fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2564

Spotlight ประจำเดือนมิถุนายน 2564



Justice Next Version
อัปเกรดระบบยุติธรรม สู่เวอร์ชันอนาคต


ลองจินตนาการถึงโลกที่คุณสามารถขอคำปรึกษาคดีความจากทนายเอไอคู่ใจที่พูดจาโต้ตอบกับคุณได้ไม่ต่างจากคน ก่อนตัดสินใจยื่นเรื่องฟ้องศาลบนแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน ใช้วิดีโอคอลกล่าวคำให้การต่อศาลที่มีเอไอถอดความถ้อยคำของคุณแบบเรียลไทม์ พร้อมจับผิดเมื่อคุณโกหก ก่อนบันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้บนบล็อกเชน ขณะที่บนบัลลังก์คือผู้พิพากษาที่ภายใต้ชุดครุยคือเอไอที่หน้าตาละม้ายคล้ายคน ตัดภาพไปบนท้องถนน หุ่นยนต์ตำรวจออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัย พร้อมตรวจจับใบหน้าคนร้ายที่กำลังต้องการตัวได้แม่นยำด้วยระบบจดจำใบหน้า ก่อนส่งตัวคนร้ายไปเรือนจำที่มีหุ่นยนต์ผู้คุมและกล้องเอไอควบคุมอย่างแน่นหนา

นี่อาจฟังดูเหมือนฉากในนิยายหรือภาพยนตร์ไซไฟ แต่ ณ ขณะปัจจุบัน ภาพเหล่านี้ได้ออกมาโลดแล่นแล้วในโลกความเป็นจริง

เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 บีบให้ระบบยุติธรรมต้องอัปเกรดเวอร์ชันให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนไป แล้วโลกยุติธรรมโฉมใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และอะไรคือโจทย์ใหม่ของกระบวนการยุติธรรม

101 ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ขอชวนคุณไปสำรวจโลกกระบวนการยุติธรรมแห่งอนาคตที่กำลังเปลี่ยนโฉมไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตั้งแต่ศาล นักกฎหมาย ตำรวจ ไปจนถึงเรือนจำ พร้อมหาคำตอบกันว่าโลกยุติธรรมเวอร์ชันใหม่ จะโอบรับสารพัดนวัตกรรมอย่างไร เพื่อนำไปสู่ระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเข้าถึงได้สำหรับทุกคนมากขึ้นอย่างแท้จริง


20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2564



‘หมอไม่ทน’ ฟังเสียงหมอหน้างาน และคำวิจารณ์ที่ไม่อยู่บนหน้าสื่อ

โดย วจนา วรรลยางกูร

“สิ่งที่ต้องใช้ความอดทนในการทำงานมากที่สุดคือนโยบายที่สร้างความสับสน ทำให้บุคลากรหน้างานไม่รู้ว่าเราต้องสู้ศึกนี้ไปอีกนานเท่าไหร่”

วจนา วรรลยางกูร คุยกับตัวแทนกลุ่ม ‘หมอไม่ทน’ ที่เป็นการรวมตัวของหมอที่ดูแลคนไข้โควิด หมอสายวิชาการ และหมอในระบบที่ตั้งคำถามต่อนโยบายที่ผิดพลาด เพื่อส่งเสียงของคนทำงานให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ท่ามกลางระบบที่ไม่เอื้อต่อการส่งเสียงของแพทย์ที่ไม่มีตำแหน่งใหญ่โต พวกเขามองเห็นความไม่โปร่งใสหลายประการที่สมควรทำให้กระจ่าง เพื่อให้เราสามารถรับมือวิกฤตได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

“วัคซีนที่เรามีตอนนี้ หากเลือกฉีดกลุ่มเสี่ยงอาจลดจำนวนผู้ป่วยที่ล้นระบบสาธารณสุขได้ แต่หากหวังจะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็คงยาก”

“ผมรู้สึกว่าตัวเองถูกทรยศโดยวิชาการแพทย์ อาจารย์บางท่านเคยสอนมาว่าต้องคิดยังไง จะอ่านหลักฐานและวิเคราะห์ยังไง แต่ถึงเวลาจริงเขากลับไม่ตรงไปตรงมา พูดแบบไม่ครบ”

“เราทำงานในศูนย์ที่รับส่งต่อผู้ป่วยโควิด จะมีติดต่อมาทุกวัน แต่เตียงเต็มตลอด เพราะแต่ละคนแอดมิดมาแล้วต้องรอครบ 14 วัน จึงได้กลับบ้าน ส่วนที่เป็นปอดบวมรุนแรงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจจะกินเตียงไปอีกประมาณหนึ่งเดือน ไม่มีทางที่เราจะมีเตียงพอเลย ในสถานการณ์ที่เราพบผู้ติดเชื้อวันละ 3-4 พันคนทุกวัน สุดท้ายมันจะล่มสลาย เพราะบุคลากรไม่พอ”

“ช่วงวิกฤตสุขภาพ ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงที่ไม่ใช่สายการเมืองจะมีอำนาจเท่ากับรัฐมนตรีสาธารณสุข ถ้าเป็นไปตามที่คาดหวังไว้จะมีการคานอำนาจระหว่างนักการเมืองกับแพทย์ แต่ก็ไปตกม้าตายว่าระบบประเทศไทยไม่เอื้อ คนที่เลือกเขาขึ้นมาสู่ตำแหน่งก็ดันเป็นรัฐมนตรีเอง เลยไม่มีการคานอำนาจกันเลย”


ยิ่งอ่านมาก ยิ่งอนุรักษนิยม : ตำราและระบบความรู้ในนิติศาสตร์ไทย

ยิ่งอ่านมาก ยิ่งอนุรักษนิยม : ตำราและระบบความรู้ในนิติศาสตร์ไทย

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนมองการอ่านตำราของนักเรียนกฎหมายไทยที่มักพูดกันว่าต้องทุ่มเทอ่านหนังสือจำนวนมาก โดยเฉพาะในการสอบอัยการหรือผู้พิพากษา แต่การอ่านนั้นมุ่งให้จดจำความหมายและบรรทัดฐานที่ถูกต้อง แต่ไม่ทำให้มีโอกาสฝึกฝนตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อพิพาทต่างๆ

“ตำรากฎหมายเหล่านี้มุ่งให้ผู้เรียนจดจำถึงความหมายและบรรทัดฐานที่ ‘ถูกต้อง’ งานที่นักเรียนกฎหมายต้องอ่านเพื่อให้ผ่านการสอบนั้น หัวใจสำคัญก็คือต้องสามารถอธิบายถึงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นให้สอดคล้องกับแนวความคิดหลักที่อธิบายกันอยู่”

“การอ่านในแนวทางเช่นนี้จะทำให้นักเรียนกฎหมายไม่ได้มีโอกาสในการฝึกฝนตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อพิพาทต่างๆ การอ่านในลักษณะเช่นนี้ ‘ซ้ำแล้วซ้ำเล่า’ ก็จะมีผลให้ผู้อ่านค่อยๆ สูญเสียทัศนะแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ลงไป จนในที่สุดก็จะกลายเป็นนักอ่านเซื่องๆ คนหนึ่ง”


เมื่อฝ่ายซ้ายเริ่มปรากฏ (อีกครั้ง) : เปิดความคิดสังคมนิยมในคนรุ่นใหม่

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล และ  ภาวิณี คงฤทธิ์

ยิ่งไปกว่าปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ ที่หลายคนในสังคมไทยเริ่มรับรู้แล้วว่า ‘คนไม่เท่ากัน’ ทางการเมือง อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กันคือ การรับรู้ว่าในสังคมมีคนชนชั้นสูง 1% ที่กุมความมั่งคั่ง อำนาจเงินตรา และทรัพย์สินมหาศาลระดับใกล้เคียงอนันต์กับชนชั้นล่าง 99% ที่ดิ้นรนตรากตรำทำงานเพื่อแลกค่าตอบแทนเพียงหยิบมือที่แทบไม่เพียงพอสำหรับการมีชีวิตที่ดีได้ กล่าวได้ว่า นี่คือปรากฏการณ์ตาสว่างที่มองเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมคือผลงานชิ้นโบว์แดงของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

และนี่เป็นสัญญาณที่บอกว่า “ฝ่ายซ้ายยังไม่ตาย!”

