสัมปทานระหว่างรัฐและเอกชน และข้อเสนอช่วยลดภาระประชาชนจากงานเสวนา ‘ค่าโดยสารรถไฟฟ้าหลากสีกับราคาที่ประชาชนต้องแบกรับ’ โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

“การประกาศปรับเพิ่มค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวขึ้นไปในอัตราสูงสุดถึง 104 บาทตลอดสาย ตามประกาศของ กทม. เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ได้สร้างความตระหนกตกใจ พร้อมกับเสียงวิจารณ์เซ็งแซ่ในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะคนที่จำเป็นต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำ”

“แม้สุดท้ายแล้ว กทม. จะยอมยกธงขาว ประกาศเลื่อนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่เรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็ยังคงเป็นประเด็นที่ชวนถกเถียงว่าทำไมประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพและคุณภาพชีวิต”

การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ภายใต้ระบอบโจราธิปไตย: อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติรูปแบบใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

โดย ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ เขียนถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองรูปแบบโจราธิปไตย จากรัฐที่ควรเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรแต่กลับกลายเป็นอาชญากรเสียเอง ซึ่งอาจนับเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21

“เมื่อรัฐตกอยู่ในสภาวะทางการเมืองที่ถูกควบคุมและขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มบุคคลขนาดเล็กกลุ่มหนึ่ง โดยผู้ที่ใช้อำนาจทางการเมืองถ่ายโอนทรัพยากรจำนวนมหาศาลของสังคมไปเป็นของตนเองหรือกลุ่มของตนเองแล้ว กรณีดังกล่าวอาจเรียกได้ว่ารัฐนั้นตกอยู่ในภาวะ ‘ระบอบการปกครองโดยโจร (kleptocratic regimes)’ หรือเรียกว่าการปกครองแบบ ‘โจราธิปไตย (kleptocracy)’ นั่นเอง

“วิกฤตทางการเมืองนี้เป็นผลพวงของอาชญากรรม ‘การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ (grand corruption)’ ที่เป็นการดำเนินการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง (high-ranking state officials) พร้อมกับการจัดให้มีระบบการยกเว้นความรับผิดชอบของผู้กระทำ (impunity) ไว้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้ว่าผู้กระทำมีอำนาจรัฐไว้เป็นเครื่องมือเสมือนแชลงเหล็กที่งัดทำลายสิ่งกีดขวางต่างๆ เพื่อเข้าไปกอบโกยทรัพย์สินทั้งหลายในบ้านให้เป็นประโยชน์ส่วนตน

“และที่เลวร้ายที่สุดก็คือการใช้แชลงเหล็กนี้ทำลายกระบวนการยุติธรรมที่เสมือนเป็นการฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษาความปลอดภัยของสังคมไปเลยเสียทีเดียว บ้านที่เปรียบเสมือนรัฐจึงตกอยู่ใต้การปกครองของโจรโดยสมบูรณ์”

ไทยเจริญ ใครเจริญ? : สำรวจความเหลื่อมล้ำไทย ผ่านส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติ

โดย สรงกรณ์ เตชวณิชย์พงศ์

“แนวคิดในการศึกษาถึงส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติเป็นแนวคิดที่มีการศึกษามาตั้งแต่อดีต เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ศึกษากิจกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างการผลิต เพื่อให้รับรู้ว่าผลประโยชน์ที่ได้จากผลผลิตนั้นไปตกอยู่กับใครในกระบวนการการผลิตเท่าไหร่บ้าง”

“ตามปกติแล้ว ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานในรายได้ประชาชาติจะมากกว่าส่วนแบ่งรายได้ของทุน เนื่องจากแรงงานในความหมายนี้หมายถึงคนที่ทำงานทุกคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม ซึ่งค่าแรงของแรงงานในที่นี้ย่อมรวมถึงค่าจ้างของ ซีอีโอ ผู้บริหาร เจ้าสัว หรือเจ้าของกิจการทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก…”

“แต่กระนั้น ทั้งสองส่วนแบ่งต่างก็เป็นสิ่งที่สะท้อนกันและกัน หากนายทุนที่เป็นเจ้าของปัจจัยทุนได้ส่วนแบ่งจากรายได้ประชาชาติมากขึ้น แรงงานก็จะได้ส่วนแบ่งน้อยลงไป และหากส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานลดลงในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ในกรณีหลังอาจหมายความว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อต่อปัจเจกบุคคลที่เป็นแรงงานเท่ากับนายทุนผู้เป็นเจ้าของปัจจัยทุน เพราะรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นกลับไปตกอยู่ในมือของนายทุนมากกว่า”

