fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2565

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2565

อ่านประวัติศาสตร์ ‘สาธิตจุฬาฯ’ เรื่องเล่าลบเลือนของศิษย์เก่าผู้เกือบจะได้เป็นเจ้าฟ้า (?)

โดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ กฤติน ธ.

จากความสนใจในประวัติศาสตร์พื้นที่รอบจุฬาฯ ของผู้เขียน นำไปสู่การตามหาข้อมูลที่ขาดหายไปของศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ คนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ข้อมูลหลายส่วนถูกลบเลือน

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ กฤติน ธ. เล่าเรื่องการค้นหาประวัติการศึกษาที่หายไปของหม่อมเจ้าวัชเรศร มหิดล (วัชเรศร วิวัชรวงศ์) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงที่เคยศึกษาที่สาธิตจุฬาฯ อันจะทำให้เห็นชิ้นส่วนเรื่องราวของบุคคลสำคัญที่ไม่ถูกบันทึกไว้

“เรื่องที่ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักเรียนสาธิตจุฬาฯ ที่ทันรุ่นนั้น เนื่องจากในช่วงเช้าของทุกวันจะมีเสียงหวอของรถเจ้าหน้าที่นำขบวนเสด็จฯ ซึ่งจะมาส่งท่านในช่วงหลังเวลากิจกรรมหน้าเสาธง”

อยู่เองได้ โตเองเป็น ตอนที่ 2

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“เหตุผลที่เราจำเป็นต้องให้เด็ก ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น’ เพราะนี่เป็นยุคสมัยใหม่ เราพ้นระยะที่จะจับเด็กอ้าปากแล้วป้อนมาเรียบร้อยแล้ว พ่อแม่อยู่บ้านป้อนศีลธรรม ครูอยู่โรงเรียนป้อนความรู้ เราเชื่อว่าศตวรรษที่ 21 เด็กๆ จะไปไม่รอดด้วยศีลธรรมและความรู้
“…เด็กๆ จะรอดได้ด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีความสามารถ executive function (EF)”

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนคิดถึงการเลี้ยงลูกให้ ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น’ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากในระบบการศึกษาที่ไม่ปฏิรูปเสียที หนทางที่มีจึงอาจกลับมาที่พ่อแม่แบบ ‘เราทำเองได้ เราทำเองเป็น’

“อายุมากเท่าไรยิ่งพบเรื่องซับซ้อนมากขึ้น การตัดสินใจยากขึ้น เดิมพันสูงขึ้น และความเสี่ยงสูงขึ้น ถ้าเด็กไม่สามารถฝึกการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองตั้งแต่แรกจะไม่มีวงจรประสาท ‘อยู่เองได้โตเองเป็น’ นี้ไว้ใช้งานในอนาคต”

“ปัญหาของพวกเราคือเราไม่มีเวลา…พ่อแม่ชนชั้นไหนก็ส่งลูกไปโรงเรียนเรียนหนังสือและทำการบ้านไม่มีสาระ อีกทั้งอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่คับแคบเหลวไหลทำลายความสามารถอยู่เองได้โตเองเป็นจนหมดสิ้นในเวลา 12 ปีของชั้นประถมถึงมัธยม”

กาลครั้งหนึ่งในอินเดีย RRR (Rise Roar Revolt)

โดย นรา

คอลัมน์ Deep Focus เดือนนี้ ขอแนะนำให้คุณชม ‘RRR’ หนังอินเดียที่ ‘นรา’ ชื่นชมว่า “อภิมหาสนุกคูณสองเติมไม้ยมก ตบท้ายด้วยเครื่องหมายไปยาลใหญ่” กำกับโดย อาส. อาส. ราจาโมลลี

“บทวิจารณ์จำนวนมากที่เขียนถึง RRR สรุปย่นย่อได้ว่า หนังโดดเด่นมากในส่วนของงานสร้าง ซึ่งยิ่งใหญ่ตระการตา การแสดง ความบันเทิงระดับเอกอุ และบทภาพยนตร์”

“บทภาพยนตร์ของเรื่องนี้มีคุณสมบัติและองค์ประกอบมากมายที่โดยปกติทั่วไปแล้ว เป็นสิ่งที่คนเขียนบทพยายามหลีกเลี่ยง เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นหนังเลว … อย่างไรก็ตาม บทหนังที่เขียนโดยอาส. อาส. ราจาโมลลี ร่วมกับอัล วีเจนดรา ปราสาด มือเขียนบทคู่ใจ ก็อยู่ในเกณฑ์ดีแบบไร้ข้อสงสัย และเขียนออกมาได้อย่างชาญฉลาด”

“ประการสำคัญคือ การดุ่มเดินหน้าเข้าหา ‘ความไม่สมจริง’ แบบตั้งใจพุ่งเข้าชน แทนที่จะหลีกเลี่ยงหรือหาวิธีกลบเกลื่อนอำพราง หนังกลับสร้างโลกของเรื่องแต่งที่มีบุคลิกเฉพาะตัวโดดเด่น โม้สะบั้นหั่นแหลกเกินจริง”

รื้อการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไทย เปลี่ยน ‘นักกฎหมายใบ้’ ให้เป็น ‘ผู้พิทักษ์สิทธิประชาชน’

โดย มุนินทร์ พงศาปาน

“เหตุใดระบบการศึกษากฎหมายของไทยซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2440 จึงไม่สามารถผลิตนักกฎหมายที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยและก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับกลายเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการสร้างความชอบธรรมและขับเคลื่อนระบอบเผด็จการอำนาจนิยมและจารีตนิยม”

มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ปัญหาและชวนคิดถึงวิธีการ ‘รื้อ’ ระบบการศึกษากฎหมายไทยทั้งในระดับอุดมศึกษาและในทางวิชาชีพ เพื่อไม่ให้นักกฎหมายเป็น ‘ตู้ฎีกาเคลื่อนที่’

“การที่สำนักอบรมเนติไม่สามารถฝึกปฏิบัตินักกฎหมายให้เป็นเนติบัณฑิตได้อย่างแท้จริง คงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สภาทนายความต้องจัดหลักสูตรอบรมการว่าความสำหรับผู้ที่จะขอใบอนุญาตว่าความแยกต่างหาก ทำให้การมีคุณวุฒิเนติบัณฑิตไทยอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะเป็น ‘ทนายว่าความ’ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดในสายตาชาวโลก”

“เราได้นักศึกษากฎหมายหัวก้าวหน้ากล้าโต้แย้งโต้เถียงเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย แต่กลับค่อยๆ เงียบเสียงลงเมื่อกลายเป็นบัณฑิตเดินออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาอบรมหลังจากนั้นไม่ได้มุ่งเน้นสร้าง ‘นักกฎหมายหัวก้าวหน้า’ แต่เป็น ‘นักกฎหมายหัวสี่เหลี่ยมที่อยู่ในกรอบ’ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจาก ‘นักศึกษากฎหมายหัวก้าวหน้า’ กลายเป็น ‘นักกฎหมายใบ้’ ในท้ายที่สุด”

“หากการปฏิรูปการเมืองและกฎหมายไม่ได้รวมการปฏิรูปกระบวนการผลิตนักกฎหมายอยู่ด้วย…เราก็จะมีนักกฎหมายพันธุ์เดิมอีกหลายคนที่พร้อมจะเป็น ‘เนติบริกร’ หรือพร้อมที่จะนิ่งเฉยเพื่อให้เผด็จการฟื้นคืนชีพและสืบทอดอำนาจอย่างไม่มีวันจบสิ้น”

และในวันพรุ่งนี้ 101 ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเวทีสาธารณะชวนนักกฎหมายจากกระบวนการยุติธรรม แวดวงวิชาการ ภาครัฐและภาคประชาชน พูดคุยถึงแนวทางการปฏิรูประบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษานิติศาสตร์ระดับสากล ตั้งคำถามกับระบบการเรียนนิติศาสตร์ของไทยใน ‘โลกเก่า’ ที่มุ่งเตรียมความพร้อมให้นิสิตนักศึกษาสู่วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ สู่การปฏิรูปกระบวนการสร้างนักกฎหมายให้เหมาะสมกับ ‘โลกใหม่’ เท่าทันและรอบด้านต่อระบบนิเวศของกระบวนการยุติธรรมในอนาคต

ความแตกต่างระหว่างสองผู้นำ

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“เพียงระยะเวลาแค่ไม่ถึงเดือน คุณชัชชาติมาพร้อมกับภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำแบบใหม่ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากผู้นำอีกคนหนึ่งที่อยู่มายาวนานถึง 8 ปี”

“คนหนึ่งเป็น commander ออกคำสั่งอย่างเดียวแบบทหาร จากบนลงล่าง หลงตัวเอง เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง อีกคนเป็น leader รับฟังคนทุกฝ่าย และชักจูงให้ผู้คนมาทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อเป้าหมายเดียวกัน”

“ในการบริหารบ้านเมืองภายใต้สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ เราอยากได้ผู้นำแบบใด”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เปรียบเทียบความแตกต่างในบทบาทของผู้นำ 2 คน ระหว่างนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

สำรวจจุดแข็งประเทศไทย

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

“ปัจจุบันเรามักได้ยินแต่ข่าวร้าย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังรุมเร้า แม้วิกฤตโควิด-19 จะเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่โงหัวได้เต็มที่ ขณะที่วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร และวิกฤตเงินเฟ้อ ก็เข้ามาถาโถม แต่หากมองในมิติภูมิรัฐศาสตร์ ในเวทีการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศไทยกลับกำลังเนื้อหอม”

“นั่นหมายความว่า ท่ามกลางข่าวร้าย ประเทศไทยก็ยังมีดีอยู่ โดยผู้เขียนจะใช้กรอบความคิดแบบพลังอำนาจของชาติ 6 มิติ STEEP-M อันได้แก่ มิติสังคม (Social – S) มิติเทคโนโลยี (Technology – T) มิติเศรษฐกิจ (Economy – E) มิติสิ่งแวดล้อม และพลังงาน (Environment and Energy – E) มิติการเมือง (Politics – P) และมิติการทหาร ความมั่นคง (Military and Security – M) มาวิเคราะห์ว่า จุดแข็งของประเทศไทยอยู่ที่ตรงไหน”