ในวันที่สังคมนิยมเริ่มกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง 101 ชวน 3 คนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในสังคมนิยม สนทนาว่าทำไมสังคมนิยมคือความหวังของโลกและสังคมไทย และเหตุใดพวกเธอและเขาจึงเชื่อเช่นนั้น

“แน่นอนว่ามีความล้มเหลวบางประการเกิดขึ้นในคอมมิวนิสต์ช่วงศตวรรษที่ 20 สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากระบอบเผด็จการ … สุดท้ายเลยทำให้ผู้คนถูกกดขี่และตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่นักสังคมนิยมรุ่นนี้เห็นด้วย เราไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเห็นปัญหาของทุนนิยม และต้องการออกแบบสังคมขึ้นมาใหม่

“เราเชื่อว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ระบบทุนนิยมไม่ใช่ความจริงหนึ่งเดียวของสังคมนี้ ไม่ได้เป็นระบบเดียว หรือเป็นระบบสุดท้ายที่เรามี ทุนนิยมแค่ถูกทำให้เชื่อว่ามันเป็นแบบนั้น เรามองว่าทุนนิยมเป็นความจริงเพราะเราอยู่กับมันมาตลอด ถ้าสักวันหนึ่งทุนนิยมไม่ได้ตอบสนองกับความต้องการของคนหมู่มาก เราเชื่อว่าคนหมู่มากก็จะลุกฮือขึ้นมาเปลี่ยนแปลง” – กระติ๊บ-วริษา สุขกำเนิด สมาชิกกลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ในประเทศที่เป็นสังคมนิยม การพัฒนาความสัมพันธ์เป็นไปได้ดีมากขึ้น มีความสุขขึ้น มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่เหมือนในประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยมที่ต้องคิดหรือเครียดว่าเงินตราจะลดทอนหรือส่งผลอะไรต่อความสัมพันธ์มนุษย์” ใบไหม-เกศกนก วงษาภักดี ผู้แปลหนังสือสายสังคมนิยม

“หน้าที่ของสังคมนิยมก็คือ การบอกว่าอำนาจเป็นของทุกคน และต้องทำให้คนเท่ากันในความหมายที่ว่าเรามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีเงิน 10 บาทเท่ากันหมด แต่เป็นในทางที่ว่า คุณรู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตโดยที่ความขาดแคลนไม่ได้กีดขวางการใช้ชีวิตเท่าไหร่นักและและได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่” – มีน-ปฐมพงศ์ กวางทอง พอดแคสเตอร์จาก Analysand และนักเขียนประจำเว็บไซต์ดินแดง (Dindeng)


“คนไทยหน้าชื่นอกตรม” มองความเหลื่อมล้ำคลัสเตอร์คลองเตย กับ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

“คนไทยหน้าชื่นอกตรม” มองความเหลื่อมล้ำคลัสเตอร์คลองเตย กับ
ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

โดย เสกข์ แสงรัฐ

“รากลึกของสังคมไทยยังมีความคิดเรื่องไพร่ทาสและดูถูกชนชั้นอยู่ แม้จะไม่ได้ชัดเจนเสียทีเดียว แต่ยังมีแนวคิดที่ว่าคนจนเป็นคนไม่ดี มีปัญหา ชอบทำผิดกฎหมาย ดังนั้นเมื่อคลองเตยเป็นพื้นที่ที่มีคนจนอยู่เยอะ ก็ถูกตีตราว่าคนเหล่านี้เป็นคนไม่ดี”

“ในอดีตคลองเตยมีเรื่องยาเสพติด ตอนนี้มีเรื่องโควิด เวลาไปโรงพยาบาล พอบอกว่ามาจากคลองเตย ก็จะโดนบอกว่าให้ออกไปรอข้างนอกก่อน เจ้าหน้าที่ของเราโดนมาแล้ว คนที่เพิ่งเสียชีวิตไปก็ฉีดวัคซีนไปแล้วสองเข็ม มีอาการหายใจไม่ค่อยออกก็ไปโรงพยาบาล พอรู้ว่ามาจากคลองเตย เขาก็ให้ไปรอในเต็นท์ข้างนอกก่อน จนกระทั่งเสียชีวิตในเต็นท์”

“หรือแม้กระทั่งบอกกันว่าคนคลองเตยขับแกร็บส่งอาหาร อย่าไปซื้อ เพราะจะเอาเชื้อโควิดมาด้วย ทั้งๆ ที่อาหารห่อ 3-4 ชั้น เราก็แค่อุ่นอาหารให้ร้อนใหม่ ถ้าเราเข้าใจคนเหล่านี้ก็จะไม่เกิดความคิดและคำพูดที่มาซ้ำเติมคนจน”

คนในชุมชนคลองเตยหลายคนตกเป็นจำเลยสังคม เมื่อถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งคลัสเตอร์ใหญ่ในเมือง จนถูกกีดกันจากสังคมในหลายเหตุการณ์ ทั้งโอกาสในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

101 คุยกับครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นักสิทธิมนุษยชนและนักสังคมสงเคราะห์ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ที่ทำงานคลุกคลีกับชุมชนคลองเตยมากว่า 42 ปี

คลองเตยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง โควิดเข้ามาเปิดแผลความเหลื่อมล้ำอย่างไร ประชาธิปไตยสำคัญอย่างไร และความหวังของชุมชนคลองเตยคืออะไรในภาวะวิกฤตเช่นนี้


ปัญหาวัคซีน การศึกษาในศตวรรษที่ 21 และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปัญหาวัคซีน การศึกษาในศตวรรษที่ 21 และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“ไม่กล่าวโทษรัฐบาล ปัญหาวัคซีนที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นผลพวงจากการศึกษาล้าหลังที่ดำเนินมาครึ่งศตวรรษ”

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงปัญหาในการจัดการวัคซีนโควิด อันสัมพันธ์กับการขาดทักษะศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะเรียนรู้

“ปัญหาวัคซีนวันนี้เกิดจากความไม่สามารถระบุปัญหา หรือไม่ก็ไม่ยอมรับปัญหาตั้งแต่แรก อาจจะเป็นเพราะไม่รู้ว่าปัญหาทุกชนิดแก้ได้ด้วยการทำงานเป็นทีม เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วที่จะมีคนเก่งเพียงคนเดียวหรือหยิบมือเดียวในปัญหาใหม่ๆ ของศตวรรษที่ 21 ที่แท้แล้วทุกปัญหาต้องการทีม มิใช่คนใกล้ตัวเท่าที่มี”

“เราไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่องในที่ประชุมราชการ และเราไม่สามารถระดมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาในทีม หรือแม้จะระดมได้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นก็ไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่องอยู่ดี”


พรรคคอมมิวนิสต์จีน: 100 ปี ของแมวเปลี่ยนสี

พรรคคอมมิวนิสต์จีน: 100 ปี ของแมวเปลี่ยนสี

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“มีคนพูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าประธานเหมาตื่นขึ้นมาวันนี้จะต้องอกแตกตายเป็นแน่ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนแปลงโฉมจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนแนวทางมาแล้วไม่รู้กี่รอบ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ การรักษาอำนาจการปกครอง”

1 กรกฎาคม 2021 ครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน อาร์ม ตั้งนิรันดร ชวนทบทวนประวัติศาสตร์หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ทั้งทำผิดพลาดมากที่สุด และปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเก่งที่สุด

“นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ของตะวันตกต่างก็เห็นตรงกันว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองที่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้เก่งที่สุด และเรียนรู้จากความผิดพลาดของตน เพื่อรักษาความนิยมและอำนาจ ความอดอยากและความวุ่นวายในยุคเหมากลายมาเป็นพลังปลดปล่อยการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคเติ้ง

ส่วนในด้านการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้มีการปฏิรูปการเปิดกว้างภายในพรรค แตกต่างคนละเรื่องจากระบบผู้นำเดี่ยวในยุคเหมา เพียงแต่ไม่ได้ปฏิรูปไปในแนวทางเสรีนิยมหรือเดินไปสู่การเลือกตั้งอย่างที่ตะวันตกคาดหวัง”

“มีงานวิชาการที่สำรวจความเห็นและค่านิยมทางการเมืองของคนจีนรุ่นใหม่ พบว่าคนจีนรุ่นใหม่มีแนวโน้มศรัทธาคุณค่าตามแนวทางของกลุ่มหัวก้าวหน้ามากกว่ากลุ่มอนุรักษนิยมของพรรค แม้ความคิดหัวก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่จะเน้นไปที่สังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นภายใต้ระบบเดิม โดยไปไม่ถึงการเรียกร้องให้มีหลายพรรคการเมืองหรือการเลือกตั้งก็ตาม”


“ราชบัลลังก์ของกษัตริย์เมืองไทยเป็นของประชาชนเสมอมา”: ใครทรงไว้ซึ่งอำนาจสถาปนาพระเจ้าแผ่นดิน

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

“อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยเป็นหลักที่มาจากต่างประเทศ แต่ก็มีส่วนที่เหมือนกันในประเพณีนิยมของไทย นั่นคือ กษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งอเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ด้วยความยินยอมของที่ประชุมชนหมู่มาก”

กษิดิศ อนันทนาธร ชวนอ่านแนวคิดการสืบราชบัลลังก์ของกษัตริย์ไทย เพื่อหาคำตอบว่าใครมีอำนาจเลือกพระมหากษัตริย์มาครองแผ่นดิน


ก่อนออกไปสู่โลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

คำว่า ‘ระหว่าง’ ในคำว่า ‘ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ บอกอะไร เตือนอะไร และมีความหมายอย่างไรได้บ้าง

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ชวนอ่าน ‘ข้อคิดสุดท้าย’ ที่เคยให้แก่นิสิตสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอดีต ในห้วงเวลาที่นิสิตและนักศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุค new normal กำลังจะจบจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่โลกจริงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“สุดท้ายเมื่อพวกเรามาเสาะหาวิชาในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ…ผมเพียงแต่อยากตั้งคำถามว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประกอบด้วยคำสามคำ ท่านคิดว่าคำทั้งสาม คำใดสำคัญที่สุด”

“ประเทศหรือรัฐ หรือความสัมพันธ์ เป็นคำที่มีความสำคัญยิ่ง สองปีที่ผ่านมาท่านคงได้เรียนรู้อะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิติต่างๆ ของคำสำคัญทั้งสองนี้”

“เช้าวันนี้ ผมอยากชวนท่านพิจารณาคำสำคัญ แต่มักถูกมองข้ามไป อันได้แก่คำว่า ระหว่าง ให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น…”


ความเครียดสะสมระดับสูงของสังคม

ความเครียดสะสมระดับสูงของสังคม

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

โรคระบาดที่อยู่กับสังคมมามากกว่าหนึ่งปีสร้างความเครียดสะสมในสังคม นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงแรงกดดันที่มองไม่เห็นในบ้านเมือง ไม่ว่าจะปัญหาเศรษฐกิจ ผู้คนพบปะกันไม่ได้ ครอบครัวผิดใจกัน ความเครียดที่สะสมสูงขึ้นเรื่อยๆ นี้อาจแตะระดับที่สังคมจะแบกรับไว้ไม่ได้ในเวลาไม่นาน

“สถานการณ์วิกฤตใดๆ มักทำให้คนเราสูญเสียการควบคุมชีวิตไปบางส่วนหรือทั้งหมด เมื่อชีวิตมิได้อยู่ในมือเราแต่ไปอยู่ในมือของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปอยู่ในมือของคนที่ไว้วางใจมิได้ ความเครียดจะสูงขึ้นมาก”

“เรากำลังขาดความไว้วางใจต่อผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายอย่างมากมาย ใครออกมาพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อหรือพร้อมจะทำตาม ผลที่เห็นคือคนจำนวนมากตัดสินใจที่จะเอาตัวรอดแบบที่เรียกว่าตัวใครตัวมันและมือใครยาวสาวได้สาวเอา”


มรสุมตั้งเค้า เขย่าสื่อสาธารณะ ในวาระเตรียมฉลองร้อยปี บีบีซี

มรสุมตั้งเค้า เขย่าสื่อสาธารณะ ในวาระเตรียมฉลองร้อยปี บีบีซี

โดย สมชัย สุวรรณบรรณ

ประเด็นความไม่โปร่งใสในบทสัมภาษณ์เจ้าหญิงไดอานา เมื่อปี 1995 กลายเป็นมรสุมอีกลูกที่โหมกระหน่ำบีบีซี ในช่วงก่อนจะต้องเจรจากับรัฐบาลเรื่องค่าธรรมเนียมการรับชมโทรทัศน์ โดยมีทั้งนักการเมืองและนักลงทุนที่หวังหาโอกาสจำกัดบทบาทสื่อแห่งนี้

สมชัย สุวรรณบรรณ เขียนถึงความท้าทายของสื่อสาธารณะอายุร่วมร้อยปีของอังกฤษที่ต้องรับศึกทั้งภายในและภายนอก ขณะที่ต้องทำงานโดยยึดประโยชน์สาธารณะก็เจอแรงต้านจากฝ่ายที่หวังจะเห็นทุกสื่ออยู่ในตลาดเสรี

“การทำงานของสื่อสาธารณะที่ยึดหลักการผลประโยชน์สาธารณะในระยะยาวเป็นธงนำ ย่อมต้องปะทะนักการเมืองที่มักจะออกมาเกรี้ยวกราดกล่าวหาผู้คนที่เห็นต่างว่า ‘ชังชาติ’ ไว้ก่อน เพื่อหวังปั่นกระแสชาตินิยมรักษาผลประโยชน์ในการต่ออำนาจทางการเมืองระยะสั้นของพวกตนไว้ก่อน”

“ตามกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลและบีบีซี จะต้องทำข้อตกลงกำหนดอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากครัวเรือนเป็นรายปี โดยการทำข้อตกลงนี้มักจะมีการเจรจากันทุกสิบปี ต่อมาปรับเป็นทุกห้าปี และในปีนี้จะต้องมีการเจรจาให้ตกลงกันก่อนประกาศใช้ในเดือนเมษายนปีหน้าเป็นต้นไป”

“เรื่องการจัดหาเงินทุนอุดหนุนบีบีซีจะกลายเป็นสนามรบสำคัญระหว่างผู้ที่จดจ้องจะลดบทบาทหรือล้มล้างสื่อสาธารณะแล้วให้กลไกตลาดมาตัดสินความอยู่รอดของสื่อ กับกลุ่มบุคคลที่ต้องการปกป้องบีบีซี ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าสมบัติของชาติ”


ทำอย่างไรให้รัฐดูแลเรา? เส้นทางการสร้างรัฐสวัสดิการในสวีเดน

โดย โกษม โกยทอง

รัฐสวัสดิการทำได้แค่ในสวีเดนจริงหรือ? คำถามสำหรับประชาชนประเทศอื่นที่ใฝ่ฝันอยากให้รัฐใส่ใจดูแลประชาชนเหมือนสวีเดนบ้าง

โกษม โกยทอง ชวนย้อนอดีตพาไปดูเส้นทางการสร้างรัฐสวัสดิการของสวีเดนที่ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่มาจากการต่อสู้ การเรียกร้อง ความเจ็บปวด ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการจะให้รัฐดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงนั้น ไม่เคยง่ายเลยสักครั้ง

“หลังการขึ้นสู่อำนาจ ภารกิจสำคัญที่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยต้องเจอ คือปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับความบอบช้ำมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 พร้อมกับปัญหาความขัดแย้งของรัฐบาล นายทุน และกลุ่มแรงงาน”

“สิ่งที่พรรคเลือกทำ คือการใช้นโยบาย ‘บ้านของประชาชน’ (People’s Home – Folkhemmet) ที่มีแนวคิดง่ายๆ ว่า ทำประเทศให้เป็นเหมือนบ้านที่สมาชิกทุกคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ไม่มีใครต้องกังวลว่าใครจะมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร ทุกคนเท่าเทียมและร่วมมือกันเพื่อพัฒนาประเทศ”

“จากแนวคิดบ้านของประชาชน นำมาสู่การริเริ่มการจัดสวัสดิการสังคมผ่านนโยบายต่างๆ ทั้งระบบประกันสุขภาพที่รักษาฟรี การศึกษาฟรี การเพิ่มเงินบำนาญให้ผู้สูงอายุ หลักประกันการว่างงานให้ประชาชนมีรายได้ เพิ่มวันลาพักผ่อน ฯลฯ จนก่อร่างกลายเป็นรัฐสวัสดิการที่ดูแลความมั่นคงให้กับชีวิตประชาชนอย่างทั่วถึง”


การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยยุทธศาสตร์เสือกระโดด:
จะกระโดดได้ไกล พื้นฐานต้องแข็งแกร่ง

โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ นำเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วย ‘ยุทธศาสตร์เสือกระโดด’ ซึ่งเสือเศรษฐกิจอย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน เคยใช้สำเร็จมาก่อน

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 Samsung ต้องการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าขนาดเล็กหรือ ชิป (Chip) ซึ่งใช้เก็บหน่วยความจำชั่วคราวของคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า DRAM (Dynamic Radom-Access Memory) โดยที่ Samsung ไม่เคยมีประสบการณ์ผลิต DRAM มาก่อนเลย แทนที่จะเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป Samsung ตั้งมั่นอย่างยิ่งที่จะ ‘กระโดดข้ามขั้น’ จากการผลิตชิป DRAM ขนาดหน่วยความจำ 1 kbit ไปผลิตชิป 64 kbit ทันที…ถือเป็นการกระโดด ‘ข้ามศตวรรษ’ ในแง่การพัฒนาเทคโนโลยี

ช่วงปลายทศวรรษ 1980s เกาหลีใต้พยายามแข่งขันกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำการผลิต Analog TV ในตอนนั้น ด้วยการพัฒนา Digital TV จนสำเร็จในช่วงกลางทศวรรษ 1990s พร้อมส่งขายทั่วโลก ทดแทน Analog TV

การ ‘กระโดดหาเส้นทางใหม่’ นี้แม้จะมีความเสี่ยง ใช้งบประมาณ และใช้ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่สูงกว่ากลยุทธ์แบบ ‘กระโดดข้ามขั้น’ แต่หากสำเร็จ ก็จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นมากเช่นกัน

หากผู้ทำนโยบายต้องการจะนำพาเศรษฐกิจไทยไปไกลดั่งเสือกระโดด ต้องเริ่มด้วยการวางมือจากคำที่ดูยิ่งใหญ่ และคำตามสมัยนิยมทั้งหลาย (Cliché) แล้วหันมาพิจารณาจัดการกับเรื่องพื้นฐานให้ถ่องแท้

คิดจะกระโดดให้ไกล พื้นฐานต้องแน่นครับ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยอาจจะลื่นล้มเอาง่ายๆ


ความนิยมเยอรมันใน ‘ปรัสเซียแห่งบูรพาทิศ’

โดย ชลิดา หนูหล้า

ชลิดา หนูหล้า พาท่องจักรวาลอ่านความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเยอรมัน ที่เกาะเกี่ยวโยงใยกันอย่างแน่นแฟ้นจนกำเนิดยุคแห่ง ‘ความนิยมเยอรมัน’ ในญี่ปุ่นช่วงปี 1880 และส่งผลมาถึงปัจจุบัน ดังที่ปรากฏในงานเขียนและการ์ตูนหลายเรื่อง

ฉายา ‘ปรัสเซียแห่งบูรพาทิศ’ ที่สื่อเยอรมันใช้เรียกญี่ปุ่นในทศวรรษ 1890 มีที่มาอย่างไร และจุดร่วมของความเป็นเยอรมันกับญี่ปุ่นคืออะไร

“ภาษาเยอรมัน ตัวละครชาวเยอรมัน และวรรณคดีเยอรมัน เป็นองค์ประกอบอันดาษดื่นในอุตสาหกรรมมังงะและอนิเมะ หลายคนอาจคุ้นเคยกับโซริว อาซึกะ แลงลีย์ (Sohryu Asuka Langley) จาก อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา ที่มักสบถสาบานเป็นภาษาเยอรมันเมื่อมีน้ำโห, ลุดวิกหรือ ‘เยอรมันคุง’ จาก พลังอักษะ เฮตาเลีย, โยฮันน์ เฟาสต์ ที่แปด (Faust VIII) จาก ราชันย์แห่งภูต และสารพัดชื่อในผ่าพิภพไททัน รวมถึงเพลงประกอบภาษาเยอรมันอย่างโฟเกล อิม เคฟีก (Vogel im Käfig)”

