fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกุมภาพันธ์ 2565

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกุมภาพันธ์ 2565

จากไครเมีย สู่ยูเครน: เปิดปมเบื้องหลังความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนระลอกใหม่

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า

พอจะมีสัญญาณบวกบ้าง หลังโอลาฟ โซลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเดินทางเข้าเจรจากับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ณ กรุงมอสโกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 แต่อุณหภูมิความตึงเครียดบริเวณพรมแดนยูเครนก็ยังคงร้อนแรงอย่างไม่มีสัญญาณว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววัน ท่ามกลางเสียงประกาศจากวอชิงตันอย่างต่อเนื่องว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะบุกยูเครนเสมอ

ในสายตาของหลายคน ฉากความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ใจกลางยูเรเชียครั้งนี้คงหนีไม่พ้นภาพซ้อนทับของสภาวะสุ่มเสี่ยงเข้าสู่สงคราม

ณ เวลานี้ คงไม่มีคำถามไหนจะร้อนแรงไปกว่า “ปูตินจะสั่งบุกยูเครนหรือเปล่า” ต่อให้เครมลินจะออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่มีการบุกโจมตียูเครนเกิดขึ้นก็ตาม

แต่คำถามสำคัญมีอยู่ว่า ที่จริงแล้วรัสเซียคิดอะไรอยู่? ตั้งใจจะทำสงครามจริงหรือไม่? ทำไมยูเครนถึงกลายเป็น ‘สนามอารมณ์’ ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและโลกตะวันตก? และทำไมรัสเซียมีท่าทีที่ดูเหมือนว่าจะ ‘ยอมไม่ได้’?

อะไรคือเบื้องหลังปมความขัดแย้งครั้งนี้?

จากยูเครนสู่ปัตตานี กรณี Gerasimov Doctrine และแผนบันได 7 ขั้น

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

“จากปี 2005-2010 ภายใต้ประธานาธิบดี Viktor Yushchenko ต่อเนื่องด้วยการกลับมาประกาศชัยชนะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของอดีตนายกรัฐมนตรี Viktor Yanukovych ในระหว่างปี 2010-2014 กลายเป็นช่วงเวลาที่ยูเครนถูกแทรกแซงด้วยการสงครามผสมผสานจากทั้งฝ่ายโลกตะวันตกและรัสเซีย”

“ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซีย และผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน (General of the Army, Chief of the General Staff of the Armed Forces of the Russian Federation, First Deputy Defence Minister) พลเอก Valery Gerasimov ก็ได้คิดค้นและนำเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ของรัสเซียในการทำการสงครามผสมผสานภายใต้ชื่อที่ถูกเรียกกันว่า ‘The Gerasimov Doctrine'”

“การสงครามนอกแบบที่สำคัญที่ถูกใช้คือการใช้ปฏิบัติการข่าวสาร (IO) โดยการผลิตสื่อสังคมออนไลน์ในโลกโซเชียลเพื่อโน้มน้าวให้ประชากรในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นเชื้อสายรัสเซียจำนวนมากกว่าครึ่งคล้อยตาม รู้สึกหวาดกลัว และต้องการการปกป้องจากรัสเซีย พร้อมๆ กับที่ก็ให้การสนับสนุนอาวุธแก่กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่เพื่อยืนยันให้เห็นว่าภัยคุกคามต่อชีวิตพวกเขามีอยู่จริง หากไม่ได้รับการปกป้องจากรัสเซีย”

“ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ประชาชนในคาบสมุทรไครเมียที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียผ่านมาตรการต่างๆ ภายใต้การสงครามผสมผสาน hybrid warfare ก็จัดให้มีการลงประชามติในวันที่ 16 มีนาคม 2014 ซึ่งได้ทำให้เกิด ‘สาธารณรัฐไครเมีย’ (Republic of Crimea) ก่อตั้งขึ้นในวันต่อมาคือ วันที่ 17 มีนาคม 2014 ทันที พร้อมกับการได้รับการรับรองความเป็นเอกราชจากรัสเซียในวันเดียวกัน จากนั้นในอีกสองวันต่อมา คือวันที่ 18 มีนาคม 2014 สาธารณรัฐไครเมียก็ขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ทุกอย่างเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน นั่นแปลว่ามีการเตรียมการอย่างเป็นระบบมาก่อนหน้า”

“บทสรุปสำคัญที่เราคนไทยต้องเรียนรู้จากกรณียูเครนคือ ประเทศของเรามีประเด็นเปราะบางอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างทางสังคม และสุ่มเสี่ยงต่อการขอแยกตัวเป็นอิสระหรือไม่ รวมทั้งบทบาทของต่างชาติที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการเหล่านี้ในรูปแบบ hybrid warfare มีจุดเปราะบางอยู่ที่ตรงไหน”

ปิติ ศรีแสงนาม ชวนมองสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน ซึ่งตกเป็นสมรภูมิการสงครามผสมผสาน (hybrid warfare) ระหว่างชาติมหาอำนาจ พร้อมถอดบทเรียนสู่กรณีปัตตานี

The Lobster: สังคมบังคับเราว่า ‘จงเหงา’ และ ‘ห้ามโสด’

โดย Watchman

‘ถ้าเลือกได้คุณอยากเป็นสัตว์ชนิดไหน หากไม่ใช่มนุษย์?’

คำตอบของคำถามนี้มีอยู่สองสามรูปแบบ แบบแรกคือคิดแล้วตอบออกมาแบบเล่นๆ ขำๆ ไม่คิดอะไรให้ซับซ้อน อีกแบบคือไม่รู้จะเลือกอะไรเลยขอไม่ตอบ กับแบบสุดท้ายคือการตอบด้วยคำถามกลับไปว่าแล้วทำไมเราต้องเลือก อยากเป็นมนุษย์นี่แหละดีสุดแล้ว

ฉะนั้นเช่นเดียวกัน แล้วทำไมเราถึงต้องเลือกคู่? ความโสดผิดด้วยหรือ? นี่คือคำถามตั้งต้นของ The Lobster หนังดาร์กคอเมดี้ตลกร้ายที่ทำให้โลกรู้จักฝีไม้ลายมือของผู้กำกับ Yorgos Lanthimos

เรื่องนี้เป็นหนังที่แสดงความสุดพิสดารอีกขั้วของคำถามดังกล่าว ด้วยการสร้างโลกอนาคตดิสโทเปีย และกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ นานา พร้อมกับตอบคำถามของตัวละครแบบห้วนๆ และไม่แคร์ความรู้สึกว่า

“ใช่แล้ว ต้องเลือก ก็เพราะเราบอกให้เลือกไงล่ะ และความโสดเป็นโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต”

ใครจะนึกว่าเผด็จการความรักก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่ากลัวไม่น้อย

คอลัมน์ Weirdoo เดือนนี้ Watchman เขียนถึง The Lobster หนังดิสโทเปียที่ฉายภาพสังคม ‘ห้ามโสด’

ระยิบทรงจำในระยับสวนอักษรของ ‘ศรีดาวเรือง’

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ตอนเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ แรกๆ รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยที่สุด ติดดินเลย แต่พออ่านงานของศรีบูรพาเรื่อง ‘ขอแรงหน่อยเถอะ’ เรารู้สึกเบาขึ้นมาเลย ข้าก็เท่าทุกคน แรงงานสำคัญกว่าเงิน ลองเอาเงินโยนลงไปสิ สั่งให้เงินดายหญ้า มันก็ดายไม่ได้ เราไม่รู้สึกต่ำต้อยอีกต่อไป ใส่เสื้อม่อฮ่อมไปนั่งโต๊ะหรูๆ ได้ ไม่อายแล้ว ไม่กลัวเขาแล้ว”