“จุดเด่นที่สุดของประเทศไทยคือ ‘ความเป็นกลาง’ เราเป็นกลางในทุกมิติ และเราต้องรักษาความเป็นกลางเหล่านี้ไว้เพื่อให้ไทยเป็นมหาอำนาจกลางในเวทีการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก”

“ในมิติรายได้ ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางในกลุ่มบน (upper-middle income country) ตามการจัดประเภทของธนาคารโลก ในมิติความสามารถทางการแข่งขัน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 141 เขตเศรษฐกิจ ตามการจัดอันดับ Global Competitiveness Index ปี 2019 โดย WEF และเราเองก็มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจระดับ Very Easy ในอันดับที่ 21 จาก 190 เขตเศรษฐกิจ ตามการจัดอันดับ Ease of Doing Business โดยธนาคารโลก”

ปิติ ศรีแสงนาม สำรวจจุดแข็งของประเทศไทยท่ามกลางช่วงวิกฤต ผ่านกรอบความคิดแบบพลังอำนาจของชาติใน 6 มิติ (STEEP-M)

The Old Economies Strike Back: เมื่อ ‘เศรษฐกิจเก่า’ กระชากกลับ

โดย สันติธาร เสถียรไทย

“ปี 2022 เป็นปีที่แปลก”

“ในขณะที่เรากำลังเตรียมพร้อมรับมือเทรนด์เศรษฐกิจแห่งอนาคตในโลกหลังโควิด เช่น การมาของเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) กลับเกิดปรากฏการณ์ที่นักวเคราะห์การเงินบางคนเรียกว่า ‘โลกเก่ากระชากกลับ’ หรือ The Old Economies Strike Back เมื่อ คลื่น ‘เศรษฐกิจเก่า’ กลับมาซัดรุนแรงจนคลื่นเศรษฐกิจใหม่ต้องถอย”

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึง การกลับมาของ ‘เทรนด์เศรษฐกิจเก่า’ ก่อนยุคโควิด อย่างอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เศรษฐกิจออฟไลน์ และการทำงานในออฟฟิศ นำไปสู่คำถามว่า โลกจะกลับไปสู่ยุคก่อนโควิดอย่างถาวร หรือจะเป็นกระชากกลับสู่กระแสเก่าเพียงชั่วคราว

‘ใจจำลอง’ พี่ต้องคอยร่ำร้อง เพราะน้องไม่เคยจริงใจ

โดย ‘กัลปพฤกษ์’

‘กัลปพฤกษ์’ เขียนถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘ใจจำลอง’ (2021) โดยผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ที่เล่าถึงกลุ่มหนุ่มสาวผู้ออกเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่ง ‘กัลปพฤกษ์’ มองว่าหนังลำดับล่าสุดของอโนชานี้เป็นเสมือนบอร์ดเกมให้คนดูชวนขบคิด หาคำตอบเพื่อเติมคำในช่องว่างเป็นอย่างยิ่ง

“‘ใจจำลอง’ เป็นเพียงหนังเล็กๆ ความยาวกระชับเพียง 68 นาที ที่เล่าด้วยน้ำเสียงส่วนตัว มิใช่หนังฟอร์มใหญ่ที่เล่นประเด็นเนื้อหาเกินตัวอะไร ทั้งยังมีความเรื่อยๆ ง่ายๆ ไม่ใฝ่สูงทะเยอทะยานเหมือนงานชิ้นก่อนๆ อย่าง ‘เจ้านกกระจอก’ (2009) หรือ ‘ดาวคะนอง’ (2016) เสียด้วยซ้ำ”

” โดยข้อแตกต่างสำคัญใน ‘ใจจำลอง’ ก็คือ ผู้กำกับไม่ได้ดัดจริตที่จะทำตัวเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ อีกต่อไป หากกลับใช้หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนกลเกมหมากกระดานฝ่าด่านถอดรหัสสัญลักษณ์ โดยผู้กำกับทำหน้าที่เป็นนางกวักชักชวนผู้ชมมานั่งล้อมวงร่วมเล่นเกมด้วยกันในฐานะเจ้ามือ ‘รู้หรือไม่ว่าตัวละครนี้ ฉากนี้ สิ่งนี้มีความหมายว่าอะไร ใครตอบได้เอาไปเลยข้อละสิบคะแนน!’”

“‘ใจจำลอง’ จึงเป็นหนังที่รวบรวมเอาเกร็ดเหตุการณ์ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์เคยประสบมา แล้วนำมาเล่าผ่านตัวละครที่เธอรู้สึกสนใจ โดยไม่ได้ให้ความหวังเลยว่าเนื้อหาเรื่องราวจะได้รับการต่อยอดพัฒนาหาข้อมูลเชิงลึกมาถ่ายทอดให้คนดูได้รับรู้ เพราะผู้กำกับไม่ใช่ครูที่จะต้องเตรียมเนื้อหามาสอน”

‘ไม่มีให้จำ-ไม่ทำให้ลืม’ ความทรงจำ 120 ปีและอนุสรณ์สถานของขบวนการผู้มีบุญแห่งบ้านสะพือ

โดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

‘ไม่มีให้จำ’ – เมื่อประวัติศาสตร์การปราบปรามกบฏผู้มีบุญในบ้านสะพือเริ่มเจือจางจากความทรงจำของชาวบ้าน กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ใครบางคนเลือกจดจำ แต่ใครหลายคนกลับไม่สามารถควานหาข้อมูลมาใส่ในความทรงจำได้ การเกิดขึ้นของงานทำบุญแด่ผู้ล่วงลับผู้มีบุญจึงเป็นการฟื้นความทรงจำครั้งใหญ่ และเป็นจุดกำเนิดของโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานผู้มีบุญที่จะ ‘ไม่ทำให้ลืม’ ต่อประวัติศาสตร์นี้

สุดารัตน์ พรมสีใหม่ พาลงไปสำรวจความทรงจำผู้มีบุญของชาวบ้านสะพือในรอบ 120 ปี และมองความเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนกับรัฐสยามในปี 2444

“กบฏผีบุญ ผีบ้าผีบุญ กบฏผีบาปผีบุญ หรือขบวนการผีบุญ ล้วนเป็นชื่อเรียกกลุ่มที่ลุกต่อต้านรัฐสยาม ‘ผู้มีบุญ’ สื่อถึงการตั้งองค์ตัวแทนในกลุ่มที่เชื่อว่าเป็นผู้มีบุญมาเกิด และปลดปล่อยให้ชาวบ้านได้มีความหวังว่าจะมีชีวิตที่อยู่ดีมีสุข”

“ส่วนรัฐสยามเรียกว่า ‘ผีบุญ’ เนื่องจากผู้มีบุญมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา และมีการใช้ความเชื่อทางไสยศาสตร์มาอยู่ในขบวนด้วย ส่วน ‘ผีบ้าผีบุญ’ หรือ ‘ผีบาปผีบุญ’ เป็นคำที่ต่อมาเรียกกันอย่างติดปากและเรียกในลักษณะลดทอนกลุ่มให้เป็นคนไม่ปกติ ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้เห็นว่ารัฐมีอำนาจชอบธรรมในการปราบกลุ่มคนเหล่านี้ได้”

“ในขณะที่ส่วนใหญ่ชาวบ้านสะพือจดจำเหตุการณ์ขบวนการผู้มีบุญด้วยชื่อ ‘ศึกโนนโพธิ์’ ซึ่งเป็นชื่อสถานที่ที่ผู้มีบุญมาตั้งฐานทัพ ก่อนที่จะถูกปราบโดยรัฐสยามใช้ปืนใหญ่ยิงมาจนทำให้เกิดผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน”

“การทำบุญในวันนี้ถือเป็นพิธีสำคัญ เพราะเป็นวันที่ตรงกับเสียงปืนใหญ่เพื่อปราบผู้มีบุญดังขึ้นตามคำสั่งจากพระที่นั่งวิมานเมฆ ลงวันที่ 3 พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก 121 ระบุให้รับทราบจำนวนผีบุญ และ “เหนว่าควรจะประหารชีวิตให้หลายๆ แห่ง ในที่ซึ่งมีผู้นิยมนับถือ เพื่อให้เปนการปรากฏ จะได้สิ้นความนับถือ”

“จริงๆ ก็มีบ้างนะที่มีเสียงคนถามว่าการสร้างอนุสรณ์สถาน หรือการพูดประวัติศาสตร์เรื่องนี้จะเป็นการไปฟื้นความขัดแย้ง หรือปลุกระดมอะไรหรือเปล่า แต่พระอาจารย์คิดว่าเราทำบุญ ใครผิดก็ว่าไปตามผิด เขาตายไปแล้วก็ทำบุญให้เขา”

“ปีศาจอยู่ในรายละเอียด” ชำแหละ PDPA เมื่อช่องโหว่กฎหมายอาจพรากสิทธิคุ้มครองข้อมูลเราได้ทุกเมื่อ กับ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“ที่จริงแล้วผมว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ถูกสร้างมาดีมาก เพราะมันเอาแบบอย่างมาจากกฎหมายต่างประเทศที่ได้มาตรฐาน แต่ในการบังคับใช้จริง ต้องไปดูที่รายละเอียดในประกาศเหล่านี้ มันมีข้อยกเว้นต่างๆ อยู่ แล้วถ้าเราไม่ระมัดระวังข้อยกเว้นหรือนิยามบางตัว มันก็อาจทำให้ความคุ้มครองที่เราเชื่อว่าเราจะได้มัน อาจจะหายไปก็ได้…เรื่องแบบนี้ถ้าเราดูผ่านๆ อาจจะไม่เห็น อย่างตอนแรกผมเองก็ไม่ได้สังเกต แต่พออ่านๆ ไปถึงได้เริ่มมองเห็น คำที่คนชอบพูดกันว่า ‘ปีศาจอยู่ในรายละเอียด’ คือเรื่องนี้เลย”

“ตัวอย่างเช่น มาตรา 4 วรรค 3 ที่สุดท้ายมันถูกเอามาใช้เป็นช่องทางในการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับกิจการต่างๆ ได้ และเราก็พบว่ามันสามารถยกเว้นกิจการได้เยอะมากถึง 22 กิจการ รวมถึงมาตรา 4 วรรค 2 ที่เปิดช่องเอาไว้ให้สามารถยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับกิจการที่นอกเหนือจาก 6 ข้อยกเว้นที่ระบุไว้ในมาตรา 4 วรรค 1 ได้อีก แค่ไปตราเป็นพระราชกฤษฎีกาก็พอ”