“ความดาษดื่นที่ว่าสะดุดตานักวิชาการจำนวนไม่น้อย และนำไปสู่การศึกษาหลากแง่มุมของความนิยมเยอรมันในวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยหนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจเป็นของอะกิโกะ สึกาวะ-ชิมาดะ (Akiko Sugawa-Shimada) ซึ่งเปิดเผยว่าอนิเมะหรือมังงะที่มีองค์ประกอบเหล่านี้ มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามหรือการทหาร”

“แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าความนิยมเยอรมันเป็นมรดกของการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งดูจะเป็นความสัมพันธ์เยอรมัน-ญี่ปุ่นที่เด่นชัดที่สุดเท่านั้น เพราะสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างสองแผ่นดินถูกถักทอก่อนหน้านั้นนานนัก ทั้งยังมีขอบเขตกว้างขวาง ลึกซึ้งกว่าเพียงความสัมพันธ์ทางการทหาร ชี้ชะตาญี่ปุ่นสมัยใหม่ ตลอดจนให้ผลลัพธ์เชิงวัฒนธรรมหลากหลายกว่าที่ใครจะคาดคิด”


ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เทคโนโลยีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้แค่ไหน :
บทเรียนจาก 4 พื้นที่จริงของประเทศไทย

โดย นิชาภัทร ไม้งาม

“ในช่วงที่ผ่านมา มีงานศึกษาจำนวนมากชี้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขณะที่การศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยก็ชี้ว่าเทคโนโลยีทำให้เด็กยากจนขาดโอกาสและยิ่งถ่างช่องว่างที่มีอยู่แล้วให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ..”

นิชาภัทร ไม้งาม เปิดงานวิจัยในประเทศไทยว่าเมื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของนักเรียนยากจนแล้วได้ผลเป็นอย่างไร


Back to SCHOOL เปลี่ยนประเทศไทย ต้องกลับไปที่โรงเรียน?

โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

ในช่วงการเปิดเทอมอีกครั้ง พริษฐ์ วัชรสินธุ ชวนเปลี่ยนอนาคตประเทศโดยเริ่มจากการเปลี่ยนห้องเรียนและโรงเรียน เมื่อการศึกษามีบทบาทกำหนดค่านิยมในสังคม และค่านิยมเหล่านั้นกลายมาเป็นปัญหาของสังคมในภาพกว้าง

“ช่วงโควิดที่เราคาดหวังว่าการปรับตัวเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ น่าจะทำให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือคุณครูบางส่วนให้ความสำคัญกับเนื้อหาการเรียนการสอนมากขึ้น แต่น่าเสียดายบางโรงเรียนไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใดๆ เราจึงเห็นข่าวให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบเพื่อเคารพธงชาติ สวดมนต์ แล้วถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปส่ง ระหว่างการเรียนออนไลน์”

“วัฒนธรรมที่รองรับให้กฎระเบียบที่ล้าหลังเหล่านี้ยังคงอยู่ได้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่ล้าหลังและไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเช่นกัน”

“แม้การเปลี่ยนค่านิยมของทั้งประเทศ อาจต้องอาศัยทั้งเวลา ทั้งพลังประชาชนอย่างมหาศาลและรัฐบาลที่เข้าใจในหลักประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนค่านิยมในห้องเรียนและในโรงเรียนเป็นสิ่งที่พวกเราลุกขึ้นมาทำกันได้เองโดยไม่ต้องรอใคร”


หกปีหลังจากภาคสนามกับอ้างอิงท้ายเรื่องหมายเลข 42 ในหนังสือ Moments of Silence

โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

ธนาวิ โชติประดิษฐ เล่าประสบการณ์วิจัยภาคสนามในเขตภูพยัคฆ์ จ.น่าน ที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยและ พคท. และคำตอบที่พบในหนังสือ moments of silence ของธงชัย วินิจจะกูล

“…หลังจากงานครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2539 การรื้อฟื้นอดีตเกี่ยวกับ พคท. การค้นหาผู้เสียชีวิตตามพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งในเขตป่าเขา การทำบุญอุทิศส่วนกุศลและการจัดกิจกรรมรำลึกซึ่งรวมถึงการตั้งอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นตามมามากมาย…”

“ข้อเขียนเกี่ยวกับการสำรวจพื้นที่เมื่อครั้งวางแผนโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน และงานศึกษาเกี่ยวกับลัวะและม้ง ผู้เขียนพบข้อความที่บอกถึงความอัดอั้น ความเจ็บปวด ความขมขื่น และความระมัดระวังในการแสดงออกผ่านการเขียนกระจายอยู่ทั่วไปหมด เหล่านี้บ่งบอกว่าความปรองดองสมานฉันท์ไม่ใช่เรื่องง่าย…”


CPTPP, UPOV-1991 กับความเข้าใจที่ผิดพลาด

CPTPP, UPOV-1991 กับความเข้าใจที่ผิดพลาด

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

“ประเด็นที่ยาก ซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของผู้คนจำนวนมากอย่าง CPTTP ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และมิได้หมายความว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับ CPTTP นั้นไม่มีเหตุผล หรือไร้เหตุผล แต่สิ่งที่ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน CPTTP ต้องทำร่วมกันคือ การถกเถียงบนฐานเหตุผล ข้อเท็จจริง และหลักวิชาการ ซึ่งหากสิ่งนี้เกิดขึ้น สุดท้ายไม่ว่าผลสรุปในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร กระบวนการดังกล่าวนี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในตัวมันเอง”

จากกระแสเกี่ยวกับการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP ปิติ ศรีแสงนาม เขียนถึงบางประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV-1991)

“ผู้แทนกรมการข้าวสะท้อนข้อกังวลจากปัญหาการขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนด้านการทำวิจัยพันธุ์ข้าวจากรัฐบาล … เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขอเข้าร่วมการเจรจา CPTPP และไม่ว่าจะเข้าร่วมการเจรจาหรือไม่ รัฐบาลก็มีความจำเป็นต้องสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้น

หากพิจารณาในอีกมุมหนึ่ง เรากลับพบว่าการเข้าร่วม UPOV-1991 กลับจะยิ่งทำให้รัฐสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพันธุ์ข้าวใหม่ที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยจะตกเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่ได้รับการคุ้มครองและสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมได้”


เกือบจะเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการโรงแรม

โดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

เหตุใดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเกือบถูกย้ายและกลายเป็นโรงแรม? อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เขียนถึงเรื่องราวการปกป้องสถานศึกษาจากอำนาจรัฐของชาว มธก.

“อุทธรณ์ พลกุล นักหนังสือพิมพ์ศิษย์เก่าเตรียม มธก. รุ่นแรกสุด ได้เขียนบทความ “โรงแรมธรรมศาสตร์” ลงในคอลัมน์ “อภิปรายและวิพากษ์” ของหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ประจำวันอังคารที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2493 ความว่า..