“…อายุ 15 เห็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเขาประกาศรับเรื่องสั้น เราก็เขียนส่งไป ตอนนั้นเรื่องที่เขียนนึกเอาล้วนๆ เลย ไม่มีเรื่องของตัวเองเข้าไปเลย เขียนประมาณว่าคนทำดีต้องได้ดี คนไม่ดีต้องถูกต่อว่า ใช้ดินสอเขียนบนสมุดเล่มละสลึง ลายมือก็ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ เขาตอบรับลงในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าได้รับต้นฉบับแล้ว แค่นี้แหละ ดีใจมาก ต้นฉบับไม่ได้ลงหรอก”

“ตอนนั้นคิดว่าจบแล้วนะที่ไม่ได้ลง คิดเหมือนกันว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร ก็คิดแค่ว่าที่เราทำเป็นคือเลี้ยงน้อง ถูบ้าน ช่วยแม่ทำขนม แค่นี้ เราไม่ฝันเรื่องนักเขียนแล้ว เพื่อนๆ มีสตางค์ได้เรียนมัธยม เขาคิดว่าจะเป็นครู พยาบาล แต่เราไม่คิดเลย คือคิดว่ามันเหนือเกินกว่าจะเป็นไปได้”

อ่านชีวิตและความคิดของ ‘ศรีดาวเรือง’ นักเขียนเรื่องสั้นฝีมือโดดเด่น ที่มีผลงานสม่ำเสมอมากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัย

เธอเขียนเรื่องสั้นกว่าร้อยเรื่องในระยะเวลาเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่ผลงานเรื่อง ‘แก้วหยดเดียว’ ตีพิมพ์ครั้งแรกที่วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์เมื่อปี 2518 ผลงานของเธอถูกพูดถึงว่าเป็นเสียงของชนชั้นแรงงานที่ออกจากชนชั้นแรงงาน งานหลายชิ้นของเธอได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศ

เกือบ 50 ปีของการเขียนหนังสือ เธอผ่านอะไรมาบ้าง เก็บเล็กผสมน้อยอะไรในชีวิตจนออกมาเป็นเรื่องเล่าที่คล้ายไม่มีวันหมดสิ้น ปัจจุบันเธอให้เวลากับอะไร และมองสังคมการเมืองอย่างไร ในวันที่เธออาจเขียนหนังสือไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน

สีจิ้นผิงกับคำสาปสามชั่วคน

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“จีนมีภาษิตบทหนึ่งว่า “ความร่ำรวยอยู่ไม่เกินสามชั่วคน” ความหมายคือ การส่งต่อความเจริญรุ่งเรืองมักไปได้ไม่เกินสามรุ่น ประวัติศาสตร์มักสะท้อนความจริงนี้ ไม่ว่าจะในธุรกิจครอบครัวหรือความเจริญรุ่งเรืองของราชวงศ์ของจีน”:

“หากนับอย่างนี้ สีจิ้นผิงก็จะเป็นรุ่นที่ 4 หลังการเปิดและปฏิรูปเศรษฐกิจ ตอนที่สีจิ้นผิงขึ้นมาดำรงตำแหน่งครั้งแรกเมื่อ 10 ปี ก่อน จึงมีเสียงซุบซิบนินทาอีกครั้งว่า ใกล้จะถึงคราวที่จีนจะปิดฉากยุคสมัยของความเจริญรุ่งเรือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนใกล้จะล่มสลายได้หรือยัง”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง ‘คำสาปสามชั่วอายุคน’ ในยุคสีจิ้นผิง ว่า ความเจริญรุ่งเรืองของจีนจะต้องเผชิญกับจุดจบตามคำสาปหรือไม่ หรือกำลังจะเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ ที่จีนจะแข็งแกร่งขึ้นมา เปิดยุคใหม่ต่อจากยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ

“มาวันนี้สีจิ้นผิงประกาศว่ายุคของท่อนแรกจบลงแล้ว เขาขอเป็นผู้นำรุ่นแรกที่จะพาจีนเข้าสู่ยุคของท่อนหลังเอง”

“นอกจากสโลแกน ‘ร่ำรวยร่วมกัน’ (Common Prosperity) แล้ว จีนยุคใหม่ของสีจิ้นผิงยังเป็นจีนชาตินิยมด้วยสโลแกน ‘การรื้อฟื้นความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีน’ เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ง่ายๆ ก็คือครั้งหนึ่งจีนเคยเจริญรุ่งเรืองที่สุดในโลก ก่อนที่จะกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียไป 100 ปี ตั้งแต่สงครามฝิ่นนในตอนปลายของราชวงศ์ชิง บัดนี้จีนกำลังจะกลับมาทวงคืนตำแหน่งแห่งหนของตนในโลก”

“การขีดเส้น ‘ยุคใหม่’ เช่นนี้ มีผลมหาศาลต่อการเมืองจีน เพราะเป็นการสร้างเหตุผลและความชอบธรรมให้สีจิ้นผิงไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์วาระการดำรงตำแหน่ง 10 ปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เติ้งเสี่ยวผิงเคยกำหนดไว้ และได้ใช้มากับผู้นำลูกหม้อสองรุ่นถัดจากเติ้งเสี่ยวผิง ก็ในเมื่อสีจิ้นผิงไม่ใช่ลูกหม้อสืบทอดเจตนารมย์ของเติ้งเสี่ยวผิง แต่เป็นผู้นำรุ่นแรกเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่เทียบชั้นประธานเหมาและมังกรเติ้ง เขาก็ย่อมสามารถครองตำแหน่งผู้นำได้มากกว่า 10 ปี”

“นี่ยังเป็นเหตุผลที่สีจิ้นผิงใช้ในการรวบอำนาจทางการเมือง โดยอ้างถึงความจำเป็นในการผลักดันการปฏิรูป ซึ่งต้องท้าทายกระแสผลประโยชน์เดิม ในการเขียนประวัติศาสตร์ของพรรคใหม่เมื่อปีที่แล้ว เขาเล่าความสำเร็จในการบริหาร 10 ปี ที่ผ่านมาว่า “ได้แก้ไขปัญหาที่ควรแก้ไขมานาน แต่ไม่ได้แก้ไข ทำสิ่งที่ควรทำมานาน แต่ไม่ได้ทำ”

“และที่เขาต้องขอดำรงตำแหน่งต่อไป ก็เพราะภารกิจของยุคใหม่ของเขาเพิ่งเริ่มต้น ที่ทุกคนต้องให้อำนาจเขาต่อ เพราะเขาแข็งพอจะสู้กับภัยคุกคามจากภายนอก และปัญหาหมักหมมจากภายใน”

การเติบโตทางเศรษฐกิจและโอกาสลืมตาอ้าปากที่หายไปของคนไทย

การเติบโตทางเศรษฐกิจและโอกาสลืมตาอ้าปากที่หายไปของคนไทย

โดย ฉัตร คำแสง

“ประเทศไทยกำลังเจอกับมรสุมทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเศรษฐกิจในประเทศฟุบยาว ขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบกับต้นทุนการผลิตและการบริโภคในไทย แถมยังมีโรคระบาดในหมูที่ช่วยดันให้อาหารแพงขึ้นไปอีก”

“ทว่า ประเทศไทยไม่ได้เผชิญปัญหาจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เท่านั้น เพราะช่วงที่ไม่มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเลย เศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้เติบโตดี และเห็นได้ชัดเจนว่าคนที่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่ามักเป็นคนรวย เพียงแต่สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเข้ามาสะท้อนให้เห็นปัญหาชัดเจนขึ้นเท่านั้น จึงน่าคิดว่าที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยพลาดไปตรงไหน ทั้งที่เคยทำได้ดีในอดีต เหตุใดถึงได้เดินมาสู่การเติบโตที่อ่อนแอและกระจุกตัวเช่นนี้”