“กฎหมายนี้ยังจะทำให้รัฐมนตรีดิจิทัลฯ มีอำนาจมากๆ…เขาเป็นคนที่มีอำนาจในการออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นมาแล้วตอนที่รัฐมนตรีสามารถงดเว้นให้ทั้ง 22 กิจการไม่ถูกบังคับใช้มาถึง 2 ปี ในกรณีที่แย่สุด ถ้ามีกิจการใดกิจการหนึ่งสามารถวิ่งเต้นขอให้รัฐมนตรีช่วยออกพระราชกฤษฎีกางดเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับกิจการนั้นทั้งหมดเลย ก็เท่ากับว่าเราในฐานะประชาชนจะไม่เหลือการคุ้มครองในกิจการนั้นทันที”

“กฎหมายฉบับนี้อาจเปรียบเป็นเหมือนผ้าห่มผืนใหญ่ๆ ที่ถูกออกแบบให้ใช้ห่มปกคลุมเพื่อคุ้มครองข้อมูลของเราได้ แต่มันก็มีข้อยกเว้นไว้บ้าง ก็เหมือนการเจาะรูผ้าห่มไว้ในบางจุด ถ้าดูตามมาตรา 4 วรรค 1 ก็เท่ากับว่าผ้าห่มถูกเจาะรูอยู่ 6 รู แล้วมาตรา 4 วรรค 2 ก็บอกอีกว่ารัฐมนตรีดิจิทัลฯ เจาะรูเพิ่มได้อีก มันก็น่ากลัวว่าไปมาผ้าห่มผืนนี้อาจมีรูเล็กรูใหญ่อยู่เต็มไปหมดจนไม่เหลือสภาพความเป็นผ้าห่มอีกต่อไป นี่เป็นเรื่องอันตรายมาก”

101 สนทนากับ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ชวนชำแหละกฎหมาย PDPA พร้อมเปิดช่องโหว่กฎหมายที่อาจทำให้ข้อมูลประชาชนไม่ได้รับคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น

ทำไมซีรีส์เกาหลี เขาเขียนบทกันเก่งจัง

โดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่างเขียนถึงเบื้องหลังการเขียนบทซีรีส์ของเกาหลีใต้ ที่มีระบบคุณภาพคอยหนุนอยู่เบื้องหลัง

“การเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกาหลีใต้มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ สำหรับสื่อบันเทิงมากมาย ปัจจุบันเกาหลีใต้มีสถานทีโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า 70 สถานี ทั้งที่เป็นของรัฐอย่าง KBS (Korean Boardcasting System) ยังมีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของเอกชน ช่องสาธารณะและช่องเคเบิลทีวี ยังไม่รวมกับแพลตฟอร์มบนออนไลน์อีก
“ทุกช่องทางแข่งขันกันสูงมากในการแย่งชิงเรตติ้ง และละครซีรีส์เป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดคนดูให้อยู่กับแพลตฟอร์มนั้นๆ ฉะนั้นการจัดหาบุคลากรหน้าใหม่ เลือดใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่ บทที่น่าสนใจย่อมเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ”

“ในขั้นตอนการเขียนการทำงาน นักเขียนบทจะมีทีมผู้ช่วยที่คอยทำหน้าที่ในการจัดหาข้อมูล ทำวิจัย หรือการเขียนบทส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นรายละเอียด ที่ผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์สั่งลงมา เช่น การทำบทเพื่อรองรับ product placement ในซีรีส์
“ซีรีส์เกาหลีให้ความสำคัญมากและเป็นช่องทางหนึ่งในการหารายได้ให้ผู้ผลิต ในทีมผู้ผลิตละคร ถึงกับมีตำแหน่ง marketing producer ทำหน้าที่ในการติดต่อกับแบรนด์ต่างๆ ที่สนใจจะทำ product placement”

เมื่อสันติวิธีคือความผิดบาป: อ่านชีวิต ‘จ้าวจื่อหยาง’ นักปฏิรูปหัวก้าวหน้ากับอิสรภาพที่หายไปในเทียนอันเหมิน 1989

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

“จ้าวจื่อหยางเป็นสมาชิกพรรคผู้ยึดมั่นในจุดยืนของการประนีประนอมและรับฟังเสียงของประชาชน ในขณะที่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ในพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเติ้งเสี่ยวผิง ต้องการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อยุติการประท้วงที่ปะทุขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน”

“วันที่ 19 พฤษภาคม ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม จ้าวจื่อหยางที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ตัดสินใจเดินทางเข้าเจรจากับกลุ่มนักศึกษาที่อดอาหารประท้วงรัฐบาลจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เขากล่าวปราศรัยขอให้ผู้ชุมนุมยุติการอดอาหาร พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าทุกปัญหาที่ผู้ชุมนุมต้องการให้รัฐบาลจีนแก้ไขจะสามารถเจรจาและดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้”

“…ชีวิตอันโชติช่วงของเขาจำต้องดำดิ่งลงเหวลึกทันทีหลังจากการตัดสินใจเข้าประนีประนอมกับผู้ชุมนุมด้วยสันติวิธี การปราศรัยในวันนั้นคือการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายของจ้าวจื่อหยาง เขาถูกทางการจีนกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักรับรองของทางการจีนนับแต่นั้น และไม่มีสิทธิแสดงความเห็นทางการเมืองใดๆ อีกต่อไป เรียกได้ว่าการเจรจากับนักศึกษา ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 19 พฤษภาคม 1989 คือบทบาทสุดท้ายของเขาในฐานะสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน”

เนื่องในช่วงครบรอบ 33 ปี เหตุการณ์สังการหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ชวนอ่านเรื่องราวชีวิตของ ‘จ้าวจื่อหยาง’ อดีตผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ถูกคุมขังจนวันสุดท้ายของชีวิต เพราะเข้าเจรจากับนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989

“ทางสายกลางคือคำตอบ” มองลับลวงพรางในนโยบายกัญชาเสรีกับ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล

โดย วจนา วรรลยางกูร

นับถอยหลัง 9 มิ.ย. นี้ กัญชาจะถูกปลดออกจากรายชื่อยาเสพติด ขณะที่ยังไม่มีการออกมาตรการควบคุมอย่างรอบคอบ

คำถามสำคัญคือ สุดท้ายใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากนโยบายกัญชาเสรี?

101 พูดคุยกับ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health แคนาดา ถึงข้อสังเกตในนโยบายกัญชาและมาตรการควบคุมที่ยังไม่ถี่ถ้วน

“กัญชาทางการแพทย์มีประโยชน์ ตรงนี้ไม่มีใครขัดขวาง แต่ที่ทำให้คนสับสนคือ ฝ่ายนโยบายจะอ้างเรื่องประโยชน์ทางการแพทย์ตลอด แต่พอนโยบายออกมาจริงๆ กลับเป็นนโยบายกัญชาเสรี คล้ายว่าขึ้นต้นอย่างหนึ่งแต่ลงท้ายเป็นอีกอย่างหนึ่ง”

“การโปรโมตกัญชาเพื่อเศรษฐกิจต้องทำจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยให้กระทรวงสาธารณสุขคอยท้วงติงว่าระมัดระวังผลเสียทางด้านสาธารณสุขด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเราไปเอาการส่งเสริมการค้ามาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข”

“สิ่งที่เรากำลังทำคือการปล่อยให้ขายช่อดอกกันได้เสรีและราคาถูก เอื้อธุรกิจ แต่มาคุมสารกัดเข้มข้นสูง ซึ่งนโยบายนี้ไม่ได้มีความสามารถในการควบคุมการเสพในทางที่ผิด”

“นโยบายของไทย ท่านรัฐมนตรีอนุทิน (ชาญวีรกุล) พูดตลอดเวลาว่า ไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อนันทนาการ แต่มาตรการของเรากลับอ่อนกว่าประเทศที่อนุญาตให้ใช้ในเชิงนันทนาการได้เสียอีก”

ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ต้องขัดใจทุกฝ่าย ตอนที่ 1: เกษตรไทยใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

“หากถามนักเศรษฐศาสตร์ว่าสิ่งใดจำเป็นที่สุดสำหรับการพัฒนาประเทศไทย ณ วันนี้ คำตอบคงหนีไม่พ้นว่า ‘ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ’ ด้วยการยกระดับเทคโนโลยี ส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อรับมือกับความผันผวนรุนแรงและการแข่งขันอันเข้มข้นในตลาดโลก…แต่ถูกเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นครับ”

“เมื่อเราเอาเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมาวางเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก วิถีของไทยจะโดดเด่นออกมาอย่างชัดเจน เพราะเรายังไม่สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ตามศักยภาพเลยด้วยซ้ำ”

“สัดส่วนภาคเกษตรของเราใหญ่ผิดแผกแตกต่างจากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ จนทำให้ภาคเกษตรกลายเป็นที่รวมความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่สำคัญแหล่งหนึ่งของสังคม”

“เมื่อดูข้อมูลภายในของเราเองอย่างสำนักงานสถิติแห่งชาติก็พบว่า รายได้ของเกษตร (รวมป่าไม้และประมง) ขยับตัวน้อยมากในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7 ในรอบ 7 ปีหลัง”

“บทเรียนจากทั่วโลกบอกเราว่า ภาคเกษตรจะเป็น ‘ฟาร์มสุข’ ของสังคมได้ จำเป็นต้องลดขนาดลงให้เหมาะสม”

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เขียนถึงแนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ภายใต้ปัญหาการมีภาคเกษตรที่ใหญ่และเป็นศูนย์ความยากจน-เหลื่อมล้ำของสังคม