“…ภายหลังการเถลิงอำนาจของบุคคลกลุ่มหนึ่ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเปนสถานศึกษาแห่งชาติ ก็ได้ถูกรังแกตลอดมาอย่างไม่เป็นธรรม …

“ถ้ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจะเปนสถาบรรณสำหรับระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย สถาบรรณแห่งนี้ก็ถูกทำลายแล้วโดยกลอุบายของสัตรูประชาธิปไตย ซึ่งเปนสัตรูร่วมของประชาชนด้วย การจะคิดดัดแปลงมหาวิทยาลัยเปนโรงแรมนี้ก็เปนกลอุบายอีกกลหนึ่งของสัตรู”


โบราณคดีขั้วโลกเหนือในวันที่น้ำแข็งกำลังละลาย:
คุยกับ แมกซ์ ฟรีเซน นักโบราณคดีที่ดูแลวัตถุโบราณแข่งกับเวลา

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือกำลังละลาย – วิกฤตครั้งนี้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม กระแสน้ำในทะเล และชีวิตของสัตว์ที่อาศัยในขั้วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ผลกระทบอีกประการที่เราอาจคาดไม่ถึง คือผลกระทบต่อ ‘โบราณคดี’ — การละลายของน้ำแข็งอาจเผยให้เราพบกับอดีตของมนุษยชาติที่ถูกแช่แข็งไว้นานนับพันปี ขณะเดียวกันโบราณวัตถุและหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายเหล่านั้น ก็ถือเป็นงานจำนวนมหาศาลที่นักโบราณคดีต้องรักษาไว้ให้ทันเวลา ก่อนบทเรียนล้ำค่าจะละลายลงไปในมหาสมุทร

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ สนทนากับ แมกซ์ ฟรีเซน (Max Friesen) จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา นักโบราณคดีที่ทำงานในขั้วโลกเหนือเป็นเวลากว่า 35 ปี ว่าด้วยสิ่งที่เขาค้นพบในขั้วโลกเหนือ เรื่องราวในอดีตที่เราอาจสูญเสียไปพร้อมการละลายของน้ำแข็ง และบทเรียนที่มนุษย์ในอดีตกำลังบอกกับเรา

“หลายพื้นที่บนโลก ซากสิ่งของต่างๆ ในอดีตถูกสงวนรักษาไว้ได้น้อยมาก ซากอินทรีย์ทั้งหมดหายไป…แต่ในแถบขั้วโลกเหนือ ทุกสิ่งที่เราขุดค้นพบถูกรักษาไว้ด้วยชั้นดินที่หนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (permaforst) เราจึงไม่ได้พบเพียงหินเก่า เครื่องดินเผา หรืออะไรเทือกนั้น แต่เรายังพบไม้ กระดูก เขากวาง งาช้าง ไปจนถึงเศษชิ้นส่วนของเสื้อผ้าที่ทำจากหนังด้วย ผมรู้สึกราวกับว่ากำลังทำงานในระบบนิเวศสุดท้ายของโลกที่ไม่ถูกรบกวน”

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ ชั้นพื้นผิวที่ละลายทุกๆ ฤดูร้อนจะหนาขึ้นเรื่อยๆ ในบางแห่งอาจหนาถึงครึ่งเมตร นั่นหมายความว่าสิ่งต่างๆ ในแหล่งโบราณคดีที่เคยถูกแช่แข็งรักษาอย่างสมบูรณ์เป็นพันปีกำลังจะละลาย เวลาขุดค้นของเราจึงมีจำกัด หากเราไม่สามารถขุดค้นได้ทัน โบราณวัตถุในขั้วโลกเหนือก็จะไปอยู่ตามที่ต่างๆ ในโลก และซากอินทรีย์ก็จะค่อยๆ ย่อยสลายไป”

“หลายคนพบปัญหาเกี่ยวกับคนพื้นเมือง และบ่อยครั้งมักมาจากการไม่ปรึกษาหารือร่วมกับคนพื้นเมืองให้มากพอก่อนที่จะลงภาคสนาม หนึ่งบทเรียนสำคัญสำหรับผมและนักโบราณคดีทั่วอเมริกาเหนือที่ทำงานกับคนพื้นเมืองคือ คุณไม่สามารถตัดสินใจเสร็จสรรพเกี่ยวกับโครงการ แล้วเข้าไปบอกกับชุมชนได้เลยว่า นี่คือสิ่งที่ฉันจะทำนะ คุณคิดอย่างไร แต่คุณต้องทำงานโดยเริ่มจากการพัฒนาความสัมพันธ์กับพวกเขาก่อน การทำงานกับคนพื้นเมืองจึงเป็นเรื่องที่ใช้เวลา”

“ถ้ามนุษย์สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ขั้วโลกเหนือได้ เราก็สามารถ–และควรจะ–แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดกับเราในปัจจุบันได้ เหมือนกับที่ชาวอินูอิตรอดชีวิตมาได้ พวกเขาไม่ได้ตายจากไป พวกเขาผ่านสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งร้อนและหนาว หาวิธีใหม่ที่จะล่าสัตว์ เปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัย หรือบางครั้งก็โยกย้ายที่อยู่ไปตามสภาพอากาศ พวกเขามักจะจัดการสิ่งที่มีอยู่แล้วและหาวิธีใหม่ๆ ในการอยู่รอดได้เสมอ”


หนึ่งร้อยวันของประธานาธิบดี โจ ไบเดน

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ร้อยวันแรกในการทำหน้าที่ของ โจ ไบเดน คือการทำให้การเมืองอเมริกันกลับมาดำเนินตามปกติ นั่นคือระบบปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่โดยตัวบุคคล

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนถึงก้าวต่อไปของ โจ ไบเดน ที่จะต้องรื้อฟื้นบทบาทของอเมริกาให้ประเทศทั่วโลกกลับมาให้ความสำคัญดังเดิม

“สหรัฐฯ ไม่ได้ครองอำนาจนำแต่ผู้เดียวเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว ยิ่งสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นใหญ่ เขายิ่งดำเนินนโยบายที่โดดเดี่ยวอเมริกาออกจากบทบาทและฐานะเก่าโดยสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่โจ ไบเดนจะต้องรื้อฟื้นและสถาปนาบทบาทและฐานะของอเมริกาที่ประเทศทั่วโลกต้องกลับมาให้ความสำคัญ ถึงไม่เท่าเดิม ก็ต้องไม่น้อยไปกว่านั้นเกินไปนัก”

“ไบเดนทำให้ผู้สังเกตการณ์การเมืองแปลกใจอย่างยิ่งที่เขาไม่ทำตัวเหมือนกับตอนที่เขาเป็นวุฒิสมาชิกและรองประธานาธิบดีที่ไม่โดดเด่นและมีสีสันอะไรนัก ออกจะจืดชืดด้วยซ้ำตอนหาเสียงเลือกตั้ง เขาไม่ซ้ายไม่ขวาจนคนคิดว่ารัฐบาลสมัยของไบเดนคงเงียบเหงา ยิ่งมารับมรดกแห่งความวุ่นวายและแตกแยกขนาดใหญ่ในประเทศจากทรัมป์ด้วย ไบเดนคงไปต่อยากลำบากยิ่ง

“แต่ร้อยวันภายใต้การนำของไบเดนให้ภาพที่ตรงกันข้ามอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เขาตัดสินใจดำเนินนโยบายหลักและใหญ่อย่างรวดเร็ว แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาทำเนียบขาว ฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงต่างๆ จากคนที่มีฝีมือความชำนาญในเรื่องนั้นๆ จริงๆ ให้น้ำหนักกับความหลากหลายทางเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนาสีผิว เรียกว่าเป็นคณะรัฐมนตรีที่หลากหลายที่สุดในประวัติศาสตร์”


Highligt เด่น! เดือนแห่งการอภิวัฒน์สยาม 2475
และ Pride Month


Public | Space ไพร่ ฟ้า ม้า ลาน

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์, ภาวิณี คงฤทธิ์, เมธิชัย เตียวนะ และ ปวเรศ อุดมพัฒนกิจ