“น่าสนใจว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเดินไปในทางตรงข้ามกับที่งานวิจัยเสนอแทบทุกประการ โดยจุดที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการขาดความสามารถในการสร้างการแข่งขันในธุรกิจ…หากปล่อยไปเช่นนี้เกรงว่าเราจะกลายเป็น ‘ประเทศห้ามพัฒนา’ อย่างสมบูรณ์แบบ”

คอลัมน์ Policy Praxis เดือนนี้ ฉัตร คำแสง ชวนมองปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินมาสู่การเติบโตที่อ่อนแอและกระจุกตัว พร้อมเสนอทางออกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากปัญหานี้ได้

นิติธรรมของการขอตำแหน่งวิชาการ

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

“ความไม่แน่นอนของหลักเกณฑ์การขอตำแหน่ง(ทางวิชาการ)นี้เป็นปัญหารุนแรง งานวิชาการชั้นดีนั้นใช้เวลาตีพิมพ์ไม่เร็ว …ก็พอดีเกณฑ์เปลี่ยน เฉพาะปัญหาเรื่องวิธีการออกกฎเกณฑ์ อาจารย์หลายคนน้ำตาตก หลังพบว่าผลงานที่อุตสาหะมาแรมปี เมื่อถึงจุดหมาย กพอ. ก็ขยับบันไดหนีขึ้นไปอีกสองสามขั้นแล้ว ที่สำคัญ จะชักบันไดหนีก็ไม่มีการบอกล่วงหน้าจนกว่าเกณฑ์จะประกาศออกมา”

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง วิพากษ์ปัญหาของมหาวิทยาลัยว่าด้วยระบบเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการที่ไม่เคยมีกฎเกณฑ์อันแน่นอน

“ในส่วนของเนื้อหา เกณฑ์ต่างๆ ถูกตราขึ้นบนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจ จึงมีแต่จะเคี่ยวเค้นให้อาจารย์ผลิตงานให้สูงที่สุดจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้”

“ปัญหาที่เกิดกับมหาวิทยาลัยไทยนั้น ถ้าไม่มีส่วนได้เสียก็เป็นเรื่องตลกดีเหมือนกัน ตลกร้ายแบบขำไม่ค่อยออก แต่เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเองนั้น ต้องนับว่าเป็นโศกนาฏกรรม”

“ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา เราประกาศต่อโลกว่ายังไม่แพ้ และจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น” คุยกับ ‘คีรา รูดิก’ ส.ส. ยูเครนที่ตัดสินใจจับปืนเพื่อประเทศ

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

:: Exclusive เสียงจากยูเครน :: 101 สัมภาษณ์ทางไกลข้ามโลก เปิดความคิด ส.ส. หญิงยูเครน “คีรา รูดิก” ผู้ประกาศจับปืนลุกขึ้นสู้การรุกรานของรัสเซีย จนเป็นภาพโด่งดังทั่วโลก ::

“ทุกๆ ค่ำคืน โลกและพันธมิตรจะบอกว่า นี่อาจเป็นคืนสุดท้ายของคีฟแล้ว แต่ทุกเช้าที่เราตื่นขึ้นมา เราประกาศต่อโลกว่า เรายังไม่แพ้ คีฟยังไม่ถูกยึด และเราวางแผนไว้ว่าจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เราจะต่อต้านและสู้รัสเซียกลับ”

“ในฐานะ ส.ส. และหัวหน้าพรรคโฮโลส ฉันจะอยู่ที่คีฟ จับอาวุธ และรวบรวมคนที่สามารถถืออาวุธได้เข้ากลุ่มร่วมต่อต้าน … บรรดา ส.ส. กำลังร่วมกันตราข้อกฎหมายว่าด้วยการสบคบคิดกับฝ่ายตรงข้าม การบูรณะประเทศขึ้นมาใหม่ และการขอความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ สภาทำงานร่วมกันอย่างไวที่สุดเท่าที่จะทำได้”

“[การตัดสินใจจับปืน] เหมือนฝันมาก ถ้าคุณถามฉันเมื่อประมาณ 5 วันก่อน ฉันคงตอบว่า “โอ้ ไม่ล่ะ” แต่พอมองไปที่ครอบครัวและบ้าน ฉันโกรธมากที่การตัดสินใจทำสงครามโจมตียูเครนของปูตินทำให้ชีวิตสามัญธรรมดาต้องเปลี่ยนไป นี่คือจุดที่ฉันตัดสินใจจะจับปืน ฉันจะไม่หนี จะปกป้องประเทศ เมือง และครอบครัวของฉัน เราฝึกอาวุธและจะมุ่งหน้าไม่ถอย”

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกจับตามองสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย 101 มีโอกาสต่อสายตรงไปยังกรุงคีฟเพื่อคุยกับคีราว่า อะไรที่ทำให้นักการเมืองอย่างเธอที่ไม่เคยคิดฝันจะจับอาวุธตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านและรับการฝึก พร้อมชวนคุยถึงความคิดความอ่านของเธอในห้วงเวลาสำคัญที่จะนำสันติภาพกลับมาสู่ยูเครน

[ต่อคำกล่าวอ้างว่ารัสเซียต้องบุกยูเครนเพื่อล้มล้างรัฐบาลนีโอนาซี] “ยูเครนเป็นประเทศประชาธิปไตย นักการเมืองในสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด … ฉันไม่เข้าใจ ปูตินเป็นบ้า ทุกอย่างที่ปูตินพูดเป็นเรื่องโกหกทั้งนั้น … คุณเคยฟังถ้อยแถลงของปูตินก่อนจะบุกยูเครนใช่ไหม มันเหมือนหลุดออกมาจากนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลเลย ตอนที่ปูตินบอกว่า ยูเครนไม่เคยดำรงอยู่ และไม่ควรจะดำรงอยู่”

“สิ่งที่ปูตินกลัวจริงๆ คือการที่มีประเทศประชาธิปไตยติดพรมแดน เพราะยูเครนที่เป็นหนึ่งในประเทศหลังโซเวียตเคยแสดงให้เห็นแล้วว่า เรามีทางของตัวเอง เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะเลือกแนวทางแบบโลกตะวันตก ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและโฆษณาชวนเชื่อของปูติน นี่เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวสำหรับปูตินที่สุด”

“ต้องมีการรวมกันและสร้างความเป็นเอกภาพในหมู่ประเทศประชาธิปไตยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราเห็นความเป็นเอกภาพในหมู่ชาวยูเครนแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการเอาชนะปูติน ฉันมั่นใจว่าตอนนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกที่จะหยุดประเทศเพื่อนบ้านที่ก้าวร้าวได้
“มาตรการคว่ำบาตรและการสนับสนุนชาวยูเครน จะทำให้รัสเซียถอยกลับได้ ให้ปูตินต้องคอยกลับไปจัดการกับปัญหาภายในประเทศ และทำให้รัสเซียยอมแพ้ได้”

“เรารู้สึกขอบคุณที่สนับสนุนยูเครน น่าประทับใจมากที่ทุกวันเราได้เห็นข้อความนับพันจากทั่วโลกว่า ‘เราอยู่เคียงข้างอยู่เครนนะ เข้มแข็งไว้’ และเราอยากแสดงให้เห็นว่าเราจะยังคงอยู่ ไม่ถอย จะไม่ไปไหนทั้งนั้น และจะต่อสู้กับรัสเซีย”