Jetin ให้ข้อสังเกตว่า ไทยมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงยุคทองของการพัฒนา แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบทางเศรษฐกิจได้ทำให้การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยเหลือเพียงการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงเท่านั้น ทำให้ระดับค่าจ้างของแรงงานทักษะสูงจะยังคงสูงอยู่

แต่สถานการณ์เดียวกันกลับไม่ได้เกิดกับแรงงานส่วนใหญ่ที่ประกอบไปด้วยแรงงานทักษะระดับกลาง แรงงานไร้ทักษะ รวมไปถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากไม่ใช่แรงงานส่วนที่ขาดแคลน”

เก่งแต่เกิด vs เก่งเพราะฝึกฝน?

โดย นำชัย ชีววิวรรธน์

แท้จริงแล้วมนุษย์ ‘เก่งมาตั้งแต่เกิด’ หรือ ‘เก่งเพราะการฝึกฝน’ บทความของ นำชัย ชีววิวรรธน์ มีคำตอบมาให้คุณ!

“ความเชื่อเรื่องคนเราเก่งมาแต่เกิดหรือเก่งจากการฝึกฝนกันแน่ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาช้านานในโลกตะวันตกนะครับ อย่างน้อยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ชัดเจนมาตั้งแต่ราว 150 ปีที่แล้ว และเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาทีไร ก็ต้องเอ่ยถึงชื่อคนคนนี้ครับ ฟรานซิส กอลตัน (Francis Galton)”

“หนังสือที่เขาเขียนขึ้นในปี 1869 ชื่อ Hereditary Genius (อัจฉริยะถ่ายทอดทางสายเลือดได้) จัดเป็นความพยายามทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกที่ศึกษาเกี่ยวกับอัจฉริยภาพอย่างเป็นระบบ”

“ภายในหนังสือเล่มนี้ กอลตันตั้งสมมติฐานว่าพวกลูกหลานของคนที่ ‘มีชื่อเสียง’ หรือ ‘ความโดดเด่น’ ในสาขาอาชีพใดอาชีพหนึ่ง มีโอกาสมากกว่าที่จะบรรลุ ‘การมีชื่อเสียง’ หรือ ‘ความโดดเด่น’ ในอาชีพนั้นๆ ไปด้วย”

อ่านหนังสือเรียนสมัยคณะราษฎร (พ.ศ. 2475 – 2500) : สิ่งที่คณะราษฎรอยากบอกประชาชน

โดย โกษม โกยทอง

โกษม โกยทอง เขียนถึงแบบเรียนในสมัยคณะราษฎร ช่วงปี 2475-2500 ที่สะท้อนรูปแบบการปกครองใหม่และค่านิยมใหม่ในสังคมช่วงนั้น

สิทธิที่จะไม่รับการตรวจสุขภาพจิต

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การตรวจสุขภาพจิตเด็กนักเรียนเป็นเรื่องสมควรหรือไม่? นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนไตร่ตรองว่าการตรวจสุขภาพจิตหรือการตรวจไอคิวเด็กนับเป็นการละเมิด ไม่มีมาตรการรองรับชัดเจน อีกทั้งเป็นการตีตราเด็ก และนำไปสู่การทำลายเซลฟ์เอสตีม

“การตรวจในลักษณะนี้ต้องมีการแจ้งเหตุผลจนกระทั่งผู้ปกครองเข้าใจชัดเจน และให้ความยินยอมเป็นรายบุคคล อีกทั้งไม่สามารถใช้หลักการ ‘ไม่ว่าอะไรแปลว่ายินยอม’ ประการหลังนี้หน่วยราชการทำเป็นประจำ”

“ลูกของเราเรียนหนังสืออยู่ดีๆ แล้วก็เรียนไม่เก่งก็แย่พออยู่แล้ว จู่ๆ มีคนมาบอกว่าไอคิวต่ำ นี่เป็นการตีตราไปที่ตัวเด็กอย่างไม่ควรให้อภัย เรามีคำแนะนำเสมอว่า การใช้วาจาทำร้ายเด็กจะมีค่าเท่ากับทำลายเซลฟ์เอสตีม ส่งผลให้เด็กหยุดพัฒนาหรือถดถอย เด็กวิ่งเล่นอยู่ดีๆ แล้วถูกประทับตราว่าไอคิวต่ำหรือสมาธิสั้นแล้วจับเข้าแถวเดินขึ้นรถไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องไม่สมควร”

