fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมกราคม 2565

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมกราคม 2565

คุยกับ แพท – พัชร เอี่ยมตระกูล เมื่อระบบ ‘16 ชั่วโมง’ กำลังทำร้าย ‘คนกอง’ ในวงการซีรีส์ไทย

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

“เขาทรีตว่างานสำคัญกว่าชีวิตมนุษย์ ทุกคนที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์ต้องมีความสุขมากกว่าคนที่อยู่ในกอง”
สนทนากับ แพท – พัชร เอี่ยมตระกูล โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ ที่ชวนมองถึงปัญหาการทำงานอันล้นเกินเหล่านี้ที่เป็นสาเหตุให้ชีวิตของคนทำงานกลายเป็นซีรีส์ชวนรันทดอีกเรื่องไปโดยปริยาย

“ปัญหาเรื่องเงินเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนกองมันยาก จากเดิมที่ถ่ายทำกันด้วยระบบ 12 ชั่วโมงก็มาเป็นระบบ 16 ซึ่งเป็นระบบที่เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานนี้เอง หรือพูดง่ายๆ คือเมื่อเริ่มมีซีรีส์นี่แหละ”

“คำถามคือ คนทำงานเหล่านี้ถูกระบุเข้าไปในระบบแรงงานหรือเปล่า ถูกระบุไว้เพื่อให้ได้สิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงกฎหมายแรงงานก็คุ้มครองแต่คนทำงานอาชีพอื่นให้ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง แต่คนกองถ่ายไม่นับว่าอยู่ในหมวดนั้นอีก เพราะคนกองถ่ายคือแรงงานที่อยู่นอกระบบ”

“สุดท้ายแล้วเรื่อง 12 ชั่วโมงหรือ 16 ชั่วโมงต่างๆ คือเรื่องของการที่เขาไม่ได้ทรีตคุณเป็นคน แต่เขาทรีตว่างานสำคัญกว่าชีวิตมนุษย์ ทุกคนที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์ต้องมีความสุขมากกว่าคนที่อยู่ในกอง โดยที่ไม่ได้แคร์ว่าสิ่งนี้มันบาลานซ์กันได้ไหม”

จนข้ามชนชั้น ข่าวร้ายข้ามปี!

โดย นิติ ภวัครพันธุ์

นิติ ภวัครพันธุ์ ชวนสำรวจมายาคติในนามของ ‘ตราบาป’ ผ่านเรื่องความจนและชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นจนเพราะขี้เกียจ จนเพราะไม่มีความทะเยอทะยาน ตลอดจนวลี ‘จน เครียด กินเหล้า’ อันเป็นสิ่งที่สังคมมอบให้เหล่าคนจนมายาวนานนับทศวรรษ

“หนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งจบการศึกษา เริ่มออกหางานทำ จะกลายเป็น ‘คนจน’ หรือไม่? ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่าหางานทำไม่ได้ หรือแม้ว่าจะมีงานทำแต่ก็มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย”

“ในการรับรู้ของคนจน ความยากจนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่น่าพึงประสงค์ และคนจนก็เป็นกลุ่มคนที่ผู้อื่นในสังคมหรือคนรอบข้างไม่สนใจไยดี ไม่อยากข้องแวะสมาคมด้วย หากจะกล่าวว่าคนจนมี ‘ตราบาป’ ติดตัวก็คงไม่ผิดนัก”

“อาจตีความได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ความยากจนในบ้านเราน่าจะกลายเป็น ‘ความยากจนข้ามชนชั้น’ ที่ทุกคนมีโอกาสที่จะกลายเป็น ‘คนจน’ ได้ ด้วยเหตุผลหลายประการ”

‘เวลา – ANATOMY OF TIME’ ชำแหละซากนาฬิกา คุ้ยหาสัจธรรมชีวิต

โดย ‘กัลปพฤกษ์’

‘กัลปพฤกษ์’ เขียนถึง ‘เวลา’ Anatomy of Time หนังยาวลำดับล่าสุดของ จักรวาล นิลธำรงค์ ซึ่งได้ออกฉายรอบปฐมทัศน์ในสายรอง Orizzonti ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสในปีที่ผ่านมา

“ภาพยนตร์อิสระสัญชาติไทยเรื่อง ‘เวลา’ […] น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างผลงานสร้างสรรค์ของผู้กำกับหนังอิสระไทยที่โดดเด่นในบางมุมด้านจนเป็นที่ถูกอกถูกใจ programmer เทศกาลหนังขนาดใหญ่ แต่ก็อ่อนด้อยในบางจุดจนทำให้ตัวหนังไม่สามารถไปได้ไกลตามศักยภาพเริ่มต้นของมันในเวลาเดียวกัน”

“โดยเนื้อหาแล้ว ‘เวลา’ เป็นงานในแนว drama ที่เล่าเรื่องราวชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบันของสตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นภรรยาของอดีตนายทหารซึ่งปัจจุบันกลายสภาพเป็นผู้ป่วยติดเตียงจนต้องมีคนมาคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา หนังจับเรื่องราวไปที่ ‘แหม่ม’ หญิงชราผู้มอบเวลาทั้งหมดของชีวิตในการปรนนิบัติดูแลสามีนายทหารชั้นผู้ใหญ่”

“น่าเสียดายที่จักรวาล นิลธำรงค์ ไม่เคยคิดจะให้ความกระจ่างใดๆ ต่อรายละเอียดเหล่านี้ หลายๆ ส่วนของบทมีความคลุมเครือจนยากจะจับต้นชนปลายมิพักได้หาความหมาย เหมือนจักรวาล นิลธำรงค์ ก็คิดวางแผนเรื่องราวอะไรเอาไว้ในหัวมากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่ต้องการให้เนื้อหาส่วนนี้มีพื้นที่ความสำคัญล้ำหน้าส่วนเรื่องราวหลักไป หนังเลยเกิดอาการ ‘เล่าไม่จบ’ ในหลายๆ ส่วน”

ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีน: วิกฤตพิสดาร

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“ในเดือนสิงหาคม มีข่าวใหญ่สะเทือนขวัญเรื่องวิกฤตหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ที่แปลกพิสดารกว่านั้นก็คือ วิกฤตดังกล่าวแท้จริงแล้วเกิดจากกฎเกณฑ์เรื่องเพดานหนี้ของรัฐบาลจีนเอง ทำให้เอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถกู้หนี้ก้อนใหม่มาโปะก้อนเก่าได้แบบที่ทำมาตลอด จึงเกิดเป็นวิกฤตชำระหนี้ก้อนมหึมาไม่ได้