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“ในร้านอาหารเล็กๆ ของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีคราฟต์เบียร์ IPA ท้องถิ่นยี่ห้อหนึ่งได้รับความนิยมสูงมาก ผลิตออกมาเท่าใดก็ขายไม่เคยพอ แม้จะราคาแพงก็ตาม ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเบียร์ตัวนี้แรงขนาด 8 ดีกรี แต่น่าเสียดายที่ต้องไปบรรจุกระป๋องถึงประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนจะนำมาวางขายในประเทศ กระป๋องละ 300 กว่าบาท”

“’ไม่แน่ในอนาคต อาจมีคราฟต์เบียร์กลิ่นกุหลาบจากเชียงดาวก็ได้’ เพื่อนผมพูดด้วยความหวัง โดยในขณะเดียวกัน เขาก็กำลังทดลองทำเบียร์กลิ่นมะม่วง ซึ่งหากทำสำเร็จ คงไปหาทางไปผลิตแถวประเทศเวียดนาม แล้วค่อยส่งมาขายในประเทศไทย”

“ลองคิดดู หากมีการปลดล็อก พ.ร.บ. สุราแล้ว ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตเบียร์อิสระหรือคราฟต์เบียร์ที่จะได้ประโยชน์ แต่บรรดาเกษตรกร ผู้ปลูกผลไม้ ดอกไม้ พืชผลทางการเกษตรนานาชนิดทั่วประเทศ สามารถสร้างรายได้จากการแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่น และยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมและดื่มเหล้า-เบียร์ท้องถิ่นได้ ไม่ต่างจากบรรดาเหล้า ไวน์ สาเก เบียร์พื้นถิ่นชื่อดังในชนบทของฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี ฯลฯ”

“ตราบใดที่ทุนผูกขาดรายใหญ่ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัย เกื้อหนุน อุ้มชู ผลประโยชน์ต่างตอบแทนมาตลอด โอกาสในการปลดล็อกเพื่อความเท่าเทียมกันในการแข่งขันการผลิตเบียร์และสุราทุกชนิด ดูจะเลือนรางไม่น้อย จะเป็นไปได้หรือที่มูลค่าน้ำเมา 2 แสนกว่าล้านบาท จะกระจายไปสู่รายย่อยทั่วประเทศ ในประเทศที่ทุนผูกขาดกับผู้มีอำนาจคือเครือข่ายเดียวกัน”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

‘มนุษย์คืออะไรในเมตาเวิร์ส?’ จินตนาการโลกใหม่ในเลนส์ปรัชญาเทคโนโลยี กับ พิพัฒน์ สุยะ

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

แม้สิ่งที่เรียกว่า ‘โลกเสมือนจริง’ จะไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่ดูเหมือนภาพการมาเยือนของ ‘เมตาเวิร์ส’ ยังคงเป็นฉากทัศน์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่ใช่น้อย หลายคนคาดการณ์ว่าถ้าวันหนึ่ง เมตาเวิร์สเสร็จสมบูรณ์ นั่นอาจกลายเป็นหมุดหมายความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และก่อให้เกิดโจทย์ใหม่ๆ แก่สังคมมนุษย์ก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีอีกหนึ่งตัวตนที่ประกอบร่างสร้างขึ้นมาด้วยข้อมูลดิจิทัล แต่มีสำนึกรับรู้ และสามารถสัมผัสประสบการณ์ทุกอย่างได้ไม่ต่างจากร่างกายในโลกจริง เช่นนั้นแล้ว avatar ในเมตาเวิร์สของเราจะถือว่าเป็นมนุษย์ไหม?

ถ้าเราต้องดำเนินชีวิตอยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยอัลกอริทึมที่เจ้าของแพลตฟอร์มกำหนดไว้ เช่นนั้นแล้วเจตจำนงเสรีของเราจะอยู่ตรงไหน? ฯลฯ

101 นำคำถามเหล่านี้ไปคุยกับ ผศ.พิพัฒน์ สุยะ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันมองความท้าทายของสังคมผ่านเลนส์ปรัชญาเมื่อเมตาเวิร์สมาเยือน

“ในอนาคต โลกเสมือนจริงกับโลกแห่งความเป็นจริงที่เรารู้จัก อาจจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างสมบูรณ์”

‘เมื่อโลกปรับ นิติศาสตร์ไทยจึงต้องเปลี่ยน’ มองหนทางปฏิรูประบบยุติธรรมไทย กับ สุรพล นิติไกรพจน์

โดย กองบรรณาธิการ

“เรายังต้องการนักนิติศาสตร์ แต่เป็นนักนิติศาสตร์ที่ผ่านการหล่อหลอมมาในระบบที่เปิดให้มีทางเลือกได้ ไม่ใช่ระบบที่บังคับให้ทุกคนต้องเรียนเหมือนกันหมด เป็นนักนิติศาสตร์ที่คำนึงถึงเรื่องความยุติธรรม รู้เรื่องนิติปรัชญา หรือระบบบริหารจัดการความยุติธรรมด้วย”

101 สนทนากับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ว่าที่นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ มาแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องข้อเสนอปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไทย และแนวทางการสร้างนักกฎหมายพันธุ์ใหม่เพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน

“เมื่อโลกเปลี่ยน สาขาใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ สิ่งแวดล้อม หรือเทคโนโลยี แต่ทั้งหมดนี้อาจไม่ได้เอื้อให้สอบผู้พิพากษาหรืออัยการได้ ยังไม่นับว่ากฎหรือกติกากลางของระบบอุดมศึกษาก็มีส่วน คือที่กำหนดว่าเข้ามหาวิทยาลัยแล้วต้องเรียนวิชาพื้นฐานก่อนให้รู้จักชีวิตและสังคม กำหนดแบบนี้เหมือนกันหมด ทำให้ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ทั้งที่หลายวิชาชีพต้องการความแตกต่าง”

“ข้อเสนอเบื้องต้นของเราคือ นักศึกษาไม่ควรเรียนกฎหมายเยอะเกินไป ถ้าไปดูหลักสูตรจะเห็นว่าทุกวันนี้เราเรียนกฎหมายเยอะ แต่เรียนในลักษณะที่ตอบโจทย์การเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนาย … เมื่อประกอบกับเงื่อนไขค่าตอบแทน แล้วใครจะเรียนวิชาเลือกอื่นๆ ถ้าไม่โดนบังคับ เราจึงเสนอให้เรียนเฉพาะกฎหมายที่จำเป็นจริงๆ และส่วนที่เหลือให้เด็กไปเลือกได้ว่าอยากเรียนกฎหมายอะไร นอกจากนี้ ยังจะมีวิชาความรู้ประเภทประวัติศาสตร์ จริยธรรม ปรัชญา ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์รวมอยู่ด้วย”

“อีกข้อเสนอหนึ่งคือ เราจะเห็นว่าเวลาเรียนกฎหมายวิชาไหนก็จะสอบแต่วิชานั้น สอบเป็นเรื่องแล้วจบไป แต่ในชีวิตจริง เราไม่ได้ใช้กฎหมายทีละวิชาแบบนั้น เพราะเรื่องๆ หนึ่งมีกฎหมายเกือบทุกเรื่องปนอยู่ เราเลยเสนอว่า เป็นไปได้ไหมที่การเรียนการสอนจะไม่ได้เป็นแบบรายวิชา แต่เป็นแบบครอบคลุม (comprehensive) อาจจะสอบเป็นกลุ่มวิชา … ผมคิดว่านี่อาจจะทำให้นักกฎหมายคิดอะไรในวงกว้างและมองภาพรวมมากขึ้น”

