fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกรกฎาคม 2564

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกรกฎาคม 2564

เมื่อคนเป่านกหวีดไม่ขอรับผิดชอบกับระบอบประยุทธ์

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

แม้ว่าตอนนี้คนจำนวนมากที่เคยเข้าร่วม กปปส. จะออกมา ‘สารภาพบาป’ และขอโทษต่อสาธารณะถึงสิ่งที่เคยทำ แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่ไม่ตระหนักว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดจากการบริหารของประยุทธ์ จันทร์โอชา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ตอบคำถามที่ว่า เหตุใดผู้ที่เคยร่วมเป่านกหวีดล้มประชาธิปไตยจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้

“แน่นอนว่าการปูทางให้เกิดการรัฐประหารอาจไม่สามารถชี้ชัดว่าใครจะมาเป็นผู้นำในภายหลัง ดังนั้น จึงย่อมเป็นการถูกต้องที่บรรดาผู้นำหรือผู้เข้าร่วมการเป่านกหวีดจะบอกว่าเขาไม่ได้เป็นคนเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นผู้นำ”

“แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเข้าร่วมกับขบวนการที่มุ่งล้มล้างระบอบประชาธิปไตยก็คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คณะรัฐประหารอันมี พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรากฏตัวขึ้นมาในการเมือง ก่อนที่จะนำความหายนะอย่างไพศาลมาสู่สังคมไทยดังที่ตำตากันอยู่ในปัจจุบัน”

“เราคงไม่อาจไปบีบบังคับให้ใครต้องสำนึกในสิ่งที่เขาไม่รู้สึกว่าเป็นความผิด แต่เช่นเดียวกันเราก็ย่อมมีสิทธิที่จะ ‘รำลึกถึงคืนวันอันหอมหวาน’ ของพวกเขาเพื่อตอกย้ำถึงบทบาทของกลุ่มคนเหล่านี้ได้เช่นกัน”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

Exclusive เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ:
คำตอบในสายลมแห่ง ‘หน้าที่’ ผู้ว่าแบงก์ชาติ กลางพายุมหาวิกฤต

โดย กองบรรณาธิการ

101: คุณเคยเปรียบเทียบว่า ในทีมฟุตบอล แบงก์ชาติเปรียบเหมือนกองหลัง มีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมให้ประเทศลุยไปข้างหน้าได้

เศรษฐพุฒิ: ใช่ ถึงกองหน้าจะเก่งแค่ไหน ถ้ากองหลังทำหน้าที่ไม่ดี ปล่อยให้เขายิงประตู เราก็แพ้ได้

101: ทีนี้เกมสมัยใหม่ก็เปลี่ยนไป เราอาจต้องการกองหลังแบบใหม่ที่เท่าทันยุคสมัยมากขึ้น แบงก์ชาติควรพัฒนาตัวเองให้เป็นกองหลังแนวไหนในโลกยุคใหม่

เศรษฐพุฒิ: เวลาลงสนาม เราจัดทีมได้หลายแบบนะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคู่แข่ง บางทีเล่นกองหลังสามตัวแล้วมีวิงแบ็ก บางครั้งจับกองหลังยืนสี่ตัว โดยรวมผมว่าเรามีกองหลังที่ค่อนข้างเหนียวนะ เล่นได้รัดกุมดี แต่ในแง่ความเป็นทีม ยังยิงประตูไม่ค่อยเก่ง

สำหรับประเทศไทย การรักษาเสถียรภาพอยู่ในดีเอ็นเอของเราแล้ว โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจดิ่งลงมีไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตดุลบัญชีชำระเงิน อัตราแลกเปลี่ยน หรือระบบธนาคาร แต่ปัญหาของเราคือฝั่งการเติบโตขาขึ้นมากกว่า เราโตช้า เหมือนหุ้นปันผลมากกว่าหุ้นเติบโตเร็ว

กองหลังแบบแบงก์ชาติอาจจะต้องขึ้นไปทำเกมตรงกลางสนามบ้างบางจังหวะ เน้นช่วยให้ทีมเล่นเกมรุกได้ดีขึ้นมากกว่าจะคอยยืนป้องกันประตูอย่างเดียว แต่จะให้ถึงกับพลิกบทบาทไปยืนหน้าประตูฝั่งตรงข้าม ทำตัวเป็นกองหน้า ก็คงไม่ขนาดนั้น

พลันที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยลำดับที่ 23 ประกาศเจตนารมณ์ว่าไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งต่อเมื่อครบวาระในเดือนกันยายน 2563 ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่วังบางขุนพรหม – ด้วยความวิตกกังวล

ในช่วงเวลานั้น แม้ประเทศไทยจะได้รับการชื่นชมว่าสามารถรับมือกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ระลอกแรกได้ดี หากวัดกันที่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต แต่ก็ต้องแลกมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหน่วงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ในสถานการณ์เช่นนี้ สังคมเศรษฐกิจไทยต้องการขุนพลเศรษฐกิจชั้นเยี่ยม – มือถึง

ชื่อของ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของเมืองไทยอยู่ในใจของใครหลายคน

ต้นปี 2562 ทีม 101 สนทนากับเศรษฐพุฒิว่าด้วยโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจโลกและไทย ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น เศรษฐพุฒิแซวตัวเองหลายครั้งว่าตัวจริงของเขาไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเป็น ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’

เวลาผ่านไป 2 ปี เศรษฐกิจโลกและไทยสับสนผันผวนกว่าเดิมมาก 101 ชวน ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’ คนเดิมกลับมาพูดคุยอีกครั้ง คราวนี้มาในหมวกใบใหม่ที่ใหญ่และยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว นั่นคือ ‘ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย’ – ใช่! ในที่สุด เขาตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการสรรหาหลังจากปราศจากชื่อของเขาลงสมัครในรอบแรก เป็นการยื่นใบสมัครในช่วง 10 นาทีสุดท้ายของวันสุดท้ายในรอบขยายเวลา

ตลอด 3 ชั่วโมงครึ่งของการสนทนาตามประสา ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’ ด้วยกัน เราพูดคุยตั้งแต่เบื้องหลังการตัดสินใจลงสนามชิงตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ เบื้องลึกการทำนโยบายในภาวะวิกฤต การเปลี่ยนวัฒนธรรมเทคโนแครตของ ธปท. เทรนด์ใหญ่ของธนาคารกลางทั่วโลก และการตั้งหลักใหม่ของประเทศไทยแห่งอนาคต

8 เดือนของ ดร.เศรษฐพุฒิในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ฟังดูเหมือนสั้น แต่กลับเข้มข้นยิ่ง

เราช่วยเหลือตนเองอะไรได้บ้างเมื่อโรงเรียนปิดเกือบตลอดเวลา

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

อีกหนึ่งปัญหาชวนปวดหัวของผู้ปกครองช่วงโรคระบาดคือ จะทำอย่างไรเมื่อโรงเรียนปิดและลูกๆ ต้องอยู่ที่บ้าน?