จีนต้องการอะไรจากสหรัฐฯ และทำไมสหรัฐฯ ให้จีนไม่ได้

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“ในวงการทูตจีน มีการพูดทีเล่นทีจริงว่า การสนทนาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับจีนจะต้องเริ่มด้วยการกล่าว ‘รหัสพาสเวิร์ด’ เสียก่อน ประตูการพูดคุยจึงจะเปิดได้ ในอดีตทุกครั้งที่พูดคุยกัน ผู้นำสหรัฐฯ ต้องกล่าวยืนยัน ‘นโยบายจีนเดียว’ ก่อนเริ่มประชุม แต่ในปัจจุบัน คำกล่าวยืนยันที่จีนเรียกร้องจากฝ่ายสหรัฐฯ ขยายเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่วงการทูตจีนเรียกว่า ‘สี่ไม่ หนึ่งมิประสงค์’”

“สี่ไม่ ได้แก่ ฝ่ายสหรัฐฯ ต้องยืนยันว่า ไม่ได้พยายามก่อสงครามเย็นรอบใหม่ ไม่ได้พยายามเปลี่ยนระบบการปกครองของจีน ไม่ได้พยายามแสวงพันธมิตรต่อต้านจีน ไม่ได้สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน และมิประสงค์จะสร้างความขัดแย้งกับจีน ฝ่ายจีนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ถ้าไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานเหล่านี้ ก็ไม่ต้องคุยกัน”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง คำขอของจีนต่อสหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ขัดแย้งและต่อต้านจีน ซึ่งสหรัฐฯ ให้ไม่ได้

“… วันนี้ในเชิงจิตวิทยาลึกๆ จีนยังคงปรารถนาการยอมรับ แต่มากไปกว่านั้นคือจีนมองว่าตนใหญ่และแข็งแกร่งพอที่จะเรียกร้องให้สหรัฐฯ เคารพในวิถีและจุดยืนของจีน ส่วนสหรัฐฯ นั้นให้ได้เพียงกล่าวตามประโยคที่จีนขอ แต่เลือกให้ความหมาย เงื่อนไข และปฏิบัติแตกต่างจากที่จีนต้องการอย่างสิ้นเชิง”

กระสุนลั่นกลางโรงบรรเลงดุริยางค์: ลัทธิปัจเจกชนสุดขั้วกับการขยายตัวเองของระบบทุนนิยม

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

จากเหตุกราดยิงในอเมริกา ธเนศ อาภรณ์สุวรรณวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมรุนแรงโดยมองผ่านพัฒนาการทางสังคมอเมริกานับแต่อดีต

“การปะทุขึ้นของการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการใช้อาวุธปืนเพื่อเป็นเครื่องมือยุติการมีชีวิตของปัจเจกโดยมุ่งไปที่ชุมชนใกล้ตัวเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนนั้น เป็นคำตอบว่าคนอเมริกันจำนวนหนึ่งพร้อมจะทำลายสังคมอเมริกันแบบทุนสมัยใหม่ลงไปในทุกเวลาที่พวกเขามีโอกาส”

“ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้กำลังบอกว่าสังคมอเมริกันที่บรรลุความสำเร็จในการผลิต การประดิษฐ์ และสร้างสรรพสิ่งนานัปการนั้น ไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างและบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ทุกคนให้เป็นปัจเจกชนที่สมบูรณ์ในตัวเองได้
“คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถวิ่งตามบันไดดาราและระบบบริหารจัดการอันทรงประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยเครื่องมือล้ำยุคร้อยแปดอย่าง พวกเขาตกบันไดและพลาดขบวนรถเที่ยวต่างๆ ที่บอกว่าจะพาพวกเขาไปยังจุดหมายที่ดีกว่า ที่มีความสุข ความมั่งคั่งและปรารถนาอะไรในโลกก็ได้”

สังคมวิทยาแห่งตัวเลข : เมื่อโลกหมุนไปด้วยตัวชี้วัด

โดย อัครพัชร์ เจริญพานิช

“โลกที่เราอยู่มีความสลับซับซ้อนอยู่มาก โดยเฉพาะในทางสังคม จนอาจเรียกได้ว่าคนๆ หนึ่งแตกต่างกัน และไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นได้ และในการทำความเข้าใจความซับซ้อนนี้ การวัดเชิงปริมาณเป็นวิธีการที่เป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม การวัดลดทอนความซับซ้อนเหล่านี้ให้เหลือเพียงแค่ตัวเลขที่สะท้อนสิ่งที่ต้องการวัดก็ทำให้ความแตกต่างของสิ่งต่างๆ จำนวนมากที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวถูกละเลยไป”

อัครพัชร์ เจริญพานิช เขียนถึงสังคมวิทยาแห่งตัวเลข เมื่อการวัดเชิงปริมาณกำลังลดทอนความซับซ้อนหรือรายละเอียดสิ่งที่ถูกวัดจนเป็นการละเลยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสิ่งนั้น และอาจเกิดการสร้างความจริงใหม่ตามการวัดนั้นๆ

“การวัดทำให้ความเป็นเอกลักษณ์ของของสิ่งหนึ่งถูกมองข้ามไป ทำให้สามารถเปรียบเทียบสิ่งของที่ถูกวัดได้ อีกนัยหนึ่ง การวัดสร้างความเหมือนและความต่างระหว่างสิ่งของที่ถูกวัด เช่น จำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยสามารถใช้วัดความสามารถของอาจารย์ได้ก็จริง แต่ในโลกความเป็นจริง อาจารย์คนหนึ่งทำงานที่หลากหลาย ทั้งงานสอนและงานบริหารซึ่งการใช้จำนวนการอ้างอิงเพียงอย่างเดียวจึงลดทอนคุณค่าที่มีอยู่ของอาจารย์”

“นอกเหนือจากนั้น การวัดอาจทำให้นำสิ่งที่ไม่ควรเปรียบเทียบกันมาเปรียบเทียบกัน เช่น การใช้จำนวนการอ้างอิงเพื่อเปรียบเทียบอาจารย์ต่างสายวิชาเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะแต่ละสายวิชาย่อมได้รับการอ้างอิงไม่เท่ากันอยู่แล้ว เนื่องจากมีจำนวนนักวิจัยในแต่ละสายวิชาไม่เท่ากัน”

“การลดทอนความซับซ้อนของโลกด้วยการวัดนั้นทรงพลัง เพราะตัวเลข ‘ดูเหมือน’ มีความเป็นกลางเสมอ (objective) อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ก่อนที่ตัวชี้วัดจะถูกสร้างขึ้นมาได้ จำเป็นต้องเลือกวิธีการวัดเสียก่อน และกระบวนการนี้อาศัยความคิดเห็นหรือประสบการณ์ส่วนบุคคล (subjective) ค่อนข้างมากและแต่ละคนก็มีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน”

ย้อนดูบทบาทและชีวิตของ ‘ภรรยาคณะราษฎร’ ที่ประวัติศาสตร์ฉบับปิตาธิปไตยไม่เคยกล่าวถึง

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

“ประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์สยามเมื่อครา 2475 และการเมืองการปกครองไทยในยุคสมัยของคณะราษฎรในความรับรู้ของบุคคลทั่วไป รวมถึงในหนังสือตำราเรียนประวัติศาสตร์ ล้วนกล่าวถึงเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคณะราษฎรที่ขับเคลื่อนไปด้วยบทบาทของผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่”

“น้อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้ที่มีส่วนทำให้การปฏิวัติ การต่อสู้เพื่อทวงคืนอำนาจอธิปไตย การสร้างสายธารแห่งประชาธิปไตย และการเอาตัวรอดท่ามกลางเหตุบ้านการเมืองที่พลิกผันไปของเหล่าคณะราษฎรนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้”

“ในขณะที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักกล่าวถึงบทบาทของนักปฏิวัติชายเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เบื้องหลังความสำเร็จและชัยชนะในหน้าประวัติศาสตร์ ต่างมีผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้นั้นไม่มากก็น้อย

“รวมถึงการเมืองการปกครองหลังการอภิวัฒน์สยามก็มีผู้หญิงหลายต่อหลายคนเข้ามามีส่วนร่วมกับเกมการเมืองและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ภรรยาของคณะราษฎร’ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องการเมือง และมีใจยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่น้อยไปกว่าสามีของพวกเธอ”

101 ชวนอ่านเรื่องราวของพูนศุข พนมยงค์, ละเอียด พิบูลสงคราม และบุญหลง พหลพลพยุหเสนา คู่ชีวิตของเหล่าคณะราษฎร ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่มีในหน้าประวัติศาสตร์ฉบับปิตาธิปไตย

เมื่อการดูหนัง-ฟังเพลงไม่ใช่แค่รสนิยมส่วนตัว: การผงาดขึ้นของทุนนิยมดิจิทัล และลัทธิเสรีนิยมใหม่

โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“ทุกวันนี้ผู้บริโภคสื่อส่วนใหญ่ย่อมคุ้นเคยกับการดูหนัง ฟังเพลง และรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างดี หากใครยังบอกว่านี่เป็นเรื่องใหม่ ก็คง ‘เชย’ อยู่ไม่น้อย แต่หากมองย้อนกลับไป การให้บริการเสียงและภาพผ่านอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกเป็นภาษาวิชาการนิเทศศาสตร์ว่า Over-the-Top (OTT) เพิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้นเอง”

“พูดให้ถึงที่สุด บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้ทำกำไรอย่างเดียว ทว่าอาจยังมีเป้าหมายทางการเมืองและอุดมการณ์แห่งรัฐอีกด้วย”

“พัฒนาการที่เป็นเครือข่ายและพลังของเทคโนโลยีทำให้ทุนนิยมดิจิทัลไม่มีข้อจำกัดทางสังคม เศรษฐกิจ และรัฐชาติ จนเริ่มก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ชีวิตประจำวันของผู้คนผ่านบริการที่คุ้นเคยต่างๆ โดยเฉพาะการบันเทิงที่บ้าน (home entertainment)”

“ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราจึงเห็นทุนนิยมดิจิทัลมีฐานะเป็นหุ้นส่วนใหญ่ (senior partner) ของสถาบันที่ไม่ใช่ธุรกิจ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ สังคมนักวิชาชีพ และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ และในทุกวันนี้ ทุนนิยมดิจิทัลก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่หุ้นส่วนเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาไปสู่การยึดบทบาทของสถาบันเหล่านั้นโดยตรง (direct take over) ทุนนิยมดิจิทัลจึงเข้ามาทำหน้าที่ผลิตซ้ำทางสังคมแทนที่สถาบันทางสังคมแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา มากขึ้นเรื่อยๆ”