“ถึงสำนักข่าวจะต้องถูกปิด เราก็ไม่ยอมทรยศหน้าที่ตัวเอง” เปิดใจสื่อพม่าในห้วงเวลารัฐประหาร

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

แทนที่จะยอมทำตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร สื่อพม่ากลับร่วมใจกันขัดขืน สื่ออิสระกว่า 50 แห่งออกแถลงการณ์ร่วมตอบโต้แถลงการณ์ของกระทรวงการสื่อสารว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อ พร้อมยืนยันทำหน้าที่ต่อไป ขณะเดียวกัน สื่อต่างๆ ยังพร้อมใจกันคว่ำบาตรไม่เสนอข่าวใดๆ ของคณะรัฐประหารและกองทัพ และนักข่าวจำนวนหนึ่งก็ตัดสินใจลาออกจากสำนักข่าวที่จะส่งตนไปทำข่าวการแถลงข่าวของกองทัพเพื่อแสดงการต่อต้าน

ท่ามกลางข่าวสถานการณ์รัฐประหารที่ทั่วทั้งโลกกำลังจับตามอง ความหาญกล้าทางจริยธรรมของสื่อมวลชนพม่าได้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาคนทั่วโลก ถึงแม้ล่าสุดจะมีนักข่าวถูกจับกุมไปแล้วอย่างน้อยราว 30 คน และยังมีความพยายามคุกคามสื่อจากกองทัพอีกหลายรูปแบบ แต่ดูเหมือนว่าสื่อพม่าก็ยังคงเดินหน้ารายงานความจริงให้สาธารณชนกันอย่างไม่ลดละ

101 สนทนากับส่วย วิน บ.ก.สำนักข่าว Myanmar Now และเจ้าของรางวัลแมกไซไซปี 2019 ถึงการทำงานของสื่อพม่าที่ยังคงยืนหยัดจรรยาบรรณวิชาชีพตัวเองอย่างแข็งแกร่งในสถานการณ์รัฐประหาร พร้อมคุยถึงประสบการณ์บนเส้นทางสื่อมวลชนของเขาที่ผ่านการถูกคุกคามมาแล้วบ่อยครั้ง ร้ายแรงสุดถึงขั้นถูกลอบยิง จนต้องย้ายไปอาศัยในออสเตรเลียถึงทุกวันนี้ แต่เขาก็ยังคงเดินหน้าบริหาร Myanmar Now และทำข่าวจากทางไกลอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงการทำข่าวรัฐประหารที่กำลังเกิดขึ้นนี้

“เราจะไปให้ความชอบธรรมกับคนกลุ่มหนึ่งที่แย่งอำนาจไปจากมือประชาชนและยังทำร้ายประชาชนได้อย่างไร…บางคนอาจจะบอกให้เรายอมๆ เขาไปบ้าง ยอมเรียกเขาว่าเป็นรัฐมนตรีหน่อย แล้วเราจะได้เปิดสำนักข่าวทำงานกันต่อได้ แต่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย เพราะสื่อมีหน้าที่ต้องยืนหยัดรายงานความจริง อยู่ข้างความถูกต้อง และอยู่ข้างประชาชนเท่านั้น ถึงสำนักข่าวจะต้องถูกปิด เราก็ไม่ยอมทรยศหน้าที่ตัวเอง จะโดนปิดก็ปิดไปเลย”

“ถ้าเราไม่มีนักข่าวหรือช่างภาพทำงานในพื้นที่เลย กองทัพก็จะทำร้ายประชาชนได้ง่ายๆ โดยปราศจากหลักฐาน เราไม่สามารถละทิ้งหน้าที่ของเราได้”

“นักข่าวหลายคนมีความคิดที่จะย้ายสำนักข่าวออกจากพม่ากลับไปที่ไทยเหมือนเดิม แต่ผมว่าคงไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เพราะการเมืองไทยเปลี่ยนไปมากจากเมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนนี้กองทัพไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นกันมาก และพวกเขาก็กำลังร่วมมือกันปราบปรามประชาชนของตัวเอง เพราะฉะนั้นผมไม่คิดว่าประเทศไทยจะปลอดภัยสำหรับสื่อมวลชนพม่าเหมือนแต่ก่อนแล้ว”