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แนะนำแนวทางสร้างการเรียนรู้ที่บ้านสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถม เมื่อโรงเรียนจำเป็นต้องปิดยาวนานจนกระทบพัฒนาการเด็ก

“เด็กอายุประมาณ 4-6 ขวบ ช่วงชั้นนี้ชัดเจนว่าไม่ต้องเรียน ใครจะเรียนเราปล่อยเขาเรียนได้ แต่ถ้าบ้านเราทำอะไรไม่ได้ก็ไม่ต้องเรียน การเรียนหนังสือจริงจังมิใช่เรื่องสำคัญของเด็กวัยนี้ เรื่องสำคัญเป็นประเด็นพัฒนาการเตรียมความพร้อมหลายสิบประการที่เด็กๆ จำเป็นต้องพัฒนา”

“เด็กอนุบาลไม่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์เลย สมมติจะเรียนก็ไม่ควรมากเกินไปเพราะไม่มีประโยชน์อะไร หากพวกเขามีความสุข พวกเขาจะขวนขวายอ่าน เขียน เรียนเลขด้วยการละเล่นและด้วยตนเองจนได้”

“วันที่รู้ว่าโดน 112 เหมือนโลกถล่มแผ่นดินทลาย” 
ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ กับชีวิตผู้ลี้ภัยในต่างแดน

โดย วจนา วรรลยางกูร

หลังเข้าเรือนจำ 71 วันจากการทำเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ และคดี ม.112 ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ เลือกลี้ภัยไปอเมริกา และใช้เวลา 3 ปีกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการยื่นขอลี้ภัย

วจนา วรรลยางกูร คุยกับณัฏฐิกาถึงชีวิตของเธอในวันที่ความทุกข์ผ่านพ้นไปแล้ว บทบันทึกชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งเป็นภาพสะท้อนผลพวงจากการรัฐประหาร 2557 ที่ทำลายชีวิตผู้คนจำนวนมากต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

“เราโดนจับไปค่ายทหารหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นส่งตัวไปที่กองปราบฯ แล้วแจ้งว่าเราโดนคดี 112 ด้วย เหมือนโลกถล่มเพราะตอนนั้น 112 ดูรุนแรงมากเลย เราไม่เคยทำเพจล้มเจ้า ไม่เคยโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เจ้า”

“เรือนจำเท่ากับความทุกข์…มันเต็มไปด้วยความทุกข์ แล้วเหมือนเป็นโรคติดต่อ เราต้องพยายามไม่ร้องไห้ เพราะถ้าเราร้องไห้คนอื่นก็จะอยากร้องตาม”

“บางคนป่วยแล้วบอกเจ้าหน้าที่ว่าอยากไปหาหมอ เขาก็ไม่สนใจ ถ้าไม่ให้ไปก็คือไม่ได้ไป สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่าไม่เหลือความเป็นมนุษย์และความทุกข์นี้ติดตัวออกมาด้วย”

“112 ถูกใช้ทางการเมืองและใช้ฟ้องในคดีที่ไม่สมควรมานานแล้ว แต่ตอนนี้ถูกใช้ด้วยเหตุผลที่ไร้เหตุผลหนักขึ้นและเยอะขึ้น คล้ายเป็นการใช้อำนาจที่ลิดรอนอำนาจตัวเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้สูญเสียความชอบธรรม”

“คนที่โดน 112 แล้วลี้ภัยออกนอกประเทศ เขาได้สถานะผู้ลี้ภัยทุกคน เพราะต่างชาติไม่ได้มองว่ากฎหมายข้อนี้คือกฎหมายที่ชอบธรรม เป็นแค่เครื่องมือที่ใช้กำจัดฝ่ายตรงข้าม”

“เราต้องมานั่งคิดกันว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ หรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องหาจุดร่วมเพื่อการอยู่ร่วมกัน ประเทศนี้ไม่ใช่ของใครคนเดียว ประเทศนี้เป็นของทุกคน เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้”

เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในระบอบประยุทธ์ กับ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

โดย กองบรรณาธิการ

จากวิกฤตสาธารณสุข สู่วิกฤตเศรษฐกิจ ถึงวิกฤตการเมือง สังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์กำลังเผชิญความท้าทายที่แหลมคมที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ

ภายใต้มรสุมที่ถาโถม ระบอบประยุทธ์กลับถูกมองว่าไร้น้ำยาและกำลังจะนำพาประเทศไทยไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลว

101 ชวน รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองของระบอบประยุทธ์ และภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ-การเมืองไทย ในวันที่คนไทยกำลังทุกข์ยากที่สุด

นรกไม่ใช่สถานที่แต่คือผู้คน: สำรวจนรกโชซ็อนของหนุ่มสาวเกาหลี

โดย เพ็ญพิชชา มุ่งงาม

“สวรรค์อันเป็นนิรันดร์อาจไม่มีอยู่จริง แต่สังคมที่ไม่สามารถหล่อเลี้ยงความหวังของผู้อยู่อาศัยได้นั่นแหละคือนรกที่มีอยู่จริง”

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันที่ชาวเน็ตไทยเปรียบว่ากำลัง ‘ซ้อมตกนรก’ เพ็ญพิชชา มุ่งงาม ชวนสำรวจ ‘นรกโชซ็อน’ ของหนุ่มสาวเกาหลีใต้ผ่านพัฒนาการทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เหตุใดประเทศที่เป็นเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ของใครหลายๆ คนกลับกลายเป็นนรกของผู้อยู่?

“…จริงที่ว่าชนชั้นยังบันซึ่งเป็นชนชั้นสูงในโชซ็อนไม่หลงเหลืออยู่ แต่เกาหลีก็ได้ยังบันในร่างจำแลงมาในรูปแบบแชโบล กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ขยายธุรกิจครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม เป็นผลผลิตของกลไกการพัฒนาของรัฐในทศวรรษ 1960 ที่เน้น ‘โตก่อน กระจายทีหลัง’ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีมาจนถึงทุกวันนี้”

“แชโบลถูกเลือกให้เป็นผู้ชนะตั้งแต่แรกและกลายเป็นกลุ่มที่ผูกขาดความมั่งคั่งของประเทศแบบขาดกันไม่ได้ ซึ่งนั่นทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจเริ่มกลับหัวกลับหาง ผลประโยชน์ของแชโบลกลุ่มเดียวมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐที่จะชี้ชะตาคนทั้งประเทศ”

“อีแจยอล อาจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลชี้ว่า แม้เกาหลีจะได้รับการยอมรับจากจากนานาประเทศว่ามีความมั่งคั่งร่ำรวย แต่จิตใจของผู้คนจำนวนมากยังยากจน พวกเขามองว่าความสำเร็จเหล่านี้เป็นเรื่องราวของคนอื่น สังคมขาดการสร้างศักดิ์ศรีขึ้นมาร่วมกัน คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นเหมือนหนูถีบจักรให้คนตัวใหญ่ออกไปประกาศความสำเร็จ”

“ปัญหาการทุจริต เอื้อประโยชน์ให้กันเองภายในหมู่ชนชั้นนำยังทำให้คนรุ่นใหม่ขาดความเชื่อมั่นในระบบและรัฐบาล พวกเขารู้สึกถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แตกสลาย ไร้พลังและเป้าหมาย การมีอยู่ของวาทกรรมนรกโชซ็อนจึงเป็นเหมือนอาการของความป่วยไข้ที่ฟ้องออกมาว่าสังคมนี้ต้องพบแพทย์แล้ว”

มองสินมั่นคงผ่านแว่น Risk Management ทำไมไม่ระวังตั้งแต่แรก?

โดย อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์

“กรณีประกันโควิด-19 นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและเป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้าที่ซื้อประกัน บริษัทประกัน และสำหรับ คปภ.”

อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ ตั้งคำถามถึงการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยและคปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล จากกรณีสินมั่นคงประกันภัยบอกเลิกประกันโควิด-19

“ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งและนักวิชาการด้านการจัดการความเสี่ยงและการประกันภัย อยากมาแชร์มุมมองและตั้งข้อสังเกตที่อาจจะเป็นคำถามไปยังบริษัทประกันภัย คปภ. ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิชาประกันภัยในอนาคต ดังนี้ครับ”

“ประเด็นแรก ตอนคำนวณเบี้ยประกันตัวนี้ บริษัทมีวิธีคิดอย่างไร? บริษัทมีการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์กรณีที่โควิด-19 จะระบาดหนักหรือไม่? ทางบริษัทเตรียมแผนจัดการความเสี่ยงภายในอย่างไร?”