“มีคำถามตามมามากมายว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพังระเนระนาดของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีนแห่งอื่นๆ หรือไม่ หลายคนพยายามค้นข้อมูลว่ายังมีบริษัทซอมบี้แบบเอเวอร์แกรนด์ในจีนอีกกี่บริษัท”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง วิกฤตฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีนจากกรณีหนี้เอเวอร์แกรนด์ วิกฤตหนี้พิสดารที่สะท้อนการเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ของจีนจาก ‘ไม่แตะภาคอสังหาริมทรัพย์’ มาเป็น ‘เจาะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์’ ด้วยตัวเอง ด้วยความพิเศษของระบบของจีนที่รัฐบาลควบคุมตลาดได้เต็มที่

“ดร.เซี่ยกั๋วจง นักวิเคราะห์เศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงของจีน เรียกติดตลกว่ากรณีนี้เป็นฟองสบู่ที่แตกแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่แตกโพละ เสมือนหนึ่งค่อยๆ ปล่อยลมออกจากลูกโป่ง ฝรั่งอาจฟังแล้วงงว่าฟองสบู่แตกแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นไปได้อย่างไร แต่ ดร.เซี่ยกั๋วจง มองว่ารัฐบาลจีนมีทั้งเครื่องมือข่าวสารที่พยุงความรู้สึกของตลาด และเครื่องมือทางนโยบายที่ป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามหรือขยายไปยังบริษัทอื่นหรือภาคเศรษฐกิจอื่นได้

“พอรัฐบาลจีนป้องกันความตื่นตระหนกของตลาดได้ ทุกคนก็ยังไม่เทขายอสังหาริมทรัพย์ แม้สุดท้ายแล้วราคาอสังหาริมทรัพย์จะหยุดพุ่งและค่อยๆ ซบเซา แต่จะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากเปรียบเทียบก็เสมือนพอคนรู้ตัวอีกที ปาร์ตี้ก็เลิกไปแล้ว แต่สามารถเลิกได้แบบไม่หักดิบ”

“ดร.เซี่ยกั๋วจงเองได้ให้ความเห็นชวนคิดไว้ว่า แม้ในระยะสั้น จีนจะดูเจ็บตัว แต่ในระยะกลาง การเจาะฟองสบู่ของจีนด้วยตัวเองตั้งแต่วันนี้ จะทำให้จีนได้เปรียบสหรัฐฯ ในศึกเศรษฐกิจ เพราะเขาประเมินว่า ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะหนักขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากจีนลอยตัวค่าเงินให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ยิ่งจะซ้ำเติมวิกฤตเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ให้หนักขึ้นอีก”

จดหมายจากอาจารย์มหา’ลัยชายขอบ

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

“ชีวิตของคนสอนหนังสือรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยแบบชายขอบนี่มันก็ง่อนแง่นไม่น้อยเลยนะครับ”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนเปิดจดหมายจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเล็กที่เขียนมาทักทาย พร้อมบอกเล่าความในใจถึงสภาพการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตทางวิชาการหรือกระทั่งการจะทำงานสอนได้เต็มที่

“นักศึกษาที่ผมต้องเจอส่วนใหญ่เป็นคนจน จนในแบบที่ตอนผมเรียนก็ไม่ได้ค่อยได้เจอเพื่อนในแบบนี้มาก่อน เมื่อไม่มีเงินมากพอหลายคนก็เลยต้องไปทำงานพิเศษ ช่วงตอนเย็นถึงกลางคืน พอกลับมาเรียนตอนเช้าก็อย่างที่อาจารย์เดาได้ ก็คือมานั่งหลับคาโต๊ะเรียน”

“อาจารย์อาจจะถามถึงทุน กยศ. ส่วนใหญ่เขาก็ขอกู้กัน แต่ค่าใช้จ่ายสองพันกว่าบาทต่อเดือนก็ไม่ได้มากมายอะไร แถมกว่าเงินจะมาในแต่ละปีก็ช้าเป็นอย่างมาก อาจไม่น่าเชื่อนะครับบางคนก็ต้องแบ่งกลับไปให้ที่บ้าน ส่วนทุนของคณะหรือมหาวิทยาลัยก็มักมีคุณสมบัติแบบ ‘เรียนดีแต่ยากจน’”

“ผมลองชวนเพื่อนอาจารย์ไปยืน หยุด ขัง หน้ามหาวิทยาลัย จำนวนหนึ่งทำหน้าตาเหรอหรา จำนวนหนึ่งตอบกลับมาว่า “กลัวถูกผู้บริหารเล่นงาน” อาจารย์ครับ เราก็รู้ว่านี่เป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่สามารถกระทำได้ แต่นั่นแหละ ในโลกความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายแบบที่ตัวหนังสือเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ”

“การต่อสัญญาก็ขึ้นอยู่กับคณะหรือมหาวิทยาลัยว่าพอใจจะจ้างต่อหรือเปล่า มันไม่ใช่การเลิกจ้างนะครับ แต่มันเป็นการ ‘ต่อสัญญา’ ดังนั้น ไม่ต้องไปฟ้องเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอะไรให้เสียเวลา”

“วงการศิลปะร่วมสมัยไทยเหมือนดอกต้นกระบองเพชร ไม่รู้ว่าโตขึ้นมาได้ยังไงในทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลก” กฤติยา กาวีวงศ์

โดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

“วงการศิลปะร่วมสมัยของไทยเหมือนดอกกระบองเพชรที่เติบโตในทะเลทราย ไม่รู้ว่ามันโตมาได้ยังไงในทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลก จะมีน้ำมาหล่อเลี้ยงทีก็มาจากเมืองนอกและเอกชนเป็นส่วนใหญ่”

101 คุยกับ กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการประจำ Jim Thompson Art Center ผู้มองเห็นการเติบโตของวงการศิลปะร่วมสมัยกว่า 3 ทศวรรษ ถึงการเติบโตของวงการ บทบาทใหม่ของ Jim Thompson Art Center รวมถึงความต้องการของคนในวงการศิลปะร่วมสมัยที่ต้องการแรงสนับสนุนเพื่อพัฒนาไปข้างหน้า

“การสร้างพื้นที่ใหม่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางอุดมการณ์หรือทิศทางองค์กรด้วย มันสื่อถึงความร่วมสมัยและยึดโยงกับคนรุ่นใหม่ คนเข้ามาแล้วรู้สึกว่ามันเป็นสเปซที่เป็นตัวตนเขา…ยิ่งในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีสถานที่ที่มีพื้นที่ทั้งอินดอร์-เอาท์ดอร์ เขาก็อยากได้พื้นที่ใหม่ๆ บ้าง”

“เราไม่อยากนำเสนอแค่งานของศิลปินไทยหรือเรื่องราวในไทย เราอยากออกไปให้กว้าง โดยไม่ยึดความเป็นอเมริกันหรือยุโรปเป็นศูนย์กลาง แต่ต้องการเชื่อมโยงประเด็นทางศิลปะกับบริบทสังคมที่เกิดขึ้นในโลกนี้”

“มุมมองเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์…ถ้าอยากเป็นแบบเกาหลีก็ต้องลืมสิ่งที่เคยทำ แล้วลองทำแบบที่เกาหลีทำจริงๆ คือ หนึ่ง-ให้เงินศิลปิน สอง-ให้อิสรภาพในการแสดงออก ไม่ไปยุ่งเรื่องคอนเทนต์หรือเซ็นเซอร์เนื้อหาศิลปิน ที่สำคัญมากคือเราต้องมีประชาธิปไตยแบบเขาด้วย”

โรคระบาดและการปกปิด: ‘หมูแพง’ ราคาที่คนตัวเล็กต้องจ่าย

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“สิ่งที่เราต้องแลกคือ การสูญเสียผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจำนวนมาก การระบาดคราวนี้ทำให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลางสิ้นเนื้อประดาตัว…แน่นอนว่ารายใหญ่กระทบบ้าง แต่สายป่านเขายาวเพียงพอที่จะฟื้นกิจการขึ้นมาได้”

“…สถานการณ์ที่ไทยเลวร้ายกว่าที่เกิดขึ้นในจีนและเวียดนาม ทำให้ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 2 ปี นั่นหมายความว่าคนไทยจะต้องซื้อหมูในราคาแพงต่อไปอีก 2 ปี แน่นอนว่าส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

“นี่คือผลกระทบต่อชีวิตของเราที่เป็นรูปธรรมที่สุด จากการจัดการโรคระบาดของหน่วยงานรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว

101 ชวนอ่านสกู๊ปเจาะราคาหมูแพง ผลกระทบต่อคนขาย-คนเลี้ยง ทิศทางตลาดผู้เลี้ยงหมู และเจาะปัญหาภาคเกษตรไทยในภาพใหญ่

คลี่คลายวาทกรรม 'จำนำข้าว': ขาดทุนเท่าไหร่ คอร์รัปชันอย่างไร และมีประสิทธิภาพหรือไม่

คลี่คลายวาทกรรม ‘จำนำข้าว’: ขาดทุนเท่าไหร่ คอร์รัปชันอย่างไร และมีประสิทธิภาพหรือไม่

โดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

“พลเอกประยุทธ์ครองอำนาจมายาวนานกว่า 7 ปี นโยบายจำนำข้าวก็ล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 10 แต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังมีการตั้งโต๊ะแถลงว่าเตรียมระบายข้าวอีก 220,000 ตัน ประมาณการว่าจะขาดทุนร่วม 5 แสนล้านบาท!”

“อ่านแล้วก็อยากจะคาดธงชาติ แขวนนกหวีด ออกไปไล่รัฐบาลชุดนี้ให้รู้แล้วรู้รอดฐานปล่อยปละละเลยการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลก่อนหน้าจนผลขาดทุนงอกเงยมหาศาล แต่ถ้าลองคิดอย่างถี่ถ้วน ผู้อ่านรู้สึกแปลกแปร่งกับข่าวข้างต้นไหมครับ? ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่รัฐบาลยึดหลักการบริหารโดยพิจารณาจากผลกำไรขาดทุนราวกับเป็นบริษัทมหาชน”

คอลัมน์ Curious Economist เดือนนี้ รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ คลี่คลายวาทกรรม ‘จำนำข้าว’ นโยบายในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เห็นว่าตกลงแล้วโครงการนี้ขาดทุนเท่าไหร่ คอร์รัปชันอย่างไร และมีประสิทธิภาพหรือไม่

เมื่อ The Empire Strikes Back (Again?) มองประเทศดิสโทเปียปี 2565 กับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข และ วจนา วรรลยางกูร

101 ชวนสนทนาประเด็นการเมือง การเปลี่ยนแปลงและความร้อนแรงต่างๆ ในปี 2564 ที่ผ่านมากับ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เทียบเคียงการเมืองไทยในรอบปี 2564 ว่าไม่ต่างจากแฟรนไชส์ Star Wars ภาค The Empire Strikes Back (1980) เมื่อรัฐรุกกลับด้วยการใช้อำนาจทั้งในเชิงกำลังและกฎหมายปราบปรามประชาชน แต่พร้อมกันนั้น การต่อสู้ของผู้ชุมนุมก็ได้สร้างแรงสะเทือนและเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ตลอดจนสำนึกรู้ของผู้คนไปตลอดกาล

“ผมไม่อยากประเมินเรื่องความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการเคลื่อนไหวซึ่งมีคนพูดเยอะแล้ว สิ่งที่ต้องถามจริงๆ คือต้องถามเด็กๆ ว่าพวกเขามีนิยามความสำเร็จและความล้มเหลวอย่างไร มันมีคำว่าความพ่ายแพ้ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอยู่ คือปี 2564 มันแพ้ โดนไล่ตาม ไล่จับ โดนปราบ แต่ความพ่ายแพ้นี้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ถ้าเรายึดติดกับสิ่งที่เราเรียกว่า ชัยชนะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คุณเห็นในปีนี้คือความพ่ายแพ้ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง”

“คำว่า ‘ม็อบแผ่ว’ มันคือการเปลี่ยนรูปแบบ ความรู้สึกของผู้คนเปลี่ยน ม็อบไม่ได้แผ่วด้วยตัวของมันเอง แต่แผ่วเพราะอีกฝ่ายหนึ่งเขาก็เรียนรู้ที่จะปราบคุณด้วย มันแผ่วเพราะถูกกดปราบอย่างเป็นระบบ ไม่ได้แผ่วเพราะคุณละทิ้งอุดมการณ์ ไอ้ข้อเรียกร้องแม่งกระจายไปอยู่ทุกที่ ทุกท้องถนน เพียงแต่คุณเรียกร้องเพอร์ฟอร์มานซ์แบบที่เรียกว่าการชุมนุมใหญ่ ดังนั้น คำว่าม็อบแผ่วเป็นวิธีการประเมินแบบเดียว แต่ถ้าถามว่าสังคมเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง (structural) ไหม แน่นอนว่าใช่ เป็นการเปลี่ยนในระดับโครงสร้าง”

“ปี 2564 ทำให้ประชาชนได้เห็นความเปลือยเปล่าของบางเรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น คำตัดสินของศาล การทำงานของพรรคการเมือง เป็นปีที่สะสมความสิ้นหวังของหลายเรื่อง เราต้องทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบว่านี่คือความสิ้นหวัง แต่มันเริ่มเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นเรื่อยๆ”

‘มองข้างหน้า’ เศรษฐกิจสังคมไทย 2022 วันที่เรายัง ‘มองข้างนอก’ น้อยเกินไป กับ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

‘มองข้างหน้า’ เศรษฐกิจสังคมไทย 2022 วันที่เรายัง ‘มองข้างนอก’ น้อยเกินไป กับ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา และ สมคิด พุทธศรี