“ถ้าจะให้เปรียบเทียบการทำงานของสื่อไทยกับสื่อพม่าในตอนนี้ ผมคงเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะผมเข้าใจว่าสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศกำลังเจอสถานการณ์คนละแบบกัน แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่า ไม่ว่าสื่อจะอยู่ภายใต้สถานการณ์แบบไหนก็แล้วแต่ เราก็ไม่มีข้ออ้างที่จะละทิ้งจรรยาบรรณและจิตวิญญาณวิชาชีพตัวเองได้เลย”

“นักข่าวอย่างเราต้องไม่สบประมาทพลังของตัวเอง ต่อให้คุณจะอยู่ในสำนักข่าวเล็กๆ ไม่ได้มีทุนหนา…ดีกว่าสำนักข่าวใหญ่ๆ บางแห่งที่ถึงจะมีคนเยอะ ทุนหนาก็จริง แต่กลับไม่ได้รายงานข่าวอะไรที่เป็นประโยชน์ ไม่เจาะลึกเปิดโปงความจริง ไม่กล้าวิพากษ์ขุดคุ้ยผู้นำเผด็จการ มันก็เป็นสำนักข่าวที่ไร้ประโยชน์”

จิตใจอาวรณ์มาเล่าสู่กันฟัง

โดย แมท ช่างสุพรรณ

แมท ช่างสุพรรณ เขียนถึงหนังสือ “ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่” โดยคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งเปิดเผยให้ประวัติศาสตร์มุมใหม่ แบบที่ไม่มีแนวคิดชาตินิยมมาข้องเกี่ยว

“สมการประวัติศาสตร์ที่ปราศจากความภาคภูมิใจในชาติทำให้ความเปลี่ยนแปลงของคนทุกระดับตั้งแต่ไพร่ พระ ขุนนาง และกษัตริย์ ถูกเปิดเผยออกมาอย่างไม่ฝืนธรรมชาติ สรีระแห่งอาณาจักรที่ก่อตัวขึ้นจากการพึ่งพาและพึ่งพิงเพื่อผลประโยชน์ทำให้ความซับซ้อนของการเมืองการปกครองเข้าใจง่ายขึ้น”

“สิ่งที่น่าสนใจเมื่อความภูมิใจของชาติไม่มีผลต่อการศึกษาคือบทบาทของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์ถูกเทิดไว้เหนือสิ่งใดมาเกือบจะโดยตลอดในความเป็นชาติ การนำเสนออย่างตรงไปตรงมาจากหลักฐานทำให้ทราบว่าไม่มีวรรณกรรมสรรเสริญเยินยอวีรกรรมสมเด็จพระนเรศวรในสมัยนั้น …”

ปราบโกงอย่างไร สินบนถึงได้งอกงาม : มุมมองจากเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม

โดย ฉัตร คำแสง

ดัชนีชี้วัดคอร์รัปชันทั่วโลก (Global Corruption Barometer) พบว่า ในประเทศไทยช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ติดต่อใช้บริการภาครัฐ 24% ต้องจ่ายสินบน และผู้ใช้บริการรัฐมากถึง 88% คิดว่าคอร์รัปชันในภาครัฐเป็นปัญหาใหญ่

ฉัตร คำแสง พามองปัญหาสินบนในมุมมองเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมสินบนในไทยถึงยังงอกงามเรื่อยๆ แม้จะมีการปราบโกง

The 1st QUAD Summit: จีนคือภัยซ่อนเร้น

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

ถ้าจะให้สรุปการประชุมครั้งแรกของผู้นำ the Quad ออกมาเพียง 1 ประโยคคงต้องบอกว่า “จิตวิญญาณของ the Quad คือ จีนคือภัยซ่อนเร้น เพราะเราไม่เอ่ยถึงเขาตรงๆ แต่เราพูดเป็นนัยๆ ว่าเราต้องการปิดล้อมเขา โดยเราต้องหาเพื่อนมาช่วย และเพื่อนคนนั้นคืออาเซียน และเราจะเอาใจเพื่อนคนนี้โดยการให้วัคซีนโควิด-19 กับเขา”