“ประเด็นที่สอง ตั้งแต่ตอนออกขายกรมธรรม์ตัวนี้ ทำไมทาง คปภ. จึงอนุมัติแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ทั้งที่ความเสี่ยงที่จะถูกลูกค้าโกงสูง? หน่วยงานกำกับดูแลมีการพิจารณาความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด? ทำไมทางหน่วยงานกำกับดูแลหรือบริษัทเองปล่อยให้ขายต่อทั้งๆ ที่น่าจะเห็นผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 เป็นต้นมา?”

ยุทธศาสตร์อาวุธนิวเคลียร์ในศตวรรษที่ 21: 
มหาอำนาจยังสะสมอาวุธนิวเคลียร์ไปทำไม

โดย จิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา

“ในขณะที่ภาพความเสียหายจากการทิ้งระเบิดอาวุธนิวเคลียร์ในสงครามโลกครั้งที่สองที่ฮิโรชิมะและนางาซากิยังเป็นที่จดจำในประวัติศาตร์โลก ทำไมมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซียถึงยังไม่หยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และยังต้องแข่งกันเพิ่มจำนวนและอัพเดตคุณภาพเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์อีก? เราจะเข้าใจพฤติกรรมการแข่งขันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพนี้ได้อย่างไร?”

จิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา เขียนถึง ยุทธศาสตร์อาวุธนิวเคลียร์แบบ ‘บังคับให้ทำตาม’ (compellence) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่มหาอำนาจโลกยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปมากกว่าที่จะลดอาวุธตามสูตรยุทธศาสตร์อาวุธนิวเคลียร์แบบ ‘ป้องปราม’ (deterrence) รวมทั้งสำรวจถกเถียงต่อยุทธศาสตร์เหล่านี้ว่า เป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ

“หากใช้ในแง่การข่มขู่เจรจาต่อรอง อาวุธนิวเคลียร์อาจมีประสิทธิภาพในแง่การป้องปราม … ความเป็นไปได้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะกล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตีอีกฝ่ายก่อนจะต่ำมาก เนื่องจากหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ออกไป อีกฝ่ายอาจโต้กลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน … นั่นแปลว่า แท้จริงแล้ว แต่ละรัฐไม่จำเป็นที่จะต้องมีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากหรือแข่งขันกันเป็นที่หนึ่งด้านอาวุธนิวเคลียร์เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องปราม”

“แล้วมีเหตุผลอะไรที่มหาอำนาจนิวเคลียร์เหล่านี้ยังต้องการเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของอาวุธนิวเคลียร์แบบที่เราเห็นในข่าวอีก?”

“หากรัฐไหนครอบครองจำนวนนิวเคลียร์มากกว่าและมีเทคโนโลยีเหนือกว่า รัฐนั้นยิ่งมีโอกาสที่จะใช้รองรับการโจมตีและตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ดีกว่าหากมีการแลกเปลี่ยนนิวเคลียร์กันจริง ซึ่งนั่นหมายความว่ามีโอกาสในการชนะสงครามมากกว่า และการมีโอกาสในการชนะสงครามนิวเคลียร์มากกว่า จะแสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นว่าเราพร้อมจะสู้ (resolve) ในสงครามมากกว่า ดังนั้น เมื่อคู่ขัดแย้งของเราประเมินได้เช่นนี้ คู่ขัดแย้งของเราจึงควรยอมจำนนต่อสิ่งที่เราเรียกร้อง”

วาทกรรมเฟกนิวส์กับบรรยากาศแห่งความ(ไม่)กลัว

โดย พิรงรอง รามสูต

นอกจาก โดนัลด์ ทรัมป์ และ โรดริโก ดูเตอร์เต ที่มักเรียกข่าวที่เขาไม่ชอบว่า ‘เฟกนิวส์’ แล้ว อีกหนึ่งผู้นำที่มักพูดถึงเฟกนิวส์คือประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะมาตรการล่าสุดที่หวังควบคุม ‘ความจริง’ เกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิด

พิรงรอง รามสูต ตั้งคำถามต่อมาตรการจัดการเฟกนิวส์ เมื่อสิ่งที่รัฐบาลพุ่งเป้าไปนั้นอาจไม่ใช่ ‘ดิสอินฟอร์เมชัน’ ในนิยามสากล

“การที่รัฐไทยสถาปนาเฟกนิวส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ดิสอินฟอร์เมชัน’ ขึ้นมาเป็นวาทกรรม สะท้อนความพยายามในการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวด้วยการอ้างการลงโทษตามข้อกฎหมาย ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็น่าจะส่งผลในทางลบต่อการสื่อสารที่เสรี บรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการตรวจสอบอำนาจบนฐานแห่งข้อมูลและการปรึกษาหารือในระบอบประชาธิปไตย”

“การตีตราทุกคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือแสดงทัศนะอันกังขากับแนวทางการจัดหาและจัดสรรวัคซีนไปจนถึงประสิทธิภาพของวัคซีนว่ากำลังบิดเบือนข้อมูลข่าวสารและกำลังสร้างเฟกนิวส์นั้น นอกจากจะไม่ใช่แนวทางที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นเสมือนการราดน้ำมันเข้าไปในกองไฟที่ลุกโชนอยู่แล้ว เพราะสะท้อนให้เห็นกรอบคิดว่ารัฐเท่านั้นที่มีความชอบธรรมในการนิยามความจริง”

ล่องหนไปจากหน้ากระดาษ: เสียงชาวบ้านกับอนุสาวรีย์ที่ไม่ได้สร้าง

โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

ธนาวิ โชติประดิษฐ เล่าถึงการเดินทางตามอนุสาวรีย์เสียงชาวบ้าน ที่ปรากฏอยู่ในหน้ากระดาษ แต่ไม่มีอยู่จริง

“ผู้เขียนเดินเข้าไปแล้วเล่าว่าตัวเองเป็นนักวิจัยมาตามหาอนุสาวรีย์เสียงชาวบ้านที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์ในปี 2520 ทุกคนทำหน้างง บอกว่าไม่รู้จักอนุสาวรีย์ชื่อนี้ มีแต่ “อนุสาวรีย์ u9vj&*&*%””

“สรุปว่ารอบนี้เป็นการไปตามหาอนุสาวรีย์ที่ไม่ได้สร้าง แต่ได้เจออย่างอื่นแทน “อนุสาวรีย์ u9vj&*&*%” ที่ว่านั้นคือ “ศาลารำลึกวีรกรรม ดอยยาว ดอยผาหม่น” เพิ่งสร้างเมื่อปี 2549”

“โครงการสร้างอนุสาวรีย์เสียงชาวบ้านที่ล้มพับไปกับการสร้างศาลาวีรกรรมแสดงให้เห็นว่าความตายแบบใดที่รัฐไทยนับว่าเป็นวีรกรรม ใครบ้างที่เป็นวีรชน และสมควรได้รับสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นที่รำลึกถึง”

วาระใหม่ประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 กับ สุวิทย์ เมษินทรีย์

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

101 ชวนสำรวจวาระประเทศไทยทั้งปัจจุบันและอนาคตหลังโควิด-19 กับ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อตั้งโจทย์ใหม่ของประเทศไทยในโลกที่กำลังผันผวน

“นอกจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเร่งด่วนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องคิดว่าหลังโควิดเราจะเดินหน้าประเทศต่อไปอย่างไร…ผมเคยพูดอยู่เสมอว่าเราอยู่ในโลกที่ ‘One world One destiny’ หรือหนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม สุขก็สุขด้วยกัน ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน จากนี้ไป ผมถือว่าวิกฤตจะกลายเป็น new normal จบโควิดก็อาจมีวิกฤต climate change และวิกฤตอื่นๆ อีกมากมาย เราจะช่วยกันรับมืออย่างไร”

“การปฏิรูปที่แท้จริงทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม แต่การปฏิรูปที่ผ่านมาเป็นการปฏิรูปที่ขีดๆ เขียนๆ โดยคนไม่กี่คน ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลย เราไม่เคย empower ภาคประชาชนให้แข็งแรง โอกาสที่จะผลักดันให้เกิดผลจึงยากมาก”

“ในที่สุดเราต้องตั้งหลักใหม่ว่าจะอยู่ร่วมกันในสังคมแบบนี้อย่างไร ในสังคมที่คนบางกลุ่มอยากจะคงสถานะ มองว่าอยู่ในสภาพเดิมดีแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีคนที่รู้สึกว่าโลกเปลี่ยนไปตั้งนานแล้วและเขาอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในสถานการณ์แบบนี้คนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองกลุ่มก้อนต้องพาเขามาเจอกัน ไม่ใช่เพื่อมาปะทะกัน แต่ต้องมาหาคำตอบร่วมกัน”

“ที่สังคมเราวุ่นวายกันอยู่ทุกวันนี้เพราะเกิดความไม่เป็นธรรมในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การเข้าถึงทรัพยากรและอีกมากมาย จึงเกิดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดความขัดแย้ง ความขัดแย้งก็ทำให้เกิดความแตกแยกตามมา กลายเป็นวงจรอุบาทว์ เพราะฉะนั้นปฐมบทของทุกเรื่องคือความเป็นธรรม”

“ยุทธศาสตร์ที่ดีต้องมีคำสองคำคือ ยุทธศาสตร์ (strategic) และ ปฏิบัตินิยม (pragmatism) เราต้องมองยุทธศาสตร์ภาพใหญ่เชิงโครงสร้าง ไม่ต้องทำเยอะ แต่ทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมียุทธศาสตร์ และต้องปฏิบัติได้ ปัญหาบ้านเราคือเขียนแผนไปปฏิบัติไม่ได้ แต่เราก็ปล่อยให้มันเป็นแบบนี้แล้วก็เขียนใหม่”

ขุนศึก ศักดินา ประชาธิปไตย: มองอำนาจและข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ
กับ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“ถ้าพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ อย่างแรกที่ผมคิดว่าเป็นแกนหลักของการปฏิรูปคือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพใหม่เสีย”

101 ชวนสำรวจอำนาจกองทัพไทยและข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพให้ดำรงอยู่ท่ามกลางระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีเสถียรภาพผ่านมุมมองของ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนและนักวิจัยอิสระ ผู้เกาะติดเรื่องกองทัพ ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน

“สังคมไทยตกอยู่ภายใต้ ‘ระบอบแบบแผนทางการเมืองที่สร้างบนฐานของสายสัมพันธ์ช่วงชั้นระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ’ (Military-Monarchy Hierarchical Nexus) อย่างชัดเจน”

“ระบอบการเมืองดังกล่าวมีทั้ง hard power และ soft power ที่ครอบคลุมทั้งสังคมไทย โดยมีกองทัพเป็นกลไกหลักที่ใช้สร้างความแข็งแกร่งให้กับ ‘พระราชอำนาจนำ’ ทั้งในเชิงรากฐานทางอุดมการณ์ ความชอบธรรมตามประเพณีและกฎหมาย ตลอดไปถึงความนิยมของระบอบ”

“สังคมไทยในทุกวันนี้กำลังถูก ‘แทรกซึม’ อย่างที่อาจารย์พวงทอง (ภวัครพันธุ์) เสนอ ในความเห็นของผม [โครงการปกป้องสถาบันหลักของชาติ] คือการครอบงำ ปลูกฝัง กล่อมเกลาความคิด (Indoctrination) พยายามจะเปลี่ยนให้ประชาชนคิดแบบทหาร มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ประชาชนก็ต้องไม่ใช่ประชาชนธรรมดา แต่เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่จงรักภักดี อยู่ในการอุปถัมภ์ของกษัตริย์ … ”

“เงื่อนไขอยู่ที่การเมืองเป็นหลัก ถ้าฝ่ายการเมืองเข้มแข็งพอ การปฏิรูปกองทัพก็เป็นไปได้”

“ประชาชนอาจจะเป็นอีกตัวแปรหนึ่งทำให้เกิดการปฏิรูปกองทัพได้ เมื่อประชาชนสามารถพูดได้ว่าพอกันทีระบอบทหาร พอกันทีกับพวกนายพลทั้งหลายที่ทำตัวเป็นเจ้าของประเทศ ผูกขาดความรักชาติ หวงอำนาจทางการเมืองแต่ไม่มีความสามารถจะบริหารประเทศเพื่อให้ประชาชนอยู่รอดปลอดภัยอยู่ดีมีสุขได้ ประชาชนทั้งหลายพึงรู้ว่าเราสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้กองทัพที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันประเทศและปกป้องประชาชน ไม่ใช่กองทัพที่เอาแต่ข่มเหงรังแก ข่มขู่คุกคามประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”

ความสมจริงของ (หนัง) นางนาก
และความผิดปกติของสังคมไทยหลังพิษเศรษฐกิจ 2540

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เขียนถึง ‘นางนาก’ (2542) ภาพยนตร์ที่กลายเป็นตัวแทนความภาคภูมิใจของสังคมไทยต่อสายตาชาวโลก หลังความหวังจะเป็นเสือเศรษฐกิจพังทลายในช่วงวิกฤต 2540

แม้ว่าเรื่องของนางนากจะถูกหยิบมาทำหลายเวอร์ชัน แต่ในเวอร์ชันนี้มีวิธีเล่าเรื่องและแก่นของหนังที่ต่างออกไป ซึ่งสอดคล้องกับบริบทสังคมในขณะที่หนังฉายได้อย่างน่าสนใจ

“…นางนากก็มิได้เป็นผีที่น่ารังเกียจสำหรับคนดู เพราะหนังได้ให้ภาพว่านางเป็นตัวแทนผู้หญิงที่รักและซื่อสัตย์กับผัวของตน ความร้ายกาจที่เกิดขึ้นก็มีเหตุผล เนื่องมาจากความพยายามปกป้องตนเองและปกปิดความจริง (ซึ่งแม้จะเป็นวิธีการที่ผิดอย่างฆ่าคนปิดปากก็ตาม) เพื่อครอบครัวที่สงบสุขของตน ดังที่มีคอลัมนิสต์บางคนเห็นประเด็นว่า ภาพสะท้อนของหนังได้เน้นไปที่ ‘ความรักความผูกพันที่ยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีต่อสามี’ ต่างจากเวอร์ชันเก่าๆ ที่หลอกหลอนและไล่ฆ่าชาวบ้านแบบไร้เหตุผล