“ทุนนิยมดิจิทัลครองอำนาจนำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการศึกษา อุตสาหกรรมบันเทิงในบ้าน ระบบสาธารณสุข ตลาดทุน ระบบป้องกันประเทศ การทูตและนโยบายต่างประเทศ ไปจนถึงซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงชาติมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรปและเอเชีย ไม่เพียงเท่านั้น ทุนนิยมดิจิทัลยังเป็นจักรวรรดินิยมในศตวรรษที่ 21 ที่ล่าเมืองขึ้นทั่วโลก รวมทั้งบ้านเราด้วย”

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ชวนมองการผงาดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของบริการ OTT ซึ่งเป็นภาพแทนของการเติบโตของระบบทุนนิยมดิจิทัลและแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่กำลังมีบทบาทแทรกซึมในทั่วทุกมุมโลกและในทุกมิติของสังคม

เชื่อมความรู้ สู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศที่ก้าวทันโลก คุยกับ อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก การกำหนดนโยบายการต่างประเทศและการแสวงหาเครื่องมือทางการทูตเพื่อดำเนินนโยบายการต่างประเทศให้ตอบสนองและปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ถือเป็นหนทางที่จะทำให้ประเทศไทยดำรงอยู่ในโลกได้อย่างมั่นคง

การรื้อฟื้น ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ International Studies Center กลับขึ้นมาในปี 2562 จึงเป็นไปเพื่อการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาระหว่างประเทศให้ตรงจุด ระดมความรู้ ความคิด ความเห็น และเชื่อมโยงเครือข่ายนโยบายการต่างประเทศไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม รวมไปถึงการเผยแพร่ความรู้การต่างประเทศไทย-การเมืองระหว่างประเทศสู่สาธารณชน เพื่อเสริมเอกภาพในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศไทยในระยะยาว

ในห้วงเวลาที่การต่างประเทศไทยเผชิญต่อความท้าทายครั้งสำคัญ 101 สนทนากับ ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกและการปรับปรุงนโยบายการต่างประเทศไทยด้วยองค์ความรู้ ไปจนถึงเอกภาพของการต่างประเทศไทยและนโยบายการทูตแบบไม้ไผ่กลางความผันผวน

………

“หากดูในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นว่าการต่างประเทศมีวิธีคิดได้หลากหลายมุมมอง จึงมีความพยายามจะระดมข้อมูลจากแง่มุมที่หลากหลาย จากหลากหลายฝ่ายเข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบาย ซึ่งนี่เป็นจุดที่ประเทศไทยยังทำค่อนข้างน้อยกว่า”

“บทบาทของศูนย์ฯ เน้นไปเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศไม่มีเวลาคิด นักการทูตหมดเวลาไปกับการนำนโยบายลงไปปฏิบัติและจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ขณะที่โลกปัจจุบันเปลี่ยนเร็ว เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ศูนย์ฯ ต้องช่วยคิดคือประเด็นระยะกลางและระยะยาว … เช่น ปีที่แล้ว ศูนย์ฯ ทำเรื่องนโยบายการต่างประเทศไทยในทศวรรษ 2020 ส่วนปีนี้กำลังทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะเครื่องมือทางการทูตว่า มีอะไรบ้างที่กระทรวงต่างประเทศควรนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ … สิ่งหนึ่งที่ศูนย์ฯ สนใจและเห็นว่าสำคัญ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องมีการศึกษาคือ mega trends ที่เกิดขึ้นใหม่ในโลกและส่งผลกระทบต่อการต่างประเทศ”

“ศูนย์ฯ ยังไปไม่ถึงขั้นสร้างความรู้ออกมาเอง แต่ก็พยายามผลิตความรู้ออกมา เพียงแค่บทบาทอาจจะจำกัดอยู่แค่ระดม สังเคราะห์ หรือให้ความรู้ในเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีหรือไม่เคยมีออกมา โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่มีความรู้เพียงพอ หรือว่าจ้างหากจำเป็น เช่น ตีพิมพ์หนังสือหรือจัดเสวนา … ส่วนมากความรู้เกี่ยวกับการทูตไทยที่เป็นภาษาอังกฤษเขียนโดยชาวต่างชาติเขียนเสียมาก เราเลยพยายามรวบรวมหนังสือหรือวิทยานิพนธ์ที่เขียนขึ้นโดยคนไทยมาทยอยตีพิมพ์ เพื่อสร้าง ‘เรื่องเล่า’ (narrative) การต่างประเทศของไทยผ่านมุมมองของคนไทยให้มากขึ้น”

“การทำความเข้าใจการต่างประเทศต้องอาศัยความรู้ และความรู้ต้องไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อ … ต้องไม่มองการต่างประเทศเป็นแค่เฉดขาวกับดำเท่านั้น การเชื่อมโยงระหว่างการต่างประเทศกับคนในประเทศจึงเป็นเรื่องยากและต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพราะส่งผลต่อเอกภาพของการต่างประเทศและการดำเนินนโยบายการต่างประเทศด้วย”

“การกำหนดนโยบายการต่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงต่างประเทศเท่านั้น นโยบายต่างประเทศคือนโยบายของรัฐบาลด้านการต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐอย่างเดียว ภาคเอกชนและภาคประชาชนด้วยเช่นกัน และต้องไม่คิดนโยบายแยกเป็นกรอบการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม หรือสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะจะทำให้การกำหนดนโยบายเป็นไปอย่างไม่รอบด้าน เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีความต่อเนื่อง ไร้เอกภาพ ก็จะส่งผลกระทบต่อการต่างประเทศ”

“ขีดความสามารถการต่างประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เราจะเล่นบทบาทไปนอกประเทศไทยก็ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งเกิดมาจากการที่มีรัฐบาลและสังคมที่มีเอกภาพและคอยหนุนหลัง จึงจะก้าวออกไปทำได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ต้องมีเอกภาพในสังคม เพราะการต่างประเทศเป็นเรื่องของทั้งประเทศ”

“เกียรติภูมิในเวทีระหว่างประเทศ คือการที่ประเทศได้รับการยอมรับนับถือ ซึ่งการสร้างความยอมรับนับถือให้เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องมีหลักการ มีจุดยืน พูดจริงทำจริง และมีความต่อเนื่อง เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและต้องใช้พลังของสังคมร่วมกันสร้าง ดังนั้นเอกภาพจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการต่างประเทศ”

ผลงานใหม่ในวาระ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม 2475

เฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482

โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

” ‘วันชาติ’ ของไทย จะแปรผันเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไร สมัยใด เพราะบุคคลชนิดไหน มีสันดานอย่างไร และคณะอะไร ก็ตามที แต่ ‘วันชาติประชาธิปไตย’ คือ ‘วันที่ 24 มิถุนายน’ ยังคงฝังแนบแน่นอยู่ในดวงจิตส่วนลึกของคนไทยผู้รักชาติแท้จริงอยู่เสมอ” – ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ สมาชิกคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 ผู้ได้รับการยกย่องจากชาวคณะราษฎร

ในสมัยที่ 24 มิถุนายน ยังถือเป็น ‘วันชาติ’ ของไทย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เปิดเอกสารเล่าถึงความรื่นเริงของงานเฉลิมฉลองวันชาติตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2482 จนซบเซาและปิดฉากลง

“ปลายสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 18 กรกฎาคม 2481 ‘เรื่องวันชาติ ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป’ โดยรัฐบาลได้จัดเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกในปีถัดไปซึ่งประจวบกับอยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยนรัฐบาลปลายปีเดียวกันนั้น งานวันดังกล่าวจึงเริ่มจัดภายใต้รัฐบาลของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม”

“เป็นงานวันชาติ 24 มิถุนายน 2482 เดียวกันนี้เองที่รัฐบาลได้ประกาศรัฐนิยมฉบับแรกเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ “

“อนึ่ง วันที่ 24 มิถุนายน 2482 ยังนับเป็นวันร่วมเฉลิมฉลองสนธิสัญญาใหม่กับต่างประเทศที่รัฐบาลคณะราษฎรสามารถเจรจาต่อรองกับเหล่าประเทศมหาอำนาจ จนสามารถแก้ไขสนธิสัญญาเดิมที่ไม่เป็นธรรมสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผลสำเร็จ”

อภิชาต สถิตนิรามัย: 90 ปีเศรษฐกิจไทยหลัง 2475 ความฝัน ‘คนเท่ากัน’ ของคณะราษฎร ยังไม่เป็นจริง

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

Q: โจทย์อะไรที่ครอบคลุมเรื่องราวเศรษฐกิจไทยตลอด 90 ปี

รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย: “ง่ายนิดเดียว คือเป้าหมายของคณะราษฎรที่ต้องการทำให้ ‘คนเท่ากัน’ ทางเศรษฐกิจ ยังไม่เกิดขึ้น ที่แย่ไปกว่าเดิมคือความเท่ากันทางการเมืองกลับลดถอยลงไปอีก”


ย้อนไปเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ณ ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่เพียงแต่เป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของการเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังพลิกภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อกลุ่มคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ ก่อนจะออกประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 อันมีใจความระหว่างบรรทัดซึ่งบ่งบอกว่า ภารกิจของรัฐนับจากนี้คือการทำให้ ‘คนเท่ากัน’ ไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ

แต่ทำไมความฝัน ‘คนเท่ากัน’ ของคณะราษฎรถึงไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ จนเป็นเหตุแห่ง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่หยั่งรากในสังคมไทยมานานชั่วหลายปี ตลอด 90 ปีของเศรษฐกิจไทย อะไรที่ทำเรามายืนอยู่ในจุดนี้ และอนาคตของเศรษฐกิจไทยนับจากนี้จะเป็นอย่างไร แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังพอมีให้เห็นหรือไม่ 101 สนทนาเรื่องนี้กับ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เฝ้าติดตามศึกษาพลวัตเศรษฐกิจไทยมายาวนาน เจ้าของผลงานหนังสือ ‘ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นาฯ’, ‘รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจฯ’, ”เส้นทางเศรษฐกิจไทย: จากต้มยำกุ้งสู่ต้มกบ’, ฯลฯ ในวาระครบรอบ 90 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง


“หลัง 2475 สิ่งที่คณะราษฎรสามารถทำได้ก็คือการนำอำนาจในการควบคุมพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกษัตริย์…แต่ต่อมาหลักการนี้ที่คณะราษฎรตั้งไว้กลายเป็นว่าถูกทำลายไปทีละขั้น…จนกระทั่งมาถูกทำลายอีกขั้นหนึ่งในปี 2560-2661 ซึ่งมีการแก้กฎหมายเรื่องนี้ 2 ครั้ง จนเรียกได้ว่าตอนนี้ไม่เหลือมรดกคณะราษฎรในเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อีกแล้ว…นี่ก็เป็นเสมือนสมบูรณาญาสิทธิ์ที่มีปริมณฑลทางเศรษฐกิจชัดเจน”

“ตอนนี้มันย้อนกลับไปคล้ายสมัยโบราณ เป็นแบบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์ โดยทหารกับเจ้าจับมือกัน แต่มันต่างกับยุคจอมพลสฤษดิ์ตรงที่ว่าตอนนี้เจ้าอยู่เหนือทหาร ขณะที่กลุ่มนายทุนก็เลือกเข้าหากลุ่มอำนาจพวกนี้ เพราะทำให้พวกเขาโตได้ง่าย นำไปสู่การผูกขาดทางเศรษฐกิจ และท้ายที่สุดมันหมายถึงความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอีกรอบหนึ่งจากการที่การเมืองย้อนกลับสู่อดีต”

“ตอนนี้เราเจอวิกฤตหลายลูกพร้อมกัน ต่อให้โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ก็ยังเจอกับปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ที่เรากำลังเจอคือ stagflation (เงินเฟ้อสูง แต่การเติบโตต่ำ) ซึ่งมันไม่ใช่ว่าแป๊บเดียวหาย มันลากยาวเป็นปีๆ แน่ คุณลองนึกภาพดูว่า คนอ่อนล้าจากโควิด-19 มามากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แล้วต้องมาเจอ stagflation อีก นี่คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดตั้งแต่ผมมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน”

“ระบบการเมืองข้างบนกับระบบเศรษฐกิจข้างล่างไปด้วยกันไม่ได้แล้ว ความคิดรากฐานของคนตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะมาก มันไม่สามารถที่จะกล่อมเกลาความเชื่อทางการเมืองแบบเก่าให้อยู่ได้อีกต่อไปแล้ว ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจก็รอวันปะทุจนคนออกมาเคลื่อนไหว มันมีวิกฤตทั้งเศรษฐกิจและการเมืองซ้อนกันอยู่ภายใต้ ‘ระบอบหน้าด้าน’ แบบนี้”

“ตอนนี้เรามาถึงจุดที่ ‘status quo is not an option’ คือมันพลิกผันแน่นอน แต่จะพลิกไปไหนไม่รู้ ออกหัวหรือออกก้อยไม่รู้ ซึ่งการพลิกไม่ได้แปลว่ามันต้องดีขึ้น แต่อาจจะแย่ลงก็ได้ มันถึงได้น่ากลัวไง”

“ประเด็นที่สำคัญตลอด 90 ปีก็คือ ‘ใครเป็นเจ้าของประเทศ?’ มันเป็นคำถามมาตั้งแต่คณะราษฎรว่าตกลงแล้วประชาชนหรือใครกันแน่เป็นเจ้าของ นี่คือสิ่งที่เขาพยายามสู้กันมาตลอดให้อำนาจเกิดการแชร์กัน…หลักรัฐศาสตร์พื้นฐานที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ยังไม่เกิดขึ้นจริงที่นี่ แล้วตอนนี้มันยังย้อนกลับไปก่อน 2475 อีก ซึ่งเป็นช่วงที่ว่าไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบการศึกษา หรือระบบสาธารณสุข กูทำเพื่อไว้ทำทานก็พอ เพราะกูเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่มึง เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำของไทยก็จะเป็นอยู่อย่างนี้”

การต่างประเทศยุคคณะราษฎร: หลักเอกราช การแสวงหาสถานะ และการช่วงชิงความชอบธรรม – พีระ เจริญวัฒนนุกูล

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“ครั้งถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะทหารและพลเรือนได้พร้อมใจกันเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริง นับแต่วันที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว งานของการต่างประเทศได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในชั่วเวลา 7 ปีนับตั้งแต่ที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว … เท่าที่รัฐบาลได้ทำมาแล้ว เป็นเหตุให้นานาประเทศมีความนิยมนับถือประเทศไทยยิ่งขึ้น และทุกๆ ประเทศมีไมตรีต่อไทย ยินยอมแก้ไขสนธิสัญญาปลดเปลื้องการผูกมัดตัดอิสระบางอย่างให้หมดไป”
.
คำประกาศจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในวาระ ‘งานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา’ เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2482 คือการป่าวประกาศว่า รัฐบาลคณะราษฎรได้ทำให้ ‘หลักเอกราช’ ก้าวหน้าไปอีกขั้น ยกระดับสถานภาพไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศอย่างที่ระบอบเก่าไม่สามารถบรรลุได้
.
แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในมุมมองของ พีระ เจริญวัฒนนุกูล ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านทฤษฎีการแสวงหาสถานภาพ ตั้งแต่การประกาศใช้ ‘รัฐนิยม’ การประกาศสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส ไปจนถึงการประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างเป็นไปเพื่อการรักษาอธิปไตยและแสวงหาสถานะที่เท่าเทียมทั้งสิ้น

ในวาระครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม 101 สนทนากับ พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมือง การแสวงหาสถานะและเอกราชไทยในการเมืองระหว่างประเทศยุคคณะราษฎร – หนึ่งในยุคที่การต่างประเทศไทยมีเจตจำนงแน่วแน่ที่สุดยุคหนึ่ง

………

“โจทย์ของการต่างประเทศไทยในยุคคณะราษฎรมีสองประการที่สำคัญมาก”
“ประการแรก ไทยจะสร้างความเสมอภาคทัดเทียมกับชาติอื่นได้อย่างไร ซึ่งทำผ่านวิถีทางที่ทำให้ชาติเป็นศิวิไลซ์ ถ้าเราอ่านสุนทรพจน์หลายชิ้นในสมัยจอมพล ป. หนึ่งในเรื่องที่จะต้องกล่าวคือ จะทำให้ชาติศิวิไลซ์ทัดเทียมโลกตะวันตก
“ประการที่สองคือ จะพาไทยให้รอดพ้นจากการถูกยึดครองไปตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร ซึ่งทางแก้โจทย์ที่สองก็ใช้วิธีการเดียวกันแบบโจทย์แรก คือการพัฒนาสถานภาพของชาติให้ทัดเทียมต่างชาติ”

“คนทั่วไปมักมองว่า [นโยบายปรับปรุงวัฒนธรรม] เป็นเพียงการทำให้ประเทศศิวิไลซ์เท่านั้น แต่ศิวิไลซ์แล้วยังไงต่อ ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความศิวิไลซ์ก็เกี่ยวพันกับความต้องการเป็นที่ยอมรับโดยโลกตะวันตกด้วย”

“หากมองนโยบายการต่างประเทศของจอมพล ป. จะเห็นว่ามีส่วนผสมผสานของ idealism และ realism อย่างลงตัวที่สุด คือ ‘มองโลกอย่างที่ควรจะเป็น’ และ ‘มองโลกอย่างที่เป็นอยู่’ สิ่งที่เป็นความ idealist ของจอมพล ป. คือ นอกจากจะต้องแสวงหาสถานะและความเท่าเทียมแล้ว ยังหวังไกลไปถึงว่า ไทยควรจะเป็นมหาอำนาจ อาจไม่ต้องถึงระดับเบอร์ต้นๆ แค่ลดหลั่นลงมาก็พอ เพราะจอมพล ป. เองก็เคยพูดกับนักข่าวว่า ในโลกนี้ มีแค่สองทางเลือกคือขี้ข้ากับมหาอำนาจ ถ้าไม่เป็นมหาอำนาจก็เป็นขี้ข้า
“แต่ในความเป็นจริง จอมพล ป. ก็ pragmatic พอสมควร ไม่ใช่ว่าจอมพล ป. ไม่อยากวางตัวเป็นกลาง เอกสารหลายอย่างก็บ่งชี้มาทางนี้ว่า ในระยะแรก จอมพล ป. ไม่ต้องการเข้าร่วมสงคราม การไม่เข้าร่วมสงครามนั้นดีที่สุด แต่อย่างที่เล่าไปว่า เมื่อภัยเข้ามาประชิดแล้ว คำถามคือ คุณจะดำรงความเป็นกลางอย่างไร ไม่เถียงว่าความเป็นกลางในการเมืองระหว่างประเทศดีที่สุด แต่ภายใต้เงื่อนไขแรงกดดัน ต้องคำนึงด้วยว่า อะไรที่ทำได้จริงในความเป็นจริง”

5 คำถามเกี่ยวกับคณะราษฎรและปฏิวัติ 2475

โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ตอบ 5 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 ซึ่งช่วยสร้างภาพที่ชัดเจนขึ้นแก่ช่วงการอภิวัฒน์สยาม ได้แก่

  1. ทำไมอยู่ๆ ก็เกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475
  2. ช่วงแรกแกนนำ คณะ ร.ศ.130 เอนไปทางแบบสาธารณรัฐจริงหรือไม่
  3. ทำไมคณะราษฎรเลือกระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่เลือกระบอบสาธารณรัฐ
  4. มีเจ้านายที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองเป็นประชาธิปไตยหรือไม่
  5. คณะราษฎรสิ้นสุดเมื่อไหร่กันแน่ ระหว่างรัฐประหาร 2490 หรือรัฐประหาร 2500

กำเนิดธรรมนูญปกครองสยามฉบับที่หนึ่ง: การต่อรองระหว่าง ‘เจ้า’ กับ ‘ราษฎร’ ในการอภิวัฒน์ 2475

โดย รวินทร์ ถมยา

“24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 คณะราษฎรขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามแก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านธรรมนูญฯ แล้วได้ทรงเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ และประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม”