นานมาแล้ว อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ถือเป็นสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม และพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าถูกใช้เพื่อแสดงพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ จนกระทั่งย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรก็ได้เปลี่ยนความหมายของพื้นที่นี้ไปอย่างสิ้นเชิง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย ลานพระบรมรูปทรงม้าคือพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้คนทุกกลุ่มเข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างอิสระ ไม่ว่างานพระราชพิธี รัฐพิธี งานเฉลิมฉลองทั่วไป ตลอดจนชุมนุมทางการเมือง ล้วนถูกจัดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน กลายเป็นสีสันแต่งแต้มให้ลานพระบรมรูปทรงม้าเต็มไปด้วยความหลากหลายของกิจกรรม และเป็นตัวแทนเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ รัฐ ประชาชน

มาวันนี้การเปลี่ยนแปลงมาเยือนลานพระบรมรูปทรงม้าอีกครา เมื่อมีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหน้าลานพระบรมรูปฯ สร้างแท่งคอนกรีตและรั้วเหล็กกั้นขวางระหว่างประชาชนและอนุสาวรีย์ พร้อมด้วยมาตรการจำกัดการเข้าใช้พื้นที่ กำหนดเวลาเข้าออก และห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง

กว่าร้อยปีที่ผ่านมา ลานพระบรมรูปทรงม้าอยู่ในสถานะที่ไม่เคยตัดขาดจากประชาชน กระนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลง ณ วันนี้กำลังสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งใด

101 Documentary ชวนค้นหาคำตอบใน Public | Space ไพร่ ฟ้า ม้า ลาน


พระบรมรูปทรงม้า : พื้นที่แห่งความทรงจำและอำนาจร่วมกันของ
กษัตริย์ รัฐ ประชาชน ‘ชาตรี ประกิตนนทการ’

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พื้นที่นี้ถูกเลือกใช้เป็นสถานที่รวมพลของทหารและพลเรือนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นเป็นต้นมา พื้นที่แห่งนี้ก็ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวอีกต่อไป ไม่ใช่พื้นที่กึ่งสาธารณะอีกต่อไป แต่คือพื้นที่สาธารณะของประชาชน”

ลานพระบรมรูปทรงม้า คือสถานที่ที่อัดแน่นไปด้วยความทรงจำอันหลากหลายของผู้คน ทั้งความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐ ผสานกับความทรงจำของประชาชนทั่วไป

บัดนี้ ความทรงจำที่เรามีร่วมกันต่อพื้นที่แห่งนั้นกำลังจะถูกเขียนขึ้นใหม่ให้ต่างไปจากเดิม ภาพของพระบรมรูปทรงม้าที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปส่อเค้าลางถึงอะไร? 101 สนทนากับ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ เพื่อหาคำตอบนั้น

“ก่อน 2475 พื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าถูกใช้ทำพระราชพิธีต่างๆ ใช้เดินสวนสนามของรัฐ ในลักษณะที่ในทางวิชาการอาจนิยามว่าจะมีสถานะเป็น ‘พื้นที่กึ่งสาธารณะ’ ที่แม้เปิดให้คนทั่วไปใช้สอยได้ แต่เจ้าของพื้นที่มิใช่ประชาชน”

“ตัวพระบรมรูปทรงม้าเป็นวัตถุสัญลักษณ์ชิ้นหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม… ทั้งรัชกาลที่ 5 รวมถึงชนชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระบรมรูปทรงม้าในสมัยนั้นมีเป้าประสงค์ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการให้อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน ซึ่งกษัตริย์สยามแบบเดิมไม่เคยทำมาก่อน”

“ก่อนการรัฐประหาร 2557 พื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้ายังมีลักษณะเป็นพื้นที่สาธารณะค่อนข้างสูงมาก แต่หลังรัฐประหาร 2557 ลานพระบรมรูปทรงม้ากำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่สาธารณะกลับไปเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะอีกครั้ง โดยทุกคนยังสามารถเข้าออกพื้นที่ได้ แต่มีเงื่อนไขที่จำกัดมากขึ้น และกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ”

“หลังรัฐประหาร 2557 เราไม่อาจพูดได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยอีกต่อไป ดังนั้นรัฐไทยที่เดินถอยห่างออกจากประชาธิปไตยมากขึ้น ย่อมไม่มีวันชื่นชอบการมีอยู่ของพื้นที่สาธารณะเช่นกัน”


101 Gaze Ep.4 “For Equality, To Eternity
สู่ความเท่าเทียม จากฉันถึงคุณ”

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์, ฟ้าใหม่ พงศกรเสถียร, กมลชนก คัชมาตย์ และ นภสินธุ์ สามแก้วแจ่ม

บางคนอาจกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTIQA+ เพราะเรามีสังคมที่เปิดกว้าง เรายอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

แต่เราเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

หรือทั้งหมดที่เราเห็นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งของโลก LGBTIQA+ เท่านั้น?

ลึกลงไป ใต้สิ่งแวดล้อมที่ดูเป็นมิตร

ยังมีอีกหลายสิทธิ ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับอย่างเท่าเทียม

ยังมีอีกหลายบาดแผล ที่เกิดขึ้นผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน

ยังมีอีกหลายเฉดของความหลากหลาย ที่เราอาจยังไม่เข้าใจ

รายการ 101 Gaze ขอส่งท้าย Pride Month ด้วยการชวนคุณรับฟังเสียงอันหลากหลาย สำรวจปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็งที่ยังเกิดกับ LGBTIQA+ ร่วมจินตนาการและลงมือสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมไปพร้อมๆ กัน

For Equality, To Eternity

สู่ความเท่าเทียมของพวกเราทุกคน


รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนมิถุนายน 2564


ขับต่อหรือพักก่อน : เสียงจากแท็กซี่ในโควิดระลอกสาม

โดย กองบรรณาธิการ

ขับต่อหรือพักก่อน : เสียงจากแท็กซี่ในโควิดระลอกสาม

“รัฐบาลบอกถ้าใครมีเงินในบัญชีเกิน 500,000 บาท จะไม่สามารถรับสิทธิ ‘เราชนะ’ หรือ ‘ม.33’ ได้ ผมบอกผมมีเงินเก็บในบัญชีอยู่ 500 บาท ผมก็น่าจะได้กับเขาอยู่นะ มีอยู่ 500 ครับ อย่าบอกว่า 500,000 เลย”

ในช่วงเวลายากลำบากจากปัญหาโรคระบาดและพิษเศรษฐกิจที่ยาวนานจากปีที่แล้ว ส่งผลต่อผู้คนหลากหลายอาชีพในเมือง และหนึ่งในนั้นคือ ‘คนขับรถแท็กซี่’ ที่มีรายได้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงวิกฤตนี้

จากเงินเข้ากระเป๋าเกินหนึ่งพันบาทต่อวันมาสู่วันละหลักร้อย ผลจากนักท่องเที่ยวที่หายไปและคนออกจากบ้านน้อยลง เมื่อท้องถนนเงียบลงถนัดตา แท็กซี่หลายคันจึงเลือกกลับภูมิลำเนาหรือเปลี่ยนอาชีพชั่วคราว