“…นางนากก็มิได้เป็นผีที่น่ารังเกียจสำหรับคนดู เพราะหนังได้ให้ภาพว่านางเป็นตัวแทนผู้หญิงที่รักและซื่อสัตย์กับผัวของตน ความร้ายกาจที่เกิดขึ้นก็มีเหตุผล เนื่องมาจากความพยายามปกป้องตนเองและปกปิดความจริง (ซึ่งแม้จะเป็นวิธีการที่ผิดอย่างฆ่าคนปิดปากก็ตาม) เพื่อครอบครัวที่สงบสุขของตน ดังที่มีคอลัมนิสต์บางคนเห็นประเด็นว่า ภาพสะท้อนของหนังได้เน้นไปที่ ‘ความรักความผูกพันที่ยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีต่อสามี’ ต่างจากเวอร์ชันเก่าๆ ที่หลอกหลอนและไล่ฆ่าชาวบ้านแบบไร้เหตุผล

“ประเทศไทยเหมือนเพลงเชียร์ยูโร” ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ผมเปรียบประเทศไทยเหมือนเพลงเชียร์ยูโร เป็นตัวแทนของการคิดอะไรแบบฉุกละหุก รู้ล่วงหน้าแค่วันเดียวว่าจะมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร เลยต้องใช้เวลาแค่วันเดียว ทั้งแต่ง บันทึกเสียง และทำมิวสิกวิดีโอออกมา ทำให้มีความก่งก๊ง ไม่เข้าที่เข้าทาง เหมือนสภาพประเทศไทยทุกวันนี้ที่มีเรื่องให้ตัดสินใจกันวันต่อวัน บางวันตัดสินใจเปลี่ยนไปมา วันละหลายรอบด้วยซ้ำไป…”

ในวันที่วงการบันเทิงถูกตั้งคำถามและเจอภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 101 ชวน ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม มามองความเปลี่ยนแปลงในวงการที่เจอโจทย์ท้าทายหลายด้าน และมองไปถึงก้าวย่างต่อไปของวงการบันเทิงที่จะต้องเติบโตไปพร้อมสังคม

แวดวงดนตรี-บันเทิงเป็นอย่างไรในยุคโควิด อุตสาหกรรมบันเทิงจะปรับตัวอย่างไรในสังคมที่เปลี่ยนไป ในฐานะสื่อ เขามองวงการสื่ออย่างไร ตลอดชีวิตในวงการเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ในฐานะที่เห็นคนรุ่นใหม่มาหลายรุ่น เขามองคนรุ่นใหม่อย่างไรในวันที่โลกจะเดินต่อ และชวนคุยไปถึงมุมมองทางสังคมการเมือง สังคมในฝันของป๋าเต็ดเป็นอย่างไร และการเมืองแบบไหนที่จะตอบโจทย์สังคมที่ดีได้จริง

“รัฐบาลชุดนี้มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน ไม่เกี่ยวกับว่าใครเป็นรัฐบาล ถ้าทำงานแบบนี้ ผมก็จะวิจารณ์แบบเดียวกัน และผมเชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่คิดแบบผม ประสิทธิภาพที่เห็นชัดเจนที่สุดคือประสิทธิภาพในการสื่อสาร ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งการสื่อสารกันเองระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการสื่อสารกับประชาชน”

“…เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย สองพยางค์แรกก็ขึ้นคำว่า ‘ประชา’ มาก่อนแล้ว ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนแล้วจะให้ความสำคัญกับใคร”

“รัฐใดสามารถผูกขาดเทคโนโลยีได้ รัฐนั้นสามารถปกครองโลกได้” 
มองภูมิศาสตร์การเมืองโลกใหม่ กับ จิตติภัทร พูนขำ

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“ถ้ามองในระดับมหาอำนาจ ผมคิดคล้ายๆ ปูตินคือ โลกในอนาคตอาจจะเป็นโลกที่รัฐใดสามารถผูกขาดเทคโนโลยีได้ รัฐนั้นสามารถปกครองโลกได้”

101 สนทนากับ รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงโจทย์ภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งมองโจทย์ใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความสัมพันธ์ของรัฐกับกลุ่มทุน ปิดท้ายด้วยการชวน ‘ตั้งหลักใหม่’ มองยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย

“ระบบสองขั้วอำนาจจะขยับไปสู่การแข่งขันทางความคิดและระบบคุณค่ามากขึ้น คุณค่า (values) จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทุกวันนี้ สิ่งสำคัญกลายเป็นการปะทะกันของระเบียบโลก (a clash of world orders) สองชุด ชุดแรกเป็นระบบที่วางอยู่บนฐานของเสรีนิยม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเศรษฐกิจแบบเสรี อีกชุดหนึ่งคือแบบที่เน้นรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งบางคนอาจจะแซวเล่นๆ ว่าเป็นทุนนิยมที่มีลักษณะเป็นจีนหรือเอเชีย สองระบบที่แตกต่างกันนี้จะทำให้เกิดความลักลั่นขึ้นมาว่า ประเทศต่างๆ จะดำเนินนโยบายแบบไหน”

“สิ่งที่เราเห็นจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค 4.0 คือเรื่องของทุน ทั้งทุนโดยรัฐหรือโดยเอกชน มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งตรงนี้จะกระทบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกด้วย เรากำลังเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากยุทธศาสตร์ offshore (การโยกย้ายฐานการผลิตไปบริเวณที่มีแรงงานราคาถูกทั่วโลกในประเทศกลุ่มใต้) มาสู่ยุทธศาสตร์ใหม่คือ reshoring โดยผ่านกลไกของปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือหุ่นยนต์ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์มากขึ้นในอนาคต”

“ผมอยากเสนอว่า [ไทย] อาจจะดำเนินยุทธศาสตร์แบบการนำจากรัฐขนาดกลาง ซึ่งจะช่วยให้เรามีจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือไทยควรที่จะเล่นบทบาทเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคมากขึ้น และริเริ่มนวัตกรรมและชุดนโยบายด้านการเมืองการทูตในระดับภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงควรที่จะพยายามกำกับพฤติกรรมของรัฐมหาอำนาจ ภายใต้กติกาหรือปทัสถานบางอย่างของภูมิภาคด้วย”

อ่านฉากทัศน์อนาคต ตั้งหลักใหม่ประเทศไทย
กับ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

โดย ภาวิณี คงฤทธิ์

“คนไทยไม่ได้พ่ายแพ้ที่ความสามารถ แต่พ่ายแพ้ที่วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการจะนำประเทศไปข้างหน้า”

หลังวิกฤตการณ์การเงินเมื่อปี 2540 ที่สร้างผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ คล้อยหลังมา 20 ปี ประเทศไทยต้องเจอกับวิกฤตอีกครา ซึ่งแม้จะมีต้นเหตุหลักมาจากวิกฤตสุขภาพ แต่ก็ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจอย่างสาหัสสากรรจ์ เมื่อผนวกกับวิกฤตการเมืองที่ดำเนินมากว่าทศวรรษ ผลลัพธ์คือการที่สังคมไทยตกอยู่ในจุดที่ยากลำบากที่สุดอีกหน

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สังคมไทยต้องการความรู้ ทักษะ พลังสร้างสรรค์ และนโยบายสาธารณะแบบใหม่ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ‘ตั้งหลัก’ คิดทบทวนอย่างเข้มข้น ลึกซึ้ง เพื่อมีส่วนในการสร้างและออกแบบนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต 101 ชวน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ่านฉากทัศน์อนาคตประเทศไทย และตั้งหลักคิดใหม่เพื่อออกแบบนโยบายสาธารณะให้เท่าทันกับวันข้างหน้า

“หากย้อนกลับมาดูปัจจุบัน พบว่าฉากทัศน์ของประเทศไทยขยับไปในรูปแบบของซิมโฟนีปี่พาทย์ สิ่งที่เหมือนคือรูปแบบของสังคมที่กลายเป็นสังคมอุดมกฎเกณฑ์ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ออกคำสั่ง ส่วนสิ่งที่ต่างคือผลลัพธ์ เนื่องจากยังเป็นช่วงต้นของการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้จริงหรือไม่ เพราะการจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จจำเป็นต้องอาศัยฝีมือการบริหารงานของรัฐบาลเช่นกัน”

“เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด ปัญหาหลักคือภาคอุตสาหกรรมที่เคยหวังว่าจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้ามีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ในทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับไม่ได้เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยอย่างที่คาดหวังไว้…ในอีกด้านหนึ่ง ภาคการท่องเที่ยวกลายมาเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ของไทย หลังวิกฤตต้มยำกุ้งภาคการท่องเที่ยวค่อยๆ เพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงภาคท่องเที่ยวมากเกินไปกลับทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปราะบาง”

“วิสัยทัศน์และกลยุทธ์จำเป็นต้องอาศัยความรู้และความสามารถที่หลากหลาย แต่ปัญหาหลักของสังคมไทยคือรังเกียจการคิดต่าง ทั้งๆ ที่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายและการบูรณาการเท่านั้นถึงจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้ การยึดมั่นความคิดอยู่เพียงอย่างเดียวถือเป็นวิธีคิดที่ล้าสมัยและจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายไม่ว่าจะในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง”

ศาสตร์แห่งความหดหู่ : จากมัลธัส มิลล์ ถึงเศรษฐศาสตร์มหภาค

โดย นรชิต จิรสัทธรรม

นรชิต จิรสัทธรรม เขียนถึงประวัติศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์ในฐานะ ‘ศาสตร์แห่งความหดหู่’ – จากศาสตร์แห่งการปลดปล่อยทาสสู่ศาสตร์ที่เอาแต่สนใจตัวเลขและละเลยมิติทางสังคม

“การใช้คำว่า dismal science มีต้นตอมาจากข้อเขียนของโธมัส คาร์ไลล์ (Thomas Carlyle, 1795-1881) นักประวัติศาสตร์ชาวสกอตต์ ซึ่งปรากฏในบทความ “Occasional Discourse on the Negro Question” (1849) หรืออาจแปลไทยว่า “ปาฐกถาเฉพาะกาลเรื่องกระทู้นิโกร” ข้อเขียนนี้เกิดขึ้นในบริบทที่แรงงานทาสคนดำใน West Indies ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ผลที่ตามมาคือการขาดแรงงานเพื่อทำการผลิต แม้ว่าเหล่าเจ้าของไร่คนขาวจะเสนอค่าจ้างให้ก็ตาม แต่ดูเหมือนเหล่าอดีตทาสคนดำก็ไม่อยากทำงานภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่”

“คาร์ไลล์มองว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากความ ‘เกียจคร้าน’ ของเหล่าอดีตทาสคนดำ เขาแสดงความเห็นว่าถ้าหากไม่ยอมทำงานโดยสมัครใจเห็นทีก็ต้อง ‘บังคับ’ กันแล้วล่ะ”

“ฉะนั้นความ ‘หดหู่’ ของเศรษฐศาสตร์ในทัศนะของคาร์ไลล์ไม่ได้เกี่ยวกับมัลธัส แต่คือสภาพการณ์ที่ทฤษฎีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของคลาสสิคบั่นทอนสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มชนชั้นนำ ที่สามารถได้ประโยชน์จากการ ‘ขูดรีด’ กลุ่มชาติพันธุ์อื่นต่างหาก คาร์ไลล์จึงโต้ตอบด้วยการแก้ปัญหาแรงงานด้วยระบอบแห่ง ‘ภาวะจำยอม’ (servitude) ดังที่เห็น”

“แน่นอนว่าย่อมมีคนไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, 1806-1873) นักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นเขียนโต้ตอบคาร์ไลล์ว่าสิ่งที่ทำให้มนุษยชาติพัฒนาไม่ได้มาจากการควบคุมด้วยทรราชย์ที่เข้มแข็ง หากแต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ผู้คน ‘ลุกขึ้นสู้’ เหล่าทรราชย์ต่างหาก หรืออีกนัยหนึ่งคือมิลล์กำลังบอกว่ามันผิดที่คิดว่าคนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิในการบังคับคนอีกกลุ่มได้ เพราะสิทธิอันชอบธรรมต่างเป็นสิทธิของแรงงานทุกคนไม่ว่าจะผิวดำหรือขาว ใครจะมาบังคับใครไม่ได้ทั้งนั้น”

ทฤษฎีไขปัญหา ไขปัญหาทฤษฎี

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

การแก้ปัญหาในระบบแบบนักเทคนิค VS การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแบบนักวิพากษ์ อะไรคือฐานคิดทางทฤษฎีของความคิดทั้งสองแบบนี้ในโลกไออาร์

ศุภมิตร ปิติพัฒน์เขียนถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของ ‘ทฤษฎีไขปัญหา’ ในวิชาไออาร์ ซึ่งเป็นคู่แข่ง ‘ทฤษฎีเชิงวิพากษ์’ ที่กำลังมีอิทธิพลในหมู่นักเรียนไออาร์รุ่นใหม่

“นักทฤษฎีฝ่ายนี้เขาแย้ง/วิพากษ์กัน เขาจะเปิดประเด็นกับความชัดเจนและเพียงพอของแนวคิดในทฤษฎี เช่น ทฤษฎีมองอำนาจว่าเป็นขีดความสามารถ มองแบบนี้พอไหม หรือว่าต้องมองที่ความสัมพันธ์ หรือว่าต้องมองต่อไปให้เห็นเบื้องหลังความสัมพันธ์ตรงหน้าอีก อีกส่วนหนึ่งในการแย้ง/เปิดประเด็นวิพากษ์กัน คือที่การวิพากษ์ตัวฐานคิดที่ให้ทางพิจารณาสภาพความเป็นจริง เช่น มองความเปลี่ยนแปลงเป็นขั้นๆ จากขั้นแรกไปสู่ขั้นที่สองและขั้นต่อไป แบบนี้พอฟังได้ไหม การมองแบบนี้ส่งผลแบบไหนต่อทางอธิบายของทฤษฎีนั้น”

“…ฝ่าย critical theory จะวิพากษ์เลยไปที่ ethical และ ideological presuppositions ของทฤษฎีความรู้ต่างๆ ด้วย ใครอย่าเผลอไปบอกว่าความรู้ของฉัน value-free หรือไม่มีอุดมการณ์มาเกี่ยวข้อง หรือเป็นกลางๆ ไม่เข้าใครออกใครทั้งสิ้น หรือพยายามที่จะทำให้ได้แบบที่ว่านี้ ถ้าพวก Critical เขารู้ เขาจะตรงมาขย้ำตรงจุดนี้ก่อนเลย แล้วก็จะลาก truth claims ที่อ้างว่าปลอดสารนั้น มาแสดงให้เห็นฤทธิ์ทางเคมีของเชื้อมูลทางอุดมการณ์ที่มีผสมอยู่ในนั้น…”

“…ดังนั้น ถ้าเรียกพวกแรกเป็นทฤษฎีไขปัญหา อาจเติมลงไปว่าเป็นการแก้ปัญหาให้ระบบที่เป็นอยู่ทำงานต่อไปได้ดีขึ้น ส่วนทฤษฎีฝ่าย Cox เป็นทฤษฎีวิพากษ์สภาพสภาวะที่เป็นอยู่ และวิพากษ์ความคิดทฤษฎีที่ช่วยรักษาระบบเดิม เพื่อหนุนพลังการเปลี่ยนแปลงไปหาระบบใหม่ที่เชื่อว่าจะดีกว่า หรือถึงยังเปลี่ยนไม่ได้ในตอนนี้ อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มอำนาจให้คนที่ไม่มีอำนาจขาดสิทธิ์ขาดเสียง…”

เอาศอก ไม่เอาคืบ: โควิดยังไม่ไป
มหาวิทยาลัยต้องคืนค่าเทอม(ให้มากกว่านี้)!