รวินทร์ ถมยา เล่าเรื่องราวการถือกำเนิดของรัฐธรรมนูญฉบับแรกในไทยที่แฝงไว้ด้วยการต่อรองระหว่าง ‘เจ้า’ และ ‘คณะราษฎร’

ข่าวลือและการสืบราชการลับในโมงยามหลังการปฏิวัติสยาม

โดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์

‘ข่าวลือ’ ช่วงหลังการปฏิวัติสยามเป็นอย่างไร? ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ เปิดเอกสาร ‘การสืบราชการลับ’ และบันทึกข่าวลือจากหอจดหมายเหตุเกี่ยวกับบรรยากาศหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“ในทศวรรษ 2470 บรรยากาศในสยามแพร่สะพัดด้วยข่าวลือที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายเรื่องด้วยกัน บ้างก็ว่า ‘เจ๊กจะลุก’ เพื่อล้มระบอบกษัตริย์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 มีดาวหางดวงหนึ่งหัวพุ่งไปทางทิศตะวันออก มีหางยาวพาดผ่านท้องฟ้ากรุงเทพฯ น่าหวั่นว่าจะเกิดเหตุร้าย บ้างก็ลือกันว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตเช่นเดียวกันกับในตอนปลายรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้างก็ว่าจะเกิดโรคห่า ข้าวยากหมากแพง”

“บรรดาหลักฐาน ‘รายงานสืบราชการลับ’ มีลักษณะเขียนด้วยลายมือ ใช้ทั้งนามแฝง นามจริง และหมายเลขแทนตัวสายลับ จดหมายหลายฉบับเรียนไปยังหลวงนฤเบศร์มานิต และสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ มีการรายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ เช่น กรรมกร นักหนังสือพิมพ์ ข้าราชเก่าที่ถูกปลด และกลุ่มเจ้านาย เป็นต้น”

“รายงานประเภทหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะส่งผลต่อกลุ่มผู้นำใหม่อย่างมาก คือรายงานที่บ่งบอกว่าจะเกิดการลอบสังหารหรือลอบทำร้ายคณะราษฎร … อีกฉบับที่ปรากฏในเอกสารรายงานเรื่องสืบราชการลับเป็นจดหมายวางแผนกำจัดพระยาพหลพลพยุหเสนา”

ย้อนดูบทบาทและชีวิตของ ‘ภรรยาคณะราษฎร’ ที่ประวัติศาสตร์ฉบับปิตาธิปไตยไม่เคยกล่าวถึง

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

“ประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์สยามเมื่อครา 2475 และการเมืองการปกครองไทยในยุคสมัยของคณะราษฎรในความรับรู้ของบุคคลทั่วไป รวมถึงในหนังสือตำราเรียนประวัติศาสตร์ ล้วนกล่าวถึงเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคณะราษฎรที่ขับเคลื่อนไปด้วยบทบาทของผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่”

“น้อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้ที่มีส่วนทำให้การปฏิวัติ การต่อสู้เพื่อทวงคืนอำนาจอธิปไตย การสร้างสายธารแห่งประชาธิปไตย และการเอาตัวรอดท่ามกลางเหตุบ้านการเมืองที่พลิกผันไปของเหล่าคณะราษฎรนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้”

“ในขณะที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักกล่าวถึงบทบาทของนักปฏิวัติชายเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เบื้องหลังความสำเร็จและชัยชนะในหน้าประวัติศาสตร์ ต่างมีผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้นั้นไม่มากก็น้อย

“รวมถึงการเมืองการปกครองหลังการอภิวัฒน์สยามก็มีผู้หญิงหลายต่อหลายคนเข้ามามีส่วนร่วมกับเกมการเมืองและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ภรรยาของคณะราษฎร’ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องการเมือง และมีใจยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่น้อยไปกว่าสามีของพวกเธอ”

101 ชวนอ่านเรื่องราวของพูนศุข พนมยงค์, ละเอียด พิบูลสงคราม และบุญหลง พหลพลพยุหเสนา คู่ชีวิตของเหล่าคณะราษฎร ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่มีในหน้าประวัติศาสตร์ฉบับปิตาธิปไตย

Lasting Legacy มรดกประชาธิปไตยในอีสาน

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, เมธิชัย เตียวนะ และ กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

90 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราเหลือมรดกอะไรอยู่บ้าง?

อ่านประวัติศาสตร์จุดแรกเริ่มของการนิยมรัฐธรรมนูญในเหล่าราษฎรสามัญ ตามรอยอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญและสัญลักษณ์ประชาธิปไตยที่ยังหลงเหลือในภาคอีสาน ภาคที่มีอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญหลงเหลืออยู่มากที่สุดในประเทศไทย

ตามหาคำตอบของการโรยราของประชาธิปไตยหลัง 15 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมองการเกิดใหม่ของสำนึกพลเมืองและสัญลักษณ์ใหม่ของประชาธิปไตยในปัจจุบัน

ผลงานใหม่เดือนมิถุนายน 2565 ของ 101PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะ

ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?

ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย

โดย วรดร เลิศรัตน์

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เยาวชนไทยจำนวนมหาศาลได้แสดงออกและเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นและทรงพลัง ส่งเสียงดังกึกก้องที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในรอบหลายทศวรรษ แม้สังคมไทยจะ ‘ได้ยิน’ เสียงของเยาวชนแจ่มชัด แต่เสียงนั้นกลับไม่เคยถูก ‘รับฟังและตอบสนอง’ จากผู้กำหนดนโยบายรัฐเท่าที่ควร – เรียกได้ว่าเป็นเสียงที่ ‘ได้ยินแต่ไม่ถูกรับฟัง ดังแต่ไร้ความหมาย’

ถ้าสังคมไทยยังอยากก้าวไปข้างหน้า คงถึงเวลาที่เราต้องร่วมกันสร้างระบอบการเมืองซึ่งรับฟังเสียงของเยาวชนอย่างจริงจังตามสิทธิที่พวกเขาพึงมี หนึ่งในเครื่องมือในการสร้างระบอบเช่นนั้นคือการ ‘ลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีมีโอกาสส่งเสียงผ่านการเลือกตั้งอย่าง ‘เสมอภาค’ กับคนกลุ่มอื่นในสังคม

คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว โดย 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank และ สสส. ชวนผู้อ่านสำรวจปัญหาของระบอบการเมืองไทยที่ทำให้เสียงเยาวชนไร้ความหมาย พร้อมทั้งทำความเข้าใจและขบคิดถึงความจำเป็นเหมาะสมในการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยจาก 18 ปีในปัจจุบันเหลือ 15 ปี

เยาวชน LGBTQ+

อ่านปัญหาในชีวิตและแรงสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ จากผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

โดย วรดร เลิศรัตน์

ในเดือนไพรด์ (Pride Month) หรือเดือนแห่งความภูมิใจของคนกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) นี้ คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว โดย 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank และ สสส. ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจความเจ็บปวดที่เยาวชนชาว LGBTQ+ ของไทยต้องเผชิญ พร้อมทั้งสำรวจแรงสนับสนุนของเยาวชนต่อข้อเสนอนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างคนทุกเพศสภาพในสังคม ผ่านผลสำรวจเยาวชนไทย – คิด for คิดส์ Youth Survey 2022

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนมิถุนายน 2565

Lasting Legacy มรดกประชาธิปไตยในอีสาน

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, เมธิชัย เตียวนะ และ กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

90 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราเหลือมรดกอะไรอยู่บ้าง?

อ่านประวัติศาสตร์จุดแรกเริ่มของการนิยมรัฐธรรมนูญในเหล่าราษฎรสามัญ ตามรอยอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญและสัญลักษณ์ประชาธิปไตยที่ยังหลงเหลือในภาคอีสาน ภาคที่มีอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญหลงเหลืออยู่มากที่สุดในประเทศไทย

ตามหาคำตอบของการโรยราของประชาธิปไตยหลัง 15 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมองการเกิดใหม่ของสำนึกพลเมืองและสัญลักษณ์ใหม่ของประชาธิปไตยในปัจจุบัน

‘ทุกจังหวัดต้องมีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ’ คืนประชาธิปไตยสู่ท้องถิ่น

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ และ เมธิชัย เตียวนะ

แม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะปิดฉากลงไปเรียบร้อยด้วยชัยชนะอย่างถล่มทลายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 แต่การต่อสู้เรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความสงสัยของใครหลายคนว่า ‘ทำไม’ คนจังหวัดอื่นจึงไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง และ ‘เมื่อไหร่’ ที่ประเทศไทยจะเกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงเสียที

101 คุยกับ สันติสุข กาญจนประกร ผู้ปลุกกระแสข้อเสนออันท้าทายแหลมคม ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘We’re all voter : เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง’ และแคมเปญลงชื่อสนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศในเว็บไซต์ change.org พร้อมมองปัญหาเชิงโครงสร้าง เหตุผลที่เราต้องมีการเลือกตั้งและกระจายอำนาจ กับ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “LGBTQ+ ต้องเก่ง ต้องตลก ต้องกล้าแสดงออก (?)”

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข และ กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

ไม่มากก็น้อย ชั่วชีวิตเราน่าจะเคยได้ยินหรือได้รับ ‘ภาพจำ’ ว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศนั้นเรียนเก่งและโดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่งเท่ากันกับที่เป็นคนตลก กล้าแสดงออก เป็นหนึ่งในคนที่สร้างสีสันหรือความฉูดฉาดให้แก่กลุ่มเพื่อนฝูง

คำถามคือ กลุ่มคนเพศหลากหลายนั้นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไปหรือไม่ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนทุกคน บางคนก็อาจไม่ได้เต้นเก่ง ไม่ได้เป็นคนกล้าแสดงออก เท่ากันกับที่ก็ไม่ได้เรียนเก่งไปเสียทุกวิชาหรือโดดเด่นไปทุกสาขาที่ร่ำเรียน

การเหมารวมหรือ stereotype อาจเป็นร่มใหญ่ที่ครอบงำตัวตนและบุคลิกของกลุ่มคนเพศหลากหลายในสังคมไทยอย่างยาวนานมาโดยตลอด และยากจะปฏิเสธว่าสำหรับหลายๆ คน มันได้กลายเป็นกรอบที่สร้างความอึดอัด ไม่สบายเนื้อตัวในสังคมที่คาดหวังว่าพวกเขาต้องเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีบุคลิกใดบุคลิกหนึ่งแบบเดียว

ในห้วงยามแห่งเดือน Pride Month 101 ชวนสำรวจประเด็นภาพจำที่สังคมมอบให้แก่กลุ่มคนเพศหลากหลายที่พวกเขาเคยต้องเผชิญและรับมือ ตลอดจนความคาดหวังเมื่อ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กำลังจะเข้าสภาในวันที่ 8 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ผ่านรายการ SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “LGBTQ+ ต้องเก่ง ต้องตลก ต้องกล้าแสดงออก (?)”