“ผมไม่ได้เป็น establishment นะ (หัวเราะ) แต่ผมมีข้อสังเกตว่า การที่ชนชั้นนำไทยจำนวนมากไม่เข้าใจปัญหานี้เป็นเพราะยังมองออกไปข้างนอกไม่เยอะพอ ไม่ได้เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่ได้เห็นว่าคุณค่าประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าสากล พวกเขามองว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องของฝั่งตะวันตก ไม่ได้มองเป็นมาตรฐานโลกที่ประเทศไทยก็ควรจะยอมรับ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่เรามองออกไปข้างนอกมากขึ้นแล้วยึดหลักสากลเป็นมาตรฐาน จะทำให้เราทำอะไรสุ่มเสี่ยงน้อยลง อาจจะถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกอ้างว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษ มองออกไปข้างนอกให้มาก และไม่ควรปฏิเสธคุณค่าสากล”

“ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเท่านั้น เรื่องสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อธุรกิจพวกเขาโดยตรง ยังตื่นตัวน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ ผมเคยไปบรรยายที่หนึ่งที่มีผู้บริหารธุรกิจเข้าร่วมเยอะ แล้วปรากฏว่าคนถามคำถามประเด็นนี้เยอะมาก เพราะเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าตอนนี้โลกภายนอกตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขนาดนี้แล้ว”

“เป็นความจริงที่เราพึ่งพาโลกสูงมากทั้งในแง่ของการส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่ปัญหาคือเราสนใจความเป็นไปของโลกน้อยเกินไป เศรษฐกิจโลกไปเร็วมาก เกิดดิสรัปชั่นขึ้นมามากมาย แต่คนไทยเพียงกระจุกเดียวเท่านั้นที่สนใจเรื่องเหล่านี้ สังคมไทยยังมีช่องว่างในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกสูงมาก โดยเฉพาะภาครัฐเองที่ตามไม่ทัน”

“ผมเชื่อมาตลอดว่า อย่างไรเสียประเทศไทยก็จะกลับไปสู่ประชาธิปไตยได้ ตอนนี้อาจจะฟังดูยาก เพราะสถานการณ์ไปไกลขึ้นทุกวัน แต่ที่ผมเชื่ออย่างนี้เพราะประเทศก็เคยเป็นประชาธิปไตยมาได้แล้วหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นหลัง 14 ตุลาหรือพฤษภาทมิฬ แต่ปัญหาคือรักษาประชาธิปไตยไว้ไม่ได้”

ท่ามกลางมรสุมโรคระบาด มรสุมเศรษฐกิจ และมรสุมความขัดแย้งทางการเมือง ที่กระหน่ำถาโถมประเทศไทยสืบเนื่องมาจนถึงปี 2022 101 ชวน ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมมองอนาคต ผ่าทางตัน เสนอทางออกเศรษฐกิจสังคมไทย ในวันที่เราถึงเวลาต้องมองออกไปยังโลกภายนอกมากกว่านี้

สิ่งที่มันพบเห็น

โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

“จะมีไหมวันที่ศิลปะมีชีวิตชีวาขึ้นมาจริงๆ ในประเทศที่มันอาศัยอยู่? ไม่ใช่การจัดอะไรกันไปอย่างแกนๆ อย่างพอให้เรียกได้ว่ามี อย่างผักชีโรยหน้า อย่างไม่จริงใจในการทำงาน อย่างแคระแกร็นแบบไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต แล้วอีกสักประเดี๋ยวก็จะสูญพันธุ์ไปไม่มีวันได้ผุดได้เกิดอยู่อย่างนี้”

ธนาวิ โชติประดิษฐ เขียนเล่าถึงประสบการณ์จากการเยือนนิทรรศการศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ ที่โคราช ซึ่งสะท้อนการทำงานกับศิลปะของระบบราชการไทย

“มันค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการจัดเทศกาลศิลปะโดยเวียนไปตามจังหวัดต่างๆ ของไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เพราะหากเชื่อในการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกครองและการบริหารจัดการโดยรวม หรือเฉพาะประเด็นศิลปะก็ตาม) นี่ก็คือโมเดลหนึ่งที่เป็นไปได้..”

“ปัญหามีอย่างเดียวคือความไร้ประสิทธิภาพสไตล์ทำไปให้พ้นตัว แถมผักชีโรยหน้าของราชการไทยที่ทำให้โมเดลนี้ไม่มีทางได้ผุดได้เกิดอย่างแท้จริง จนกว่าระบบราชการอย่างที่เป็นอยู่จะถูกโละออกไปทั้งหมด”

World 2022 and Beyond: ‘แผนที่ใหม่’ ของเกมการเมืองโลกบนระเบียบโลกสองขั้วอำนาจ

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“ในอนาคต สิ่งที่เราต้องรับมือไม่ใช่ warfare อีกต่อไป แต่เราต้องรับมือกับ ‘Mapfare’ ตามที่ William Callahan แห่ง LSE เรียก คือรูปแบบการจัดความสัมพันธ์ของแผนที่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่แผนที่ทางกายภาพอย่างเดียว แต่คือแผนที่เชิงความคิด โลกทัศน์ ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และเทคโนโลยีที่กำหนดแผนที่ใหม่ของระเบียบโลกปัจจุบัน

“วันนี้เราอาจจะต้องเข้าใจและรู้เท่าทันใน Mapfare ว่าเกมสมการอำนาจโลกไปทางไหน สหรัฐฯ กับจีนแข่งขันเรื่องไหนกันอยู่ และไม่ได้แข่งขันเรื่องไหนกันบ้าง” – จิตติภัทร พูนขำ

ในวันที่โลกกำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2022 จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของ ‘แผนที่ใหม่’ ในเกมการเมืองโลกบนระเบียบโลกที่กำลังหวนคืนสู่ระบบสองขั้วอำนาจอีกครั้งและกำลังขยับขยายปริมณฑลการขับเคี่ยวไปสู่สนามเทคโนโลยีและสนามระบบคุณค่า มองความท้าทายการเมืองโลกปี 2022 จาก ‘การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่’ ในมิติเชิงอำนาจ โลกทัศน์ โรคระบาด เทคโนโลยี และพลังงาน ที่โลกจะต้องเผชิญ พร้อมทั้งมองยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยท่ามกลางกระแสลมแห่งการเปลี่ยนผ่าน

“สิ่งที่เราเห็นในปีที่ผ่านมา คือระเบียบโลกที่เปลี่ยนดุลอำนาจไปสู่ระบบสองขั้วอำนาจมากขึ้น นี่เป็นข้อเสนอนะ ยังถกเถียงกันได้ บางคนอาจจะมองว่าโลกอยู่ภายใต้ระเบียบแบบหลายขั้วอำนาจ แต่สำหรับผม ถ้ามองการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับมหภาค โลกมีสองมหาอำนาจ (G2) ที่กำหนดทิศทางของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกและระเบียบการเมืองโลกไปแล้ว”