“เราอาจจะต้องคิดไปถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบเนฯ หรือสอบทนายด้วย เพราะแต่ก่อนใครอยากเรียนเนฯ ก็ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนระบบเป็นการฝึกภาคปฏิบัติเช่นนี้ เราอาจจะต้องจำกัดจำนวนคน ให้สอบเข้าและรับตามจำนวนที่คิดว่าจะรับได้แทน จากนั้นก็นำคนที่สอบได้มาเรียนทฤษฎีและส่งไปฝึกงาน เรียนและฝึกให้เข้มข้นในทางวิชาชีพไปเลย แต่นี่ก็ต้องมานั่งคุยกันด้วย เพราะมันจะกระทบกับอำนาจขององค์กรวิชาชีพแต่ละแห่ง”

“ผมเชื่อว่าความคิดและข้อเสนอของเราจะทำให้มีนักกฎหมายที่เรียนรู้และเข้าใจเรื่องอะไรต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากการเรียนรู้และความเก่งในเรื่องกฎหมาย คือเป็นคนที่คำนึงถึงความยุติธรรม นิติปรัชญา กฎหมาย รอบรู้ในศาสตร์อื่นๆ และมีวิธีคิดที่กว้างขวางกว่าเดิม”

ระบบสุขภาพไทยกับ ‘ความเสี่ยง’ ที่ซ่อนในความสำเร็จ

โดย สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ชวนมอง ‘6 แรงกระแทก’ ที่ส่งผลสำคัญต่อระบบสุขภาพไทย ซึ่งอาจเป็นคลื่นใต้น้ำที่นำไปสู่ปัญหา หากเรารู้ไม่เท่าทัน

“มีอินโฟกราฟิกชุดหนึ่งออกมาโดยศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี พูดถึงประเทศไทยในอันดับโลก 10 เรื่องในรอบปี 2563-2564 ที่น่าสนใจคือมีเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอยู่ถึง 4 เรื่องคือ

หนึ่ง เราเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องการฟื้นตัวและรับมือการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลกในปี 2020

สอง เราเป็นอันดับ 5 ของประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพโดยใช้ดัชนี Global Health Security Index ในปี 2021

สาม เราเป็นประเทศที่มีดัชนีการดูแลทางสุขภาพเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2020

สี่ เราเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลกเป็นอันดับ 8 ในปี 2021”

“แต่แม้จะมีสถิติและกรณีตัวอย่าง แต่ผมไม่รู้สึกว่าระบบของเราดีมาก และเราทำได้ดีมากจนไม่ต้องห่วงอะไร ที่รู้สึกแบบนี้ ไม่ได้มาจากสามัญสำนึกว่าด้วยความไม่ประมาทที่สอนเราว่าความสำเร็จเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลว แต่มีวิธีคิดชุดหนึ่งว่าด้วยธรรมชาติของระบบซับซ้อน ที่บอกว่าหลายอย่างที่เรา ‘เห็น’ หรือ ‘ทำ’ ในปัจจุบันมีความหน่วงของเวลา”

“หมายความว่าสิ่งที่ดีในวันนี้ เป็นผลมาจากการกระทำที่มีมาแต่อดีต สะสมเกิดผลต่อเนื่องมา อาจยังเห็นว่าดีอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้จะทำให้เกิดผลอย่างที่เห็น ในขณะเดียวกัน หากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลดี เราก็อาจจะยังไม่เห็นผลของมันในวันนี้”

เรื่องร้อน OnlyFans จากเดียร์ลอง, ไข่เน่า ถึง Titus Low: สังคมอาเซียนไฉนใยจึงดัดจริตเรื่องเพศ

เรื่องร้อน OnlyFans จากเดียร์ลอง, ไข่เน่า ถึง Titus Low: สังคมอาเซียนไฉนใยจึงดัดจริตเรื่องเพศ

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“เมื่อวานนี้ เกิดกระแสข่าวครึกโครมบนโลกออนไลน์ว่า ‘เดียร์ลอง’ เซ็กส์ครีเอเตอร์ (sex creator) สาวชาวไทยชื่อดังบนแพลตฟอร์ม OnlyFans ย้ายประเทศไปยังเนเธอร์แลนด์สำเร็จแล้ว ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาแก้ข่าวว่าเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่เธอก็มีความคิดที่จะย้ายไปลงหลักปักฐานอยู่ที่นั่นพร้อมขอสัญชาติจริง”

“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อไม่นานนี้ มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมเรียกเธอสอบสวน เนื่องจากการเผยแพร่คลิปของเธอบน OnlyFans อาจเข้าข่ายกระทำลามกอนาจาร ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จนนำไปสู่การถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนบนโลกออนไลน์”

“หากท่านเติบโตในสังคมไทย คงรู้ดีว่ากรณีอย่างเดียร์ลอง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ย้อนไปไม่นาน เมื่อเดือนกันยายน 2021 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับ ‘ไข่เน่า’ อีกหนึ่ง sex creator สาวบน OnlyFans โทษฐานผลิตสื่อลามกอนาจารบนโลกออนไลน์ โดยได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา”

“ในเดือนตุลาคม 2021 เจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์บุกที่พักของไททัส โหลว (Titus Low) ดาว OnlyFans หนุ่มที่จัดว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในสิงคโปร์ โดยทำการอายัดเครื่องมือสื่อสารและบัญชี OnlyFans ของเขา พร้อมเตือนไม่ให้เข้าใช้บัญชีดังกล่าวอีก หากแต่ Titus Low เลือกขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่ โดยเผยแพร่คลิปทางบัญชีเขาเองต่อไป กระทั่งนำมาสู่การจับกุมไปยังโรงพักในเดือนธันวาคม 2021 โดยเขาถูกตั้งสองข้อหา ได้แก่ข้อหาเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และข้อหาขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่เข้าไปใช้งานบัญชีที่ถูกสั่งห้าม ถ้าหากเขาถูกตัดสินว่าผิดจริง โทษสูงสุดที่เขาจะได้รับคือ โทษจำคุก 3 เดือน และโทษจำคุก 6 เดือน พร้อมปรับเป็นเงิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 120,000 บาท) ตามลำดับข้อหา”

“ไม่ใช่เพียงไทยและสิงคโปร์เท่านั้นที่มีเรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้น หากแต่ชาติอาเซียนทุกชาติล้วนมีกฎหมายที่เข้มงวดต่อการการกระทำหรือการเผยแพร่สื่อที่ถูกมองว่าส่อไปในทางลามกอนาจาร และเรื่องราวการเข้าปราบปรามจับกุมผู้ทำผิดเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องในประเทศเหล่านี้…ว่าแต่เพราะอะไรสังคมอาเซียนถึงได้อ่อนไหวนักกับเรื่องพวกนี้?”

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา ชวนหาคำตอบจากปรากฏการณ์การปราบปรามสื่อลามกอนาจารในกลุ่มชาติอาเซียน ว่าเพราะอะไรสังคมอาเซียนถึงได้อ่อนไหวกับเรื่องพวกนี้

ธรรมชาติของมนุษย์ แรกอรุณของทุกสิ่ง 'The Dawn of Everything: A New History of Humanity' โดย David Graeber and David Wengrow

ธรรมชาติของมนุษย์ แรกอรุณของทุกสิ่ง ‘The Dawn of Everything: A New History of Humanity’ โดย David Graeber and David Wengrow

โดย อั๊บ สิร นุกูลกิจ

ธรรมชาติของมนุษย์โดยเนื้อแท้คืออะไร? สังคมมนุษย์จำเป็นต้องมีสถาบันต่างๆ มาควบคุมความเป็นปัจเจกเสรีที่แตกต่างกันหรือไม่? รัฐควรจะออกนโยบายกำหนดกฎเกณฑ์อะไรบนพื้นฐานของเสรีภาพ หรือมุ่งควบคุมความแตกต่างระหว่างปัจเจก?