โดย วริษา สุขกำเนิด

“เรื่องค่าเทอมเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันมีผลกับทุกอย่าง รวมไปถึงอนาคตของพวกเรา”

ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยคืนค่าเทอมเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่กลับมาอีกครั้ง วริษา สุขกำเนิด คุยกับนักศึกษาผู้จัดทำแคมเปญล่ารายชื่อและอาจารย์ผู้สนับสนุน เกี่ยวกับเหตุผลและความสำคัญของสิ่งที่พวกเขาพยายามส่งเสียงถึงมหาวิทยาลัย

“ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้ผู้ปกครองเสียรายได้ พ่อแม่ของเพื่อนเราบางคนที่ทำอาชีพค้าขายก็ขายไม่ได้เหมือนแต่ก่อน การที่ต้องจ่ายค่าเทอมจำนวนเท่าเดิม ทำให้เขาต้องหาเงิน แต่ปัญหาก็คือเขาจะหาเงินจากไหน”

“คุณภาพและบรรยากาศการเรียนเป็นปัญหาหนักของการเรียนออนไลน์ เพราะในช่วงโควิดมา ทั้งห้องเรียนและห้องสมุดก็ปิด เพื่อนก็ไม่ได้เจอ การเรียนลำบากขึ้นกว่าในห้องเรียน ทำให้นักศึกษาหลายคนเกรดตก”

“หากเราเรียนออนไลน์แต่เรียนแบบไม่มีคุณภาพ เราก็จบไปเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพด้วย ซึ่งถ้ารัฐใส่ใจจะไม่ปล่อยผ่านปัญหานี้”

“เพื่อนหลายคนคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ลดค่าเทอมเพราะพวกเขาจำเป็นต้องหากำไร แต่สำหรับผมแล้ว เป้าหมายของมหาวิทยาลัยและการศึกษาไม่ใช่การหากำไร แต่ต้องบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาคือกระจายการศึกษาให้ได้มากที่สุด”

“หากเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยไม่ใช่การแสวงหากำไร มหาวิทยาลัยจะต้องคิดว่าตราบใดที่ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรและวิจัยได้ จะขาดงบดุลเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเด็กไม่สามารถเรียนได้ เพราะว่าต้องไปทำงานพิเศษสามงานเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอม มหาวิทยาลัยก็ไม่อาจนับว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักของตัวเองคือพัฒนาบุคลากร”

ความรับผิดของรัฐฆาตกร

ความรับผิดของรัฐฆาตกร

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ภาพศพนอนตายกลางถนน ข่าวคนไม่มีจะกินฆ่าตัวตายยกครอบครัว สลับกับข่าวสั่งวัคซีนซิโนแวค และเสียงขู่จากตำรวจใหญ่ห้ามใช้ถ้อยคำด้อยค่าวัคซีนหรือกล่าวหารัฐบาล เหล่านี้สะท้อนความผิดพลาดที่กำลังเกิดขึ้นในวิกฤต

แล้วประชาชนไทยมีช่องทางกฎหมายไหนบ้างที่จะเรียกร้องความรับผิดจากนายกรัฐมนตรีได้?

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ชวนคิดเรื่องความรับผิดของรัฐบาลทั้งทางแพ่งและอาญาภายใต้กลไกการเมืองที่เป็นอัมพาต

“การนำรัฐบาลมารับผิดชอบความผิดพลาด เป็นทั้งการกระทำให้ย้อนกลับไปในอดีต ลงโทษความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว และยังเป็นการกระทำที่มีผลไปข้างหน้า เพื่อเตือนใจผู้มีอำนาจมิให้ลุแก่อำนาจ”

“จริงอยู่ที่การรับมือกับภัยพิบัติใหม่อย่างโควิดนั้นยากที่จะไม่ผิดพลาดในตอนแรก…แต่ขอบเขตและระดับของความผิดพลาดครั้งนี้รุนแรงเกินกว่าความผิดพลาดครั้งไหนๆ เมื่อผิดพลาดแล้วไม่รีบแก้ไขให้ทันท่วงทีตามที่มีประชาชนทักท้วง กลับยืนยันดำเนินนโยบายเดิมที่เห็นชัดแล้วว่าล้มเหลวต่อมาเรื่อยๆ เช่นนี้น่าคิดว่าจะถือว่ามีเจตนาเล็งเห็นผลพอได้หรือไม่”

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนกรกฎาคม 2564

ภารกิจในวาระสุดท้าย

“วัดที่เผาศพโควิดยังมีน้อย แต่ผู้เสียชีวิตยังเยอะและเพิ่มขึ้นทุกวัน”

“ต้องแล้วแต่ภาครัฐว่าจะยื่นอะไรเข้ามาช่วยเหลือ มันอยู่ในอก ก็พูดไม่ออกเหมือนกันเพราะตอนนี้เหมือนว่าเราต้องช่วยกันเองแล้ว”

ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโควิดเฉลี่ยวันละ 80 ราย ตอนนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมแล้วกว่า 2,700 ราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564) ทำให้เกิดวิกฤตในการจัดการร่างของผู้เสียชีวิตจากโควิด

ภาคเอกชนและประชาชนต้องเข้ามาจัดการขนย้ายร่างผู้เสียชีวิตไปทำพิธีที่วัดด้วยตัวเอง ในขณะที่จำนวนวัดก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับผู้เสียชีวิต ขณะที่สังคมยังคงตั้งคำถามว่าภาครัฐควรเข้ามาจัดการดูแลประชาชนอย่างไรในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้

101 พูดคุยกับ จักรกฤษณ์ แต่งตั้ง ผู้ก่อตั้งโครงการส่งผู้เสียชีวิตฟรีทั่วประเทศ ที่อาสารับภารกิจส่งร่างผู้เสียชีวิตจากโรงพยาบาล-บ้านจนถึงเตาเผาในวาระสุดท้ายของชีวิต

เมื่อ ‘ชุดตรวจโควิด’ ไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน

ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นทุกวันและภาพการต่อคิวข้ามวันข้ามคืนของประชาชนเพื่อรอตรวจเชื้อโควิด-19 ตอกย้ำสภาพวิกฤตที่คนไทยกำลังเผชิญ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าถึงการตรวจในห้วงเวลาที่ระบบสาธารณสุขล้นเช่นนี้ การตรวจเชื้อด้วยตนเองผ่านชุดตรวจโควิดเร่งด่วน (Antigen Test Kit) จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจอย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่การรักษาได้ทันท่วงที

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจโควิดได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจเชื้อ เพราะยิ่งตรวจเยอะ ยิ่งตรวจเร็ว และแยกผู้ติดเชื้อออกมาได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้มากเท่านั้น

แม้ว่าชุดตรวจโควิดจะเริ่มวางขายตามร้านขายยา แต่ราคาเฉลี่ยต่อชุดที่สูงถึง 300-400 บาท ทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงโดยง่าย ยิ่งเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยที่ 305-310 บาทต่อวัน ก็ทำให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของราคาที่ต้องจ่าย ทั้งที่เป็นสินค้าจำเป็นในภาวะวิกฤตเช่นนี้

101 พูดคุยกับนิมิตร์ เทียนอุดม คณะทำงานโควิดชุมชน และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้ชุดตรวจโควิดมีราคาแพง รวมไปถึงหลักการที่ควรจะเป็น ตลอดจนวิพากษ์การบริหารจัดการในภาวะวิกฤตของภาครัฐ

มานุษยวิทยาต้องรอด กับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

“ความเป็นมนุษย์คืออะไร และเราจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร?”