“ภายใต้ระบบสองขั้วอำนาจแบบนี้ มีข้อน่ากังวลอย่างหนึ่งคือ เวลาช้างสารชนกัน สำนวนไทยก็บอกไว้อยู่ว่าสิ่งที่ตามมาคือ หญ้าแพรกก็แหลกลาญ เพราะฉะนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐขนาดกลางและรัฐขนาดเล็กคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้สถานะ อำนาจและผลประโยชน์ของตนเองไม่ถูกทำลายหรือถูกดึงเข้าไปอยู่ในสมการแบบนี้”

“ถ้าจัดสมการดุลอำนาจนี้ไม่ดี ในปี 2022 การเมืองโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการทำให้การเมืองโลกเป็นเรื่องศีลธรรม … ถ้าการเมืองโลกอยู่บนฐานของผลประโยชน์ล้วนๆ วันหนึ่งแข่งกันได้ อีกวันหนึ่งก็ร่วมมือกันได้ เพราะผลประโยชน์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่พอนำคุณค่าเข้ามาในสมการของเกมอำนาจโลก วิธีคิดมันเปลี่ยน นำไปสู่การทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องศีลธรรม มีโลกที่ดีกับโลกที่ชั่วร้าย สองฝ่ายไม่มีจุดร่วม และนำไปสู่นโยบายสกัดกั้นขึ้นมา ทำให้ความร่วมมือเป็นไปได้ยากขึ้น”

“ผมคิดว่าเราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกหลังโรคระบาดได้ยาก สุดท้าย การเมืองระหว่างประเทศจะเป็นเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิตผู้คนมากขึ้น การเมืองระหว่างประเทศจะมีความเป็นชีวการเมือง (biopolitics) มากขึ้น รัฐชาติจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการกำหนดว่าอะไรบ้างที่ใช่หรือไม่ใช่ประเด็นความมั่นคง”

“ในวันนี้ ลมของการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง เพราะฉะนั้น แรงลมที่มากขึ้น ก็ทำให้ไทยเป็นไผ่ลู่ลมได้ยากขึ้น รัฐขนาดกลาง รัฐขนาดเล็กก็ถูกแรงกดดันบีบกลายๆ ให้ต้องเลือกข้างมากขึ้น”

“โจทย์สำหรับผมมีอยู่ว่า เราได้ผลประโยชน์ตรงไหน ก็เลือกจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับประเทศหรือมหาอำนาจนั้นๆ และรักษาระยะห่างอย่างสมดุล เพราะฉะนั้น เราต้องเลือกกำหนดว่าอะไรคือผลประโยชน์ อะไรคือผลประโยชน์หลัก อะไรคือผลประโยชน์รอง ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ตรงนี้เกิดจากการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติผ่านการวางแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

เจาะเทรนด์พัฒนาทักษะของคนไทย ในยุคดิสรัปชันใหญ่ของตลาดแรงงาน กับ วิโรจน์ จิรพัฒนกุล

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

101 พูดคุยกับวิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio แพลตฟอร์มพัฒนาทักษะทางออนไลน์สัญชาติไทย เพื่อสำรวจตลาดแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะความรู้ออนไลน์ในไทย หาคำตอบว่าคนไทยกำลังตื่นตัวพัฒนาทักษะตัวเองกันขนาดไหน ทักษะอะไรบ้างที่แรงงานไทยกำลังนิยมเรียน พร้อมมองเทรนด์การปรับตัวของทั้งแพลตฟอร์ม สถาบันการศึกษา และภาครัฐ ในยุคที่การเรียนรู้ไม่ได้จบแค่ใบปริญญาอีกต่อไป

“เรามีคนลงทะเบียนมาเรียนกับเราเพิ่มขึ้นจากก่อนปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ประมาณ 3 เท่าตัว แต่มากขึ้นจนโอเคแล้วไหม ผมคิดว่ายัง”

“ในอนาคต เด็กรุ่นใหม่จะเก่งภาษาอังกฤษมากขี้น เขาก็ต้องการไปใช้แพลตฟอร์มที่มีอาจารย์ระดับโลกสอนเขาเลยมากกว่า ดังนั้นตลาดของเราส่วนหนึ่งจะย้ายไปแพลตฟอร์มต่างประเทศกันมากขึ้น แต่ก็มี megatrend (เมกะเทรนด์) เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มคนสูงวัย ซึ่งเริ่มมีเทรนด์ในต่างประเทศ เช่น ในญี่ปุ่น คนสูงวัยที่มีเวลาว่างก็เริ่มอยากเรียนรู้อะไรเล็กน้อยอย่างการถักไหมพรม ให้ตัวเองรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น คือไม่ใช่การไปเรียนเพื่อทำงาน แต่เป็นการเรียนเพื่อความสันทนาการของตัวเอง นี่ก็เป็นเทรนด์ที่น่าจับตาสำหรับแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์”

“ผมพูดเสมอว่าโลกทุกวันนี้เป็นโลกที่เราอยู่เฉยๆ เราก็เดินถอยหลังแล้ว ถ้าเราอยู่เฉยๆ ทุกคนจะเดินแซงหน้าเรา แล้วผมไม่อยากให้มองว่านี่เป็นยุคที่เหนื่อยเพราะต้องเอาตัวเองไปต่อสู้กับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่ผมอยากให้มองว่านี่คือยุคของโอกาส เพราะตอนนี้เทคโนโลยีใหม่กำลังมาเรื่อยๆ ถ้าคุณเป็นคนแรกๆ ที่ใช้เทคโนโลยีนั้นๆ เป็น คุณจะกลายเป็นคนที่มีมูลค่าสูงมากทันที เข้าใจว่าจริงๆ มันก็เหนื่อย เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก จนเราต้องไล่ตามตลอดเวลา แต่ถ้าเราสนุกกับมัน สามารถพาตัวเองเรียนรู้ได้ตลอดเวลา สิ่งนี้จะทำให้เราสำเร็จในหน้าที่การงานได้มาก แล้วจะช่วยขับเคลื่อนประเทศนี้ให้ดีขึ้นได้ด้วย”

‘เมื่อประชาชนกล้าพูด สื่อก็ต้องกล้าทำหน้าที่’ มองสื่อไทยในยุคสังคมทะลุเพดาน กับ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

โดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่ และ ภาวิณี คงฤทธิ์

“สิ่งที่มองเห็นในสื่อยุคนี้ บางทีก็ทำให้รู้สึกอายประชาชน เขากล้าออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา แต่สื่อไม่ทำหน้าที่ในการเรียกร้องสิทธิของประชาชน ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วจะมีสื่อไปทำไม ถ้าอย่างนั้น เราว่าอย่าเป็นสื่อมวลชนเลย”

ท่ามกลางสถานการณ์ที่สื่อมวลชนไทยกำลังรายล้อมไปด้วยโจทย์แห่งการเปลี่ยนแปลง 101 จึงชวนฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวภาคสนามรายการข่าวสามมิติ และผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ถอดประสบการณ์ มองพลวัตการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและภูมิทัศน์สังคมไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน พร้อมมองทิศทางการทำงานของสื่อ ในยุคที่วิชาชีพกำลังถูกท้าทายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคมไทย

“สื่ออย่างเรากำลังถูกควบคุมโดยรัฐ จากที่เราทำงานทั้งออนไลน์และทีวี เราเห็นเลยว่าไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือสื่อทีวี ก็โดนควบคุมเหมือนกัน เราก็รู้ดีว่ามันไม่เคยมีเสรีภาพอยู่แล้ว บางข่าวถูกขอร้องไม่ให้ออก แต่เราเองต่างหากที่เป็นคนดื้อ ไม่ยอมที่จะไม่ให้นำเสนอข่าว”

“จริงๆ เรามองว่าในยุคพลเอกประยุทธ์ สื่อมีเสรีภาพนะ แต่ไม่ใช่เสรีภาพที่ให้มาจากรัฐ แต่เป็นเสรีภาพที่มาจากข้างในของสื่อเอง จากการที่สื่อกล้าพอที่จะรักษาเสรีภาพของตัวเอง แม้ว่าเราจะถูกคุกคาม ถูกติดตามตลอดเวลา”

“คนมักบอกว่าเราต้องมีประชาธิปไตยถึงจะมีเสรีภาพ แต่ในความเห็นเราคิดว่าไม่จริง เพราะต่อให้จะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย ถ้าคุณทำงานแล้วคุณยอมอยู่ใต้อำนาจทางการเมือง ยอมให้เขามากดขี่ ข่มเหง คุกคาม แทรกแซงคุณได้ คุณก็ไม่มีเสรีภาพเหมือนกัน”

สวัสดีปีใหม่ ด้วยจิตใจด้านการศึกษาที่เปิดกว้าง

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

มองไปข้างหน้าปี 2565 น่าจะเป็นอีกปีที่เราต้องรับมือความหนักหน่วงของปัญหาด้านต่างๆ ส่วนด้านการศึกษา เรื่องเรียนออนไลน์ที่บ้านก็ยังเกิดขึ้นต่อไป

“การศึกษาเป็นเรื่องรอได้ ส่วนที่รอไม่ได้มีแค่เรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ กับสรรพสิ่ง”

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนมองวิธีรับมือการเรียนออนไลน์ที่จะสร้างผลกระทบในคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจนและปานกลาง สิ่งสำคัญคือสายป่านด้านจิตใจที่เปิดกว้างของผู้ปกครอง

“จิตใจที่เปิดกว้างด้านการศึกษาเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้ปกครองที่มีจิตใจแบบนี้จะมีฐานะทางการเงินอย่างไรหรือส่งลูกเรียนระบบใดก็ดูจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจเท่าไรนัก ด้วยรู้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องรอได้ ส่วนที่รอไม่ได้มีแค่เรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ กับสรรพสิ่ง เรื่องง่ายๆ มีเท่านี้เอง”

นี่หรือคือพลังแผ่นดิน

โดย แมท ช่างสุพรรณ

“กว่าจะครองอำนาจนำ (2564) ของอาสา คำภา พัฒนามาจากดุษฎีนิพนธ์ชื่อ “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535” จุดสำคัญสำหรับการศึกษาเรื่องนี้ของอาสาคือ #.ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9 ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า “แม้การประกาศตนนี้จะมีนัยเพื่อแสดงความระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างอาลัยและจงรักภักดี แต่แท้จริงแล้วเรามีความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัชสมัยรัชกาลที่ 9 มากน้อยเพียงใด” “

แมท ช่างสุพรรณ เขียนถึงหนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ ของอาสา คำภา ที่วาดภาพความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำและเส้นทางการขึ้นสู่อำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ในยุครัชกาลที่ 9

“จะว่าไปแล้ว บทบาทการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของก๊กกษัตริย์นั้นเห็นได้อย่างชัดเจนมาตลอด แต่ที่รอดพ้นจากความแคลงใจของคนส่วนใหญ่มาได้นั้นเป็นผลมาจากม่านกั้นชื่อ ‘อยู่เหนือการเมือง’ ซึ่งเป็นทั้งโวหารที่คมคายและวาทกรรมที่อำพราง นำสิ่งตำตาทั้งหลายไปอยู่ใต้ร่มเงาของคำว่า ‘พระปรีชาสามารถ’ อีกที..”

ความยุติธรรมจากมุมมองพัฒนาการเด็ก

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนทบทวนการสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ แก่เด็กผ่านพัฒนาการ เราควรสร้างระบบอย่างไรเพื่อให้เด็กไทยรุ่นต่อไปพัฒนาความคิดในเรื่องเหล่านี้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้

“คำว่า ยุติธรรม (justice) เป็นคำศัพท์เชิงนามธรรม โดยทฤษฎีพัฒนาการ เด็กๆ ไม่ควรเข้าใจคำนี้ได้ดีนักจนกว่าจะอายุ 12-13 ปี นั่นคือวัยรุ่นตอนต้น”

“ดังนั้นหากเราต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้าใจคำนี้ดีกว่าผู้ใหญ่วันนี้ เราควรสร้างระบบที่เอื้อต่อพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นให้เหมาะสมกว่าที่เคยเป็นและเป็นอยู่”

อำนาจตุลาการกลางสายน้ำแห่งความเปลี่ยนแปลง : นิติศาสตร์สนทนากับ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

โดย วจนา วรรลยางกูร

“เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณขวางกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลง สักวันหนึ่งมันจะพังทลาย คุณใช้อำนาจกดไว้ได้ไม่นานหรอก”

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีการตัดสินสองคดีที่สำคัญอันเกี่ยวพันโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือคดีล้มล้างการปกครองและคดีสมรสเท่าเทียม

101 จึงชวนสนทนากับ ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงผลกระทบจากคำวินิจฉัยสองคดีดังกล่าว การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งผลต่อวงการนิติศาสตร์ และการเรียกคืนความเชื่อมั่นศรัทธาต่อความยุติธรรมในแวดวงนิติศาสตร์ไทย

“แนวโน้มในคดีสมรสเท่าเทียมและคดีล้มล้างการปกครองมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ศาลทำเกินอำนาจหน้าที่ของตัวเองและมีแนวโน้มว่าเราจะเป็นรัฐที่ปกครองโดยตุลาการ นี่คือความอันตรายอีกแบบหนึ่ง”

“ในคดีล้มล้างการปกครองศาลไม่ได้วางหลักไว้ว่าไม้บรรทัดของศาลคืออะไร เพราะไม่ได้บอกในเบื้องต้นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง…ต้องวางองค์ประกอบให้ชัดเพื่อให้เห็นว่าเรามีไม้บรรทัด…ซึ่งนี่คือข้อผิดพลาดทางกฎหมายอย่างร้ายแรงมากในการให้เหตุผลทางกฎหมาย”

“เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ กำลังถูกทำให้เป็นคุณค่าสากล…ใครบอกว่าคุณค่าเหล่านี้เป็นคุณค่าตะวันตก แสดงว่าคุณไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรปเพียงพอ กว่าที่ยุโรปจะยอมรับคุณค่าเหล่านี้ก็เกิดจากการต่อสู้ เกิดจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างวัฒนธรรมและโครงสร้างอื่นๆ เมื่อสิ่งเหล่านี้เข้ามาในไทยก็ไม่ต่างกัน”

“เวลาพูดว่ากฎหมายต้องทำให้สังคมสงบเรียบร้อยนั้นเป็นการพูดถึงมิติอำนาจอย่างเดียว แต่เราจะไม่เห็นมิติเรื่องสิทธิเสรีภาพ นี่คือปัญหาของระบบการศึกษานิติศาสตร์”

How to Dance with Leviathan: เริงระบำกับรัฐ คิดใหม่นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไทย

How to Dance with Leviathan: เริงระบำกับรัฐ คิดใหม่นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไทย

โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ สังเคราะห์บทความในคอลัมน์ Dancing with Leviathan ตลอดปี 2021 สู่ข้อเสนอนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และการปรับบทบาทของรัฐให้เอื้อต่อการพัฒนา

“ประเทศที่รัฐมีขีดความสามารถสูงในวันนี้ล้วนพัฒนามาจากรัฐขีดความสามารถต่ำ เช่น ก่อนจะมีเกาหลีใต้วันนี้ก็เคยมีเกาหลีใต้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 สมัย Rhee Syngman ก็เป็นรัฐที่อ่อนแอและเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่วนสิงคโปร์ในช่วงเริ่มต้นพัฒนาประเทศก็เคยประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนและเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมมูลค่าต่ำมาก่อน เป็นต้น”

“ประเทศไทยไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังในดินแดนลี้ลับที่ไม่เคยถูกค้นพบ …เราเรียนรู้จากผู้ที่เคยประสบความสำเร็จได้”

“ไม่ใช่เรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่า “ประเทศไทยเผชิญความท้าทายจากรอบด้าน และเราจำเป็นต้องเร่งปรับตัว” สิ่งที่ยากคือ เราจะหาทิศทางการพัฒนาที่เห็นพ้องกันได้อย่างไร?”

“ผมเชื่อสนิทใจว่า ฝ่ายต่างๆ มีสำนึกร้อนรนที่จะปรับตัวแล้ว แต่ที่ยังไม่ลงรอยกันคือ ‘พิมพ์เขียวของการพัฒนา’ ในระยะถัดไปต่างหาก”

ความตาย การมีชีวิต สภาวะจิตเภท และเมืองกับความตายใน ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’

โดย อาทิตย์ ศรีจันทร์

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เขียนถึง ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ งานวรรณกรรมของ นิรันดร์ รักสำราญ ซึ่งจับจ้องไปยังเรื่องราวของตัวละครผู้ผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรงจนยังผลให้เขากลายเป็นคนหมกมุ่นกับความตายในทุกขณะหายใจ

“สิ่งที่ผมสนใจในนวนิยายเล่มนี้ก็คือ ผมมองเห็นว่าสิ่งที่ควรจะอยู่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิงนั้นกลายเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากกัน เป็นสิ่งที่ควรจะสวนทางกันแต่มันกลับกลายเป็นความขัดแย้งที่ปะทะสังสรรค์กันแต่ดำเนินควบคู่กันไปได้อย่างน่าสนใจ”

“การไม่แยกระหว่างการเล่าเรื่องให้คนอ่านฟังกับการพูดกับตนเองให้ชัดเจนนั้นมันได้แสดงให้เห็นสภาวะทางจิตใจที่ไม่ปกติ คือมีความสับสนแยกไม่ออกระหว่างตัวตนที่แสดงอยู่ต่อหน้าคนอื่นและตัวตนที่ตนเองตระหนักรู้ ในทางหนึ่งมันอาจเป็นกลวิธีที่น่าสนใจที่สรรพนามบุรุษที่ 2 ถูกนำมาใช้ในการเล่าเรื่องและในอีกทางหนึ่งผมคิดว่ามันได้สอดประสานวิธีการเล่าเข้ากับเรื่องที่ถูกเล่าและเป้าหมายของการเล่าเรื่องให้ไปในทิศทางเดียวกันซึ่งผมอาจจะพบได้น้อยมากๆ ในวรรณกรรมไทยร่วมสมัย”

“แม้ว่าตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้จะมีความหมกมุ่นอยู่กับความตายและต้องการจะตายอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางตรงกันข้ามผมคิดว่าในความหมกมุ่นเรื่องความตายนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของการมีชีวิตและการมีชีวิตอยู่ด้วย”

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนมกราคม 2565

101 Round Table “จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2022”

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

ปี 2022 ต้อนรับชาวโลกสู่ศักราชใหม่ด้วยโควิด-19 สายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกปีนี้ยังคงอบอวลไปด้วยความยุ่งยากและความไม่แน่นอน ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างบรรดาชาติมหาอำนาจในหลากมิติ-หลายพื้นที่ของโลก ก็พร้อมปะทุสั่นคลอนโลกได้ทุกเมื่อ ที่ประเทศไทยเอง อุณหภูมิการเมืองก็มีทีท่าร้อนแรงทั้งในสภา สนามเลือกตั้ง หรืออาจรวมทั้งบนท้องถนน ท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมที่มาถึงจุดกู่ไม่กลับ

เหล่านี้ล้วนตอกย้ำว่า นี่เป็นอีกปีที่เรายังไม่หลุดพ้นจากห้วงแห่งมหาวิกฤต ทั้งวิกฤตโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมือง แล้วเราจะอยู่รอดผ่านพ้นปี 2022 นี้ไปได้อย่างไร

101 เปิดวงสนทนา Round Table ชวน อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองปี 2022 ที่เรายังคงต้องต่อสู้กับนานามหาวิกฤต

101 Side-Seeing Ep.4 เดินกับสถาปนิก ชมสวนเบญจกิติ-คลองช่องนนทรี พื้นที่สาธารณะใหม่กรุงเทพฯ

โดย กองบรรณาธิการ

101 Side-Seeing Ep.4 เดินกับสถาปนิก ชมสวนเบญจกิติ-คลองช่องนนทรี พื้นที่สาธารณะใหม่กรุงเทพฯ

ปลายปี 2564 มีพื้นที่สาธารณะเปิดใหม่ 2 แห่งในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก คือ ทางเดินลอยฟ้าสวนป่าเบญจกิติ และ สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี

พื้นที่หนึ่งเป็นสวนกว้างขนาดใหญ่กว่า 450 ไร่ ส่วนอีกพื้นที่หนึ่งยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มสร้างระยะที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณคลองตรงกลางถนนนราธิวาสฯ สวนทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร และถูกจับตามองถึงความคุ้มค่ากับ ‘ราคา’ ที่จ่ายไปในการสร้าง