ปิติ ศรีแสงนาม ชวนวิเคราะห์แถลงการณ์ร่วมของผู้นำ the Quad ที่มีใจความสำคัญคือการปิดล้อมจีน และแสวงหาการเป็นพันธมิตรจากอาเซียน

“แม้ว่าประธานาธิบดีจะเปลี่ยนจาก Trump เป็น Biden แต่ยุทธศาสตร์ซึ่งกำหนดทิศทางการเดินหน้าของสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงก็ไม่เคยเปลี่ยน และเป็นกรอบในการวางนโยบาย นั่นทำให้ Biden ซึ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2021 เริ่มพูดคุยกับพันธมิตร”

“จากแถลงการณ์ร่วมของผู้นำที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาวในนาม Quad Leaders’ Joint Statement: “The Spirit of the Quad” ในข้อแรกผู้นำทั้ง 4 ประเทศระบุทันทีในประโยคที่ 2 และ 3 (หลังการบอกในประโยคแรกว่า เราคือกลุ่มของ 4 ประเทศ) ว่า:
เรานำมุมมองที่หลากหลายและเป็นหนึ่งเดียวในวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เรามุ่งมั่นเพื่อภูมิภาคที่เสรี เปิดกว้าง ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive) มีสุขภาพดี ยึดมั่นด้วยค่านิยมประชาธิปไตย และไม่ถูกจำกัดด้วยการบีบบังคับ”

“การแถลงการณ์ในลักษณะดังกล่าวย่อมถูกตีความได้อย่างแน่นอนว่า ทั้ง 4 กำลังกล่าวถึงจีนและปฏิบัติการของจีนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมักจะกล่าวหาว่าเป็นปฏิบัติการที่ขัดแย้งกับแนวคิดเสรีและเปิดกว้างในการเดินเรือและการบินในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก”

Minari: เมล็ดพันธุ์เกาหลีใต้ กับการผลิดอกออกใบในอเมริกา

โดย จักรกริช สังขมณี

มินาริ เป็นพืชผักชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายขึ้นฉ่าย มีรสชาติ คุณค่า และกลิ่นของอาหารเกาหลี
มินาริ มักจะเติบโตได้ดีในรุ่นที่สองของการปลูก และสามารถเติบโตขยายพันธุ์โดยไม่ต้องการการดูแลอะไรมากมาย
มินาริ คือภาพแทนของเมล็ดพันธุ์เกาหลีใต้ กับการผลิดอกออกใบในอเมริกา

คอลัมน์ชาติพันธ์ฮันกุก จักรกริช สังขมณี เล่าเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของชาวเกาหลีและกระบวนการปรับตัวตั้งรกรากสู่ความฝันแบบอเมริกันชน ผ่านภาพยนตร์ มินาริ (Minari; 미나리 2021) ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขาในปีนี้

“การอพยพระลอกใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากรัฐบัญญัติการอพยพเข้าเมือง (Immigration Act) ของสหรัฐฯ ในปี 1965 ที่ยกเลิกการจำกัดโควตาจากแหล่งที่มาของผู้อพยพ และหันมาให้ความสำคัญกับการรวมญาติของสมาชิกครอบครัวของผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาก่อนหน้า ตลอดจนผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น หมอ พยาบาล และวิศวกรมากขึ้น ผลของการยกเลิกระบบโควตาทำให้มีผู้อพยพจากเอเชียหลั่งไหลเข้าสหรัฐฯ มากขึ้นเกือบสี่เท่าตัว”

“ในเกาหลีเองก็มีปัจจัยหลายประการในขณะนั้นที่ผลักดันให้มีผู้อพยพออกนอกประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแยกประเทศระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ การปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ตลอดจนนโยบายเศรษฐกิจที่ชี้นำโดยรัฐและมุ่งเน้นการสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้เกิดการผลักดันแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรม โดยปราศจากสวัสดิการ ค่าแรงที่เป็นธรรม และมาตรฐานการทำงานที่ดีพอ”
.
“เจค็อบและโมนิก้าถือว่าเป็นผู้อพยพรุ่นแรกของครอบครัว พวกเขาเป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย แรงกดดัน และข้อจำกัดมากมายในการบุกเบิกและวางรากฐานให้กับครอบครัวในสังคมใหม่ โชคดีที่ว่าผู้อพยพชาวเกาหลีในช่วง 1970-80 นั้นส่วนใหญ่แล้วจะมาจากกลุ่มคนที่มีการศึกษา รู้ภาษา เป็นชนชั้นกลางที่มีทักษะด้านอาชีพและการบริหารจัดการ เลยทำให้การเผชิญกับการตั้งรกรากใหม่นั้นอาจจะได้เปรียบกว่าผู้อพยพจากที่อื่นๆ ซึ่งอาจจะมาจากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า”