ยิ่งเมื่อสังคมได้ข่าวการฆ่าตัวตายของคนขับแท็กซี่ในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงสภาพจิตใจของคนขับรถแท็กซี่ รวมถึงปัญหาปากท้องและนโยบายจากภาครัฐที่ยังเข้าไม่ถึงแรงงานในภาคบริการหรือการท่องเที่ยวเท่าที่ควร น่าสนใจว่าคนขับรถแท็กซี่ต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กับความท้าทายในช่วงวิกฤตนี้อย่างไร

101 ลงพื้นที่สัมภาษณ์คนขับแท็กซี่ถึงผลกระทบหลายด้าน ฟังความเห็นของพวกเขาในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และเป็นหนึ่งในอาชีพที่น่าจะได้รับฟังปัญหาของผู้คนจากผู้โดยสารมากหน้าหลายตา

พวกเขามีเรื่องเล่าอะไร รู้สึกอย่างไร และต้องการอะไรในภาวะวิกฤตนี้


คลัสเตอร์-คลองเตย-ความตาย

“เมื่อคลองเตยเป็นพื้นที่ที่มีคนจนอยู่เยอะ ก็มักจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี ในอดีตมีเรื่องยาเสพติด ตอนนี้มีเรื่องโควิด… ไปโรงพยาบาล ถามว่ามาจากไหน พอรู้ว่ามาจากคลองเตย เขาบอกให้ไปรอในเต็นท์ก่อน จนกระทั่งเสียชีวิตที่เต็นท์”

กว่า 8 สัปดาห์นับแต่การระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ในช่วงต้นเดือนเมษายน ชุมชนคลองเตยกลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยต่อวัน ก่อนจะค่อยๆ ดีขึ้นมาเป็นหลัก 10-20 คนต่อวันในปัจจุบัน

แต่ใช่ว่าชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้น เมื่อตลอดช่วงที่ผ่านมาพวกเขาไม่สามารถออกไปทำงานได้ จนไม่มีรายได้จากทางไหนเลย บางบ้านติดเชื้อกันทั้งครอบครัว เพราะไม่สามารถทำตามมาตรการรักษาระยะห่าง เนื่องจากที่อยู่อาศัยแออัดเกินกว่าจะทำได้ 

และดูเหมือนว่าหลังจากนี้ก็ยังมองไม่เห็นอนาคต — ยังไม่นับว่าถูกกีดกันจากคนในสังคมทั้งโอกาสในการทำงานและชีวิตประจำวัน

101 พาสำรวจพื้นที่ชุมชนคลองเตย ชุมชนแออัดที่มีผู้อยู่อาศัยกว่า 1 แสนคน ในภาวะที่โรคระบาดรุนแรงเช่นนี้


101 Policy Forum #13 : “ปฏิรูปกองทัพ: รื้ออำนาจหลากมิติของกองทัพในสังคมไทย”

ทหารเป็นตัวละครหลักของการเมืองไทยเสมอ กองทัพมีบทบาทสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจตลอด 89 ปีบนเส้นทางประชาธิปไตยไทย

ในวาระรำลึกการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 The101.world ร่วมกับภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดวงเสวนานโยบายสาธารณะว่าด้วยแนวทาง ‘การปฏิรูปกองทัพ’ ให้สอดคล้องกับโลกใหม่ที่มีหลักประชาธิปไตยและนิติธรรมเป็นหัวใจสำคัญ

พร้อมเปิดตัวหนังสือ ‘Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs’ ของ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ซึ่งชวนผู้อ่านสำรวจการ ‘แทรกซึม’ ของอำนาจและอุดมการณ์ของ ‘กองทัพไทย’ ในทุกอณูการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะกิจการด้านความมั่นคงภายใน

อะไรคือองค์ความรู้ใหม่ในการทำความเข้าใจอิทธิพลของกองทัพและเครือข่ายในสังคมไทย ที่ทางของกองทัพควรอยู่ตรงไหนในภูมิทัศน์การเมืองไทย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์-รัฐบาล-รัฐสภา-กองทัพ-ภาคประชาชนควรถูกจัดวางเสียใหม่อย่างไร และแนวทางปฏิรูปกองทัพให้มีส่วนร่วมสร้างประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพคืออะไร

ร่วมคิด-อ่าน และถก-ถาม ต่อยอดจากหนังสือเล่มสำคัญ กับ

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ ‘Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs’

พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร พรรคเพื่อไทย และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนและนักวิจัยอิสระ ผู้เกาะติดเรื่องความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์


101 One-on-One Ep.227 อภิปรายไม่ไว้วางใจ (ภาคต่อ) กับ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ในวันที่ประชาชนเดือดร้อนจากโรคระบาด หลายคนตั้งคำถามต่อความปลอดภัยและแนวทางการจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่อาจทำให้วิกฤตนี้ไม่จบลงง่ายๆ ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้เเทนราษฎรในวาระเเรกก็สร้างคำถามมากมายให้เกิดขึ้นในสังคม

รัฐบาลจะจัดการอย่างไร เมื่อมีสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน?

101 ชวน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล มาอภิปรายนอกสภาว่าด้วยการจัดการด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ไปจนถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่กำลังถูกจับตา


101 One-on-One Ep.228 บันเทิงทอล์ก (แบบไม่บันเทิง) กับ
ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

ในวันที่วงการบันเทิงถูกตั้งคำถามและเจอภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 101 ชวน ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม หนึ่งในผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรี-บันเทิงไทยมาหลายสิบปีมามองความเปลี่ยนแปลงในวงการที่เจอโจทย์ท้าทายหลายด้าน และมองไปถึงก้าวย่างต่อไปของวงการบันเทิงที่จะต้องเติบโตไปพร้อมสังคม

แวดวงดนตรี-บันเทิงเป็นอย่างไรในยุคโควิด อุตสาหกรรมบันเทิงจะปรับตัวอย่างไรในสังคมที่เปลี่ยนไป ในฐานะสื่อเขามองวงการสื่ออย่างไร ตลอดชีวิตในวงการเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ในฐานะที่เห็นคนรุ่นใหม่มาหลายรุ่น เขามองคนรุ่นใหม่อย่างไรในวันที่โลกจะเดินต่อ และชวนคุยไปถึงมุมมองทางสังคมการเมือง สังคมในฝันของป๋าเต็ดเป็นอย่างไร และการเมืองแบบไหนที่จะตอบโจทย์สังคมที่ดีได้จริง 

พบบทสนทนาเข้มข้นถึงเรื่องบันเทิงที่ไม่บันเทิง


101 One-on-One Ep.230 ก้าวต่อไปคณะราษฎร ก้าวต่อไปประชาธิปไตยไทย กับ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์

ในห้วงเวลาที่การเมืองในสภาเริ่มกลับมาร้อนแรงด้วยข้อถกเถียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและความขัดแย้งภายในรัฐบาลเอง การเมืองนอกสภาก็เริ่มเคลื่อนไหวจากจุดตั้งต้นในการรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน สู่การสานต่อเจตนารมณ์คณะราษฎร

101 ชวน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร คุยถึงย่างก้าวต่อไปของการเมืองบนท้องถนน โจทย์การแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นความหวังสู่ทางออกการเมืองไทย และหัวจิตหัวใจของนักเคลื่อนไหวการเมืองที่ผ่านเรือนจำพร้อมคดีติดตัวนับไม่ถ้วน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save