รายการ 101 Side-Seeing ชวน ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของคอลัมน์ Shaped by Architecture มาร่วมเดินชมสวนสาธารณะทั้งสองแห่งนี้ ชี้ข้อเด่น-ข้อด้อย เม้ามอยตามสไตล์สถาปนิก และพูดถึงแนวคิดพื้นที่สาธารณะอย่างที่ควรจะเป็น โดยมีปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ชวนคุย

“มีคนเสียชีวิตจากการข้ามถนนทุกวัน” ปัญหาท้องถนนไทยที่ไม่เคยคลี่คลาย

โดย กองบรรณาธิการ

21 มกราคม 2565 จักษุแพทย์หญิง ซึ่งต่อมาทราบชื่อว่า #หมอกระต่าย ประสบอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตขณะกำลังเดินข้ามถนน กลายเป็นชนวนให้สังคมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของคนเดินเท้า มาตรการเข้มงวดกวดขันวินัยจราจรของผู้ขับขี่ ไปจนถึงบทลงโทษตามกฎหมายหากมีผู้ฝ่าฝืน

แม้เหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ถ้าเราเชื่อว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ควรเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย — จะทำอย่างไรให้ชีวิตคนบนท้องถนนปลอดภัยกว่านี้ สูญเสียน้อยลงกว่านี้

101 ชวนมองภาพรวมสถานการณ์ผู้เสียชีวิตจากการข้ามถนน รากของปัญหาที่ฝังตัวแน่นในสังคมไทย และการเชื่อมโยงไปสู่ความรับผิดชอบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมซ้ำรอยเดิม กับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)

101 One-on-One Ep.251 อ่านประวัติศาสตร์-ตีโจทย์อนาคตสังคมไทย กับ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ 

โดย 101 One-on-One

ก้าวเข้าสู่ปี 2565 ที่หลายคนกังวลว่าปีนี้ ‘เสือ’ อาจจะดุกว่าทุกครั้ง หลังจากประเทศไทยเผชิญกับภาวะโรคระบาด ประเด็นการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โจทย์สำคัญในปีนี้ของไทยคืออะไร สังคมไทยจะก้าวไปทางไหน ประเด็นทางการเมืองที่แหลมคมอย่างการแก้รัฐธรรมนูญ การวิจารณ์กระบวนการยุติธรรม การประท้วงของคนรุ่นใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมอย่างการถ่างกว้างของชนชั้นจะมีหน้าตาแบบไหนในวันข้างหน้า

101 ชวนอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมเพื่อร่วมออกแบบอนาคตสังคมไทย

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

101 One-On-One EP.252 : อนาคตไทย 2585 กับ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

โดย 101 One-on-One

สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เมื่อเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ จนยากที่จะมีใครบอกได้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร

ท่ามกลางความไม่รู้ สิ่งที่เราพอทำได้คือ ศึกษาความเป็นไปได้ของฉากทัศน์อนาคตแบบต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือและจัดวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม

101 ชวนสำรวจฉากทัศน์ไทยกับ รศ.ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยในโครงการ ‘อนาคตไทย พ.ศ. 2585’ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเดินทางไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ให้ดีที่สุด

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.15 : การเมือง 2565 ปีสุดท้ายรัฐบาลประยุทธ์?

โดย กองบรรณาธิการ

– มองการเมืองปีเสือดุ ท่ามกลางปัญหาทิ่มแทงรอบด้าน รัฐบาลประยุทธ์จะอยู่ครบเทอมหรือไม่ หรือว่าปี 2565 จะเป็นการปิดฉากนายกรัฐมนตรีที่นั่งเก้าอี้ยาว 8 ปี นับแต่รัฐประหาร 2557

– กระแสยุบพรรคเพื่อไทยมีแรงส่งแค่ไหน เมื่อ ‘นักร้อง’ ชี้นิ้วว่าทักษิณครอบงำพรรค

– จับตาความเคลื่อนไหวที่สำคัญ เกมเลือกตั้งซ่อมชุมพร สงขลา – 4 กุมารผุดพรรคใหม่ – วิกฤตค่าครองชีพไทย

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.16 หมูแพงแรงสะเทือนรัฐบาล

โดย กองบรรณาธิการ

– จากการขาดแคลนหมู ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูพุ่งทะยาน ขณะที่ราคาสินค้าต่างๆ ก็ส่งผลกระทบและพากันขึ้นราคา โดยที่ ครม. เพิ่งอนุมัติงบ 1.38 หมื่นล้าน ซื้อเครื่องบินขับไล่ในยุคข้าวยากหมากแพงที่คนลำบากถ้วนหน้า สถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลจะรักษาความเชื่อมั่นได้อย่างไร?

– การหาเสียงเลือกตั้งซ่อมชุมพรและสงขลามาถึงโค้งสุดท้าย พร้อมการปราศรัยเชือดเฉือนระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่การหาเสียงเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ก็ร้อนแรงไม่ต่างกัน การช่วงชิงตำแหน่ง ส.ส. ที่เหลือเวลานั่งเก้าอี้เพียงน้อยนิด สะท้อนภาพการเมืองระดับชาติอย่างไร

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ และสมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.17 : ‘ประชาธิปัตย์-คนใต้’ รักนี้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

โดย กองบรรณาธิการ

– เปิดผลการเลือกตั้งซ่อมชุมพรและสงขลา พรรคประชาธิปัตย์เฉือนชนะพลังประชารัฐและก้าวไกลทั้งสองสนาม ชวนให้คนจับตารอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แล้วอะไรทำให้คนใต้ยังรักประชาธิปัตย์ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง?

– ลือสะพัด ธรรมนัสอาจลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ พร้อม ส.ส.อีก 22 คน เหตุพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อม ประยุทธ์-ประวิตร จะรับมืออย่างไร? หรือนี่จะเป็นสัญญาณกดดันให้นายกฯ ต้องยุบสภา?

– เปิดตัวพรรคใหม่ ‘สร้างอนาคตไทย’ โดยอดีตสี่กุมาร อุตตม-สนธิรัตน์ หลังแย้มพรายมาตั้งแต่ปีใหม่ สุดท้ายพรรคนี้จะมาไม้ไหน น่าสนใจอย่างไร?

ร่วมล้อมวงคุย โดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ สื่อมวลชนอิสระ สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world  

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.18 : เกมอำนาจพลังประชารัฐ เกมอำนาจการเมืองไทย

โดย กองบรรณาธิการ

อ่านเกมการเมืองไทยที่กำลังเดือดและน่าจับตามองยิ่ง

– เมื่อความขัดแย้งภายในพรรพลังประชารัฐกำลังเขย่าความมั่นคงของรัฐบาลประยุทธ์ หรือการเลือกตั้งซ่อมจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอีกครั้ง?

– ประยุทธ์เยือนซาอุดิอาระเบีย เราต้องจับตามองเรื่องอะไร

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และสมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save