“แอนและเดวิด ลูกสาวและลูกชายของครอบครัวอีถือว่าเป็นคนรุ่นที่ 1.5 และรุ่นที่ 2 ของการอพยพ คนรุ่น 1.5 หมายถึงคนที่เกิดในเกาหลีและอพยพไปตั้งรกรากในดินแดนใหม่ตั้งแต่วัยเด็ก ส่วนคนรุ่นที่สองคือคนที่เกิดในประเทศที่พ่อแม่อพยพไปตั้งรกรากใหม่แล้ว คนทั้งสองรุ่นนี้มักประสบกับข้อจำกัดในการปรับตัวเข้าสู่สังคมวัฒนธรรมใหม่ไม่มากเท่ากับผู้อพยพรุ่นแรก เพราะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมใหม่ๆ พวกเขาพูดได้สองภาษา (bilingual) และมีเครือข่ายทางสังคมมากกว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขา”

“ซุนจา คุณยายซึ่งอพยพตามลูกสาวมายังอเมริกาเพื่ออยู่ร่วมกับครอบครัวที่เหลืออยู่ของเธอ เป็นภาพตัวแทนที่ดีของผู้อพยพจำนวนไม่น้อยซึ่งย้ายถิ่นในช่วงวัยที่ยากต่อการปรับตัวเข้าสู่สังคมใหม่ ซุนจาไม่ได้เชื่อในพระเจ้าและการสวดอธิษฐานเหมือนลูกหลานของเธอ เธอไม่คุ้นชินกับอาหารตะวันตก เธอไม่ได้มีบุคลิกเหมือนคุณย่าคุณยายแบบฝรั่ง เธอใช้ภาษาอังกฤษผิดๆ ถูกๆ และเธอมักจะประหลาดใจเมื่อเห็นคนอเมริกันที่ตัวอ้วนใหญ่

“อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่คุณยายผู้ซึ่งหลานชายของเธอมักบ่นว่า “มีกลิ่นเหมือนเกาหลี” (Grandma smells like Korea) นำติดตัวมาด้วย ไม่ใช่แค่เพียงกลิ่นของความเป็นเกาหลีเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงรากเหง้าและคุณค่าทางวัฒนธรรมในมิติต่างๆ ผ่านอาหารและวัตถุดิบหลากชนิด”

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนมีนาคม 2564

สปิริตสื่อไทยใต้ท็อปบูท บทเรียนจาก “ฐปณีย์-อิศรา-ประชาไท”

โดย ธิติ มีแต้ม

บทเรียนของสื่อไทยในห้วงยามที่สังคมปกครองด้วยคำสั่งคืออะไร

ธิติ มีแต้ม ชวน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ‘ข่าว 3 มิติ’ มนตรี จุ้ยม่วงศรี บ.ก.ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวน ‘สำนักข่าวอิศรา’ และ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการ ‘เว็บไซต์ประชาไท’ มาถอดบทเรียน เพื่อทบทวนบทบาทสื่อมวลชนไทย ภายใต้การควบคุมของ คสช.

เมื่อเพดานเสรีภาพถูกกดต่ำลง สปิริตสื่อจะฉายฉานอย่างไร

“IO คือการยืนยันว่าไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษในหมู่ชายชาติทหาร” – ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

“หัวใจของข่าวสืบสวนสอบสวน ไม่เลือกรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร ข่าวอุทยานราชภักดิ์ที่อิศรารายงาน ผมก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ผมไปลงพื้นที่เอง ไปคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ไม่มีใครมาห้าม” – มนตรี จุ้ยม่วงศรี

“ต้องยอมรับว่า คสช. ทำสำเร็จที่ทำให้สังคมไทยรู้สึกบั่นทอนและคุ้นชินกับการใช้วิธีนอกกฎหมาย” – จีรนุช เปรมชัยพร

ไทยในสมัยสงครามเย็น

โดย แมท ช่างสุพรรณ

แมท ช่างสุพรรณ เล่าถึงการสร้างนิยามและเอกลักษณ์ความเป็นไทยในช่วงสงครามเย็นผ่านหนังสือ Thailand in the Cold War ของ Matthew Phillips