เมื่อราวสองศตวรรษก่อน ศาสตร์ที่มุ่งทำความเข้าใจมนุษย์อย่าง ‘มานุษยวิทยา’ ได้ถือกำเนิดขึ้น ผลิดอกออกยอดความรู้ใหม่ควบคู่ไปกับพัฒนาการของสังคมมนุษย์ พร้อมทั้งขยายบทบาทจนมีการนำมานุษยวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการทำงานแบบข้ามศาสตร์ ส่งเสียงให้โลกโอบรับความแตกต่างหลากหลายในยุคที่แนวคิดพลเมืองโลกเริ่มปรากฏ

ทว่ามานุษยวิทยาก็ต้องเผชิญกับคำถามท้าทายหลายประการ ทั้งการย้อนกลับมาพินิจตัวศาสตร์ ไปจนถึงประเด็นท้าทายอย่างคำถามที่ว่า มานุษยวิทยาทำงานล้มเหลวหรือไม่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และทำความเข้าใจมนุษย์ ในเมื่อความเกลียดชังและการป้ายความเป็นอื่นยังแพร่กระจายในสังคมราวกับโรคร้าย

ในช่วงที่โลกคล้ายจะเรียกร้องการทำความเข้าใจมนุษย์ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา 101 สนทนากับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับพัฒนาการและองค์ความรู้แบบมานุษยวิทยา แก่นหลักของศาสตร์ โจทย์ท้าทายอย่างมานุษยวิทยาแห่งความหวังในห้วงยามที่เกือบจะไร้หวัง ไปจนถึงเสน่ห์ของมานุษยวิทยา

และแม้เราจะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดให้กับคำถามข้างต้น แต่ในบางครั้ง การทำความเข้าใจคนอื่นและยอมรับความหลากหลายอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้อะไรมากไปกว่าการนำ ‘ความเป็นมนุษย์’ ของเราเข้าไปสัมผัส โอบกอด และทำความเข้าใจสิ่งที่เราเคยคิดว่าแตกต่างจากเรามากมาย แต่ท้ายจริงแล้วอาจจะคล้ายและถูกร้อยด้วยความเป็นมนุษย์แบบเดียวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

…เท่านั้นก็อาจจะเพียงพอแล้วในโลกที่เริ่มบิดเบี้ยวใบนี้

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : How to be human เปิดบทเรียนความเป็นมนุษย์ (ที่ดีกว่าเดิม) กับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

Rest(aurent) Memories – ความทรงจำสุดท้ายจาก (เจ้าของ) ร้านอาหาร ในวันที่ล้มจนไม่อาจลุก

“เสียใจและขอบคุณ – เสียใจที่ไม่มีความสามารถในการพยุงร้านให้อยู่รอดปลอดภัยได้ ขอบคุณที่คอยเป็นกำลังใจให้เรา เพราะถึงร้านจะไม่มีชีวิต แต่สำหรับเรา…เขามีชีวิต”

การ (กึ่ง) ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ กลับมาอีกครา พร้อมกับการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน แต่สำหรับเจ้าของร้านอาหารหลายคน ช่วงเวลานี้เปรียบเสมือน ‘นาทีตัดสิน’ ที่ไม่อาจจะย้อนกลับ เมื่อบาดแผลที่แบกมาตั้งแต่การล็อกดาวน์รอบก่อนๆ บีบให้หลายคนต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่า ควรจะไปต่อหรือพอแค่นี้?

การบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลบังคับให้ประชาชนผู้ประกอบอาชีพสุจริตต้องตัดสินใจเลือกว่าจะรักษาสิ่งใดไว้ระหว่าง ‘ร้านที่เป็นดั่งชีวิต’ กับ ‘ชีวิตที่อุทิศเรี่ยวแรงทั้งหมดให้กับร้าน’ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ล้วนเจ็บปวดไม่แพ้กันทั้งสิ้น

101 ชวนคุณท่องไปในความทรงจำครั้งสุดท้ายของ 3 (เจ้าของ) ร้านอาหาร ที่จำใจต้องปิดกิจการลงด้วยพิษโควิด-19 ทั้งในรูปแบบปิดชั่วคราวและปิดถาวร ในวันที่ร้านล้มจนไม่อาจลุกขึ้นมาได้อีกต่อไปแล้ว ใน Rest(aurent) Memories – ความทรงจำสุดท้ายจาก (เจ้าของ) ร้านอาหาร ในวันที่ล้มจนไม่อาจลุก

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : Rest(aurant) Memories – ความทรงจำสุดท้ายจาก (เจ้าของ) ร้านอาหาร ในวันที่ล้มจนไม่อาจลุก

101 One-on-One Ep.231 ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในระบอบประยุทธ์’ กับ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

จากวิกฤตสาธารณสุข สู่วิกฤตเศรษฐกิจ ถึงวิกฤตการเมือง สังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์กำลังเผชิญความท้าทายที่แหลมคมที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ

ภายใต้มรสุมที่ถาโถม ระบอบประยุทธ์กลับถูกมองว่าไร้น้ำยาและกำลังจะนำพาประเทศไทยไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลว

101 ชวน รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองของระบอบประยุทธ์ และภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ-การเมืองไทย ในวันที่คนไทยกำลังทุกข์ยากที่สุด

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

101 One-on-One Ep.232 สู่ศตวรรษใหม่ พรรคคอมมิวนิสต์จีน
กับ สิทธิพล เครือรัฐติกาล

1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศจีนจัดงานเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริก ในวาระครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ หลังผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย จนกระทั่งพาจีนทะยานขึ้นสู่ความเป็นหนึ่งในมหาอำนาจชั้นนำของโลกได้อย่างทุกวันนี้

ในห้วงเวลา 1 ศตวรรษ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยิ่งใหญ่เกรียงไกรขึ้นหลายเท่าตัว แต่นั่นก็มาพร้อมกับความท้าทายที่ใหญ่หลวงขึ้นทั้งจากภายในและภายนอก

101 ชวน รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยถึงพัฒนาการตลอด 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน พร้อมมองอนาคต ความท้าทาย และความฝันอันทะเยอทะยานของพรรค ก่อนเดินหน้าสู่ศตวรรษใหม่

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

101 One-on-One Ep.233 อนาคตประชาธิปัตย์ รัฐบาล
และประชาธิปไตยไทย กับ อันวาร์ สาและ

ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากรัฐบาล อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการรับมือวิกฤตของรัฐบาลปัจจุบัน หนึ่งในคลื่นที่กระทบรัฐนาวาระหว่างมรสุมครั้งนี้คือการลาออกจากตำแหน่งของรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากกระแสความคิดอันแตกต่างที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึง ‘คลื่นใต้น้ำ’ ในรัฐบาลปัจจุบันที่ยังไม่เปิดเผยตัว

พรรคประชาธิปัตย์จะหยัดยืนต่อไปอย่างไรท่ามกลางรัฐบาลที่ล้มเหลวในการบริหาร รัฐบาลจะฝ่าวิกฤตอย่างไรท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ยุบสภา และประชาธิปไตยไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรหลังจากนี้

101 ชวน อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ผู้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พูดคุยถึงความหวังของเขาในการพลิกฟื้นพรรคประชาธิปัตย์เพื่อสร้างศรัทธาจากประชาชน และทางออกจากวิกฤตที่สังคมกำลังเผชิญหน้าร่วมกัน

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save