นี่เป็นคำถามพื้นฐานที่กำลังถกเถียงกันทั่วโลก และยิ่งมีความแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลกที่นับวันจะปะทุขึ้นทุกวัน ระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา และคำถามที่เป็นใจกลางของข้อถกเถียงคือคำถามแรก – ธรรมชาติของมนุษย์โดยเนื้อแท้คืออะไร? – เพราะมันเป็นข้อตัดสินทาง ‘วิทยาศาสตร์’ ว่าใครถูกและใครผิด ดีหรือไม่ดี และถึงที่สุดแล้วตัวเราเองมีความเป็นมนุษย์หรือเปล่า

หนังสือ The Dawn of Everything ซึ่งเป็นหนังสือเล่มล่าสุด (และสุดท้าย) ของเดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตยผู้ล่วงลับ ที่เขียนร่วมกับเดวิด เวนโกร (David Wengrow) นักโบราณคดีแห่ง University College London พยายามตั้งคำถามถึง ‘ธรรมชาติของมนุษย์’ และเสนอว่า ‘ธรรมชาติของมนุษย์’ แบบที่โลกสมัยใหม่เข้าใจ แท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด และเป็น ‘วาทกรรม’ ผิดๆ ที่ถูกผลิตซ้ำไปมา

อั๊บ สิร นุกูลกิจ เขียนถึงหนังสือ The Dawn of Everything: A New History of Humanity โดย David Graeber and David Wengrow ซึ่งพยายามตั้งคำถามและแย้งวาทกรรมที่ผิดๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

 โตมากับจอ

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ สะท้อนปัญหาการศึกษาช่วงโควิด-19 และการศึกษาไทยในภาพใหญ่ ผ่านสารคดี ‘โตมากับจอ’

“ท่านหนึ่งในคลิปว่าเป็นเพราะการเรียนออนไลน์ขาดเรื่องสำคัญคือการสัมผัส – touching ซึ่งเป็นความจริงแน่นอน การเรียนรู้ที่แท้เกิดจากการลูบคลำและการสูดกลิ่น เรื่องนี้จิตวิเคราะห์เขียนไว้แล้ว”

“ท่านเดิมในคลิปเสนอว่าควรมี gap year ไปเลย 1 ปี เป็นข้อเสนอที่ดี น่าพูดคุยถึงข้อดีข้อเสียและ ‘วิธีจัดการให้ทำได้’ มากกว่าที่จะตัดบทแล้วพูดว่าเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้น เป็นความจริงที่ว่า ‘หลักสูตร’ ที่จะไม่ได้เรียนกันหนึ่งปีไม่มีความสำคัญเท่า ‘ประสบการณ์ชีวิต’ ที่นักเรียนจะเลือกทางเดินของตนเองสักปี ด้วยตนเองและด้วยวิธีของตนเอง”

“ปัญหาคือผู้บริหารการศึกษาน่าจะไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลยตั้งแต่แรก”

‘ตอนนี้ผมแค่ be the best version of yourself โดยไม่ต้องฝืนตัวเอง’ คุยกับ AUTTA ในวันที่ชีวิตและความคิดก้าวมาสู่ ANTLV

โดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

ตั้งแต่ปลายปี 2021 จนเปิดปี 2022 วงการเพลงฮิปฮอปฮือฮากับเพลง ANTLV ของ AUTTA แรปเปอร์วัย 22 ปีที่ผสมผสานการแรปด้วยโฟลวเหนือชั้นและบีตดนตรีปลุกเร้าอารมณ์จนทำให้คนฟังชื่นชมการทำเพลงระดับ another level

101 จึงชวน กร–อัษฏกร เดชมาก หรือ AUTTA มาพูดคุยถึงจังหวะชีวิตแต่ละไรม์ที่เขาถ่ายทอด กระบวนการทำดนตรีในเพลง ANTLV และภาพหวังในวงการดนตรีไทยที่เขาอยากมองเห็นในฐานะนักดนตรีที่เรียนด้านนี้มาโดยตรง อะไรคือสิ่งที่อุตสาหกรรมดนตรีจะ go beyond another level ไปได้ ความคาดหวังที่คนในวงการดนตรีอย่างเขาต้องการให้เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

“ในความคิดผมนะ ประเทศไทยต้องทำให้ศิลปินสามารถหาเงินได้ไปไกลเกินกว่าจากการเล่นดนตรีในร้านเหล้าได้แล้ว เพราะตอนนี้ศิลปินต้องทำเพลงเพื่อมาเสิร์ฟร้านเหล้าอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะขายโชว์หรือขายงานได้ที่ไหน”

“ผมว่าความหลากหลายมันต้องเกิดมากขึ้นในวงการนี้ ซึ่งจะเกิดได้ก็ต้องมีอะไรมาซัปพอร์ต และคนในวงการพยายามสร้างงานใหม่ๆ ออกมา แล้วพอสร้างออกมามันจะชนกันเองว่าสิ่งไหนจะไปต่อ”

มองอนาคตโลก อ่านอนาคตไทย เราอยู่ตรงไหนในโลกแห่งเทคโนโลยี: คุยกับ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

โดย กองบรรณาธิกา

“ถ้าถามต่อว่าในโลกที่กำลังเดินไปข้างหน้า เราจะไปอย่างไรต่อ จริงๆ ต้องบอกว่าตอนนี้โลกยังมีธุรกิจแบบในโลกเก่าเยอะ แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้มาจากโลกแบบเก่าแน่นอน และไม่ได้มาจากการอัดฉีดด้วย เพราะการอัดฉีดไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้น
“การเติบโตของประเทศหรือการพัฒนาของสังคมจะมาจากการที่ว่าถึงเราจะมีกันแค่สองคน แต่เราสามารถสร้างอะไรที่มีคุณค่าได้มากกว่าเมื่อวาน ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อมีเทคโนโลยีที่มีคุณค่าในการผลิตหรือมีตลาดส่งออกที่ดีๆ เยอะขึ้น”

“เรื่อง web 3.0 เป็นอะไรที่คุณไม่สามารถฟังผมแล้วเข้าใจได้ แต่คุณต้องลอง ต้องเจ็บ ต้องชนะ ต้องอยู่กับมันถึงจะเข้าใจได้เต็มร้อย…”

“web 3.0 คือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่อยู่บนรากฐานของระบบบล็อกเชนที่กระจายศูนย์ โดยมีอุดมการณ์ที่ต้องการให้เกิดความเท่าเทียม (fair) ของการถ่ายโอนคุณค่าระหว่างผู้เล่นทางเศรษฐกิจ”

“ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของมนุษย์ สิ่งที่ทำให้เราเหนือกว่าสัตว์ทั่วไปคือการตัดสินใจแบบรวมหมู่ ซึ่งมันค่อนข้างหายไปในช่วงหลังๆ ที่อำนาจกระจุกตัวมากขึ้น ทั้งอำนาจในทางสังคมและอำนาจในทางเทคโนโลยี มีอัลกอริธึมบางตัวที่มาตัดสินใจแทนเราทุกอย่าง ตรงนี้เองที่ web 3.0 เสนอทางออกหนึ่งให้เรา ซึ่งก็จะนำไปสู่ประเด็นเรื่องการกำกับดูแลด้วย”

101 คุยกับ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ว่าด้วยเทรนด์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลกและไทย ภาครัฐและการกำกับดูแล เทคโนโลยีกับธุรกิจและชีวิตคน ไปจนถึงปัญหาคลาสสิกอย่างเทคโนโลยีกับความเหลื่อมล้ำ