“ความประทับใจเป็นพิเศษโดยส่วนตัวของผมใน Thailand in the Cold War มีสองประการ

ประการแรกคือการให้ภาพพัฒนาการของทิศทางความเป็นไทยที่ทำให้มองเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่เป็นจุดยึดเหนี่ยวหลักในการสร้างชาติคืออดีตที่ล่วงเลย หรือในแง่หนึ่งคือความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมภายใต้การปกครองสถาบันกษัตริย์ก่อนการมาถึงของคณะราษฎร

เพราะนั่นคือสิ่งที่โลกตะวันตกและความเป็นสมัยใหม่แบบสากลไม่มี เหมาะเจาะพอดีกับความต้องการเห็นสิ่งแปลกตาในสหรัฐอเมริกา”

“ประการต่อมาคือการอธิบายปรากฏการณ์โดยใช้ภาพลักษณ์ของบุคคลที่วางอยู่บนภาพของมหรสพเชิงวัฒนธรรมทำให้เห็นจุดตัดและจุดเปลี่ยนเชิงอุดมการณ์

ภาพเหตุการณ์งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่จัดโดย ป.พิบูลสงคราม ได้ขับเน้นภาพของกษัตริย์ให้สูงส่ง กษัตริย์ที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมในอดีตที่เรืองรองและควรหวงแหนจึงคืนกลับสู่ความสำคัญในเชิงจิตวิทยาการปกครองอีกครั้ง”

COVID-19 และความมั่นคงระหว่างประเทศที่ถูกท้าทาย

โดย ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบด้านความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศของวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่กลายเป็นภัยคุกคามแบบใหม่

เป็นไปได้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะส่งผลให้ความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยถูกท้าทาย เมื่อการแข่งขันของสองมหาอำนาจโลกหลังสถานการณ์โรคระบาดจะถูกกำหนดโดยความสามารถในการรับมือและการฟื้นฟูตัวเอง และอาจนำไปสู่การเกิดขึ้นของค่านิยม ‘เสรีประชาธิปไตยตะวันออก’

ยีน ชาร์ป กับ “สันติวิธีของคนดื้อ”

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ รำลึกถึง ยีน ชาร์ป นักวิชาการและนักปฏิบัติการด้าน “สันติวิธี” คนสำคัญ ผู้นำพา “สันติวิธี” ออกจากโลกของศีลธรรม สู่การเป็น “อาวุธทางการเมือง”

มองปัญหาการ ‘บูลลี่’ แบบไทยๆ กับ ธานี ชัยวัฒน์

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“การบูลลี่สะท้อนวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่ไม่ต้องรับผิดชอบ (unaccountability) เพราะบูลลี่คือการละเมิด ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือคำพูด และส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ บูลลี่จึงเป็นการใช้อำนาจที่ละเมิดคนอื่น ที่สำคัญคือ การบูลลี่ส่วนใหญ่เกิดจากการที่คนกระทำไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ”

101 สนทนากับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการบูลลี่กันแบบ ‘ไทยๆ’ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องโครงสร้างและวัฒนธรรมไทยที่สัมพันธ์กับการบูลลี่ ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนและทางไซเบอร์ ไปจนถึงลักษณะเฉพาะของภาษาที่เข้ามามีบทบาทในการบูลลี่

“เราเห็นเรื่องหนึ่งที่ชัดมากๆ คือ การที่คนกลุ่มใหญ่ (majority) รังแกคนกลุ่มน้อย (minority) โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่เรามองเห็นได้ชัดด้วยตา…ผมคิดว่า ตรงนี้มาจากค่านิยมไทยที่เราชอบให้ทุกคนเหมือนกัน (conformity) คืออยากให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และถ้ามองลึกลงไป อีกด้านของความคิดแบบนี้คือการที่เราไม่เคารพสิทธิของคนกลุ่มน้อยหรือคนอื่น ไม่ยอมรับความแตกต่าง ซึ่งเป็นรากฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย”