ทำงาน ทำงาน ทำงาน และความคาดหวังของ ‘คนทำงาน’

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข และ กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ อาจเป็นคำที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง

วันที่ 22 มิถุนายน 2022 นับเป็นเวลาหนึ่งเดือนพอดีที่ชัชชาติ ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังได้รับการเลือกตั้งและเริ่มดำรงตำแหน่งในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

หนึ่งเดือนของการบริหารงานจากผู้ว่าฯ คนใหม่กับนโยบาย 214 ข้อในการพัฒนากรุงเทพฯ แน่แท้ว่าคนที่คอยรับไม้ต่อและขับเคลื่อนนโยบายเหล่านั้นให้กลายเป็นรูปธรรมคือเหล่าพนักงานระดับปฏิบัติการ ไม่ว่าจะพนักงานกวาดถนน คนดูแลสวนสาธารณะ ไปจนถึงเหล่าเทศกิจ ซึ่งเป็นเสมือนผู้ประสานตรงกลางระหว่างผู้ว่าฯ กับประชาชน

‘คนทำงาน’ เหล่านี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งในการกอปรสร้างนโยบายของผู้ว่าฯ อันจะขาดเสียมิได้ และสำหรับพวกเขา กรุงเทพฯ มีอะไรเปลี่ยนไปหรือไม่ ความเคลื่อนไหวใดที่น่าจับตา รวมทั้งอนาคตของกรุงเทพฯ ที่พวกเขาวาดฝันอยากเห็นในฐานะที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนอันจำเป็นอย่างยิ่ง

ค่าครองชีพแสนแพง ค่าแรงแสนถูก ความฝืดเคืองภายใต้ค่าใช้จ่ายรอบทิศ

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข และ กมลชนก คัชมาตย์

เติมน้ำมันรถแต่ละครั้งแทบต้องกลั้นน้ำตา ค่าข้าวแต่ละมื้อก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะค่าน้ำค่าไฟที่ทะยานขึ้นสูงลิบผิดจากที่เคย

กระทรวงพาณิชย์เพิ่งออกมาระบุว่า เงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.10% ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 13 ปี และเห็นชัดผ่านราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ 37.24% และราคาอาหารที่ 6.18% ยังไม่รวมการยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในทุกมิติ

เราจะอยู่กันอย่างไรในวันที่สิ่งจำเป็นในชีวิตตั้งแต่อาหารสามมื้อไปจนถึงสิ่งอุปโภคบริโภค กลายเป็นสิ่งที่ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะใช้เงินซื้อมาดีหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงสิ่งจรรโลงใจอื่นๆ ที่พอจะทำให้ชีวิตไม่แข็งกร้าวจนเกินไปนัก ก็ต้องถูกตัดทิ้งเป็นลำดับแรกๆ

101 ชวนฟังเสียงประชาชนคนทำงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่กำลังทะยานขึ้นสูงอย่างน่าจับตาในเดือนนี้

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.34 : นักร้อง น้อง(ไม่)รัก

การประกาศรับรองชัยชนะผู้ว่าฯ ของชัชชาติ สิทธิพันธ์ุที่ล่าช้าทำให้มวลชนต่างพากันตั้งคำถามกับการทำงานของ กกต. และบทบาทของ ‘นักร้อง (เรียน)’ ในระบบการเมือง

ในขณะที่การอภิปรายร่างงบประมาณฯ ปี 66 ก็น่าจับตามองยิ่ง เมื่อฝ่ายค้านมุ่งชำแหละงบประมาณก้อนสุดท้ายของรัฐบาลปัจจุบัน

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.35 : การเมือง สองโลก

แม้จะผ่านการเลือกตั้งมากว่า 3 อาทิตย์ แต่กระแส ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ ก็ยังไม่จางหาย ทุกย่างก้าวของผู้ว่ากรุงเทพฯ คนใหม่ล้วนได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากสาธารณะ

ในอีกด้านหนึ่ง การเมืองระดับชาติกลับหงอยเหงา กระแสข่าวงูเห่าในการพิจารณาร่างงบประมาณปี 2566 กลับทำให้คนเบื่อหน่ายและตั้งคำถามหนักยิ่งขึ้น

การเมืองแบบสองโลกจะนำไปสู่อะไร

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.36 : เมื่อสภาฯ พลิกผัน?

เมื่อเสียงข้างมากของสภาฯ โหวตรับหลักการ พ.ร.บ. ‘สมรสเท่าเทียม’ ท่ามกลางกระแสข่าวคว่ำร่างของวิปรัฐบาล การเมืองในสภาฯ ก็กลับมามีสีสัน และยิ่งเป็นการชนะโหวตต่อเนื่องจาก พ.ร.บ. ‘สุราก้าวหน้า’ สีสันก็ยิ่งจัดจ้าน

ความพลิกผันของสภาฯ กำลังบอกอะไร?

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.37 : การเมืองแบบกงสี

ข่าวการแต่งตั้งเครือญาติเข้ามารับตำแหน่ง ‘คณะทำงาน’ ของสมาชิกวุฒิสภาเป็นอีกหนึ่งคำถามใหญ่ที่สังคมไทยมีต่อความชอบธรรมของ ส.ว.

การเมืองกงสีสะท้อนให้เห็นอะไรในการเมืองแบบไทยๆ และจะสั่นสะเทือนดุลอำนาจแค่ไหน?

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.38 : เมื่อการเมืองเนิบช้า

แม้สภาฯ จะเปิดตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม แต่จังหวะทางการเมืองกลับนิ่งและเนิบช้ากว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้

ความเนิบช้าทางการเมืองเป็นสัญญาณบอกอะไร?

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 One-on-One Ep.266 อุปถัมภ์ – ค้ำใคร กับ เวียงรัฐ เนติโพธิ์

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์คือ รูปแบบความสัมพันธ์ที่ใช้อธิบายสังคม การเมือง และวัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนาน เป็นที่เข้าใจและยอมรับอย่างกว้างขวางโดยไม่ต้องตั้งคำถาม

แต่แท้จริงแล้วระบบอุปถัมภ์มีความไหลลื่นเปลี่ยนแปลงไปตามระบอบการเมือง

101 ชวน รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาวิเคราะห์พลวัตของระบบอุปถัมภ์ไทย ท่ามกลางการชักเย่อกันระหว่างพลังประชาธิปไตยและเผด็จการ

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

101 One-on-One Ep.267 สมรสเท่าเทียม ความฝันที่เป็นไปได้? กับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบ ‘ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม โดยระบุว่าเป็น ‘ของขวัญ’ แด่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นล่วงหน้าไม่กี่วันที่ ‘ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ โดยพรรคก้าวไกลจะมีวาระถูกพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

ที่ผ่านมาผู้เรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศสนับสนุนการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งตรงกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล เพื่อให้การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่าเทียมกับการสมรสชาย-หญิง โดยไม่มีการแบ่งแยก

101 ชวนคุยกับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่าเหตุใด ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ จึงไม่สามารถทดแทน ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ได้ ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสภาสะท้อนอะไร สังคมไทยเปิดกว้างแค่ไหนต่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และข้อเสนอเรื่องสมรสเท่าเทียมมีโอกาสจะกลายเป็นฝันที่เป็นจริงหรือไม่

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

101 One-on-One Ep.268 การเมืองวัฒนธรรมไทยสมัยคณะราษฎร กับ นริศ จรัสจรรยาวงศ์

‘การอภิวัฒน์ 2475’ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองภายในระบบเท่านั้น แต่ปฏิบัติในระดับที่ ‘พลิกแผ่นดินสยาม’ เช่นนี้ ย่อมสะเทือนใหญ่ถึงการเมืองวัฒนธรรม

ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะราษฎรจึงแฝงฝังอยู่ในเนื้อตัวและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย และย่อมวิวัฒน์เปลี่ยนแปลงเป็นมรดกตกทอดมาสู่ปัจจุบัน

ในวาระครบรอบ 90 ปี ‘การอภิวัฒน์ 2475’ 101 ชวนนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักเขียนผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองสมัย 2475 มาสำรวจวัฒนธรรมทางการเมืองไทยสมัยคณะราษฎรเพื่อสะท้อนภาพการเมืองปัจจุบัน

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

101 Public Forum : ปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์สร้างนักกฎหมายไทยในโลกสมัยใหม่

หนึ่งสิ่งสำคัญในการปฏิรูประบบยุติธรรมไทยคือการยกเครื่องการเรียนการสอนนิติศาสตร์ใหม่ทั้งระบบ ทั้งการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาและการฝึกอบรมทางปฏิบัติในระดับเนติบัณฑิต เพื่อสร้างหลักนิติธรรมให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทย

101 ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเวทีสาธารณะชวนนักกฎหมายจากกระบวนการยุติธรรม แวดวงวิชาการ ภาครัฐและภาคประชาชน พูดคุยถึงแนวทางการปฏิรูประบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษานิติศาสตร์ระดับสากล ตั้งคำถามกับระบบการเรียนนิติศาสตร์ของไทยใน ‘โลกเก่า’ ที่มุ่งเตรียมความพร้อมให้นิสิตนักศึกษาสู่วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ สู่การปฏิรูปกระบวนการสร้างนักกฎหมายให้เหมาะสมกับ ‘โลกใหม่’ เท่าทันและรอบด้านต่อระบบนิเวศของกระบวนการยุติธรรมในอนาคต

ร่วมพูดคุยโดย

  • สรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกาและโฆษกศาลยุติธรรม
  • พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  • เพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save