เมื่อพระมหากษัตริย์เป็นพ่อและข้อผูกมัดทางคุณธรรมของผู้จงรักภักดี

โดย อติเทพ ไชยสิทธิ์

“ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่ ‘กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หรือประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ถูกนำกลับมาใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้ง ผู้เขียนก็นึกถึงบทความของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เรื่อง “ความผิดฐาน ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’: เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก””

“การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชนที่เป็นเสมือน ‘พ่อ’ กับ ‘ลูก’ นี้เป็นหัวใจสำคัญของวิธีคิดแบบบวรศักดิ์ .. และที่สำคัญเขายังได้เสนอด้วยว่าอัตราโทษที่รุนแรงของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นผลผลิตของความสัมพันธ์แบบนี้”

เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ ‘พ่อ’ เป็นความผิดที่ร้ายแรงเหมือนกับการเนรคุณ? อติเทพ ไชยสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์และความกตัญญูในฐานะพ่อกับลูก

“‘ความกตัญญู’ ในลักษณะเช่นนี้ยังควรถูกยึดถือเอาเป็นรากเหง้าของสังคมไทยอยู่จริงหรือ? และเราควรจะภาคภูมิใจกับ ‘ลักษณะจำเพาะที่ยากแก่ความเข้าใจของคนต่างชาติต่างภาษา’ นี้อยู่หรือไม่?”

สำรวจภูมิทัศน์การเมืองฟิลิปปินส์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี

สำรวจภูมิทัศน์การเมืองฟิลิปปินส์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

“9 พฤษภาคม 2022 คือวันที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวฟิลิปปินส์มากกว่า 65.7 ล้านคนภายในประเทศ และอีกกว่า 1.8 ล้านคนทั่วโลก จะได้ลงคะแนนเลือกตั้งเพื่อสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ”

“เพื่อเข้าใจภูมิทัศน์การเมืองฟิลิปปินส์ อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องเข้าใจด้วยคือ ‘ครอบครัว’ หรือ ‘ราชวงศ์ทางการเมือง’ ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งประกอบขึ้นจากครอบครัวใหญ่ 9 ครอบครัวที่มีอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดและต่อเนื่องยาวนานมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของประเทศ”

“หากผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีทีมไหนได้รับสารรับรอง (endorse) จากกลุ่มตระกูลการเมืองเหล่านี้ นั่นเท่ากับโอกาสในการได้รับเลือกตั้งย่อมมีสูง เพราะฐานเสียงทั้งจากการเมืองท้องถิ่น ส.ส. ส.ว. และผู้ว่าราชการจังหวัด ย่อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการอำนวยให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทีมมีประสิทธิผลสูงขึ้น โดยปัจจุบัน ทีม Bongbong-Sara ได้รับการ endorse แล้วจากทั้ง Joseph Estrada, Gloria Macapagal Arroyo และ Duterte อีกทั้งยังมีฐานเสียงจากบุคคลสำคัญในรัฐสภาและในระดับรัฐบาลท้องถิ่น”

“ดังนั้น หากการปลุกกระแสของคู่แข่งทางการเมืองในแนวทาง “ตัวคุณไม่ผิด แต่พ่อของคุณเคยทำผิด” ใช้ไม่ได้ผล รวมทั้งการดำเนินคดีการหนีภาษีของ Bongbong ในทศวรรษ 1990s ที่ดำเนินคดีอย่างล่าช้า ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา สิ่งที่ไม่น่าจะได้เห็น อย่างเช่นการคืนสู่ทำเนียบประธานาธิบดี Malacañang ของครอบครัว Marcos ซึ่งเคยถูกขับไล่ออกไปจากทำเนียบแห่งนี้ในปี 1986 หรือแม้แต่การที่นาง Imelda Marcos จะได้กลับมานำรองเท้าคู่สวยมาไว้ในห้องเก็บรองเท้าในทำเนียบ ก็อาจเกิดขึ้นได้ หาก Ferdinand “Bongbong” Marcos Jr. และ Sara Duterte ควงคู่กันนำชัยชนะจากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น”

ปิติ ศรีแสงนาม เล่าถึงภูมิทัศน์การเมืองของฟิลิปปินส์ ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2022 ซึ่งมีตัวแปรสำคัญคือตระกูลการเมืองผู้ทรงอิทธิพลในประเทศมายาวนาน

All of Us Are Dead: ซอมบี้ บูลลี่ และ อุปลักษณ์ของความรุนแรงในโรงเรียน

โดย จักรกริช สังขมณี

คอลัมน์ ชาติพันธุ์ฮันกุก จักรกริช สังขมณี เขียนถึงซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้ที่ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์อย่าง All of Us Are Dead เมื่อซอมบี้ไม่เพียงเป็นเรื่องของคนตาย แต่ยังสะท้อนอำนาจนิยมและความรุนแรงในโรงเรียนอีกด้วย

“เราดำรงอยู่ท่ามกลางซอมบี้มากมายในสภาพความเป็นจริงของสังคม มีคนรอบตัวเราที่ใช้ชีวิตอย่างไร้จิตวิญญาณ บางคนปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยแรงผลักดันที่ปราศจากความยั้งคิด บางคนถูกตัดขาดละเลยจากสังคม บางคนใช้ชีวิตอย่างโหยหาอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา บางคนดำเนินชีวิตอย่างไร้จุดหมาย และบางคนพร้อมทำร้ายคนที่เข้ามาใกล้”

“ในวงการซอมบี้ศึกษา (Zombie Studies) ซอมบี้เป็นสัญลักษณ์ของความเน่าเฟะ ความเป็นอื่น ความไร้ระเบียบ และการตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดรุนแรง ซึ่งถูกบ่มเพาะหรือเป็นผลมาจากโครงสร้างและความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม”

“ต้นตอของการเกิดขึ้นของซอมบี้ใน All of Us Are Dead ก็คือความพยายามในการตอบโต้ต่อการถูกรังแก การถูกเพิกเฉย และการไม่ได้รับความยุติธรรมจากการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักในสังคมเกาหลี รวมถึงในประเทศอื่นๆ มาอย่างยาวนาน”

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนกุมภาพันธ์ 2565

น้ำมันรั่วระยอง: โศกนาฏกรรมใต้ทะเลอ่าวไทย

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) รั่วที่จุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) มาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อค่ำวันที่ 25 มกราคม 2565 ทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทะเลในจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง

ภาพน้ำมันสีดำสนิทบริเวณหาดแม่รำพึง ทำให้สาธารณชนหันมาสนใจเรื่องนี้ ก่อนที่จะมีการใช้สารเคมีโปรยลงไปในทะเลเพื่อให้น้ำมันกดตัวลงใต้ทะเล ทำให้ทะเลกลับมา ‘ใส’ ได้ในเวลาไม่นาน

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว เมื่อก่อนหน้านี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ก็เคยทำน้ำมันรั่วในทะเลระยองมาแล้วในปี 2556 ยังไม่นับว่า หลังเหตุการณ์รั่วในปี 2565 ไม่กี่วัน ก็มีการรั่วรอบสองจากบริษัทเดิม

คำถามสำคัญก็คือ เหตุการณ์น้ำมันรั่วส่งผล ‘ระยะยาว’ อย่างไรต่อพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ใครคือคนเดือดร้อน และมาตรการกำกับดูแลควรเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

101 ลงพื้นที่สำรวจชุมชนชาวประมงที่จังหวัดระยอง และคุยกับผู้เชี่ยวชาญถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขในระยะยาว

Exclusive Interview “ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา เราประกาศต่อโลกว่ายังไม่แพ้ และจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น” – ‘คีรา รูดิก’ ส.ส. ยูเครนที่ตัดสินใจจับปืนเพื่อประเทศ

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล และ เมธิชัย เตียวนะ

“ในฐานะ ส.ส. และหัวหน้าพรรคโฮโลส ฉันจะอยู่ที่คีฟ จับอาวุธ และรวบรวมคนที่สามารถถืออาวุธได้เข้ากลุ่มร่วมต่อต้าน”

“ทุกๆ ค่ำคืน โลกและพันธมิตรจะบอกว่า นี่อาจเป็นคืนสุดท้ายของคีฟแล้ว แต่ทุกเช้าที่เราตื่นขึ้นมา เราประกาศต่อโลกว่า เรายังไม่แพ้ คีฟยังไม่ถูกยึด บอกตามตรง เราวางแผนว่าจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เราจะต่อต้านและสู้รัสเซียกลับ ไม่ใช่แค่ให้ถอยร่นจากยูเครนเท่านั้น แต่ให้ถอยกลับไปยังรัสเซียเลย”

รุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศ ‘ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ’ บุกโจมตียูเครน นั่นคือสัญญาณว่าความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนยกระดับไปสู่สงครามเต็มขั้นแล้ว

ขณะที่รัสเซียมุ่งรุกเปิดฉากโจมตียูเครนจนปรากฏเป็นโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ณ ใจกลางยูเรเชีย ในบรรดาประชาชนร่วมหลายหมื่นที่ตัดสินใจละทิ้งชีวิตสามัญธรรมดาและร่วมจับปืนต่อต้านการใช้กำลังทางทหารที่ก้าวร้าวและไร้ความชอบธรรมของรัสเซีย ‘คีรา รูดิก’ ส.ส. หญิงยูเครน หัวหน้าพรรคโฮโลส คือหนึ่งในนั้น

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกจับตามองสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย 101 มีโอกาสต่อสายตรงไปยังกรุงคีฟเพื่อคุยกับคีราว่า อะไรที่ทำให้นักการเมืองอย่างเธอที่ไม่เคยคิดฝันจะจับอาวุธตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านและรับการฝึก พร้อมชวนคุยถึงความคิดความอ่านของเธอในห้วงเวลาสำคัญที่จะนำสันติภาพกลับมาสู่ยูเครน

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่

101 One-on-One Ep.253 ‘1 ปี รัฐประหารพม่า’ กับ นฤมล ทับจุมพล

โดย 101 One-on-One

ย่ำรุ่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพพม่าเปิดฉากทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ปิดฉากทศวรรษแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย นำมาสู่การต่อสู้ระหว่างกองทัพและประชาชนที่ยืดเยื้อและมองไม่เห็นทางออกมาจนถึงวันนี้

ผ่านมาครบ 1 ปีนับจากการรัฐประหารพม่า 101 ชวน รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมย้อนมอง ถอดบทเรียนสถานการณ์ในพม่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พร้อมมองฉากทัศน์เส้นทางอนาคตของพม่านับจากนี้

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

101 One-On-One EP.254 : เปลี่ยนนิติศาสตร์ เปลี่ยนระบบยุติธรรมไทย กับ สุรพล นิติไกรพจน์

โดย 101 One-on-One

หัวใจสำคัญในการสร้างหลักนิติธรรมให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยและการปฏิรูประบบยุติธรรมไทยให้ยุติธรรมคือ การยกเครื่องการเรียนการสอนนิติศาสตร์ใหม่ ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและในระดับเนติบัณฑิต รวมถึงการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย

อะไรคือข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติ?

101 ชวน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ว่าที่นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ มาแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องแนวทางสร้างนักกฎหมายไทยให้พร้อมรับมือโลกใหม่และตอบโจทย์แห่งอนาคตของสังคมไทย

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

101 One-on-One Ep.255 “การเมืองไทยในโหมดเตรียมเลือกตั้ง?” กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

โดย 101 One-on-One

แม้รัฐบาลประยุทธ์จะยังคงมีอายุกว่า 1 ปี แต่โดยความคาดหวังและสภาพความเป็นจริงทางการเมืองแล้ว การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

พรรคการเมืองต่างปรับยุทธศาสตร์ใหญ่ทั้งในและนอกสภา น่าสนใจว่า แต่ละพรรคตีโจทย์การเมืองและโจทย์ประเทศไทยอย่างไร

101 ชวน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยและอดีตรองนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์การเมืองไทยและโจทย์ใหญ่ของประเทศในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเตรียมเลือกตั้ง

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

101 One-on-One Ep.256 ‘ผู้ว่าฯ ก้าวไกล – อนาคตใหม่ กรุงเทพฯ’ กับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

โดย 101 One-on-One

สมรภูมิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยกระดับความร้อนแรงขึ้น เมื่อพรรคก้าวไกลประกาศชื่อของ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ เป็นตัวแทนพรรคลงสู้ศึกครั้งนี้

จากบทบาท ส.ส. ฝีปากกล้าแห่งรัฐสภา สู่สนามการเมือง กทม. เขาตีโจทย์สนามเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร ปัญหาอะไรบ้างที่เขา “พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ”

101 ชวนวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคก้าวไกล พูดคุยถึงเส้นทางสู่ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมมองโจทย์เมืองหลวงแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์คนทุกคน

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.19 : ผลเลือกตั้งซ่อม ใครศัตรูใคร ใครเพื่อนใคร?

โดย กองบรรณาธิการ

-ผลการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่บอกอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทย ใครได้ ใครเสีย ใครคือผู้ชนะที่แท้จริง?

-เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มาแน่ พ.ค. นี้?

-1 ปีรัฐประหารพม่า ทางที่ไทยไม่อยากเดิน

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 20.30 น. ติดตามรายการสดพร้อมกันทุกแพลตฟอร์มของ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.20 : จากสุราถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว เกมเฉือนคมการเมืองไทย

โดย กองบรรณาธิการ

การเมืองไทยกำลังเข้มข้นทุกขณะ เมื่อ 3 เวทีการเมืองกำลังถึงฉากสำคัญ

 – ฝ่ายค้านงัดรัฐบาลปูทางสู่เลือกตั้ง

– ฝ่ายค้านซัดฝ่ายค้าน ชิงความชอบธรรมฝ่ายไม่เอาพลเอกประยุทธ์

– พรรคร่วมรัฐบาลซัดกันภายในชิงอะไร (ยังไม่รู้)

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.21 : เกมค้ำเก้าอี้ประยุทธ์ เดิมพันใหม่พรรคร่วมรัฐบาล

โดย กองบรรณาธิการ

พลันที่พรรคภูมิใจไทยประกาศค้ำเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลาดการเมืองไทยก็กลับมาคึกคักอีกระลอก

-ใครเป็นใคร ตัวเลข 260 ที่นั่ง ของจริงหรือตีกิน?

-เบื้องหลังเกมต่อรองรอบนี้คืออะไร?

-เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเกมการเมืองรอบนี้?

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ  The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.22 : (ตั๋ว)ช้างที่อยู่ในสภา

ดย กองบรรณาธิการ

การอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านกรณีพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาที่ต้องลี้ภัยต่างประเทศ จุดชนวนให้สังคมตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อีกครั้ง พร้อมกันนั้นศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชิวารักษ์ ชนิดค้านความคาดหวังของสังคม

จับตาการเมืองในสภาและนอกสภากลับมาร้อนแรงแหลมคมภายในเวลาชั่วข้ามคืน คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save