“เรามีภาษาที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม เช่น เรียกคนที่เกลียดว่าเพื่อนรัก และอีกอย่างหนึ่งคือ เวลาคนไทยด่า ชอบด่าแรงๆ แต่หน้ายิ้มๆ ไม่งั้นก็พูดให้เดาเอาเอง แต่หน้าออกชัดมาก หรือไม่ก็ด่าผ่านอีโมจิแทน เช่น บอกว่า “ไม่ฉลาดเลย” ตามมาด้วยอีโมจิรูปดอกไม้ ตรงนี้ก็แสดงถึงความสับสนอยู่ เพราะอยากด่าแต่ไม่อยากให้ใครรู้ อยากจะพูดแรงๆ แต่กลัวว่าแรงไป เดี๋ยวจะมีคนมาหาว่าเราเป็นคนไม่ดี ก็อยากจะซอฟต์ลง

เราก็เห็นความพยายามรักษาสมดุลตรงนี้อยู่ ซึ่งเราทำผ่านการใช้วจนภาษากับอวัจนภาษา สุดท้ายก็เลยผสมกันออกมาเป็นการประชดประชัน การเสียดสี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางภาษาแบบหนึ่ง”

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนมีนาคม 2564

101 One-on-One EP.217 “รื้อตำรวจ เปลี่ยนการเมืองไทย” กับ เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

โดย 101 One-on-One

จาก ‘ตั๋วช้าง’ ‘บ่อนการพนัน’ ถึง ‘การสลายการชุมนุม’ สังคมไทยกำลังตั้งคำถามใหญ่กับตำรวจ

ไม่นับอีกหลายเหตุการณ์ทำให้ข้ออ้างที่ว่า “ทำตามหน้าที่” หรือ “ทำตามกฎหมาย” ดูไร้ความหมาย ความชอบธรรมของตำรวจถูกท้าทาย ท่ามกลางความคับข้องใจว่า เหตุใด ‘คำสั่งนาย’ จึงใหญ่กว่าหลักเหตุผล

101 ชวน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สนทนาว่าด้วยการเมืองของการปฏิรูปตำรวจ และตำรวจกับการปฏิรูปการเมือง

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

101 One-on-One EP.218 “Smart Government & Platform Economy” กับ สุพจน์ เธียรวุฒิ

โดย 101 One-on-One

การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเปลี่ยนภูมิทัศน์ใหม่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของสังคมไทย แต่ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเต็มที่ ภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยมีหัวใจอยู่ที่การเป็น ‘รัฐบาลอัจฉริยะ’ (Smart Government) และ ‘รัฐบาลเปิด’ (Open Government)

101 ชวน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มองภาพใหญ่การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในสังคมไทย เงื่อนไขที่ภาครัฐต้องปรับตัว และการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

101 One-on-One EP.219 ม.112 คดีการเมือง และความเป็นธรรม กับ เยาวลักษ์ อนุพันธุ์

โดย 101 One-on-One

มาตรา 112 กลับมาเป็นโจทย์ทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อมีการใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมืองร่วมกับคดีทางการเมืองอื่นๆ ขณะเดียวกันกฎหมายนี้ก็ถูกวิพากษ์ทั้งจากสังคมไทยและในเวทีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

112 ในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ส่งผลแค่ไหนต่อกระบวนการยุติธรรม และเราจะเริ่มพูดคุยเรื่องนี้กันได้อย่างไร

101 ชวนคุยกับ เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถึงข้อสังเกตในการดำเนินคดี 112 ผลกระทบที่มีต่อสังคมและการเมือง และสาเหตุที่ต้องแก้ไขกฎหมายนี้

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

101 One-on-One EP.220 ‘1 ปี Milk Tea Alliance’ กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

โดย 101 One-on-One

จากสงครามคีย์บอร์ดระหว่างชาวเน็ตไทย-จีน สู่การรวมตัวอย่างหลวมๆ ของคนรุ่นใหม่ในเอเชีย ที่แม้จะถูกแบ่งแยกด้วยพรมแดน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต่อสู้กับเผด็จการและต่อต้านอิทธิพลจีน

พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘พันธมิตรชานม’ หรือ ‘Milk Tea Alliance’

เดือนเมษายนที่จะถึงนี้ Milk Tea Alliance จะมีอายุครบ 1 ปี ขณะที่การเคลื่อนไหวค่อยๆ ทวีความเข้มข้นและขยายวงกว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งไทย ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย และพม่า พร้อมด้วยแรงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ในอีกหลายชาติเอเชีย

101 ชวน วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุยถึงการเคลื่อนไหวตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของ Milk Tea Alliance พร้อมมองทิศทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในภูมิภาค

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save